ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คณะทูตไทยที่ Eccleston Hotel และ “ไทยอิสระ” สายอังกฤษ

7
สิงหาคม
2565

กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลและรุกเข้ามายึดครองกรุงเทพมหานครเมื่อวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงประกาศยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถเดินทางผ่านเมืองไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบนองเลือด ตอนนั้นคนไทยที่ดำรงชีวิตและปฏิบัติราชการในดินแดนต่างประเทศยังมิค่อยได้รับผลกระทบอันใด

ทว่า ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกาในวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ส่งผลให้อังกฤษและบางประเทศแห่งเครือจักรภพประกาศสงครามกับไทยตอบเช่นกัน คนไทยที่อยู่ในประเทศอังกฤษตกอยู่ในสถานะ “ชนชาติศัตรู” โดยเฉพาะพวกข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ หรือ “คณะทูต” ประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน (ขณะนั้นยังมิได้เลื่อนฐานะเป็นสถานเอกอัครราชทูต) ต้องถูกกักคุมตัวไว้นานหลายเดือน กว่าจะได้ล่องเรือกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอนด้วยการแลกเปลี่ยนเชลย พอข้าราชการบางส่วนที่ตัดสินใจกลับประเทศได้เดินทางมาถึง รัฐบาลก็นำตัวมาสอบสวนให้แจกแจงรายละเอียดความเป็นไประหว่างถูกกักคุมตัวในต่างแดน

นายฉลี ยงสุนทร เป็นหนึ่งในข้าราชการประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนที่ได้เดินทางกลับประเทศและถูกสอบสวน ดังปรากฏหลักฐาน ‘ตอบหัวข้อการสอบสวนข้าราชการที่กลับจากประเทสอังกริด’ ที่มีคำให้การของเขาอยู่

ตามปากคำของ นายฉลี เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่เมืองไทย เขากำลังพำนักอยู่ Flat 92 Sheen Court ห่างจากสถานอัครราชทูตประมาณ 12 ไมล์ และทราบข่าวคราวผ่านหนังสือพิมพ์ Daily Express ฉบับเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ถัดมาในวันที่ 10 ธันวาคม ข้าราชการและนักเรียนไทยหลายรายยังร่วมรับประทานอาหารกันที่สถานอัครราชทูตเนื่องในวันฉลองรัฐธรรมนูญ ท่านอัครราชทูตคือ พระมนูเวทย์วิมลนาท (เปี๋ยน สุมาวงศ์) อ่านข้อความโทรเลขแจ้งให้ผู้ไปร่วมงานรับทราบถึงสถานการณ์ในประเทศของตน

 

พระมนูเวทย์วิมลนาท (เปี๋ยน สุมาวงศ์)
พระมนูเวทย์วิมลนาท (เปี๋ยน สุมาวงศ์)

 

ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ ซึ่งทางสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนทราบข่าวนี้ผ่านวิทยุ BBC กระทั่งล่วงถึงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2485 คณะทูตก็ถูกทางอังกฤษกักคุมตัว โดย พระมนูเวทย์วิมลนาท ท่านอัครราชทูต และเลขานุการเอกคือ หลวงภัทรวาที (ศุภวาร วารศิริ) ถูกกักคุมตัวไว้ที่สถานอัครราชทูต

ส่วนข้าราชการอื่นๆ ได้แก่ หลวงอาจพิศาลกิจ (อาจ พิศลยบุตร) ผู้ช่วยทูตการคลัง, หลวงจำนงดิฐการ (เอี้ยง มุลางกูร) เลขานุการโท, นายกลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขานุการตรี, นายสมบูรณ์ ปาลเสถียร เลขานุการตรี, นายยิ้ม พึ่งพระคุณ, นายฉลี ยงสุนทร และ นายประเสริฐ ปทุมานนท์ ผู้มีอาวุโสน้อยที่สุดและ มีตำแหน่งนายเวรสถานอัครราชทูต พร้อมด้วย ประสงค์ พิบูลสงคราม บุตรชายของ จอมพล ป. ซึ่งดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์ในคณะทูตถูกกักคุมตัวที่ Eccleston Hotel ใกล้สถานีรถไฟวิกตอเรีย

 

Eccleston Hotel ที่มา : alamy
Eccleston Hotel
ที่มา : alamy

 

(ในหนังสือ ตำนานเสรีไทย The Free Thai Legend ของวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ซึ่งให้ข้อมูลว่า พระมนูเวทย์วิมลนาท ท่านอัครราชทูตก็ถูกกักคุมตัวที่ Eccleston Hotel น่าจะมีความคลาดเคลื่อน เพราะตามหลักฐานของกระทรวงการต่างประเทศสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และปากคำของ นายฉลี ยงสุนทร ย่อมยืนยันได้ชัดเจน พระมนูเวทย์วิมลนาท ถูกกักคุมตัวไว้ที่สถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน)

ขณะที่คณะทูตไทยถูกกักคุมตัว ณ Eccleston Hotel นั้น นายฉลี เล่าว่า

 

“ไนระหว่างที่ถูกกักคุม เจ้าหน้าที่รัถบาลอังกริดอนุญาตไห้ออกไปเดินเพื่อเปนการออกกำลังกายทุกวัน โดยมีตำหรวดควบคุมและห้ามมิไห้ทักทายปราไสกับผู้ได ถ้าพวกเราจะถือโอกาสแวะไปซื้อของตามร้านบ้าง ตำหรวดก็ไม่ขัดข้อง

ไนสถานที่กักคุมมีคนไช้มาทำความสะอาดไห้วันละครั้ง และมีคนไช้คอยเสิฟอาหารอีกคนหนึ่ง อาหารการกินไม่ดี มีปริมานน้อยและคุนภาพต่ำ ที่หยู่คับแคบ เครื่องตกแต่งและเครื่องไช้เก่าคร่ำคร่าไม่น่าดู

การซื้อเครื่องดื่มชนิดไดๆ ก็ตามหาเปนการต้องห้ามไม่ แต่จะไปดื่มหรือรับประทานอาหารนอกโฮเต็ลไม่ได้ ส่วนเรื่องหนังสือพิมพ์พวกเราอ่านได้ทุกฉบับ”[1]

 

ฝ่ายสอบสวนของรัฐบาลไทยเอ่ยถามถึงหลุมหลบภัยบริเวณสถานที่กักคุม นายฉลี ตอบว่า มี และเจ้าของโฮเต็ลอวดอ้างอีกว่า เป็นหลุมหลบภัยที่แข็งแรงที่สุดในตำบลแห่งนั้น

นายฉลี ยังเผยถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนในอังกฤษ

 

“คนอังกริดและชาติพันธมิตรไนอังกริดโดยมากถ้าซาบว่าเราเปนคนไทยก็มิได้สแดงท่าทีอันเปนปติปักส์ประการได ถ้าเขาเข้าไจผิดคิดว่าเราเปนยี่ปุ่นแล้ว มักจะพูดจายั่วโทสะหรือมองดูเราด้วยสายตาอันไม่เปนมิตร”

 

สิ่งสำคัญที่ทางรัฐบาลไทยสนใจยิ่งนักและกำหนดให้เป็นหัวข้อคำถามในการสอบสวนข้าราชการผู้กลับมาจากอังกฤษทุกคน นั่นคือเรื่องความเคลื่อนไหวของขบวนการ “ไทยอิสระ” ในต่างประเทศ แน่นอน นายฉลี หาได้ปิดบัง จึงอธิบายเท่าที่เขาล่วงรู้

 

“เมื่อก่อนที่ฉันจะถูกส่งตัวลงเรือสัก ๒ สัปดาห์ หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า นายมนี สานะเสน ผู้แทนของคนะไทยอิสระไนอเมริกาได้เดินทางมาอังกริดเพื่อจัดตั้งคนะไทยอิสระขึ้นไนอังกริด ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กรกดาคม ๒๔๘๕ นายประเสิด ปทุมานนท์ ซึ่งต้องถูกกักคุมหยู่ที่โฮเต็ลด้วยกันได้บอกฉันว่าเขาจะไม่กลับประเทสไทย

ทั้งนี้ทำไห้ฉันรู้สึกแปลกไจเปนอันมาก เพราะไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าจะมีข้าราชการสถานทูตคนไดคิดจะไม่กลับประเทสไทย ฉันได้พยายามพูดจาชักชวนไห้เขากลับ แต่เขาไม่ยอมเปลี่ยนไจ ฉันได้ซักถามถึงเหตุผลอันทำไห้เขาคิดไม่กลับ

เขาตอบว่า “ผมบอกได้แต่เพียงว่าผมหยู่ทางนี้เพราะประสงค์จะช่วยชาติ เมื่อฝ่ายสหชาติได้ชัยชนะแล้ว จะได้มีคนไทยเข้าไปนั่งไนที่ประชุมสันติภาพกับเขาบ้าง (Peace Conference)” แล้วเขาก็แจ้งรายนามของข้าราชการที่จะไม่กลับไห้ฉันซาบ และเล่าไห้ฟังว่า ม.ร.ว. เสนี ปราโมทย์ ได้ขอไห้กะซวงการต่างประเทสอเมริกันช่วยพูดจาทาบทามรัถบาลอังกริดไนเรื่องที่จะส่งนายมนี สานะเสน ไปอังกริด เพื่อจัดตั้งคนะไทยอิสระ รัถบาลอังกริดตอบว่าไม่ขัดข้อง แต่เกรงว่าจะไม่ได้ผล...”

 

นายมณี สาณะเสน ได้รับมอบหมายจาก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้ากลุ่ม “Free Thai” ในสหรัฐอเมริกาให้เดินทางมาจัดตั้ง “Free Thai” ในอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นใช้คำเรียกกันว่า “ไทยอิสระ” (ยังไม่ใช้คำว่า “เสรีไทย”) โดยเปิดสำนักงาน “Free Thai” ขึ้นที่โรงแรมบราวน์ (Brown's Hotel) ถนนโดเวอร์ (Dover Street) ละแวกย่านพิคคาดิลลี เซอร์คัส (Piccadilly Circus) และเปิดรับอาสาสมัครคนไทยในอังกฤษเข้าร่วมขบวนการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2485

เรื่องนี้ พระมนูเวทย์วิมลนาท ทราบดี แต่ไม่ประสงค์จะขัดคำสั่งรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทางสถานอัครราชทูตจึงไม่สนับสนุนขบวนการ “Free Thai” ในอังกฤษ ต่อมาท่านอัครราชทูตก็เดินทางกลับเมืองไทยด้วยการแลกเปลี่ยนเชลย พร้อมกับ นายฉลี

อย่างไรก็ดี ข้าราชการประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนหลายคนตัดสินใจไม่เดินทางกลับประเทศไทย แต่สมัครเข้าร่วมขบวนการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นกับ นายมณี เพื่อเป็น “ไทยอิสระ” สายอังกฤษ อันได้แก่ หลวงภัทรวาที, หลวงอาจพิศาลกิจ, หลวงจำนงดิฐการ, นายกลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา, นายสมบูรณ์ ปาลเสถียร, นายยิ้ม พึ่งพระคุณ และ นายประเสริฐ ปทุมานนท์

กรณีของ นายประเสริฐ นั้น ผมเคยเขียนถึงบทบาทและปฏิบัติการ “บริลลิก”ของเขาไว้แล้ว ใน กำนัน นายพราน และ ชาวประมง พวกเขาก็เป็นเสรีไทย คุณผู้อ่านลองย้อนไปดูได้ครับ

 

นายประเสริฐ ปทุมานนท์
นายประเสริฐ ปทุมานนท์

 

วกมากล่าวถึง นายฉลี ยงสุนทร เขาเป็นชาวราชบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2448 เป็นบุตรชายคนที่สองของท่านกำนัน ขุนหลักหกกำแหง (หลีสุน แซ่เจ็ง หรือ ยี่สุ่น ยงสุนทร) เขาสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีเป็นที่หนึ่งจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

นายฉลี มีความฝันอยากไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ แต่ติดขัดด้วยอุปสรรคหลายประการ จึงมีผู้แนะนำให้เขาสมัครเข้ารับราชการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะน่าจะมีโอกาสได้ไปต่างประเทศเข้าสักวันหนึ่ง เขาเริ่มต้นรับราชการจากตำแหน่งเสมียนในปี พ.ศ. 2468

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นต้นทศวรรษ 2480 นายฉลี สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตไทย และยังปรารถนาจะศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ หากพอเกิดภาวะสงครามขึ้นจึงติดขัด แต่แล้วเขาก็ได้เดินทางไปดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลง นายฉลี ยังคงรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ และค่อยไต่เต้าขึ้นมาจวบจนได้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกงเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 ซึ่ง นายฉลี ก็น้อยเนื้อต่ำใจบ้างว่า เพราะตนไม่ได้เป็นนักเรียนนอก จึงไม่เจริญก้าวหน้าในราชการไปถึงขั้นเอกอัครราชทูต ท้ายที่สุด เขาตัดสินใจลาออกจากราชการเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2497 และเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ สาขาฮ่องกงเป็นคนแรกยาวนานประมาณ 14 ปี

นายฉลี มีความสนใจเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ผลงานแปลและเรียบเรียงหนังสือเล่มสำคัญของเขา ก็เช่น โลกสวยงาม เรื่องจริงเกี่ยวกับสัตว์เพื่อเยาวชนไทย ถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตสัตว์ในต่างแดน โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้อ่านรับรู้ว่า สัตว์ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง แต่มีจิตใจและจิตสำนึกสูงส่งเช่นเดียวกับมนุษย์

นอกเหนือจากนี้ นายฉลี ยังเป็นนักสะสมพระเครื่องตัวยง โดยเฉพาะพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเขาสะสมพิมพ์ใหญ่ “องค์ลุงพุฒ” อันเลื่องลือ ก่อนที่ นายฉลี จะซื้อขายแลกเปลี่ยนกับ นายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ แห่งธนาคารศรีนครเมื่อปี พ.ศ. 2519

แม้ นายฉลี ยงสุนทร จะไม่ได้เข้าร่วมเข้าร่วมขบวนการ “Free Thai” เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นเช่นเดียวกับข้าราชการประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนอีกหลายคน แต่คำให้การของเขาที่ปรากฏเป็นหลักฐาน ‘ตอบหัวข้อการสอบสวนข้าราชการที่กลับจากประเทสอังกริด’ ก็แสดงให้เห็นสถานการณ์ที่คณะทูตไทยในอังกฤษต้องเผชิญหลังจากรัฐบาลไทยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา นั่นคือ เรื่องราวระหว่างถูกกักคุมตัวที่ Eccleston Hotel และการก่อตัวของ “Free Thai” หรือ “ไทยอิสระ” สายอังกฤษ

 

เอกสารอ้างอิง

  • เรื่องของขบวนการเสรีไทย ปฏิบัติการใต้ดินในประเทศไทยของประเสริฐ ปทุมานนท์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2538.
  • โลกสวยงาม เรื่องจริงเกี่ยวกับสัตว์เพื่อเยาวชนไทย. ฉลี ยงสุนทร แปลและเรียบเรียง. กรุงเทพฯ: ส่องศยาม, 2546
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The Free Thai Legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546
  • อนุสรณ์นายฉลี ยงสุนทร. เจ้าภาพตีพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายฉลี ยงสุนทร ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2531. กรุงเทพฯ: ส่องศยาม, 2531.
 

[1] ตัวสะกดคงไว้ตามเอกสารชั้นต้น ซึ่งเป็นการเขียนภาษาไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2