ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ไทย-ญี่ปุ่น และสงครามมหาเอเชียบูรพา

23
มกราคม
2564

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แผ่ขยายเข้าสู่ย่านเอเชีย-แปซิฟิก ดังที่เรียกชื่อเฉพาะกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา นั้น ไทยได้กลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยเริ่มจากการที่ญี่ปุ่นบุกไทยเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 พร้อมๆ กับการโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ ในที่สุดไทยได้ลงนามในกติกาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเมื่อ 21 ธันวาคม และต่อมาได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ เมื่อ 25 มกราคม 2485 

ดังนั้น ในสงครามครั้งนี้ ไทยก็ดูเหมือนเข้าอยู่ในฝ่ายอักษะโดยสมบูรณ์ และมีความสัมพันธ์พิเศษกับญี่ปุ่น ข้อถกเถียงในเรื่องนโยบายต่างประเทศของไทยในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสงครามก็คือ ไทยเข้าร่วมด้วยความสมัครใจหรือด้วยการถูกบีบบังคับ ทั้งนี้โดยไม่มีทางเลือกอื่น

อย่างไรก็ตาม หากจะศึกษาในบริบทของประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนโยบายประเทศไทยในสมัยนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่า การเข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายอักษะนั้นเป็นเรื่องที่ได้มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์มาเป็นเวลาพอสมควรพร้อมๆ กับสถานการณ์ของโลกที่แบ่งออกเป็นค่ายประชาธิปไตยและค่ายฟาสซิสม์ (Democracies versus Fascism) นั้น ในขณะนั้นดูเหมือนว่า ค่ายฟาสซิสม์กำลังกลายเป็นคำตอบของโลกในอนาคต ญี่ปุ่นเองแม้จะมีลักษณะของความเป็น “จักรวรรดินิยม” แผ่ขยายอิทธิพลของตนเข้าครองดินแดนต่างๆ ในเอเชีย แต่บทบาทของญี่ปุ่นก็ได้รับการพิจารณาให้ความหมายในสองด้านที่ตรงข้ามกัน

ในด้านหนึ่ง บทบาทของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกถือว่าเป็นลัทธิทหารที่รุกราน ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นขยายอิทธิพลเข้าไปในดินแดนที่ได้รับจัดสันปันส่วนกันเรียบร้อยแล้วระหว่างมหาอำนาจตะวันตก (โดยที่สหรัฐฯ ได้ฟิลิปปินส์ ฝรั่งเศสได้อินโดจีน อังกฤษได้มลายู-สิงคโปร์-พม่า ฮอลันดาได้อินโดนีเซีย) ซึ่งถ้าหากมิใช่เป็นความขัดแย้งกับตะวันตก ในการที่ญี่ปุ่นเข้าบุกดินแดนเหล่านี้ทั้งหมด บทบาทของญี่ปุ่นก็อาจถูกมองไปในอีกแง่หนึ่ง ด้านกลับกัน บทบาทของญี่ปุ่นก็ถูกถือว่าเป็น “แสงสว่างแห่งเอเชีย”[1] ผู้นำในประเทศอาณานิคมจำนวนไม่น้อยมองญี่ปุ่นในฐานะ “ผู้ปลดปล่อย” ให้พ้นจากลัทธิอาณานิคม ดังนั้น คนรุ่น “นักกู้ชาติ” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ซูการ์โน (อินโดนีเซีย) อองซาน (พม่า) จึงร่วมมือกับญี่ปุ่นด้วยจุดประสงค์ คือ “ปลดแอกและกู้ชาติ” ของตนจากชาติตะวันตก อันที่จริงแล้ว ลัทธิอาณานิคมของตะวันตกที่พังทลายลงในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และทำให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเอกราช ก็เป็นผลมาจากการที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าไปในดินแดนเหล่านั้นทำลายซึ่ง “สถานะเดิม” ของการแบ่งสันปันส่วนของมหาอำนาจตะวันตกเสียสิ้น

ผู้นำไทยในบริบททางประวัติศาสตร์ก็อาจไม่แตกต่างกับผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรุ่นนั้น ที่ได้มองญี่ปุ่นในฐานะชาติในเอเชียที่สามารถจะสร้างความทัดเทียมกับชาติตะวันตกได้ ความสำเร็จของญี่ปุ่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างอำนาจทางการทหารของตนเป็นสิ่งที่ประทับใจต่อผู้นำของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ชัยชนะของญี่ปุ่นเหนือรัสเซียในปี 2448 (1905) เป็นเหตุการณ์ที่มิได้ผ่านไปโดยมิได้รับการรับรู้ของชนชั้นนำของไทย ดังนั้น นับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่ชนชั้นผู้นำไทยจ้องมองดูด้วยความสนใจ (จะเห็นได้จากรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 เสด็จญี่ปุ่น ตลอดจนข้ออ้างของคณะ ร.ศ. 130 ในการก่อการปฏิวัติ) และได้กลายเป็นประเทศที่นโยบายต่างประเทศของไทยต้องพินิจพิจารณา

ญี่ปุ่นได้กลายเป็นมหาอำนาจ 1 ใน 4 ของมหาอำนาจที่ทรงพลังในเอเชีย (อังกฤษ สหรัฐฯ และ ฝรั่งเศส) เป็นอีกมหาอำนาจที่ไทยจะต้องปรับนโยบายต่างประเทศของตนให้เข้ากับสถานการณ์ ในเมื่อท่าทีของญี่ปุ่นเห็นได้ชัดว่าต่อต้านตะวันตก อิทธิพลของญี่ปุ่นก็สามารถจะเป็นประโยชน์ในการใช้ต้านทานตะวันตกในไทยได้เช่นกัน อันจะช่วยให้สถานะของไทยที่ถูกบีบขนาบอยู่ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ความสำคัญของญี่ปุ่นก็ทวีขึ้นในหมู่ชนชั้นนำไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้นำในระบอบใหม่ พระยาพหลฯ เองก็เคยไปเยือนและดูงานการทหารในญี่ปุ่นถึง 2 ปี ระหว่าง 2462-2464 และมีเรื่องเล่าขานถึงการได้รับแรงบันดาลใจของท่านในการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ไทยมีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับญี่ปุ่น[2]

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลไทยได้ให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อเรื่องการต่างประเทศกับญี่ปุ่น ในขณะที่มีเพียงการสลับตัวอัครราชทูตไทยระหว่างลอนดอนกับวอชิงตัน แต่กรณีกับโตเกียว รัฐบาลไทยกลับส่งอัครราชทูตซึ่งเป็นคนของตนไปแทนทูตคนเก่า แนวทางที่อัครราชทูตใหม่นี้จะต้องดู คือ ติดตามความเป็นไปในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด และสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ ไทยเป็นประเทศเดียวที่งดออกเสียงในการลงมติต่อ Lytton Report (2476) อันเป็นรายงานของสันนิบาตชาติที่ประณามการรุกรานของญี่ปุ่นในแมนจูเรีย (ที่นำไปสู่การรับรองรัฐบาลหุ่น “แมนจูกัว” เมื่อ 2484)[3]

ก่อนหน้าที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นก็ดูจะพัฒนาไปในทางที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นทุกที ในปี 2478 มีรายงานในโลกตะวันตกว่า ในขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายลัทธิชาตินิยมในเบื้องแรกสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ นั้น ได้เกิดปัญหาการประท้วงจากรัฐบาลจีนคณะชาติ ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้สร้างเสริมกำลังกองทัพบก-เรือ-อากาศของตนด้วยการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มจากต่างประเทศ[4] สัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นก็มีมากขึ้นด้วยการส่งนายทหารไปฝึกในญี่ปุน และทางการค้ากับญี่ปุ่นก็มีมากขึ้น ในปี 2479 มีคณะทูตทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่น (และเยอรมนี) มาเยือนไทย (มีนาคม-เมษายน และพฤษภาคม ตามลำดับ) ญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาส่งเสริมเรื่องการผลิตวัตถุดิบ เช่น ฝ้าย ยางพารา และดีบุก กระทรวงเกษตราธิการในสมัยนั้นก็มีที่ปรึกษาเป็นชาวญี่ปุ่น เทศบาลนครกรุงเทพฯ ใช้ช่างวิศวกรชาวญี่ปุ่น และมีหนังสือพิมพ์สายญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย 2 ฉบับ (ปี 2484 มีหนังสือพิมพ์ข่าวภาพซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์สายญี่ปุ่น)

ความใกล้ชิดกับญี่ปุ่นสร้างความวิตกกังวลให้กับมหาอำนาจตะวันตกไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกถษ ซึ่งกลัวว่าไทยจะร่วมมือกับญี่ปุ่นในการขุดคอคอดกระ ถึงกับกระทรวงการต่างประเทศในสมัยที่ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรี ต้องออกมาปฏิเสธข่าว (พฤษภาคม 2479) และในปี 2481 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องแถลงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า ไทยไม่มีข้อตกลงพิเศษกับญี่ปุ่นแต่อย่างใด[5]

ในช่วงของความตึงเครียดจากการเกิดสงครามขึ้นในยุโรป รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น (12 มิถุนายน 2483) และได้มีคณะผู้แทนของรัฐบาลไทยไปเยือนญี่ปุ่นในฐานะทูตสันถวไมตรี ในขณะเดียวกันจอมพล ป. พิบูลสงครามก็แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎร (21 กันยายน 2483) ว่า “เราจะเห็นว่าน่าจะขอบใจประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ให้ความร่วมมือกับเรามากหลายในการค้า เพราะว่าข้าวนั้นเราได้อาศัยประเทศญี่ปุ่นซื้อไปในเวลานี้ เกือบ 70-80 เปอร์เซ็นต์ที่เราได้ขายไปยังประเทศญี่ปุ่น … ในการที่ขายข้าวได้สะดวก ทั้งนี้ก็เพราะกระทรวงเศรษฐการและกรมพาณิชย์ได้ดำเนินการติตต่อกับประเทศญี่ปุ่นโดยเห็นอกเห็นใจกันทำให้เราขายข้าวได้ดี … การขายข้าวให้ดีขึ้นอีกด้วยราคาดีก็จะทำให้ชาวนาของเราร่ำรวยขึ้น เพราะฉะนั้นราคาเวลานี้ขึ้นไปเกวียนหนึ่งถึง 60 บาทก็มี … ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราได้ขายข้าวไปให้ประเทศญี่ปุ่นมาก[6]

อย่างไรก็ตาม “จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ” ของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น และนโยบายต่างประเทศของไทยปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดกรณีเรียกร้องดินแดน 2483-2484 ดังที่กล่าวมาแล้ว ในช่วงระยะเวลานั้น กองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนการเข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทอินโดจีนเป็นอย่างดีจากญี่ปุ่น ดังนั้น จึงไม่น่าสงสัยที่ความสัมพันธ์กรุงเทพฯ-โตเกียวจะดียิ่งขึ้นหลังวิกฤตการณ์อินโดจีน

ในเดือนสิงหาคม 2484 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้เลื่อนฐานะยกกระดับของอัครราชทูตเป็น เอกอัครราชทูต และนี่เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะความสัมพันธ์ทางการทูตที่ไทยมีมาตลอดในสมัยของลัทธิอาณานิคมนั้น อย่างสูงก็ได้เพียงแค่ระดับ อัครราชทูต ในหมู่มหาอำนาจยุโรปด้วยกันสามารถแลกเปลี่ยนได้ถึงระดับเอกอัครราชทูต อันเป็นประเพณีที่ตะวันตกได้วางไว้ตั้งแต่การประชุมที่เวียนนาเมื่อ ค.ศ.1815 ที่จัดระดับของการแลกเปลี่ยนเป็น 3 ระดับตามความสำคัญของประเทศ คือ เอกอัครราชทูต อัครราชทูต และอุปทูต เป็นการแบ่งชั้นในวงการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไทยได้รับการยอมรับเพียงแค่การมีอัครราชทูต (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็เป็นเพียงอัครราชทูต หรือ minister ประจำกรุงวอชิงตัน มิใช่เอกอัครราชทูต ambassador) ซึ่งก็หมายความว่า ไทยได้รับเกียรติในวงการทูตแค่ระดับสอง มิใช่ระดับหนึ่ง อันเป็นเรื่องที่กระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ให้การรับรองไทยในฐานะเท่าเทียมกับมหาอำนาจ (และกว่าที่จะเป็นที่ยอมรับกันในเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตกันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ก็ต่อเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว) และนี่ก็ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มจริงจังต่อคำประกาศนโยบาย “เอเชียสำหรับชาวเอเชีย” ยิ่งขึ้น มีผู้นำไทยจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะร่วมในการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และในทางการเมืองระหว่างประเทศ ไทยก็พยายามผละตัวออกจาก Pax Britannica เข้าสู่วงโคจรของอำนาจญี่ปุ่นในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม อาจเป็นการกล่าวที่เกินเลยว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะสละอิสรภาพของตนและยอมเข้าอยู่ในวงโคจรแห่งอำนาจของญี่ปุ่นอย่างง่ายดาย เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ไทยได้ประกาศความเป็นกลาง (กันยายน 2482) และก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น (มิถุนายน 2483) และก็ได้เสนอ พ.ร.บ. กำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ (สิงหาคม 2484) ในขณะที่สงครามใกล้เข้ามาในเอเชีย รัฐบาลได้ประกาศย้ำถึงความเป็นกลางและปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนต่อต้านการรุกรานจากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลาในระยะนั้น แต่ก็ดูเหมือนว่า ความเป็นกลาง ตลอดจนการที่จะหลีกเลี่ยงเข้าเกี่ยวข้องกับสงครามเป็นเรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ภายหลังวิกฤตการณ์เรียกร้องดินแดนที่ไทยจะต้องถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับมหาอำนาจตะวันตกและอยู่ในวงโคจรอำนาจญี่ปุ่น เมื่อไทยถูก “ญี่ปุ่นบุก” 8 ธันวาคม 2484 ทั้งไม่มีวี่แววที่จะได้รับความช่วยเหลือจากตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอังกฤษ) ก็ทำให้รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อ “ข้อเสนอ” ของญี่ปุ่น

น่าสนใจที่ว่า เมื่อญี่ปุ่นเปิดฉากของสงครามมหาเอเชียบูรพา (โจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ ในฮาวาย พร้อมๆ กับการบุกไทยและดินแดนของอาณานิคมตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) นั้น ไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับการแจ้งล่วงหน้าอย่างเป็นทางการในเวลา 22.30 น. ของวันที่ 7 ธันวาคม เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งว่า ญี่ปุ่นจะประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้ามาทางเรือสู่ประเทศไทยและจะต้องใช้ดินแดนไทยผ่านไปโจมตีอาณานิคมของอังกฤษ พร้อมกันนั้นก็ยื่นข้อเสนอ (ที่เป็นทั้ง “คำขาด” หรือ ultimatum และ “กิจกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้ว” คือ fait accompli) ให้ตอบภายใน 01.00 น.

ข้อเสนอดังกล่าวเสนอให้รัฐบาลไทยเลือก 3 ทาง ก่อนการบุกของญี่ปุ่น คือ

(1) ให้รัฐบาลไทยยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านดินแดนไทยเพื่อไปโจมตีพม่าและมลายู 

(2) ให้รัฐบาลไทยตกลงในสนธิสัญญาทางทหารร่วมในสงครามกับญี่ปุ่น และ

(3) ให้รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ[7]

รัฐบาลไทยไม่สามารถให้คำตอบได้ภายในเวลาดังกล่าว ทั้งนี้เพราะนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปตรวจราชการชายแดนด้านตะวันออก[8] คณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ไม่สามารถให้คำตอบต่อ “คำขาด” ของญี่ปุ่นได้ ต่อมาอีกประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า เวลา 2.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม กองทหารญี่ปุ่นได้ยกผลขึ้นบกตามจังหวัดต่างๆ ด้านอ่าวไทย (จากใต้สุด คือ ปัตตานี สงขลานครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และ สมุทรปรการที่บางปู) และบางส่วนก็ได้ข้ามเข้ามาตามชายแดนด้านอินโดจีน (ทางพระตะบองและพิบูลสงคราม)

จนกระทั่ง 7.00 น. จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงกลับถึงกรุงเทพฯ และเปิดประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วน ดูเหมือนว่า คณะรัฐมนตรีโดยส่วนรวมจะมีความเห็นว่า การที่จะต่อสู้ต้านทานกับกองทหารญี่ปุ่นก็เท่ากับเป็น “การฆ่าตัวตาย” (ถึงแม้จะกล่าวกันว่ามีความขัดแย้งในเรื่องรายละเอียดของการยอมต่อ “คำขาด” ของญี่ปุน ระหว่างฝ่ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ก็ตาม) การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ใช้เวลาเพียงประมาณครึ่งชั่วโมง ดังนั้น เวลาประมาณ 7.30 น. รัฐบาลไทยจึงสั่งให้ฝ่ายไทยหยุดยิงและยอมให้ญี่ปุ่นผ่านแดนตามข้อเสนอข้อที่ 1

ในช่วงของชั่วโมงวิกฤติกว่า 5 ชั่วโมง (2.00-7.30 น.) นั้น ได้มีการปะทะระหว่างทหาร-ตำรวจ-ยุวชนทหารของไทยกับกองทหารญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะที่ปัตตานีและสงขลาที่มีการรบอย่างดุเดือด (กว่าจะหยุดยิงเมื่อคำสั่งไปถึงสงขลาก็ถึง 24.00 น. และที่ปัตตานีต่อสู้กันถึง 9 ชั่วโมง โดยที่ฝ่ายไทยได้รับความเสียหายหนัก) ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.กำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบที่รัฐบาลได้โฆษณาเรียกร้องให้ชาวไทยต่อสู้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะใช้กระทั่ง “หมามุ่ย” (ที่ทำให้คัน) และการเผาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างมิให้เป็นประโยชน์กับผู้รุกราน[9] ที่น่าสังเกต ก็คือ ปรากฏว่าไม่มีการปะทะกับกองทัพเรือไทยที่บางปู ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกโดยปราศจากการต่อสู้ และ นายพลเรือโท หลวงสินธุสงครามชัย ในฐานะผู้บัญชาการทหารเรือและแม่ทัพเรือเองก็ถูกญี่ปุ่นควบคุมตัวไว้ได้[10]  ความเสียหายของกองทัพไทยเป็นปัจจัยสำคัญในการที่รัฐบาลได้ตกลงตามข้อเสนอให้ญี่ปุ่นผ่านแดนโดยที่ไทยได้รับคำมั่นสัญญาว่า ญี่ปุ่นจะเคารพต่อเอกราชและอธิปไตยของไทย

ในตอนแรกของ สงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลไทยได้ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นใช้ดินแดนไทยผ่านไปโจมตีจักรวรรดิอังกฤษในพม่าและมลายู แต่กองทหารญี่ปุ่นก็ได้เข้ามาตั้งในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 50,000 คน[11] สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากชัยชนะของกองทัพญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐฯ อย่างย่อยยับที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (ใช้เครื่องบิน 360 ลำถล่มเรือรบ 94 ลำ ที่จอดหลับไหลอยู่เมื่อ 07.55 น. 7 ธันวาคม) และที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การที่ญี่ปุ่นสามารถจมเรือสำคัญ 2 ลำของอังกฤษนอกชายฝั่งด้านเหนือของมลายู คือ The Prince of Wales และ The Repulse เรือรบทั้ง 2 ลำนี้เป็นเรือรบที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดที่ถูกส่งมาคุ้มครองจักรวรรดิอังกฤษใน “ทางตะวันออกของคลองสุเอช” (เมื่อ 2 ธันวาคม 2484) และภายในเวลา 5 เดือน (ระหว่างธันวาคม 2484-พฤษภาคม 2485) กองทัพของญี่ปุ่นที่บุกอย่างสายฟ้าแลบก็สามารถยึดครองดินแดนของมหาอำนาจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นของอังกฤษ สหรัฐฯ ฮอลันดา (สำหรับอินโดจีน ฝรั่งเศสนั้น กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นได้ยึดครองไปก่อนหน้านั้นแล้ว)

การรุกอย่างมีชัยชนะเช่นนี้มีผลต่อแนวทางและนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามมาก รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่จะทราบว่าเพิร์ลฮาร์เบอร์จะถูกโจมตีย่อยยับ และเรือรบอังกฤษจมลงก้นทะเล (10 ธันวาคม) เท่านั้น แต่ข่าวที่เยอรมนีและอิตาลีประกาศสงครามกับสหรัฐฯ (11 ธันวาคม) ญี่ปุ่นยึดเกาะกวมและเกาะเวค (ฐานทัพของสหรัฐฯ ในมหาสมุทแปซิฟิกเมื่อ 13 และ 20 ธันวาคมตามลำดับ) ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ฟิลิปปินส์ (22 ธันวาคม) ฮ่องกงยอมแพ้ (25 ธันวาคม) ญี่ปุ่นเข้าตีหมู่เกาะอินโดนีเชีย (11 มกราคม) ข่าวชัยชนะของญี่ปุ่นเหล่านี้ ได้สร้างความตื่นเต้นและประทับใจต่อวงการนักการทหารของไทยทั้งสิ้น มหาอาณานิคมของตะวันตกที่ใช้เวลาสร้างมาเป็นร้อยปีต้องพังย่อยยับลงในพริบตา สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่า ญี่ปุ่นน่าจะชนะสงครามในที่สุด

ดังนั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงตัดสินใจที่จะ “ไปไกล” กว่าการรับข้อเสนอแรก  ในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 (หลังการบุกของญี่ปุ่นเพียง 13 วัน) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ลงนามในกติกาสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่นเป็นการรับข้อเสนอข้อที่ 2 ของญี่ปุ่น และในวันที่ 25 มกราคม 2485 ในเวลาเพียงเดือนครึ่งถัดมา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ[12]

น่าสนใจว่า ในการลงนามกติกาสัญญาพันธมิตรนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เป็นที่ลงนามกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และวันประกาศสงครามก็ใช้วันที่ 25 มกราคม ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ (กรณีหลังนี้อาจเป็นเหตุบังเอิญ) ในแง่ของจิตวิทยาทางการเมือง เราได้เห็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้สัญลักษณ์ทางการเมืองตลอดมา ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น สัญลักษณ์ทั้งสองนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นโดยปราศจากความหมายทางการเมืองใดๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ความสำคัญต่อปรากฏการณ์ทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง

การเข้าร่วมกับญี่ปุ่นตามที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เองได้กล่าวว่า “แต่ในใจของผมเห็นว่า เมื่อเราจะเข้ากับเขาแล้วก็เข้าเสียให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา ส่วนกาลข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมทายไม่ถูก”

 

หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้อ่านคำประกาศสงคราม ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485
หลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้อ่านคำประกาศสงคราม
ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485

 

ดังนั้น ในแง่มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงปรากฏเด่นชัดว่า รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ด้วยการกระทำที่น่าสนใจมากกว่านี้อีกก็คือ ในแง่ของความคิดก็ปรากฏว่า คำศัพท์ต่างๆ ที่สะท้อนนโยบายของญี่ปุ่นในขณะนั้น ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาษาราชการของจอมพล ป. พิบูลสงครามเอง เช่น

เมื่อได้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่โดยการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกพร้อมด้วยรัฐมนตรีทั้งชุด และกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่เมื่อ 7 มีนาคม 2485 (อันเป็น ครม. ชุดสงคราม) นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 16 มีนาคม ว่า “เมื่อสงครามมหาเอเชียตะวันออกได้อุบัติขึ้น ประเทศไทยซึ่งมีมิตรสัมพันธ์กับญี่ปุ่นอย่างสนิทสนมยิ่งอยู่แล้วนั้น ได้พิจารณาเห็นว่า การสถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออกเป็นทางที่จะประสิทธิ์ความไพบูลย์ในวงเขตนี้ และเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นที่ยังสันติภาพแห่งโลกให้คืนดีและมั่นคงแข็งแรง จึงได้ตกลงทำกติกาสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น”[13] ซึ่งตรงกับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นอย่างน่าสนใจ เช่น New Order, Greater East Asia, Co-Prosperity's Sphere

 

ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544), น. 272-285.

 

[1] ในมุมมองที่กว้างออกไป บทบาทของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกมองจากโลกตะวันตกว่าเป็นลัทธิทหารที่รุกราน ดูบทความของ Benedict Anderson เรื่อง “Japan ‘The Light of Asia’,”

[2] พระยาพหลฯ ได้เล่าเรื่องไว้จนป็นตำนานสืบทอดกันมาว่า ท่านได้รับความบันดาลใจจากท่านบารอนไซโก ในการนำมาซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญ (บารอนเป็นฐานันดรแบบฝรั่งที่ญี่ปุ่นในสมัยเมจินำมาใช้กับเจ้านายของตน เป็นหนึ่งใน “การลอกเลียนแบบฝรั่ง” ที่ญี่ปุ่นทำในสมัยนั้น)  พระยาพหลฯ กล่าวว่า ในสมัยที่ไปดูงานในญี่ปุ่นนั้น ได้รับการบอกเล่าจากมิตรทหารญี่ปุ่นถึงบทบาทของบารอนที่ทำให้เกิดฐรรรมนูญเมจิขึ้น และท่านเองนั้นยังมีรูปร่างลักษณะหน้าตาเหมือนกับบารอนไซโก  แม้กระทั่งในพิธีหนึ่งที่บังเอิญเกิดอุบัติเหตุทางกางเกงของพระยาพหลฯ ขาด ก็ยังได้สวมกางเกงของท่านบารอนนั้นแทน ทั้งยังเป็นกางเกงที่สวมใส่ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ดังนั้น ท่านก็เลยถือเป็นลางดีว่า การยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจะต้องประสบความสำเร็จ

เรื่องทำนองนี้น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างบารมีของมหาบุรุษไทย อาจจะไม่ใช่ประเด็นของความถูกต้องเป็นจริงในประวัติศาสตร์ เพราะในแง่ประวัติศาสตร์ของการเมืองและเศรษฐกิจไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บารอนไซโกเองก็มิได้มีบทบาทสูงหรือเด่นชัดนักในการสร้างรัฐธรรมนูญเมจิ แต่ก็ทำให้นึกถึงเรื่องทำนองเดียวกันที่มีการสร้างตำนานเพื่อเพิ่มพูนบารมีของอดีตกษัตริย์ไทย ทั้งสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มิได้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากกษัตริย์หรือราชวงศ์ก่อนหน้า เป็นการสร้างบารมีแบบทำนายไว้ “ล่วงหน้า” ต่อเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วเข้ากับแนวความคิดว่าด้วย “ผู้มีบุญ” ยกตัวอย่างเช่น กรณีของพระเจ้ากรุงธนบุรีกับรัชกาลที่ 1 ก็มีเรื่องของเหตุการณ์ที่เป็นลางบ่งบอกถึงการที่จะได้เป็นใหญ่ในอนาคต เช่น การที่มีงูเลื้อยมาพันรอบองค์พระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อยังทรงเป็นทารก หรือการที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี เป็นต้น

สำหรับเรื่องพระยาพหลฯ ที่ยกเอาญี่ปุ่นเข้ามาเสริมความเป็นมหาบุรุษของท่าน ยังมีนัยเสริมอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของญี่ปุ่นต่อความคิดของผู้นำไทยในสมัยนั้นอีกด้วย ดู นเรศ นโรปกรณ์, 100  ปีพระยาพหล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2531), น.  31-33.

[3] อย่างไรก็ตามในแง่ของนโยบายต่างประเทศ รัฐบาลไทยก็ยังพยายามที่จะสร้างดุลกับโลกตะวันตกอยู่ ดังจะเห็นได้จากที่เมื่อองค์การสันนิบาตชาติให้มีการปิดล้อมทางเศรษฐกิจกับอิตาลี ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษที่รุกรานอบิสซีเนีย (เอธิโอเปีย) นั้น รัฐบาลไทยก็ได้ปฏิบัติตามมติของสันนิบาตชาติในเดือนตุลาคม 2476 ไทยสั่งห้ามซื้อสินค้าจากอิตาลีทั้งหมด งดส่งยางพาราไปขาย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในยุโรป นโยบายดังกล่าวก็ถูกยกเลิก และกองทัพไทยได้สั่งต่อเรือจากอิตาลี

[4] ในปี 2482 มีการประมาณกันว่าไทยมีทหารบกและอากาศ 30,000 คน (มีประชากร 4 ล้านคน) ส่วนกองทัพเรือมีเรือป้องกันชายฝั่ง 4 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ เรือตอร์ปิโด 18 ลำ ดู The New International Year Book 1939.

[5] The New International Year Book 1935, 1936, 1938.

[6] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ : ช.ชุมนุมช่าง, 2517), น. 331-332.

[7] ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2, เล่ม 1 (พระนคร : แพร่พิทยา, 2509), น. 197.

[8]  อ. พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์, 2518), น. 231-242.

[9] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทย…, น. 379.

ในเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กำหนดหน้าที่ของคนไทยฯ นี้ ปรากฏว่า ในช่วงก่อนสงครามระเบิดขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งให้พิมพ์แจกจ่ายจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านทั่วประเทศ และมีคำสั่งให้ย่ออ่านออกวิทยุกระจายเสียงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2484 ดู อ. พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, เล่ม 2, น. 101.

[10] อ. พิบูลสงคราม, เรื่องเดียวกัน, น. 228.

[11] ในช่วงกองทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งในประเทศไทยนั้น ได้ใช้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิการบดี) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งพักพิงทหารของตน ส่วนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้กลายเป็นค่ายกักกันเชลยศึกและประชากรของประเทศสัมพันธมิตร (ซึ่งจะกลายเป็นผลดีต่อการปฏิบัติงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การ) ส่วนในต่างจังหวัด ญี่ปุ่นก็ได้ใช้สถานที่โรงเรียนต่าง ๆ เป็นที่พักของกองทหาร เช่น ลำปาง สงขลา และกาญจนบุรี เป็นต้น ค่ายใหญ่ของญี่ปุ่นค่ายหนึ่ง คือ สถานีรถไฟหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง (ซึ่งตอนนั้นขึ้นอยู่กับจังหวัดกาญจนบุรี มิใช่ขึ้นกับราชบุรี) เป็นค่ายที่ญี่ปุ่นเริ่มต้นทางสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ” ไปยัง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” เพื่อเข้าสู่พม่า ดู รอง ศยามานนท์, ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2520) น. 162.

[12] ดู “พระบรมราชโองการประกาศสงครามต่อบริเทนใหญ่และสหรัฐอเมริกา” ซึ่งกล่าวกันว่าร่างโดย ดร.เดือน บุนนาค และอ่านประกาศออกวิทยุกระจายเสียงโดยหลวงวิจิตรวาทการ ใน ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทย…, น. 384 และ อ. พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, เล่ม 2, น. 319.

[13] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, เรื่องเดียวกัน, น. 396. (เน้นโดยผู้เขียน) อนึ่ง ในกติกาสัญญาพันธมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (ฉบับภาษาไทย) ก็ใช้ถ้อยคำในทำนองเดียวกันว่า “รัฐบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยและรัฐบาลสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นเชื่อตระหนักว่าการสถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออกเป็นทางเดียวที่จะประสิทธิ์ความไพบูลย์ในเขตนี้”