“ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม !”
นี้คือวาทะอันหนักแน่น ซึ่งหลุดออกจากขั้วหัวใจของท่านเชษฐบุรุษ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เมื่อเพิ่งปฏิวัติปฏิรูประบอบประเพณีการปกครองแผ่นดินสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สัมฤทธิ์ลงท่านได้กล่าวต่อหน้าคณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 ซึ่งถูกเชิญเข้าไปพบ ณะ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประมาณเวลา 13 นาฬิกาเศษ พร้อมกับยื่นมืออันบริสุทธิ์ให้คณะสัมผัสทุกคน ต่อจากนั้นท่านได้ถามความรู้สึกของคณะ 130 ที่มีต่อกิจกรรมแห่งคณะของท่านในขณะนั้นว่า คณะ 130 มีความเห็นเป็นประการใดบ้าง?
หมอเหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะปฏิวัติรุ่นแรกของไทย ได้สนองตอบทันทีว่า “เป็นการสมใจตามทางของคณะ ร.ศ. 130 ด้วยความตื่นเต้น แต่ขอได้โปรดยึดอุดมคติ และอำนาจตอนต้นนี้ไว้จนกว่าจะปลอดภัย โดยโปรดดูตัวอย่าง หมอซุนยัดเซ็น ที่เสียทีแก่ยวนไซไขไว้ด้วย”
ท่านเชษฐบุรุษยิ้มตอบด้วยดวงใจอันมั่นต่อสัจจะว่า “เราจะยึดอำนาจไว้เพียงเวลาพอสมควรเท่านั้น แล้วก็จะปล่อยให้ประชาชนเขาปกครองกันเองต่อไป” คณะ 130 รู้สึกสาธุในวาทะอันเป็นนักประชาธิปไตยของท่านยิ่งนัก แล้วท่านก็หันไปคุยกับ ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง เนติบัณฑิต รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 ผู้เป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อยชุดเดียวกัน และออกเป็นนายทหารในปีเดียวกันกับท่านเชษฐบุรุษ ดั่งมีประโยคที่น่าสนใจ คือ “ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนที่เยอรมนี ก็เห็นจะเข้าอยู่ในคณะของคุณอีกคนหนึ่งเป็นแน่” จรูญ เนติบัณฑิตผู้เข้มแข็งก็ได้ตอบสนองอย่างคมคายว่า “เพราะเจ้าคุณไปนอกมานั่นเอง จึงได้นำความสำเร็จครั้งนี้มาได้สมใจ เท่ากับพวกผมพลอยสำเร็จไปด้วย”
ยังมีอีกท่านหนึ่งซึ่งควรปรากฏในอารัมภภาคนี้ด้วยคือ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2475 และทำหน้าที่เสนาธิการปฏิวัติอยู่ขณะนั้น ได้กล่าวทักทาย ร.ต.บ๋วย บุณย์รัตพันธ์ุ ผู้เป็นนักเรียนนายร้อย และนายทหารรุ่นเดียวกันว่า “พอใจไหม บ๋วย ที่ทำกันครั้งนี้” ร.ต.บ๋วย ตอบสวนควันว่า “พอใจมากครับ เพราะทำอย่างเดียวกันกับพวกผม”
เจ้าคุณทรงฯ ถามเชิงสัพยอกต่อไปว่า “ถ้าจะโกรธพระยากำแพงรามมากซินะที่เล่นไม่ซื่อต่อคณะ 130” บ๋วยก็ตอบอย่างใจจริงว่า “ทีแรกโกรธมาก แต่ต่อมาพวก เราได้อโหสิกรรมกันแล้วครับ” ทั้งนี้หมายถึง พ.อ.พระยากำแพงราม (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) ซึ่งสมัย ร.ศ. 130 ยังเป็น ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ ผู้เสียคำสัตย์สาบาล และทำการหักหลังต่อคณะ ร.ศ. 130 อันยังมีพฤติกรรมที่น่ารู้ในภาคหลังๆ อีกเป็นอันมาก (ส่วน พล.ท.หลวงสินาดโยธารักษ์ (ชิต มั่นศิลป์) คนปัจจุบันนี้ เป็นคนละคนกับผู้หักหลัง คณะ ร.ศ. 130)
เมื่อสิ้นสุดการสนทนาระหว่างหัวหน้าคณะปฏิวัติ 2475 ฝ่ายทหารกับชาวคณะ ร.ศ. 130 แล้ว ท่านเชษฐบุรุษได้บอกแก่คณะของเราว่า คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ต้องการพบคณะเราอยู่เหมือนกัน พวกเราทุกคนจึงพากันตรงเข้าไปยังโต๊ะทำงานซึ่งเต็มไปด้วยความคร่ำเคร่งของคุณหลวงประดิษฐ์ฯ ผู้ทำหน้าที่ในทางสมองของคณะปฏิวัติ 2475
ท่านปรีดี พนมยงค์ (นามปัจจุบันของท่าน) ได้กล่าววาทะอย่างนุ่มนวลออกมาครั้งแรกเมื่อพบพวกเราว่า
“พวกผมถือว่า การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. 130 ว่า “พวกพี่ๆ” ต่อไป”
โดยท่านได้ให้อรรถาธิบายว่า เมื่อชาวคณะ ร.ศ. 130 ถูกจับกุมครั้งกระนั้น ท่านยังมีอายุได้เพียง 11 ขวบ ได้ยินชาวกรุงเก่าพูดเล่าลือกันว่า “พวกทหารเก๊กเหม็งในบางกอกได้จับพวกเจ้าฆ่าเสียหมดแล้ว เราจะได้เจ้าที่ไหนมาปกครองพวกเราอีกเล่า” (คำว่าเก๊กเหม็งนี้คือคณะปฏิวัติจีน มีท่านหมอซุนยัดเซ็นเป็นหัวหน้า ได้ลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองประเทศจีนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสาธารณรัฐอยู่ในขณะใกล้ๆ กันนั้น)
และคำเล่าลืออันตรงกันข้ามกับความจริงนั้นเอง ได้เข้าไปก้องอยู่ในโสตรประสาทของท่านปรีดีอย่างมิรู้ลืมเลย ต่อเมื่อท่านได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ และมีอายุพอสมควรแล้ว จึงได้ทราบความจริงว่า อะไรเป็นอะไรตั้งแต่นั้นสมองของท่านก็เลยครุ่นคิคถึงแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองแผ่นดิน ครั้นโอกาสอำนวยให้ท่านได้ออกไปศึกษาวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านก็เริ่มต้นลงมือคิดที่จะทำการปฏิวัติประเทศไทยต่อจากคณะ ร.ศ. 130 ดั่งที่ได้อุบัติผลทางการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างกันกับ ร.ศ. 130 เพียง 20 ปี เท่านั้น
ครั้นเมื่อคณะปฏิวัติ 2475 ได้ย้ายกองบัญชาการจากพระที่นั่งอนันตสมาคมเข้าไปอยู่ในวังปารุสกวันไม่นานนัก ท่านปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะฝ่ายพลเรือน 2475 กับชาวคณะบางคนของท่าน ได้มีความประสงค์จะสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะกิจกรรมแห่งการปฏิวัติซึ่งกันและกันกับคณะ ร.ศ. 130 ณ ที่ตั้งว่าการในวังปารุสก์
ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ จึงเป็นผู้แทนคณะ ร.ศ. 130 ไปสนทนาชี้แจงแลกความคิดเห็นแห่งกิจกรรมปฏิวัติในครั้งนั้นสู่กันฟัง เมื่อสรุปทัศนะอองทั้งสองฝ่ายแล้ว ได้ความต้องกันในข้อใหญ่ๆ เป็นส่วนมาก มีทัศนะสำคัญที่ต่างกันอย่างเห็นชัดก็คือครั้ง ร.ศ. 130 ซึ่งเป็นสมัยที่รัฐบาลสยามไม่คิดว่า คนไทยรู้จักรู้คิดอ่านเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองบ้านเมืองเยี่ยงอารยะชาติ นับว่าเป็นการลืมตัว หรือประมาทตามพุทธวัจนะอย่างสนิท
คณะปฏิวัติรุ่นแรกจึงทำงานอย่างใจเย็นแต่มั่นคง โดยประสงค์จะทำการรวบรวมสมัครพรรคพวกจากทหารผู้น้อยขึ้นไป เป็นกำลังให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะรวบรวมสะสมได้ เพียงให้ทันเวลาลงมือปฏิวัติตามที่ได้กำหนดลงไว้ในแผนการ อีกราว 100 วันเศษเท่านั้น เพื่อมิให้ต้องเสียเลือดเนื้อในการรบราฆ่าฟันกัน ซึ่งจะได้บรรยายรายละเอียดต่อไปในภาคปฏิวัติ แต่ในทัศนะข้อรวบรวมกำลังของคณะปฏิวัติ 2475 นั้นเป็นตรงกันข้าม โดยเนื่องจากได้รับประสพการณ์การเปิดทางของคณะ ร.ศ. 130 ไว้เป็นครูมาแล้ว ว่าถ้าขืนกระทำแบบนั้นอีก ซึ่งได้เคยดำริไว้แล้วเหมือนกัน ก็อาจจะพบกับ “สมาชิกแกะดำ” ได้ง่ายก่อนที่จะลงมือกระทำการ
ฉะนั้น คณะ 2475 จึงได้เปลี่ยนความดำริเดิมนั้นเสีย กลับมาใช้วิธีเฟ้นเอาแต่ทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อใช้กำลังทางสมองเพียงน้อยคนกับฝ่ายพลเรือน เพราะถือเสียว่าทหารชั้นผู้น้อยเป็นเสมือน ตัวจักรกล จะจับหมุนไปทางไหนอย่างไรก็ได้ตามความปรารถนา และยากที่จะมี “สมาชิกแกะดำ” เข้ามาพัวพันเป็นไส้ศึกหรือทรยศได้ง่าย ค่าที่ความคิดและจิตใจของผู้หลักผู้ใหญ่ย่อมจะมั่นคงแน่วแน่กว่าพวกผู้น้อยเป็นธรรมดา ดังที่ได้ประสบปรากฏการณ์มาแล้ว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นเป็นองค์พยาน และก็จำต้องกล่าวไว้ด้วยว่าได้มีปรากฏการณ์ต่อๆ มาอีก คือเมื่อทหารผู้น้อยที่มิใช่สมัครพรรคพวกมาแต่เดิมนั้นเอง ได้กลับมาทำงานหักหลังในเมื่อเขาได้เป็นผู้ใหญ่มีอำนาจราชศักดิ์ขึ้นแล้ว ลักษณะนี้ย่อมเป็นเรื่องของประวัติการณ์แห่งการปฏิวิติหรือรัฐประหารอันน่าเบื่อ แต่สำคัญยิ่งส่วนหนึ่ง ซึ่งจะลืมเสียหาได้ไม่ในเรื่องการปฏิวัติชาติ ทีเรียกกันว่า “งูกินหาง” หรือ “ปฏิวัติซ้อน”
ทำไมเราผู้จารึกประวัติอันสำคัญของชาติไทยสมัย ร.ศ. 130 จึงบรรจุอารัมภะ ถึงถ้อยวาทะและกิจกรรมปฏิวัติของคณะ 2475 ไว้ด้วย เราจำต้องขอเรียนด้วยความเคารพว่า ดวงจิตหรือเจตนารมณ์อันแท้จริงของ นักปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศชาติกับของ นักรัฐประหาร นั้นหาตรงกันเป็นแนวเดียวไม่ นักปฏิวัติย่อมปฏิวัติ ปฏิรูประบอบประเพณีการปกครองประเทศชาติ เสียใหม่ให้ก้าวหน้า ซึ่งจัดเข้าไว้ในอุดมคติข้อหนึ่งในมวลอุตมะคติ แล้วก็เข้าขั้นดำเนินการปกครองตามอุดมการและโครงการที่ได้กำหนดขึ้นไว้ เป็นระยะเป็นตอนในเมื่อปฏิวัติสำเร็จเรียบร้อยเแล้ว
ส่วนนักรัฐประหารนั้นมักหนักไปในทางปฏิรูป (Reform) แต่เฉพาะคณะรัฐบาลที่พวกตนเองเท่านั้นเล็งเห็นว่า ดำเนินการปกครองประเทศชาติไปได้ไม่สมเจตน์จำนงตามทัศนะแห่งคณะของตน แล้วก็รุกขึ้นทำการโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งเราขออภัยที่จักกล่าวว่า บางครั้งและก็มากครั้งมาแล้วในทัศนะของชาวไทยได้เกิดความรู้สึกสงสารชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่มัวแต่ต้องเดิน ซอยเท้า เรื่อยๆ เป็นเพลานานปี เนื่องจากปราศจากโครงงานอันแน่นอน เฝ้าแต่รื้อของเก่าแล้วทำใหม่อยู่ร่ำไป ดังนั้นย่อมเห็นแล้วว่า นักปฏิวัติมีความสำคัญเพียงไร (ขอให้ดูได้จากพงษาวดารประเทศอังกฤษในรัชสมัยพระเจ้าเยมส์ที่ 2 ค.ศ. 1688 ประเทศฝรั่งเศสครั้งปฏิวัติเลิกล้มสิทธิสมบูรณาญจสิทธิราชย์ ลงอย่างครืนใหญ่ใน ค.ศ. 1789 และสงครามอิสระภาพอเมริกา ค.ศ. 1775)
และก็นักปฏิวัติแท้ เท่านั้นที่จะเข้าใจในกันและกันเป็นอย่างดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านผู้ใหญ่ชั้นหัวหน้าคณะ 2475 ที่เราอ้างนามมาแล้วนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีสัจจธรรมต่อกิจกรรมปฏิวัติประเทศชาติของตนเป็นอย่างยิ่ง ตามที่ชาติเคยรับทราบมาแล้ว ฉะนั้นเราจึงจำต้องกล่าวอ้างถึงนักปฏิวัติที่ใส่ใจและมีน้ำใจเดียวกันกับคณะ ร.ศ. 130 ไว้ให้ทราบบ้างทางทัศนะนิยม เผื่อจะได้เป็นทางนำการอ่านเรื่องนี้ไปสู่ความชาบซึ้งตรึงใจโดยตลอด
ที่มา : เนตร พูนวิวัฒน์ และ เหรียญ ศรีจันทร์, อารัมภะบท, ใน “หมอเหล็ง ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130”, (กรุงเทพฯ: กิมกลีหงวน, 2503), หน้า 2 - 7.
หมายเหตุ :
- ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ
- คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
- เนตร พูนวิวัฒน์
- เหรียญ ศรีจันทร์
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พจน์ พหลโยธิน
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- คณะปฏิวัติ ร.ศ. 130
- เหล็ง ศรีจันทร์
- ซุนยัดเซ็น
- จรูญ ณ บางช้าง
- พระยาทรงสุรเดช
- เทพ พันธุมเสน
- คณะปฏิวัติ 2475
- บ๋วย บุณย์รัตพันธ์ุ
- พระยากำแพงราม
- แต้ม คงอยู่
- หลวงสินาดโยธารักษ์
- คณะ ร.ศ. 130
- ชิต มั่นศิลป์
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- เก๊กเหม็ง
- คณะปฏิวัติจีน
- พระเจ้าเยมส์ที่ 2
- สงครามอิสระภาพอเมริกา