ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บทกวีของ ดร.ปรีดี พนมยงค์

24
พฤศจิกายน
2564

ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา หลังจากกองทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 แล้ว รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและบริเทน นำไทยเข้าเป็นสมุนของประเทศเผด็จการในค่ายที่เรียกกันว่า ‘อักษะประเทศ’ โดยที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีคนสำคัญ ผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการเป็นพันธมิตร หรือที่ถูกคือสมุนของญี่ปุ่น จึงถูก จอมพลแปลก กีดกันออกไปจากตำแหน่งทางการเมือง โดยตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คู่กับพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา

ผลต่อมา คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมลงนามในการประกาศสงครามกับมหาอำนาจตะวันตกตามความต้องการของ จอมพล แปลก ขณะเดียวกันก็ตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นกู้ชาติต่อต้านญี่ปุ่นดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น

โดยที่ จอมพลแปลก ได้พยายามตั้งตนเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ไม่ให้น้อยหน้าผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น ฮิตเลอร์ มุสโสลินี หรือพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จึงได้ประกาศสร้างชาติไทยเป็นมหาอำนาจด้วยการบังคับให้คนไทยทุกคนเวลาออกนอกบ้านต้อง สวมหมวก ใส่เกือก ให้ใช้สรรพนามเฉพาะคำว่า ‘ฉัน’ กับ ‘ท่าน’ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องล้อมกรอบหน้าหนึ่งด้วยคำขวัญ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” แม้แต่ตัวหนังสือไทยก็มีการแก้ไขสะกดการันต์เสียใหม่ คำว่า ‘โฆษก’ เลยกลายเป็น ‘โคสก’ ไป ฯลฯ

แล้ว จอมพลแปลก ก็ตั้งตนเป็น ‘องค์อุปถัมภกศิลปวรรณคดีแห่งชาติ’ ผู้ยิ่งใหญ่ในฐานะนายกวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2485 - 2487) ก็ได้แสดงตนเป็นนักคิด นักเขียน โดยใช้นามปากกาว่า ‘สามัคคีชัย’ อันเป็นชื่อทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่า ‘ราชสำนักตราไก่’ (เนื่องจาก จอมพล แปลก เกิดปีระกา จึงถือไก่เป็นสัญลักษณ์ของตน)

สำหรับข้อเขียนของ ‘สามัคคีชัย’ นี้ พอจะถือเป็นแบบอย่างของการแสดงความเขลาของผู้เขียนเองได้ด้วย เป็นต้นว่า ผู้เขียนแสดงข้อคิดว่า คนไทยจะรวยนั้นง่ายนิดเดียว คือ ทำสวนครัวขึ้น แล้วก็หารายได้โดย “ขายถั่วงอกเพื่อนบ้าน เท่านั้นหมดจน” ข้อคิดเหล่านี้แม้แต่ตัว จอมพล แปลก เอง ในโอกาสที่ได้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งหลัง (พ.ศ. 2491 - 2500) ก็ยังไม่ยอมหยิบยกขึ้นมาอ้างหรือเอ่ยถึงแม้แต่คำเดียว

ในส่วนของศิลปวรรณคดีนั้น ในราชสำนักตราไก่ก็ได้มีการชุมนุมกวี นักเขียน และนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่รับใช้ท่านผู้นำในสมัยนั้นกัน เพื่อสร้างงานวรรณกรรมที่เป็นอมตะ แต่งานส่วนใหญ่ปรากฏว่า ตายไปก่อนผู้เขียนทั้งสิ้น เมื่อมีงานหรือพบปะสังสรรค์กันก็จะมีการเขียนกลอนสดโชว์สำนวนกัน ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงต้องมาร่วมด้วย ทั้งๆ ที่ขณะนั้นกำลังถูกญี่ปุ่นแกะรอย เพราะสงสัยในเรื่องก่อตั้งขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นอยู่

ในโอกาสหนึ่ง พระนางเธอลักษมีลาวัณ ได้เขียนสักวา ‘ท้าทาย’ ความเป็นปฏิภาณกวีของผู้สำเร็จราชการฯ ออกมาซึ่งหมายความว่าผู้ที่ถูกท้าทายจะต้องตอบด้วยกลอนสดเช่นกัน ข้อความของสักวาของ พระนางเธอลักษมีลาวัณย์ มีดังนี้

“สักวาฉันขอเชิญผู้สำเร็จ
ทั้งสองเสด็จรับสั่งอย่ายั้งเฉย
ประทานเกียรติแก่กวีอภิเปรย
ท่านปรีดีเล่าก็เคยชำนาญกลอน
ประทานเกียรติให้แก่สมาคม
เพื่อผสมเก็บเข้าเอาไว้สอน
ขออย่าทรงปฏิเสธคำอ้อนวอน
โปรดอุปกรณ์การประพันธ์ช่วยฉันเอยฯ”

จากข้อความในสักวาดังกล่าวนี้ เราก็ได้ทราบว่า ดร.ปรีดี มีความสนใจในการประพันธ์ด้านกวีอยู่มากทีเดียว เพราะดูจะเป็นที่ทราบกันดีในวงการปัญญาชนสมัยนั้น ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากวิชาชีพในทางกฎหมาย และภารกิจการงานของท่านในฐานะรัฐมนตรีคนสำคัญของรัฐบาลในช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากสักวาของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ดังกล่าว ดร.ปรีดี ก็ได้แสดงปฏิภาณกวีของท่านออกมาดังนี้

"สักวาถูกท้าจากฝ่ายหญิง
ครั้นขืนนิ่งก็จะว่าสู้ไม่ได้
แต่ถ้าขืนเอ่ยตอบไม่ชอบใจ
ขออภัยอย่าพิโรธโกรธรังแก
อันการกวีชนิดที่ได้เขียนแต่ง
มีมากแห่งที่เป็นชายใช้แน่แน่
แต่ฝ่ายหญิงชนิดยิ่งกวีแท้
ส่งเสียงแหวนี่แหละท่าน ฉันแพ้เอยฯ"

เท่าที่ทราบ สักวาบทนี้สร้างความครื้นเครงในวงกวีของวรรณคดีสมาคมสมัยนั้นได้ไม่เบาทีเดียว ต่อมา หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงราวสิบเดือนเศษ ก็มีกลอนบทหนึ่งลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชามิตรรายสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยใช้ชื่อผู้เขียนว่า “นายปรีดี” บทกวีนี้มีชื่อเรื่องว่า “สงครามและสันติภาพ” หัวใจของเรื่อง (Theme) เป็นการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งในสมัยนั้นยากนักหนาที่จะมีผู้หยิบยกมาเขียนกันในรูปแบบของบทกวี

ยิ่งกว่านี้ เนื้อหาของกลอนบทนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเรียกร้องต้องการของยุคสมัยอันเป็นสากล ได้แก่ การต่อสู้กู้เอกราชของประชาชาติเมืองขึ้น ซึ่งนับว่าแปลกและใหม่มากทีเดียว และความจริงก็เป็นปัญหาสำคัญที่ยืดเยื้อเรื้อรังจนโลกต้องหมิ่นเหม่ต่อสงครามใหญ่หลายครั้งมาแล้วด้วย

ปรากฏว่า บทกวีนี้ในสมัยนั้น บุคคลภายนอกโดยทั่วไปไม่มีใครทราบกันเลยว่า “นายปรีดี” ผู้เขียนก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสท่านเดียวของเมืองไทยจริงๆ ทั้งๆ ที่ข้อคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศของท่านเป็นข้อคิดเห็นในเชิงรัฐบุรุษโดยแท้ และผู้เขียนเองก็ได้แสดงออกถึงความเป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่มาแล้ว จากการกอบกู้เอกราชของชาติที่ จอมพลแปลก นำเข้าไปร่วมในสงครามกับญี่ปุ่น

น่าสังเกตด้วยว่า นอกไปจากเนื้อหาซึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้กู้เอกราชของประชาชาติเมืองขึ้นที่ท่านผู้เขียนได้ระบุไว้ว่า มี อินโดนีเซีย ญวน ลาว ซึ่งเป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในสมัยนั้นแล้ว ท่านยังกล่าวถึง ระเบิดปรมาณูที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่ผลิตได้ในสมัยนั้น และก็ถือกันด้วยว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมแพ้ โดยท่านยืนยันว่า ตราบใดที่ประชาชาติเมืองขึ้นยังต้องต่อสู้กู้เอกราชของตนอยู่โดยไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าระเบิดปรมาณูจะมีฤทธิ์เดชร้ายแรงเพียงไรก็ตาม ก็ไม่มีทางที่จะป้องกันสงครามไม่ให้เกิดขึ้นได้ จากเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลกตลอดเวลาสามสิบกว่าปีมานี้ ก็ได้ยืนยันถึงความถูกต้องของข้อคิดนี้ด้วย

อนึ่ง ในการถ่ายทอดบทกลอน “สงครามและสันติภาพ” มาลงไว้ ณ ที่นี้ ได้รักษาสะกดการันต์ตามที่ได้ลงพิมพ์ครั้งแรกไว้ตามเดิมทุกประการ

 

สงคราม และ สันติภาพ

โดย นายปรีดี

 

          สงครามโลกครั้งก่อนรอนชีวิต         มนุษย์ปลิดสิบกว่าล้านประมาณหมาย

คนเข็ดขามสงครามกันมากมาย          จึงตั้งค่ายสันนิบาตชาติประเทือง

เพื่อระงับดับทุกข์สิ้นยุคเข็ญ               ให้ร่มเย็นสวัสดีไม่มีเรื่อง

อยู่ร่วมกันสันติสุขทุกบ้านเมือง           คอยปลดเปลื้องข้อพิพาทบาดทะลุง

สันนิบาตปรารถนาโดยนัยนี้                แต่ก็หนีไม่พ้นจากคนยุ่ง

พวกฟัสชิสต์ประดังขึ้นนังนุง               ต้องรบพุ่งกันอีกหลีกก็ไม่พ้น

อันเคหะสถานต้องลาญแหลก            ยิ่งกว่ารบครั้งแรกอย่างปี้ป่น

ทั้งเรือฟ้าเรือน้ำร่ำผจญ                     ชีวิตคนเหมือนปลวกถูกลวกน้ำ

ซ้ำยังมีลูกระเบิดที่เลิศฤทธิ์                ปรมาณูแรงพิษโปรยกระหน่ำ

สงครามโลกลบหายคลายระกำ          สหชาติเริ่มนำเป็นองค์การณ์

เพื่อระงับดับสงครามครั้งสามสี่           ปราถนาอย่างดีมีแก่นสาร

ให้ชาวชนพ้นทุกข์เรื่องรุกราน            แต่จะนานเพียงไหนก็ไม่รู้

ด้วยบัดนี้ยังมีการสู้รบ                        ไม่รู้จบในอินโดนีเซียอยู่

ทั้งญวนลาวกราวเกรียวลองเหลียวดู         ใครจะกู้สุขสันต์ให้หันคืน

ไม่ว่าใครอยากได้อิสรภาพ                       มันซ่านซาบรื่นรมย์ไม่ขมขื่น

เป็นเมืองออกของเขาเผ้าแต่กลืน              น้ำตาตื้นเต็มอยู่ไม่รู้วาย

เมื่อมีแอกแบกบ่าระอาอก                         ย่อมต้องเพียรเวียนยกให้ห่างหาย

เรื่องรังแต่ชุลมุนเกิดวุ่นวาย                      พอคาดหมายเป็นชนวนชวนสงคราม

อันตราบใดยังมีเรื่องของเมืองขึ้น             ความขมขื่นจะไม่ก่อให้ท้อขาม

ปรมาณูแค่ไหนอะไรก็ตาม                      กันสงครามเกิดได้ไฉนเอยฯ

มติชนสุดสัปดาห์ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖

 ที่มา: ปรีดีสาร มกราคม 2545