ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สร้างสันติภาพเเละการเจรจายุติสงคราม

24
มีนาคม
2565

หลายสงครามจบลงด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะแบบเด็ดขาด มีการสูญเสียอย่างมหาศาล ทั้งชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ทรัพย์สิน แต่ชีวิตมนุษย์ คือ สิ่งสำคัญที่สุด แต่ยังมีบางสงครามที่สามารถเจรจาสันติภาพและยุติลงได้ บางเหตุการณ์ยุติลงอย่างหมดสิ้น คู่กรณีสงครามสามารถเข้าใจกันได้ในฐานะเพื่อนร่วมโลกหรือร่วมชาติเดียวกัน แต่บางเหตุการณ์ยุติลงด้วยข้อตกลงเงื่อนไขต่างๆ แต่ยังมี “เชื้อไฟ” ของความขัดแย้งคลุมเครือ

ในที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่ยั่งยืน บางประเทศผ่านการรวมประเทศ แยกประเทศ ตามวัฏจักรแห่งกาลเวลา ซึ่งเป็นสภาวะปกติของสังคมโลก แต่เพียงว่าสิ่งนี้จะตกอยู่ในช่วงเวลาใด ในช่วงอายุคนรุ่นผม (อนุสรณ์ ธรรมใจ) นั้น สถานการณ์โลกมีความสงบมากกว่าในช่วงอายุของ คุณไพศาล มังกรไชยา (ผู้ร่วมดำเนินรายการย้อนอดีต เป็นคนรุ่นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516-2519)

คนในยุคสมัยของผม ตอนที่อายุประมาณสี่สิบต้นๆ นั้น แม้จะได้เห็น การเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไทย อย่างกรณี 6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นช่วงที่ยังอยู่ในวัยเด็ก ไม่ได้รับรู้ความเป็นไปของบ้านเมืองมากนัก

แต่เมื่อนำเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 มาเทียบเคียงกับเหตุการณ์วิกฤติการทางการเมืองพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่ "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" หรือ นปช. ยึดพื้นที่เวทีราชประสงค์และเกิดเหตุปะทะขึ้นในหลายจุดนั้น ดูเหมือนว่าครั้งล่าสุดนี้จะรุนแรงกว่า แต่เมื่อมองอย่างมีพัฒนาการ จะพบว่าเหตุการณ์นี้มีปัญหาสะสมก่อนหน้านี้หลายปีแล้วระดับหนึ่ง

ในที่สุดถึงจุดที่เกิดปะทุขึ้นมา สงครามกลางเมืองของไทยในอดีตนั้นมีทั้งเหตุปัจจัยภายในและภายนอกที่นำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งอาจจะมีคนออกแบบความรุนแรง แต่เมื่อมีภาวะแวดล้อมหลายอย่างเกิดขึ้น จึงกลายเป็นส่วนเสริมนำไปสู่สิ่งที่เขาออกแบบไว้ด้วย เพราะเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลาคมนั้นเป็นสถานการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” มีการเตรียมการอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่ความเกลียดชังของนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สะสมกำลังอาวุธ เป็นกลุ่มคนไม่มีศาสนา และข้อกล่าวหาว่าเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาก่อกวนในไทย เพราะขณะนั้นเกิดสงครามอินโดจีน

ในบทความนี้มีกรณีตัวอย่างจาก "สงครามเกาหลี" เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ยุติลงได้ ซึ่งหากนับมาถึงทุกวันนี้เป็นระยะเวลารวม 60 ปีที่เกาหลีแม้จะแยกประเทศ แต่มิได้ก่อสงครามเกิดขึ้นต่อกัน ซึ่งเมื่อครั้งที่เกิดสงครามเกาหลีขึ้นนั้นเป็นช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) เป็นสงครามคนในชาติที่มีเหตุปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกซ้อนด้วย แต่ประชาชนไม่รับรู้ถึงประเด็นนี้ เพราะมีมหาอำนาจต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สาเหตุนั้นเพราะเมื่อหลังจากจบสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตร ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้เกิดสองลัทธิขึ้นมา ซึ่งช่วงที่กระทำสงครามกันนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรได้แบ่งภารกิจความรับผิดชอบต่อสู้กับฝ่ายอักษะ เมื่อชนะสงคราม แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกของฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้าไปครอบครองพื้นที่แตกต่างกัน มีทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน ซึ่งจีนได้แตกแยกกันเองภายในประเทศอีกด้วย นั่นคือระหว่างฝ่าย เจียง ไคเชก กับ เหมา เจ๋อตง

สำหรับกรณีเกาหลีนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครองพื้นที่คนละส่วน โดยสหภาพโซเวียตยึดครองพื้นที่เกาหลีเหนือต่อจากจีนที่เป็นเจ้ายึดครองพื้นที่นี้อยู่ก่อนแล้ว ส่วนเกาหลีใต้นั้นมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ครอบครอง จึงเป็นประเด็นขึ้นมาว่าไม่สามารถจะแบ่งพื้นที่กันได้ ทั้งที่เจ้าของพื้นที่ตัวจริงคือคนเกาหลี ซึ่งไม่ใช่เกาหลีเหนือหรือเกาหลีใต้ แต่เป็นเกาหลีเดียวเท่านั้น และเมื่อถามว่าชนชาติเกาหลีมาจากไหน คำตอบก็คือมาจากจีน อดีตเป็นนครรัฐของจีน

ฉะนั้น เมื่อลองมองย้อนกลับไปในอดีตและใช้ภูมิปัญญาพิจารณาจะพบว่า ทั้งหมดคือญาติพี่น้องกัน จึงไม่น่ามาสู้รบต่อกัน หากรัฐบาลสามารถจัดการปกครองหรือสร้างระบบเศรษฐกิจที่จัดสรรผลประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรมและทุกคนเกิดความพอใจ ทุกคนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

"สงครามเกาหลี" เกิดขึ้นในระหว่าง 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ถึง 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ระหว่างนั้นได้เกิดการเจรจาเป็นระยะๆ ซึ่งจะเห็นทั้งสายพิราบและสายเหยี่ยว อย่าง นายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้ายึดทั้งเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือได้ และอาจไปจนถึงปักกิ่ง ซึ่งถ้าหากนายพลแม็คอาเธอร์ยังดำรงหน้าที่นี้ต่อไป ไม่ถูกปลดโดยประธานาธิบดีทรูแมน อาจมีแนวโน้มสูงมากที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้

ประเด็นของนายพลแม็คอาเธอร์ได้ถูกนำมาอภิปรายในรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ในแง่ที่แม็คอาเธอร์เป็นนักการทหาร นักปฏิรูป ซึ่งได้เข้าไปปฏิรูปให้ญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและมีความเป็นประชาธิปไตยจนถึงทุกวันนี้ แต่ความผิดพลาดครั้งสำคัญของนายพลแม็คอาเธอร์ คือ การขัดแย้งกับนโยบายของ ประธานาธิบดีเฮนรี่ เอส. ทรูแมน ซึ่งถือเป็นรอยด่างในชีวิต แล้วในที่สุดประธานาธิบดีทรูแมนซึ่งเดิมไม่ค่อยพอใจอยู่แล้วจึงถือโอกาสปลดนายพลแม็คอาเธอร์

แต่เนื่องจากนายพลแม็คอาเธอร์เป็นบุคคลสำคัญที่มีนักการเมืองบางคนคอยให้การสนับสนุนอยู่นั้น ได้นำญัตตินี้เข้าสู่สภาเพื่อให้มีการอภิปรายกันอย่างจริงจัง ผู้คนในสหรัฐอเมริกาได้ติดตามเฝ้าดูการอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับการปลดนายพลแม็คอาเธอร์อย่างมากมายผ่านการถ่ายทอดการอภิปราย ซึ่งช่วงนั้นโทรทัศน์ได้เข้ามาติดตลาดในสหรัฐอเมริกาแล้ว

นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มอธิบายว่า หากนายพลแม็คอาเธอร์ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาให้ดำเนินการปฏิบัติภารกิจด้านสงครามต่อไปจนชนะทั้งหมด โฉมหน้าของโลกอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะนายพลแม็คอาเธอร์ต้องการบุกไปยังประเทศจีน อาจไม่มีการแบ่งประเทศเป็นเกาหลีเหนือและใต้ ประเทศจีนอาจจะไม่ได้ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์

หากไม่มีการหยุดยั้งสงครามในขณะนั้น อาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ขณะนั้นมีปรมาณูที่ถูกนำไปใช้แล้วที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ สมมติว่าหากสงครามไม่ยุติลง อาจมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น

เรื่องการเจรจาเพื่อสงบศึกนั้นกินระยะเวลา 2 ปี การเจรจาหาข้อยุตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งต้องมีความสูญเสียให้เห็นในระดับหนึ่งก่อนถึงจะเกิดสำนึกขึ้น แต่หากผู้นำของทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้นได้ศึกษาบทเรียนในอดีต อาจช่วยให้เกิดการหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ แต่ต้องถอยคนละก้าว ข้อสำคัญคือต้องมีความจริงใจ หากไม่มีความจริงใจจะถือเป็นเรื่องของเกมสงคราม

เมื่อได้ศึกษากรณีความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ จะเห็นได้ว่า แม้จะอยู่ฝ่ายเดียวกันก็ตาม แต่ยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นกันเองในหลายกลุ่มย่อยด้วย ดูอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกามีการแยกแนวทางที่ต่างออกไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในยุคสมัยของประธานาธิบดีทรูแมน (พรรคเดโมแครต) ได้เริ่มดำเนินนโยบายยุโรปมาก่อน (Europe First Policy) หมายถึงว่าได้ทุ่มสรรพกำลังหรือการแก้ปัญหาไปยังยุโรป ส่วนภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนั้นจะต้องทำให้มีปัญหาน้อยที่สุด

ฉะนั้น นโยบายของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อสงครามเกาหลี เป็นสงครามที่จำกัดขอบเขต แต่ในขณะเดียวกันพรรครีพับลิกันกลับมีนโยบายที่ตรงกันข้าม คือ มุ่งไปที่เอเชียก่อนหรือมาเป็นอันดับแรก (Asia First Policy) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของนายพลแม็คอาเธอร์ที่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาคงบทบาทไว้ในเอเชียอย่างเต็มที่ แต่เมื่อพรรคเดโมแครตเป็นรัฐบาล สงครามในเกาหลีจึงมีลักษณะสงครามจำกัดเขต (Limited Warfare) ไม่พัฒนาเป็นสงครามระดับนานาชาติ หรือ สงครามโลก แม้จะมีนานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม

เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของสงครามเกาหลีนั้น ความจริงเกือบจะเกิดสันติภาพแต่เพราะมีการแย่งอำนาจกันเองระหว่างผู้นำในเขตภาคเหนือกับผู้นำในเขตภาคใต้ จึงนำมาสู่การแทรกแซงโดยชาติมหาอำนาจ

หากได้ย้อนไปยังเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และอีก 2 ปี ก่อนที่จะเกิดสงครามเกาหลี พบว่ามีสงครามกลางเมืองระดับย่อยเกิดขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นต้องย้อนกลับไปดูที่ปฏิญญาไคโร มีข้อพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีส่วนให้เกิดสงครามย่อยกลางเมือง

สมัยนั้นเป็นยุคของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ แห่งพรรคเดโมแครต เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1943 ก่อนสงครามโลกจะยุติ ส่วนผู้นำอังกฤษขณะนั้นคือ วิลสตัน เชอร์ชิลล์ ส่วนจีนขณะนั้นมี เจียง ไคเชก เพราะขณะนั้นมีผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรมีมติร่วมกันว่ากรณีของอาณานิคมทั้งหมดของญี่ปุ่นนั้น เช่น เกาหลีเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษ 20 จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามจะมอบเอกราชให้

ความน่าสนใจก็คือเนื่องจากตัวละครมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อได้ประชุมที่ปฏิญญาไคโรแล้วยังมีการประชุมต่อเนื่อง ซึ่งขณะนั้นประธานาธิบดีรูสเวลท์มีสุขภาพไม่ค่อยดีนักและต่อมาได้ถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่ง

ส่วนจีนนั้น เจียง ไคเชก ใกล้จะหมดจากอำนาจเช่นกัน ไม่ค่อยได้มีบทบาทในฐานะตัวแทนของพรรคกั๋วหมินตั๋ง เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนของ เหมา เจ๋อตง ได้รุกคืบเข้ามายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจีนแล้ว

ในขณะที่โซเวียตซึ่งช่วงแรกไม่ได้เข้าร่วมประชุมปฏิญญาไคโรด้วยกลับได้เข้ามามีบทบาท และช่วงที่สงครามใกล้ยุติลงนั้นเพราะญี่ปุ่นโดนถล่มด้วยระเบิดปรมาณูถึงสองลูก โซเวียตจึงเข้ายึดพื้นที่แมนจูเรียซึ่งเป็นภาคเหนือของเกาหลีทันที

ดังนั้น เมื่อสงครามยุติลง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงประชุมในเรื่องการแบ่งพื้นที่ ซึ่งฝ่ายทางเหนือของเกาหลีที่มีโซเวียตปฏิบัติภารกิจสงครามเข้าปลดอาวุธญี่ปุ่นในเกาหลีทางเหนือ ส่วนเกาหลีทางใต้นั้นมีสหรัฐอเมริกาได้เข้าปลดอาวุธญี่ปุ่น

ทางฝ่ายประธานาธิบดีทรูแมนซึ่งเข้ารับตำแหน่งแทนประธานาธิบดีรูสเวลท์ที่อสัญกรรมไปนั้น ได้วิเคราะห์ว่าหากเห็นชอบให้โซเวียตยึดเกาหลีทางเหนือนั้น จะส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะเกาหลีทางภาคเหนือมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก เช่น มีแร่ธาตุ ถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากญี่ปุ่นที่เข้ายึดเกาหลีทางตอนเหนือไว้นั้นได้ลงทุนในกิจการต่างๆ ไว้มากมาย ส่วนเกาหลีทางภาคใต้มีสภาพยากจน ผู้คนมีอาชีพเกษตรกรรม  ประมง

ประธานาธิบดีทรูแมนไม่ต้องการทำสงครามกับโซเวียต อาจเกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ในเกาหลี อีกทั้งกองกำลังสหรัฐอเมริกาที่ประจำการอยู่เกาหลีนั้นมีจำนวนไม่มาก เพราะได้จัดทัพกองกำลังไปอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นหลัก จึงยอมเห็นชอบให้โซเวียตยึดเกาหลีทางตอนเหนือ โดยหาจุดเส้นแบ่งเขตแดนที่เส้นขนาน 38 นั่นคือ พื้นที่เหนือเส้นขนาน 38 ขึ้นไปนั้นโซเวียตเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ส่วนพื้นที่ใต้ลงไปจากเส้นขนาน 38 นั้นสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด

สหรัฐอเมริกามีวิธีการแบ่งประเทศโดยอาศัยจากประสบการณ์ที่เคยแบ่งประเทศเยอรมันออกเป็นสองซีก โดยให้โซเวียตดูแลพื้นที่ซีกหนึ่ง ส่วนอีกซีกหนึ่งนั้นสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดูแล

กลับมาที่เรื่องเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ขณะนั้นเกาหลีเหนือมีประชาชนเพียง 9 ล้านคน ส่วนเกาหลีใต้มีมากถึง 21 ล้านคน อีกทั้งยังมีสภาพยากจนกว่า ชาวเกาหลีที่อยู่ในพื้นที่บริเวณชายแดนเส้นขนาน 38 ต่างก็เป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น

ฉะนั้น แนวทางของ คิมแดจุง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เป็นผู้ริเริ่มทำโครงการ Sunshine Policy หากทำสำเร็จ จะส่งผลให้เกาหลีรวมเป็นประเทศเดียวได้และสันติภาพจะเกิดขึ้นอย่างถาวร แต่ไม่มีใครสานต่อ คิมแดจุงเสียชีวิตไปแล้วและได้รับรางวัลโนเบลไพรซ์สาขาสันติภาพอีกทั้งยังเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตัวจริงอีกด้วย

สมัยที่โครงการ Sunshine Policy นั้น คิมแดจุงให้ญาติพี่น้องของชาวเกาหลีข้ามฝั่งมาพบกัน พ่อแม่บางคนพลัดพรากกับลูกที่เส้นขนาน 38 แล้วไม่ได้พบหน้ากันเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ละคนกอดคอร่ำไห้ เป็นความงดงามของความรักที่มนุษย์มีต่อครอบครัว

การตั้งผู้นำของตนเองทั้งเกาหลีทางภาคเหนือและภาคใต้นั้นเกิดการกระทบกระทั่งอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเกาหลีทางภาคเหนือเกิดเอาจริงขึ้นมา สั่งกำลังพล 6 หมื่นคนข้ามเส้นขนาน 38 เข้ามายึดกรุงโซลของเกาหลีทางภาคใต้

เหตุการณ์นี้ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้ามาปกป้องเกาหลีทางภาคใต้แต่อย่างไร เพียงแต่มีรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาขณะนั้น ชื่อ ยีน อันซีซั่น ดำเนินนโยบายการจำกัดขอบเขตของการใช้การทหาร ซึ่งนโยบายนี้เคยใช้มาแล้วที่ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ แคนาดา แต่หากนอกเหนือจากที่กล่าวมาจะไม่ใช่เขตพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาแล้ว องค์การสหประชาชาติจะเข้ามาดำเนินการเอง เพื่อจะได้ตัดปัญหาเรื่องนี้ออกไปเพราะเจียง ไคเชกได้ส่งภรรยาชื่อซ่งเหม่ยหลิงมากล่าวปราศรัยที่สภาครองเกรส แต่ประธานาธิบดีทรูแมนปฏิเสธ เพราะถือว่าเป็นสองมาตรฐาน อันเนื่องจากพื้นที่เหล่านั้นอยู่นอกเขตจำกัดตามนโยบาย

การที่มีนโยบายต่างประเทศแบบนี้ เพราะสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้เกิดปัญหากับคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งขณะนั้นเจียง ไคเชกแห่งพรรคกั๋วหมินตั๋งพ่ายแพ้แล้วอพยพหลบหนีมาที่ไต้หวัน และถ้าสหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะช่วยปกป้องดินแดนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลายนั้น จะเกิดความวุ่นวายขึ้น

เคยมีสารคดีตีแผ่ชีวิตคนเกาหลีที่ลักลอบข้ามเขตพรมแดนนี้ ด้วยการเดินข้ามแม่น้ำ โดยมีขบวนการของคริสตจักรเป็นผู้มารับอีกฝั่งหนึ่ง กลุ่มนี้จะช่วยเหลือกัน โดยการมาติดต่อที่คริสตจักรที่เกาหลีเหนือแล้วจะมีการประสานการช่วยเหลือให้ ซึ่งต้องรอนแรมเดินทางจากจีน ผ่านลาวไปเวียงจันทน์แล้วไปประเทศไทยเพื่อเป็นช่องทางไปสู่ประเทศโลกที่สาม

แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือถือเป็นประเทศหนึ่งที่จัดอันดับว่ายากจน ทั้งที่ในอดีตเคยมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ จึงเป็นข้อสงสัยว่าผู้นำมีการบริหารประเทศกันอย่างไร ระบบการปกครองที่ผิดพลาดจะส่งผลต่อชีวิตประชาชนอย่างมาก

ความจริงแล้วสงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ หากได้ดูเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แล้วสามารถย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้ด้วยการเปลี่ยนผู้นำบางคนเท่านั้นเองสงครามจะไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้นแล้ว ต้องย้อนกลับไปดูว่ามีหลายปัจจัยอะไรบ้างที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองโดยไม่จำเป็น และเป็นเรื่องความผิดพลาดของหลายเหตุปัจจัย แต่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดคือ "ผู้นำ" ซึ่งจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ฉะนั้น ผู้นำคนไหนที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน หรือ ดำเนินนโยบายแข็งกร้าว ไม่มีทางหลีกหนีความผิดไปได้ ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกเอาไว้

ส่วนกรณีของเกาหลีนั้น องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งหลังจากมีการแบ่งออกเป็นสองประเทศแล้ว โดยในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1947 องค์การสหประชาชาติได้เสนอให้สหรัฐอเมริกาและโซเวียตที่ยึดครองพื้นที่คนละส่วนนั้น ให้ชาวเกาหลีเป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้ง แต่ควรจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติเป็นอันดับแรกก่อน ซึ่งอาจจะยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน

จากนั้นให้รวมเกาหลีทั้งหมดเข้าเป็นหนึ่งเดียวด้วยกันก่อน แล้วจัดการเลือกตั้งเพื่อจะได้เป็นเกาหลีเดียวอย่างเป็นทางการ ใครได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนจะได้เป็นผู้บริหาร ซึ่งก็คือให้วิธีการเลือกตั้งของประชาชนเป็นการรวมชาติเกาหลี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นโดยมีสาเหตุจากส่วนหนึ่งที่เกิดแรงยุจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเเละโซเวียต

นั่นเป็นเพราะว่า ชาติมหาอำนาจทั้งสองเกรงว่าประชาชนฝ่ายตนอาจไปเลือกผู้นำอีกฝ่ายหนึ่ง ประเทศที่ปกครองด้วยการเมืองลัทธิแตกต่างกันจะเข้ามาครอบงำอีกฝ่ายหนึ่ง ช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเกาหลีเหนือถูกกลืนด้วยระบบสังคมนิยมตามแนวทางของโซเวียต ในขณะที่เกาหลีใต้มีสหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบ

จากข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1947 ผ่านไปแล้วมาถึงช่วงกลางปี ค.ศ. 1948 เกาหลีทางภาคใต้รีบดำเนินการจัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติเพื่อจะให้มีการเลือกตั้งผู้นำแล้วรวมชาติเกาหลีในลำดับต่อไป พรรคการเมืองที่ดำเนินนโยบายขวาจัดที่เป็นชาตินิยม โดยผู้นำพรรคฯ คือ ดร.ซิงมันรี ชนะการเลือกตั้งแล้วรีบประกาศเอกราชทันทีก่อนที่จะมีการรวมชาติ จึงกลายเป็นเกาหลีใต้ นี่คือความใจร้อนของผู้นำซิงมันรี ซึ่งในขณะนั้นเกาหลีทางภาคเหนือมีพรรคแรงงานเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล

ต่อมาเกาหลีทางภาคเหนือจึงได้จัดการเลือกตั้งบ้าง แต่เป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ ไม่ใช่เลือกตั้งจริง แล้วในที่สุดพรรคแรงงานได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง โซเวียตจึงได้สนับสนุนให้เกาหลีเหนือประกาศเอกราชด้วยเช่นกัน และตั้งชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (People Democratic Republic of Korea) เป็นประเทศสังคมนิยม ส่วนเกาหลีใต้ใช้ชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐเกาหลี (The Republic of Korea) โดยมีประธานาธิบดีชื่อ ดร.ซิงมันรี

ความจริงทั้งสองประเทศถือเป็นประเทศเดียว เพราะมีเชื้อชาติเดียวกัน แต่มีสองรัฐบาล สองผู้นำ มีการชิงดีชิงเด่น กระทบกระทั่งกันตลอดเวลา

"สงครามเกาหลี" นั้นมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไป ซึ่งมีความน่าสนใจยิ่ง อย่างเกาหลีเหนือนั้นได้เรียกเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1950 ว่าเป็น สงครามปฏิวัติมาตุภูมิ (Father Land Revelation War) ซึ่งเป็นการเรียกที่ดูจะฉลาดกว่า ถือเป็นวาทะกรรมทางการเมืองของการมีส่วนร่วมได้มากกว่า

ส่วนสหรัฐอเมริกาเรียกสงครามนี้ว่า สงครามแห่งความขัดแย้งเกาหลี (Korea Conflict) ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่น่าจะถูกต้องมากที่สุด เพราะเมื่อวิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นว่า ถ้า ดร.ซิงมันรี ผู้นำเกาหลีใต้ กับ คิมอิลซุง ผู้นำเกาหลีเหนือยอมอ่อนข้อให้แก่กันแล้วและผลัดกันเป็นผู้นำประเทศสงครามเกาหลีอาจจะไม่เกิด เพราะถ้าไม่มีเชื้อของความขัดแย้งภายในชาติมหาอำนาจจะแทรกแซงไม่ได้

ส่วนนานาชาติเรียกสงครามครั้งนี้ว่าเป็น สงครามที่ถูกลืม (The Gotten War) แต่เกาหลีใต้เรียกสงครามครั้งนี้ว่า สงคราม 6.25 เพราะวันเริ่มต้นการเกิดสงครามคือวันที่ 25 เดือน 6 แต่เนื่องจากมีการแย้งว่าอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจ จึงเปลี่ยนไปเรียกว่าเป็น สงครามฮันกุ๊ก โจน เจียน แปลตรงตัวว่า สงครามเกาหลี

การเจรจายุติสงครามนั้นเป็นผลมาจากกลุ่มสายเหยี่ยวทั้งหลายหลุดจากอำนาจไปบ้าง ละสังขารไปบ้าง เช่น สตาลิน แม็คอาเธอร์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการรบสูงสุด แล้วแต่งตั้ง นายพลริดจ์เวย์ แทน ซึ่งเป็นสายพิราบ และประธานาธิบดีทรูแมนได้แพ้เลือกตั้งถูกปลดโดยประชาชนนั่นเอง ส่วนคนที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนนั้นชื่อ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เป็นนายทหารที่ผ่านสงครามมามากมาย ได้ชูประเด็นนโยบายสันติภาพทันที เขาได้ประกาศยุติสงครามเกาหลีเป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงด้วย นี่จึงเป็นสาระสำคัญที่นำมาสู่การเจรจาในเวลาต่อมา ประกอบกับการรบในพื้นที่นั้นไม่มีใครแพ้ใครชนะ

ขณะที่ "กองทัพไทย" ได้ไปร่วมปฏิบัติการหลายครั้ง จนได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติและกองทัพสัมพันธมิตร โดยเฉพาะภารกิจการบุกเข้าโจมตีเขา 337 อยู่ที่เมืองอุยจองบู ซึ่งกองทัพไทยเป็นทัพหน้าบุกยึดที่หมายสำเร็จได้ตามภารกิจ จึงมีการสร้างอนุสารีย์เชิดชูเกียรติประวัติของทหารไทย สหรัฐอเมริกา และกรีซที่เส้นขนาน 38

แต่การมี "สันติภาพถือเป็นสิ่งดีที่สุด" แม่ชีเทเรซ่าได้กล่าวไว้ว่า “อย่ามาเรียกร้องฉันให้มาต่อต้านสงครามเลย แต่ฉันต้องการสร้างสันติภาพ” ซึ่งมีความหมายว่า "การออกไปทำสงครามนั้นก็เพราะต้องการต่อต้านสงคราม เเต่ถ้าจะให้ดีนั้นคือการสร้างสันติภาพ"

กระบวนการเจรจาเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1951 ใช้เวลาสองปี จีนมีบทบาทเข้ามาไกล่เกลี่ยในความขัดแย้งด้วย เป้าหมายของการเจรจาในเบื้องต้นนั้นคือหยุดยิงก่อนและกำหนดเขตปลอดทหารตลอดแนวเส้นขนานที่ 38 แลกเปลี่ยนเชลยศึก จัดตั้งคณะกรรมาธิการนานาชาติดูแลสันติภาพว่าให้ทั้งสองฝ่ายต้องทำตามข้อตกลง สิ่งนี้สามารถยึดถือได้ในการเจรจาสันติภาพทุกกรณี

ไม่ว่าจะเป็นสงครามใหญ่ สงครามเล็ก ความขัดแย้งทางการเมืองในชาติ ทุกฝ่ายควรหยุดเสียก่อน หยุดปลุกปั่น หยุดการโจมตีกัน หยุดใช้สื่อสารมวลชน หยุดปลุกอารมณ์ด้วยข้อหาแปลกๆ เช่น ข้อหาล้มเจ้า ข้อหาเผด็จการ เป็นต้น หรือการแลกเปลี่ยนเชลยศึก ซึ่งมีส่วนคล้ายการนิรโทษกรรม แต่ควรดูด้วยว่าจะนิรโทษกรรมอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อบรรทัดฐานของการปกครองประเทศ ระบบความยุติธรรม หลักนิติรัฐ นิติธรรม

 

ที่มา : อนุสรณ์ ธรรมใจ. บทที่ 17 สร้างสันติภาพและการเจรจายุติสงคราม. ใน “ย้อนอดีตสู่อนาคต ว่าด้วยการอภิวัฒน์ สงครามกลางเมืองและสันติภาพ” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2554, น. 207-218 (หนังสือซึ่งเรียบเรียงจากบทสนทนาในการรายการย้อนอดีต สู่อนาคต ออกอากาศทางวิทยุ อสมท FM96.5)

หมายเหตุ :

  • เนื้อหาของข้อเขียนนี้ถอดความมาจากบทสนทนาใน รายการย้อนอดีตสู่อนาคต ออกอากาศทางวิทยุ อสมท FM96.5 เดือน เม.ย. ถึง เดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2553 ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองนองเลือดและมีผู้เสียชีวิต 94 คนนับเป็นการปราบปรามการชุมนุมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย