ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

กำนัน นายพราน และ ชาวประมง พวกเขาก็เป็นเสรีไทย

11
สิงหาคม
2564

“ในประเทศนี้ยังมีใครอีกหลายคนที่เขาได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้รับการบันทึกชื่อเอาไว้ในประวัติศาสตร์”

ผมเคยกล่าวเช่นนั้น เมื่อคราวเข้าร่วมงานเสวนา “มองประวัติศาสตร์ไทยช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 และขบวนการเสรีไทยอย่างมีชีวิต: ผ่านมุมมองและร่องรอยทางศิลปวัฒนธรรม” ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 16 สิงหาคม 2559 เวลา 15.00-17.00 น.

แน่นอนครับ ผมยังคงเชื่อมั่นถ้อยคำของตนเองมิเสื่อมคลาย ครั้นสบโอกาสเอ่ยถึง “ขบวนการเสรีไทย” ครั้งคราใด จะมุ่งเน้นความสนใจและพยายามนำเสนอเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญหรือชาวบ้านทั่วไปซึ่งร่วมมีบทบาทกับขบวนการนี้  แม้ปัจจุบันชื่อเสียงเรียงนามของพวกเขามิค่อยกึกก้องกังวานจนเป็นที่รู้จักมักคุ้นก็ตาม

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2484 ได้มีการจัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งภายในประเทศนั้น หัวหน้าเสรีไทยคือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ หรือปฏิบัติการในนาม ‘รู้ธ’ (Ruth)

นอกเหนือจากกลุ่มคนสำคัญของสังคมที่เข้าร่วมและสนับสนุนขบวนการเสรีไทย ชาวบ้านสามัญจำนวนไม่น้อยก็ให้ความช่วยเหลือขบวนการนี้อย่างแข็งขัน เฉกเช่นกลุ่มคนหนึ่งที่ผมใคร่หยิบยกมาบอกเล่า ได้แก่ กำนัน นายพราน และ ชาวประมง

สองกำนันแห่งตาก

‘บุญธรรม อินทรวัณโณ’ และ ‘เขียน ชูโฉม’ พวกเขาครองตำแหน่งกำนัน อีกทั้งเข้าร่วมภารกิจปฏิบัติงานเสรีไทยในจังหวัดตาก

ตามบันทึกความทรงจำของ ‘นายพยุง ย. รัตนารมย์’ อดีตประธานสภาจังหวัดตาก เผยข้อมูลว่า ‘นายปรีดี พนมยงค์’ แบ่งสายงานเสรีไทยออกเป็นภาคๆ กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไว้วางใจคอยควบคุมดูแลการดำเนินงานในแต่ละภาค  ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือมี ‘นายพึ่ง ศรีจันทร์’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นหัวหน้าภาค และพื้นที่จังหวัดตากมี ‘นายหมัง สายชุ่มอินทร์’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคหบดีตรอกบ้านจีนเป็นหัวหน้า

‘นายหมัง สายชุ่มอินทร์’ สั่งสมความมั่งคั่งมาจากการค้าขายแถบชายแดนไทย-พม่า เขาพัฒนาจังหวัดตากจนเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟและวางเสาโยงสายโทรเลข พอหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ จึงลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาสภาผู้แทนราษฎรและได้รับตำแหน่งนี้เป็นคนแรกสุดของจังหวัด

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงต้นปี พ.ศ. 2488 นายหมังพาครอบครัวของตนอพยพจากตรอกบ้านจีนไปอยู่ที่ตำบลรังหิน ห่างตัวเมืองออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ดูเหมือนเก็บตัวเงียบ แต่ได้ประสานความร่วมมือกับบุคคลต่างๆ เพื่อปฏิบัติการเสรีไทยแบบลับๆ

 

ภาพ: นายหมัง สายชุ่มอินทร์ ที่มา: หนังสืออนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ นายหมัง สายชุ่มอินทร์
ภาพ: นายหมัง สายชุ่มอินทร์
ที่มา: หนังสืออนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ นายหมัง สายชุ่มอินทร์

 

นายหมังมอบหมายลูกน้องคนสนิทคือ กำนันบุญธรรม แห่งตำบลปะดาง ริมแม่น้ำปิง ทางตอนเหนือของเมืองตาก (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอวังเจ้า) ให้ออกหาสถานที่เตรียมตั้งค่ายใหญ่เสรีไทย ณ ดอยห้วยเหลือง ซึ่งได้มีเสรีไทยสายอังกฤษที่กระโดดร่มลงมาพำนักอยู่ที่นั่น เช่น ‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ และ ‘นายอรุณ สรเทศน์’ ปัจจุบันบนดอยห้วยเหลืองเต็มไปด้วยบ้านของชาวเขาเผ่าม้งและเผ่ามูเซอ แต่ก็ยังพบร่องรอยถ้ำเสรีไทยอันเคยเป็นฐานปฏิบัติการ

‘กำนันบุญธรรม’ ยังรับหน้าที่เป็นผู้ติดต่อส่งข่าวสารระหว่างค่ายเสรีไทย ณ ดอยห้วยเหลืองกับผู้ร่วมขบวนการในตัวเมืองตาก

‘กำนันเขียน’ แห่งตำบลแม่สลิด (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบ้านตาก) คืออีกบุคคลที่ร่วมภารกิจขบวนการเสรีไทยในจังหวัดตาก วีรกรรมเลื่องลือ ได้แก่ การเริ่มริบุกเข้าไปทำลายแพของทหารญี่ปุ่น จนเขาต้องหลบเข้าไปอยู่ในค่ายบนดอยห้วยเหลือง ลูกน้องชาวแม่สลิดของกำนันเขียนยังร่วมฝึกอาวุธและยุทธวิธีจากหน่วยเสรีไทย ที่ขบวนการเสรีไทยในจังหวัดตากสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นจวบจนกองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม  ก็ต้องนับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของสองกำนันแห่งจังหวัดตากเยี่ยง ‘กำนันบุญธรรม อินทรวัณโณ’ และ ‘กำนันเขียน ชูโฉม’ มิใช่น้อย

นายพรานแห่งหัวหิน และชาวประมงแห่งปากน้ำปราณบุรี

หลายท่านคงมิคาดนึกว่า จะปรากฏนายพรานที่ถือเป็นเสรีไทยเช่นกัน ผมขอยืนยันหนักแน่นเชียวครับว่า ก็เพราะความร่วมมือของนายพรานผู้หนึ่งละแวกหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงส่งผลให้ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศมีประสิทธิภาพ เขาคือ ‘ใช้ ห้วงน้ำ’ นายพรานผู้ชำนาญพื้นที่ป่าแถบช่องเขาด่าง ตำบลหินเหล็กไฟ

ช่วงปี พ.ศ. 2487 ‘นายชาญ บุนนาค’ ได้รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ ให้ไปจัดตั้งหน่วยประสานงานเสรีไทยที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คอยปฏิบัติการรับข่าวสารต่างๆ จากฝ่ายสัมพันธมิตรและรองรับเสรีไทยผู้กระโดดร่มลงมาแล้วนำตัวมาเข้าพบนายปรีดีในกรุงเทพมหานคร

ที่นั่น นายชาญได้ร่วมงานกับ ‘หลวงบรรณกรโกวิท’ (เปา จักกะพาก) หัวหน้าเสรีไทยสายศุลกากร ‘นายชวน (ปุ๊) บุนนาค’ ข้าราชการศุลกากร โดยหน่วยเสรีไทยแห่งนี้จะต้องรองรับปฏิบัติการ “บริลลิก” ซึ่งนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษจะกระโดดร่มลงมาบริเวณผืนป่าหลังภูเขาของหัวหิน การจะเข้าไปรับคนในดงป่า มิแคล้วจำเป็นต้องมีนายพรานนำทาง เป็นเหตุให้นายใช้ ห้วงน้ำได้เข้ามาร่วมภารกิจกับเสรีไทย

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2487 ทางหน่วยประสานงานเสรีไทยหัวหินได้รับแจ้งว่า จะมีปฏิบัติการ “บริลลิก” โดยทหารเสรีไทยสายอังกฤษจะกระโดดร่มลงมาบริเวณช่องเขาด่าง นายชาญ พรานใช้ และคณะจึงเดินทางเข้าป่า จุดกองไฟเป็นรูปตัว T ส่งสัญญาณให้คนบนเครื่องบินเห็นว่ามีคนมารอรับอยู่เบื้องล่าง นายทหารผู้กระโดดร่มลงมา คือ ‘ร.ต.ประเสริฐ ปทุมานนท์’ และ ‘ร.ต.กฤษณ์ โตษยานนท์’ ลงมาถึงพื้นดินประมาณ 01.30 น. ของวันที่ 7 กันยายน

นายชาญนำตัว ร.ต.ประเสริฐ ปทุมานนท์ และ ร.ต. กฤษณ์ มาเข้าพบ ‘รู้ธ’ หรือนายปรีดีที่กรุงเทพฯ ต่อมา ร.ต. กฤษณ์ ได้รับมอบหมายให้ไปประจำหน่วยเสรีไทยที่สกลนครร่วมกับ ‘เตียง ศิริขันธ์’ ส่วน ร.ต.ประเสริฐ ได้รับมอบหมายให้มาก่อตั้งพลพรรคเสรีไทยที่หัวหิน พำนักอยู่เรือนทางตอนเหนือห่างจากพระราชวังไกลกังวล

 

ร.ต.ประเสริฐ ปทุมานนท์
ร.ต.ประเสริฐ ปทุมานนท์

 

ในความทรงจำของพรานใช้ ทีแรกเขาเข้าใจและบอกกับครอบครัวทำนอง ร.ต.ประเสริฐ ชื่อ “แดง” เพราะทางหน่วยประสานงานเสรีไทยได้รับแจ้งว่า ผู้ที่จะกระโดดร่มลงมาในปฏิบัติการ “บริลลิก” คือ ‘นายแดง คุณะดิลก’ แต่ก่อนจะออกเดินทางมากับเครื่องบิน นายแดงเกิดอุบัติเหตุที่ข้อเท้าจนกระโดดร่มมิได้ ร.ต.ประเสริฐจึงเป็นผู้เดินทางมากระโดดร่มที่หัวหินแทน

 

‘นายพรานใช้ ห้วงน้ำ’ คือ คนที่ 2 จากขวา ชุดสีออกดำ ยืนก้มหน้าข้างๆ คนขวาสุดสวมหมวกปีก คือ ‘มาลัย ชูพินิจ’ นักประพันธ์เจ้าของนามแฝง “นายฉันทนา”
‘นายพรานใช้ ห้วงน้ำ’ คือ คนที่ 2 จากขวา ชุดสีออกดำ ยืนก้มหน้าข้างๆ
คนขวาสุดสวมหมวกปีก คือ ‘มาลัย ชูพินิจ’ นักประพันธ์เจ้าของนามแฝง “นายฉันทนา”

 

นอกเหนือจากเป็นพรานนำทางให้กับคณะของนายชาญแล้ว  นายใช้ยังอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ ร.ต.ประเสริฐ คอยสืบหาข่าวคราวพวกทหารญี่ปุ่นมาแจ้งเสมอๆ ทั้งยังจัดหาและติดต่อชาวหัวหินที่น่าไว้ใจมาฝึกอบรมวิธีการใช้อาวุธปืน ระเบิดขว้าง และระเบิดทำลายกับทหารเสรีไทย ส่วนใหญ่คนที่มาเข้าร่วมฝึกจะเป็นครูประชาบาล ฝึกคราวละ 4-6 คน มีการตั้งค่ายใหญ่สำหรับฝึกบริเวณหลังเขาแถวช่องเขาด่าง

ร.ต. ประเสริฐครุ่นคำนึงว่า ทางค่ายฝึกควรมีอาวุธเพิ่ม จึงวิทยุติดต่อไปทางแผนกสยามของกองกำลัง-136 ที่กัลกัตตาขออาวุธต่างๆ มาสมทบเพิ่มเติม นายพรานใช้ได้นำทาง ร.ต. ประเสริฐออกสำรวจผืนป่าแถบช่องเขาด่าง จนเลือกได้ลานโล่งๆห่างออกไปจากจุดเดิมราวๆ 20 กิโลเมตร ก็วิทยุแจ้งไปบอกพิกัดจะรับร่ม ซึ่งก็ได้รับแจ้งกลับว่า นอกจากร่มสิ่งของ จะพลร่มอีกนายกระโดดลงมาจากเครื่องบินด้วย จะมาถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เวลาประมาณ 17.00 น.

ร.ต. ประเสริฐ ยังแจ้งไปยังนายชาญ ถึงวันตามกำหนด นายชาญ ร.ต. ประเสริฐ และคณะ รวมถึงพรานใช้ได้นำรถบรรทุก 1 คัน และเกวียน 4 เล่ม ไปรอรับร่ม ซึ่งพลร่มที่กระโดดลงมาพร้อมร่มสิ่งของคือ ‘สวัสดิ์ ศรีสุข’

ในตอนขากลับออกมาจากป่า ได้สวนทางกับเกวียนของชาวบ้านจากชะอำที่จะเข้าไปตัดไม้ ชาวบ้านแสดงท่าทีสงสัย พรานใช้ต้องเข้าไปเจรจาและบอกว่าเขาพาพรรคพวกมาล่าสัตว์

ราวสามเดือนถัดมา ร.ต. ประเสริฐ ได้รับมอบหมายจาก ‘รู้ธ’ ให้ย้ายไปฝึกอบรมพลพรรคเสรีไทยที่ปราณบุรี โดยเลือกเนินเขาเตี้ยๆห่างจากหมู่บ้านปากน้ำปราณราวๆ 4 กิโลเมตร (พรานใช้บันทึกว่า บางทีอาจจะเป็นบริเวณใกล้ๆ ช่องเขาด่างที่เคยมาเมื่อครั้งยังอยู่หัวหิน)

ที่นั่น หัวหน้าชาวประมงเยี่ยง ‘โตมร ลางคุลเสน’ ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนพลพรรคเสรีไทยอย่างเต็มที่ ยินดีให้นำเอาเรือยนต์และเรือใบจับปลาไปใช้ทำประโยชน์ในปฏิบัติการต่างๆ ได้ตลอดเวลา ทางด้านพรานใช้ แม้ตัวจะอยู่หัวหิน แต่ก็ยังช่วยติดต่อชาวปราณบุรีมาฝึกอาวุธกับพลพรรคเสรีไทยที่ปากน้ำปราณ

ร.ต. ประเสริฐ ฝึกอบรมพลพรรคเสรีไทยที่เมืองปราณอีก 2 เดือนเศษ ก็ถูกคำสั่งเรียกตัวให้เข้าไปดำเนินภารกิจต่อในกรุงเทพมหานคร

ทั้ง นายพรานใช้ ห้วงน้ำ แห่งหัวหิน และ หัวหน้าชาวประมงโตมร ลางคุลเสน แห่งปากน้ำปราณบุรี แม้จะเป็นชาวบ้านท้องถิ่นต่างจังหวัด แต่พวกเขาก็ได้ร่วมขบวนการอันยิ่งใหญ่เพื่อชาติบ้านเมืองในห้วงยามคับขันเลยทีเดียว

กำนัน นายพราน และ ชาวประมง ดังผมเชิญชวนคุณผู้อ่านทำความรู้จักผ่านหลายบรรทัดแล้วนั้น บางที อาจเพียงแค่ส่วนน้อยของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งเคยร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  น่าเสียดายเหลือเกินที่ยังมีใครต่อใครหลายคนควรได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน ‘ขบวนการเสรีไทย’ และได้รับการบันทึกชื่อเอาไว้ในประวัติศาสตร์ ทว่าพวกเขากลับสูญหายไปจากความทรงจำของอนุชนรุ่นหลัง

 

เอกสารอ้างอิง

  1. นายฉันทนา (มาลัย ชูพินิจ). X.O.Group เรื่องภายในขบวนเสรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : กระท่อม ป.ล., 2544
  2. เรื่องของขบวนการเสรีไทย ปฏิบัติการใต้ดินในประเทศไทยของประเสริฐ ปทุมานนท์. กรุงเทพ : มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2538
  3. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The FreeThai Legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพ : แสงดาว, 2546
  4. อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ นายหมัง สายชุ่มอินทร์ ณ เมรุวัดใหม่มะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดตาก วันที่ 2 พฤษภาคม 2524

หมายเหตุ: จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ