ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

แนวคิดขุดคอคอดกระของปรีดี

1
กุมภาพันธ์
2566

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ในปีพุทธศักราช 2478 ในขณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการทางทั่วราชอาณาจักรสยาม ได้มีการจัดทำร่างโครงการสร้างทางต่างๆ ขึ้น จากชุมพรผ่านกระบี่สู่ระนองและพังงา และจุดนี้เอง ความคิดที่จะขุดคลองที่คอคอดกระก็กลับเข้ามาอีกครั้ง เพราะเห็นว่าเป็นการช่วยให้ชาติไทยมีความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร 

ในเวลานั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอแผนการขุดคลองโดยได้ปรึกษาทั้ง พระยาพลหพลพยุหเสนา และ หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องขนาดของคลองโดยมีต้นแบบมาจากคลองต่างๆ ที่ท่านได้ศึกษา ในเรื่องของงบประมาณการสร้างที่อาสาไปเจรจาขอลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรัฐบาลจะได้อนุญาตให้ใช้เงินคงคลังและเงินสำรองนำมาใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อประเทศชาติ เป็นต้น

จนเมื่อปีพุทธศักราช 2501 ในรัฐบาลของพลโท ถนอม กิตติขจร ได้มีประกาศการขุดคลองนี้ผ่านวิทยุกระจายเสียงโดยจะขุดจากบริเวณใต้บางสะพานไปยังปากน้ำจันทร์ ซึ่งต่อมาท่านอาจารย์ปรีดีได้ทราบว่ารัฐบาลหวังจะได้ทองคำและแร่อื่นๆ จากการขุดคลองในครั้งนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของจดหมายแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งคำนึงถึงหลักเอกราชและราษฎรไทย ดังปรากฏใน “บันทึกข้อเสนอเรื่องขุดคอคอดกระของ นายปรีดี พนมยงค์: พ.ศ. 2463 เมื่อเรือที่ข้าพเจ้าโดยสารแล่นผ่านคลองสุเอซ” และ บันทึกข้อเสนอเรื่องขุดคอคอดกระของนายปรีดี พนมยงค์: พ.ศ. 2478 ขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

แนวคิดขุดคอคอดกระของปรีดี

ภายหลังที่ข้อเสนอของท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่องขุดคลองคอคอดกระดังกล่าวนี้ ได้ถูกนำเสนอรัฐบาล และได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ในบางส่วนแล้ว ก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักการเมืองและประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน

โดยเฉพาะในฝ่ายคัดค้านแนวความคิดของท่านปรีดีที่เสนอแนะรัฐบาลครั้งนี้ ได้พยายามคัดค้านด้วยโมหะจริตและด้วยความอคติ โดยไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและมวลราษฎรไทยเป็นที่ตั้ง หากยึดถือเอาผลประโยชน์ส่วนตัวในฐานะตัวแทนผลประโยชน์ของต่างชาติ และในการคัดค้านของพวกโมหะจริตเหล่านี้ ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสุจริตใจ คือไม่ได้มีเป้าหมายที่ตัวข้อเสนอแนะ แต่หากใช้เล่ห์ลิ้นเพื่อให้ข้องแวะไปที่ตัวของผู้เสนอแนะ คือท่านปรีดี พนมยงค์ ด้วยความอาฆาตมาดร้ายเป็นส่วนตัว ถึงแม้ว่าจะไม่พูดออกมาตรงๆ แต่คนฟังคนอ่านก็รู้เจตนา

จากการคัดค้านอันน่าอัปยศอดสูของตัวแทนของซากเดนศักดินา ปฏิกิริยาต่อข้อเสนอแนะของท่านปรีดี “อิสรชน” นักวิจารณ์ที่ยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมและผลประโยชน์ของส่วนรวม จึงได้เขียนบทความวิจารณ์ข้อคัดค้านคำเสนอแนะของท่านปรีดี ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ สารเสรี ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2501 มีข้อความละเอียดดังต่อไปนี้

“เมื่อวันที่ 9 เดือนนี้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ตีพิมพ์ข่าวที่เก็บความจากจดหมายของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ส่งมายังนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อขอให้นายก ส.น.ท. นำเสนอต่อรัฐบาล และเสนอต่อประชาชน โดยผ่านทางหนังสือพิมพ์ ในจดหมายนั้น ดร.ปรีดีได้แสดงความยินดีในดำริของรัฐบาลที่จะขุดคลองที่คอคอดกระ ดร.ปรีดีได้เขียนมาว่า โดยที่นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ได้เคยแถลงไว้ว่ายินดีรับฟังความคิดเห็นของคนไทยทั่วไป และโดยที่ตัวท่านได้เคยศึกษาค้นคว้าและมีความคิดเกี่ยวกับการสร้างคลองนี้มาในสมัยหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์แก่มวลราษฎรไทยและรัฐบาลไทยบ้าง จึงได้เสนอข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาเรื่องทุน เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และปัญหาอื่นเกี่ยวกับการขุดคลองมารับการพิจารณาของรัฐบาล และประชาชนไทย”

หลังจากที่หนังสือพิมพ์ได้เปิดเผยความคิดของอดีตผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ได้มีปฏิกิริยาทั้งในทางโจมตีและต้อนรับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้คัดค้านความดำริห์ในการขุดคลอง ได้โจมตีข้อเสนอแนะของ ดร.ปรีดี ให้นำทุนสำรองทองคำใช้ขุดคลองนั้น เป็นหลักการของพวกคอมมิวนิสต์ และว่าทองคำอันเป็นส่วนของพระมหากษัตริย์นั้นสงสัยว่าจะถูกเขาปล้นไปหมดแล้ว (พิมพ์ไทย 12 มีนาคม)

นอกจากการโจมตีของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังได้กล่าวเป็นเชิงดูแคลนและเดาเจตนาของผู้เสนอไปในแง่ร้ายว่า “อาจเป็นแผนยุแหย่ให้เกิดความผันผวนทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ” และว่าเงินทุนสำรองเป็นทุนที่ต้องหวงแหน ถ้าจะมีการขุดคลองจริง รัฐบาลก็มีวิธีที่จะหาเงินอย่างอื่นมาใช้ (ไทรายวัน 12 มีนาคม) วิธีการอย่างอื่นซึ่งนอกเหนือไปจากการกู้เงินจากต่างประเทศ คืออย่างไรนั้นรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยมิได้เฉลยไว้

อนึ่ง หนังสือพิมพ์บางฉบับได้แสดงความว่าการนำทุนสำรองธนบัตรและทองคำของพระมหากษัตริย์มาใช้ในการขุดคลองจะเป็นการ “ทำลายสมบัติชิ้นสุดท้ายในกระเป๋าอันยอบแยบของเมืองไทย” และจะก่อความเสียหายเอนกอนันต์แก่เศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะเดียวกันก็มีหนังสือพิมพ์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านได้ต้อนรับข้อเสนอแนะของรัฐบุรุษอาวุโสในเรื่องนี้ด้วยดี และข้อคัดค้านของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และของรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยก็ได้ถูกสมาชิกบางท่านตีกลับไป เป็นต้น ส.ส.ทวีศักดิ์ ตรีพลี แห่งขอนแก่น รองประธานแนวร่วมสังคมนิยมได้โต้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของม.ร.ว.เสนีย์ เป็นเสียงคำราม ของยามรักษาผลประโยชน์ของต่างประเทศเท่านั้น (ข่าวภาพ 14 มีนาคม)

ส่วนนายกรัฐมนตรีนั้นได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยความสำรวม ท่านกล่าวว่าเพิ่งจะได้รับบันทึกความเห็นของรัฐบุรุษอาวุโส และยังมิได้อ่านในส่วนที่เกี่ยวกับทุนสำรองทองคำนั้น นายกรัฐมนตรีได้ตอบหนังสือพิมพ์ว่าจะต้องสอบกระทรวงการคลังก่อนว่ามีทุนดังกล่าวอยู่หรือไม่ ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับการขุดคลองและจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป และว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ (ข่าวภาพ 13 มีนาคม)

เสียงคัดค้านและลงความเห็นในทางร้ายที่มีต่อข้อเสนอแนะของดร.ปรีดีดังกล่าวข้างต้นนั้น เราเข้าใจว่าเป็นเสียงที่เปล่งออกมาอย่างผลีผลามโดยยังมิได้ศึกษาบันทึกข้อเท็จจริงและความเห็นทั้งหมดของดร.ปรีดี อย่างถี่ถ้วน การกระทำเช่นนั้นนอกจากว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้เสนอความคิดเห็นขึ้นมาด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติแล้ว ยังไม่สมควรจะนำมาใช้ต่อกรณีที่เกี่ยวกับทางได้ทางเสียอันสำคัญของประเทศชาติด้วย ใครก็ตามที่ได้อ่านบันทึกความเห็นดร.ปรีดี ในเรื่องนี้โดยละเอียดและปราศจากอคติแล้ว ยากที่จะปฏิเสธว่ามิใช่บันทึกความเห็นที่เกิดจากจิตใจแห่งความรักชาติ และจากการพิจารณาทางได้ทางเสียของประเทศชาติอย่างรอบคอบ

ในบันทึกนั้นแสดงไว้ว่า ท่านเจ้าของบันทึกมุ่งหมายจะนำสติปัญญาของท่านมาร่วมกับรัฐบาลและประชาชนไทยในการพิจารณาเรื่องการขุดคลองเพื่อที่จะให้การขุดคลองที่คอคอดกระได้ดำเนินไปโดยอิสระตามกำลังของชาติไทยเราเอง คือด้วยการใช้ทุนของเราเองเพราะว่าถ้าคิดหาทุนโดยกู้เงินจากต่างประเทศแล้ว ก็จะมีภาระผูกพันหลายอย่างติดตามมา แทนที่ประเทศจะได้ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทางเศรษฐกิจก็จะกลับกลายเป็นเสียเอกราชทางพฤตินัยอย่างอื่นๆ ไป ด้วยมูลเหตุจูงใจข้อสำคัญในอันจะร่วมกับรัฐบาลและประชาชนไทยพิทักษ์เชิดชูเอกราชของชาติตามพฤตินัย และมิใช่แต่เพียงเอกราชตามนิตินัยเท่านั้น บันทึกเรื่องนี้จึงได้เสนอแนะถึงการรวบรวมทุนที่เป็นของชาติไทยเอง สำหรับใช้ในการขุดคลองแทนการกู้เงินจากต่างประเทศ

เกี่ยวกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอแนะของดร.ปรีดี ให้นำทองคำหรือทุนสำรองเงินตรามาใช้ในการขุดคลองนั้น ก็ปรากฏว่าไม่ตรงกับข้อเสนอแนะที่ได้กล่าวแยกแยะไว้โดยละเอียดในบันทึก แม้ในกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องทองคำของพระมหากษัตริย์ก็ดี ก็ควรที่จะได้ทำความเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งก่อนว่ามีความหมายอย่างไร และก็ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงเรื่องนี้ที่อาจชวนให้เข้าใจผิดกันอยู่ ในบันทึกได้เสนอแนะให้รัฐบาล “เอาทุนนอนที่มีอยู่โดยยังมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างใด และไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรามาลงทุนได้” เกี่ยวกับทองคำนั้น ในบันทึกกล่าวว่า “บางประเภทก็ไม่ใช่ทุนสำรองเงินตรา บางประเภทก็เป็นทุนสำรองเงินตรา แม้ทองคำที่รัฐบาลเอาขึ้นบัญชีเป็นทุนสำรองเงินตรา ก็ยังมีบางประเภทที่การได้มาการเสียไป การมีอยู่มิได้ทำให้เงินตราปัจจุบันดีขึ้นหรือเลวลง”

ในบันทึกนอกจากว่าจะมีได้เสนอแนะให้นำทุนสำรองหรือทองคำมาใช้ในการเสี่ยงอันตรายดังที่บางท่านเข้าใจผิดไปแล้ว บันทึกยังได้ชี้ไว้ด้วยว่า ทองคำหรือทุนสำรองเงินตราบางประเภทไม่ควรที่รัฐบาลจะแตะต้อง ได้แก่ ทองคำ 35 ล้านกรัมที่เก็บรักษาไว้ที่ห้องนิรภัยของกระทรวงการคลังซึ่งบันทึกได้แนะว่า “ควรรักษาไว้เพื่อความจำเป็นอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในการภายหน้า” และทองคำ 9 ล้านกรัมเศษที่ได้มาด้วยการขายเงินเหรียญบาท เมื่อ พ.ศ. 2481 และที่ฝากไว้ ณ สหรัฐอเมริกานั้นในบันทึกก็ได้กำชับว่ารัฐบาลไม่ควรแตะต้อง ดังนั้น การที่มีเสียงร้องโวยวายขึ้นว่า ข้อเสนอแนะของดร.ปรีดี เป็นหลักการคอมมิวนิสต์ก็ดี หรือเป็นการเอาสมบัติชิ้นสุดท้ายของเมืองไทยมาเสี่ยงอันตรายนั้น จึงเป็นเสียงทักท้วงที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในบันทึก

ส่วนทองคำที่อดีตผู้ประศาสน์การ ม.ธ.ก. เสนอแนะให้นำมาใช้ในการขุดคลองนั้น หมายถึงทองคำที่ได้มาจากญี่ปุ่นในกรณีดังนี้ คือ

1. ทองคำที่ญี่ปุ่นขอแลกกับเงินบาทเพื่อขอซื้อข้าวสารก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ และญี่ปุ่นถูกอังกฤษอเมริกันกักเงินตราต่างประเทศของตนไว้ ทองคำจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 1 ล้านกรัม ฝากไว้ที่ธนาคารชาติญี่ปุ่น ดร.ปรีดี กล่าวว่า “ทองคำยอดนี้เอามาลงทุนขุดได้ โดยไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรา”

2. ทองคำที่ญี่ปุ่นขอแลกกับเงินบาทในระหว่างสงครามมีประมาณ 31 ล้านกรัมเศษ ซึ่งฝากไว้ที่สหรัฐอเมริกา ดร.ปรีดี ได้เสนอแนะว่าทองคำจำนวนนี้ถ้าขายในตลาดเสรี “เราจะได้เงินตราต่างประเทศ 30 ล้านเหรียญอเมริกัน อันจะเป็นทุนสำหรับขุดคลองกระได้” ทองคำสองจำนวนนี้แหละที่ดร.ปรีดี ได้เสนอให้นำมาใช้ในการลงทุนขุดคลอง มิใช่ว่าจะได้เสนอให้นำทุนสำรองเงินตราทั้งหมดมาใช้ในการขุดคลอง ดังที่ผู้ซึ่งมิได้อ่านบันทึกเรื่องนี้โดยละเอียด ได้แสดงความหวาดวิตกออกมาไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล รัฐมนตรีว่าการคลัง แม้จะยังมิได้อ่านบันทึกของดร.ปรีดี ก็ได้แสดงความคาดหมายไว้อย่างถูกต้องว่า “ปัญหาที่นายปรีดี พนมยงค์ แนะนำมาให้เอากองทุนสำรองไปดำเนินการ (ขุดคลอง) โดยไม่ต้องกู้เงินต่างประเทศนั้น ผมเข้าใจว่าคงหมายถึงทองที่เราได้เจรจาเอาคืนมาจากญี่ปุ่นแล้ว และ ดร.เสริม ยังได้กล่าวว่า ถ้าหากเราจะเอาทุนสำรองนี้มาใช้ก็ได้ โดยเราต้องออกกฎหมายให้เอาทุนสำรองนี้มาใช้เพื่อแก่การขุดคอคอดกระ” (ไทรายวัน 11 มีนาคม) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการคลัง ก็มิได้วิตกว่าจะกระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพแห่งเงินตราแต่อย่างใด

ในบันทึกได้กล่าวถึงทองคำแท่งและเงินอีกรายหนึ่งอันมีอยู่ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่ง “ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองเงินตราเลย” บันทึกได้กล่าวว่า “ทองคำแท่งและเงินแท่งเหล่านี้ เป็นของเจ้าประเทศราชต่างๆ ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และรายาต่างๆ ในบริเวณเจ็ดหัวเมืองภาคใต้ที่ได้นำมาในนามของราษฎรแห่งหัวเมืองเหล่านั้น ทูลเกล้าถวายเพื่อเป็นราชบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์ไทยตามระบบศักดินา”

อนึ่ง ตามที่มีผู้หยิบยกเอาเรื่องทองของพระมหากษัตริย์ขึ้นมาวิจารณ์นั้นก็สมควรจะชี้แจงให้กระจ่างว่า ทองคำดังกล่าวนี้ มิได้หมายถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ หากหมายถึงทองที่เป็นสมบัติของแผ่นดิน ดังที่ตราไว้ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา กฎหมายได้จำแนกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ทรัพย์สินส่วนพระองค์ อันหมายถึงทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ หรือทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าถวาย หรือทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าทางใด และเวลาใด นอกจากที่ทรงได้มาในฐานะที่เป็นกษัตริย์ ทรัพย์สินในข้อ 1 นี้ ไม่ได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร

2. ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

3. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อันหมายถึงทรัพย์สินที่มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์

ทรัพย์สินในข้อ 2 และ 3 ได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร เพราะเหตุเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ทองคำที่กล่าวถึงในบันทึกของ ดร.ปรีดี นั้น หมายถึงทองคำในข้อ 3 และมิใช่ทองคำที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งรัฐมนตรีว่าการคลังก็ได้ชี้ไว้แล้วว่าเป็นทองของแผ่นดิน (สยามนิกร 12 มีนาคม)

อนึ่ง ทองที่เป็นทรัพย์สินในข้อ 3 นี้ ย่อมจำหน่ายหรือ “เปลี่ยนสภาพให้เป็นทุนส่วนหนึ่ง” ที่จะใช้ในการขุดคลองได้ในเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้กำหนดไว้

เราขอเสนอไว้ในที่นี้ว่าในกรณีที่เกี่ยวกับส่วนได้เสียสำคัญของประเทศชาติ ดังในกรณีความดำริห์ที่จะขุดคลองคอคอดกระนี้ ไม่ควรจะปล่อยให้อคติและอุปาทานเก่าๆ ตลอดจนการใช้อารมณ์วู่วามและวาจาก้าวร้าวมาเป็นเครื่องนำทางในการพิจารณา เราควรจะศึกษาความคิดของทุกคนและทุกฝ่ายที่เสนอขึ้นมาอย่างมีหลักฐานและอย่างรอบคอบ ควรจะศึกษาโดยปราศจากอคติและถือเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่หมาย

ดังกล่าวนี้ คือข้อวิจารณ์ของอิสระชน หรือนามจริง นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์อาวุโสและนักการเมืองที่ยืนหยัดอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งได้วิจารณ์ตอบโต้ข้อบิดเบือนของบุคคลบางกลุ่มที่มุ่งทำลายท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นส่วนตัว โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและผลประโยชน์ของประเทศชาติและมวลราษฎรไทยที่จะพึงได้รับจากการขุดคลองคอคอดกระ นั้นเลย

ที่มา : สุพจน์ ด่านตระกูล, แผนขุดคอคอดกระ, ใน “ชีวิตและงาน ดร.ปรีดี พนมยงค์”, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), หน้า 305-327.

หมายเหตุ : บทความนี้ตั้งชื่อโดยกองบรรณาธิการ