ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

Pridi Economic Focus: การศึกษาและราคาของการขยับสถานะทางสังคม

29
สิงหาคม
2565

“ความเหลื่อมล้ำ” เป็นปัญหาสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นๆ ในสังคมไทย และหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือ ปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือในการขยับสถานะทางสังคม

การขยับสถานะทางสังคม

การขยับสถานะทางสังคม (Social Mobility) หมายถึง การที่คน ครอบครัว และครัวเรือนเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม โดยเปลี่ยนจากตำแหน่งแห่งที่ในสังคมที่เป็นอยู่[1] ซึ่งอาจจะเป็นการเลื่อนสถานะทางสังคมขึ้นหรือลง[2]

การขยับสถานะทางสังคมนั้นส่วนใหญ่มักถูกอธิบายโดยเกี่ยวข้องกับเรื่องทางชนชั้น/สถานะใดๆ[3] โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาการขยับสถานะทางสังคมที่วัดโดยเปรียบเทียบช่วงเวลา ซึ่งพิจารณาความสามารถของเด็กที่จะได้สัมผัสกับชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ หรืออาจจะวัดในลักษณะช่วงเวลาว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วสถานะทางสังคมเป็นอย่างไร และเวลา 10 ปีต่อมาจะมีสถานะทางสังคมเป็นอย่างไร เป็นต้น

นอกจากนี้ การขยับสถานะทางสังคมยังมีส่วนเกี่ยวพันกับการประเมินผลกระทบภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลลัพธ์ต่อชีวิตของแต่ละบุคคล[4]

การขยับสถานะทางสังคมกับความเหลื่อมล้ำมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด โดยการลดความเหลื่อมล้ำมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนร่ำรวยกับคนยากจน ในขณะที่การขยับสถานะทางสังคมมีวัตถุประสงค์เพื่อการให้คนคนหนึ่งสามารถที่จะขยับสถานะทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีขึ้น[5]

ในการประเมินการขยับสถานะทางสังคมนั้น มีดัชนี (Index) ซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักในการขยับสถานะทางสังคม ประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ 10 ด้าน ได้แก่ การสาธารณสุข (Health) การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา (Education Accesess) การมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม (Education Quality and Equity) การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learing) การได้รับความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) การเข้าถึงเทคโนโลยี (Technology Acceses) การเข้าถึงโอกาสในการทำงาน (Work Opportunities) การได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม (Fair Wages) การมีเงื่อนไขการทำงานที่เหมาะสม (Working Conditions) และการมีสถาบันที่สนับสนุนการเข้าถึงโอกาส (Inclusive Institutions)

 

ภาพเสาหลักของดัชนีการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลก ที่มา : World Economic Forum (2020)
ภาพเสาหลักของดัชนีการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลก
ที่มา : World Economic Forum (2020)

 

จากการสำรวจของ World Economic Forum พบว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดการเลื่อนสถานะทางสังคม เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังขาดปัจจัยอันเหมาะสมที่จะทำให้เกิดการเลื่อนสถานะทางสังคม โดยกลุ่มของเด็กที่ครอบครัวมีสถานะทางเศรษฐกิจเปราะบาง จะส่งผลต่อการเผชิญกับอุปสรรคในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจมากกว่าครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี[6] โดยปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจคือ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และการมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเพิ่มรายได้มากขึ้นในอนาคต

การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเป็นการวัดความสามารถของประเทศต่างๆ ในการเข้าถึงการศึกษา โดยทำให้เกิดความมั่นใจว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยปราศจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อป้องกันมิให้เด็กต้องขาดโอกาสทางการศึกษา[7]

จากการสำรวจของ World Economic Forum พบว่าระดับการประเมินประสิทธิภาพในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และคุณภาพการศึกษาและความเท่าเทียมทางการศึกษาของประเทศไทยในแง่โอกาสการเข้าถึงการศึกษา ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 จากการสำรวจประเทศจำนวน 82 ประเทศ โดยมีคะแนนอยู่ที่ 59 คะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศรายได้กลุ่มบนกลางค่อนไปทางสูง (upper-middle-income group average) เพียงนิดหน่อย (คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 55 คะแนน) ในขณะที่ในด้านคุณภาพการศึกษาและความเท่าเทียมทางการศึกษา ประเทศไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 44 จากการสำรวจประเทศจำนวน 82 ประเทศ โดยมีคะแนนอยู่ที่ 44 คะแนน ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศรายได้กลุ่มบนกลางค่อนไปทางสูง (คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 55 คะแนน)

 

ภาพแสดงคะแนนการประเมินประสิทธิภาพในการเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษา และคุณภาพการศึกษาและความเท่าเทียมทางการศึกษาของประเทศไทย ที่มา : World Economic Forum (2020)
ภาพแสดงคะแนนการประเมินประสิทธิภาพในการเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษา และคุณภาพการศึกษาและความเท่าเทียมทางการศึกษาของประเทศไทย
ที่มา : World Economic Forum (2020)

 

ในบริบทของประเทศไทย ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เคยอธิบายว่า “เด็กนักเรียนยากจนจะมีต้นทุนในการเรียนที่สูงกว่าคนอื่น คนเหล่านี้ไม่ใช่เพียงไม่มีเงินเก็บ แต่ยังเป็นหนี้ด้วย เขาต้องมีรายได้วันนี้ ถ้าไม่มีรายได้วันนี้ การมาเรียนของเขาจะมีมูลค่าหลายพันบาท เด็กยากจนส่วนใหญ่ยังมีเงินติดลบและมีค่าเสียโอกาส”[8] ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสำคัญว่า ราคาของการศึกษาของเด็กไทยตลอดชีวิตคิดเป็นมูลค่าเท่าใด

 

ราคาของการศึกษาของเด็กไทยที่พ่อแม่จะต้องใช้จ่ายเพื่อให้ลูกสำเร็จการศึกษาตามเป้าหมายที่วางไว้นั้น มีค่าใช้จ่ายอยู่หลายๆ ส่วนประกอบกัน ได้แก่ ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าทำกิจกรรม ค่าภาษีสังคมอื่นๆ ค่ากวดวิชา เป็นต้น และเมื่อเข้าสู่ช่วงการศึกษามหาวิทยาลัยแล้วจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา เช่น ค่าหอพัก เป็นต้น จากการสำรวจของธนาคารกรุงศรี พบว่าเมื่อจำแนกค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ที่ต้องใช้ในการสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรีต่อเทอมดังแสดงตามตารางข้างท้ายนี้

 

ระดับการศึกษา ค่าใช้จ่าย (บาท/เทอม)
อนุบาล 20,000 - 80,000
ประถม 20,000 - 150,000
มัธยม 50,000 - 300,000
มหาวิทยาลัย 70,000 - 500,000
ตารางแสดงค่าใช้จ่ายต่อเทอมตั้งแต่ชั้นอนุบาล - มหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี)
ที่มา: ธนาคารกรุงศรีอยุธยา.

 

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านลักษณะของสถาบันการศึกษายังมีส่วนสำคัญต่อการผันแปรของราคาค่าใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าการศึกษาสำหรับเด็กวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับปริญญาตรีไว้ว่า หากเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.6 ล้านบาท หากเลือกศึกษาในสถาบันการศึกษาของเอกชนค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท และหากเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 20.1 ล้านบาทตลอดระยะเวลาเล่าเรียน[9]

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ราคาของการเข้าสู่การศึกษาทางการศึกษาของประเทศไทยไม่ได้เป็นราคาน้อยๆ ซึ่งหากครอบครัวใดมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ยากจนย่อมมีอุปสรรคในการเข้าสู่การศึกษามาก และแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะรับรองสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาเอาไว้ให้เด็กสามารถได้เรียนฟรี 12 ปี[10] โดยเป็นหน้าที่ของรัฐในการทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ฟรี ทว่า ราคาของการศึกษานั้นแพงกว่าเพียงแค่ค่าเล่าเรียน แต่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ตามมา การที่รัฐธรรมนูญเพียงแต่รับรองเรื่องการศึกษาฟรี แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากการเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว การศึกษาฟรีก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงการศึกษาจริงๆ

ท้ายที่สุด สิ่งนี้อาจจะต้องทำให้ประเทศไทยกลับมาทบทวนว่า การศึกษาควรจะเป็นเรื่องที่ฟรีและทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริงๆ โดยปราศจากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ แล้ว การศึกษาที่ฟรีก็อาจจะเป็นเพียงการศึกษาฟรีบนกระดาษเท่านั้น ซึ่งอาจจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องทบทวนเรื่องนโยบายสวัสดิการด้านการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง

 

[1] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ‘การขยับสถานะทางสังคม’ (มติชนออนไลน์, 22 ตุลาคม 2562) https://www.matichon.co.th/columnists/news_1720579#:~:text=อธิบายง่ายๆ%20ว่าในเชิง,สถานะนั้น%20เขามักจะ สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2565.

[2] World Economic Forum, ‘The Global Social Mobility Report 2020 Equality, Opportunity and a New Economic Imperative’ (World Economic Forum, January 2020) https://www3.weforum.org/docs/Global_Social_Mobility_Report.pdf accessed 21 August 2022, p9.

[3] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (เชิงอรรถ 1).

[4] เพิ่งอ้าง; World Economic Forum (no 2.), p9.

[5] รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, ‘โลกเหลื่อมล้ำกับการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ’ (The Momentum, 24 กุมภาพันธ์ 2563) https://themomentum.co/inequality-with-economic-mobility/ สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2565.

[6] World Economic Forum (no 2.), p9.

[7] World Economic Forum (no 2.), p16.

[8] Way Magazine, ‘โอกาสทางการศึกษา บันไดสู่การเลื่อนชั้นทางสังคม’ (สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.), 28 กรกฎาคม 2563) https://research.eef.or.th/โอกาสทางการศึกษา-บันไดส/ สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2565.

[9] ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ‘จ่ายหนักแค่ไหน? เมื่อเทศกาลเปิดเทอมใกล้เข้ามา (ฉบับพ่อแม่มือใหม่)’ (ธนาคารกรุงศรี) https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/children/จายหนกแคไหน-เมอเปดเทอม สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2563.

[10] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54.