ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

กลุ่มคนที่เรียกร้องความเป็นธรรมและสู้กับศักดินา ก่อนการอภิวัฒน์สยาม 2475

5
มิถุนายน
2565

ย้อนไปช่วงปลายทศวรรษ 2460 และต้นทศวรรษ 2470 ก่อนหน้าที่กลุ่มของ “คณะราษฎร” จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสังคมไทยเคยปรากฏกลุ่มของบุคคลหลายคณะที่ก่อตัวขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการปกครองแบบระบอบศักดินา

ณ บัดนี้ ผมจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “คณะ” ต่างๆ เหล่านั้น

เริ่มต้นจากกลุ่มของ นายถวัติ ฤทธิเดช ที่ร่วมมือกับ ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร จัดทำหนังสือพิมพ์ กรรมกร และหนังสือพิมพ์ ปากกาไทย มุ่งเน้นนำเสนอความทุกข์เข็ญของชาวนาและทำกิจกรรมเป็นปากเสียงให้แก่ชาวบ้าน

ช่วงทศวรรษ 2460 นายถวัติเองยังเป็นผู้นำ “คณะกรรมกร” ที่ก่อความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะการหยุดงานประท้วงหรือ “สไตรค์” ของกรรมกรรถรางในประเทศสยามบ่อยครั้ง 

ด้วยเหตุนี้ ภาพของนายถวัติจึงตราตรึงความทรงจำของ นายปรีดี พนมยงค์ คนหนุ่มอีกคนในช่วงเวลาร่วมสมัยกัน ดังเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2525 นายปรีดีได้หวนรำลึกและเอ่ยถึงนายถวัติว่า “ขณะที่ถวัติทำนั้น นายวาศเป็นนายตำรวจยศร้อยตำรวจตรี ผมยังเป็นนักเรียนอยู่ในฝรั่งเศส  ยังไม่ได้กลับไป  กรรมกรรถรางสไตร๊ค์ ถวัติเป็นคนทำ ถวัติก็ได้จัดตั้งกรรมกรไว้ได้ดี  เมื่อเปลี่ยนการปกครองก็ดี กบฏบวรเดชก็ดี  กรรมกรรถรางก็ได้เข้าช่วยไม่น้อย กรรมกรรถรางตื่นตัวดี...”

เดือนมกราคม พ.ศ. 2468 (ถ้านับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับมกราคม พ.ศ. 2469) นายถวัติตั้งสำนักงานส่วนตัวชื่อ “สถานแทนทวยราษฎร์” แถวยานนาวา และต่อมาไม่นานย้ายไปอยู่ตึกแถวเลขที่ 393-395 ปากตรอกพระยาสุนทรพิมล ถนนพระรามสี่ เพื่อรับร้องเรียนเรื่องราวปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวนา โดยเฉพาะชาวนาแถวย่านมีนบุรีและฉะเชิงเทราที่จะเดินทางมายังสำนักงานแห่งนี้เนืองๆ นายถวัติจะให้คำปรึกษาและช่วยขบคิดหาหนทางแก้ไขปัญหา ช่วยเป็นทนายว่าความ รวมถึงช่วยเขียนฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายไปให้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขณะเดียวกัน ในหน้าหนังสือพิมพ์ กรรมกร และหนังสือพิมพ์ ปากกาไทย ที่นายถวัติกับผองเพื่อนจัดทำ ก็จะลงเผยแพร่ข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์ผู้กดขี่ข่มเหงชาวนาและชาวประชาสามัญอย่างคมคาย

ช่วงปี พ.ศ. 2474 นายถวัติเขียนฎีกาส่งถึงรัฐบาลสยามว่า เมืองไทยควรจะตั้ง “สมาคมจัดหางาน” ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ลงมือทำ ราษฎรจะช่วยกันตั้ง “ลัทธิช่วยตนเอง” เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านแรงงานของราษฎรด้วยกันไว้พิจารณาว่า ใครมีความสามารถทำอะไรได้บ้าง มีความสนใจจะทำงานด้านไหน แล้วนำไปจัดการช่วยเหลือให้คนมีงานทำและบรรเทาความเสียหายของคนที่ไม่มีงานทำ โดยเฉพาะข้าราชการที่ถูกปลดออกหรือ “ถูกดุลย์” ในช่วงเวลานั้น 

อีกบุคคลที่ได้ก่อตั้งคณะขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ราษฎร นั่นคือ นายทองเจือ จารุสาธร ผู้ใช้นามแฝงว่า “นายถึก รักธรรม” และตั้งสำนักงานส่วนตัวชื่อ “บำรุงราษฎร์” จัดพิมพ์หนังสือและใบปลิวต่างๆ ออกเผยแพร่ รวมถึงพยายามเขียนฎีกาส่งถึงรัฐบาลสยามเพื่อเสนอโครงการ “งานของชาติ” เรียกร้องให้มีสหกรณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศขาดแคลน เพราะจะช่วยให้ประสานทุนและแรงงานเข้าด้วยกัน ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศการบริหารงานของตนให้ราษฎรรับทราบทุกระยะๆ เพราะแว่วยินแต่ข่าวการทำงานของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยการทุจริต ในการเขียนฎีกา นายทองเจือจะใช้ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาและฟังดูรุนแรง เช่น “...บ้างว่ารัฐบาลปกครองราษฎรอย่างทาส อย่างหลอกลวง อย่างสูบเลือด กันทุกหนทุกแห่ง...”

นอกจากนี้ ยังมี นายชื้น อัมโภช ชาวนครราชสีมาที่พยายามจะก่อตั้งและนำเสนอโครงการ “ราษฎร์สาธารณกุศล” มุ่งให้มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านเป็นระบบหมู่บ้าน และช่วยกันบำรุงการทำนา การบำรุงแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการประกอบกสิกรรม รวมถึงการรวมกลุ่มกันของผู้นำชาวนาต่างๆ เช่น นายกัน ศรีสวัสดิ์ จากลพบุรี, นายเขียน พันธุ์โภคา ที่เสนอให้รัฐบาลสยามลงทุนซื้อข้าวนาจากชาวนาส่งไปขายต่างประเทศ และ นายรุก ท่าทราย ชาวปทุมธานี ที่ขอยกเว้นค่าเช่านา เป็นต้น  

จะเห็นว่า ห้วงเวลาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ปรากฏความตื่นตัวของกลุ่มคนหลายคณะที่พยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับราษฎร และช่วยกันต่อสู้กับระบอบศักดินาที่เอารัดเอาเปรียบชาวบ้านผู้ยากไร้อย่างแข็งขันและไม่ย่อท้อ แม้ภารกิจของกลุ่มคนดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จบ้างก็ตามที คุณูปการของพวกเขาทั้งหลายควรค่าให้เป็นที่เล่าขานให้ชนรุ่นหลังได้ล่วงรู้ถึงการต่อสู้เหล่านี้สืบต่อไป

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 การเสวนาในวาระครบรอบ 75 ปี การอภิวัฒน์ไทย 24 มิถุนายน 2475 วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2550. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2550
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2560
  • ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526
  • ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน, 2564
  • สังศิต พิริยะรังสรรค์. “พัฒนาการขององค์การจัดตั้งกรรมกรในประเทศไทย พ.ศ. 2401-2475.”เศรษฐศาสตร์การเมือง 3, 2 (ตุลาคม-ธันวาคม 2526), หน้า 1-41