Focus
- ก่อนการเกิดระบบปฐมสหการของมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์สังคมหรือนักปราชญ์ ดังเช่น เองเกลส์เชื่อเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติว่ามนุษย์เราพัฒนามาจากกบี่จำพวกหนึ่งที่พัฒนาสูงกว่าวานรทั้งปวง
- สังคมส่วนใหญ่พัฒนาจากระบบปฐมสหการ เข้าสู่ระบบทาส ระบบศักดินา ระบบธนานุภาพหรือระบบทุน และเข้าสู่ระบบสังคมกิจหรือระบบสังคมนิยมตามลำดับ โดยบางสังคมก็กระโดดข้ามจากระบบหนึ่งไปสู่ระบบหนึ่งได้เพราะสังคมอื่น (ที่มีพัฒนาการขั้นสูงกว่า) เข้าไปทำให้สังคมนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น
- มนุษย์ในแต่ละสังคมมีสัญลักษณ์พิเศษของตน หากลุ่มหลงเอาลักษณะของสังคมอื่นมาเป็นของสังคมของตน ก็เป็นการทำให้การวินิจฉัยปัญหาแห่งสังคมของตนผิดพลาดได้ ดังที่นักปราชญ์วิทยาศาสตร์ทางสังคมเตือนไว้เสมอว่า ให้ถือตำราเป็นหลักนำเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติตามหลักนำจะต้องเป็นไปตามความเหมาะสมแก่สภาพของแต่ละสังคม ตามภูมิประเทศและกาลสมัย
บทที่ 3 ที่มาของมนุษยชาติกับมนุษยสังคม
3.1
ในส่วนที่เกี่ยวแก่มนุษยสังคมทั้งหลายในสากลโลกนี้ ตำรามนุษยชาติวิทยาก็ดี ประวัติศาสตร์ของโลกก็ดี วิทยาศาสตร์ทางสังคมซึ่งอาศัยข้อเท็จจริงที่ตำราเหล่านั้นได้ค้นคว้าไว้ประกอบด้วยปรากฏการณ์ที่ประจักษ์ก็ดี ย่อมรับกันว่ามนุษยชาติในสมัยดึกดำบรรพ์ได้อยู่ในระบบสังคมประเภทเดียวกันคือ ระบบปฐมสหการ ทำนองเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วสำหรับสังคมไทย
ถ้าจะศึกษาค้นคว้าถึงที่มาแห่งระบบปฐมสหการแล้ว ก็จำต้องกล่าวถึงที่มาของมนุษยชาติทั้งปวง
นักศึกษาสมัยใหม่แทบทุกคนย่อมรู้อยู่แล้วว่ามนุษยชาติได้พัฒนามาจากกบี่ (Anthropoid Ape) เป็นเวลาหลายล้านปีมาแล้ว แม้นักศึกษารุ่นข้าพเจ้าก็เคยได้ยินครูสอนไว้เมื่อ 50 ปีก่อนโน้นถึงที่มาของมนุษยชาติดังกล่าวนั้น
ถิ่นอันเป็นที่มาของมนุษยชาตินั้นนักวิทยาศาสตร์ทางสังคมผู้หนึ่งชื่อเองเกลส์ ได้มีความเห็นเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ว่า ในยุคที่ 3 ของโลก คือเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ได้มีกบี่จำพวกหนึ่งที่ได้พัฒนาสูงกว่าวานรทั้งปวงซึ่งมีสังขารเกือบครบถ้วนเป็นมนุษยชาติ กบี่จำพวกนี้อาศัยอยู่ในที่ใดที่หนึ่งแห่งอาณาบริเวณที่มีอากาศอบอุ่น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้นั้นสันนิษฐานว่าอาจเป็นท้องที่ในทวีปใหญ่ซึ่งบัดนี้จมไปอยู่ก้นมหาสมุทรอินเดีย
สังคมไทยในยุคปัจจุบันตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่มีดินแดนส่วนหนึ่งติดกับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอาจเป็นดินแดนที่เหลืออยู่ของทวีปที่จมไปอยู่ก้นมหาสมุทรอินเดียก็ได้ ถ้าหากนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เห็นพ้องต้องกันกับนักวิทยาศาสตร์ทางสังคมดังกล่าวแล้วในหลักการ แม้การคำนวณเวลาของยุคจะผิดเพี้ยนกันไปบ้าง เช่นในปัจจุบันคำนวณกันว่าเป็นเวลาหลายล้านปีแทนหลายแสนปีก็ตาม ข้าพเจ้าก็เห็นว่าดินแดนส่วนหนึ่งแห่งสังคมไทยนี้เองเป็นถิ่นของกบี่ที่พัฒนามาเป็นมนุษยชาติ อันที่จริงเราได้ยินพูดกันถึงคนป่าที่ภาษามลายูเรียกว่า “อูรัง อูตัง” ซึ่งเคยมีอยู่ในป่าภาคใต้ของสังคมไทยเหมือนกัน แม้ในภาคเหนือเราก็เคยมีกบี่จำพวกนี้ ซึ่งบางทีมีผู้จับมาแสดงให้ดูในงานวัดเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีมนุษย์ดั้งเดิมเผ่าต่างๆ ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วในข้อก่อน
นักปราชญ์ผู้นั้นได้กล่าวถึงมนุษย์เผ่าต่างๆ ที่กระจายไปอยู่ทั่วโลกนั้นว่าไปจากแหล่งเดิมนี้เอง คือท่านให้ความเห็นว่า เมื่อมนุษย์ได้รู้จักบริโภคสิ่งที่สามารถกินเป็นอาหารได้แล้วก็รู้จักอาศัยอยู่ในท้องที่ซึ่งมีดินฟ้าอากาศต่างๆ แล้วมนุษย์บางจำพวกจึงได้เคลื่อนจากถิ่นเดิมซึ่งมีอากาศอบอุ่นไปอยู่ในอาณาบริเวณที่มีอากาศเย็นกว่าและหนาวกว่า ฤดูกาลในอาณาบริเวณใหม่ซึ่งมีทั้งฤดูร้อนฤดูหนาวทำให้มนุษย์มีความต้องการเกิดขึ้นใหม่ คือที่พักอาศัยและเครื่องนุ่งห่มเพื่อป้องกันความหนาวและความแฉะชื้น แรงงานประเภทใหม่และกิจกรรมใหม่ก็เกิดขึ้นตามความต้องการใหม่ในเรื่องชีวปัจจัย
ดังนั้น มนุษยชาติทั้งปวงที่ถือกำเนิดมาจากแหล่งเดิมด้วยกันจึงมีระบบสังคมดั้งเดิมอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นสมัยต้นแห่งระบบปฐมสหการ ระบบนี้ได้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในระบบนั้นอย่างไม่หยุดยั้ง แต่มนุษย์ที่แยกย้ายกระจัดกระจายจากถิ่นเดิมไปอยู่ทั่วโลกนั้นก็ย่อมมีสัญลักษณ์พิเศษผิดเพี้ยนกันตามสภาพและภูมิประเทศ ส่วนลักษณะทั่วไปของระบบปฐมสหการนั้นย่อมเหมือนกันในสาระสำคัญ ดั่งที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในเรื่องระบบปฐมสหการของสังคมไทย
3.2
เนื่องจากสัญลักษณ์พิเศษของแต่ละสังคม สังคมต่างๆ จึงพัฒนาเข้าสู่ระบบสังคมประเภทอื่นๆ ช้าเร็วต่างๆ กัน
ตามปกติของสังคมส่วนมากนั้น ต่อจากระบบปฐมสหการแล้ว มนุษยสังคมก็เข้าสู่ระบบทาส (SLAVE SYSTEM) ต่อจากระบบทาสก็เข้าสู่ระบบศักดินา (FEUDAL SYSTEM) ต่อจากระบบศักดินาก็เข้าสู่ระบบธนานุภาพหรือระบบทุน (CAPITALIST SYSTEM) และต่อจากระบบธนานุภาพก็มีหลายสังคมที่ได้เข้าสู่
ระบบสังคมกิจ หรือที่บางท่านเรียกว่าระบบสังคมนิยม (SOCIALIST SYSTEM)
3.3
ระบบสังคมใดไม่อาจที่จะคงอยู่กับที่ แม้ว่าจะเหนี่ยวรั้งไว้ได้หนักแน่นเพียงใดก็ตาม หรือยอมให้ระบบอื่นๆ ผ่านไปก่อนหลายระบบก็ตาม แต่ในที่สุดก็ต้องถึงจุดใดจุดหนึ่งที่ต้องประสบกับส่วนมากของสังคมที่ก้าวหน้าไป เช่น ระบบปฐมสหการของชนบทระหว่างจังหวัดขอนแก่นกับจังหวัดเลยซึ่งในที่สุดก็ต้องเข้ามาร่วมจุดเดียวกันกับระบบของคนส่วนมากในสังคมไทย
ระบบปฐมสหการของมนุษย์มากหลายในแอฟริกาและในอเมริกาที่คงค้างอยู่จนกระทั่งถึงชาวยุโรปได้พัฒนาเข้าสู่ระบบธนานุภาพแล้วนั้นก็จำต้องเคลื่อนไหวหรือถูก สังคมเจ้าอาณานิคม บังคับให้เคลื่อนไหวเร็วขึ้นในการเข้าสู่ระบบทาส หรือบางสังคมก็กระโดดข้ามจากระบบทาสไปเข้าแถวของระดับศักดินา หรือเข้าแถวในระดับใดระดับหนึ่งของระบบธนานุภาพ ชนเผ่าที่อยู่แถบขั้วโลกเหนือซึ่งยังคงมีระบบปฐมสหการอยู่จนกระทั่งสถาปนาสหภาพโซเวียตนั้นก็ได้กระโดดข้ามระบบทาส ระบบศักดินา ระบบธนานุภาพ เข้าสู่ระบบสังคมกิจของสหภาพโซเวียตทีเดียว
ระบบสังคมต่างๆ จึงไม่อาจนิ่งคงอยู่กับที่ได้ชั่วกัลปาวสาน
บทที่ 4 สัญลักษณ์พิเศษของมนุษย์แต่ละสังคม
4.
ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วข้างต้นนี้ถึงความช้าเร็วต่างกันในการที่แต่ละสังคมจะพัฒนาเข้าสู่ระดับทั่วไปในขั้นหนึ่งนั้น จึงเป็นการจำเป็นที่นักสังคมของแต่ละประเทศจะต้องพิจารณาสัญลักษณ์พิเศษแห่งสังคมของตน มิฉะนั้นก็อาจลุ่มหลงเอาลักษณะของสังคมอื่นมาเป็นของสังคมตน อันเป็นการทำให้การวินิจฉัยปัญหาแห่งสังคมของตนผิดพลาด
การศึกษาจากตำราทางสังคมนั้น นักปราชญ์วิทยาศาสตร์ทางสังคมได้เตือนไว้เสมอว่าให้ถือตำราเป็นหลักนำเท่านั้นส่วนการปฏิบัติตามหลักนำจะต้องเป็นไปตามความเหมาะสมแก่สภาพของแต่ละสังคมตามภูมิประเทศและกาลสมัย
นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวเตือนนักสังคมที่ล้าหลังไว้ว่า
“จงตัดเกือกให้เหมาะแก่ตีน
ไม่ใช่ตัดตีนให้เหมาะแก่เกือก”
สุภาษิตของไทยก็มีว่า
“เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง”
สุภาษิตทั้งสองบทเป็นสุภาษิตที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะสุภาษิตไทยบทนั้นที่แท้มีมาแล้วตั้งแต่โบราณกาล แต่ยังก้าวหน้าอยู่เสมอ ผู้ใดไม่ทำตามคือมัวลอกคัดแบบจากสังคมอื่นมาทั้งดุ้นจึงเป็นผู้ล้าหลัง
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ที่มาของมนุษยชาติกับมนุษยสังคม, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9), น.14-18.
บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง :
บทก่อนหน้า
- บทที่ 1 กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย
- บทที่ 2 หลักฐานที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถค้นคว้าและประสบด้วยตนเอง ถึงการที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง
บทถัดไป
- บทที่ 5 สมุฏฐานของมนุษย์และมนุษยสังคม