เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าเสรีไทยในประเทศ ผู้มีนามแฝงว่า “รูธ” ในขบวนการเสรีไทย ได้รับโทรเลขฉบับสำคัญว่า “กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้อนุญาตเมาน์ทแบทเตน แนะนําเป็นส่วนตัวมายัง “รูธ” ให้ประกาศโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นได้ภายหลังญี่ปุ่นยอมจํานนในที่สุดแล้วนั้น บอกปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา…”[1] อันเป็นหนึ่งในที่มาของการประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ต่อมาปรีดีได้เชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่กลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2488
กระทั่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2488 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์มีใจความว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเรื่องข้อตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ม.ร.ว.เสนีย์จึงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ เสริม วินิจฉัยกุล หนึ่งในคณะฯ[2] ที่เดินทางไปเซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้รายงานผลการเจรจาฯ และแจ้งกำหนดการเซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบ 24 ข้อกับอังกฤษไว้ว่า
“วันที่ 1 มกราคม ขึ้นปีใหม่ (พ.ศ. 2489) ตอนเช้าจะได้เซ็นหัวข้อเจรจากันก่อนแล้วจะได้เซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบ เวลา 16.00 น. ตอนบ่าย เป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อได้เซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบแล้ว หัวข้อเจรจาจะเป็นอันตกไป ไม่มีผลผูกพัน หัวข้อเจรจาที่อังกฤษขอให้เซ็นกันในตอนเช้านั้น จะไม่นำออกเปิดเผย จะมีการนำออกเปิดเผยเฉพาะความตกลงสมบูรณ์แบบเท่านั้น…”
เมื่อเสริมกล่าวรายงานฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นก็เดินทางไปสิงคโปร์ในตอนเช้าของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 ขณะที่ ม.ร.ว.เสนีย์ เล่าเรื่องภายหลังการเซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบแล้วว่า
“บ่ายวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 เวลา 16.00 น. ข้าพเจ้าได้นัดประชุมผู้แทนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับรวมทั้งผู้แทนสำนักข่าวต่างประเทศที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี…ตรงกับเวลาเปิดเผยสัญญาที่สิงคโปร์ตามที่นัดหมายกันไว้ ข้าพเจ้าได้ทำพิธีเปิดเผยความตกลงสมบูรณ์แบบต่อชาติไทย สัญญาที่เราได้อดทนเจรจากันมา 3 เดือนกว่า สัญญาซึ่งในที่สุดได้เซ็นกันไปโดยไม่มีข้อผูกมัดเป็นการเสื่อมเสียต่อเกียรติและเอกราชของไทย…”
ผลดีที่ไทยไม่ได้คาดหมายมาก่อนจากการเซ็นความตกลงสมบูรณ์แบบ[3] ครั้งนี้คือทางอังกฤษและอินเดียจะสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และข้อตกลงว่าอังกฤษกับไทยจะได้เปิดการสัมพันธ์ทางทูตต่อกันโดยเร็ว[4] ราวสัปดาห์ถัดมา รัฐบาลไทยก็ได้มีการประชุมเพื่อจัดงานฉลองสันติภาพและจะมีพิธีสวนสนามกองทหารอินเดียของอังกฤษซึ่งต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และพิธีกรรมว่าเคารพอำนาจอธิปไตยของไทย[5]
กองทหารของอังกฤษได้จัดพิธีสวนสนามฯ และกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีฯ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเตน หรือ เอิร์ล เมานท์แบทเตนแห่งพม่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์เดินทางมาร่วมในพิธีสวนสนามฯ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489[6] ด้วย และช่วงเวลาเดียวกัน ในวันที่ 18-20 มกราคม พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยก็จัดงานฉลองสันติภาพขึ้นทั้งในพระนครและต่างจังหวัดเป็นทั้งงานแสดงความยินดีต่อสันติภาพ ทั้งกระตุ้นให้ราษฎรไทยมีความสามัคคีและสนใจเรื่องสันติภาพไม่ว่าจะด้านความหมายหรือในมิติของเอกราชสมบูรณ์
งานฉลองสันติภาพในพระนคร : การฉลองสันติภาพของประชาชน
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับงานฉลองรัฐธรรมนูญและงานฉลองวันชาติแต่ งานฉลองสันติภาพ กลับไม่ค่อยมีการกล่าวถึงนัก[7] ซึ่งงานฉลองสันติภาพนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เสริม วินิจฉัยกุล รายงานผลการเจรจาความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษว่าเป็นผลสำเร็จแล้วในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ต่อมาคณะรัฐมนตรีในสมัยของรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงเห็นสมควรว่าให้มีงานฉลองสันติภาพและมีมติแต่งตั้งกรรมาธิการพิจารณาดำเนินงานฉลองสันติภาพขึ้น โดยมีการประชุมฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2489 ณ ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ครั้งแรกมีจำนวน 19 คน ซึ่งมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ ร่วมด้วยพระยาชาติเดชอุดม พันเอกจิตร โยธี พลเอกหลวงสถิตยุทธการ พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล และพระยาจินดารักษ์ เป็นต้น[8]
ทีแรกในการประชุมฯ เสนอให้จัดงานฉลองวันสันติภาพช่วงวันที่ 8-10 มกราคม พ.ศ. 2489 แต่ได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 18-20 มกราคม พ.ศ. 2489 ในที่สุด[9] รูปแบบงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญได้แก่ หนึ่ง รัฐพิธีฉลองสันติภาพ เป็นกำหนดการรัฐพิธีฉลองสันติภาพแห่งประเทศไทย และสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรไปพร้อมกัน คือในวันที่ 18 มกราคม เวลา 15.30 น. เจริญพระพุทธมนต์ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนฯ และวันที่ 19 มกราคม เวลา 10.30 น. มีการเลี้ยงพระและเวียนเทียนเพื่อสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร[10] สอง พิธีสวนสนามกองทหารอินเดียของอังกฤษ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสาม คืองานฉลองสันติภาพในรูปแบบของงานมหรสพที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมและเกิดการตื่นตัวเรื่องสันติภาพขึ้น
ประกาศราชการกําหนดการงานฉลองสันติภาพ ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม พุทธศักราช 2489 ได้แจ้งที่มาและรายละเอียดไว้ว่า
“โดยที่ประเทศไทยต้องตกเข้าอยู่ในสถานะสงครามมาแล้วนั้น บัดนี้ สถานะสงครามได้ยุติลงแล้วและประเทศไทยได้คืนสู่สันติภาพ อีกทั้งยังคงดํารงไว้ซึ่งความมีเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ดุจกาลก่อน ทางการจึงจัดให้มีงานฉลองสันติภาพ…”[11]
ภาพรวมของงานฉลองสันติภาพในพระนครวันที่ 18-20 มกราคม พ.ศ. 2489 เน้นการจัดงานรื่นเริง มีมหรสพ และแข่งกีฬา มีการประดับธงตามสถานที่ราชการและบ้านของราษฎร มีวิทยุกระจายเสียงจัดรายการพิเศษภาคเช้า และภาคกลางคืนโดยเฉพาะรายการกระจายเสียงช่วงกลางคืนของวันที่ 19 มกราคม เวลา 20.15 น. ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลจะทรงมีพระราชดํารัสทางวิทยุถึงประชาชน และในวันที่ 20 มกราคม นอกจากจะมีตลาดนัดที่วังสราญรมย์และฝั่งธนบุรีแล้ว ยังมีการเดินขบวนฉลองสันติภาพของประชาชนไทย-จีนอีกด้วย
ในกำหนดการฯ ที่ระบุว่ามีคนจีนร่วมเดินขบวนฉลองสันติภาพและประกาศให้วัด สุเหร่า หรืออารามศาสนาอื่นๆ สวดมนต์ตามพิธีกรรมของแต่ละศาสนาได้ น่าจะเป็นกุศโลบายหลังสงครามที่รวบรวมคนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาให้เป็นเอกภาพเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความสามัคคี และสร้างความเป็นไทยที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่ารัฐบาลก่อน
มหรสพในงานฉลองสันติภาพจัดขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐเป็นหลัก เช่น กรมศิลปากร สํานักนายกรัฐมนตรี สํานักพระราชวัง เทศบาลนครกรุงเทพฯ และเทศบาลนครธนบุรี ร่วมกับสมาคมและสโมสรของพ่อค้า ประชาชนหลายเชื้อชาติมีทั้งคณะละคร คณะลิเก และสํานักสื่อข่าวสารอเมริกัน แม้เวลาเตรียมตัวจะมีเพียงสองสัปดาห์แต่งานกลับออกมายิ่งใหญ่และดึงดูดใจ ผู้เขียนจึงขอชวนเชิญทุกคนร่วมเที่ยวชมงานฉลองสันติภาพผ่านตัวอักษรตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2489 จากสนามหลวงถึงสวนลุมพินีในงานฉลองสันติภาพพร้อมกัน ณ บัดนี้
งานฉลองสันติภาพมีสถานที่จัดงานหลักอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บริเวณสนามหลวง บริเวณพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณสวนลุมพินี ซึ่งคล้ายกันกับรูปแบบการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ จุดเด่นของงานในวันแรก คือ กรมศิลปากรจัดให้มีการแสดงของคณะเสมาทอง-คณะเทพศิลป์-คณะเสมาไทย ขึ้น ณ หอประชุมศิลปากร ส่วนในเวลาบ่ายมีการแสดงของคณะราตรีสุขเกษม และคณะจันทโรภาส ขณะที่สนามหลวงได้จัดแข่งขันกีฬา อาทิ ขี่จักรยาน 2 ล้อ และ 3 ล้อ รอบสนามหลวง
ไฮไลต์มหรสพในวันนี้ คือ สมาคมและสโมสรต่างๆ ทั้งของไทย เช่น ราชตฤณมัยสมาคม แพทย์สมาคม ของจีน และของอิสลาม เช่น สมาคมสนธิอิสลาม ฯลฯ ต่างยกขบวนกันมาเต็มที่ในการฉายภาพยนตร์ ลําตัด ประกวดรําวง มีสตริงแบนด์ และลีลาศ หากกำหนดการสำคัญคือ สมาคมสันติภาพได้ฉายภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกที่สร้างและประพันธ์บทภาพยนตร์โดยปรีดี พนมยงค์[12] ณ โรงหนังเทียนกัวเทียน และเชิญทหารต่างประเทศเข้าร่วมรับชมด้วย นอกจากนั้นยังมีการประกวดคำขวัญสันติภาพ และฉายภาพยนตร์ข่าวสงครามที่สนามด้านหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร
ไม่ไกลจากสนามหลวง ณ สโมสรราษฎรสราญรมย์[13] ภายในสมาคมจะมีจําอวด การแสดงเบ็ดเตล็ด และการแข่งขันลีลาศ ส่วนภายนอกจะมีลิเกทั้ง 3 วัน ที่น่าสังเกตคือภายใต้ความรื่นเริงและความสนุกสนานตามแบบไทย ได้มีการให้ความรู้เรื่องสงครามและสันติภาพ รวมทั้งการโฆษณา อาทิ มีการจัดฉายภาพยนตร์ของสำนักสื่อข่าวอเมริกันจำนวน 2 จอ และจัดฉายภาพยนตร์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่ค่อยมีการนำมาเผยแพร่ในงานสาธารณะรวมอยู่ด้วย
งานฉลองสันติภาพวันที่สอง 19 มกราคม พ.ศ. 2489 นอกจากรัฐพิธีฯ แล้ว รูปแบบของมหรสพจะคล้ายกับวันแรกที่แตกต่างออกไปคือ มีเทศบาลนครธนบุรีมาร่วมจัดตลาดนัดที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และวงเวียนใหญ่ กับมีการแสดงของคณะเจตสิงห์ คณะปัญญาพล คณะวิจิตรเกษม และคณะสุปรีดีที่เพิ่มเติมเข้ามารวมทั้งมีกีฬาที่ไม่ว่าจัดแข่งในยุคสมัยใดก็สนุกทุกครั้ง นั่นคือการแข่งชักเย่อระหว่างอําเภอ ณ บริเวณท้องสนามหลวง
และในวันสุดท้ายของงานฉลองสันติภาพ 20 มกราคม พ.ศ. 2489 มีกำหนดการสำคัญคือเวลา 14.00 น. ที่ประชาชนไทย-จีนร่วมเดินขบวนฉลองสันติภาพจากถนนเจริญกรุงไปหยุดที่สถานีรถไฟหัวลําโพง และกรมศิลปากรยังได้จัดให้มีการแสดงของคณะแหลมทอง คณะลูกไทย และคณะศิวารมย์ ส่วนตอนบ่ายมีการแสดงของคณะจิตรวัฒนาซึ่งไม่ซ้ำกับวันอื่นๆ
อนึ่ง วันนี้ในเวลา 21.00 น. ทางสํานักนายกรัฐมนตรีกับสํานักพระราชวังได้ร่วมกันจัดให้มีงานสโมสรสันนิบาตเป็นการภายในพระราชฐานโดยเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐมนตรี และข้าราชการตั้งแต่ชั้นพิเศษ พันเอก นาวาเอก นายพันตํารวจเอกขึ้นไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อการลีลาศและทรงพระราชทานเลี้ยงอาหารว่างแก่ผู้รับเชิญโดยทั่วกัน[14]
งานฉลองสันติภาพในจังหวัดจันทบุรี
งานฉลองสันติภาพในต่างจังหวัดก็จัดขึ้น ณ ช่วงเวลาเดียวกัน เช่น งานฉลองสันติภาพในจังหวัดจันทบุรี[15] โดยทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีโทรเลขลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2489 เพื่อให้จังหวัดจันทบุรีจัดงานเฉลิมฉลองสันติภาพขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม พ.ศ. 2489 และจัดสรรงบประมาณให้จำนวน 200 บาท
เมื่อขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดจันทบุรีได้รับโทรเลขแล้วก็จัดทำหนังสือเรื่องจัดงานฉลองสันติภาพถึงคณะกรมการอำเภอทุกอำเภอยกเว้นอำเภอเมืองเพื่อแจ้งให้ทราบว่าได้รับโทรเลขสั่งให้เตรียมงานฉลองสันติภาพในวันที่ 18-20 มกราคม พ.ศ. 2489 และมีคำสั่งให้ดำเนินงานโดยระบุรูปแบบงานไว้คร่าวๆ คือมีการรื่นเริง มหรสพ กีฬา และประดับธงตามสถานที่ราชการและบ้านเรือนซึ่งเป็นคำสั่งเดียวกันกับแจ้งการจัดงานฉลองสันติภาพในพระนคร ต่อมาได้ประกาศให้วันที่ 18-20 มกราคม เป็นวันหยุดราชการและให้ชักธงชาติ 6 ชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย ไทย จีน และฝรั่งเศสในวันฉลองสันติภาพด้วย
กำหนดงานฉลองสันติภาพของจังหวัดจันทบุรี ในช่วง 3 วันดังกล่าวจะจัดขึ้นบริเวณศาลากลางจังหวัด หอทะเบียนที่ดิน บริเวณสโมสร และหน้าค่ายทหารนาวิกโยธิน ทางด้านงานมหรสพได้จัดให้มีลิเก ละคร หนังตะลุง หุ่นกระบอก และรำวง ด้านกีฬาจะมีกายบริหาร และมวยของนักเรียน ด้านงานเลี้ยงอาหารจะมีขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 18 มกราคม ส่วนพิธีทางการได้จัดขึ้นเฉพาะข้าราชการที่วัดโบสถ์
ความคิดเรื่องสันติภาพของราษฎรในหัสนิยายสามเกลอของ ป. อินทรปาลิต
จากเอกสารของราชการเรื่องงานฉลองสันติภาพในพระนครและจังหวัดจันทบุรี แสดงให้เห็นรัฐพิธี กิจกรรม และการดำเนินงานฉลองสันติภาพแทบทั้งสิ้นแม้จะมีหน่วยงานของเอกชนหรือประชาชนเข้ามาร่วมจัดงานและกระตุ้นให้เกิดความสนใจเรื่องสันติภาพขึ้นจากการฉายภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” หรือประกวดคำขวัญสันติภาพ แต่เอกสารของราชการกลับไม่ปรากฏทัศนะของประชาชนเรื่องสงครามและสันติภาพไว้เลย
หากเมื่อได้พลิกอ่านนิยายของ ป. อินทรปาลิต[16] เรื่องหัสนิยายสามเกลอ ชุดสามเกลอมาแล้ว ตอนฉลองสันติภาพ ที่นอกจากจะพบความบันเทิง ขบขัน และเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงทศวรรษ 2470 - 2480 ตอนฉลองสันติภาพแล้ว ยังสะท้อนความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องสันติภาพของราษฎรและผู้เขียนเองผ่านคำถามของเจ้าคุณปัจจนึกพินาศ[17]
ในตอนหนึ่งของการสนทนาช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2489 หรือก่อนงานฉลองสันติภาพ 1 วัน เจ้าคุณปัจจนึกฯ ที่ถูกกำหนดบทบาทในนิยายให้เป็นประธานกรรมการจัดงานฉลองสันติภาพได้พูดขึ้นกับทุกคนว่า
“สันติภาพเป็นยอดแห่งความปรารถนาของมนุษย์ แต่ใครจะอธิบายให้แจ่มแจ้งได้บ้างว่าสันติภาพคืออะไร”
หลังคำถามนี้ตัวละครหลักในหัสนิยามสามเกลอทั้งพล นิกร กิมหงวน ดิเรก และเจ้าแห้วต่างนิ่งเฉย โดยมีคุณหญิงวาด[18] แม่ของพลแสดงความคิดคนแรกว่า
“สันติภาพแปลว่าสภาพแห่งความสงบ คือความสิ้นสุดของสงคราม”
แต่ดิเรก หรือ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์มาจากประเทศอังกฤษ กล่าวกลั้วหัวเราะแย้งว่าคำตอบของคุณหญิงวาด “ไม่ใช่”
และคำตอบของดิเรกต่อเรื่องสันติภาพคือ
“...ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์และเป็นแพทย์ ผมไม่ใช่นักอักษรศาสตร์ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องรู้ว่าสันติภาพแปลว่าอะไร”[19]
นิยายของ ป. อินทรปาลิต สะท้อนให้เห็นกระแสความคิดเรื่องสันติภาพของคนในสังคมช่วงงานฉลองสันติภาพ พ.ศ. 2489 ด้วยการเขียนแบบยั่วล้อผ่านตัวละครในหัสนิยายสามเกลอว่ามีคนสองประเภทคือ คนที่สนใจสันติภาพอย่างลึกซึ้ง เช่น คุณหญิงวาด และคนที่ไม่สนใจสันติภาพ เช่น ดิเรก
งานฉลองสันติภาพของประชาชนในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2489 คือการเฉลิมฉลองสันติภาพสมบูรณ์ของไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนว่าขบวนการเสรีไทยคือรูปธรรมของการต่อสู้เพื่อยืนยันอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยภายใต้สงคราม[20] ประกอบกับการผ่อนปรน และช่วยเหลือจากประเทศในฝ่ายสัมพันธมิตร[21] หากสันติภาพที่ได้มาและการหลุดพ้นจากความสูญเสียร่วมกับฝ่ายที่พ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ทั้งปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทยในประเทศ[22] และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา[23] เห็นตรงกันว่าส่วนสำคัญเป็นเพราะประชาชนร่วมมือและอดทนจนกระทั่งไทยประกาศสันติภาพและฉลองสันติภาพสมบูรณ์ได้ในที่สุด
ที่มาของภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี หนังสือท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม 5 หนังสือหัสนิยายสามเกลอ ชุดสามเกลอมาแล้ว ตอนฉลองสันติภาพ เว็บไซต์ wikiwand และเพจ Wartime Asia เอเชียยามสงคราม
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา, แถลงการณ์ เรื่อง การยกเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และประเทศอินเดีย และแถลงการณ์. ประกาศ ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2489. เล่มที่ 63 ตอนที่ 4 ก., หน้า 15-46.
- กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับความตกลงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1946 เพื่อการยุติภาวะสงคราม. 14 มกราคม พ.ศ. 2497, หน้า 1-3.
- โทรเลขของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาถึงเอกอัครรัฐทูตในสหราชอาณาจักร ฉบับเลขที่ 740.0011 พี.ดับบลิว./เอส-1545 ลงวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เวลาบ่าย 3 โมง (ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 กรุงเทพฯ) ใน ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522)
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.2.1/46 กล่อง 2 กรมโฆษณาการส่งคำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ แก่ผู้แทนพลพรรคที่ธรรมศาสตร์ [พ.ศ. 2488]
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จบ 1.2.4/346 กล่อง 16 งานฉลองสันติภาพ 2489 [8 ม.ค.-14 ส.ค. 2489]
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท. 0201.2.1.28/4 กล่อง 1 การรัฐพิธีฉลองสันติภาพ [พ.ศ. 2489]
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.2.1.13/27 กล่อง 2 การเดินขบวนฉลองสันติภาพ และส่งบัตรเชิญในการเดินขบวนฉลอง [พ.ศ. 2488]
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. [2] สร 0201.92/55 การฉลองสันติภาพ [27 ส.ค. 2488-13 ส.ค. 2489]
หนังสืออนุสรณ์งานศพ :
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเนตร เขมะโยธิน ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2528. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2528.
- เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., และ วิจิตรวาทการ (วิจิตร), พล.ต. หลวง, การเจรจาเลิกสถานะสงครามกับบริเตนใหญ่ และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กับหลังฉากประกาศสงคราม ใน อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางอัมพร กลิ่นอดุง ณ เมรุวัดแค วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม 2513. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2513.
หนังสือภาษาอังกฤษ :
- Santaputra, Charivat, Thai Foreign Policy 1932-1946, (ฺBangkok: International Studies Center, 2020)
หนังสือภาษาไทย:
- กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, (กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการเอกสารและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการกึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์, 2527)
- กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, 76 ปี วันสันติภาพไทย: 8 ทศวรรษ “พระเจ้าช้างเผือก” สารสันติภาพเหนือกาลเวลา”, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563)
- ดิเรก ชัยนาม, ไทยสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2, เล่ม 1, 2, (พระนคร, แพร่พิทยา, 2509)
- ป. อินทรปาลิต, นามแฝง. หัสนิยายสามเกลอ ชุดสามเกลอมาแล้ว ตอนฉลองสันติภาพ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2547)
- ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
- ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
- พีระพงศ์ ดามาพงศ์, พล.ต.ต., ท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม 5, (กรุงเทพฯ: บริษัท สามเจริญพาณิชย์จำกัด, 2550)
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, 70 ปี วันสันติภาพไทย, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558)
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2546)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (7 ธันวาคม 2564). ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/12/914
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (23 มกราคม 2564). ไทย-ญี่ปุ่น และสงครามมหาเอเชียบูรพา. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/582
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 สิงหาคม 2564). ประกาศสันติภาพ โดย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/08/797
- เสมียนนารี. (11 กรกฎาคม 2565). ข้อเท็จจริงที่ทำให้ไทย “ไม่แพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เพราะไทย เพราะนโยบายสหรัฐ?. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_22833
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (26 มกราคม 2563). ‘งานฉลองสันติภาพ’ ความบันเทิงในวันวานยามที่ผู้คนชื่นชมสันติภาพมากกว่าสงคราม. สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/thai-peace-festival/98953
- อนุสรณ์ ธรรมใจ. (7 พฤษภาคม 2563). ภารกิจเพื่อสันติภาพและเอกราชของขบวนการเสรีไทย. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/05/243
[1] โทรเลขของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาถึงเอกอัครรัฐทูตในสหราชอาณาจักร ฉบับเลขที่ 740.0011 พี.ดับบลิว./เอส-1545 ลงวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ใน ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522), หน้า 50-51.
[2] เสริม วินิจฉัยกุล เดินทางไปพร้อมกับ ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันต์ และ ม.จ.ชิดชนก กฤดากร
[3] ราชกิจจานุเบกษา, แถลงการณ์ เรื่อง การยกเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และประเทศอินเดีย และแถลงการณ์. ประกาศ ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2489. เล่มที่ 63 ตอนที่ 4 ก., หน้า 15-46.
[4] เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., และ วิจิตรวาทการ (วิจิตร), พล.ต. หลวง, การเจรจาเลิกสถานะสงครามกับบริเตนใหญ่ และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กับหลังฉากประกาศสงคราม ใน อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางอัมพร กลิ่นอดุง ณ เมรุวัดแค วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม 2513. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2513. หน้า 61-63.
[5] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (7 ธันวาคม 2564). ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/12/914
[6] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (7 ธันวาคม 2564). ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/12/914
[7] โปรดดูเพิ่มเติม ประเด็นความบันเทิงในงานฉลองสันติภาพ ได้ที่ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (26 มกราคม 2563). ‘งานฉลองสันติภาพ’ ความบันเทิงในวันวานยามที่ผู้คนชื่นชมสันติภาพมากกว่าสงคราม. สืบค้นจาก https://thematter.co/thinkers/thai-peace-festival/98953
[8] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. [2] สร 0201.92/55 การฉลองสันติภาพ [27 ส.ค. 2488-13 ส.ค. 2489], หน้า [8], [12]
[9] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. [2] สร 0201.92/55 การฉลองสันติภาพ [27 ส.ค. 2488-13 ส.ค. 2489]
[10] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท. 0201.2.1.28/4 กล่อง 1 การรัฐพิธีฉลองสันติภาพ [พ.ศ. 2489]
[11] พีระพงศ์ ดามาพงศ์, พล.ต.ต., ท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม 5, (กรุงเทพฯ: บริษัท สามเจริญพาณิชย์จำกัด, 2550), หน้า 247.
[12] กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, 76 ปี วันสันติภาพไทย: 8 ทศวรรษ “พระเจ้าช้างเผือก” สารสันติภาพเหนือกาลเวลา”, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563)
[13] ในระยะแรกช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นที่ตั้งของสมาคมรัฐธรรมนูญ
[14] พีระพงศ์ ดามาพงศ์, พล.ต.ต., ท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม 5, (กรุงเทพฯ: บริษัท สามเจริญพาณิชย์จำกัด, 2550), หน้า 237-267.
[15] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จบ 1.2.4/346 กล่อง 16 งานฉลองสันติภาพ 2489 [8 ม.ค.-14 ส.ค. 2489]
[16] นามปากกาของปรีชา อินทรปาลิต
[17] นามเต็มตามหลักราชการของตัวละครนี้คือ พลโท พระยาปัจจนึกพินาศ (อู๊ด ศิริสวัสดิ์) ต่อมาในยุคหลังทศวรรษ 2510 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในนิยายฯ ท่านเจ้าคุณปัจจนึกฯ มีศักดิ์เป็นพ่อตาของนิกร และดิเรกโดยตัวละครอื่นจะนับถือเป็นคุณอา
[18] คุณหญิงวาดเป็นภริยาของพระยาประสิทธิ์นิติศาสตร์ และเป็นมารดาของพล
[19] ป. อินทรปาลิต, นามแฝง. หัสนิยายสามเกลอ ชุดสามเกลอมาแล้ว ตอนฉลองสันติภาพ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2547), หน้า 16-19.
[20] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2546)
[21] เสมียนนารี. (11 กรกฎาคม 2565). ข้อเท็จจริงที่ทำให้ไทย “ไม่แพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เพราะไทย เพราะนโยบายสหรัฐ?. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_22833
[22] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
[23] เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., และ วิจิตรวาทการ (วิจิตร), พล.ต. หลวง, การเจรจาเลิกสถานะสงครามกับบริเตนใหญ่ และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กับหลังฉากประกาศสงคราม ใน อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางอัมพร กลิ่นอดุง ณ เมรุวัดแค วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม 2513. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2513.
- วันสันติภาพไทย
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- ปรีดี พนมยงค์
- ขบวนการเสรีไทย
- เสนีย์ ปราโมช
- อดุล อดุลเดชจรัส
- ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์
- สินธุ์ กมลนาวิน
- ฝ่ายสัมพันธมิตร
- ทหารญี่ปุ่น
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- รัชกาลที่ 8
- เสริม วินิจฉัยกุล
- ความตกลงสมบูรณ์แบบ
- หลุยส์ เมานท์แบทเตน
- เอิร์ลเมานท์แบทเตนแห่งพม่า
- งานฉลองวันสันติภาพ
- พระยาชาติเดชอุดม
- จิตร โยธี
- หลวงสถิตยุทธการ
- พระเรี่ยมวิรัชชพากย์
- ปิ่น มาลากุล
- พระยาจินดารักษ์
- พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
- คณะเสมาทอง
- คณะเทพศิลป์
- คณะเสมาไทย
- คณะราตรีสุขเกษม
- คณะจันทโรภาส
- ราชตฤณมัยสมาคม
- แพทย์สมาคม
- สมาคมสนธิอิสลาม
- พระเจ้าช้างเผือก
- สมาคมสันติภาพ
- โรงหนังเทียนกัวเทียน
- สโมสรราษฎรสราญรมย์
- คณะเจตสิงห์
- คณะปัญญาพล
- คณะวิจิตรเกษม
- คณะสุปรีดี
- คณะแหลมทอง (