ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นอนิจจังของสังคม : กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย

24
ตุลาคม
2564

Focus

  • สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ ทุกสิ่งมีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ ดังชีวิตที่มีทั้งด้านบวกคือส่วนที่เจริญงอกงามและด้านลบคือส่วนเก่าที่เสื่อมลงไป
  • สังคมของมนุษย์เคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงไปเพราะการปะทะกันของพลังใหม่ซึ่งเป็นด้านบวกและพลังเก่าซึ่งเป็นด้านลบ โดยพลังใหม่ชนะพลังเก่า และพลังใหม่ก็จะกลายเป็นพลังเก่าที่จะเข้าสู่ความเสื่อมสลาย
  • ภายใต้ขบวนวิวรรตการทั้งปวงในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง ระบบเก่าที่ยังคงมีพลังตกค้างย่อมดิ้นรนตามกฎที่ว่า “สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” การต่อสู้จึงอาจเป็นไปได้หลายยกที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกันชนะและผลัดกันแพ้ แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็พ่ายแพ้ไปและรับช่วงกันเป็นทอดๆ ไป
  • ในระดับปรากฏการณ์ คนส่วนหนึ่งในชนวรรณะเก่าไปเข้าข้างชนวรรณะใหม่ และก็ยังมีบุคคลเก่าที่แฝงอยู่ในกลไกอำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจใหม่ แต่ยังคงมีทรรศนะทางสังคมตามระบบเก่าที่ล้าหลัง ผิดจากกฎธรรมชาติยิ่งกว่าบุคคลก้าวหน้าแห่งวรรณะเก่าเองจึงเป็นการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลอง แต่ก็เป็นไปเพียงชั่วคราวด้วยไม่สามารถฝืนกฎแห่งอนิจจัง

 

บทที่ 1 กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย
 

1.1

ทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่
ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง

สสารวัตถุที่ประกอบขึ้นโดยพลังของธรรมชาติ หรือ โดยพลังของมนุษย์ ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าอาจเห็นว่าไม่เคลื่อนไหวนั้น ความจริงมีการเคลื่อนไหวภายในตัวของสิ่งนั้นๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงจากความเป็นสิ่งใหม่ไปสู่ความเป็นสิ่งเก่า

พืชพันธุ์ รุกขชาติ และสัตว์ชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนเปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตได้อีกต่อไปแล้วก็ดำเนินสู่ความเสื่อมและสลายในที่สุด

ชีวิตย่อมมี ด้านบวก กับ ด้านลบ มี ส่วนที่เกิดใหม่ ซึ่งเจริญงอกงามกับ ส่วนเก่าที่เสื่อม ซึ่งกำลังดำเนินไปสู่ความสลายแตกดับ ด้านบวกหรือด้านลบ หรือสิ่งใหม่กับสิ่งเก่าย่อมโต้อยู่ในตัวภายในของชีวิตนั่นเอง ซึ่งทำให้ชีวิตมีการเคลื่อนไหว

1.2

มนุษยสังคม หรือ เรียกสั้นๆ ว่า สังคม ก็มิอาจหลีกเลี่ยงให้พ้นไปจากกฎแห่งอนิจจังดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ สังคมมีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง สังคมย่อมมีด้านบวกกับด้านลบภายในสังคมนั่นเอง คือ มีสภาวะใหม่ที่เจริญงอกงาม และสภาวะเก่าที่เสื่อมซึ่งดำเนินไปสู่ความสลายแตกดับ

สังคมของมนุษย์มี พลังใหม่ซึ่งเป็นด้านบวก และมี พลังเก่าซึ่งเป็นด้านลบ ที่ปะทะกันอยู่ อันทำให้สังคมเคลื่อนไหวไปทำนองเดียวกันกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายตามกฎของธรรมชาติ พลังเก่าเสื่อมสลายไป ระบบสังคมของพลังเก่าก็เสื่อมสลายไปด้วย พลังใหม่ที่เจริญเติบโต ระบบสังคมของพลังใหม่ก็เจริญเติบโตไปด้วย สภาวะเก่าหลีกเลี่ยงจากความเสื่อมสลายไปไม่พ้น ส่วนสภาวะใหม่ก็ต้องดำเนินไปสู่ความเจริญซึ่งพลังเก่าไม่อาจต้านทานไว้ได้ ดังนั้นสภาวะใหม่ย่อมได้รับชัยชนะต่อสภาวะเก่าในวิถีแห่งการปะทะระหว่างด้านบวกกับด้านลบตามกฎธรรมชาติ

สภาวะใหม่ที่ได้ชัยชนะต่อสภาวะเก่านั้น มิอาจรักษาความเป็นสภาวะใหม่ไว้ได้ตลอดกัลปาวสาน เพราะสภาวะใหม่นั้นก็ต้องดำเนินไปตามกฎแห่งอนิจจังคือ เมื่อเติบโตจนถึงขีดที่ไม่อาจเจริญต่อไปอีกแล้ว ก็ดำเนินเข้าสู่ความเสื่อมโดยมีสภาวะที่ใหม่ยิ่งกว่าเกิดขึ้นมาปะทะและได้ชัยชนะรับช่วงเป็นทอดๆ ไป

1.3

ในระยะหัวต่อหัวเลี้ยวระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่นั้น เราอาจเห็นในบางสังคมว่าระบบเก่าที่สลายไปแล้วได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก ทั้งระบบหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ดูประหนึ่งว่าระบบเก่าหรือส่วนของระบบเก่าจะวกกลับมาตั้งมั่นอยู่ต่อไป และคล้ายกับเป็นวิถีที่แย้งกฎแห่งอนิจจัง

แต่สิ่งที่ลวงตาเช่นนั้นเป็นเรื่อง ชั่วคราว ตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว ทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังที่ตกค้างอยู่ จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า “สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” การต่อสู้ทำนองนี้อาจเป็นไปได้หลายยก โดยต่างฝ่ายต่างผลัดกันชนะ ผลัดกันแพ้ ระบบของสังคมในระยะหัวต่อเช่นนั้น ย่อมมีลักษณะปลีกย่อยต่างๆ ที่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะแก่สถานการณ์ของฝ่ายชนะ แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็หลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากกฎแห่งอนิจจัง และระบบใหม่ที่ได้ชัยชนะนั้นก็ดำเนินไปตามกฎอันเดียวกันโดยมีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่ารับช่วงเป็นทอดๆ ต่อไป ดังที่ปรากฏตามรูปธรรมของมนุษยสังคมมากหลายในสากลโลก

เมื่อกล่าวถึง พลังตกค้าง แห่งระบบเก่าเราจำต้องทำความเข้าใจว่าพลังตกค้างนั้น มิใช่บุคคลในวรรณะเก่าเสมอไป เพราะบุคคลในวรรณะเก่าบางคนเป็นผู้ก้าวหน้าที่มองเห็นกฎแห่งอนิจจัง ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของวรรณะโดยเฉพาะเป็นผู้ที่มีศีล มีสัตย์ ซึ่งสมควรได้รับความเคารพสรรเสริญ นักปราชญ์ซึ่งเป็นต้นฉบับแห่งวิทยาศาสตร์ทางสังคมสมัยใหม่ กล่าวไว้ตามรูปธรรมที่เห็นจริงว่า

ในที่สุด ขณะที่การต่อสู้ของวรรณะจวนจะถึงความเด็ดขาด ความเสื่อมสลายกำลังดำเนินไปภายในวรรณะปกครอง ที่จริงนั้นคือภายในสังคมเก่า ทั้งกระบวนการดั่งว่านั้นรุนแรงและเกรี้ยวกราด จึงมีชนในวรรณะปกครองส่วนน้อยแผนกหนึ่งละทิ้งวรรณะของตน และเข้าร่วมในวรรณะอภิวัฒน์ซึ่งเป็นวรรณะที่กุมอนาคตไว้ในมือ ดั่งเช่นเดียวกับในสมัยก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งของวรรณะขุนนางได้ไปเข้ากับวรรณะเจ้าสมบัติ (นายทุนสมัยใหม่) ดังนั้นในสมัยนี้ส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติก็ไปเข้าข้างวรรณะผู้ไร้สมบัติ โดยเฉพาะส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติผู้มีปัญญา ที่ได้พยุงตนขึ้นสู่ระดับที่เข้าใจทฤษฎีแห่ง ขบวนวิวรรตการทั้งปวง

ในทางตรงกันข้ามกับบุคคลที่กล่าวในวรรคก่อน ความจริงก็ปรากฏว่า มีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจัง โดยถือว่าสภาวะเก่าเป็นของถาวร และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่าแต่บำเพ็ญตนเป็น สมุนของพลังเก่า ยิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า

ทั้งนี้ก็เพราะพลังเก่าที่สลายไปนั้นได้สูญสิ้นไปเฉพาะรูปภายนอกของระบบการเมือง แต่บุคคลเก่ายังแฝงอยู่ในกลไกอำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงมีทรรศนะทางสังคมตามระบบเก่าที่ล้าหลัง สิ่งตกค้างของระบบเก่าชนิดนี้มีทรรศนะที่ผิดจากกฎธรรมชาติยิ่งกว่าบุคคลก้าวหน้าแห่งวรรณะเก่าเอง

ฉะนั้นจึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่าพวกถอยหลังเข้าคลองที่จำต้องเป็นไปตามสภาวะของเขา แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นไปเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังต้องประจักษ์ขึ้น

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9) น.1-4

 

หมายเหตุ: จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ

 

บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง :

บทถัดไป