ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ราษฎรสามัญในการอภิวัฒน์สยาม 2475

12
กรกฎาคม
2565
ภาพคณะราษฎรและครอบครัว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2481[1]
ภาพคณะราษฎรและครอบครัว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2481[1]

 

ความคิด ความรู้เกี่ยวกับคณะราษฎรปรากฏครั้งแรกในงานสารคดีการเมืองหลังทศวรรษ 2490 และงานศึกษาทางวิชาการนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500  โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ของฝ่ายคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย[2] มักจะเล่าถึงประวัติศาสตร์คณะราษฎรและการอภิวัฒน์สยามในทางลบ เช่น รัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ[3] การเร่งรีบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475[4] การชิงสุกก่อนห่าม[5] ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีการเตรียมร่างธรรมนูญปกครองไว้[6] และราษฎรไม่ได้มีส่วนร่วมในการอภิวัฒน์สยาม ในข้อสุดท้ายนี้ได้มีงานศึกษาที่ออกมาโต้แย้งด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งว่าราษฎรมีความทุกข์ยาก และยินดีกับระบอบใหม่ นอกจากหลักฐานชั้นต้นประเภทฎีกาที่ราษฎรส่งเข้ามาร้องเรียนแล้ว ผู้เขียนยังได้พบข้อมูลใหม่จากหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ว่ามีราษฎรหลายกลุ่มที่ได้แสดงความยินดีกับการอภิวัฒน์สยามในครั้งนี้ และยังค้นพบวิธีดำเนินการจัดรูปแบบการปกครอง การควบคุมรัฐของคณะราษฎรซึ่งจะนำเสนอไว้ในบทความชิ้นนี้

 

ศรีกรุง : หนังสือพิมพ์ของราษฎร

ศรีกรุง เป็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2469  โดยมี The Srikrung Press เป็นเจ้าของ ในช่วงแรกนี้ผู้ดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นสมาชิกคณะ ร.ศ. 130 เช่น ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ ร้อยตรี บ๋วย บุญยรัตนพันธุ์ และร้อยตรี โกย วรรณกุล เป็นต้น ศรีกรุงค่อนข้างได้รับความนิยมจากผู้อ่านเนื่องจากมีทั้งบทความวิพากษ์การปกครองบ้านเมือง และมีนิยายบันเทิงเริงใจหากสอดแทรกการวิจารณ์สังคมชวนอ่านอย่างแยบยล ปกติจะมียอดตีพิมพ์ประมาณ 3,000 ฉบับ และช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดมียอดตีพิมพ์ถึง 30,000 ฉบับ ที่สำคัญคือเป็นหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียวที่ถูกปิดในสมัยรัชกาลที่ 7 จนทำให้ มานิต วสุวัติ เจ้าของหนังสือพิมพ์ขณะนั้นต้องเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงมหาดไทยเพื่อปรับความเข้าใจกระทั่งสามารถเปิดหนังสือพิมพ์ได้ในเวลาเพียงไม่นาน[7]

ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 “ศรีกรุงกำลังโหมโรงโดยได้รับหน้าที่เป็นออร์แกน (Organ) ของคณะราษฎรอยู่แทบตลอด” คือคำกล่าวของ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ ได้กล่าวถึงบทบาทของ ศรีกรุง ไว้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนคณะราษฎรมาตั้งแต่ก่อนก่อการ[8] และเมื่อก่อการสำเร็จ บทบาทของ ศรีกรุง ก็ยิ่งคมชัดว่ามีใจต่อคณะราษฎรทั้งการลงตีพิมพ์ภาพเหตุการณ์ดังกล่าว การเสนอข่าวการปฏิบัติงานของราษฎรในเชิงบวก การตีพิมพ์รายชื่อผู้สนับสนุนคณะราษฎรแทบจะรายวัน แต่ขณะเดียวกับก็เปิดรับบทความที่วิจารณ์คณะราษฎร บทความที่ชื่นชมทั้งสถาบันกษัตริย์และคณะราษฎร และบทความของนักเขียนคนสำคัญของคณะสุภาพบุรุษอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มาเปิดตัวว่าสนับสนุนแนวคิดเรื่องความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคณะราษฎรที่นี่เป็นที่แรกๆ ศรีกรุง จึงมีบรรยากาศของการประนีประนอมจากบทความที่สนับสนุนทั้งสถาบันกษัตริย์และคณะราษฎร และเสนอภาพของราษฎรสามัญที่สนับสนุนคณะราษฎรอย่างสุดตัวควบคู่กัน

 

งานศึกษาราษฎรสามัญกับการสนับสนุนคณะราษฎร

การศึกษาประวัติศาสตร์คณะราษฎรในมุมมองใหม่เริ่มต้นราวปลายทศวรรษ 2520 ทั้งมีงานเชิงวิชาการที่เสนอการตีความเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 จากฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างไว้ 4 รูปแบบ[9] การเสนอข้อบกพร่องของคณะราษฎรจากทั้งฝ่ายผู้ก่อการและนักวิชาการประวัติศาสตร์[10] ส่วนงานที่ศึกษาเรื่องราษฎรสามัญช่วงการอภิวัฒน์สยามเริ่มต้นจากงานของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่ศึกษาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาว่ามีทั้งฎีกาของชาวนาและข้อเสนอของชนชั้นกลางสยามที่เขียนเล่าถึงความทุกข์ยาก การขอให้ลดภาษีอากรจนถึงข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบใหม่ และค้นพบหลักฐานชั้นต้นประเภทบันทึกความทรงจำของพ่อค้าหรือชนชั้นกลางใหม่ในยุคนั้นคือ เอก วีสกุล เล่าไว้ว่าพ่อค้าในสโมสรสามัคคีจีนสยาม[11]ให้ความสนับสนุนคณะราษฎรตั้งแต่ในวันที่ 24 มิถุนา 2475

 

“…พ.ศ.  2475 นายเต็ก โกเมศ เป็นนายก หลวงบำบัดคดี เป็นเลขานุการ และนายง่วนจั่ว ลิมทองขาว เป็นเหรัญญิก ปีนี้ได้มีการปฏิวัติและเป็นปีสำคัญในประวัติการของประเทศสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ขณะที่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณสโมสรนี้ พร้อมใจกันเรี่ยไรเงินได้หลายร้อยบาท ซื้อขนมปังและผลไม้ไปแจกบรรดาทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ที่กระทำหน้าที่อยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม..”[12]

 

ต่อมามีงานศึกษาของ ศราวุฒิ วิสาพรหม ได้ชี้ให้เห็นว่ามีกลุ่มหลักที่สนับสนุนคณะราษฎรจำนวน 2 กลุ่ม คือ ข้าราชการ และพ่อค้า รวมถึงมีสื่อวิทยุ และหนังสือพิมพ์ที่ตอบรับการก่อการของคณะราษฎรในเชิงบวกในช่วงการอภิวัฒน์ เช่น สื่อวิทยุประกาศว่า “ในคืนวันที่ 24 นั้นเองเครื่องรับวิทยุได้ส่งเสียงประกาศให้มหาชนได้ทราบว่าเหตุการณ์อะไรได้บังเกิดขึ้น ประกาศที่แจกจ่ายนั้นได้อ่าน 2 ครั้งติดๆ กัน…”[13] และในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่นำ “ประกาศของคณะราษฎร” มาตีพิมพ์เผยแพร่ไว้ในหน้าแรก

ขณะที่ข้าราชการจากมณฑลราชบุรีและจากอยุธยา เช่น ขุนศิธรภูมาธิการ นายอำเภอท่าเรือ ซึ่งได้รับเงินเดือนเดือนละ 150 บาท มีความประสงค์ที่จะมอบเงินให้แก่คณะราษฎรทุกเดือนเดือนละ 20 บาท และมีบริษัทต่างชาติ เช่น บริษัทเอเชียติกปิโตรเลียม จำกัด บริษัทสแตนดาร์ดออยส์ บริจาคน้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่อง และบริษัทแมคฟาร์แลนด์พิมพ์ดีด จำกัด บริจาคเครื่องพิมพ์ดีด[14]

 

ภาพนายทหารเรือ อ่านประกาศคณะราษฎรให้พระภิกษุสามเณรฟัง ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ภาพนายทหารเรือ อ่านประกาศคณะราษฎรให้พระภิกษุสามเณรฟัง
ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

ล่าสุดได้มีงานศึกษาเกี่ยวกับคณะราษฎรของ Arjun Subrahmanyan ซึ่งเน้นศึกษาเรื่องอุดมคติประชาธิปไตยในทศวรรษ 2470 จากราษฎรกลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนคณะราษฎรทั้งได้รับผลดีหรือไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควรจากการก่อการครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับล่าง พระภิกษุ ชนชั้นนายทุนในชนบท ทนายความ ครู ที่เดิมไม่อาจมีบทบาททางสังคมการเมืองได้มากนักเนื่องจากระบอบเดิมปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจ แต่ระบอบใหม่ของคณะราษฎรมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและราษฎรสามัญที่ไม่ใช่แค่ชนชั้นนำ หรือข้าราชการระดับบนเท่านั้น

ในงานของ Subrahmanyan เสนอแตกต่างจากงานของนครินทร์ และศราวุฒิไว้ว่า แนวความคิดเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลสมัยใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมักผูกติดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ชายไทยมากกว่าผู้ชายเชื้อชาติจีน ดังนั้นผู้หญิงและผู้ชายเชื้อจีนในทัศนะของเขานั้นยังไม่ได้ยอมรับในสมัยนี้[15] และ Subrahmanyan ยังเน้นศึกษาเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธในการปฏิวัติ 2475 กับบทบาทของพระสงฆ์ ในสังคมการเมืองไทยที่ยังไม่ค่อยมีการศึกษาในงานวิชาการไทยกันมากนัก[16]

 

การสนับสนุนคณะราษฎรภายหลังการอภิวัฒน์สยามในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง

การสนับสนุนคณะราษฎร การเผยแพร่ระบอบการปกครองใหม่ และการจัดรูปแบบการปกครองในช่วง 1 เดือน หลังก่อการในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง นั้นยังไม่เคยมีการกล่าวถึงอย่างจริงจังและเป็นระบบมาก่อนจึงขอนำความคิด การสนับสนุนของคนธรรมดา นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ข้าราชการครูไปจนถึงแนวร่วมที่แสดงตน แสดงความยินดีกับคณะราษฎรอย่างเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ และเซียวฮุดเส็ง ศรีบุญเรือง[17] และนโยบายของคณะราษฎรที่ปฏิบัติการสร้างแนวร่วมรวมถึงเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญออกไปยังต่างจังหวัด ทั้งนี้ ผู้เขียนขอคงตัวสะกดจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุงไว้ ดังต่อไปนี้

 

การสนับสนุนคณะราษฎรของราษฎร

ระยะแรกของการอภิวัฒน์สยามนอกจากจะมีสาส์นแสดงความยินดีส่งมาถึงคณะราษฎร เช่น สาส์นจากสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส สมาคมแพทย์จีนในสยาม และมีชาวต่างชาติร่วมแสดงความยินดี เช่น สยามคริสต์ศาสนาสภา และนายเซียวฮุดเสง

วิธีการดำเนินงานของคณะราษฎรก็เร่งเผยแพร่ระบอบใหม่ เช่น ใน จ.เชียงใหม่ ทางคณะราษฎรได้ส่งพระยาสุริยานุวัตร เดินทางไปชี้แจงแก่เจ้านายในมณฑลพายัพเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองเพราะเจ้านายต่างตกใจและกลัวว่าจะถูกยึดทรัพย์[18]

ส่วนในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ก็เสนอข่าวการสนับสนุนคณะราษฎรอย่างต่อเนื่อง เริ่มที่การสนับสนุนรูปแบบแรก คือการมอบของให้คณะราษฎรโดยตรงมีทั้งอาหาร ผลไม้ น้ำแข็งซึ่งเป็นของแพงและหายากในยุคนั้นไปจนถึงให้เงินตรา ยา และบุหรี่ ส่วนของใช้ในการทำงานมีทั้งให้พิมพ์ดีด และให้โดยสารเรือเร็วเพื่อส่งหนังสือ สุดท้ายยังมอบของที่มีคุณค่าทางจิตใจคือ พระพุทธรูปทองคำ ให้แก่คณะราษฎร 7 องค์ ดังนี้

 

“ผู้ให้ของคณราษฎร
๑. นายชาย ตฤษนานนท์ ช่วยน้ำแข็ง ๑๐๐ ปอนด์
๒. นายเป้า ชินพานิช นางจู ชินพานิช นางสาวมาลัย ชินพานิช ให้ลิ้นจี่ดอง ๔๐ ไห ลิ้นจี่สด ๑ ปี๊บ
๓. นางสาวเล็ก ลิ้นจี่สด ๒ ปี๊บ
๔. นางพินิจ กลไก ขนมเค้กใหญ่ ๑ อัน เล็ก ๒ อัน
๕. นางทรัพย์ แซ่บ่าง โรงเลื่อยจักร์ สับปะรด ๑๕๐ ผล
๖. นายเทียนเลี้ยง กรรณสูตร ห้างสุพรรณพานิช ให้หีบรูปแบตเตอรีสำหรับใส่บุหรี่ ๒ โหล และสมุดพก ๒ โหล
๗. นายชิต นภาศัพท์ ยานัตถ์หมอชิต ๕๐๐ ขวด กล้องเป่ายา ๔๕๐ อัน
๘. นาย ต. บุญเทียม ผ้าเช็ดหน้าขนหนู ๗๒๐ ผืน ผ้าเช็ดตัวขนหนู ๒๔๐ ผืน
๙. พระพิพัฒน์วรรณกิจ บุหรี่การิค ๒ กระป๋อง บุหรี่ไพ่ป็อก ๑๗ กระป๋อง
๑๐. ร.อ.ต. ตองหัว เวชนุเคราะห์ กระดาษซับ ๘๐ แผ่น
๑๑. ห้างบาโรเบราน์ ยินดีรับซ่อมรถยนตร์มอริสที่ซื้อจากห้าง ซึ่งใช้ชำรุดในคราวนี้
๑๒. นายชาย ตฤษนานนท์ น้ำแข็ง ๑๐๐ ปอนด์
๑๓. นายเวช สาครวโรสถ (หลิน สถิติรัตน์) เข้าต้มผัด ๘๐๐ มัด ชมพู่ ๑,๐๐๐ ผล
๑๔. นาย เอฟ. เอ. พีเบอร์สัน โรงน้ำแข็งสีลม น้ำแข็ง ๕๐๐ ปอนด์
๑๕. ลูกเสือเอกสิริ หลิมบุญเทียน ท่าช้าง วังหลวง ขนมปังปอนด์ ๑๐๐ ปอนด์
๑๖. นางนกเบศร์ มานิต ยาพิมเสนใหญ่ ๑ ขวด
๑๗. นายถนอม สามเสน ถนนนครไชยศรี เข้าห่อ ๑๐๓ ห่อ สำหรับแจกลูกเสือ
๑๘. บริษัท สุพรรณพานิช ช่วยเรือเร็วสำหรับเดิรหนังสือไปจังหวัดพระประแดงทั้งไปและกลับ
๑๙. นายเส็ง เบ๊ยู่เส็ง ตำบลเวิ๊งนครเกษม ช่วยเงิน ๕ บาท
๒๐. พระพิพิธสาลี บ้านปากคลอง วัดดาวดึงส์ เลขที่ ๙๗๙ ธนบุรี ได้มอบพิมพ์ดีดสมิทพรีเมีย ราคา ๑๐๐ บาท ๑ เครื่อง กับพระพุทธรูปทองคำหน้าตักกว้าง ๙ ม.ม. สูง ๑๕ ม.ม. ๗ องค์
๒๑. บริษัทแมดฟาแลนด์พิมพดีด จำกัด ได้มอบเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันขนาดใหญ่อักษรไทย ๑ เครื่อง อักษรฝรั่งเศส ๑ เครื่อง
๒๒. นายชาย ตฤษนานนท์ ถนนมหรรณพ พระนคร น้ำแข็ง ๑๐๐ ปอนด์
๒๓. นายคอ ชู เดี๋ยน บริษัท น่ำสึ่ง ถนนทรงวาด ปลาซาราดีนกระป๋องแบน ๑๕๐ กระป๋อง
๒๔. นายมังกร สามเสน เข้าห่อ ๑๐๐ ห่อ
๒๕. นางเสงี่ยม แซ่ดัน น้ำแข็ง ๕๐๐ ปอนด์ น้ำหวานชะนิดน้ำเชื่อม ๒๐ ขวด”
[19]

 

การสนับสนุนของราษฎรรูปแบบที่สองคือ สมัครเป็นสมาชิกคณะราษฎรที่แรกเปิดรับมีการประกาศในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475[20] ต่อมาในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 มีการประกาศความมุ่งหมายของสมาคมคณะราษฎรว่า

 

“ความมุ่งหมายอันแท้ของสมาคมคณราษฎรปรากฏแล้วว่า นับตั้งแต่คณราษฎรได้ประกาศตั้งสมาคมขึ้นสมาคมหนึ่งให้ชื่อว่าสมาคมคณราษฎรและมีประชาชนพากันไปสมัครเปนสมาชิกจำนวนมาก

บัดนี้คณราษฎรขอแถลงให้ทราบทั่วกันถึงวัตถุประสงค์ของสมาคมคณราษฎรมีความจำนงต่อไปนี้

๑. เพื่อสนับสนุนกิจการของประเทศให้เจริญรุ่งเรือง
๒. ปลูกความสามัคคีระหว่างชาวไทย
๓. เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับทุกข์ยาก อนึ่งสมาชิกแห่งสมาคมนี้ จะไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทน นอกจากจะได้รับคำสรรเสริญอันเกิดจากการกระทำความดีของคน”
[21]

 

และได้แถลงข้อกำหนดในการสมัครสมาชิกสมาคมคณะราษฎรไว้ด้วยว่า

 

“คณราษฎรแถลงถึงการรับสมาชิกของสมาคมคณราษฎร ที่ ๘/๗๕

เนื่องจากประชาชนมายื่นใบสมัคร ณ สำนักงานสมาคมคณราษฎรที่สวนสราญรมย์มี ๒ จำพวกคือ

๑ ผู้ที่สมัครสนับสนุนคณราษฎรให้เปนปึกแผ่นแน่นหนา โดยมีความรักชาติเป็นที่ตั้ง
๒ ผู้ที่สมัครหางานทำ

คณราษฎรขอแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ๑ ว่า เวลานี้ สมาคมขอรับผู้สมัครสนับสนุนคณราษฎรให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา โดยความรักชาติเพื่อช่วยกำลังใจของคณราษฎรประเภทเดียวก่อน

ส่วนผู้ที่สมัครหางานทำขอให้รอไว้จนกว่าโครงการณ์ที่ดำริจะช่วยได้ทำแล้วเสร็จ จึงจะเปิดโอกาสให้เปนการยุตติธรรมภายหลัง

คณะราษฎร
วันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕”

 

ศรีกรุง ยังให้ความสำคัญต่อการสมัครสมาชิกสมาคมคณะราษฎรของสตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความตื่นตัวทางการเมืองของสตรีไทยครั้งแรกที่เกิดขึ้นในช่วงเริ่มของสมัยประชาธิปไตยซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ เพราะงานศึกษาก่อนหน้านี้มักจะเน้นเสนอเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของสตรีที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2476 สตรีที่มาสมัครสมาชิกฯ คือผู้หญิงสมัยใหม่ที่มีงานทำโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพยาบาลและทำงานโรงพิมพ์ เช่น การสมัครสมาชิกสมาคมราษฎรของสตรีในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

 

ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

 

“สตรีไทยแสดงความกล้าหาญทวีมากขึ้นเปนลำดับล้วนแต่นางสาว

นับตั้งแต่คณราษฎรได้ประกาศรับสมาชิกคณราษฎร...แม้จะปรากฏว่าผู้สมัครโดยมากล้วนแต่บุรุษก็ดี กระนั้น สมาคมนี้ก็หาได้ปิดโอกาสสำหรับสตรีที่มีน้ำใจรักชาติ...เราจึงได้ข่าวว่าในเวลานี้มาสตรียื่นใบสมัครเปนสมาชิกของสมาคมคณราษฎรอยู่มิเว้นแต่ละวัน ดังปรากฏว่าวานนี้มีสตรียื่นใบสมัครใหม่อีก ๔ คน คือ นางสาวล้วน แก้วผลึก อายุ ๒๑ อยู่บ้านเลขที่...ถนนนามบัญญัติข้างวัดมงกุฏกษัตริย์ ทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์เสนาศึกษา กับนางสาวสังวาลย์ วามิศร์ อายุ ๓๐ ปี นางพยาบาลประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นางสาวพจน์ จุลมกร อายุ ๒๗ ปี เปนพยาบาลประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นางสาวอรุณ ทักกะยานนท์ อายุ ๓๐ ปี เปนนางพยาบาลประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สตรีผู้สมัครเหล่านี้คณราษฎรได้รับไว้พิจารณาทุกคน”[22]

“สมาคมคณราษฎรมีสตรีเข้าสมัครอีก 2 คน

เมื่อวันที่ ๖ เดือนนี้ (มิถุนายน ๒๔๗๕-ผู้เขียน) นางสาวเจียน ศรีทองคำ อายุ ๒๘ ปี กับนางสาวเพิ่น ปีตะนีละผลิน อายุ ๒๖ ปี ซึ่งเปนนางพยาบาลประจำการอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ยื่นความจำนงต่อคณราษฎรขอสมัครเข้าเปนสมาชิกแห่งสมาคมคณะราษฎรต่อไป ทั้งนี้คณราษฎรได้รับความจำนงของสองนางสาวไว้แล้วเพื่อพิจารณาต่อไป” [23]

 

ผู้สมัครสมาชิกฯ อีกส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนหญิงจากครอบครัวชนชั้นกลาง

 

“นักเรียนหญิงที่สมัครเปนสมาชิกคณราษฎร

นางสาวศรีละออ ธรรมาทฤษณี อายุ ๑๖ ปี นักเรียนในโรงเรียนสงวนศรี ชั้นมัธยมปีที่ ๕ เปนบุตรหลวงประจงคดี ทนายความบ้านข้างหอทะเบียนที่ดิน จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ยื่นใบสมัครต่อคณราษฎร ขอสมัครเปนสมาชิกสมาคมราษฎร เจ้าหน้าที่รับลงชื่อไว้พิจารณาแล้ว”[24]

 

ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
ภาพจากหนังสือพิมพ์ศรีกรุง วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

 

ส่วนความคิดของเยาวรุ่นยุค 2470 ยังพบในจดหมายเปิดผนึกสำแดงยินดีด้วยกับการกระทำของราษฎรจากผู้แทนนักเรียนไทยในสิงคโปร์ ที่แสดงความเข้าใจระบอบการปกครองใหม่นี้ในลักษณะปัญญชาชนนักเรียนนอกด้วยการอธิบายคณะราษฎรเปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็น Limtited Monarchy และกล่าวชื่นชมคณะราษฎรพร้อมกับวิพากษ์ระบอบเก่าว่า

 

 “คณราษฎร”  เป็นคณที่รักชาติที่สุด และกล้าหาญที่สุด ได้แสดงความสามารถให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก กล่าวคือได้ปลดแอกอันแสนหนัก และปฏักอันคมกริบของพวกเจ้าออกจากบ่าไหล่และหลังของพวกจลเมืองสยามได้อย่างสนิทสนม และให้ราษฎรทุกคนมีโอกาสได้รับความอิสสระภาพเทียมเท่ากัน ทุกๆ คน มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรๆ ได้ เมื่อไม่ฝ่าฝืนกฎพระธรรมนูญของบ้านเมือง… [25]

 

การเผยแพร่หลักธรรมนูญการปกครองและการแจ้งข่าวสู่ข้าราชการท้องถิ่น

วิธีดำเนินงานจัดระเบียบการปกครองใหม่[26] และการเผยแพร่หลักธรรมนูญการปกครอง ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กับหลัก 6 ประการ คืองานเร่งด่วนของคณะราษฎรที่เน้นการเผยแพร่ไปยังนักเรียน นักศึกษา ครู โดยให้ผู้แทนจากคณะราษฎร เช่น สงวน ตุลารักษ์[27] และข้าราชการระดับสูงเป็นผู้ดำเนินการ

 

“ผู้แทนคณราษฎรแสดงปาฐกถาถึงวิธีดำเนิรการของคณแก่นักเรียนบ้านสมเด็จ 

เมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้แทนคณราษฎร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่คณราษฎรอีกบางนาย ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และได้แจ้งความประสงค์ต่อพระยาวิเศษศกวัตร์อาจารย์ใหญ่ ว่าจะแสดงปาฐกถาเกี่ยวด้วยระเบียบการปกครองของรัฐบาลใหม่...ต่อจากนั้นนายสงวน ก็ได้เริ่มแสดงปาฐกถามีใจความสำคัญแสดงถึงความประสงค์ของคณที่ได้กระทำไปและกิจการที่คณจะได้กระทำต่อไปข้างหน้าและอธิบายถึงหลักธรรมนูญการปกครองบางข้อที่สำคัญๆ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจในวิธีดำเนิรการโดยแจ่มแจ้ง ตั้งแต่เวลา ๑๑ น. ตลอดถึง ๑๒ น. เศษ จึงเสร็จการแสดง

ต่อจากนั้น พระยาวิเศษฯ ก็ได้กล่าวแสดงความยินดีที่คณราษฎรได้ทำการทุกอย่างสำเร็จไปได้...เมื่อจบคำแสดงความยินดีของพระยาวิเศษฯ ลงแล้วบรรดาครู และนักเรียนที่ชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นั้นต่างได้เปล่งเสียง ไชโย แสดงความยินดีขึ้นพร้อมกันอย่างน่าปลื้ม”[28]

 

ภาระกิจที่สำคัญของคณะราษฎรอีกประการคือเร่งแจ้งต่อข้าราชการส่วนงานปกครองทั้งผู้ว่าราชการ และนายอำเภอทุกจังหวัดให้ทราบถึงระเบียบของระบอบใหม่

 

“ผู้รักษาการในตำแหน่งสมุหพระนครบาลสั่งงานอนุโลมเข้ากับการปกครองที่เปลี่ยน

พระยาเพ็ชร์พิสัยศรีสวัสดิ์ ผู้รักษาการในตำแหน่งสมุหพระนครบาลได้มีคำสั่งเปนทางราชการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทุกแห่งในมณฑลกรุงเทพฯ ชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองตามที่คณราษฎรได้จัดการตามแบบใหม่ คือให้พระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมายตามที่ทราบกันอยู่แล้ว เรื่องนี้เข้าใจว่าพลเมืองโดยมากคงยังไม่เข้าใจความมุ่งหมายของรัฐบาลใหม่โดยทั่วถึงกัน ฉะนั้นให้นายอำเภอเรียกประชุมราษฎรและชี้แจงเรื่องอันได้เกิดขึ้นแล้วทั้งหมดให้ราษฎรทราบเปนความรู้ไว้

อนึ่งในวันสองวันนี้ พระยาเพ็ชร์พิสัยฯ จะเรียกประชุมนายอำเภอทุกจังหวัด ณ กองสมุหพระนครบาลอีกคำรบ ๑ เพื่อสั่งเสียโดยวาจาให้ทราบความมุ่งหมายของรัฐบาลใหม่ไว้ด้วย...”[29]

                       

ราวครึ่งปีถัดจากนี้ทางคณะราษฎรได้ใช้วิธีการเผยแพร่รัฐธรรมนูญไปทั่วประเทศ จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ จัดตั้งสมาคมรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลอง และการพิมพ์ตัวบทรัฐธรรมนูญส่งไปยังจังหวัดต่างๆ[30]

 

ศรีกรุง : ชีวิตและชีวประวัติสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ

ภายหลังการอภิวัฒน์เพียงสองสัปดาห์ ศรีกรุง ยังทยอยนำชีวประวัติโดยย่อของสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญมากล่าวถึงอย่างละเอียด เช่น ประวัติหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่สะท้อนให้เห็นความคิดแรกเริ่มก่อการที่มีจุดตั้งต้นมาจากเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ดังนี้

 

ภาพหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
ภาพหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

 

“ประวัติหลวงประดิษฐ์มนูธรรม คนสำคัญผู้ ๑ ในคณราษฎรสยาม

อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม นามเดิม ปรีดี พนมยงค์ เปนชาวพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดพนมยงค์ เมื่อเยาว์มีนิสสัยชอบฟังเหตุการณ์อันเกี่ยวกับการบ้านการเมือง ซึ่งย่อมเปนที่พิศวงของผู้อยู่ใกล้ชิดเปนอันมาก แต่หาเปนการประหลาดสำหรับผู้มีประวัติอันงามแห่งสากลไม่

เมื่อปลายปี ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) คณข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน  (ฝ่ายพลเรือนโดยมากเป็นเนติบัณฑิตและหมอกฎหมาย) รวมประมาณ ๑๐๐ คน ได้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัฐบาลสยามในทำนองเดียวกันกับครั้งนี้ และได้ถูกรัฐบาลจับกุมมาไต่สวนพิจารณาในศาลกรรมการพิเศษ ณ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเรียกคดีนั้นว่า “ก่อการกำเริบ” ข่าวของเรื่องนี้ได้แพร่หลายไปทั่วอาณาจักรสยาม หลวงประดิษฐ์ฯ เวลานั้นอายุได้ ๑๑ ปี ได้รู้ข่าวนี้เท่าๆ กับชาวอยุธยาได้ทราบกัน แต่ปรากฏว่าหลวงประดิษฐ์ฯ มีความคิดแผกไปกว่าผู้อื่นมาก เช่นมีเรื่องเล่ากันว่า ชาวกรุงเก่าเข้าใจว่า พวกก่อการกำเริบได้จับเจ้าเสียสิ้นแล้ว กระทำให้เขาเหล่านั้นวิตกว่า จะได้ใครมาปกครองสยามต่อไปเล่า ฯลฯ ความเข้าใจของชาวกรุงเก่าครั้งกระนั้น ได้ฝังอยู่ในโสตรประสาทของหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างแน่นแฟ้นที่สุด

จนกระทั่งได้ไปศึกษาวิชชาที่ประเทศฝรั่งเศสก็คงยังตรึงอยู่ในสมองมิรู้หาย แล้วก็เปนเหตุให้คิดเรื่องนี้แต่นั้นมา นี่แหละเห็นจะตรงกับคำกล่าวที่ว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” หลวงประดิษฐ์ฯ …ครั้นสอบไล่ได้เปนเนติบัณฑิตสยามก็ออกไปศึกษาวิชชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้เปนหมอกฎหมายฝรั่งเศส และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงเศรษฐวิทยาด้วย…สำเร็จการศึกษาก็เข้ามารับราชการสนองชาติด้วยคุณประโยชน์…หลวงประดิษฐ์ฯ ได้กลับเข้ามารับราชการอยู่ในกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุตติธรรมตั้งแต่ต้น…กับเปนอาจารย์โรงเรียนกฎหมายหลายวิชชา…นอกจากนั้นยังเปนเลขาธิการเนติบัณฑิตสภาอีกด้วย

หลวงประดิษฐ์ฯ มีนิสสัยใจคอเยือกเย็นสุขุม วาจาอ่อนหวานน่ารัก และกิริยาอ่อนโยน สมเปนผู้กล้าผู้จริง บรรดาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือร่วมงานร่วมคิด จึงยอมเปนใจเดียวกันเสมอ หลวงประดิษฐ์ฯ กับพรรคพวกได้ตั้งบริษัทหุ้นส่วนนิติสาส์นขึ้นมีโรงพิมพ์ชื่อนิติสาส์น พิมพ์หหนังสือเกี่ยวกับวิชชากฎหมาย ชื่อหนังสือพิมพ์ “นิติสาส์น” ได้รวบรวมกฎหมายไทยพิมพ์ขึ้นให้ชื่อว่า “ประชุมกฎหมายไทย” และหลวงประดิษฐ์ ยังได้เรียบเรียงคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งนับว่าทำประโยชน์แก่บรรดาผู้ศึกษาวิชชากฎหมายและพลเมืองเปนอันมาก

…หลวงประดิษฐ์ฯ เปนผู้ ๑ ในคณก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามครั้งนี้ ร่วมมือกลมเกลียวกับนายทหารบก ทหารเรืออีกหลายคน ยอมสละเลือดเนื้อเพื่อชาติแท้ๆ คณก่อการครั้งนี้ ทุกคนทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเลย มุ่งแต่ความสำเร็จเปนผล จนแม้เวลานี้ก็ยังกอดคอทำงานอยู่ด้วยกันอย่างน่าสรรเสริญยิ่ง…”[31]

 

ภาพหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
ภาพหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 

 

เมื่อหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ทยอยลงชีวประวัติของสมาชิกคณะราษฎรก็เกิดปรากฏการณ์หนังสือพิมพ์ขาดตลาด สะท้อนว่าการอภิวัฒน์สยามและคณะราษฎรได้รับความสนใจจากประชาชนในยุคนั้น ซึ่งฉบับที่ขาดตลาดครั้งแรกๆ คือฉบับที่ลงชีวประวัติของพระยาพหลพลพยุหเสนา จนกองบรรณาธิการต้องนำประวัติแบบย่อของพระยาพหลฯ มาพิมพ์ซ้ำในวันถัดมาเพื่อให้ผู้ที่ซื้อหนังสือพิมพ์ไม่ทันได้อ่านกัน

 

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
ภาพจากหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

 

คณะราษฎรยังใช้พื้นที่ของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง เพื่อตอบขอบใจประชาชนที่ส่งจดหมายจำนวนมากมาแสดงความยินดีและขอความเห็นใจในเรื่องจัดการปกครอง ว่าคณะราษฎรได้พยายามเต็มความสามารถเพื่อความเจริญของบ้านเมือง[32] โดยภาพรวมหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ได้นำเสนอภาพลักษณ์ของคณะราษฎรและการอภิวัฒน์ในเชิงบวก แต่จากจดหมายและบทความหลายชิ้นก็ทำให้เห็นความปรารถนาของราษฎรต่อรัฐบาลใหม่ เช่น จดหมายขอให้สภาฯ จัดทำบันทึกย่อการประชุมสภาฯ ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์แล้วนำมาเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ขณะที่หลักฐานชั้นต้นประเภทเอกสารคำสั่งทางการของคณะราษฎรในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีตราประทับว่า ‘ลับ’ ชิ้นหนึ่งได้เสนอให้เห็นวิธีดำเนินการควบคุมและจัดระเบียบใหม่ของคณะราษฎรอย่างเร่งรัดและเบ็ดเสร็จ[33] ได้แสดงให้เห็นวิธีดำเนินงานของคณะราษฎรที่มีกลยุทธ์ในฉากหลังอีกทางหนึ่ง

หนังสือพิมพ์ศรีกรุง จึงเสนอข้อมูลใหม่ทั้งการสนับสนุนคณะราษฎรจากหลายกลุ่ม การตื่นตัวต่อระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ รวมถึงแสดงให้เห็นว่าราษฎรสยามกล้าที่จะเรียกร้องและวิจารณ์คณะราษฎรอย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย  

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร. 0201.16/21 เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คำสั่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร คราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475)

หนังสือพิมพ์

  • ศรีกรุง, 28 มิถุนายน 2475
  • ศรีกรุง, 6 กรกฎาคม 2475 
  • ศรีกรุง, 7 กรกฎาคม 2475 
  • ศรีกรุง, 8 กรกฎาคม 2475 
  • ศรีกรุง, 9 กรกฎาคม 2475 
  • ศรีกรุง, 10 กรกฎาคม 2475 
  • ศรีกรุง, 27 กรกฎาคม 2475 
  • ศรีกรุง, 28 กรกฎาคม 2475 
  • ศรีกรุง, 29 กรกฎาคม 2475
  • ศรีกรุง, 30 กรกฎาคม 2475 

หนังสืออนุสรณ์งานศพ

  • ธีรัชย์ พูลท้วม, ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475, ดร.เจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายธีรัชย์ พูลท้วม เป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร 11 มีนาคม 2539, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด, 2539)

หนังสือภาษาอังกฤษ

  • Arjun Subrahmanyan, Amnesia: a history of democratic idealism in modern Thailand, (NewYork: State University of New York,  2021)

หนังสือภาษาไทย

  • กษิดิศ อนันทนาธร, บรรณาธิการ, ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2565 : บางเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร 2475, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565) 
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543)
  • เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา,  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560)
  • ปรีดี พนมยงค์, คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, (กรุงเทพฯ มูลนิธิเด็ก, 2542)
  • ณัฐพล ใจจริง, ราษฎรปฏิวัติ ชีวิตและความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2565)
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553)
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565)
  • ศราวุฒิ วิสาพรหม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2559)
  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562)
  • มูราชิมา, เออิจิ, การเมืองจีนสยาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. 1926-1941, บรรณาธิการแปลโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล, (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539)
  • อรัญ พรหมชมพู, ไทยกึ่งเมืองขึ้น, (กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสืออุดมธรรม, 2493)
  • เฮง สถิตถาวร, 150 ปี วิธีดำเนิรการของคณะราษฎร เล่ม 2, (พระนคร : โรงพิมพ์สิริชัย, 2475)

บทความในนิตยสาร

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

  • กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2563). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม. สืบค้นจาก https://www.the101.world/first-constitution/
  • เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (28 มิถุนายน 2565). 24 มิถุนายน 2475 : อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พลิกฟ้าปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1152
  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (23 พฤศจิกายน 2564), อ่านโทรเลข ‘เซียวฮุดเสง’ ถึง ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475. สืบค้นจาก  https://www.the101.world/sieohutseng/
  • พลวุฒิ สงสกุล. (24 มิถุนายน 2563),  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 24 มิถุนายน 2475 มรดก-ข้อบกพร่องของคณะราษฎร. สืบค้นจาก https://thestandard.co/charnvit-kasetsiri-24-june-2475/
  • ปรีดี พนมยงค์. (28 มกราคม 2564), “รัฐธรรมนูญคือลูกพระยาพหลฯ” จริงหรือ?. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/587
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (17 มิถุนายน 2549),  ๒๔ มิถุนา : การตีความ ๔ แบบ. สืบค้นจาก http://somsakwork.blogspot.com/2006/06/causes-mutation-in-existing-structural.html
  • เสมียนอารีย์. (24 มิถุนายน 2565), “ศรีกรุง” ออร์แกนของคณะราษฎร หนังสือพิมพ์ที่ช่วยโหมโรงการปฏิวัติ 2475. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_76833
  • อิทธิพล โคตะมี. (10 มิถุนายน 2564). มายาคติ 'ชิงสุกก่อนห่าม' สำนวนด้อยค่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/06/733
 

[1] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475”, วารสารธรรมศาสตร์ 11, 2 (มิ.ย. 2525) : หน้า 69.

[2] อรัญ พรหมชมพู, ไทยกึ่งเมืองขึ้น, (กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสืออุดมธรรม, 2493)

[3] ปรีดี พนมยงค์. (28 มกราคม 2564), “รัฐธรรมนูญคือลูกพระยาพหลฯ” จริงหรือ?. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/587

[4] กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2563). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม. สืบค้นจาก https://www.the101.world/first-constitution/

[5] อิทธิพล โคตะมี. (10 มิถุนายน 2564). มายาคติ 'ชิงสุกก่อนห่าม' สำนวนด้อยค่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/06/733

[6] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475”, วารสารธรรมศาสตร์ 11, 2 (มิ.ย. 2525) : หน้า 62-71., เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา,  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560)

[7] สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ, สยามพิมพการ ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565), น. 191-199.

[8] เสมียนอารีย์. (24 มิถุนายน 2565), “ศรีกรุง” ออร์แกนของคณะราษฎร หนังสือพิมพ์ที่ช่วยโหมโรงการปฏิวัติ 2475. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_76833

[9] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (17 มิถุนายน 2549),  ๒๔ มิถุนา : การตีความ ๔ แบบ. สืบค้นจาก http://somsakwork.blogspot.com/2006/06/causes-mutation-in-existing-structural.html

[10] พลวุฒิ สงสกุล. (24 มิถุนายน 2563),  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 24 มิถุนายน 2475 มรดก-ข้อบกพร่องของคณะราษฎร. สืบค้นจาก https://thestandard.co/charnvit-kasetsiri-24-june-2475/

[11] มูราชิมา, เออิจิ, การเมืองจีนสยาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเล ในประเทศไทย ค.ศ. 1926 - 1941, บรรณาธิการแปลโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล, (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539) และเพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์, “บทบาทและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเซียวฮุดเสง พ.ศ. 2450 - 2474,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544)

[12] เอก วีสกุล, “ประวัติย่อสโมสรจีนสยามจีนางกูร สโมสรสามัคคีจีนสยาม กรุงเทพฯ นันทาสมาคม.” ใน สหมิตรรำลึก. พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นายเฉลิม ปึงตระกูล วันที่ 27 ธันวาคม 2505, (พระนคร : สโมสรสหมิตร, 2505) อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 153.

[13] ศราวุฒิ วิสาพรหม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2559), หน้า 39-40.

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 41.

[15] Arjun Subrahmanyan, Amnesia: a history of democratic idealism in modern Thailand, (NewYork : State University of New York,  2021), pp. 6-7

[16] Ibid, 153-157.

[17] นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (23 พฤศจิกายน 2564), อ่านโทรเลข ‘เซียวฮุดเสง’ ถึง ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475. สืบค้นจาก  https://www.the101.world/sieohutseng/

[18] ศราวุฒิ วิสาพรหม, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2559), หน้า 41.

[19] ศรีกรุง, 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 3.

[20] ศรีกรุง, 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475, หน้า 8.

[21] ศรีกรุง, 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 16.

[22] ศรีกรุง, 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 9.

[23] ศรีกรุง, 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 16.

[24] ศรีกรุง, 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 9.

[25] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[26] เฮง สถิตถาวร, 150 ปี วิธีดำเนิรการของคณะราษฎร เล่ม 2, (พระนคร : โรงพิมพ์สิริชัย, 2475)

[27] ธีรัชย์ พูลท้วม, ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475, ดร. เจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายธีรัชย์ พูลท้วม เป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร 11 มีนาคม 2539, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด, 2539)

[28] ศรีกรุง, 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 9.

[29] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[30] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญกับสยามสมัยคณะราษฎร”, ศิลปวัฒนธรรม 37, 2 (ธ.ค. 2558) : 47-103.

[31] ศรีกรุง, 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 9.

[32] ศรีกรุง, 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 16.

[33] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร. 0201.16/21 เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คำสั่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร คราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475)