ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

24 มิถุนายน 2475: อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พลิกฟ้าปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย

28
มิถุนายน
2565

“…ถ้าเราคงทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถทำสาระสำคัญ คือ ความฝืดเคืองของราษฎร…รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลฯ ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ใช่ Coup d’ Etat แต่เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางการปกครองซึ่งเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์เท่านั้น…”

ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (พ.ศ. 2475 ตามปฏิทินเก่า)

 

การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีความสำคัญในฐานะของวันที่มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นคำที่ ปรีดี พนมยงค์ ใช้อธิบายการปกครองในระบอบประชาธิปไตย[1]  อย่างไรก็ดี การดำเนินการของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มิได้เป็นเพียงการเปลี่ยนระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ของประเทศ ดังเช่นที่ปรีดี ได้กล่าวไว้ใน เค้าโครงการเศรษฐกิจว่า

 

“…ถ้าเราคงทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถทำสาระสำคัญ คือ ความฝืดเคืองของราษฎร…รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลฯ ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ใช่ Coup d’ Etat แต่เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางการปกครองซึ่งเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์เท่านั้น…”[2] เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาแล้วสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า โครงสร้างของสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยในเวลานั้นมีความฝืดเคืองและปัญหาทางเศรษฐกิจ กระบวนการสะสมทุนทางเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำจนส่งผลโดยตรงต่อความทุกข์ยากของราษฎร[3]

 

ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจของไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในปัจจุบันงานศึกษาด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกผ่านการเข้าทำสนธิสัญญาเบาว์ริง[4] โดยกลุ่มขุนนางและเจ้าศักดินาในระบอบเดิมได้ปรับตัวเข้ากับระเบียบโลกใหม่ตามพระราชนิยมและความเห็นชอบของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สยามจะอาศัยประโยชน์นี้โดยเข้าไปมีส่วนร่วมและตอบสนองความต้องการของตลาดโลก การค้าเพื่อสะสมทุนได้เข้ามาเป็นฐานอำนาจหลักของชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่แทน[5]

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเวลานั้นให้ความสำคัญกับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางผ่านการสถาปนารัฐราชการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และประการที่สอง การรวมทรัพยากรเข้าสู่ศูนย์กลางภายใต้การควบคุมของรัฐบาลราชสำนักที่กรุงเทพฯ[6]

กล่าวเฉพาะในเรื่องของการระดมทรัพยากร ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในเวลานั้นก็คือ “ที่ดิน” กลไกที่รัฐบาลในเวลานั้นใช้ก็คือ การออกพระบรมราชโองการประกาศออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 120 และพระบรมราชโองการประกาศแก้วิธีและพิกัดเก็บเงินค่านา ช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บอากรค่านาของรัฐบาลราชสำนักได้มาก ทำให้ไม่ต้องมีการประเมินใหม่ทุกปีดังเช่นนาฟางลอย แต่ผลกระทบกลับตกอยู่กับชาวนา เพราะนอกจากอากรค่านาจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4 เท่าตัว จาก 1 สลึงเป็น 1 บาทแล้ว ชาวนายังถูกบังคับให้ต้องทำนาให้เต็มพื้นที่ทุกปี เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็ต้องเสียอากรอยู่ดี[7] ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนั้นสร้างผลกระทบต่อชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ในเวลานั้นนอกจากอาชีพข้าราชการแล้ว อาชีพอีกอย่างหนึ่งที่ชาวสยามนิยมทำกันคือ การทำเกษตรกรรม เป็นชาวนา  โดยจากการสำรวจของ คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน (Carle C. Zimmerman) ซึ่งรัฐบาลสยามจ้างให้สำรวจเศรษฐกิจในชนบท ในปี พ.ศ. 2473 พบว่า แม้ประชาชนส่วนใหญ่ในสยามจะมีอาชีพเป็นชาวนา แต่ส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองและอาศัยวิธีการเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดิน[8] และสภาพของการทำนาในเวลานั้นพึ่งพาธรรมชาติและขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี ประกอบกับต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมา แต่ได้ผลตอบแทนน้อย[9] แต่กลับต้องแบกรับภาระจากการทำนาเป็นอาชีพเป็นจำนวนมากทั้งภาษีและค่าใช้จ่ายในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อตอบสนองการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ดังนั้น นโยบายทางการเงินการคลังในช่วงก่อน 2475 กลายเป็นเครื่องมือในการดึงส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจจากราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ ที่เรียกว่า ‘การสกัดส่วนเกิน’ เพื่อมาแบ่งสรรให้แก่ชนชั้นปกครองโดยเฉพาะราชสำนักและกองทัพ[10]

 

การอภิวัฒน์สยามเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ผลของความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เอง ทำให้เมื่อเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจตนารมณ์นี้ปรากฏชัดเจนใน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ความว่า

 

“...บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย...”

 

นอกจากนี้ ความในประกาศคณะราษฎรแล้ว อีกจุดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คณะราษฎรมุ่งที่จะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็คือ หลักการในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ในหลักที่ 3

 

“จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

 

เมื่อพิจารณาเหตุผลเบื้องหลังนั้น ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญ และผู้ถูกเรียกว่า มันสมองของคณะราษฎรนั้น เมื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านทฤษฎีปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยแล้ว การเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเบื้องบน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเบื้องล่าง ซึ่งก็คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ[11] โดยการทำให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องทางเศรษฐกิจผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้สังคมมีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วย

 

 

[1] พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล, ‘บางบันทึกของ ‘ปรีดี’ ต่อกรณีอภิวัฒน์สยาม 2475’ (the 101.world, 30 มิถุนายน 2560) https://www.the101.world/pridi-on-2475/ สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2565; อิทธิพล โคตะมี, ‘การอภิวัฒน์ที่นำมาสู่หลักการ ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 16 มิถุนายน 2564) https://pridi.or.th/th/content/2021/06/738 สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2565.

[2] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ 2552) 150.

[3] อิทธิพล โคตะมี, ‘การสกัดส่วนเกินทางเศรษฐกิจ : กลไกสะสมทุนศักดินา’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 21 เมษายน 2565) https://pridi.or.th/th/content/2022/04/1063 สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2565.

[4] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 1: สภาพเศรษฐกิจและสังคม และความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 22 มิถุนายน 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/06/312 สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2565.

[5] อิทธิพล โคตะมี (เชิงอรรถ 3).

[6] เพิ่งอ้าง.

[7] เพิ่งอ้าง.

[8] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ (เชิงอรรถ 4).

[9] คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม (ซิม วีระไวทยะ แปล, พิมพ์ครั้งที่ 2, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 2525) 57.

[10] ทธิพล โคตะมี (เชิงอรรถ 3).

[11] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์’ (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 1 มิถุนายน 2563) https://pridi.or.th/th/content/2020/06/304 สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2565.