ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

นักกฏหมายกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

24
กันยายน
2565

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 72 ปี[1] แต่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในบางครั้งบางคราวเท่านั้น เพราะได้มีการปฏิวัติรัฐประหารกันมาตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ทั้งที่ทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง บางครั้งมีการปฏิวัติแล้ว ก็มีการบริหารราชการแผ่นดินกันในระบอบเผด็จการ ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญใช้บังคับ ในบางยุคมีการบริหารราชการแผ่นดินแบบกึ่งเผด็จการและกึ่งประชาธิปไตย ทั้งนี้สุดแต่จิตสำนึกของผู้ยึดอำนาจแต่ละคน ในยุคปัจจุบันถือได้ว่าเป็นยุคประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากพอสมควร ผู้ใดที่จะคิดทำการปฏิวัติยึดอำนาจปกครองแบบเผด็จการไว้ให้ได้นานแบบในอดีต จะไม่มีทางทำได้โดยง่าย เพราะประชาชนจะไม่ยอมรับ เว้นแต่จะเป็นการยึดอำนาจเผด็จการในรัฐสภาซึ่งไม่มีใครโต้แย้งได้ เพราะเป็นการยึดอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้เต็มใจเทคะแนนเสียงข้างมากให้ด้วยความเต็มใจเอง

อาจกล่าวได้ว่า ในระยะ 72 ปีแห่งระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา นักกฎหมายทุกยุคทุกสมัยได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยด้วยกันทั้งสิ้น สุดแต่ว่าใครจะมีบทบาทและหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างใด บางกรณีนักกฎหมายได้มีส่วนส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย บางกรณีเป็นการกระทำที่ตรงกันข้าม ทั้งนี้สุดแต่มโนธรรมของแต่ละบุคคล ผู้เขียนขอประมวลเหตุการณ์ในอดีตพอสังเขปดังนี้

(1) หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงในปี พ.ศ. 2488 จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีหลายท่านที่ได้เห็นชอบในการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่นทำสงครามต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรอเมริกา - อังกฤษ ได้ถูกนำตัวขึ้นฟ้องศาลพิเศษ (ศาลฎีกา) ฐานเป็นอาชญากรสงครามตาม พ.ร.บ. อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 หลังจากพิจารณาคดีแล้วศาลพิเศษ (ศาลฎีกา) ได้มีคำพิพากษาชี้ขาดว่า พ.ร.บ. อาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลัง ลงโทษจำเลยไม่ได้ ให้ปล่อยตัวจำเลยทุกคนพ้นข้อหาไป

(2) ในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงครามปกครองประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2490 - 2500 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. สำรวจการออกโฉนดที่ดินทั้งหมดในเขตอำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนำเอาที่ดินของผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมอยู่แล้วมาจัดสรรใหม่ ได้มีคดีที่เจ้าของที่ดินเดิมหลายรายฟ้องทางราชการต่อศาลยุติธรรม ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า พระราชบัญญัติสำรวจการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สินของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

(3) ในด้านของพนักงานอัยการในฐานะทนายความของแผ่นดินในกระบวนการยุติธรรม ในยุคที่บ้านเมืองยังอยู่ในสถานะที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในอดีตนั้น พนักงานอัยการได้สั่งไม่ฟ้องสุจริตชนที่ถูกจับกุมคุมขังชั้นสอบสวนในคดีที่ถูกกล่าวหา เป็นขบถทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรหลายคดีเป็นจำนวนมาก อันเป็นการสั่งที่ยุติธรรมในสายตาประชาชนในยุคนั้น เช่น อดีตอธิบดีกรมอัยการท่านหนึ่งที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขบถสันติภาพ 10 พฤศจิกายน 2495 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี การรักษาความเป็นธรรมของบ้านเมืองในสถานะเช่นนี้ ยังเป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องของพนักงานอัยการจนถึงปัจจุบัน

(4) ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ปกครองประเทศในระบอบเผด็จการในช่วงปี พ.ศ. 2500 - 2507 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ปี พ.ศ. 2501 ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาที่มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ไว้ได้จนกว่าจะสอบสวนเสร็จโดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

บรรดาผู้ถูกคุมขังอันประกอบด้วยทนายความ แพทย์ นักหนังสือพิมพ์และผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหลายสาขาได้ยื่น คำร้องต่อศาลอาญาให้มีการพิจารณาปล่อยตัวผู้ร้องทั้งหมดเพราะการคุมขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญา ให้ยกคำร้องของบรรดาผู้ร้องเสีย โดยวินิจฉัยว่าศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ศาลฎีกาได้พิพากษากลับโดยวินิจฉัยว่า หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้ร้องระบุว่า แต่ละคนถูกขังมานานโดยไม่มีกำหนดปล่อย ก็ย่อมเป็นการขังโดยไม่ชอบเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลท้องที่เกิดเหตุจะต้องรับคำร้องไว้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ จึงให้ย้อนสำนวนไปยังศาลอาญาให้ดำเนินการไต่สวนต่อไป (คำพิพากษาฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ที่ 1337/2503)

(5) ในยุคที่บ้านเมืองถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการไม่ว่าโดยคณะปฏิวัติ หรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีการออกประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติบ้าง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินบ้าง ให้มีการขังบุคคลที่เป็นอันธพาลบ้าง เป็นภัยสังคมบ้าง โดยเป็นการขังหรือควบคุมที่ไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งบทนิยามคำว่า อันธพาล หรือภัยสังคม แต่ละฉบับก็กว้างขวางเกินขอบเขต ทนายความผู้รักความยุติธรรมจำนวนไม่น้อย ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกคุมขังโดยไม่เป็นธรรม ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมให้พิจารณาสั่งปล่อยตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา 90 ซึ่งมีหลายคดีที่ศาลยุติธรรมได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมอย่างดียิ่ง

(6) มีนักกฎหมายที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยในทุกยุคทุกสมัย ที่ยึดหลักแห่งความถูกต้องและความยุติธรรมได้เสนอกฎหมายยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ เป็นผลสำเร็จมากมาย เช่น ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ และคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหลายฉบับที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นผลสำเร็จ รวมทั้งการเสนอกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ปี พ.ศ. 2495 เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2543 ด้วย

(7) สำหรับทนายความที่เป็นกลุ่มนักกฎหมายอิสระ ในอดีตทนายผู้ยึดมั่นในความสุจริตและยุติธรรม ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีอิทธิพลและคดีการเมืองมาในระยะเวลาอันยาวนาน บางคนต้องสูญเสียอิสรภาพ บางคนถูกรังควานในการปฏิบัติหน้าที่ บางคนต้องสูญเสียชีวิตเพื่อรักษาขื่อแปของบ้านเมืองไว้ เป็นเช่นนี้มาในระยะเวลาอันยาวนานแม้แต่ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคประชาธิปไตย

(8) นักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะได้รับความเห็นใจ ได้แก่นักกฎหมายในซีกของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่างตัวบทกฎหมาย ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย และการให้ความเห็นแก่รัฐบาลเพราะหากรัฐบาลรับฟังความเห็นรับการปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยจิตสำนึกของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ก็จะไม่มีปัญหาที่หนักใจสำหรับนักกฎหมายกลุ่มนี้ แต่ถ้าหากผู้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง บีบบังคับให้นักกฎหมายให้ความเห็น หรือให้ปฏิบัติอันเป็นการผ่าฝืนความยุติธรรมแล้ว นักกฎหมายกลุ่มนี้จะปฏิบัติอย่างใด ผู้ที่ยืนหยัดในหลักยุติธรรมย่อมแสดงความเห็นที่ถูกต้องตามความยุติธรรม โดยไม่หวั่นเกรงแต่ผู้ที่หวั่นไหวหวาดกลัวหรือต้องการหาความดีความชอบให้กับตน ก็ย่อมแสดงความเห็นหรือปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อหลักการได้

ผู้เขียนจำได้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2524 - 2526 ในขณะที่ผู้เขียนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีตามมติคณะรัฐมนตรีให้เป็นประธานคณะกรรมการสะสางคดีที่มีผู้ถูกลงโทษหาตามคำสั่งพิเศษของมาตรา 17, 21, 27 และ 200 ของธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญหลายฉบับว่า มีผู้ใดได้ถูกลงโทษโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่เพียงใด มีสำนวนคดีหนึ่งนักกฎหมายผู้ใหญ่ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลในยุคที่มีการออกคำสั่งพิเศษ ได้แสดงความเห็นไว้ในสำนวนที่ได้รับจากพนักงานสอบสวนว่า คดีนี้ไม่มีพยานหลักฐานพอที่ศาลจะลงโทษผู้ต้องหาได้ หากส่งสำนวนให้พนักงานอัยการฟ้องศาล ศาลก็คงจะต้องพิพากษายกฟ้อง แต่เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เห็นควรจำคุกผู้ต้องหา 20 ปี ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เห็นด้วย และลงชื่อในคำสั่งให้จำคุกผู้ต้องหาตามความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายเสนอมา

ผู้เขียนได้ประมวลเหตุการณ์ในอดีตโดยสังเขปเท่านั้น ทั้งๆ ที่ยังมีข้อเท็จจริงอีกมากมายแต่อย่างน้อยก็เป็นข้อเตือนใจของนักกฎหมายที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือให้ความเห็นในทางกฎหมายที่ว่า ท่านจะยืนหยัดในความถูกต้องตามหลักยุติธรรม หรือท่านจะโอนอ่อนไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมืองเพราะความเกรงกลัว หรือต้องการประจบสอพลอเพื่อความเจริญของตนเป็นส่วนตัว

ชีวิตคนเรานั้นตายไปแล้วจะไม่สามารถนำทรัพย์สินสิ่งใดติดตัวไปได้เลย แต่เกียรติยศความดีงาม ความซื่อสัตย์สุจริตของท่านจะยังดำรงอยู่ตลอดไป

 

ที่มา : มารุต บุนนาค, “นักกฏหมายกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย,” ปรีดีสาร, ฉบับพิเศษ (2547) : 72-75.

 


[1] บทความนี้เขียนขึ้นในปี 2547