ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ปรีดี พนมยงค์ และ การกีฬา

27
พฤศจิกายน
2564

ถ้าจะถือเอาถ้อยคำบอกเล่าของ นายปรีดี พนมยงค์ มาพินิจพิจารณา ย่อมเผยให้ทราบว่า เขามิใช่บุคคลผู้สันทัดด้านการเล่นกีฬาเท่าไหร่นัก แม้ความไม่ถนัดนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็มีแง่มุมเกี่ยวโยงกับบทบาททางการเมืองของนายปรีดีเช่นกัน

ในข้อเขียน “ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” นายปรีดีบอกเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า

“พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และหม่อมกอบแก้ว ชายา เป็นนักกีฬา แต่ข้าพเจ้าไม่สันทัดทางกีฬา จึงมิได้ไปร่วมการเล่นกีฬากับท่านมากนัก  นอกจากบางครั้ง ท่านทรงชวนให้ข้าพเจ้าไปเล่นแบดมินตันบ้าง แต่จอมพล ป.ฯ เป็นนักกีฬาผู้หนึ่งซึ่งมีโอกาสเล่นกีฬากับพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ช่วยให้ท่านทั้งสองมีความสนิทสนมกันยิ่งขึ้น และเห็นอกเห็นใจกัน”

เสียงเล่าข้างต้นไม่เพียงสะท้อนแค่เรื่องการเล่นกีฬา แต่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์เชิงการเมืองในกลุ่มของรัฐบาลคณะราษฎร

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา นับเป็นเชื้อพระวงศ์ หรือ เจ้านายของระบอบเก่าที่ยินดีให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลของระบอบใหม่อันยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ และวิถีประชาธิปไตยค่อนข้างแข็งขัน

นายปรีดีรู้จักคุ้นเคยกับ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ มาตั้งแต่ตอนพระองค์ศึกษาในประเทศอังกฤษ และได้มาเยือนกรุงปารีสหลายครั้ง ปรีดีซึ่งเป็นนักเรียนในฝรั่งเศสจึงเป็น ‘มัคคุเทศก์’ นำเที่ยวชมเมือง เขารู้สึกประทับใจเจ้านายท่านนี้ที่ไม่ถือองค์ว่าสูงศักดิ์

ครั้นหวนคืนสู่ประเทศสยามแล้ว หรือกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ถึงแม้ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ซึ่งจะเคยเป็นราชเลขานุการในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แต่ก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลคณะราษฎรอย่างดี จนได้รับการทาบทามให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ กับ นายปรีดี ก็เป็นไปราบรื่นในด้านหน้าที่การงานของบ้านเมือง และองค์ความรู้เชิงวิชาการ ดังจะเห็นว่า ตอนที่ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เรียบเรียงหนังสือ ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียนโบนาปารฺต ภาคที่ ๑ ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2477 นายปรีดีก็เป็นผู้เขียนคำนำ

พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ มีบุคลิกภาพและความสนใจด้านการเล่นกีฬานานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบดมินตัน กอล์ฟ หรือกีฬาอื่นๆ อีกทั้งชายาของพระองค์คือ หม่อมกอบแก้ว อาภากร  ก็ชื่นชอบกีฬาและการละเล่นต่างๆ ซึ่งหนังสือพิมพ์ยุคปลายทศวรรษ 2470 และทศวรรษ 2480 มักจะลงพิมพ์ภาพถ่ายอิริยาบถทะมัดทะแมงของหม่อมกอบแก้ว เช่น ทำท่ายิงปืนลมตามซุ้มที่มาออกร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

 

ภาพ: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และหม่อมกอบแก้ว อาภากร ที่มา: th.wikipedia.org
ภาพ: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และหม่อมกอบแก้ว อาภากร
ที่มา: th.wikipedia.org

 

พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ พยายามชวน นายปรีดี มาเล่นกีฬาหลายอย่างด้วยกัน เช่น ชวนไปเล่นแบดมินตัน กีฬาที่ดูทันสมัยและยอดนิยมเรื่อยมานับแต่สมัยพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แต่ นายปรีดี เองก็ยอมรับว่า “ข้าพเจ้าไม่สันทัดทางกีฬา จึงมิได้ไปร่วมการเล่นกีฬากับท่านมากนัก...”  กลายเป็นว่า บุคคลที่ไปร่วมเล่นกีฬากับ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จนบ่มเพาะความสนิทสนม ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และภริยาคือ ท่านผู้หญิงละเอียด สืบเนื่องจากทั้งสองมีอุปนิสัยชอบเล่นกีฬาและชอบออกกำลังกายสมบุกสมบันมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว

ภาพ: จอมพล ป.พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด
ภาพ: จอมพล ป.พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด

 

ที่จริง หากย้อนไปตอน นายปรีดี ยังเป็นนักเรียนโรงเรียนเบญจมบพิตร เขาก็ดูมีท่าทีชอบเล่นกีฬาฟุตบอลพอสมควร ดัง ไสว สุทธิพิทักษ์ เอ่ยถึงเรื่องนี้ตอนหนึ่ง

“....ในระยะนี้ปรากฏว่า เด็กชายผู้นี้ค่อนข้างซุกซน และชอบกีฬาฟุตบอลล์อยู่บ้าง จนถึงกับวันหนึ่งได้ประสบอุปัทวเหตุจากการเล่นฟุตบอลล์ตามลำพัง  ศีรษะได้ฟาดลงกับพื้นลานหินถึงสลบ พระภิกษุในวัดมาพบเข้าและนำตัวไปพยาบาล...”

หากคุณผู้อ่านท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม จะลองย้อนไปอ่านบทความของผมเรื่อง “ปรีดี ฟุตบอล และวัยเยาว์ที่วัดเบญจมบพิตร” ก็ได้นะครับ

คาดเดาว่า หลังจากนั้น นายปรีดีคงห่างเหินจากการเล่นกีฬา แล้วมามุ่งมั่นเอาใจใส่ด้านองค์ความรู้และงานวิชาการต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ความเป็นไปทางสังคมและการเมืองการปกครองแทน

อย่างไรก็ดี พบข้อมูลอีกว่า ช่วงปลายทศวรรษ 2460 ขณะศึกษาวิชากฎหมายในฝรั่งเศส นายปรีดีกับผองเพื่อนได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมนักเรียนชาวสยามที่ศึกษาในทวีปยุโรป ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานทูตไทยประจำกรุงปารีส รวมถึงนักเรียนในอังกฤษ มีชื่อแรกตั้งคือ “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” หรือ “ส.ย.า.ม.” และมีชื่อสมาคมเป็นภาษาฝรั่งเศส “SIAMOISE D’ INTELLECTUALITE ET D’ ASSISTANCE MUTUELLE” คำย่อคือ “SIAM” โดยต่อมานายปรีดีได้รับเลือกให้นั่งตำแหน่งสภานายก หรือเป็นคล้ายๆ หัวหน้าสมาคม ซึ่งห้วงเวลานั้น นายปรีดีได้ดำริให้จัดการแข่งขันกีฬารักบี้ของนักเรียนชาวสยาม ชิงถ้วยรางวัลจากการสนับสนุนของ หลวงพิรัชพิสดาร ผู้ดูแลนักเรียนจากสถานทูตแห่งกรุงปารีส

น่าเสียดายที่ผมยังค้นหลักฐานไม่กระจ่างชัด จึงไม่แน่ใจว่านายปรีดีเองได้ร่วมเป็นนักกีฬาลงแข่งขันรักบี้ด้วย หรือ เป็นหัวหน้าจัดกิจกรรมการแข่งขันเท่านั้น 

เรื่องราวของ นายปรีดี พนมยงค์ และการเล่นกีฬา อาจดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นอะไรสลักสำคัญเท่าใดนัก หากแท้แล้ว กลับสะท้อนแง่มุมทางประวัติศาสตร์การเมืองอย่างน่าขบคิดทีเดียว

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์. “ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563
  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553.
  • ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526.
  • อาทิตย์ทิพอาภา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียนโบนาปารฺต ภาคที่ ๑. พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล, 2477

หมายเหตุ: คำสะกดคงไว้ดังเอกสารต้นฉบับ