“รัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนอัตชีวประวัติของประเทศนั้นๆ ที่สะท้อนความต้องการ ปัญหา อุปสรรค และประสบการณ์ของประเทศ หากพิจารณารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่อมโยงถึงกัน มีสิ่งที่พยายามรักษาไว้เพื่อส่งต่อไปยังอนาคต และมีสิ่งที่พยายามแก้ไขหรือถูกทำให้หายไปอยู่เสมอ”
เมื่อเรากล่าวถึงรัฐธรรมนูญ เรามักจะเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในระบบกฎหมายของประเทศนั้น กฎหมายอื่นใดหากขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่สามารถใช้บังคับได้
อย่างไรก็ดี เรามักจะหลงลืมไปว่า บางครั้งการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดนั้น อาจจะไม่ได้หมายถึงว่าประเทศนั้นปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญบางฉบับที่ร่างขึ้น ก็เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อรับใช้ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หรือเผด็จการเท่านั้น หารับใช้ประชาชน ดังที่เราเคยเห็นกันมาบ้างแล้วในบางประเทศ
ดิฉันเลยอยากชวนตั้งคำถามแรก ถามทุกท่านว่า “รัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่ออะไร?”
คำตอบของการมีรัฐธรรมนูญนั้น อาจมีหลากหลายคำตอบตามแต่ทุกท่านจะคิด จินตนาการและตอบว่ารัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่ออะไร แต่สำหรับดิฉันแล้ว อยากชวนทุกท่านลองพิจารณาแต่ละคำตอบของดิฉัน คำตอบแรก รัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในรัฐนั้นๆ ในทุกๆ รัฐ ในทุกๆ ประเทศมีรัฐธรรมนูญแทบทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญเป็นเหมือน identity card (carte d’identite) สิ่งแสดงสถานะ จุดยืน อัตลักษณ์เฉพาะของประเทศนั้นๆ ว่าจะปกครองภายใต้รูปแบบใด โดยเฉพาะ เราจะเห็นได้จากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เราจะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อวางรากฐานความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ ดังเช่น รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มาตราแรก ที่บัญญัติไว้ว่า
“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย”
เป็นมาตราที่ทรงพลังมาก และย้ำถึงระบอบประชาธิปไตยที่ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ ตั้งใจให้ก่อกำเนิดขึ้น
คำตอบต่อมา ของการมีรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร สำหรับดิฉันแล้ว รัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อทำให้ “ประชาชน” ที่เป็นปัจเจกบุคคลแต่ละคน กลายเป็น “พลเมือง” ในแง่นี้ รัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้น ถูกเขียนขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความหมายและรูปแบบของพลเมืองของประเทศนั้นๆ อย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น ทำให้เกิด “ความเป็นพลเมือง” ของประเทศนั้นๆ เช่น อารัมภบทของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นต้นว่า
“we the people of the United States…”
จากคนที่อพยพไปสร้างประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติอิตาเลียน ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือหลากหลายเชื้อชาติ โดยการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้คนแต่ละคน แต่ละเชื้อชาติกลายเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกาโดยผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ต่อคำถามที่ว่ารัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อรับใช้อะไร ดิฉันขอตอบว่า “รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ ปฐมภูมิ ตั้งต้น ที่ทำให้สังคมที่มีปัจเจกแต่ละคนที่ไม่รู้จักกัน มารวมกันเป็นสังคมการเมือง ผ่านข้อตกลงของการอยู่ร่วมกัน นั่นคือ “รัฐธรรมนูญ” นั่นเอง รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่เราสรรสร้างขึ้นเพื่อให้แต่ละปัจเจก แต่ละคน สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าคุณจะมีสถานะอย่างไร ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไร ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่ออย่างไร ไม่ว่าคุณจะมีเพศสภาพแบบไหนก็ตาม เป็นพ่อค้า เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน รัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่สร้างความเป็นพลเมืองขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน
แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญให้ความเป็นตัวตนของพลเมือง เราเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อรองรับว่า ประชาชนหรือพลเมืองในประเทศนั้นๆ มีอำนาจอธิปไตย มีสิทธิ เสรีภาพ อะไรบ้าง และอย่างไรบ้าง เช่น เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรวมกลุ่ม สิทธิในด้านสาธารณะสุข นี่คือความเป็นตัวตน identity หรืออัตลักษณ์ของความเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ
“เราไม่ได้เกิดมาเป็นพลเมือง แต่เราเป็นพลเมืองเพราะรัฐธรรมนูญทำให้เราเป็นพลเมือง” คำกล่าวนี้ถูกต้องเช่นนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่สามารถสถาปนาความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นได้จริงต่อคนในสังคมนั้น ตลอดจนการรับรองสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียม รัฐธรรมนูญในแง่นี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ “คนเท่ากัน” ได้ ในความเป็นคนที่เท่าเทียมกันทางการเมือง (égalité politique) ที่แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วสถานะทางสังคม ชาติกำเนิด เศรษฐกิจของแต่ละคนจะแตกต่างกัน และยากที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันแบบนั้น แต่รัฐธรรมนูญกลับสามารถทำให้ความเท่าเทียมกันทางการเมืองเกิดขึ้นได้จริง เช่น คะแนนเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง เพื่อกำหนดอะไรบางอย่างทางการเมืองให้กับผู้ปกครองได้ การออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนสามารถกำหนดทิศทางประเทศได้ อาจกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นไม้เท้าวิเศษที่จะเสกอะไรให้เกิดขึ้นก็ได้
เมื่อเราเห็นถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญแล้ว ดิฉันชวนทุกท่านไปสู่คำถามที่ 2 รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่รับใช้ประชาชนผ่านกลไกอะไรบ้าง
แน่นอนว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือเพื่อรับใช้ประชาชนสะท้อนผ่านบทบัญญัติเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญนั่นเอง กลไกแรกที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือรับใช้ประชาชนได้ คือ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดความเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เราพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นพลเมือง ดังนั้นแล้วพลเมืองทุกคนจะมีความเสมอภาคกัน เท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย พลเมืองทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน เพื่อแสดงออกในเรื่องต่างๆ
รัฐธรรมนูญอาจจะไปไกลและก่อให้เกิดการรับรองสิทธิเสรีภาพใหม่ๆ เช่น พลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สมดุล สิทธิที่จะถูกลืม เป็นต้น และอาจจะมีสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อีก ขยายมากขึ้นไปอีกตามแต่สภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีหยุด การเพิ่ม การเขียน หรือการสร้างสรรค์สิทธิเสรีภาพของพลเมือง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยมีชีวิต
ดังนั้น การเขียนหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นพื้นที่เปิดเสมอ รัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายที่มีชีวิต เปิดให้สามารถต่อยอด ขยาย สิทธิเสรีภาพของประชาชน ของพลเมืองได้ ไม่ใช่บัญญัติแล้วจบเลย หรือไม่สามารแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้
กลไกต่อมา เป็นการออกแบบ กลไกระบบตัวแทนในรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่า เรามักคุ้นกับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ประชาชนมอบอำนาจให้ผู้แทนผ่านการเลือกตั้ง เพื่อให้มีผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ในทางการเมืองแทนตน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การดำเนินการนโยบายต่างๆ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการตัดสินคดีความต่างๆ
แต่อย่างไรก็ดี การมีระบบตัวแทนอาจเป็นจุดอ่อนด้อยของระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน ในแง่หนึ่ง การมีตัวแทนทำให้กลุ่มของประชาชนแต่ละคนสามารถส่งผ่านข้อเสนอความคิดของตนได้ผ่านตัวแทน แต่ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าความเป็นตัวแทนก็ทำลายความคิดเห็น ความเป็นปัจเจกบุคคลของแต่ละคนเช่นกัน อย่างเช่นที่เห็นกันในปัจจุบันว่า ตัวแทนประชาชนกลับไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนและเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชน
ดังนั้น การให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่รับใช้ประชาชน นอกจากจะออกแบบระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนแล้ว แต่ยังต้องออกแบบเพื่อให้ประชาชน พลเมืองมีเครื่องมือ กลไก หรือกฎหมายที่ทำให้มีพื้นที่เปิด พื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของผู้แทนเหล่านั้น พื้นที่เปิด พื้นที่สาธารณะเพื่อให้พลเมืองได้แสดงความคิดเห็น ได้กำหนดเจตจำนงของตนเอง เพราะความสำคัญของประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะมีตัวแทนเข้าไปออกกฎหมายเท่านั้น แต่คือการทำให้นโยบายสาธารณะ กฎหมาย ไปสู่พื้นที่เปิด พื้นที่ในการถกเถียงกันได้ในทางสาธารณะ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเพื่อที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศให้เดินต่อไปได้
การปล่อยให้ผู้แทนฯ ผูกขาดการออกกฎหมาย และเป็นผู้กำหนดเจตจำนงของประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญจะรับใช้ประชาชนได้ ก็ต่อเมื่อมีการสร้างพื้นที่ในการดำเนินงาน ในการทำงานของความเป็นพลเมือง
หากเรามองสังคมของเราเป็น 3 ด้าน ของการดำเนินชีวิต ด้านแรกคือ พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ส่วนบุคคลเป็นพื้นที่ที่แต่ละคนใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนต่างๆ ด้านที่สอง คือ พื้นที่ทางการเมือง ในการทำงานของตัวแทน รัฐสภา ฝ่ายบริหาร และ ด้านที่สามซึ่งเป็นด้านที่สำคัญ คือ พื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคลของปัจเจกแต่ละคนกับพื้นที่ทางการเมืองมาอยู่ร่วมกัน นี่เป็น “พื้นที่สาธารณะ” ที่เป็นพื้นที่ทำให้ความเป็นพลเมืองของปัจเจกแต่ละคนได้ทำหน้าที่ของมัน ผ่านการถกเถียงปัญหาที่แต่ละคนประสบพบเจอ ผ่านการพูดดังๆ ผ่านการชุมนุมประท้วง ผ่านการบอกต่อคนอื่นๆ ว่า “เราไม่เห็นด้วย” กับสิ่งที่พื้นที่ทางการเมืองจัดทำขึ้นมา
“พื้นที่สาธารณะ” จึงมีความสำคัญอย่างมากที่ทำให้มนุษย์ปัจเจกแต่ละคน ทำให้ประชาชนสามารถพูดแสดงออกทางความคิด ผ่านเสรีภาพที่เขาเหล่านั้นมี ผ่านความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นได้ พื้นที่สาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นพลเมืองได้จริง
แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ หากมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนลง จำกัดพื้นที่สาธารณะ รัฐธรรมนูญนั้นก็จะกลายเป็นประชาธิปไตยแต่ไม่เสรี เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีพื้นที่สำหรับความเป็นพลเมืองของประชาชน
ดังนั้น หากการเปิด “พื้นที่สาธารณะ” คือการเปิดให้ประชาชนได้เคลื่อนไหว พูด ถกเถียง หารือ แลกเปลี่ยนผลประโยชน์สาธารณะร่วมกัน และกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ ผ่านการบอกว่า “เขาเหล่านั้นอยากได้กฎหมายอย่างไร อยากเห็นการบริหารจัดการประเทศของเขาเป็นอย่างไร” จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่ากระบวนการออกกฎหมายในระบบรัฐสภา และนี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญต้องมี เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะนี้ให้กับพลเมือง
ข้อเสนอที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันคิดว่าจำเป็นและเป็นหลักหมุดหมายสำคัญที่สุด คือต้อง “ยึดมั่นกับหนทางประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเลือกกำหนดชีวิตของตนเองได้” เราต้องทำ เราต้องสร้างการตระหนักรู้และความสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญ ว่ามีอยู่เพื่ออะไร และมีอยู่เพื่อใคร ให้รัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อรับใช้ประชาชน รับรอง ขยาย สิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่มีหน้าที่รับใช้ประชาชน ทำให้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นและสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นได้ และทำให้รัฐธรรมนูญเห็นคนเป็นคนที่เท่ากัน เห็นพลเมืองที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
เราต้องการผู้แทนอย่างไรเราก็อยู่ภายใต้ระบบรัฐสภา เราต้องการผู้แทนในระบบรัฐสภาที่เห็นพลเมืองเป็นพลเมือง มิใช่เป็นแค่เพียงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทุกวันนี้ความเป็นพลเมืองหายไปจากรูปแบบของการเมืองในปัจจุบัน พลเมืองถูกหลงลืมไป เพราะสังคมในระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่ได้ให้คุณค่าของความเป็นพลเมืองมากเท่าผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือผู้ใช้แรงงาน และที่สำคัญในระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปัจจุบัน ก็กลับไปให้ความสำคัญกับ voter หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าพลเมืองเสียด้วยซ้ำ
เราต้องสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” พื้นที่ของการถกเถียง พื้นที่ของการพูดคุยกัน แม้ว่าเราจะเห็นต่างกันสุดขั้วอย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถริเริ่มในการจัดทำ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการเปิดให้ “กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ” เกิดการมีส่วนร่วมจากคนที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงทำให้สังคมเห็นคุณค่าของกฎหมายสูงสุดนี้ได้ ให้ “ดุลยภาพ” ของอำนาจเกิดขึ้นได้อย่างเท่าเทียมกัน ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ ที่มี “ฉันทามติ” ของการปกครองที่สอดคล้องกับสภาพสังคม วัฒนธรรมการเมืองไทย เปิดพื้นที่ให้ประชาชนริเริ่มการออกเสียงประชามติว่า “เขาอยากกำหนดชะตาชีวิตของเขาอย่างไร” คือประชามติที่แท้จริง
เราต้องการพื้นที่ในการปรึกษาหารือ ร่วมแสดงความคิดเห็นในการกำหนดทิศทางอนาคตของสังคม โดยที่ต้องเข้าใจว่าความเห็นต่างกันในสังคมเป็นเรื่องปกติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และอยากให้มองด้านบวกว่า ท้ายที่สุดของความขัดแย้งกัน ความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เราจะเห็นสิ่งหนึ่งร่วมกันว่า คือ เราอยากเห็นประเทศชาติเดินต่อไปข้างหน้าเช่นเดียวกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเส้นทางของการไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะใช้เวลา จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างมากเพียงไหน แต่ทั้งหมดทั้งปวงมันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ของคนในสังคม ที่ต้องให้เขาสามารถออกแบบกติกาของเขาได้เอง ให้เขาหาฉันทามติของการอยู่ร่วมกันให้ได้ และกำหนดชีวิตของเขาเอง เมื่อนั้นพวกเราก็จะเห็นคุณค่าของกฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ”
รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #18 x SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
ที่มา : วรรณาภา ติระสังขะ “รัฐธรรมนูญกับประชาชน” ใน PRIDI Talks #18 x SDID: “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 09.00 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์