ปลายธันวาคม พ.ศ. 2476 ปรากฏข่าวคราวแพร่จากหัวเมืองเหนือมายังกรุงเทพมหานครเรื่องที่ นายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่ แถลงการณ์ว่ามีผู้แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรีคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เพื่อไปหลอกลวง เจ้าราชวงศ์ (น้อยลาวแก้ว ณ เชียงใหม่) ให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งพอทางกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบถึงเรื่องดังกล่าว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพินิจพิจารณาดูแล้ว จึงสั่งสอบสวนไปยังคณะกรมการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้น ดำเนินการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง
พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) รั้งตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น (ปัจจุบันเทียบเท่าตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด) และอดีตปลัดมณฑลพายัพยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยส่งหนังสือลับ ที่ ๑๐๖/๑๐๐๘๗ มายังกระทรวงมหาดไทย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477) ความว่า
ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
แผนกมหาดไทย
วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖
ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่ กราบเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ตามหนังสือลับที่ ๔๖/๑๔๙๐๙ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ให้ข้าพเจ้าจัดการสอบสวนความเท็จจริงเรื่องนายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่แถลงการณ์ว่า มีผู้แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรีไปหลอกลวงให้เจ้าราชวงศ์เข้าใจผิดว่าเป็นคนสนิทชิดเชื้อของนายกรัฐมนตรี ความหลายประการแจ้งในเรื่องราวนายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่ซึ่งได้ส่งไปยังข้าพเจ้านั้น
ขอกราบเรียนว่า
- นายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่ซึ่งปรากฏชื่อในเรื่องราวนั้นมีตัวอยู่จริง แต่เวลานี้ต้องโทษแลไม่ได้เป็นผู้เขียนหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี
- เรื่องเจ้าราชวงศ์ร้องขอส่วนแบ่งกำไรในการทำป่าไม้นี้ ก่อนที่เจ้าราชวงศ์จะได้จัดการในเรื่องนี้ ชั้นแรกเจ้าราชวงศ์[1]ได้พูดกับหลวงศรีประกาศ[2] ขอให้ช่วยทำคำร้องให้ หลวงศรีประกาศก็ได้จัดการทำคำร้องให้ไปยื่นทางกระทรวงเศรษฐการ แต่ไม่ได้ผล การร้องเรียนเวลานั้นไม่ได้ตกลงให้สินจ้างแก่หลวงศรีประกาศอย่างไร หลวงศรีประกาศทำให้โดยมิได้คิดเอาประโยชน์ตอบแทน
ต่อมาภรรยาหลวงศรีประกาศได้มาพูดจากับเจ้าราชวงศ์จะขอจัดการร้องเรียนในเรื่องนี้ให้ต่อไป ถ้าได้เงินจากรัฐบาลจะขอแบ่งตามส่วน ๑๐๐ ละ ๕๐ เจ้าราชวงศ์ไม่ยอมตกลง เป็นอันขาดตอนกันไปตอนหนึ่ง
เมื่อขาดตอนจากหลวงศรีประกาศแล้ว มีนางหมด ภรรยาหม่องบัว ชาติพะม่า บังคับอังกฤษ กับขุนศรีบุรีภิรมย์[3] กรมการพิเศษจังหวัดเชียงใหม่เข้าทำการติดต่อกับเจ้าราชวงศ์และค้นคว้าหาเรื่องราวแล้ว เจ้าราชวงศ์จึงทำคำร้องยื่นไปทางนายกรัฐมนตรีอีก ตอนนี้เจ้าราชวงศ์ตกลงให้สัญญากับนางหมดและขุนศรีบุรีภิรมย์ว่า ถ้าเป็นผลสำเร็จรัฐบาลจ่ายเงินให้จะแบ่งให้แก่นางหมดและขุนศรีบุรีภิรมย์ ๑๐๐ ละ ๓๐
ต่อมาเมื่อก่อนเกิดการกบฏ ได้มีชายผู้หนึ่งไม่ปรากฏชื่อ ได้ไปพูดติดต่อกับเจ้าราชวงศ์ว่าเขาเป็นคนชอบพอกับนายกรัฐมนตรี จะพูดอะไรพูดได้ รับจะช่วยเหลือ ถ้าเจ้าราชวงศ์ให้เปอร์เซ็นต์เท่ากับนางหมด และขุนศรีบุรีภิรมย์แล้วจึ่งจะช่วย แต่เจ้าราชวงศ์ยังไม่ตกลงด้วย ภายหลังกลับบอกเลิกไม่รับช่วยเหลือ เรื่องก็เลยระงับมาจนบัดนี้
อนึ่ง ชายที่ไม่ปรากฏชื่อนี้ ได้พยายามสืบสวนแล้ว ไม่ได้ความว่าเป็นผู้ใด มีสำนักหลักแหล่งอยู่ที่ไหน ส่วนผู้ที่ได้กล่าวนามมาแล้วในข้อ ๒ ถึง ๔ ไม่ปรากฏว่าได้แสดงตนเป็นคนสนิทชิดเชื้อกับนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใดเลย ได้ส่งเรื่องราวของนายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่มาพร้อมกับใบบอกด้วยแล้ว
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
(ลงนาม) พระยาอนุบาลพายัพกิจ
ประทับตราประจำตำแหน่งมาเป็นสำคัญ
ด้าน นายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่ จากเอกสารลับที่ได้มีการบันทึกว่าเป็นผู้แถลงการณ์เรื่องมีคนไปแอบอ้างนามนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อ พระยาอนุบาลพายัพกิจ และคณะกรมการจังหวัดเชียงใหม่ได้ตามแกะรอยสืบหาข้อเท็จจริง ก็ค้นพบว่า นายสิงห์แก้ว กำลังต้องโทษอยู่ในคุก ย่อมไม่ได้เป็นผู้แถลงการณ์แน่ๆ น่าจะมีใครอื่นสักคนที่ไปเผยแพร่แถลงการณ์เอง แต่สวมรอยและอ้างตนเป็น นายสิงห์แก้ว
ส่วนเรื่องคนที่ไปแอบอ้างกับ เจ้าราชวงศ์ ว่าสนิทชอบพอกับนายกรัฐมนตรี เพื่อขอแบ่งปันผลกำไรในกิจการทำป่าไม้ ก็พอมีเค้ามูลว่าเป็นเรื่องจริง และ สืบได้ว่าเป็นชายคนหนึ่ง แต่ยังไม่ปรากฏชื่อและแหล่งพำนัก
ภายหลังรับทราบผลสอบสวนจากคณะกรมการจังหวัดเชียงใหม่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ส่งหนังสือลับไปยังกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2477 เพื่อรายงานท่านนายกรัฐมนตรี
ลับที่ ล. ๓๑๑/๖๐๕๖
ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยเลขานุการรัฐมนตรีฯ
วันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
เรื่อง นายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่แถลงการณ์ว่ามีผู้แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียน นายกรัฐมนตรี
ตามหนังสือที่ ข. ๖๙๓๔/๒๔๗๖ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ศกก่อน นำส่งเรื่องราวของนายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่แถลงการณ์ว่ามีผู้แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรีไปหลอกลวงเจ้าราชวงศ์ให้เข้าใจผิดไป ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น
กระทรวงมหาดไทยได้สั่งสอบสวนไปยังคณะกรมการจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ได้รับตอบชี้แจงว่าได้พยายามสืบสวนชายผู้แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีสำนักหลักแหล่งอยู่แห่งใด ดังมีความแจ้งอยู่ในสำเนาหนังสือของคณะกรมการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งได้ส่งมาพร้อมด้วยหนังสือ
ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ต่อมาทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ ม.๓๑๑๔/๒๔๗๗ ตอบกลับมายังกระทรวงมหาดไทยว่านายกรัฐมนตรีรับทราบผลการสอบสวนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งลงนามเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขณะนั้นคือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
วันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
ตอบรับเรื่องนายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่ แถลงการณ์ว่ามีผู้แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรี
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
หนังสือเรียนนายกรัฐมนตรีที่ ล.๓๑๑/๖๐๕๖ ลงวันที่ ๕ เดือนนี้ รายงานการสอบสวนเรื่องราวของนายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่ แถลงการณ์ว่า มีผู้แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรีไปหลอกลวงเจ้าราชวงศ์ให้เข้าใจผิดนั้น ว่าได้พยายามสืบสวนชายผู้ที่แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีสำนักหลักแหล่งอยู่แห่งใด พร้อมทั้งได้ส่งสำเนารายงานการสอบสวนมาด้วยนั้น ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบแล้ว
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
ข่าวคราวเรื่องปรากฏคนชื่อ นายสิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ว่ามีผู้แอบอ้างนามนายกรัฐมนตรีแล้วไปหลอกลวง เจ้าราชวงศ์ โดยในท้ายสุดเป็นการที่บุคคลอื่นแอบอ้างชื่อนายสิงห์แก้วอีกที เพราะ นายสิงห์แก้ว ตัวจริงต้องโทษอยู่ในคุก
ปัญหาอันเกิดขึ้นในจังหวัดหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งเกี่ยวโยงกับบุคคลในตระกูลเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นั้น นับเป็นสิ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรให้ความเอาใจใส่ แม้สถานะและอำนาจของกลุ่มเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือกำลังลดน้อยถอยลงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทางรัฐบาลที่กรุงเทพมหานครเองก็พยายามสานสัมพันธไมตรีให้แนบแน่น มิปรารถนาให้เกิดความเข้าใจผิดจนกลายเป็นข้อขัดแย้งใหญ่โต
บทบาทของกระทรวงมหาดไทยในยุค หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ รั้งตำแหน่งรัฐมนตรี จึงแสดงออกท่าทีถึงความจริงจัง ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขในกับราษฎรไทย และมุ่งสอบสวนเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเพื่อป้องกันมิให้เกิดความขุ่นเคือง กระทั่งท้ายที่สุดสามารถสืบพบเค้ามูลพร้อมไขคดีได้กระจ่างชัดเจน
เอกสารอ้างอิง
- หจช.สร. 0201.5/13 ผู้ร้ายแอบอ้างนามนายกรัฐมนตรีเพื่อทำการทุจจริต (พ.ศ. 2477)
- ปิยเดช อัครโพธิวงศ์. ประวัติศาสตร์เชิงสถาปัตยกรรมคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์). เชียงใหม่ : ภทระ พรีเพรส, 2562
- “พระราชทานบรรดาศักดิ์.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 40 (30 มีนาคม 2466). หน้า 4619-4620
- “พระราชทานยศ.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 41 (30 พฤศจิกายน 2467). หน้า 2719-2741
[1] เจ้าราชวงศ์ เป็นราชบุตรองค์เดียวของ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ อดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 ที่จริง ตามกฎเกณฑ์การสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร ครั้น เจ้าอินทวโรรสฯ ถึงแก่พิราลัยลงเมื่อต้นทศวรรษ 2450 อันตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เจ้าน้อยลาวแก้ว ในฐานะทายาทจะต้องได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์ต่อไป แต่เนื่องจากอายุยังเยาว์วัย พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงเลือก เจ้าอุปราชแก้ว ให้รับหน้าที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่แทนในนาม “เจ้าแก้วนวรัฐ” และต่อมาปลายทศวรรษ 2460 ได้แต่งตั้ง เจ้าน้อยลาวแก้ว ให้ครองบรรดาศักดิ์ “เจ้าราชวงศ์”
[2] หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสุดของเชียงใหม่
[3] ขุนศรีบุรีภิรมย์ (พุก โค้สีเส็ง) เคยเป็นขุนนางเดิมมาแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พอหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้ดำรงตำแหน่ง “กรมการพิเศษ” อันหมายถึง กรมการเมืองกิตติมศักดิ์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านบริหารราชการแก่ข้าหลวงประจำจังหวัด
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- สิงห์แก้ว ณ เชียงใหม่
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พจน์ พหลโยธิน
- เจ้าราชวงศ์
- น้อยลาวแก้ว ณ เชียงใหม่
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ปรีดี พนมยงค์
- พระยาอนุบาลพายัพกิจ
- ปุ่น อาสนจินดา
- ขุนศรีบุรีภิรมย์
- เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 6
- เจ้าน้อยลาวแก้ว
- พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
- เจ้าอุปราชแก้ว
- เจ้าแก้วนวรัฐ
- หลวงศรีประกาศ
- ฉันท์ วิชยาภัย
- พุก โค้สีเส็ง
- ธำรงนาวาสวัสดิ์
- ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์
- ปิยเดช อัครโพธิวงศ์