ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เศรษฐกิจที่คิดคำนึงถึงผู้หญิง : มองเรื่องของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจไทย

2
สิงหาคม
2565

ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่มีประชาชนคนใดที่จะไม่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทว่า การได้รับผลกระทบจะมากหรือน้อยนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์และปัจจัยที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ดี ในภาพกว้างของสังคมไทยปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสังคมนี้มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่ ทั้งในเชิงรายได้ ทรัพย์สิน รวมไปถึงสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่ากัน ซึ่งภายใต้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำมีคนบางกลุ่มที่จะถูกโครงสร้างความเหลื่อมล้ำกดทับมากกว่า ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกกดทับก็คือ “ผู้หญิง”

 

เศรษฐกิจกับเรื่องของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจ

การก่อตัวของแรงงานเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่แยกกระบวนการผลิตออกจากการผลิตในหน่วยครัวเรือน เพื่อเข้าสู่การผลิตในหน่วยอุตสาหกรรม โดยทำให้เกิดกระบวนการแบ่งงานกันทำระหว่างหญิงชาย รวมถึงทำให้เกิดการแบ่งบทบาทหญิงชาย โดยกำหนดให้ผู้หญิงมีบทบาทในครัวเรือน ในขณะที่ผู้ชายมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะและการทำงาน[1]

ในบริบทของประเทศไทยอาจจะมีความแตกต่างอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก คือการกำหนดบทบาทของผู้หญิงในสังคม โดยเฉพาะเมื่อในเวลาต่อมาประเทศไทยมีการรับเอาคติแบบวิคตอเรียน (Victorian) เข้ามา ผ่านทางราชสำนัก ก่อนภาพดังกล่าวจะถูกผลิตซ้ำในสังคมและกลายเป็นแบบแผนของผู้หญิงที่ควรจะเป็นในสังคม[2] ทำให้สังคมไทยมีลักษณะคล้ายๆ กับสังคมตะวันตกที่มีการแบ่งบทบาทของชายและหญิงออกจากกัน โดยผู้หญิงถูกสังคมมอบหมายบทบาทให้เป็นคนดูแลเรื่องในบ้านและมีหน้าที่ดูแลลูก ในขณะที่ผู้ชายถูกกำหนดให้มีบทบาทในสังคมในฐานะของแรงงานและการออกไปทำงานนอกบ้าน

ผลของการแบ่งพื้นที่ระหว่างเรื่องในบ้านและเรื่องนอกบ้านอย่างเด็ดขาด ทำให้การทำงานของผู้หญิงไม่ถูกนับรวมเป็นการทำงานที่สร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากงานของผู้ชาย[3] อย่างไรก็ดี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปและกระแสของประชาธิปไตยที่ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ (นอกบ้าน) ทำให้ผู้หญิงมีพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่ตำแหน่งทางการงานต่างๆ ตั้งแต่ในภาคเอกชนและราชการ

ทว่า การเข้ามาทำงานของผู้หญิงทั้งในภาคเอกชนและราชการ ก็ยังมีประเด็นอีกมากที่เกี่ยวข้องกับสถานะของผู้หญิงในทางเศรษฐกิจที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของความเท่าเทียม

 

ผู้หญิงกับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มากกว่าผู้ชาย

แม้ว่าในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจและได้รับการสนับสนุน รวมถึงสามารถมีความก้าวหน้าในตำแหน่งต่างๆ ได้เช่นเดียวกันกับผู้ชาย  อย่างไรก็ดี ปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชายยังคงมีอยู่โดยปรากฏอยู่ในรูปแบบอื่นๆ อาทิ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างหญิงชาย โดยจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2561 พบว่าช่องว่างระหว่างค่าจ้างหญิงชายเทียบเป็นสัดส่วนกับค่าจ้างของหญิงไม่ได้ขึ้นกับระดับการศึกษา กล่าวคือ ไม่ว่าจะระดับการศึกษาใดๆ ลูกจ้างเอกชนชายมีค่าจ้างสูงกว่าหญิงร้อยละ 22-57 ในปี พ.ศ. 2530-2539 ร้อยละ 12-50 ในปี พ.ศ. 2540-2549 และร้อยละ 11-32 ในปี พ.ศ. 2550-2559 สถานการณ์ดีขึ้นสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ แต่กลับแย่ลงสำหรับแรงงานที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี[4] สภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงมีความเสียเปรียบผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี

 

 

ปัจจัยส่วนหนึ่งที่อาจจะทำให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามาจากวิธีคิดเกี่ยวกับผู้หญิงที่ว่า ผู้หญิงนั้นไม่ได้มีสถานะเป็นแรงงานที่เท่าเทียมกับผู้ชาย เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของการทำงานและการออกจากงานของผู้หญิงเมื่อมีครอบครัว ทำให้บริษัทส่วนใหญ่อาจจะให้ค่าจ้างกับผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้ในด้านของแรงงานไร้ฝีมือในกระบวนการผลิตปกตินั้น ผู้ชายกับผู้หญิงก็อาจจะได้ค่าตอบแทนแตกต่างกันบ้าง แต่แนวโน้มที่ค่าตอบแทนจะปรับมาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงมากขึ้น สวนทางของแรงงานมีฝีมือที่ความแตกต่างระหว่างค่าจ้างของผู้หญิงและผู้ชายที่จบปริญญาตรีมีสูงมาก ทั้งๆ ที่การทำงานไม่ได้มีความแตกต่างในเชิงกายภาพ[5] 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านค่าใช้จ่ายจะพบว่า ผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นโดยเหตุผลธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายประจำวันที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ อาทิ ค่าใช้จ่ายจากผ้าอนามัย โดยหากคำนวณราคาผ้าอนามัยแบบมาตรฐานเฉลี่ยชิ้นละ 5 บาท โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 75 – 175 บาท ซึ่งเมื่อคิดจากระยะเวลาการมีประจำเดือนของผู้หญิงที่จะมีประจำเดือนจนอายุ 40 ปี ผู้หญิงจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยประมาณ 84,000 บาท ตลอดช่วงชีวิต[6] ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเกิดเป็นผู้หญิง

ภาพของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างหญิงชายยังมีประเด็นอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก โดยหากขยับไปสู่ประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงในบทบาทของแม่

 

บทบาทของแม่ กับมุมหนึ่งของการเป็นแม่ที่ไม่ถูกมองเห็น

อีกหนึ่งเรื่องที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือ การเป็นแม่ แม้ว่าสังคมจะยกย่องบทบาทของการเป็นแม่ว่าเป็นความสำคัญและเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งที่ควรยกย่อง ถึงขนาดมีการมอบรางวัลแม่ดีเด่นต่างๆ ทว่า บทบาทของการเป็นแม่นั้นมีภาระในทางตรงกันข้าม การที่สังคมกำหนดบทบาทความเป็นแม่ให้เป็นหน้าที่เฉพาะของผู้หญิงเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้สถานะความเป็นแม่ถูกสังคมคาดหวังจนกลายเป็นภาระที่กดทับผู้หญิง

บทบาทของการเป็นแม่เปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งเป็นอย่างมาก นอกจากการจะต้องโฟกัสและทุ่มเทความสนใจทั้งหมดไปให้กับลูก ทำให้ผู้หญิงมีภาระมากกว่าปกติ รวมถึงการมีลูกนั้นทำให้ผู้หญิงอาจจะต้องละทิ้งการโฟกัสชีวิตในด้านอื่นๆ เพื่อมาให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูก ดังจะเห็นได้ว่า มีผู้หญิงจำนวนมากที่ออกจากงานภายหลังการมีลูก ซึ่งกลายเป็นว่า ผู้หญิงต้องละทิ้งโอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในชีวิตเพื่อทุ่มเทให้กับการเลี้ยงลูก เพราะในมุมมองของบริษัทจะมองว่า หน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานคือ การแบ่งบทบาทระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานให้ขาดออกจากกัน ซึ่งในความเป็นจริง การจะทำแบบนั้นได้มีต้นทุนที่จะต้องแบกรับ เช่น ค่าใช้จ่ายในการฝากลูกไว้กับเนิร์สเซอรีหรือการจ้างคนอื่นมาเลี้ยงลูก เป็นต้น

ดังนั้น ทางเลือกของผู้หญิงจึงถูกบีบให้เหลือเพียงแค่ “ถ้าอยากมีลูกก็ไม่ต้องเน้นการทำงาน แต่ถ้าอยากก้าวหน้าในการทำงาน ก็ไม่ต้องมีลูก” ซึ่งในท้ายที่สุด หากผู้หญิงอยากจะกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่งอาจจะต่อไม่ติดกับงานอีกแล้ว รวมถึงอาจจะไม่มีความก้าวหน้าในการงานอีกต่อไป[7]

ในทางเศรษฐกิจ การเป็นแม่ทำให้ผู้หญิงมีต้นทุนของการใช้ชีวิตที่สูงกว่าผู้ชายในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ ผู้หญิงในบทบาทของการเป็นแม่ในชีวิตประจำวันอาจจะมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่มีรูปแบบการเดินทางเป็นการแวะหลายต่อ เช่น ผู้หญิงที่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน โดยหนึ่งในเป้าหมายของการเดินทางก็คือ การแวะไปส่งลูกที่โรงเรียน ซึ่งหากผู้หญิงคนนั้นเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ทันทีที่มีการเดินออกสถานีรถไฟฟ้าเพื่อแวะส่งลูก ค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็จะต้องนับหนึ่งใหม่ และถ้าในช่วงเย็น ต้นทุนก็อาจจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะนอกจากกลับจากที่ทำงานแล้ว อาจจะต้องแวะรับลูก และแวะซื้ออาหารหรือของใช้เข้าบ้าน ในขณะที่ผู้ชายอาจจะตรงดิ่งจากที่ทำงานกลับบ้านเลย เป็นต้น[8]

เช่นเดียวกันหากผู้หญิงเปลี่ยนไปเดินทางด้วยวิธีการอื่น ต้นทุนของการเดินทางที่เพิ่มขึ้นก็ยังคงมีอยู่จากการเดินทางหลายต่อ สิ่งนี้สะท้อนว่าผู้หญิงในบทบาทความเป็นแม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้วยขนส่งสาธารณะสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้มีลูกและผู้ชาย

นอกจากนี้ ปัญหาของผู้หญิงในบทบาทการเป็นแม่อีกประการหนึ่งก็คือ แม้ว่าผู้หญิงจะสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีระหว่างเรื่องการทำงานและการเลี้ยงลูก แต่ในบทบาทของชีวิตสมรสภายใต้สถาบันครอบครัวที่ผู้หญิงได้รับ คือ การเป็นแม่ศรีเรือนหรือแม่บ้านแม่เรือนตามที่สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงจะต้องทำงานบ้านด้วย ซึ่งการทำงานบ้านนี้เป็นงานที่ไม่ถูกนับรวมเป็นการทำงาน เพราะในวิธีคิดแบบเศรษฐกิจทุนนิยม ไม่ได้มองว่าการทำงานบ้านเป็นงานที่มีผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่การทำงานบ้านเป็นส่วนสำคัญต่อชีวิตแรงงานในระบบเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง

ปัญหาทั้งหมดจะยิ่งซ้ำเติมผู้หญิง เมื่อต้องดำรงบทบาทของการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่จะต้องดูแลลูกคนเดียวโดยปราศจากการสนับสนุนจากคู่สมรส ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุว่าคู่สมรสเสียชีวิตหรือหย่าขาด เพราะทำให้ผู้หญิงในบทบาทการเป็นแม่ต้องรับต้นทุนแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

การสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคนในสังคม

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมของหญิงชายนั้นต้องแก้ไขปัญหาในหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายต่างๆ ควรจะเริ่มต้นจากการมองเห็นความต้องการของผู้หญิงให้มากยิ่งขึ้น

ในเชิงนโยบายรัฐมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือได้มากในหลายๆ วิธีการ ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือ การจัดให้มีรัฐสวัสดิการที่จะช่วยเข้ามาแบ่งเบาภาระและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดให้มีสวัสดิการผ้าอนามัยเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้หญิงในแง่มุมหนึ่ง หรือการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรผ่านการได้รับเงินช่วยเลี้ยงดูบุตรในลักษณะต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในบริบทของการทำงานในกรณีของผู้หญิงโดยเฉพาะกรณีของการเป็นแม่ ซึ่งเวลาการทำงานควรจะถูกปรับให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับกับผู้หญิงที่ต้องการให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูก กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีของประเทศอังกฤษ ได้มีการตรา Children and Family Act 2007 ขึ้นมา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิแก่คนทำงานได้อย่างยืดหยุ่นทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย

ต้องถือว่ารัฐมีส่วนสำคัญในการโอบอุ้มและให้ความช่วยเหลือกับผู้หญิงและแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของแม่ เพราะการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมานั้นต้องใช้ทรัพยากรที่มาก การจะปล่อยให้บทบาทการเลี้ยงดูเด็กภายใต้สถาบันครอบครัวเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากความช่วยเหลือหรือประคับประคองโดยรัฐอาจจะไม่เหมาะสม

แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ปัญหาของระบบเศรษฐกิจที่กดทับผู้หญิงบางส่วนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสถานะทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากบทบาทความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชายที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรม ในความเป็นจริงการเป็นแม่หรือสวมบทบาทแม่นั้นไม่ควรจะจำกัดเฉพาะผู้หญิง แต่หน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็กให้เกิดและเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างดีนั้นควรเป็นบทบาทของทุกคนในสถาบันครอบครัวทั้งไม่ว่าจะเป็นสามีภริยาหรือครอบครัวในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงสังคมก็ควรจะมีบทบาทในการช่วยเหลือในการเลี้ยงดูเด็กเช่นกัน

 

[1] ร่มเย็น โกไศยกานนท์, ‘เศรษฐศาสตร์จากมุมมองสตรีนิยม’ (การสัมมนานักวิชาการรุ่นเยาว์ ณ ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2547) 6.

[2] การรับอิทธิพลแบบวิคตอเรียนเข้ามาในสังคมไทยเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปฏิรูปรัฐราชการสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ประเทศไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกผ่านการเข้าทำความตกลงกับอังกฤษ.

[3] ร่มเย็น โกไศยกานนท์, (เชิงอรรถ 1) 6-7.

[4] วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, ‘3 ทศวรรษ ของการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทย’ (TDRI, 5 มีนาคม 2561) https://tdri.or.th/2018/03/3decade-thai-labour-market/ สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2565.

[5] เพิ่งอ้าง.

[6] นุชประภา โมกข์ศาสตร์, ‘สร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานเพื่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ด้วยผ้าอนามัยที่ทุกคนเข้าถึงได้’ (ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต, 29 มีนาคม 2565) https://think.moveforwardparty.org/article/welfare/2217/ สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2565.

[7] ดู พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล และ วิโรจน์ สุขพิศาล, ‘ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา : เมื่อการเป็นผู้หญิง ไม่ได้ทำให้คนเสียเปรียบเท่าการเป็นแม่’ (the 101.world, 23 เมษายน 2562) https://www.the101.world/manasikan-interview/ สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2565.

[8] บุญวรา สุมะโน, ‘เมืองที่มองไม่เห็นคนกว่าครึ่ง’ (the 101.world, 8 มีนาคม 2565) https://www.the101.world/women-in-bangkok/ สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2565.