ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความคิดทางรัฐธรรมนูญและความมุ่งหมายทางการเมืองในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ : ศึกษาผู้ร่วมออกแบบร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540, 2550, 2558 และ 2560

23
ธันวาคม
2565

 

โครงการนี้มาจากสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ที่ได้สนับสนุนเรื่องการศึกษารัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าจากปี พ.ศ. 2540 - 2560 เราเดินทางมาไกล จะก้าวหน้าหรือถอยหลังนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเราคงจะไม่ลืมรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งถ้าว่าไปแล้วสำหรับคนรุ่นปัจจุบันดูเหมือนจะไกล เราไม่มีความทรงจำร่วม ดังนั้นเรื่องหนึ่งคือว่าความทรงจำ มุมมอง การรับรู้ ประสบการณ์ สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง และได้ทำนั้น ยังคงอยู่กับหลายบุคคลที่ร่วมอยู่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” คือ สีสันของผู้คนที่หลากหลาย ดังนั้นสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตยจึงเก็บมุมมอง ความคิด ความรู้สึก การมองตัวเอง และการมองสิ่งที่ทำ สัมภาษณ์เก็บข้อมูลมุมมองประสบการณ์จากหลายๆ ท่าน ซึ่งหลายท่านอายุมากแล้ว บางท่านเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นข้อมูลนี้จึงมีคุณค่าที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถอาศัยความทรงจำของคนรุ่นนั้นเพื่อเชื่อมโยงตัวเองเข้าไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ในการจัดทำรัฐธรรมนูญบางครั้ง คณะผู้ร่างอาจเผยให้เห็นถึงเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการตั้งแต่แรก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดกรณีหนึ่ง คือคำอธิบายของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งกล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ตนเป็นประธานว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” หรือบางครั้งบุคคลที่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญอาจจัดทำสิ่งที่เปรียบเสมือนบันทึกความทรงจำของตนในขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เช่น หนังสือเรื่อง ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้น ซึ่งคณะผู้จัดทำต้องการผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์เจตนารมณ์ที่สะท้อนประเด็นปัญหาทางการเมืองในแต่ละบริบท ทั้งประเด็นที่เป็นอมตะและประเด็นปัญหาเฉพาะในการร่างรัฐธรรมนูญของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากตัวบุคคลผู้ร่วมเป็นคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

งานวิจัยครั้งนี้ไม่ใช่งานที่วิเคราะห์แต่ตัวบทเอกสารแต่อย่างเดียว หนึ่งวิธีการที่ใช้ในงานวิจัยในครั้งนี้ คือวิธีการประวัติศาสตร์บอกเล่า ของผู้ที่เข้าไปมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ ฉบับ 2540, ฉบับ 2550, ฉบับ 2558 และ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งวิธีการที่ว่านี้ทำให้เราสามารถจับมุมมองที่บางทีอาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในตำราเอกสารที่เป็นทางการ ที่อาจจะมีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

หากมองในมุมเปรียบเทียบเนื่องจากมุมของการวิจัย ไม่ใช่เป็นการเก็บแบบสารคดี ดังนั้นจึงมีกรอบของการวิเคราะห์การร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งว่าเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง ศึกษาเพื่อหาความต่างด้วยมีความต่างและมีความเหมือน

ในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ คนมักให้ความสำคัญใน “ความต่างกัน” ของการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แต่ว่างานวิจัยในครั้งนี้เราเริ่มต้นจาก “ความเหมือน” กันก่อน เราเริ่มรู้สึกว่าการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 2540 จนถึงฉบับล่าสุดนั้น วางอยู่บนความเหมือนประการหนึ่ง หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญเสมือนเป็นวัคซีน ในขณะที่มีโจทย์ที่อาจเรียกว่าเป็นปีศาจร้ายทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญต้องเข้าไปจัดการ ซึ่งเสมือนโควิดที่วัคซีนนี้ต้องรักษาให้หายไปในทางการเมือง ฉะนั้นวิธีคิดเช่นนี้เข้าใจว่าอยู่ในมโนสำนึก ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา

ตรงนี้ต้องระวังเช่นกันว่า เวลากล่าวถึงคำว่า “ปีศาจทางการเมือง” นั้นเป็นการอุปมาอุปไมย ปีศาจที่ว่าอาจไม่ใช่สิ่งที่ชั่วร้ายโดยตัวของมันเอง แต่สิ่งที่เราสนใจคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดีและต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นวัคซีนที่ต้องเข้าไปกำจัด

เนื้อหาจะเป็นการบอกเล่าถึงมุมมองและวิเคราะห์ออกมาเป็นแต่ละฉบับ ซึ่งสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตยมีโครงการว่าจะปรับปรุงจากงานวิจัยมาเป็นหนังสือในระยะเวลาอันใกล้

สิ่งที่น่าสนใจ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เราได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์สุภาพสตรีคนเดียวที่นั่งอยู่ในกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นคนเดือนตุลาฯ เข้าป่า เมื่อออกมาก็ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีและสิทธิกรรมกร เข้ามาเป็น ส.ส.ร. ได้คำว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

หัวใจสำคัญอยู่ที่ ส.ส.ร. จังหวัดที่มาจากกระบวนการเลือกตั้ง แล้วเสนอชื่อเข้ามาให้รัฐสภา เป็นสุภาพสตรีท่านเดียวที่ต้องต่อสู้มากมายในยุค 25 ปีที่แล้ว ท่านถูกโจมตีด้วยใบปลิวด้วยข้อกล่าวหาว่า “คอมมิวนิสต์เขียนรัฐธรรมนูญ” อีกทั้งยังมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเคลื่อนไหวครั้งนั้นสีสันที่สำคัญ คือ ขบวนการของผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ โดยมีสโลแกน เช่น “รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีสตรีร่วมร่าง”

ซึ่งการพูดเรื่องนี้เมื่อ 25 ปีที่แล้วเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการยอมรับ แม้กระทั่งความพยายามที่จะเสนอเรื่องสิทธิความเสมอภาคระหว่างสตรีและบุรุษ

ส่วนฉบับ 2550 เราได้คุยกับหลายท่านซึ่งประหลาดใจมาก ในมุมมองของคนนอกเรามองว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลผลิตของการรัฐประหาร แต่เราก็พบว่ามุมมองของคนที่เขานั่งทำในนั้น บางคนมองว่านี่คือการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ตัดขาดจากรัฐธรรมนูญ 2540 เสียทีเดียว ดังนั้นเขาอาศัยโอกาสนี้เพื่อจะผลักดันสิ่งที่เป็นความใฝ่ฝัน สิ่งที่เป็นมาตรการที่จะเอามาปรับปรุงระบบการเมืองให้ดีขึ้น

หากรัฐธรรมนูญ คือ ผลรวมหรือผลลัพธ์ของการเจรจาต่อรอง วิธีการของงานวิจัยครั้งนี้ ทำให้เราเห็นตอนที่เขาเจรจา แทนที่เราจะไปเห็นผลลัพธ์ของรัฐธรรมนูญที่เสร็จออกหมดแล้ว ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เราค้นพบหลายอย่างที่น่าสนใจมาก เช่น เราอาจจะเข้าใจว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 คือแม่น้ำทั้งสี่สายที่ไหลมาบรรจบที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แต่พอไปดูองค์ประกอบกรรมการร่างจริงๆ เราจะพบว่าหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่ามี NGO ก็หลุดเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการร่างฯ ถ้านับเป็นสัดส่วนคือ 1 ใน 5 ซึ่งไม่น้อย แล้วทำให้เกิดสโลแกนซึ่ง contested ภายในการร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ประชาชนเป็นใหญ่ซึ่งพอเราไปดูผลลัพธ์ ท่านผู้ฟังอาจจะงงว่าแล้วประชาชนเป็นใหญ่อยู่ส่วนใดของรัฐธรรมนูญ

อีกประเด็นของรัฐธรรมนูญ 2558 คือกระบวนการร่าง หรือ กรธ. มีสโลแกนอีกอย่างหนึ่ง คือ มีบรรยากาศของการรื้อใหม่ ทำใหม่ ทุกอย่างต้องปฏิรูปทั้งหมดแม้แต่วิธีการร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิรูป เช่น ที่เคยเขียนหมวด 1 คือหมวดทั่วไป หมวดพระกษัตริย์ไล่เรียงกันไปทุกฉบับราวกับคัดลอกกันนั้นก็เปลี่ยนหมด รวบหลายหมวดเข้ามาไว้ด้วยกัน หมวดพระมหากษัตริย์กับหมวดประชาชนเข้ามาอยู่ด้วยกันในหมวดที่ 1 อันนี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ว่า ทำไมวิธีคิดที่มันดูเป็นศิลปินมาอยู่ในการร่างรัฐธรรมนูญ อะไรแบบนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกันในรัฐธรรมนูญ 2558

ประเด็นสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ 2558 คือ ผู้ให้สัมภาษณ์เราท่านหนึ่งพูดในทำนองว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ยั่งยืนที่สุด” เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ประกาศใช้และไม่เคยถูกฉีก

สุดท้าย รัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยคำคำเดียวที่ได้ยินและฟัง คือ “แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็เขียนด้วยความมัวซัว” นั่นคือความไม่รู้ เหมือนหลอกว่าถ้าเขียนออกไปแล้วผลจะออกมาอย่างไร

 

PRIDI Talks #18 x SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

 

ที่มา : ชาย ไชยชิต และ เอกลักษณ์ ไชยภูมี “ความคิดทางรัฐธรรมนูญและความมุ่งหมายทางการเมืองในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ : ศึกษาผู้ร่วมออกแบบร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540, 2550, 2558 และ 2560” ใน PRIDI Talks #18 x SDID: “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 09.00 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์