ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ร่วมกันค้นหาคำตอบ “เราจะขับเคลื่อนร่วมกันอย่างไร เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

23
ธันวาคม
2565

 

ร่วมกันค้นหาคำตอบ
“เราจะขับเคลื่อนร่วมกันอย่างไร
เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

 

 

คำถาม : ในระบบการศึกษา ด้านรัฐศาสตร์มีปัญหาอะไรบ้างที่คล้ายคลึงกันที่ทำให้ผู้เรียนรัฐศาสตร์ไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ในช่วงที่เรียนหนังสือเราไม่ได้เรียนวิชาประชาธิปไตยเลย เมื่อปี พ.ศ. 2530 ไม่มีวิชาประชาธิปไตย ทุกอย่างเรียนเป็นเรื่องของต่างประเทศทั้งหมด ในยุคนั้นเรียนวิชาหลักรัฐศาสตร์ ซึ่งจะให้ความสนใจแต่การท่องระบอบการเมืองว่าในโลกนี้มีระบอบการเมืองแบบใดบ้าง ก็ต้องท่องส่วนผสม สังคมนิยม ประชาธิปไตย ไล่เรียงเป็นประเทศไป การเรียนรัฐศาสตร์ในประเทศไทยในตอนนั้นสอดคล้องไปกับพัฒนาการของวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งแนวคิดของการปฏิวัติ 2475 ยังไม่อยู่ในตำราเรียนด้วยซ้ำ ยังไม่ popularized เลย

วิทยานิพนธ์ของ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ออกประมาณปี พ.ศ. 2528 ถ้าจำไม่ผิด กว่าจะเป็นเล่ม ผมเรียนจบไปแล้วด้วยซ้ำ จริงๆ ถ้าจะถามว่าความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยของเด็กนั้น น่าจะอยู่นอกห้องเรียนมากกว่า ความตื่นตัวแรกๆ ที่มีในคณะรัฐศาสตร์ไม่ได้มากับคำว่าประชาธิปไตยอย่างเดียว อันนั้นเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว เช่น เรียนเป็นประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ สิ่งใกล้ตัวหน่อยคือการเรียนเรื่องประชาสังคมและขบวนการภาคประชาชนมากกว่า ความเชื่อมั่นของนิสิตที่ว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้งเป็นที่มาของประชาธิปไตยคงไม่ใช่

เรื่องที่ใหญ่จริงๆ ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนของสังคมไทยอยู่ในปี พ.ศ. 2549 ทำให้ย้อนไปเห็นอะไรเยอะมาก โดยเฉพาะการกลับไปตั้งหลักในเรื่องการรัฐประหาร 2490 ส่วนการตั้งหลักเรื่องการเปลี่ยนแปลงปกครอง 2475 คิดว่าอยู่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน แนวคิดที่เด็กๆ เริ่มมีคณะราษฎรที่ 2 แต่ในสุดท้ายแล้วประเด็นนี้วิชาที่ผมสอนเรื่องการเมืองไทยสมัยใหม่ เราสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประมาณ 4 ครั้ง ซึ่งสมัยก่อนแทบจะไม่ได้สอนกัน เนื้อหาหลักไปอยู่ที่ พ.ศ. 2475 เพราะเป็นสิ่งที่เด็กปัจจุบันสนใจ

 

คำถาม : ในส่วนของคนสอน หากสอนประชาธิปไตย แต่ศรัทธาในรูปแบบอื่นจะทำอย่างไร

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ในสังคมตะวันตกการตั้งคำถามกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติ แต่เผอิญว่าสังคมเขาเป็นประชาธิปไตย การสอนปรัชญาการเมืองในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นที่เพลโต เพราะว่า problematized ตั้งคำถาม เช่น “ประชาธิปไตยโหวตให้คนตายได้ไหม?” ซึ่งเริ่มต้นจากตรงนั้น แต่ในขณะเดียวกันบรรยากาศในการเรียนก็สำคัญ เราไม่สามารถสอนเรื่องนี้โดยไม่สัมพันธ์กับชีวิตของเด็กได้ เขาจะได้ถกเถียงและได้เข้าใจเพิ่มขึ้น เหมือน shocked ก่อนเลยว่า “นักคิดคนหนึ่งตายเพราะถูกบีบให้ต้องกินยาพิษใช่ไหม?” แต่ในสังคมไทยถ้าสอนอย่างนั้น ก็ไม่เอาประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งคนละเรื่องกัน

บริบททางสังคมนอกห้องเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ผมเชื่อว่าเด็กปัจจุบันที่ออกมาข้างนอกไม่ได้ออกมาเพราะเรียนหนังสือ แต่ออกมาเพราะสภาพบรรยากาศรอบตัวของเขามากกว่า เขาสนใจการเมือง ปัจจุบันการเรียนและการสอนเด็ก เด็กจะนั่งตาแป๋วเหมือนเดิม แต่เขาไปหาข้อมูลข้างนอกมากกว่า ไม่ได้มาเรียนรู้เพื่อจุดประกายในห้องเรียน สิ่งที่เด็กเป็นคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่เขาไม่เห็นด้วยต่าง generation เป็นการฝึกการอยู่ร่วมของเขา เพราะเขามีข้อมูลและความรู้นอกห้องเรียนเยอะกว่า

 

คำถาม : เราในฐานะพลเมืองจะขับเคลื่อนร่วมกันได้อย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมายของการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ : หนทางที่จะไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ดิฉันอยากลองเสนอต่อว่า นอกจากตัวบทกฎหมายและความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญแล้ว คือ การมีวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือการใช้ชีวิตประจำวันแล้วสมาทานการเป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ และการเรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างไร 

ยกตัวอย่างเช่น เราเรียนรู้ที่จะพูดความเห็นของเรา ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะฟังความเห็นของผู้อื่นด้วย เราเรียนรู้ที่จะถกเถียงกับผู้อื่น แต่ก็ empathy (เห็นอกเห็นใจ) ที่มีความแตกต่างหลากหลายจากเรา ดิฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการฝึกเราทุกคนให้มีวัฒนธรรมของการมีชีวิตอยู่แล้วสมาทานกับความเป็นประชาธิปไตย เมื่อนั้นกฎหมายสูงสุดจะตามมาเอง

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน : มี 2 ส่วนสั้นๆ ด้วยกัน ส่วนแรก เส้นทางในการนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเห็นด้วยกับคุณยิ่งชีพ คงเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ เจ้าของเสียง 1 เสียง ต้องร่วมกันสร้างความตระหนักให้กับผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้ทราบว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระสูงสุดของการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงฝ่ายพรรคการเมือง ซึ่งนี่คือวาระที่สำคัญมาก และ

ส่วนที่สอง คือ การสร้างวัฒนธรรมการเคารพรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุด ผมคิดว่าเราแก้รัฐธรรมนูญหรือเขียนรัฐธรรมนูญ พยายามไปเอาหลักการที่ดีที่สุดจากทั่วโลก มาเขียนซึ่งสุดท้ายรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีก แล้วก็ไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่บังคับใช้รัฐธรรมนูญ หรือประชาชนทั่วไปไม่ได้เห็นความสำคัญอะไร

ผมคิดว่าเราต้องสร้างวัฒนธรรม คือ เมื่อไหร่ก็ตาม สิทธิคุณค่าที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ถูกละเมิด เช่น เรื่องของหลักการสันนิษฐานว่าเป็นบริสุทธิ์ มีคนถูกกล่าวหาในคดี มาตรา 112 ต่างๆ ถูกเลือกปฏิบัติโดยหลักที่กลับกันคือการสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีความผิด จนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ต้องเรียกร้องว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือกระบวนการยุติธรรมจะต้องเปลี่ยน วิธีการปฏิบัติ วิธีการคิด และวิธีการบังคับตามหลักที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะต้องเปลี่ยน ประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครองในระดับปฏิบัติด้วย แล้วคนที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้อง enforce ตามหลักสูงสุดที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ คือประชาชนนั่นเอง ต้องร่วมกันเรียกร้อง ประชาชนที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญถูกละเมิด สิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องร่วมใจกันเรียกร้อง อย่าเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของเรา

ปัจจุบันในโลกออนไลน์ ถ้าเกิดเสียงของประชาชนดังพอ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะมีวิธีการปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง คนในกระบวนการยุติธรรมก็ต้องออกมาชี้แจงอะไรต่างๆ ผมคิดว่าเราไม่ควรจะนิ่งเฉยกับการปฏิบัติหรือการบังคับตามหลักในรัฐธรรมนูญ ถ้าเรานิ่งเฉยเมื่อไหร่หลักการที่เขียนในรัฐธรรมนูญก็คือหลักการที่เป็นนามธรรม หรือเป็นกระดาษแผ่นหนึ่ง ไม่มีความหมายอะไร

กล้า สมุทวณิช : ผมขอย้อนคำพูดของ หฤษฎ์ มหาทน (ปอนด์) อีกครั้งหนึ่งว่า มีกฎแค่ 2 ข้อ คือ หนึ่ง “อย่าตาย” และ สอง “อย่าละทิ้งความฝัน” อย่าตายคงห้ามกันยาก แต่ถ้าให้แนะนำ ผมกับพี่ที่นับถือกันท่านหนึ่งจะพูดกันเสมอ คือ อยากรักษาชีวิต อยากรักษาสุขภาพไว้เพื่อรอดูวันที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ใช้ชีวิตอย่าประมาทนัก ซึ่งอาจป้องกันเรื่องความตายได้ในระดับหนึ่ง

เรื่องการ “อย่าทิ้งความฝัน” หรือ “อย่าละทิ้งความหวัง” มีปัญหาอยู่ 2 ทาง คือทางแรก คือ เมื่อเราเห็นว่าความหวังนั้นไม่มีทางสำเร็จแน่ๆ เราก็ละทิ้งความหวัง แต่การละทิ้งแบบนี้ถ้าวันไหนเราเริ่มเห็นว่าความหวังนั้นเป็นไปได้ เช่นตอนนี้เราอาจจะรู้สึกว่าเสนอไป ส.ว. ก็ปัดตกอยู่ดี ถ้า ส.ว. เปลี่ยนชุดแล้วความหวังกลับมา

แต่การละทิ้งความฝันที่ผมกลัวที่สุด คือ เมื่อเห็นว่า “ความหวังนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้ว” “ความหวังนั้นไม่ใช่เป้าหมายอีกต่อไปแล้ว” ตรงนี้น่ากลัวกว่า คือจะมีวันหนึ่งที่ประชาชนแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่เราอาจจะอยู่ฟากไหนก็ไม่รู้ แล้วรู้สึกว่า “แก้ไปก็เท่านั้น” “เรามีกิน เรามีเงินเดือน ลูกเราได้เรียน แล้วเราต้องการแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม เพราะเราก็อยู่ได้” ความคิดแบบนี้น่ากลัว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : ไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จ ผมคิดว่าผมดีใจมากอย่างหนึ่ง คือ วันนี้พวกเราไม่ได้มานั่งด่ารัฐธรรมนูญ คสช. ลงมาตราแล้ว เพราะว่าเราอาจจะเบื่อแล้ว ดังนั้นธงข้างหน้าไม่ใช่การพูดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 นั้นไม่ดีอย่างไร แต่ธงข้างหน้าคือต้องปลูกฝังความฝันเข้าไปในตัวคนให้ได้ว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันออกแบบและมาจากความเห็นร่วมกัน ยินยอมพร้อมใจกัน ในระดับหนึ่ง อาจจะไม่ต้องเห็นด้วยกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมีความชอบธรรมในแง่ที่มามากกว่านี้ ซึ่งไม่ต้องเร็ว เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องสร้างกันภายในการเลือกตั้งหนึ่งครั้งด้วยซ้ำ แต่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเห็นความเคลื่อนไหวเห็นความก้าวหน้าที่สำคัญ

ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาก็ดี ในกิจกรรมต่างๆ หลายครั้งก็ดี หลายครั้งเน้นไปในทางด่า เพราะว่าเราโกรธแค้น ซึ่งผมคิดว่าจังหวะบางจังหวะก็จำเป็นต้องด่าจริง “ส.ว. มีที่มาอย่างนี้ คิดได้อย่างไร?” “ศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างนี้คิดได้อย่างไร?” แต่ว่าทางข้างหน้าต้องเป็นทางของการปลูกฝังความฝันว่า “มันเป็นไปได้” เราจะต้องเดินไปทางนี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าและในโอกาสต่อๆ ไป และเสียงต้องดังกว่านี้ เสียงของความโกรธแค้นดังพอสมควรแล้ว แต่เสียงของความฝันที่ต้องการจะเห็นอะไรใหม่นั้น ยังดังไม่พอ จะต้องช่วยกัน 

 

คำถาม : สังคมไทยเรียนรู้เรื่องของการประนีประนอมมากน้อยแค่ไหน เพราะมีอำนาจบางอำนาจที่ใช้อำนาจอย่างเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็เรียกร้องอย่างเดียวแล้วก็แพ้อย่างเดียว แล้วความฝันในสังคมนี้นั้นหมดไปเพราะว่าแพ้ แพ้บ่อยๆ ก็ลืม ฉะนั้นเราจะทำอย่างไร

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ที่ผมใช้คือ “contested compromise” คือการ settle เกมที่ทุกคนคิดว่าตัวเองเล่นได้ ในเรื่องประชาธิปไตยมีอยู่ 2 เรื่อง คือ คำว่า “ของประชาชน” เสร็จแล้วจะเป็นไปไหนต่อเพราะว่าในโลกนี้สิ่งที่เราอ้างประชาชนกันเยอะมาก เพราะประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นระบอบที่ดีที่สุด จนกระทั่งถูกบวกไปด้วยหลักการเสรีนิยม แต่ว่าในโลกนี้ก็มีข้อจำกัดอีกเยอะมากที่มีการตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมมีข้อจำกัดอะไร ต้องไปให้ไกลกว่านั้น

ผมคิดว่าในตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยไปไกลกว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมนับตั้งแต่จุดตั้งต้นแล้ว ทีนี้จึง catch up กันไม่ทันหมดเลย เพราะไปสู่ประชาธิปไตยที่คำนึงไปถึงความเป็นสังคมนิยม แต่ไม่ใช่ในความหมายที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ เห็นตัวประเทศไทยไปไกลกว่านั้น แต่เพียงแค่กระบวนการตามไปไม่ทัน เห็นสิ่งที่อาจารย์ปรีดีเขียนใน ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ คือไปได้ไกลกว่านั้น แต่กระบวนการตามไปไม่ทันตั้งแต่ต้น แนวคิดเสรีนิยมยังไม่ถูกลงหลักปักฐานด้วยซ้ำ แต่มันต่อไปเลยอย่างเร็ว เป็นเรื่องที่ผมคิดว่ายังไม่ทันกันที่ยังไปกันไม่ถึงขั้นนั้นด้วยซ้ำ

ในความเป็นจริงต้องมีหลักตรงนี้ไปคู่กันในการแก้รัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญแล้วไปจบตรงที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” ผมว่าไม่มีประโยชน์อะไร เพราะสมัยเรียนอาจารย์พวงเพ็ญ สมัยก่อนเถียงอยู่แค่นั้นว่า “เป็นของ” หรือ “มาจาก” เถียงกันจนถึงวันนี้ ร่างใหม่แล้วเราก็ยังเถียงกันตรงนี้อีก เพราะว่าไม่ได้เถียงแค่การเล่นคำ แต่ว่าชุดความคิดนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง คำว่าเป็น “เป็นของ” “ตกลงขายได้ไหม?” พอเป็นคำว่า “มาจาก” “ตกลงเป็นดินเหรอ จะงอกจากดินแล้วโตไปไหน?” แต่ข้อถกเถียงแบบนี้นั้นน่าสนใจ แต่ว่าไม่เถียงกันแล้ว สมัยหนึ่งนั่งเรียนกันจนลืมไปแล้วว่าคำตอบคืออะไร แต่เป็นจุดที่เรียนรัฐศาสตร์ที่เถียงกันไปมา

ถ้าจะเคลื่อนไปข้างหน้า ประชาชนไม่ควรจะเคลื่อนโดยอธิบายว่า “ต้องการกฎหมายที่เป็นของประชาชน” เพราะผมคิดว่าประชาชนต้องมีชุดความคิดที่ชัดเจนว่า “ถ้าประชาธิปไตยเป็นของประชาชนแล้ว มันคืออะไร?” เช่น ถ้าบอกว่า “เป็นของประชาชน” คุณก็ยังไม่เข้าใจว่าเสรีภาพละเมิดคนอื่นไม่ได้ “คุณ handle เสรีภาพอย่างไร?” ก็วนเพราะว่าฝ่ายเผด็จการในสังคมไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นในการวิเคราะห์การเมืองสมัยใหม่ เราพบแล้วว่าเผด็จการกับประชาธิปไตยไม่ได้แยกขาดออกจากกัน และเราพบเสมอว่าถ้าไม่มีหลักการอะไรกำกับนั้น ประชาธิปไตยจะกลายเป็นเผด็จการได้ง่ายมาก แต่เราพบว่ากลับกัน “เผด็จการ” ก็ฉลาดพอที่จะเอาประชาธิปไตยเป็นหน้าร้าน 

เผด็จการ happy จะมีสภาที่จะแจกกล้วยก็ได้ เขาไม่ได้ห้าม เขามีแล้วใช้ประโยชน์จากหน้าตาของสถาบันประชาธิปไตยบางอย่างอย่างชาญฉลาดเสมอ เขาปล่อยให้มีการเลือกตั้งแต่ manipulate ทุกเรื่อง สิ่งที่เห็นคือการหมกเม็ดในแต่ละจุดต่างๆ ไม่มีเผด็จการโดยสมบูรณ์แบบอีกต่อไป แต่ใช้ประชาธิปไตยเยอะมากในนั้น ฉะนั้นเวลาเราบอก “สิ่งนี้จะแก้ หรือไม่แก้?”

ประชาชนต้องมีความใฝ่ฝันที่มากกว่าคำอธิบายว่า “อำนาจเป็นของเรา” หมายความว่าการใช้เสรีภาพซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะต้องการเสรีภาพเพื่อหนีไปจากเผด็จการ แต่สิ่งสำคัญคือว่า ถ้ามีประชาธิปไตยแล้วทำอะไรบ้าง เหมือนโจทย์ที่เด็กถาม “ถ้าการเมืองดี?” ผมชอบประโยคนี้เพราะผมรู้สึกว่าถ้าเราเริ่มถามว่า “ถ้าการเมืองดีเราจะทำอะไรได้?” แปลว่าเราต้องคิดต่อถ้าการเมืองดีและเป็นประชาธิปไตยแล้วจะทำอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่บอกว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วจะทำอะไรก็ได้ 

ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่นำไปสู่ว่า “ถ้าจะมีประชาธิปไตย คุณจะมีประชาธิปไตยไปเพื่ออะไร นอกเหนือจากการยืนยันว่ามันเป็นอำนาจสูงสุดของเรา?” เหมือนข้อถกเถียงเรื่องเสรีภาพว่า “เสรีภาพคือหนีออกจากอะไร?” หรือว่า “เสรีภาพ คือ complete mission อะไรในชีวิต?” และ “การมีประชาธิปไตยคือการพิสูจน์อะไร?” 

ผมคิดว่านี่เป็นโปรเจกต์ของคนที่อยากจะมีประชาธิปไตยจะต้องมีคำตอบเหล่านี้ หรือมีความฝันอะไรที่มากไปกว่าการเป็นประชาธิปไตย

 

คำถาม : สมมติประชาชนได้มาซึ่งประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่ยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เช่นคนที่รัฐประหารแล้วอยู่อย่างต่อเนื่อง 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : จะต้องเขียนให้เขามีที่อยู่ ถ้าเขาไม่มีที่อยู่หรือที่อยู่ของเขาไม่ชัดเจน เขาจะใช้อำนาจสะเปะสะปะ แน่นอนว่ามีโอกาสที่จะจำกัดอะไรได้บ้าง แต่อาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน : นี่เป็นปัญหาด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ และทัศนคติของคนในสังคมที่มิได้มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ได้มองว่าคุณค่าที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน พอคิดแบบนี้จึงเป็นช่องให้เกิดการรัฐประหารขึ้นได้ง่าย พอทหารเห็นว่า “ประชาชนมองสิ่งอื่นเป็นเรื่องสำคัญกว่า” เช่น มองเรื่องความอยู่รอดในทางเศรษฐกิจ ทนเรื่องการชุมนุมไม่ไหว ทนความขัดแย้งไม่ไหว คือประชาชนเริ่มมองตัวเอง แต่ไม่ได้มองภาพรวม และที่สำคัญคือไม่ได้มองคุณค่าของรัฐธรรมนูญ คือเรื่องสิทธิเสรีภาพซึ่งไม่ใช่แค่ของตัวเองและของคนในสังคม จึงเป็นช่องที่ทำให้คนที่อยากจะรัฐประหารเข้ามารัฐประหาร ถ้าเราคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สูงสุด สิทธิเสรีภาพที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสูงสุดและควรหวงแหน ทุกการกระทำของหน่วยงานของรัฐไม่ใช่แค่การรัฐประหาร แต่เป็นเรื่องของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เรื่องการละเมิดสิทธินั้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากและปล่อยผ่านไม่ได้ ผมคิดว่าจะไม่มีช่อง หรือจะมีช่องที่ยากมากที่เขาจะมาทำเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เพราะประชาชนจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างวัฒนธรรมของการยอมรับว่าและเชื่อมั่นในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นเรื่องที่ต้องหวงแหน

วัฒนธรรมในหมู่นักกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมก็สำคัญมาก อย่างที่หลายคนตำหนิติเตียนนักกฎหมายมากว่ามีส่วนที่ทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะศาลเองเมื่อคดีขึ้นไปแล้วมีโอกาสวินิจฉัยว่า การรัฐประหารนั้นชอบธรรมด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็มีการรับรองด้วยคำพิพากษาต่างๆ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะต้องเปลี่ยน หากประชาชนเปลี่ยนคนในกระบวนการยุติธรรมก็ไม่กล้าที่จะเห็นต่างออกไป ต้องทำให้เขารู้สึกกดดันว่าการทำหน้าที่ของคนในกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว 

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ : เราต้องมีวัฒนธรรมของการรู้ทัน และรู้ว่าอะไรคือสิ่งถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ผิด และพยายามอย่างที่ควรจะเป็นเพื่อให้เกิดการเข้าใจว่าหากทำเช่นนี้อีก เขาจะไม่มีที่ยืนในสังคม นี่คือการสร้างวัฒนธรรมว่าท้ายที่สุดแล้วต่อให้คนมีความคิดเห็นต่างกันสักเพียงใด เขาก็ต้องเล่นไปตามระบบที่ควรจะเป็น สู้กันในระบบที่ควรจะเป็น ท้ายที่สุดอย่าเพลินไปต้องรู้ทันกับสิ่งที่เขาทำ 

มีคำวินิจฉัยส่วนตนของคุณกีรติ กาญจนรินทร์ ซึ่งดีมาก อยากสนับสนุนในฐานะนักกฎหมาย เราพยายามที่จะย้ำหลักการเหล่านี้ว่า การไม่ยอมรับผลพวงของการรัฐประหาร เป็นหน้าที่ของตุลาการที่ดีด้วยเช่นเดียวกัน

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : จากที่ฟัง ผมเกิดแรงบันดาลใจในการสอนการเมืองในอีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่าต่างประเทศเขาสอน แต่เมืองไทยไม่สอน คือ เราชอบท่องคำพิพากษา แต่ว่าถ้าเป็นนักรัฐศาสตร์ในอนาคต 

ผมคิดว่าต้องอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรียงคนแล้วเอามาถกเถียงกันในชั้นเรียน ซึ่งน่าจะเหมาะกับเรียนวิชารัฐธรรมนูญซึ่งมากไปกว่าการสอนตัวบท สมัยก่อนตอนเรียนคือการเอาตัวบทมาท่องกัน ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะอ่านไปจะรู้แค่เบื้องหลังว่ายุคไหนมีอะไร แต่สิ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือว่าเอาคำพิพากษามาอ่านดูว่าฐานคิดเป็นอย่างไร ซึ่งต้องเริ่มจากการอ่านคำวินิจฉัยรายบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว popularize ออกมาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าในโรงเรียนกฎหมายในต่างประเทศเขาเรียนกัน

กล้า สมุทวณิช : คำวินิจฉัยกับตัวคำสิ่งที่ published ออกมานั้นต้องแยกกัน ในการลงมติของตุลาการ เขาทำคำวินิจฉัยส่วนตัวมาจริงๆ เสร็จแล้วก็มาให้เจ้าหน้าที่ก่อนลงมติ เพื่อชัวร์ว่าไม่มีธงในใจจริงๆ เขาตัดสินกันมาจากบ้านแล้วค่อยมาคุยกัน เสร็จแล้วเขาจะแถลงกันทีละคน จากนั้นจะช่วยกันร่างคำวินิจฉัยกลางออกมา ซึ่งฉบับร่างนั้นอ่านได้ก็ดีแล้วเพราะเกิดจากการที่เอาความคิดเห็นของหลายๆ ท่านมารวมกัน

การทำงาน 5-6 คน โดยช่วยกันเขียนอะไรสักอย่าง 1 แผ่น ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ก็เละ พอเขียนเสร็จแล้ว “ใจความสำคัญ” ไม่ผิดไปจากนั้น แต่ว่าจะต้องไปปรับไปแก้คำและดูกฎหมาย แต่ว่าธงไม่ได้เปลี่ยน ในคำวินิจฉัยส่วนตนก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าเขาต้องไปปรับแก้รูปแบบ ซึ่งเป็นกระบวนการทางธุรการ แต่การเผยแพร่นั้นเป็นเรื่องกระบวนการทางธุรการ หากถามว่าทำไมล่าช้า ก็ต้องยอมรับว่ามีกระบวนการบ้างเพื่อไม่ให้ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนอะไร

 

PRIDI Talks #18 x SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

ที่มา : PRIDI Talks #18 x SDID: “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 09.00 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์