ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

อย่ายิง! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงและเด็ก : ประสบการณ์เด็กหญิงอายุ 8 ขวบกับรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

7
พฤศจิกายน
2564

 

บ่ายวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 เป็นฤดูปลายฝนต้นหนาวอากาศกำลังเย็นสบาย ลมอ่อนๆ พัดโชยมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาพระอาทิตย์ใกล้จะตกดิน ส่องประกายระยิบระยับบนผิวน้ำ เด็กผู้หญิงเล็กๆ สามสี่คนกำลังวิ่งเล่นที่สนามหญ้าบริเวณบ้าน ทุกอย่างเป็นปกติ บรรยากาศสงบนิ่งสวยงาม                                          

“คุณแม่กลับมาแล้ว” เสียงเด็กหญิงวัย 8 ขวบที่วิ่งเล่นอยู่ตะโกนบอกเพื่อนๆ

“แม่ไปทำฟันมา ปวดนิดหน่อย วันนี้คงต้องเข้านอนแต่หัวค่ำ.. เด็กๆ รีบไปอาบน้ำ ทานข้าว แล้วขึ้นไปข้างบน (ตึก) เตรียมตัวนอนนะ อย่าดื้อล่ะ”

คุณแม่ขึ้นไปพักผ่อนบนตึก ส่วนคุณพ่อยังนั่งทำงานอยู่ที่ศาลาริมน้ำ มีผู้ร่วมสนทนา 2-3 คน

....................................

ประมาณสี่ทุ่มกว่า คุณพ่อก็ขึ้นตึก อาบน้ำ แล้วออกมานั่งที่ห้องด้านนอก อ่านหนังสือพิมพ์อันเป็นกิจวัตรประจำวัน และเตรียมตัวเข้านอน ส่วนคุณแม่ก็หลับไปด้วยฤทธิ์ของยาแก้ปวดฟัน

เวลาคืบคลานไปเรื่อยๆ จากห้าทุ่ม.... เป็นเวลาเที่ยงคืน คุณแม่กำลังหลับสนิท แต่ก็ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยแสงไฟจากภายนอก ส่องเข้ามาในห้องนอนสว่างจ้า ได้ยินเสียงตีนตะขาบของรถถังบดกับพื้นถนน พลันก็มีเสียงปืนดังระรัวขึ้น คุณแม่มองไปยังที่นอนคุณพ่อ....... มีแต่ความว่างเปล่า  

คุณแม่รู้สึกว่า มีอะไรผิดปกติแน่ๆ รีบลุกจากที่นอน ออกมาที่ห้องนั่งเล่น เห็นหนังสือพิมพ์ปลิวว่อนตกอยู่ที่พื้นห้อง นายปลั่ง มีจุล (นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่มาพักอยู่ที่บ้าน) ยืนอยู่บริเวณนั้น คุณแม่ถามว่า “ท่านอยู่ไหน”

นายปลั่งฯ ตอบว่า 

“ท่านไปแล้ว”

ทั้งๆ ที่คุณแม่ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ควบคุมสติได้ รีบกึ่งวิ่งกึ่งเดินมายังห้องนอนลูกซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ ปลุกลูกๆ ให้ตื่น แล้วสั่งให้ทุกคนลงนอนราบกับพื้น พร้อมตะโกนสวนเสียงปืนจากรถถังที่กำลังระดมยิงมายังตัวตึก เล็งตรงไปยังห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งอยู่ติดกับห้องพระ ยังดีที่คุณพระคุ้มครอง วิถีกระสุนจึงแฉลบไปโดนกำแพงห้องพระเป็นรูขนาดนกกระจิบทำรังได้ 

“อย่ายิง ! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงและเด็ก”

นี่คือวลีเด็ดของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้าย คุณแม่เหมือนแม่นกที่กางปีกพร้อมจะปกป้องลูกน้อยไว้ในอ้อมอกให้ปลอดภัย

เสียงปืนดังระงมอยู่ชั่วครู่หนึ่งจึงค่อยๆ สงบลง

คุณแม่ถามนายทหารว่า

       “พวกคุณมาทำอะไรที่นี่”

       “เราจะมาเปลี่ยนรัฐบาล” ทหารตอบ

       “ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภา?”

นี่เป็นอีกวลีเด็ดของคุณแม่  แสดงถึงความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน  ตามประสาสามัญสำนึกของแม่บ้านคนหนึ่ง

สุดา (พี่สาว) มาเล่าทีหลังว่า เสียงกระสุนปืน บวกเสียงระเบิดดังสนั่นน่ากลัวมาก  เธองงว่า  สงครามโลกครั้งที่สอง จบไปนานแล้ว แต่ไฉนยังมีเสียงการถล่มด้วยอาวุธสงครามเหมือนเมื่อครั้งก่อนที่เธอจำได้ไม่ลืมว่า เสียงดังเช่นนี้รวมทั้งเสียงหวูดเตือนภัย  ทำให้ทุกคนต้องวิ่งลงไปอยู่ในหลุมหลบภัยใต้ตึก แต่ครั้งนี้เกิดอะไรขึ้น? เธอไม่รู้ว่าจะไปถามใคร 

ทราบว่า ขบวนรถถังที่ปฏิบัติการในคืนนั้น นำโดย ‘พ.อ. ละม้าย อุทยานานนท์’ (ยศในขณะนั้น)

ช่วงสายของวันรุ่งขึ้น (8 พ.ย. 2490) ร.อ.สมบูรณ์ (ต่อมาชื่อ ‘ชาติชาย ชุณหะวัณ’) ได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกเข้ามายังทำเนียบท่าช้างทางประตูถนนพระอาทิตย์ และพยายามที่จะเข้าตรวจค้นบ้านโดยพลการ

วันนั้น คุณยายครู (ครูฉลบชลัยย์ พลางกูร) มาเยี่ยมครอบครัวเราแต่เช้าเมื่อทราบข่าวรัฐประหาร คุณยายครูเข้าไปเอะอะห้ามปรามอย่างกล้าหาญ โดยไม่เกรงกลัวปากกระบอกปืน พูดเสียงดัง (ใครๆ ก็รู้ว่าคุณยายครูเสียงดังเหมือนวิทยุ 8 หลอด สมัยนั้น) ว่า

“เมื่อคุณไม่ไว้ใจเรา เราก็มีสิทธิ์ไม่ไว้ใจคุณ คุณจะเข้าตรวจค้นโดยพลการไม่ได้”

และพูดต่อไปอีกว่า

“ใครจะไปรู้ว่าคุณอาจจะเล่นไม่ซื่อ นำสิ่งผิดกฎหมายมาซุกซ่อนในบริเวณบ้าน และตั้งข้อหากับเราได้”

ร.อ.สมบูรณ์ฯ จึงต้องยอมตรวจค้นบ้าน  โดยมีคนในบ้านตามดูทุกฝีก้าวอย่างไม่คลาดสายตา

หลังจากตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

ทราบภายหลังว่า ก่อนทหารจะบุกทำเนียบท่าช้างไม่ถึงครึ่งชั่วโมง  มีคนมาบอกคุณพ่อว่า มีคณะทหารก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ

ทราบดังนั้น ตำรวจติดตามคุณพ่อ รีบให้คุณพ่อลงจากตึกไปที่ศาลาท่าน้ำ เผอิญมีเรือจ้างแจวผ่านมาพอดี คุณพ่อและผู้ติดตามลงเรือลำนั้น  เป็นจังหวะห่างจากทหารเข้ามาในบ้านชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด  เรือออกจากฝั่งไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา รอสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวในทำเนียบท่าช้างอยู่ชั่วครู่  แล้วเรือจ้างก็บ่ายหน้าลงสู่ทิศใต้......

คุณพ่อเขียนไว้ในหนังสือ ชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน

“.....เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหาร โดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษนิยมขวาจัด และพวกคลั่งชาติ  โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า  พวกเขาได้บุกเข้าไปในบ้านเพื่อจะทำลายชีวิตข้าพเจ้า รวมทั้งภรรยาและบุตรเล็กๆ หาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคต....

การหลบหนีครั้งที่ 1 คืนวันเดียวกันกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด ข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง   

ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทยเพื่อลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยการเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ....”

......................

ในที่สุด  คุณพ่อต้องเริ่มต้นการเดินทางไกลกับชีวิตที่ผันผวนด้วยเหตุการณ์ปล้นประชาธิปไตยจากคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490  จนถึงลมหายใจสุดท้ายของท่านในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ที่กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ได้ประธานคติธรรมครบรอบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมแก่คุณพ่อ

 

ดุษฎี พนมยงค์

8 พฤศจิกายน 2564