ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : สหภาพโซเวียต (ตอนที่ 4)

18
กุมภาพันธ์
2566

ด้วยการช่วยเหลือของชาวคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและเยอรมัน เหวียนอ๋ายก๊วก เดินทางจากกรุงปารีสโดยทางรถไฟไปยังเมืองฮัมบูร์ก เมืองท่าทางตอนเหนือของเยอรมนี แล้วเดินทางต่อไปโดยทางเรือ ไปยังเมืองเลนินกราด ปัจจุบันมีชื่อว่าเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในสหภาพโซเวียต เมื่อฤดูร้อนของ ค.ศ. 1923 จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังนครมอสโค นครหลวงของประเทศสหภาพโซเวียต

ในการเดินทางไปสหภาพโซเวียตครั้งนี้ ท่านมีความมุ่งมาดปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้พบกับ เลนิน ผู้นำสหภาพโซเวียต ผู้ทำความสำเร็จในการอภิวัฒน์ใหญ่ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1917 แต่ก็มิได้มีโอกาสพบ เพราะเลนินล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรม 

เลนิน เป็นบุคคลที่ เหวียนอ๋ายก๊วก ให้ความเคารพนับถือ ซึ่งได้เสนอและชี้นำแนวทางในการกอบกู้อิสรภาพของเวียดนาม และจากบทความของเลนินหลายบทนั้น เหวียนอ๋ายก๊วกก็ได้ศึกษาและมีความเห็นต้องด้วยหลายประการ

เลนินได้สร้างสถาบันที่มีชื่อว่า สถาบันตะวันออก สำหรับผู้ปฏิบัติงานเข้ามาศึกษาและมาจากประเทศที่กำลังต่อสู้กับประเทศจักรวรรดินิยมทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยังตกเป็นเมืองขึ้นของเหล่าจักรวรรดินิยม เช่น เวียดนาม เป็นต้น ในสถาบันตะวันออกนี้เองมีนักศึกษาเวียดนามเข้ารับการศึกษาอบรมทฤษฎีความคิดมาร์กซ์-เลนิน อยู่หลายรุ่น

สถานการณ์ในสหภาพโซเวียต แม้ผ่านการอภิวัฒน์ใหญ่ในเดือนตุลาคมมาแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ยังมิได้มีความสงบโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะกองกำลังฝ่ายขวาหรือกองกำลังรัสเซียขาวของเดนิกิน ก็ยังทำการก่อกวนบ่อนทำลายความสงบของประเทศอยู่ในหลายภูมิภาค ซึ่งมีความกว้างใหญ่ไพศาล ประกอบกับประเทศจักรวรรดนิยมตะวันตก ฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา ก็ทำการปิดล้อมประเทศเกิดใหม่อย่างสหภาพโซเวียต ไม่ต้องการให้เกิดและเติบโต แต่อยากให้ล่มสลายไป ฝรั่งเศสเองถึงกับส่งเรือปืน เรือพิฆาตเข้ามาแทรกแซงสนับสนุนรัสเซียขาวตามบริเวณเมืองท่าในทะเลดำ เช่น โอเดสซา และเซวัสโตโปล เป็นต้น

สหภาพโซเวียตในขณะนั้นจึงมีความอดอยากแร้นแค้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องทำการต่อสู้กับกลุ่มพวกระบบเก่า อันได้แก่ พวกรัสเซียขาวและประเทศตะวันตก การพัฒนา การทำไร่ไถนา หรือการพัฒนาความมั่นคงของประเทศมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย

 

โฮจิมินห์กับนักอภิวัฒน์แอฟริกันที่โซเวียต
โฮจิมินห์กับนักอภิวัฒน์แอฟริกันที่โซเวียต

 

เวลาส่วนใหญ่ของเหวียนอ๋ายก๊วกในมอสโกใช้ไปในการศึกษาความคิดทางทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน และเขียนบทความเสนอความเห็นให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการขององค์กรโคมินเติร์น ให้เข้าใจถึงสภาพราษฎรของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมเมืองขึ้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วราษฎรในประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมมีความยากลำบากยิ่งกว่ากรรมกรในประเทศทุนนิยมตะวันตกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะผู้ที่ดูแลรับผิดชอบในองค์กรโคมินเติร์นส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปตะวันตก ความเข้าใจในสภาวะความเป็นอยู่ของราษฎรในอาณานิคมก็หาได้มีความเข้าใจอย่างชัดแจ้งไม่ จึงเป็นหน้าที่ของท่านต้องใช้ความพยายามชี้แจงให้เกิดความกระจ่างแจ้ง และก็ได้รับผลดีอย่างมาก

ในขณะเดียวกันนั้น ปรากฏมีชาวคอมมิวนิสต์อาวุโสของอินเดียซึ่งทำงานดูแลภาคพื้นตะวันออกตั้งแต่อินเดียไปจนถึงตะวันออกไกล บุคคลผู้นี้มีชื่อว่า เอ็ม.เอ็น. รอย (M.N. ROY) นายรอยผู้นี้ได้เขียนหนังสือชื่อว่า ‘บุคคลที่ข้าพเจ้าได้พบปะ’ (Men I Met) น่าประหลาดใจว่า ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใดเขาจึงอิจฉาริษยาผู้ปฏิบัติงานชาวคอมมิวนิสต์หนุ่ม คือ เหวียนอ๋ายก๊วก หรือเพราะท่านทำงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับนับถือจากมิตรสหายชาวคอมมิวนิสต์ชาติต่างๆ อย่างมาก

เอ็ม.เอ็น. รอย บรรยายเรื่องราวของเหวียนอ๋ายก๊วก ซึ่งดูไปแล้วเป็นการให้ร้ายและขัดต่อข้อเท็จจริง เขาได้กล่าวว่า เมื่อเหวียนอ๋ายก๊วกมาถึงมอสโกก็ทำตัวฉุยฉายอยู่ตามบริเวณจตุรัสแดงเพื่อมองดูสาวเดินผ่านไปมา ทำประหนึ่งว่าใช้ชีวิตแบบที่เขาเคยอยู่ใน ‘การ์ติเอลาแตง’ และ ‘มงต์มาร์ต’ เมืองปารีส 

เขากล่าวว่า เหวียนอ๋ายก๊วกไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย เต๊ะท่าไปมาและคอยแต่ประจบเอาใจเจ้าหน้าที่เบื้องสูง คำกล่าวหาเหล่านี้ผิดจากข้อเท็จจริงที่เราทั้งหลายได้ทราบมาถึงประวัติการต่อสู้ของท่านทั้งสิ้น ดังนั้น เอ็ม.เอ็น. รอย จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยชาวคอมมิวนิสต์จีน ท่านประธานเหมาเจ๋อตง ก็พูดวิพากษ์วิจารณ์ เอ็ม.เอ็น. รอย ผู้นี้ว่า มิได้มีความจริงใจต่องานอภิวัฒน์เลย

หลังจากเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวและพิมพ์ในประเทศอินเดียแล้ว ก็ไม่ทราบว่าชื่อเสียงของ เอ็ม.เอ็น. รอย หายไปไหน แต่ถ้าโดยทางความคิดแล้วเขามีลักษณะคล้ายคนยกตนข่มท่าน ถือว่าตัวดีวิเศษกว่าคนอื่น ภาษาอังกฤษก็เขียนสละสลวยได้ใจความดีกว่าคนอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเสียอีก แต่ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าคอมมิวนิสต์อินเดียหาได้ประสบผลสำเร็จอะไรไม่ นอกจากบางครั้งมีการไปเดินขบวนประท้วงหน้าโลกสภาหรือรัฐสภา เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านนโยบายรัฐบาล และถ้าดูตามข่าวสารหรือที่ปรากฏทางทีวีก็เห็นนักเดินขบวนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มือปืนรับจ้าง เห็นหน้าซ้ำๆ กันทุกที่จนดูรู้ว่าพวกนี้ได้รับสินจ้างให้มาเดินขบวนดังกล่าว

การให้ร้ายป้ายสีของ เอ็ม.เอ็น. รอย จึงไม่ได้รับความสนใจ และสิ่งที่เขาเขียนโกหกยกตนข่มท่านเหล่านี้ผลเสียก็ตกกับตัวเขาเอง ตรงข้ามกับเหวียนอ๋ายก๊วก ท่านกลับได้รับความนิยมนับถือ และได้รับความรับผิดชอบการมากขึ้น ในที่สุดก็สามารถทำหน้าที่ในองค์กรโคมินเติร์นดูแลภาคพื้นตะวันออกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ภายหลังมรณกรรมของเลนิน การต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำของพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตได้ก่อตัวขึ้น โดยสตาลินผู้นำกลุ่มหนึ่ง และทรอตสกี้อีกกลุ่มหนึ่ง ในที่สุดสตาลินก็สามารถกำจัดทรอตสกี้และกลุ่มของพวกเขาได้เด็ดขาด มีอำนาจในการบริหารพรรคฯ และประเทศอย่างเต็มที่ ความผิดถูกในข้อทฤษฎี แนวทางของสตาลินและแนวทางของทรอตสกี้เป็นอย่างไรนั้นยังยากที่จะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังส่วนใหญ่ก็มาจากทางกลุ่มสตาลิน ส่วนกลุ่มของทรอตสกี้ถูกกวาดล้างอย่างสิ้นซาก และถึงแก่ชีวิตไปเป็นจำนวนมาก 

ขณะเหวียนอ๋ายก๊วกอยู่ที่กรุงมอสโกในสถาบันตะวันออกนั้น ต่อการประชุมของสมัชชาโคมินเติร์น และองค์กรที่เกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ท่านได้มีส่วนร่วมในการประชุมหลายครั้งหลายหน และถกปัญหาเกี่ยวกับชาวนา กรรมกร ผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย เพื่อสรุปบทเรียน หาทางออก ทำให้ท่านมีมิตรสหายจำนวนไม่น้อย ในส่วนที่ถูกกำจัดออกไปเพราะอยู่ข้างฝ่ายทรอตสกี้ก็มี ส่วนที่อยู่กับแนวใหญ่ของสตาลินก็ได้ให้การสนับสนุนท่านตลอดมา ท่านรักษาสถานภาพที่ดีของตนเองไว้ได้ ทั้งเน้นความต้องการที่จะไปทำงานทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งมีดินแดนติดต่อกับภาคเหนือของเวียดนาม

เหวียนอ๋ายก๊วกอยู่ในสหภาพโซเวียตเป็นเวลาปีเศษ คือในปี ค.ศ. 1923 ถึง ค.ศ. 1924 และในที่สุดจากการเรียกร้องของท่านที่ต้องการไปปฏิบัติงานในประเทศจีน โดยเฉพาะทางตอนใต้ติดกับเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนจากสหายคอมมิวนิสต์ในกลุ่มโคมินเติร์น ทางโคมินเติร์นจึงมีมติส่งท่านไปช่วยอยู่ในหน่วยงานของ นายพลโบโรดิน ซึ่งทางการสหภาพโซเวียตส่งไปเป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยของจีน

ในปี ค.ศ. 1924 นั้น ทางประเทศจีนได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นแล้ว และก็ได้ร่วมมือกับพรรค ก๊กมินตั๋ง ที่ก่อตั้งโดย ดร.ซุนยัดเซ็น ทางสหภาพโซเวียตสนับสนุนต่อกำลังอภิวัฒน์จีนเพื่อต่อสู้กับขุนศึกกลุ่มต่างๆ ในประเทศจีน

การไปจีนตอนใต้ของเหวียนอ๋ายก๊วกนับว่าเป็นผลดีอย่างยิ่ง เพราะมีโอกาสการพบปะกับพี่น้องคนหนุ่มสาวชาวเวียดนาม ผู้ต่อสู้กับพวกล่าอาณานิคมฝรั่งเศส แล้วเล็ดลอดมาอยู่ที่เมืองกวางตุ้ง กำลังจากส่วนนี้หลายสิบคนได้เข้ารับการฝึกอบรมในโรงเรียนนายร้อยหวังปู ซึ่ง ดร.ซุนยัดเซ็น เป็นผู้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองกำลังสำหรับส่งไปปราบขุนศึกทางภาคเหนือ ท่านจึงใช้โอกาสนี้จัดตั้งสมาคมเยาวชนเวียดนาม และสามารถสร้างข่ายงานเบื้องต้นของปฏิบัติการกู้เอกราชตามเขตชายแดนทางใต้ของจีน ได้แก่ ทางมณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางสี มณฑลยูนาน และตามชายแดนตอนเหนือของเวียดนาม ได้แก่ เมืองลาวกาย กาวบั่ง และหล่างเซิน เป็นต้น

การปฏิบัติงานของเหวียนอ๋ายก๊วก ด้านหนึ่งก็ทำการอยู่ในสำนักของนายพลโบโรดิน มีหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายจีน ทั้งฝ่ายจีนคณะชาติ จีนคอมมิวนิสต์ งานอีกด้านหนึ่งก็คือ การรวบรวมจัดตั้งเยาวชนเวียดนามที่จำนวนไม่น้อยในมณฑลกวางตุ้ง เพื่อเตรียมกำลังไว้ปฏิบัติงานในภายภาคหน้า ส่วนการศึกษาความเป็นอยู่ของชาวนาจีน ท่านได้ติดต่อสร้างสัมพันธ์โดยเฉพาะกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาและหนทางออกของชาวจีนในขณะนั้น สำหรับทางจีนคณะชาตินั้นท่านได้ติดต่อสร้างสัมพันธ์เช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ เหวียนอ๋ายก๊วกสามารถทำงานได้หลายด้านและประสบผลดีเป็นอย่างยิ่ง แต่การปฏิบัติภารกิจอย่างหามรุ่งหามค่ำนี้ทำให้สุขภาพของคนอายุยังไม่ถึง 40 ปี และมีรูปร่างเล็ก ถึงกับเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ

ปี ค.ศ. 1927 การเมืองภายในประเทศจีนเกิดความตึงเครียด สำนักงานของโบโรดินต้องถอนตัวออกไป เจียงไคเช็คผู้นำจีนคณะชาติต่อจากซุนยัดเซ็นหักหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนเกิดการต่อสู้ขึ้นระหว่างจีนคณะชาติและคอมมิวนิสต์จีน ทำให้เหวียนอ๋ายก๊วกต้องเดินทางออกจากประเทศจีนกลับมายังโซเวียตอีกครั้งหนึ่ง 

 

กรรมกรเมืองฮอนกาย และชาวสวนยางเมืองฟู่เหรี่ยง หยุดงานเรียกร้องสิทธิ์ ใน ปี ค.ศ. 1930
กรรมกรเมืองฮอนกาย และชาวสวนยางเมืองฟู่เหรี่ยง หยุดงานเรียกร้องสิทธิ์ ใน ปี ค.ศ. 1930

 

กรรมกรเมืองฮอนกาย และชาวสวนยางเมืองฟู่เหรี่ยง หยุดงานเรียกร้องสิทธิ์ ใน ปี 1930
กรรมกรเมืองฮอนกาย และชาวสวนยางเมืองฟู่เหรี่ยง หยุดงานเรียกร้องสิทธิ์ ใน ปี 1930

 

ในขณะนั้น ฟานโบ่ยเจอว ผู้ริเริ่มขบวนการกอบกู้อิสรภาพของชาวเวียดนาม ซึ่งอยู่ในระดับของชนชั้นกลางของเวียดนามก็พำนักอยู่ในจีนใต้ เหวียนอ๋ายก๊วกมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับฟานโบ่ยเจอวเช่นกัน ทั้งๆ ที่ฟานโบ่ยเจอวมิได้เป็นคอมมิวนิสต์

ฟานโบ่ยเจอว ผู้ดำเนินการต่อสู้กับฝรั่งเศสนั้น ทีแรกเห็นว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศในทวีปเอเชียและชาวเอเชียด้วยกัน มีความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านเทคโนโลยีสูง และในปี ค.ศ. 1905 สามารถเอาชนะต่อจักรวรรดิรัสเซีย จึงหันไปคบหาและขอความช่วยเหลือสนับสนุน ทั้งได้ส่งเยาวชนชาวเวียดนามจำนวนหลายสิบคนไปทำการฝึกวิชาทหารในญี่ปุ่น แต่ผลที่สุดก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่ช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะญี่ปุ่นก็มีความต้องการยกฐานะตนเองเทียบเท่าประเทศมหาอำนาจตะวันตกขณะนั้น และอีกประการหนึ่ง ญี่ปุ่นมีความมักใหญ่ใฝ่สูง เตรียมการที่จะปกครองเอเชียเสียเอง ทำให้กลุ่มของฟานโบ่ยเจอวผิดหวังเป็นอย่างมากและถอนกำลังกลับมาอยู่ทางจีนใต้

แม้แผนการมุ่งสู่ตะวันออกเพื่อหาแนวทางกู้เอกราชไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กระนั้นต้องถือว่าฟานโบ่ยเจอวและกลุ่มของท่านเป็นผู้ทำการต่อสู้เพื่อชาวเวียดนามในขั้นต้น ก่อนที่เหวียนอ๋ายก๊วกจะเข้ามาเคลื่อนไหว และประกอบความคิดทฤษฎีมาร์กซ์-เลนินอันถูกต้อง นำพาไปสู่ความสำเร็จในเวลาต่อมา

สำหรับเหตุการณ์ที่เมืองกวางตุ้งก่อนเหวียนอ๋ายก๊วกเดินทางมาถึง มีผู้รักชาติชาวเวียดนามคนหนึ่งชื่อ ฝ่ามห่งถาย บุคคลผู้นี้เข้าไปลอบสังหารข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีนที่ชื่อ มอร์แลง ณ บริเวณเขตเช่าเกาะซาเมียน ในระหว่างงานเลี้ยงรับรองต้อนรับข้าหลวงใหญ่ผู้นี้โดยทางการอังกฤษ ฝ่ามห่งถายปลอมตัวเป็นนักข่าวเข้าไปร่วมในพิธีเลี้ยงรับรอง พร้อมทั้งนำระเบิดติดตัวไปด้วย เมื่อเกิดระเบิดก็มีผู้คนบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ไม่อาจสังหารข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสได้ ฝ่ามห่งถายหนีออกจากบริเวณเกาะซาเมียน กระโดดลงแม่น้ำตรงหน้าเกาะเพื่อปลิดชีพตัวเอง

แม้วิธีการนั้นยังไม่ถูกต้อง หรือไม่อาจนำไปสู่ความสำเร็จอย่างหนึ่งอย่างใดได้ กระนั้นต้องถือว่าฝ่ามห่งถายเป็นวีรบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของชาวเวียดนาม

หลังจากภารกิจครั้งแรกในประเทศจีน เหวียนอ๋ายก๊วกเดินทางกลับสหภาพโซเวียตอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อพักฟื้นรักษาสุขภาพจนแข็งแรงดีแล้ว ก็ได้เข้าศึกษาเพิ่มเติมทางหลักทฤษฎีมาร์กซ์-เลนิน ณ มหาวิทยาลัยเลนิน เป็นหลักสูตรระยะสั้น (6 เดือน) คือเป็นการสรุปทฤษฎีเข้าสู่การปฏิบัติจากประสบการณ์ของท่านนับแต่แรกเริ่ม ท่านใช้ชื่อเป็นภาษารัสเซีย ลินนอฟ ซึ่งสหายเวียดนามในโซเวียตได้เรียกท่านว่า สหายลิน และในเวลาเดียวกันนี้ท่านก็เป็นผู้ให้ความรู้เพิ่มเติมแก่สหายชาวเวียดนามที่กำลังศึกษาอยู่ในโซเวียต และสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้คือ ความสามัคคี ซึ่งท่านเน้นกับสหายร่วมชาติให้เห็นถึงปัจจัยอันสำคัญนี้ที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ

ท่านใช้เวลาในโซเวียตครั้งนี้ประมาณหนึ่งปี คือในปี ค.ศ. 1927 - ค.ศ. 1928 หลังจากนั้นทางองค์กรโคมินเติร์น ได้มอบหมายภารกิจใหม่ให้เดินทางเข้าสู่สยาม

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, สหภาพโซเวียต, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 45 - 52. 

บทความที่เกี่ยวข้อง :