ต้นแบบการทำงานของอิสสระ
อิสสระ มีนายปรีดี พนมยงค์ (คุณลุง) เป็นต้นแบบในการทำงาน ในการเป็นผู้ประพฤติธรรม เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นนักประชาธิปไตย เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่มองการณ์ไกล มีความสามารถ รอบรู้ มีความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตนและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ
ในช่วงที่นายปรีดีพำนักที่กรุงปารีส อิสสระได้ไปกราบเยี่ยมคุณลุงปรีดีที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส หลายครั้ง และได้ติดต่อกับนายปรีดีทางจดหมายเสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ท่านให้ช่วยค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดเพื่อประกอบการเขียนหนังสือ เช่น ให้ช่วยค้นข้อมูลเรื่องทุนรองเงินตรา และดัชนีค่าครองชีพ ฯลฯ รวมถึงให้เป็นธุระจัดการพิมพ์หนังสือ ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบและความปราณีตในการตรวจปรูปและพิมพ์หนังสือ เช่น “อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร” เป็นต้น ซึ่งตรงกับลักษณะการทำงานของอิสสระที่มีความละเอียดและพิถีพิถันในการเขียนงานต่างๆ การค้นคว้าข้อมูล การสอบทานและตรวจสอบข้อเขียนหลายรอบ เพื่อให้งานออกมามีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทั้งนี้อิสสระ ได้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และเขียนบทความเกี่ยวกับบทบาทของปรีดี พนมยงค์กับการวางรากฐานสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การคลัง และการทหาร [1]-[3] เพื่อเผยแพร่ผลงานสำคัญและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ และเพื่อประโยชน์ในการศึกษาและค้นคว้าทางวิชาการต่อไป
โดยในจดหมายฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2514 นายปรีดี ได้มีข้อความหนึ่งถึงอิสสระว่า
“ขอชมเชยว่าหลานได้ใช้ความคิดและการทำงานอย่างเป็นระบบเอาการเอางาน ขอให้หลานอี๊ด (อิสสระ) รักษาความดีนี้ไว้ให้ตลอดไปและให้พัฒนายิ่งขึ้น ไม่เฉพาะการงานของลุงเท่านั้น แต่เพื่อการงานส่วนรวมในหน้าที่ทางการรัฐ และการงานส่วนรวมของประเทศชาติ”
อิสสระกับการพัฒนาการงานส่วนรวมของประเทศชาติ
อิสสระทำงานตลอดชีวิตในภารกิจที่หลากหลายทั้งในด้านงบประมาณ และกฎหมายมหาชน สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศ ขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ดังนี้
1. งานด้านงบประมาณ (2505-2535)
(1) การจัดสรรงบประมาณให้กับส่วนราชการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาภาคเกษตรและชนบทของไทย
(2) เสนอแนะการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงในปี 2520 โดยเสนอให้รวมกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน ให้จัดตั้งกระทรวงขึ้นใหม่ 2 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (การพัฒนาพลังงานต้องอาศัยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานและอาศัยกรรมวิธีเทคนิคขั้นสูง) กระทรวงการที่ดิน (เพื่อรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่ดินหลายหน่วยงานที่อยู่ต่างกระทรวงกันให้มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน) ทั้งนี้เรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเรื่องที่ดิน เป็นเรื่องที่นายปรีดี ให้ความสำคัญในการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
(3) ปรับปรุงระบบงบประมาณครั้งใหญ่ไปสู่ระบบงบประมาณแบบแผนงานและยกร่างระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณระดับจังหวัดฉบับแรกในปีงบประมาณ 2524 ทำให้มีการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินเป็นรูปธรรม เป็นการกระจายอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อทรัพย์สินหรือจ้างทำของให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นครั้งแรก
(4) การให้ความรู้เกี่ยวกับงบประมาณและการคลังผ่านบทความต่างๆ เช่น
บทความเรื่อง “เงินคงคลัง” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน ว่า “เงินคงคลัง” ในความหมายปัจจุบันมิใช่เงินที่รัฐบาลเหลือจ่าย แต่เป็นเงินที่รัฐบาลมีอยู่ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เป็นเงินที่รัฐบาลได้รับไว้เป็นเงินรายได้แผ่นดิน และเป็นเงินที่รัฐบาลได้รับไว้โดยมีข้อผูกพันต้องจ่าย การพิจารณาฐานะทางการเงินของประเทศจะพิจารณาจากตัวเลขเงินคงคลังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงข้อผูกพันในการจ่ายเงินของรัฐบาลด้วย
เรื่อง “วัวหายล้อมคอก : บทเรียนจากการอภิปรายงบประมาณ” เน้นย้ำหลักการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน ที่ให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชนสามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้กลไกการคลังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
บทความเรื่อง งบ ส.ส. และเรื่องการวิพากษ์การตั้งงบประมาณที่ไม่ได้แสดงรายละเอียดว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าใด ว่าเป็นการขัดกับหลักการจัดทำงบประมาณที่เสนอขอความเห็นชอบต่อสภาที่จะต้องจำแนกงบประมาณรายจ่ายและแสดงรายละเอียดการใช้เงินแต่ละประเภท
ซึ่งบทความทั้ง 2 เรื่องนี้ เน้นย้ำว่า อิสสระ เป็นผู้เคารพการปกครองในระบอบรัฐสภา ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นแบบอย่าง โดยอิสสระได้เคยเขียนบทความเรื่องท่านปรีดี พนมยงค์กับการริเริ่มเสริมสร้างอำนาจทางการคลังของรัฐสภาว่าในปี 2475 เป็นปีแรกที่รัฐธรรมนูญ ให้อำนาจรัฐสภามีอำนาจควบคุมการจัดทำงบประมาณและการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลโดยการตราพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี รวมถึงการถือปฏิบัติว่าการกู้เงินต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา และในช่วงที่นายปรีดีฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2489 ได้ริเริ่มเสริมสร้างอำนาจทางการคลังของรัฐสภา และสร้างรูปแบบของการควบคุมที่เอื้ออำนวยให้รัฐสภาควบคุมการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลในกรณีเร่งด่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการตราพระราชบัญญัติอนุญาตให้รัฐบาลจ่ายเงินไปพลางก่อน ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบรัฐสภาของไทยมาจนถึงทุกวันนี้
2. งานพัฒนาความรู้กฎหมายมหาชนในประเทศไทย (2515-2550)
อิสสระได้เคยให้สัมภาษณ์ในปี 2546 ว่า “เมืองไทยเราละเลยความสำคัญของกฎหมายมหาชนมานาน หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตที่ท่านผู้ประศาสน์การ (ปรีดี พนมยงค์) ทำไว้ นักศึกษาระดับปริญญาตรีนี่รู้หมดทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เนื่องจากหลักสูตรฯ เรียนหมดทุกอย่าง ตอนหลังเพื่อที่จะลบล้างสิ่งที่ท่านทำไว้ ก็มาเปลี่ยนเป็นคณะ” โดยมีการยกเลิกหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตอย่างเป็นทางการในปี 2495 และคณะนิติศาสตร์ฯ ไม่ได้มีการสอนกฎหมายการคลังอีกเลย จนกระทั่งปี 2525
อิสสระมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้แก่นิสิต นักศึกษา เพื่อพัฒนากฎหมายมหาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะกฎหมายปกครอง กฎหมายการคลัง และกฎหมายรัฐธรรมนูญ
“ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระฯ ได้ใช้ความรู้ความสามารถในทางวิชาการและความรู้ในทางปฏิบัติมาเขียนเป็นตำรา บทความ และคำพิพากษาในทางกฎหมายมหาชนอันนำมาสู่การผลักดันความคิดให้เกิดการบัญญัติกฎหมายใหม่ ๆ และการพัฒนากฎหมายมหาชนให้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ท่านอาจารย์จึงมีคุณูปการเป็นอย่างมากต่อวงการนิติศาสตร์และสังคมไทยและเป็นผู้วางรากฐานให้แก่กฎหมายมหาชนในประเทศอย่างแท้จริง” (สมคิด เลิศไพฑูรย์, 2564) [4]
2.1 อิสสระได้บุกเบิกการสอนวิชากฎหมายปกครองเปรียบเทียบ วิชากฎหมายเศรษฐกิจมหาชนว่าด้วยการเงินการคลัง และเสนอแนวคิดการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย (2515-2540) โดยในปี 2523 ได้เสนอแนวคิดที่สำคัญ เช่น การจัดตั้งศาลปกครองต้องคำนึงถึงเบื้องหลังประวัติศาสตร์ของฝ่ายปกครอง และเอกลักษณ์ของระบบการปกครองของไทยด้วย ซึ่งอิสสระได้อ้างอิงหนังสือ "คำอธิบายกฎหมายปกครอง" ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่เขียนขึ้นในปี 2474 เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องหลังประวัติศาสตร์กฎหมายปกครองของไทย และอิสสระเห็นว่าการควบคุมการกระทำทางปกครองต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายปกครองใช้อำนาจปกครองได้ และเน้นหลักการควบคุมหลังจากใช้อำนาจไปแล้ว มิฉะนั้นระบบที่จะสร้างขึ้นจะไม่สามารถทำงานได้ดีตามที่หวังไว้ อิสสระ ยังได้เขียนตำรากฎหมายปกครองเปรียบเทียบ ซึ่งอธิบายกฎหมายปกครองอย่างครบถ้วน ครอบคลุมทั้งในประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส โดยกล่าวถึงระบบรัฐตำรวจและระบบนิติรัฐ การแบ่งแยกนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนออกจากนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ความเป็นนิติบุคคลของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การมหาชน หลักความชอบด้วยกฎหมายรวมทั้งอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครอง [4]
2.2 ร่วมก่อตั้งและผลักดันกิจกรรมสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย (2524-2534) โดยอิสสระเห็นว่าควรส่งเสริมให้นักกฎหมายมหาชนได้มีโอกาสประกอบวิชาชีพที่เรียนมาอย่างเต็มภาคภูมิ
...นักกฎหมายเอกชนต้องยอมรับว่ากฎหมายมหาชนแตกต่างในสาระสำคัญจากกฎหมายเอกชน และยอมรับนับถือ กฎหมายมหาชน และปล่อยให้นักกฎหมายเหล่านี้พัฒนากฎหมายมหาชนโดยลำพัง ดังเช่น วงการแพทย์นับถือแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะโรคและแพทย์ผู้ชำนาญการแต่ละสาขา ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน..
(คำอภิปรายของอิสสระ การอภิปรายทางวิชาการเรื่องปัญหาการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 9 สิงหาคม 2523)
“อาจารย์อิสสระเป็นผู้ผลักดันที่สุดมาตั้งแต่เริ่มแรกในการให้กฎหมายมหาชนมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ด้วยความหวังว่าถ้ากฎหมายมหาชนมีการพัฒนาอย่างแข็งแกร่งแล้ว ประเทศไทยจะตั้งอยู่ในระบบนิติรัฐและนิติธรรมอย่างแท้จริง ฝ่ายปกครองต้องเคารพกฎหมายและไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้… ท่านเป็นนักกฎหมายที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาก (very scientific) ที่นักกฎหมายควรเอาเป็นแบบอย่าง เนื่องจากนักกฎหมายที่ดีจะต้องมีความคิดแบบวิทยาศาสตร์จึงจะยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมหากนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่จะหา Idol สักคน ผมเห็นว่าคนๆ นั้นคือ อาจารย์อิสสระ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม ท่านยึดมั่นในหลักการกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เปลี่ยนแปลง หรือไม่แกว่งโอนเอนไปนอกหลักการทางกฎหมาย อาจารย์อิสสระเป็นคนที่สมบูรณ์แบบอยู่ในธรรมปฏิบัติ การดำรงชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างที่งดงามทั้งต่องานที่ทำ ภรรยา ครอบครัว เพื่อนฝูงและพี่น้องเช่นเดียวกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์” (ดร.โภคิน พลกุล, “ระลึกถึงอาจารย์ ดร.อิสสระ ครูบาอาจารย์ทางกฎหมายที่น่านับถือ”, มีนาคม 2564 [5])
2.3 อิสสระ ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตั้งแต่เมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกเรื่องการกระจายอำนาจสู่ประเทศไทย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการจัดตั้งเทศบาลในปี 2476 ที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ริเริ่มให้มีการร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลต่อสภา โดยนำระบบรัฐสภามาใช้กับเทศบาล และเขียนบทความในการให้ความรู้เรื่องแนวคิดการกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ และได้ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อทรัพย์สินหรือจ้างทำของให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นครั้งแรก
2.4 ตุลาการและประธานศาลรัฐธรรมนูญ (2541-2545) ตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ และวินิจฉัยตามหลักการของรัฐธรรมนูญ หลักการของกฎหมายและทฤษฎีกฎหมายมหาชนอย่างตรงไปตรงมา และอย่างมีตรรกะ ดังจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยส่วนตนหลายๆ คำวินิจฉัยดังนี้
“อนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญ… ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากกรณีที่ต้องตีความเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยเรื่อง หรือคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ” (คำวินิจฉัยส่วนตนที่ 6/2543)
“ตามหลักกฎหมายทั่วไป การตีความบทบัญญัติใดๆ ของรัฐธรรมนูญ จะต้องตีความไปในทางที่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ เว้นแต่บทบัญญัตินั้นๆ จะมีข้อความหรือถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัตินั้นเป็นบทที่ยกเว้นหลักการดังกล่าว....” (คำวินิจฉัยส่วนตน 36/2542)
อิสสระ ยังเน้นย้ำถึงการตีความตามหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เช่น การจำกัดสิทธิการเข้าฟังการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจเลขาธิการฯ ไม่อนุญาตสื่อมวลชนให้ฟังการพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำไม่ได้ (บันทึกรายงานการประชุมวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ในประเด็นที่เกี่ยวกับร่างระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้ามาในศาลหรือบริเวณศาลหรือการเข้าฟังการพิจารณาคดีของศาล พ.ศ. 2541)
หรือ คำวินิจฉัยส่วนตนที่ 16/2545 ที่เห็นว่าถ้อยคำ “…หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ…” เป็นถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการตุลาการใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางในการพิจารณาว่าผู้สมัครคนใดมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวหรือไม่โดยไม่มีขอบเขตจำกัด จนกลายเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการตุลาการใช้อำนาจตามอำเภอใจเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครบางคนเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในสภาพทางกายซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ
ประเด็นการตีความโดยยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ยังแสดงให้เห็นในคำวินิจฉัยส่วนตนในคดีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯ
“..พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งฯ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้วมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ตามมาตรา 291 และ มาตรา 292 ของรัฐธรรมนูญ บุคคลดังกล่าวจึงต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าวที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ และต้องรับโทษตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ การตีความเช่นนี้สอดคล้องกับแนวความคิดซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมวด 10 ส่วนที่ 1 ซึ่งมุ่งประสงค์ให้มีการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันที่พ้นจากตำแหน่ง นอกจากนี้ การตีความยังเป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่า หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลเป็นของคู่กัน” (คำวินิจฉัยส่วนตนที่ 19/2544 และ 20/2544)
อิสสระยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการมีส่วนร่วมจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในการเป็นกรรมการสรรหาตุลาการฯ
3. ประธานที่ปรึกษาฯ ผู้ว่าฯ กทม. : มุ่งมั่นแก้ปัญหากรุงเทพฯ (2539-2540)
อิสสระมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการแก้ปัญหา กทม. ด้วยความรวดเร็ว โดยอิสสระเคยพูดเสมอว่า “คน กทม. ลำบากมากแล้ว หากระบบราชการอืดอาดยืดยาดก็จะทุกข์หนักไปกว่านั้นอีก” (ดร.พิจิตต รัตตกุล, พี่อิสสระที่ศาลาว่าการ กทม.”, มีนาคม 2564 [6]) โดยผลงานที่สำคัญเช่นการนำระบบ MIS มาใช้เพื่อพัฒนาการบริหารงบประมาณและการคลัง และลดขั้นตอนดำเนินการในระบบเอกสาร เพื่อการบริการประชาชนที่โปร่งใสและรวดเร็วขึ้น รวมถึงผู้เริ่มการจัดตั้งมูลนิธิฟื้นฟูกรุงเทพมหานครและเป็นประธานกรรมการฯ ในชุดแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์เมืองหลวง ให้การสงเคราะห์ข้าราชการ ลูกจ้าง และคนงานของกรุงเทพฯ ผู้ประสบภัยพิบัติหรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ทุนการศึกษา และสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯ นี้ ไม่มีการดำเนินการแล้ว จึงน่าจะมีการนำแนวคิดการจัดตั้งมูลนิธิฯ นี้มาดำเนินการใหม่
4. หลังจากเกษียณอายุที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยวัย 70 ปี
อิสสระ ได้เป็นเกตุทัต ศาสตราภิชาน ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยได้นำความรู้และประสบการณ์มาเผยแพร่ความรู้วิชาการ เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และให้ข้อคิดเห็นเรื่องการรวมพรรคการเมือง ที่ต้องทำก่อนเลือกตั้ง ไม่ให้กระทบต่อเจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้ง
ขอปิดท้ายบทความข้อคิดอิสสระถึงคนรุ่นหลัง
“ข้าราชการทั้งหลายย่อมปรารถนาความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการด้วยกันทั้งนั้น แต่ข้าราชการที่ดีก็มิบังควรแสวงหาสิ่งนี้ ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม เพราะการกระทำเช่นนั้นรังแต่จะทำให้สังคมข้าราชการของเราเป็นสังคมที่มีแต่การข่มเหงรังแกกัน หาความสงบสุขมิได้”
(ข้อคิดของอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ในหนังสือที่ระลึกสสำนักงบประมาณ 30 ปี, 14 กุมภาพันธ์ 2532)
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากหนังสืออนุสรณ์ชีวิตอิสสระ อ่านหนังสืออนุสรณ์ งานเขียน ได้ที่ www.dr-isra.com
อ้างอิง
- อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ, “ท่านปรีดีฯ กับการริเริ่มเสริมสร้างอำนาจทางการคลังของรัฐสภา”, ใน หนังสือวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2537, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537).
- อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ, “ท่านปรีดีฯ กับการวางรากฐานสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย”, ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ปรีดี พนมยงค์ ประดับไว้ในใจชน. (หนังสือที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 27 มิถุนายน 2544
- อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ, “ท่านปรีดีกับทหารของชาติ”, ตีพิมพ์ใน ปรีดีสาร ฉบับวันสิทธิมนุษยชน วันธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2543
- สมคิด เลิศไพฑูรย์, “ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ นักวิชาการผู้วางรากฐานให้แก่กฎหมายมหาชนในประเทศไทย”, ในหนังสือชีวิตอิสสระ เกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตและงานของอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
- โภคิน พลกุล, “ระลึกถึงอาจารย์ ดร.อิสสระครูบาอาจารย์ทางกฎหมายที่น่านับถือ”, ในหนังสือชีวิตอิสสระ เกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตและงานของอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
- พิจิตต รัตตกุล, พี่อิสสระที่ศาลาว่าการ กทม., ในหนังสือชีวิตอิสสระ เกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตและงานของอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ