ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี ปีนัง และ สาส์นสมเด็จ

22
มกราคม
2565

ช่วงวันที่ 10-11 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ปรากฏข่าวคราวหนึ่งแพร่กระจายสู่ความรับรู้ของผู้พำนักอยู่ในรัฐปีนัง (Penang) เขตดินแดนมลายู จนสร้างความตื่นเต้นและตื่นตัวเป็นอันมาก นั่นคือกรณีที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะออกเดินทางจากเมืองไทยมาแวะเยือนถิ่นปีนัง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มเจ้านายเดิมสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เจ้านายพระองค์สำคัญผู้ลี้ภัยจากเมืองไทยมาประทับ ณ บ้านซินนามอน (Cinnamon Hall) เลขที่ 206 ถนนเกลาไว (Kelawei Road) เขตเมืองหลวงจอร์จทาวน์ (George Town) บนเกาะปีนัง นับแต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ครั้นรับทราบข่าวคราวเรื่องการเดินทางของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็ได้เขียนจดหมายส่งไปยัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งประทับอยู่ทางเมืองไทย ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2478 มีเนื้อความว่า

“ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันเขียนจดหมายฉบับนี้เป็นฉบับ “นอกเกณฑ์” เพราะมีข่าวที่จะทูลเป็นส่วนพิเศษ  และประจวบมีเรือจะส่งจดหมายไปถวายได้โดยมิต้องใช้ไปรษณีย์ ที่ปีนังนี้มีไทยที่ไปมากับต่างประเทศผ่านอยู่เนืองๆ แต่รายอื่นไม่อื้อฉาวเท่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยหนังสือพิมพ์ทั้งที่ปีนังและที่สิงคโปร์เอาใจใส่มาก ตั้งแต่หลวงประดิษฐ์ออกจากกรุงเทพฯ มาทางรถไฟเมื่อวันที่ ๑๐ ในบ่ายวันนั้นเองผู้ส่งข่าวก็โทรเลขมาบอกหนังสือพิมพ์สะเตรตส์เอโค พอรุ่งเช้าวันที่ ๑๑  หนังสือพิมพ์นั้นก็โฆษณาว่าหลวงประดิษฐ์จะมาถึงปีนังวันนี้ เป็นเหตุให้มีชาวปีนังที่เคยได้ยินแต่ชื่อเสียงอยากเห็นตัว พากันไปคอยดูที่ท่าเรือก็มี ที่ข้ามไปถึงสถานีรถไฟ ตำบลไปรก็มี…”

 

(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้าบ้านซินนามอน (Cinnamon Hall) ปีนัง ภาพจาก หอสมุดดำรงราชานุภาพ)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หน้าบ้านซินนามอน (Cinnamon Hall) ปีนัง
ภาพจาก หอสมุดดำรงราชานุภาพ

 

ความสนใจของชาวปีนังต่อ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถึงขั้นที่ว่า “...มีจีนแสคนหนึ่งอุตส่าห์ข้ามไปด้วยใคร่จะดูลักษณะตามตำรา ไปเห็นแปลกตากลับมาพูดว่า “ลักษณะเป็นเจ๊กไม่เหมือนไทย” ”

อย่างไรก็ดี หลวงประดิษฐ์ฯ หรือ นายปรีดี มิได้ข้ามทะเลมายังฝั่งเกาะปีนัง เขาเพียงแต่หยุดคอยอยู่ที่สถานีรถไฟไปร (Prai Railway Station) บนฝั่งแผ่นดินมลายู ก่อนจะออกเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์เวลา 20 นาฬิกา คืนวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478 

การโดยสารรถไฟมาถึงสถานีปาดังเบซาร์ (Padang Besar) และสถานีไปรนั้น สืบเนื่องมาจากการที่กรมรถไฟหลวงเริ่มเปิดเส้นทางรถไฟสายใต้ให้สามารถเดินทางจากสถานีบางกอกน้อย ธนบุรี มายังชายแดนมลายูเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2464

 

(สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ (Padang Besar) ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ (Padang Besar)
ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายในจดหมายอีกว่า

“การที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาครั้งนี้  ได้ยินว่าระวังตัวอย่างกวดขัน เป็นต้นแต่รถที่มาก็เช่าหมดทั้งหลัง และในรถนั้นมีพรรคพวกพิทักษ์รักษาทั้งที่ในห้องอยู่และคอยเฝ้าประตูรถ ข้างฝ่ายอังกฤษก็ระวัง แต่พอรถไฟถึงปะดังเบซาเข้าแดนอังกฤษ ก็ให้โปลิศลับไปควบคุมมาและวางคนล้อมวงเมื่อรถจอดอยู่ที่ไปร ได้ยินว่ามีใครคนหนึ่ง (นัยว่าเป็นไทย) เดินเซ่อซ่าเข้าไปดูใกล้เกินไป  ถูกจับตัวค้นหาอาวุธ ไม่มีอะไรจึงปล่อย

ผู้คนที่มารับส่งหลวงประดิษฐ์ถึงปีนังก็อยู่ข้างแปลกกว่าปรกติ เป็นต้นว่า หลวงวุฒิสารเนติณัติ กงสุลเยเนอราลสยามที่สิงคโปร์ก็มารับถึงปีนัง (เพราะเขาเป็นเพื่อนรักกันส่วนตัว) พระสารสาสน์พลขันธ์ก็ตามมาส่งจากกรุงเทพฯ เดิมพูดว่าจะไปส่งถึงสิงคโปร์ ต่อไปถึงสิงคโปร์จึงขยายความว่าไปคอยรับครอบครัวจะตามไปยุโรปด้วย นอกจากนั้นยังมีพวกชายหนุ่ม เป็นผู้แทนในสภาบ้าง ผู้อื่นบ้าง ตามมาส่งอีกก็มาก ล่วงหน้ามาคอยอยู่ปีนังบ้าง มารถไฟกับหลวงประดิษฐ์บ้าง มารถยนต์จากสงขลาบ้าง มาทันก็มีไม่ทันก็มี ดูเหมือนโดยมากจะเพิ่งรู้ข่าวว่าหลวงประดิษฐ์จะไปจากเมืองไทย ใครมาได้ก็รีบมาฟังเหตุการณ์”

ด้าน หลวงวุฒิสารเนติณัติ (สุปรีดา บูรณศิริ) กงสุลเยเนอราลสยามประจำสิงคโปร์ เนติบัณฑิตอังกฤษ เพื่อนรักของนายปรีดี กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยพาดพิงผ่านจดหมายถึง กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ฉบับลง​วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ดังความตอนหนึ่งว่า

“หลวงวุฒิสาร กงสุลสยามเขาเปนคนชั้นสมัยใหม่แท้แต่เมื่อเขามาปีนังเคยมาหาหม่อมฉันดูวางอัธยาศัยไม่แสดงความรังเกียจเจ้า พระองค์หญิงประภาวสิตก็เคยออกพระโอษฐ์ชมกับหม่อมฉัน หม่อมฉันเข้าใจว่าเขาคงมาแสดงความเอื้อเฟื้อต่อพระองค์ท่านด้วยเหมือนกัน…”

ส่วน พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการสมัยรัฐบาลที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ช่วง พ.ศ. 2477

 

(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์  ภาพจาก หอสมุดดำรงราชานุภาพ)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ 
ภาพจาก หอสมุดดำรงราชานุภาพ

 

แม้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จะมิได้ข้ามมาเยือนฝั่งเกาะปีนัง แต่ก็ถือว่าการเดินทางมาถึงสถานีรถไฟไปรของเขาได้กลายเป็นข่าวแพร่หลายตามหน้าหนังสือพิมพ์ไม่น้อย ซึ่ง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าว่า “ได้เห็นในหนังสือพิมพ์ว่าในตอนเมื่อหลวงประดิษฐ์ไปจากปีนัง โปลิศลับอังกฤษก็ควบคุมไปตลอดทาง  จนถึงสิงคโปร์มีนายโปลิศลับมารับที่สถานีพาไปส่งที่สถานกงสุลสยาม และล้อมวงรักษาอยู่จนหลวงประดิษฐ์ลงเรือเมล์ออกจากสิงคโปร์ไป” อีกทั้ง “...เมื่อหลวงประดิษฐ์อยู่ที่สิงคโปร์ พวกหนังสือพิมพ์ได้ไปขอสนทนาแล้วเก็บความที่หลวงประดิษฐ์พูดมาลงพิมพ์ หม่อมฉันได้ตัดส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายนี้ด้วย”

เจ้านายชาวสยามผู้พำนัก ณ บ้านซินนามอน ยังให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์แห่งรัฐปีนังในส่วนท้ายของจดหมาย 

“อนึ่ง ที่ปีนังนี้มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ๒ คณะ ชื่อปีนังกาเสต (Pinang Gazette) เป็นหนังสือพิมพ์ของฝรั่ง ไม่ชอบคนไทยมาแต่ไรๆ คณะ ๑ ชื่อ สะเตรตส์เอโค (Straits Echo) เป็นหนังสือพิมพ์ของจีนชอบและช่วยไทยมาเสมอคณะ ๑ แต่เมื่อวันที่ ๑๙ นี้หนังสือพิมพ์สะเตรตส์เอโค พิมพ์คำนำจ่าเรื่องว่า “เผยข่าวประเทศสยาม” Revelations from Siam ใส่ร้ายเมืองไทย จะมีใครส่งข่าวนี้มาจากกรุงเทพฯ หรือจะมีใครออกจากกรุงเทพฯ เอาข่าวนี้มาให้แก่หนังสือพิมพ์  หม่อมฉันไม่ทราบ แต่ดูแปลก หม่อมฉันจึงตัดมาถวายด้วย”

 

 

 

จดหมายลายพระหัตถ์ที่เขียนถึงกันระหว่าง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ หลายฉบับต่อเนื่องนานหลายปี เพื่อปรึกษาหารือและโต้ตอบเกี่ยวกับข้อมูลความรู้ต่างๆ นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมล้นคุณค่าและคุณูปการอย่างยิ่ง กระทั่งภายหลังได้มีการนำมาจัดพิมพ์รวบรวมเป็นเล่มหนังสือ โดยให้ชื่อว่า สาส์นสมเด็จ

การเดินทางของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ มาสู่บริเวณชายแดนฝั่งมลายู พร้อมๆ กับเกิดกระแสข่าวว่าจะข้ามมาเยือนเกาะปีนังช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2478 ถือเป็นเรื่องที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เจ้านายระดับสูงแห่งสยามผู้ต้องแรมนิราศลี้ภัยทางการเมืองให้ความสนใจยิ่งนัก จนกระทั่งเขียนจดหมายฉบับ “นอกเกณฑ์” ไปบอกเล่าให้ สมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ที่พำนักอยู่ทางเมืองไทยรับทราบ นั่นจึงทำให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ปรากฏนามในเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นอุโฆษเยี่ยง สาส์นสมเด็จ !

 

เอกสารอ้างอิง

  1. สาส์นสมเด็จ ลายพระหัตถ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาค ๕). พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพคุณชื่น ศรียาภัย ณ เมรุวัดแก้วฟ้า ตำบลสี่พระยา วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2496. พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2496
  2. สาส์นสมเด็จ เล่ม ๗ พุทธศักราช ๒๔๗๘ (เมษายน-กันยายน). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และมูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2534