ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

แนวความคิดในการขุดคลองกระของปรีดี พนมยงค์

16
กุมภาพันธ์
2566

ในระหว่างที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2478 ก่อนที่จะเดินทางไปราชการรอบโลกเป็นเวลา 6 เดือนนั้น ท่านได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องการขุดคลองที่คอคอดกระที่จะเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งเคยดำริกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หากมีอุปสรรคเนื่องจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ท่านปรีดีฯ เขียนเล่าว่าเมื่อท่านเดินทางไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2463 ขณะที่เรือโดยสารกำลังแล่นผ่านคลองสุเอซ ท่านได้ถามอาจารย์อิวยีน เลเดแกร์ นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสว่าหากสยามขุดคลองกระบ้างจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจารย์เลเดแกร์ก็แนะนำให้ท่านปรีดีฯ ไปค้นคว้าศึกษาเรื่องราวการขุดคลองสุเอซ คลองปานามา คลองคีลของเยอรมัน และคลองโครินธ์ของกรีซ เพื่อการเปรียบเทียบ ซึ่งท่านก็ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ได้เขียนเรื่องการขุดคลองกระขณะที่ท่านพำนักอยู่ในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2501 ย้อนเล่าไปในสมัย ที่ท่านเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยเอาไว้อย่างละเอียดดังที่จะได้นำข้อความเป็นสาระสำคัญบางตอนมาแสดงไว้ดังนี้[1]

 

“ผลแห่งการศึกษาค้นคว้าของข้าพเจ้าในสมัยนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเห็นในแง่การช่างนั้น การขุดคลองที่คอคอดต่างๆ ซึ่งแม้ภูมิประเทศจะเป็นภูเขาก็สามารถทำได้เช่นคลองป่านามา เป็นต้น แต่ปัญหาอยู่ที่แรงงาน ทุน การเมืองระหว่างประเทศ ในเรื่องแรงงานนั้น..........ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าจะขุดคลองกระแล้ว ก็ต้องใช้วิธีจ้างคนงานและมีเครื่องมือทุ่นแรงที่ทันสมัยกว่าแต่ก่อน และต้องระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของคนงานซึ่งรัฐบาลมีทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เรื่องเงินทุนนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าการขุดคลองคีล และคลองโครินธ์ ได้ใช้จ่ายเงินของประเทศนั้นๆ เอง จึงไม่มีปัญหาอันใดที่ต่างประเทศจะแทรกแซงธุรกิจอันเป็นไปตามอธิปไตยของชาตินั้น แต่สำหรับคลองสุเอซนั้นก็รู้ทั่วไปแล้วว่าต้องใช้ทุนของหลายประเทศ อันทำให้ไอยคุปต์ (อิยิปต์) ต้องเสียอธิปไตยในเขตคลองนั้นไป

ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ.......ถ้าหากเราไม่ระมัดระวังให้ดี และถ้าคิดหาทุนโดยการกู้เงินจากต่างประเทศแทนที่จะเอาทุนของเราเองแล้วจะทำให้มีภาระหลายอย่างติดตามมา

ในระหว่าง พ.ศ. 2478 ขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาเทศบาลสมัยนั้น (ที่ได้ตั้งขึ้นโดยรวมกรมทางกับกรมนคราทรเข้าเป็นกรมเดียวกัน มีหน้าที่ในการทางทั่วราชอาณาจักร และการคมนาคมส่วนท้องถิ่น) ได้จัดร่างโครงการทางทั่วราชอาณาจักรตามคำสั่งของข้าพเจ้า เสร็จแล้วได้เสนอร่างโครงการนั้นมายังข้าพเจ้าเพื่อพิจารณา

เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาถึงการสร้างทางจากชุมพรผ่านกระบี่เพื่อไปยังระนองและพังงานั้น ข้าพเจ้าก็ได้หวนระลึกถึงการขุดคลองที่คอคอดกระว่า สมควรที่จะได้ฟื้นขึ้นมาอีก แทนที่จะสร้างทางอย่างเดียวซึ่งจะเป็นวิถีทางอย่างหนึ่งในการช่วยให้ชาติไทยมีความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร แต่ปัญหาการขุดคลองกระนี้ เกินขอบเขตของกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะ

ข้าพเจ้าจึงได้นำเรื่องไปเสนอเจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรี เจ้าคุณพหลฯ ตอบว่าถ้าขุดได้ก็เป็นการดีเพราะท่านเองเคยผ่านคลองสุเอซมาเหมือนกัน และเคยอยู่ในประเทศเยอรมนีที่มีคลองคีลเชื่อมทะเลเหนือกับบอลติกที่คอคอด ใกล้กับประเทศเดนมาร์ก จึงอยากให้เรามีคลองที่คอคอดกระบ้าง

ท่านถามว่าเราจะเอาเงินมาจากไหน กับต้องระวังต่างประเทศ ข้าพเจ้าเรียนต่อท่านเจ้าคุณฯ ว่า ข้าพเจ้าก็มีความวิตกอย่างท่าน แต่ก่อนอื่นทีเดียวเราจะขุดคลองนั้นต่อเมื่อเรามีทุนของเราเอง เพราะถ้าขืนใช้วิธีกู้ยืมจากต่างประเทศแล้ว ก็จะทำให้เราผูกพันกับเจ้าหนี้ ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย ข้าพเจ้าจะปรึกษากับหลวงเดชาติวงศ์ (ม.ล.กรี เดชาติวงศ์) เพื่อนร่วมก่อการวันที่ 24 มิถุนายน ย้ายจากกรมรถไฟมาเป็นนายช่างในกรมโยธาเทศบาล ซึ่งเป็นผู้ร่างโครงการทางทั่วราชอาณาจักร ว่าการขุดคลองกระจะสิ้นค่าใช้จ่ายสักเท่าใด แล้วจะพิจารณาว่ากระทรวงการคลังจะมีเงินให้หรือไม่

ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณฯ ต่อไปว่าปัญหาต่างประเทศนั้นนอกจากการป้องกันโดยไม่กู้เงินเขามาขุดคลองแล้ว เราจะต้องระวังไม่เพียงแต่อังกฤษเท่านั้น แต่ต่างชาติที่เป็นมหาอำนาจทั้งหมด เราจะต้องเอาเยี่ยง คลองคีลของเยอรมัน และ คลองโครินธ์ของกรีซ ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของชาตินั้นเด็ดขาด ไม่ใช่วิธีการอย่างคลองสุเอซ หรือ คลองปานามา ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณพระพหลฯ ว่าประเทศอังกฤษย่อมถูกกระทบกระเทือนโดยเฉพาะ ถ้าเราชี้แจงกับเขาว่าแม้สิงคโปร์จะขาดรายได้เนื่องจากการผ่านสินค้าของไทยก็ตาม แต่อินเดียกับพม่าของอังกฤษย่อมได้ประโยชน์จากคลองนี้ด้วย แม้พ่อค้าที่ลอนดอนเองก็ได้ประโยชน์ เพราะปีหนึ่งๆ บริเตนซื้อสินค้าหนักๆ เช่น ไม้สักและข้าวจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อค่าขนส่งถูกลง พ่อค้าชาวอังกฤษเองก็ได้ประโยชน์คุ้ม หรือ เกินกว่าที่ได้ทางสิงคโปร์

การที่เราจะขุดคลองกระตามอธิปไตยของเราได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัญหาแห่งการรักษาอธิปไตยและความเป็นเอกราชทั้งมวลของชาติ ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลที่ท่านเจ้าคุณฯ เป็นหัวหน้าอยู่นั้น ก็คงได้รักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้เป็นอย่างดี และถ้าเราช่วยกันประคองรักษาต่อไป เราจะรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้ ท่านเจ้าคุณฯ ตอบว่า “จริง” แล้วท่านเสริมต่อไปว่า ถ้าเราลงเสียดุลยภาพแห่งอำนาจแล้ว ดุลยภาพอื่นๆ ก็เสียตามไปด้วย บ้านเมืองก็จะพังทลาย

ข้าพเจ้าเรียนท่านเจ้าคุณฯ อีกว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงอยู่ ก็คือ การเจรจาแก้ไขสัญญาที่ไม่เสมอภาค เวลานั้นยังไม่มีศัพท์ สนธิสัญญากับต่างประเทศ คือ ถ้าเราลงมือขุดคลองก่อนแล้วก็จะทำให้การเจรจาแก้ไขสัญญาเช่นนั้นขลุกขลักได้ เราต้องจัดการแก้ไขสัญญาให้เรามีเอกราชสมบูรณ์ก่อน

เจ้าคุณพหลฯ เห็นด้วยในหลักการตามที่ข้าพเจ้าเสนอ แล้วท่านสั่งให้ข้าพเจ้ากลับไปพิจารณากับหลวงเดชาฯ เรื่องการช่างและให้ข้าพเจ้าคิดหาเงินทุนต่อไป

ข้าพเจ้าได้เชิญหลวงเดชาติวงศ์ มาปรึกษากะประมาณการกันอย่างคร่าวๆ ว่า ถ้าเราจะขุดคลองที่คอคอดกระยาวประมาณ 50 กิโลเมตร ขนาดกว้างและลึกอย่างคลองสุเอซ รวมทั้งการแต่งร่องน้ำจากปากคลองไปสู่ทะเลลึก ก็คงใช้เงินในขณะนั้นประมาณ 10 ล้านบาท นอกจากนั้นเราจำเป็นต้องสร้างเขื่อนและท่าเทียบเรือ โรงคลังสินค้า เขื่อนกันคลื่นในทะเล ถนนและทางรถไฟริมฝั่งคลอง สะพานรถไฟและสะพานต่างๆ ข้ามคลอง โรงไฟฟ้า การโทรเลข โทรศัพท์ กระโจมไฟ อาคาร และอุปกรณ์อื่นๆ อันเกี่ยวแก่ความจำเป็นและความสะดวกแก่การเดินเรือผ่านคลองนี้ จึงได้กะกันไว้อย่างคร่าวๆ ว่าคงจะใช้เงินอีก 8 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 18 ล้านบาท

เราได้คิดกันอีกแผนหนึ่งถึงการขุดคลองที่กว้างและลึกน้อยกว่าคลองสุเอซ เช่น ขนาดคลองโครินธ์ของกรีก เพื่อให้เรือเพียงขนาดที่เข้าปากน้ำเจ้าพระยาได้ผ่านเท่านั้น อันจะเป็นการกระทบกระเทือนอังกฤษไม่มากนัก ในการนี้เราอาจลดค่าใช้จ่ายสำหรับงานดินลงไปได้ประมาณ 6 ล้านบาท แต่เราก็ต้องสร้างเขื่อน สะพานข้ามคลอง และการก่อสร้างอื่นๆ เช่นเดียวกับการขุดคลองขนาดของสุเอซนั่นเอง

เราได้คิดต่อไปว่า ถ้าเราจะขุดเพียงขนาดกว้างลึกเท่าคลองโครินธ์ แล้วมีแผนการขยายให้เท่าคลองสุเอซในอนาคต แต่เราเห็นว่าการขยายคลองใหม่และสิ่งก่อสร้างบางอย่างก็ต้องทำใหม่ เช่น สะพานข้ามคลอง เป็นต้น ฉะนั้น จึงคิดว่าไหนๆ จะขุดคลองกันตรงนี้แล้วก็ขุดกันเต็มอัตราทีเดียว เอาขนาดคลองสุเอซนั่นแหละ

หลวงเดชาฯ ถามข้าพเจ้าว่าจะเอาเงินมาจากไหน ข้าพเจ้าตอบว่าเงินคงคลังกับเงินสำรองใช้หนี้เงินกู้ยืมมีอยู่ที่กระทรวงการคลังซึ่งเก็บไว้เฉยๆ นั้น สมควรขอเอามาใช้จ่ายในการลงทุนของประเทศชาติได้ประมาณ 35 ล้านบาท ส่วนหนึ่งก็เอามาสร้างทาง อีกส่วนหนึ่งก็เอามาสร้างคลองกระ แต่กระทรวงการคลังหวงเงินนั้น ข้าพเจ้าเห็นจะต้องอาสาไปเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ (หนี้จำนวน 3 ล้านปอนด์ซึ่งรัฐบาลไทยกู้จากธนาคารอังกฤษ ดอกเบี้ยร้อนละ 6 ต่อปี) เพื่อรัฐบาลจะได้อนุญาตให้ใช้เงินคงคลังและเงินสำรองใช้หนี้ได้สะดวก หลวงเดชาฯ ไต่ถามถึงปัญหาระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าได้ตอบตามที่ได้เรียนเจ้าคุณพหลฯ ดังกล่าวแล้ว

การสร้างคลองนี้ เราก็จะต้องมีประกาศหวงห้ามที่ดิน ในบริเวณประมาณ 2 แสนไร่ และโดยเฉพาะที่ดินในบริเวณนั้นเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์ แต่ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มิได้มีผู้ใดทำประโยชน์ เมื่อขุดคลองขึ้นแล้วที่ดินสองฝั่งคลองต้องเจริญแน่ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกหลวงเดชาฯ ว่าจะให้รัฐบาลลงทุนอีก 2 ล้านบาท เพื่อจัดการปรับปรุงแต่งที่ 2 แสนไร่นั้นให้เป็นสวน คือ ที่ดินบางแห่งเหมาะก็ทำเป็นสวนผลไม้ได้ เช่น บริเวณหลังสวนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์สำหรับสวนผลไม้

นอกจากนั้นก็ปลูกยางพาราและมะพร้าว ต้นโกโก้ และไม้ยืนต้นอื่นๆ ข้าพเจ้าคิดว่าเมื่อพ้นกำหนด 5 ปีที่สวนเหล่านั้นก็จะมีราคา (เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ไม่น้อยกว่าไร่ละ 100 บาท และถ้าเป็นสวนผลไม้ก็มีราคามากขึ้นไปอีก ที่สวนสองแสนไร่ก็คงเป็นเงินยี่สิบล้านบาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการสร้างสวนแล้วรัฐบาลก็จะได้กำไรคืนทุนที่จะขุดคลอง

เราเห็นกันว่าจะไม่ใช้วิธีถางป่าแบบเผาป่าที่ทำกัน โดยโค่นต้นไม้ลงแล้วใช้ไฟเผา เพราะเราเสียดายไม้ของชาติ เราจะปรุงแต่งที่ดินสองฝั่งคลองอย่างปราณีต เช่น ไม้ใหญ่ต้นใดสามารถทำเป็นซุงเพื่อใช้ทำเขื่อนได้ก็ต้องประคองให้เป็นซุง ไม้ใดที่เลื่อยเป็นแผ่นกระดานปลูกอาคารได้ก็ต้องเลื่อย ไม้ใดที่ทำเป็นเสาเข็มได้ก็ต้องเอามาเป็นเสาเข็ม ส่วนไม้ที่ใช้อย่างอื่นไม่ได้จึงเอามาเผาเป็นถ่าน ไม่ใช่เผาทิ้งให้เป็นขี้เถ้า ในการนี้รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกในการถางป่า

เราได้พิจารณากันว่าส่วนที่สร้างขึ้นใหม่นั้น จะให้กรรมกรที่มาช่วยการขุดคลองมีสิทธิซื้อก่อนผู้อื่น เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีที่ดินอันเป็นที่สวนอย่างอุดมสมบูรณ์เป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน โดยให้ชำระเงินผ่อนเป็นงวดๆ กรรมกรเหล่านี้อาจมาจากภาคอื่นทั่วราชอาณาจักร และเมื่อเขาได้ช่วยขุดคลองสำเร็จแล้วก็จะได้มีที่ดินพร้อมด้วยอาคารที่สร้างให้ด้วยราคาถูกอย่างผาสุก กรรมกรแต่ละคนก็เพียงแต่จะบำรุงพืชผลที่เราลงไว้ให้ และต่อเติมตามที่เขาเห็นสมควร เขาก็จะเก็บผลไม้อย่างสบาย และนำไปส่งตลาดค้ากับต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ปากคลองขุดใหม่นั้น ซึ่งเขาจะได้ราคาดีขึ้นกว่าที่ต้องผ่านเมืองท่าของประเทศอื่น ที่ดินส่วนที่เหลือจากขายให้กับกรรมกร ก็จะได้ขายให้แก่คนไทยซึ่งเป็นคนยากจน หรือคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ของตนเองตามที่กรรมการขายที่ดินจะได้ตรวจสอบพิจารณาให้ถี่ถ้วนเพื่อป้องกันมิให้คนมั่งมีเอาเงินไปซื้อที่ดินจากกรรมกร หรือคนยากจนดังกล่าวแล้ว เราก็จะต้องมีข้อกำหนดว่าที่ดินซึ่งกรรมกร และคนยากจนรับซื้อไปนั้นจะซื้อขายหรือโอนด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ นอกจากโอนทางมรดกเท่านั้น

ข้าพเจ้าได้เสนอเรื่องที่ปรึกษากับหลวงเดชาฯ ต่อเจ้าคุณพหลฯ แล้วเดินทางไปเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้สำเร็จ แล้วกลับมาประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและได้แก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคซึ่งเป็นอุปสรรคของอธิปไตยและเอกราชแห่งชาติไทย แล้วย้ายไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

โดยที่ข้อเขียนที่เกี่ยวกับแนวความคิดในการขุดคลองกระเมื่อ พ.ศ. 2478 เกิดขึ้นในสมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นข้อเสนอของท่านปรีดีฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อท่านเจ้าคุณฯ นายกรัฐมนตรีผู้นั้น ดังนั้นท่านรัฐบุรุษอาวุโสจึงได้กล่าวยกย่องนโยบายในการบริหารประเทศของพระยาพหลฯ เอาไว้ให้ประจักษ์แก่คนรุ่นหลัง ดังมีข้อความบางตอนดังนี้

 

“ข้าพเจ้าคิดว่านักการเมืองปัจจุบันนี้ (เมื่อ พ.ศ. 2501) จำนวนมากเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเจ้าคุณพหลฯ มาโดยตรง คงจะระลึกถึงเจ้าคุณพหลฯ ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ราษฎรได้รับความร่มเย็นเป็นผาสุกเอกราชและอธิปไตยของชาติเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นมิได้เสื่อมลงไปเพิ่มพูนยิ่งขึ้น ทั้งนี้พระท่านเจ้าคุณได้นำราษฎรรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจไว้ได้เป็นอย่างดี การงานของประเทศชาติสมดุลไปทุกส่วนภายหลังสงครามครั้งที่แล้ว (สงครามโลกครั้งที่สอง) หลายรัฐบาลไทยที่มีอยู่ก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็ได้นำหลักนโยบายอันสุขุมคัมภีรภาพของเจ้าคุณพหลฯ มาใช้เพื่อรักษาความเป็นเอกราชตามนิตินัยและตามพฤนัยของชาติ โดยรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจของมหาประเทศไว้ได้ แม้ว่ารัฐบาลเหล่านั้นจะมีข้อบกพร่องบางอย่าง แต่ก็ไม่บกพร่องในเรื่องความเป็นเอกราชของชาติ ซึ่งสำคัญกว่าบุคคลหรือสิ่งใดทั้งนั้นดุลยภาพแห่งอำนาจซึ่งเป็นนโยบายที่เจ้าคุณพหลฯ นำราษฎรมาสมัยหนึ่ง และในการรักษาอธิปไตยและเอกราชของชาติไว้ได้อย่างมั่นคงและทวียิ่งขึ้น เพราะท่านไม่เอาชาติไปเป็นเดิมพันถ่วงน้ำหนักข้างหนึ่งข้างใดสิ่งที่ท่านเอาเป็นเดิมพันการรักษาชาติด้วยกาย วาจาใจ ท่านเทอดทูนชาติไทยเหนือบุคคลใดๆ ข้าพเจ้าจึงหวังว่าท่านที่เคยอยู่ใตบังคับบัญชาโดยตรงของเจ้าคุณพหลฯ คงสามารถเจริญรอยตามได้ นโยบายของเจ้าคุณพหลฯ ดังว่านี้เท่านั้น เป็นเกราะที่แข็งแกร่งในการป้องกันอิทธิพลของต่างชาติ…”[2]

 

เรื่องการขุดคลองกระข้างต้นนี้ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนเป็นจดหมายถึง นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2501 ขณะที่ท่านลี้ภัยการเมืองอยู่ ณ เมืองกวางเจา สาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีและมีข่าวว่ารัฐบาลในขณะนั้นดำริจะรื้อฟื้นเรื่องการขุดคลองกระท่านปรีดีฯ ให้ความสนับสนุนต่อความดำรินั้นเต็มที่ เพราะเป็นโครงการที่ท่านเคยดำริมาก่อนเมื่อ พ.ศ. 2478 อีกทั้งมีความสนใจมานานก่อนหน้านั้น แต่ท่านขอใหรัฐบาลไทยลงทุนเอง โดยไม่ไปนำทุนในการขุดคลองมาจากภายนอกประเทศด้วยจะทำให้มีผลกระทบต่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ นอกจากนั้นท่าปรีดีฯ ก็ยังได้แนะนำด้วยว่าอาจนำทุนของไทยเราเองมาจากที่ไหนได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือทองคำแท่ง “ส่วนที่ไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรา” ที่ท่านเข้าใจว่ามีอยู่ในประเทศเป็นอันมาก

แต่โครงการขุดคลองกระ แม้จะได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณากันหลายครั้ง หลายหนในระหว่างครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็เลื่อนลอยไปในที่สุด

 

ที่มา : วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, แนวทางความคิดในการขุดคลองกระ, ใน, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549), หน้า 171 - 178.

 

[1] หนังสือ “วันปรีดี พนมยงค์”, 11 พฤษภาคม 2532”, อ้างถึงข้างต้น, หน้า 53 - 59.

[2] หนัง “วันปรีดี พนมยงค์, 11 พฤษภาคม 2532”, อ้างถึงข้างต้น, หน้า 60 - 61.