ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : “ในดินแดนฮ่องกง” (ตอนที่ 6)

5
มีนาคม
2566
PRIDI x BOTNOI - อ่านบทความให้ฟัง

ภารกิจของเหวียนอ๋ายก๊วกในสยามที่ประสบความสำเร็จในขั้นต้นนั้นก็คือ การจัดตั้งชาวเวียดนามให้เข้าร่วมในขบวนการกู้เอกราชของชาติ ซึ่งถือว่าเป็นอุดมการณ์สูงสุด ส่วนเรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์สยามก็ไม่ปรากฏว่าท่านได้เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งอะไรอีก ระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีที่อยู่ในสยามของท่านก็น่าจะพอเพียงแล้ว เพราะศัตรูคือสันติบาลฝรั่งเศสได้ติดตามเข้ามาอย่างกระชั้นชิด

 


ต้นฉบับงานเขียนของโฮจิมินห์ที่ฮ่องกง

 

ผลพวงของการอภิวัฒน์ใหญ่ในปี ค.ศ. 1917 นั้นได้ส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 เช่นเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ก็ได้ตั้งขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1928 - ค.ศ. 1929 แต่ก็เกิดขึ้นเกือบพร้อมๆ กัน 3 พรรค ซึ่งไม่มีพรรคฯ ใดที่มีแนวทางชัดแจ้งว่าเป็นพรรคมาร์กซ์-เลนิน ต่างแสดงการแย่งชิงการนำ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ขบวนการอย่างใหญ่หลวง ในฐานะตัวแทนโคมินเติร์นแห่งภูมิภาค ท่านทำรายงานเสนอเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อเข้าไปจัดการกับปัญหานี้ให้เกิดเอกภาพ และมีพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวในเวียดนาม เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วท่านจึงออกจากสยามผ่านสิงคโปร์ผ่านไปยังฮ่องกง

สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามทั้ง 3 พรรค คือ

1. พรรคคอมมิวนิสต์ของชาวอินโดจีน พรรคนี้มีฐานกำลังอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ในแคว้นที่ฝรั่งเศสเรียกว่า ‘ตังเกี๋ย’ มีนครฮานอยเป็นศูนย์กลาง

2. พรรคคอมมิวนิสต์ชาวอานาม พรรคนี้เคลื่อนไหวทางภาคใต้และภาคกลาง โดยมีเมืองไซ่ง่อน เมืองดานัง และเมืองเว้ เมืองห่าติ๋ง เป็นเขตงาน

3. พรรคสหพันธ์ชาวคอมมิวนิสต์อินโดจีน สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคเป็นปัญญาชนก้าวหน้าจากทั่วประเทศ ได้รับแนวความคิดจากฝรั่งเศสและจีน

ภายหลังฮ่องกงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อันสืบเนื่องมาจากสงครามฝิ่น ในกลางศตวรรษที่ 19 อังกฤษกำหนดให้ฮ่องกงเป็นเมืองท่าทำการค้าขายปลอดภาษี ผู้คนสามารถสัญจรเข้าออกอย่างเสรี โดยเฉพาะพ่อค้าวาณิชชาวจีน ชาวเวียดนาม ขอเพียงว่าจะไม่เข้ามากระทำการใดๆ อันเป็นการบ่อนทำลายล้มล้างอำนาจการปกครองของอังกฤษบนเกาะนี้

ดังนั้น ฮ่องกงจึงมีการติดต่อค้าขายกับเวียดนามที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เรือสินค้าจากเมืองท่าไฮฟอง ไซ่ง่อน ดานัง และฮอยอาน จึงมีเส้นทางเดินเรือมาฮ่องกงเดือนละหลายลำ ทำให้ชาวเวียดนามสามารถเข้าเกาะฮ่องกงได้ด้วยความสะดวก อีกทั้งทางภาคเหนือของเวียดนามบริเวณที่มีพรมแดนติดต่อกับมณฑลกวางสีของจีน ก็มีชาวเวียดนามเดินทางเข้าออกกันขวักไขว่

สิ่งเหล่านี้ทำให้ท่านเข้าฮ่องกงเพื่อติดต่อให้ตัวแทนทั้ง 3 พรรค เดินทางมาร่วมประชุมกัน ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสามต่างก็เดินทางมาร่วมประชุม โดยท่านทำหน้าที่ประธาน ประกอบด้วยสหายชาวเวียดนามบางคนที่ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยตะวันออกในกรุงมอสโก

การประชุมได้ย้ายสถานที่หลายครั้งเพื่อความปลอดภัยจากฝ่ายปกครองฝรั่งเศส ด้วยคุณสมบัติในการเป็นผู้นำ การแสดงเหตุผลต่อข้อโต้แย้ง ซึ่งท่านสามารถอธิบายให้ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมมีความเข้าใจ เพราะทุกคนต่างก็มีความรักชาติ ต้องการต่อสู้เพื่อเอกราช อิสรภาพ ฉะนั้น ปัญหาเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นจึงต้องอยู่ในความเหมาะสมของสถานการณ์

ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้จัดตั้งขึ้นเป็นพรรคหนึ่งพรรคเดียวในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 ที่ฝั่งเกาลูนของเกาะฮ่องกง

ที่ประชุมได้รับรองเอกสารสำคัญที่เหวียนอ๋ายก๊วกเรียบเรียงจัดทำเสนอก็คือ แผนแนวทางการเมือง แผนยุทธศาสตร์ และภาระหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

การปราบปรามผู้รักชาติชาวเวียดนามของชนชั้นปกครองฝรั่งเศสดำเนินไปอย่างไม่ลดละและเหี้ยมโหดยิ่งขึ้น ผู้รักชาติถูกจับกุมและถูกนำตัวไปประหารชีวิตอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน ครั้งหนึ่งในการกวาดล้างจับกุม หน่วยสันติบาลฝรั่งเศสค้นพบที่อยู่ของเหวียนอ๋ายก๊วกในฮ่องกง จึงทราบว่าบัดนี้ ท่านเข้ามาเคลื่อนไหวในเกาะฮ่องกงแล้ว

ฝรั่งเศสรีบแจ้งให้ทางการอังกฤษทราบว่าเหวียนอ๋ายก๊วกเป็นบุคคลอันตราย เป็นตัวแทนของโคมินเติร์นเข้ามาบ่อนทำลายล้างอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ทางการฝรั่งเศสในอินโดจีนต้องการตัวเขาไปขึ้นศาลชำระโทษให้สาสมกับความผิด

 

ที่คุมขังโฮจิมินห์ในฮ่องกง ค.ศ. 1931 - ค.ศ. 1933
ที่คุมขังโฮจิมินห์ในฮ่องกง ค.ศ. 1931 - ค.ศ. 1933

 

เหวียนอ๋ายก๊วกถูกทางการอังกฤษที่ฮ่องกงจับกุมในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1931 นั่นก็คือเป็นเวลาหนึ่งปีเศษหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ฝรั่งเศสต้องการให้อังกฤษงุบงิบส่งตัวท่านลงเรือไปเวียดนามทันที โดยเสนอแลกตัวผู้ต้องสงสัยชาวอินเดียและชาวพม่าที่ทางการฝรั่งเศสจับไว้ให้กับทางการอังกฤษ แต่อังกฤษไม่สนใจข้อแลกเปลี่ยนนี้ เพราะอังกฤษรู้จักชาวอินเดียและพม่าดีกว่าฝรั่งเศสรู้จักชาวเวียดนามผู้รักชาติ

อนึ่ง ข่าวการจับกุมท่านได้แพร่กระจายไม่เป็นความลับต่อไปอีก บันทึกการจับกุมได้กระทำหลังจากถูกจับกุมแล้วหลายวัน อันเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย อังกฤษจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก นอกเสียจากจะให้เรื่องราวขึ้นสู่ศาลเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายของอังกฤษ อีกประการหนึ่ง ในฐานะที่ทั้งสองประเทศต่างเป็นเจ้าอาณานิคม มีการแก่งแย่งชิงอาณานิคมอยู่เสมอ อังกฤษเองก็ไม่อยากให้ฝรั่งเศสได้หน้า ทำเป็นธุระไม่ใช่ ให้ว่ากันตามรูปคดี ซึ่งผู้คนทั่วไปเห็นว่ากฎหมายอังกฤษที่ใช้บังคับในฮ่องกง ให้ความเป็นธรรมกว่ากฎหมายฝรั่งเศสที่ใช้ในอินโดจีน ผู้สำเร็จราชการเจ้าอาณานิคมมีอำนาจล้นฟ้า สามารถสั่งประหารคน แม้แต่ผู้ต้องสงสัยก็สามารถลงโทษได้ตามอำเภอใจ

 

ทนายแฟรงค์ ลูสบีย์ ปี ค.ศ. 1933
ทนายแฟรงค์ ลูสบีย์ ปี ค.ศ. 1933

 

เหวียนอ๋ายก๊วก ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำแสตนเล่ย์ ตั้งอยู่บนแหลมทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮ่องกง และถูกขังเดี่ยวห้ามเยี่ยมห้ามประกันตัว ต่อมามีทนายความชาวอังกฤษที่ทำสำนักงานทนายความอยู่ที่เกาะฮ่องกง ชื่อว่า มิสเตอร์แฟรงค์ ลูสบีย์ เสนอตัวเข้ามารับหน้าที่เป็นทนาย มีกระแสข่าวอ้างว่า มิสเตอร์ลูสบีย์ผู้นี้ ได้รับการติดต่อจากตัวแทนของโคมินเติร์นให้เข้ามาช่วยว่าความ แต่ความจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะอังกฤษต้องเฝ้าระวังโคมินเติร์นอยู่ทุกฝีก้าวเช่นกัน การพัวพันกับโคมินเติร์นไม่เป็นผลดีต่อรูปคดีเลย

ในกรณีทนายความผู้รักความเป็นธรรมเช่นนี้เคยมีตัวอย่างมาแล้ว เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนแห่งราชวงศ์ชิงได้จับตัว ดร.ซุนยัดเซ็นไว้ในสถานทูตจีนแห่งกรุงลอนดอน เตรียมต่อหีบห่อส่งลงเรือกลับจีน ก็ได้ทนายความชาวอังกฤษผู้หนึ่งเข้าต่อสู้ในข้อกฎหมายกระทั่งสามารถช่วย ดร.ซุนยัดเซ็น ออกมาได้

ดังนั้น ต้องถือว่ามิสเตอร์ลูสบีย์เป็นทนายความผู้รักความเป็นธรรม และเป็นเรื่องโชคดีอย่างยิ่งที่เหวียนอ๋ายก๊วกได้ทนายความผู้นี้เข้าว่าความให้

มิสเตอร์ลูสบีย์ขอเข้าพบลูกความในที่คุมขัง การถูกขังเดี่ยวทำให้สุขภาพของท่านทรุดโทรมลงไม่น้อย ในฐานะทนายความเขากล่าวกับลูกความว่า “ขอให้ไว้เนื้อเชื่อใจในการทำหน้าที่ มีอะไรที่จะต้องบอกก็ขอให้บอกตามความจริง ส่วนเรื่องของการต่อสู้นั้น นักอภิวัฒน์ทุกคนก็มีส่วนที่จะต้องเก็บความลับเช่นกัน ซึ่งก็ไม่เป็นไร” ในที่สุดทั้งทนายและลูกความก็บรรลุถึงความจริงใจระหว่างกัน

ขณะถูกนำตัวมาขึ้นศาล เหวียนอ๋ายก๊วกถูกพันธนาการอย่างแน่นหนา ทนายความชาวอังกฤษได้เสนอต่อศาลว่า เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่และไม่ชอบด้วยระเบียบ ทำให้ศาลต้องสั่งปลดเครื่องพันธนาการออก ซึ่งถือเป็นยุทธวิธีของทนายในการสู้ความ ทำให้ศาลเกิดความเห็นใจ รวมทั้งมีการจับกุมท่านแล้วหลายวันถึงลงบันทึกการจับกุม ผู้พิพากษาจึงเห็นถึงความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ส่วนการให้ปากคำของจำเลยนั้น ปรากฏว่าท่านตอบข้อซักถามของผู้พิพากษาชาวอังกฤษด้วยภาษาอังกฤษที่มีความราบรื่น สละสลวย และสุภาพ ประทับใจผู้พิพากษามาก

ข้อหาหนักที่สุดที่ท่านถูกกล่าวหา ได้แก่การทำลายโค่นล้มอาณานิคมอังกฤษที่ฮ่องกง เพราะเป็นสายลับของบอลเชวิคและโคมินเติร์น และข้อหาเบาก็คือการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทนายความลูสบีย์ได้ต่อสู้ให้ลูกความอย่างเต็มกำลัง ถึงกับยื่นคำอุทธรณ์ไปยังศาลสูงที่กรุงลอนดอน ฝ่ายโจทก์เองก็ไม่สามารถหาพยานบุคคลและเอกสารมายืนยันได้ว่า จำเลยเป็นผู้มาล้มล้างอำนาจการปกครองในฮ่องกง

ในที่สุดก็เหลือโทษสถานเดียวคือการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งต้องถูกเนรเทศออกจากเมืองไป แต่การเนรเทศหรือการส่งตัวไปเวียดนาม ทนายความได้ต่อสู้เต็มที่ และทางอังกฤษเองก็เกรงว่าถ้าท่านถูกส่งไปเวียดนามแล้วถูกประหารชีวิต มติมหาชนจากทั่วโลกต้องประณามอังกฤษอย่างหนัก ด้วยการประนีประนอมระหว่างมิสเตอร์ลูสบีย์และทางการฮ่องกง ท่านจึงถูกจับตัวลงเรือไปสิงคโปร์ แต่พอไปถึงปรากฏว่าสิงคโปร์ไม่ยอมให้เข้าเมือง จับตัวท่านส่งกลับมาฮ่องกงอีก

ทนายความอังกฤษจึงใช้เส้นสายความสัมพันธ์ส่วนตัวกับรองข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ให้ช่วยจัดเรือยนต์นำท่านออกเดินทางไป ‘เอ้หมึง’ (อามอย) ทั้งนี้เพื่อปกปิดมิให้สายลับของฝรั่งเศสได้ระแคะระคาย เท่ากับว่าเหวียนอ๋ายก๊วก ผู้ถูกจับในฮ่องกงได้หายตัวออกจากฮ่องกงไปอย่างไร้ร่องรอย

ในระยะนั้นมีข่าวออกมาว่า เหวียนอ๋ายก๊วกถึงแก่กรรมแล้วในคุกที่เกาะฮ่องกงเนื่องจากวัณโรค ทำให้ทางสายลับฝรั่งเศสล้มเลิกการติดตาม แต่ก็ทำให้สหายเวียดนามทั้งในประเทศและที่กำลังศึกษาในโซเวียตที่ทราบข่าวนี้ มีความอาลัยรักและจัดพิธีรำลึกถึงท่านผู้เป็นวีรบุรุษ แต่จากปากคำของมิสเตอร์และมิสซิสลูสบีย์ ท่านทั้งสองปล่อยข่าวนี้ออกมาเองเพื่อการอำพราง

เหวียนอ๋ายก๊วกรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณทนายความลูสบีย์อย่างที่สุด และเมื่อเป็นประธานของประเทศแล้วก็ได้มีหนังสือแสดงความขอบคุณทนายความชาวอังกฤษผู้นี้ ต่อมาในต้นปี ค.ศ. 1960 ก็ได้เชิญมิสเตอร์ลูสบีย์พร้อมด้วยภรรยาและบุตรสาวให้เดินทางไปเยี่ยมประเทศเวียดนามทางตอนเหนือ รวมทั้งร่วมฉลองวันตรุษเวียดนามกับท่านในปีนั้นด้วย ซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจระลึกบุญคุณของผู้มีพระคุณ ท่านปฏิบัติเช่นนี้กับอีกหลายต่อหลายท่านที่มีส่วนส่งเสริมให้ภารกิจการอภิวัฒน์เวียดนามสำเร็จลุล่วง สำหรับมิสเตอร์ลูสบีย์ ถึงแม้จะชราภาพมากแล้วก็ยังได้เห็นการสถาปนาประเทศเวียดนาม จึงเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจอย่างยิ่งในชีวิตของเขาผู้มีใจรักความเป็นธรรม

เอ้หมึง หรือที่อังกฤษเรียกว่า อามอย เป็นเมืองท่าทางตอนใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน ทิศใต้ติดกับเขตเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ชาวจีนโพ้นทะเลชาวฮกเกี้ยนแห่งเมืองเอ้หมึง ได้เดินทางไปทำมาหากินทางเอเชียอาคเนย์หลายเมือง โดยเฉพาะสิงคโปร์ มลายู ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นอกจากสังกัดเส้นสายจัดตั้งหนานหยางก็มียังหน่วยงานอยู่ที่เอ้หมึงเช่นกัน

เหวียนอ๋ายก๊วกคงอยู่ในการดูแลกลายๆ ของหนานหยางที่เอ้หมึง เพราะการติดคุกอยู่ในฮ่องกงร่วม 2 ปี ทำให้ตัดขาดจากโลกภายนอก ตามหลักการและวิธีปฏิบัติขององค์กรจัดตั้ง ผู้ที่พ้นจากการจับกุมมาจะต้องถูกดูแลอย่างห่างๆ ไม่อาจติดต่อกับหน่วยงานเดิมหรือหน่วยเหนือได้ จนกว่าพิสูจน์ได้ว่า ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านนั้นได้มอบกายใจไว้ให้กับการอภิวัฒน์อย่างสิ้นเชิง

ประเทศจีน เมื่อเจียงไคเช็คปราบปรามคอมมิวนิสต์จีนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1927 เป็นต้นมา ถ้าสายลับก๊กมินตั๋งพบผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ก็จะสังหารสิ้น เหวียนอ๋ายก๊วกเองถึงแม้ว่าไม่ใช่ชาวจีน แต่ก็เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาพอสมควร ฉะนั้น การอยู่ในจีนแม้กระทั่งเมืองเอ้หมึงที่มีหน่วยหนานหยางดูแลก็ไม่น่าปลอดภัย

เหวียนอ๋ายก๊วกมีความต้องการเดินทางไปโซเวียต เพราะที่นั่นยังมีนักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานเวียดนามอยู่ไม่น้อย พวกเขากำลังศึกษาทฤษฎีและแนวทางการเมืองในมหาวิทยาลัยตะวันออก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการกู้ชาติในเวลาต่อไป และจะช่วยท่านจัดรูปขบวนให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เส้นทางจากจีนเข้าสหภาพโซเวียตที่ค่อนข้างสะดวกอีกเส้นหนึ่งคือทางเรือจากเซี่ยงไฮ้ไปเมืองวลาดิวอสต็อก ดังนั้น ท่านจึงต้องเล็ดลอดโดยเดินทางด้วยเรือจากเอ้หมึงไปเซี่ยงไฮ้ ซึ่งระยะทางห่างกันไม่กี่ร้อยไมล์

เซี่ยงไฮ้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมยึดเขตต่างๆ ในเซี่ยงไฮ้เป็นเขตเช่าของตน เช่น เขตอังกฤษ เขตฝรั่งเศส เขตญี่ปุ่น และเขตนานาชาติ เป็นต้น ตามสภาพแห่งสิทธินอกอาณาเขต มีกองทหารกองตำรวจของตนเอง สำหรับเขตเช่าของฝรั่งเศสก็แน่นอนว่าสันติบาลฝรั่งเศสติดตามและบางครั้งก็จับกุมชาวเวียดนามผู้รักชาติ เมื่อเหวียนอ๋ายก๊วกเดินทางถึงเซี่ยงไฮ้ก็ยังต้องหลบซ่อน โดยเฉพาะไม่เข้าเขตเช่าฝรั่งเศสเด็ดขาด

ความพยายามที่จะโดยสารเรือโซเวียตก็ประสบความสำเร็จในที่สุด ด้วยการช่วยเหลือของมิตรสหายหลายฝ่าย แม้กระทั่งมีการกล่าวว่า มาดามซุงชิ่งหลิง ภริยาหม้ายของท่าน ดร.ซุนยัดเซ็น ก็ได้ให้ความช่วยเหลือ และติดต่อกับผู้จัดการบริษัทเดินเรือโซเวียตในเซี่ยงไฮ้ให้รับตัวท่านขึ้นเรือ แล้วเหวียนอ๋ายก๊วกก็เดินทางไปถึงจุดหมายโดยปลอดภัย

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, ในดินแดนฮ่องกง, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 65 - 72.

บทความที่เกี่ยวข้อง :