ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

โลกาภิวัตน์กับรัฐประหารไทย

19
กันยายน
2565

“สาเหตุสำคัญของทหารในการแทรกแซงทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องทางทหาร แต่เป็นเรื่องทางการเมืองและการแทรกแซงเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะทางสังคมและองค์กรของทหาร แต่สะท้อนถึงโครงสร้างทางการเมืองและสถาบันของสังคมต่างหาก”

แซมมวล ฮันติงตัน
Political Order in Changing Societies (1968)

ความสำเร็จของการรัฐประหารกันยายน 2549 เป็นตัวอย่าง อันดีที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบอบการเมืองไทย ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วประชาธิปไตยตัวแทนของไทยที่แม้จะต้องเข้าสู่ช่องของการสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในได้ และต้องยืมเอาวิธีการเก่าที่อาศัยให้ทหารเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แทนการเปลี่ยนแปลงภายในระบบที่อาศัยกระบวนการเมืองแบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือตัดสินชี้ขาดในการได้อำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญในทางทฤษฎีก็คือ ถ้าเราเชื่อว่าการเมืองไทยได้ก้าวจากระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Democratic Transition) ไปสู่ระยะของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตย (Democratic Consolidation) แล้ว รัฐประหารไม่น่าจะเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้

แต่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นจริง ก็จะเป็นคำตอบในตัวเองว่าพัฒนาการทางการเมืองของไทยก้าวไปได้เพียงแค่ระยะเปลี่ยนผ่าน และก้าวไปไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น มีความเข้มแข็งมากเพียงพอในการจัดการวิกฤตภายในของตนเองได้ เพราะตัวชี้วัดในทางทฤษฎีที่อาจจะดูเป็นนามธรรมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นคำตอบอย่างชัดเจนว่า การเมืองในช่วงของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยนั้น สังคมจะต้องถือเอาว่า “ประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้รูปแบบเดียวทางการเมือง” (หรือที่มีคำกล่าวในภาษาอังกฤษว่า “Democracy is the only game in town.”) แต่กระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยของไทย ไม่สามารถทำให้ระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองดำรงอยู่ภายในระบบได้ และขณะเดียวกันก็ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้จริง จนเปิดโอกาสให้ทหารกลับเข้าสู่เวทีการเมืองได้อีกครั้ง

ฉะนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อรัฐประหารหวนกลับมาประสบความสำเร็จในการเมืองไทยได้จริง ก็แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่สามารถก้าวไปสู่การยอมรับว่า ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบเดียวของการต่อสู้ในระบอบการเมืองของประเทศได้

แต่เดิมคำกล่าวที่บอกว่า การเมืองไทยก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ อาจจะเป็นจริงในยุคที่สถานการณ์สงครามเย็นขึ้นสู่กระแสสูง คือ รัฐไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอก สถานการณ์สงครามคอมมิวนิสต์จึงกลายเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างดีต่อการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมของทหาร และในสถานการณ์เช่นนี้โลกาภิวัตน์ในเวทีโลกรอบรัฐไทยก็อยู่ในกระแสที่เอื้อให้ทหารมีบทบาทในทางการเมืองพร้อมๆ กับสภาพแวดล้อมทางการเมืองภายในของรัฐ ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ทหารเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า

ดังนั้นหากกล่าวเป็นข้อสังเกตของการเมืองในสภาวะเช่นนี้ก็คือ การเมืองไทยอยู่ในเงื่อนที่ “ทหารเป็นใหญ่” (หรือที่เรียกว่า Military Supremacy) โดยมีภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นเงื่อนไขของการสร้างความชอบธรรม และทั้งยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า ผู้นำทหารเป็นนักชาตินิยมที่จะต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าผู้นำพลเรือน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือระบอบการปกครองแบบพลเรือนอ่อนแอเกินไปที่จะใช้ต่อสู้กับภัยคุกคามด้านความมั่นคงเช่นที่กล่าวแล้ว

แต่หลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็นในเวทีโลกและการยุติของสงครามคอมมิวนิสต์ภายในของไทย บทบาทของทหารกับการเมืองก็เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง แต่หากพิจารณาในภาพรวมหรือการเมืองในเวทีโลกแล้ว จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ของทหารกับการเมืองได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ก่อนที่สงครามเย็นจะยุติเสียอีก

ในด้านหนึ่งเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังสงครามเวียดนาม ฝ่ายบริหารของสหรัฐไม่สามารถแสดงบทบาทในการเป็นผู้ให้ความสนับสนุนต่อรัฐบาลทหารได้มากเช่นในอดีต การสิ้นสุดของสงครามเวียดนามจึงเท่ากับทำให้รัฐบาลทหารในประเทศโลกที่สามที่สหรัฐเคยให้ความ “เอื้ออาทร” ต้องลดระดับลง ประกอบกับการขึ้นสู่อำนาจในทำเนียบขาวของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ที่นำเสนอถึงนโยบายสิทธิมนุษยชน (Human Rights) เป็นธงนำ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในทิศทางนโยบายของสหรัฐในเวลาต่อมา ที่ถือเอาประเด็นด้าน “สิทธิมนุษยชน” เป็นมาตรฐานใหม่แทนการ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” เช่นในอดีต รัฐบาลทหารที่ใช้การต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐ จึงประสบปัญหาในตัวเองอย่างมาก

การชูนโยบายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐในช่วงปลายทศวรรษของปี 2513 (1970) มีผลโดยตรงต่อรัฐบาลทหารในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกรณีของประเทศในละตินอเมริกา ฉะนั้นแม้นว่าสงครามเย็นจะหวนคืนสู่เวทีระหว่างประเทศในปี 2522 ที่ต้นปีเริ่มต้นด้วยการยึดครองกัมพูชาของกองทัพเวียดนาม และมีเหตุการณ์ปลายปีด้วยการยึดอัฟกานิสถานของกองทัพโซเวียต

เหตุการณ์ในปี 2522 เท่ากับเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่า การผ่อนคลายความตึงเครียด (Detente)  ที่เป็นทิศทางหลักของการเมืองโลกในช่วงทศวรรษของปี 2513 นั้นได้สิ้นสุดลง และถูกแทนที่ด้วยการกลับคืนสู่ยุคของการเผชิญหน้าใหม่ จนมีคำกล่าวกันว่าเป็นช่วงของ “สงครามเย็นครั้งที่ 2” (The Second Cold War) และเห็นได้ชัดถึงการเผชิญหน้าโดยผ่านสงครามตัวแทนในสนามรบที่อัฟกานิสถาน

แต่สถานการณ์เช่นนี้กลับส่งผลต่อบทบาทของทหารกับการเมืองที่แตกต่างจากสงครามเย็นในช่วงแรก เพราะในช่วงหลังจากปลายทศวรรษของปี 1950 และต้นทศวรรษของปี 1960 เป็นต้นมา สงครามเย็นเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้กองทัพของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ เข้าไปมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก จนเป็นคำกล่าวกันว่า บทบาทของทหารในการแทรกแซงทางการเมืองเป็นกฎมากกว่าเป็นข้อยกเว้นในวิชารัฐศาสตร์ ในระยะเวลาเช่นนี้การเมืองของพลเรือนจึงเป็นสิ่งที่เปราะบางและดำรงอยู่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นข้อยกเว้นมากกว่าเป็นกฎ และประเทศไทยเองก็อยู่ภายใต้แนวโน้มเช่นว่านี้ไม่แตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีปรากฏการณ์รัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

แต่เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ของสงครามเย็นครั้งที่ 2 พัดปกคลุมทั่วโลก กองทัพในภาพรวมของการเมืองโลก กลับอยู่ในภาวะของการถอนตัวออกจากการเมือง ทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ เพราะนับแต่ทศวรรษของปี 2523 (1980) เป็นต้นมา ทหารที่เคยมีบทบาทอย่างเข้มแข็งในการเมืองของอเมริกาใต้ ก็ค่อยๆ ลดบทบาทลง โดยเฉพาะในประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นบราซิล ชิลี อาร์เยนตินาและเปรู เป็นต้น จนนำไปสร้างทฤษฎีเรื่องการถอนตัวของทหารจากการเมืองเพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การเมืองใหม่ ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้น และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในเรื่องของ “การควบคุมโดยพลเรือน” ต่อกองทัพ

การอยู่ในอำนาจการเมืองของทหารไทยในช่วงระยะเวลาช่วงสงครามเย็นครั้งที่ 2 ก็เป็นเช่นเดียวกับแนวโน้มความเป็นไปของการเมืองโลก กองทัพไม่ได้มีอำนาจเต็มรูปเช่นในอดีต สภาวะทางการเมืองของไทยจึงมีลักษณะคล้ายกับในหลายประเทศที่มีระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นแนวโน้มหลัก พร้อมๆ กับการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แม้ระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ของไทยอาจจะล้มเหลว เมื่อต้องประสบกับการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2534 (รัฐประหารของ รสช.) แต่อำนาจของฝ่ายทหารก็ไม่เป็นไปในแบบเดิม และอยู่ในอำนาจได้ในระยะเวลาไม่นานนัก จนเมื่อต้องเผชิญกับการต่อต้านของฝูงชนในปีต่อมา อำนาจของคณะทหารชุดนี้ก็เป็นอันสิ้นสุดลง และเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดยุคของทหารกับการแทรกแซงทางการเมืองในแบบเดิม (อันทำให้เกิดแนวคิดกับผู้คนเป็นจำนวนมากกว่า การยึดอำนาจของทหารน่าจะสิ้นสุดลงแล้วในการเมืองไทย)

วิกฤตการณ์การเมืองไทยในปี 2535 อยู่ในสภาพที่ความเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งไม่มีภัยคุกคามหลักทางทหารที่ชัดเจน เช่นสงครามคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอก โลกจึงอยู่ในภาวะที่ไม่มีภัยคุกคามทางทหารแบบเก่าดังนั้นผลกระทบก็คือ การดำรงอยู่ของบทบาททหารในเวทีการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ไม่สอดรับกับกระแสโลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะกระแสโลกเป็น “กระแสประชาธิปไตย” (Democratic Wave) และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้สึกว่าประเทศยังคงต้องอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือของการค้ำประกันด้านการเมืองและด้านความมั่นคง หรือกล่าวในอีกด้านหนึ่งก็คือ โลกที่ไร้ภัยคุกคามหลักในทางทหารนั้นไม่จำเป็นต้องให้ทหารเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงของประเทศเช่นในแบบเดิม

การเมืองไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ของยุคหลังสงครามเย็นจึงอยู่ในตัวแบบของการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้นและมีความคาดหวังว่า การเมืองไทยจะสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ (Stable Democracy) ให้เกิดขึ้นได้ โดยผ่านกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์ปี 2535

นอกจากนี้แนวโน้มของการเมืองโลกที่โลกาภิวัตน์ได้นำเอากระแสของ “การเมืองแบบการเลือกตั้ง” พร้อมกับแนวคิดในเรื่อง “พลเรือนเป็นใหญ่” (Civilian Supremacy) ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพเข้ามาสู่ประเทศต่างๆ ได้ถูกวางรากฐานให้มีความเข้มแข็งขึ้น ฉะนั้นการจะหันทิศทางของการเมืองไทยกลับไปสู่โลกในอดีตของยุคสงครามเย็น ด้วยความเชื่อมั่นแบบเก่าๆ ว่ารัฐประหารแก้ปัญหาการเมืองไทยได้ จึงเป็นประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2535 เป็นต้นมา กองทัพเองก็ลดบทบาททางการเมืองของตนลงไปอย่างมาก ตลอดรวมถึงการแสดงออกให้เห็นถึงการยอมรับ “การนำ” ของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น และที่สำคัญก็คือทุกฝ่ายยอมรับว่าโลกาภิวัตน์เป็นกระแสที่ไม่เอื้ออาทร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรัฐประหาร หรือการมีอำนาจของทหารในการเมืองก็ตามที และจะส่งผลให้ประเทศที่อยู่ในเงื่อนไขการเมืองดังกล่าว ถูกกดดันทางการเมือง หรือถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ได้รับการยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าพม่าเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ รัฐบาลทหารของพม่าถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้าหลังของการพัฒนาทางการเมืองและสังคมของพม่า และรัฐบาลเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้โลกาภิวัฒน์จะเป็นปัจจัยที่ไม่เอื้อให้ทหารมีอำนาจทางการเมืองเช่นยุคสงครามเย็น แต่ก็มิได้หมายความว่า รัฐประหารจะเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จไม่ได้ในโลกของยุคโลกาภิวัตน์ เพราะอย่างไรเสีย ปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้เข้มแข็ง จนกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดต่อความเป็นไปของการเมืองไทยได้ทั้งหมด หรืออาจกล่าวเป็นภาษาวิจัยว่า โลกาภิวัตน์ก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการหยุดยั้งการยึดอำนาจของทหารไทยได้ ดังตัวอย่างของความสำเร็จของรัฐประหารกันยายน 2549

แต่อย่างน้อยรัฐประหาร 2549 ก็ให้บทเรียนอย่างสำคัญว่า การเมืองไทยหลังยุคดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศ และถูกมองว่าเป็นการนำพาประเทศ “ถอยหลังเข้าคลอง” จากกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินอยู่ในการเมืองไทย ไปสู่การเมืองในระบอบอำนาจนิยม อีกทั้งยังทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ไม่น่าคบหาในทางเศรษฐกิจ เพราะไม่มีรัฐบาลใดอยากเข้ามามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เป็นต้น

ดังนั้น แม้โลกาภิวัตน์จะหยุดยั้งนักรัฐประหารไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ให้บทเรียนแก่พวกเขาได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาต้องคิดมากขึ้นกับรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต!

 

ที่มา : สุรชาติ บำรุงสุข, “โลกาภิวัตน์กับรัฐประหารไทย,” ใน ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหาร และการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2551), 105-113.