เบื้องแรกทางการโคมินเติร์นต้องการให้เหวียนอ๋ายก๊วกกลับไปปฏิบัติงานในประเทศจีนอีก เพราะผลงานได้รับการยอมรับและมีสัมพันธ์อันดีกับชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกได้ว่ามีความเหมาะสม แต่ท่านเสนอที่จะไปปฏิบัติงานในสยาม ทั้งนี้นอกจากจะได้ร่วมมือกับชาวคอมมิวนิสต์จีนโพ้นทะเลแห่งกลุ่มหนานหยาง (ทะเลใต้) แล้ว ยังสามารถเข้าไปช่วยดูแลนำการจัดตั้งชาวเวียดนามในประเทศไทย (เวียดเกี่ยว) สร้างฐานการฝึกอบรมเพื่อปฏิบัติการกู้ชาติ จากสยามข้ามโขงผ่านลาวเข้าสู่ประเทศเวียดนามต่อไปในที่สุด โคมินเติร์นเห็นด้วยในข้อเสนอ มีมติให้ท่านในฐานะตัวแทนไปปฏิบัติงานในสยาม ครอบคลุมพื้นที่สยาม มลายู และอินโดจีน
องค์กรจัดตั้งของกลุ่มหนานหยางก็คือสาขาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเอเชียอาคเนย์ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 พรรคฯ ได้ก่อตั้งขึ้นหลังความสำเร็จในการอภิวัฒน์ใหญ่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 เป็นเวลา 3 ปีเศษ
พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋งในระยะเริ่มแรก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1927 เกิดการแตกแยก เจียงไคเช็กผู้นำก๊กมินตั๋งสั่งให้มีการปราบปรามสังหารชาวคอมมิวนิสต์อย่างเหี้ยมโหด คอมมิวนิสต์หนุ่มส่วนมากเป็นนักศึกษาปัญญาชน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีญาติพี่น้องอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ต่างแฝงตัวหลบออกนอกประเทศเข้ามาร่วมกับองค์กรหนานหยาง ทำให้หน่วยงานนี้มีความมั่นคงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอาศัยการเคลื่อนไหวในหมู่ชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศนั้น การเข้าถึงชาวพื้นเมืองเจ้าของประเทศจึงไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทางโคมินเติร์นตัดสินใจส่งท่านเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เพราะทราบดีว่าแม้หนานหยางขึ้นกับโคมินเติร์น แต่ทางด้านจิตใจสายเลือดนั้นโยงใยอย่างลึกซึ้งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน มิใช่พรรคโซเวียต
ต้นฤดูใบไม้ผลิแห่งปี ค.ศ. 1928 เหวียนอ๋ายก๊วกโดยสารเรือเดินสมุทรออกจากเมืองท่าเยนัวในประเทศอิตาลี การเดินทางครั้งนี้ท่านมาในฐานะผู้โดยสารที่มีระดับ มิใช่ผู้ช่วยคนครัวเหมือนครั้งเดินทางจากเวียดนามมาเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ด้วยหนังสือเดินทางของชาติยุโรปตะวันตกที่ทางเครือข่ายโคมินเติร์นจัดหาให้ ท่านวางมาดเป็นพ่อค้าจีนโพ้นทะเลในนามมิสเตอร์ไล พื้นเพชาวกวางตุ้ง เพราะท่านถนัดภาษาจีนกวางตุ้งในสมัยที่ปฏิบัติงานในจีนอยู่แล้ว เส้นทางเดินเรือยุโรป-เอเชีย ก็เป็นเส้นทางเดียวกับขามาจากเอเชีย-ยุโรป คือวิ่งผ่านคลองสุเอซ ปอร์ตซาอิด ทะเลแดง โคลัมโบ และสิงคโปร์ ซึ่งอาจสุดปลายทางที่ญี่ปุ่น
ท่านขึ้นบกที่สิงคโปร์ มีหน่วยงานหนานหยางให้การดูแลต้อนรับ ก่อนออกเดินทางเข้าสู่บางกอกแห่งกรุงสยาม เพราะเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ไม่เข้าเทียบท่าบางกอก เนื่องจากไม่ค่อยสะดวกในการผ่านสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยา ฉะนั้นจึงมีเรือเดินสมุทรขนาดย่อมกว่าเดินทางระหว่างสิงคโปร์-กรุงเทพฯ เรือที่เดินทางไปมาลำหนึ่งชื่อเรือโกลา ระวางขับน้ำคงจะประมาณ 1,000 ตัน ที่สิงคโปร์ในระหว่างรอเรือเข้ากรุงเทพฯ หน่วยหนานหยางได้จัดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้ท่านดูสมฐานะพ่อค้าจีนจากโพ้นทะเลผู้มั่งคั่งวัย 30 เศษๆ และเป็นเสื้อผ้าที่นิยมใส่ในเขตเมืองร้อน ซึ่งย่อมต่างกับทางยุโรป
เรือเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในกลางปี ค.ศ. 1928 เข้าเทียบที่ท่าเรือบีไอ ขณะนั้นยังไม่มีการก่อสร้างท่าเรือคลองเตย สำหรับท่าเรือบีไอนั้น เป็นท่าเรือเก่าแก่แห่งแรกของกรุงสยามที่ทางบริษัทต่างชาติในยุโรป เช่น อีสต์เอเชียติ๊คแห่งเดนมาร์ก บอมเบย์เบอร์ม่า และหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ของอังกฤษ ได้ใช้ในการขนสินค้าประเภทไม้สักที่ได้รับสัมปทานจากทางภาคเหนือของสยาม และข้าวจากภาคกลางเป็นสินค้าส่งออก และนำสินค้าจากยุโรปเข้ามาจำหน่ายเช่นกัน
การเดินทางเข้าสู่สยามของท่านนั้น มีนักเขียนประเภทคัดลอกประวัติได้เขียนไปในทำนองว่าเป็นการหลีกลี้ภัย และยังอ้างจากนักเขียนตะวันตกว่าบางครั้งต้องปลอมตัวเป็นพระภิกษุ ทั้งนิกายสยามวงศ์และอานามนิกาย ซึ่งเท่ากับนั่งเทียนยกเมฆผิดสภาพความเป็นจริง เพราะท่านเข้ามาอยู่ในสยามเพียงปีเศษ ภาษาไทยที่พอพูดได้บ้างก็ออกสำเนียงอีสาน ซึ่งกิจวัตรของสงฆ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ท่านย่อมไม่กระทำสิ่งใดอันกระทบกระเทือนต่อผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนา
จุดแรกเมื่อขึ้นบกที่กรุงเทพฯ ท่านตรงไปวัดโลกานุเคราะห์ วัดญวนมีชื่อเป็นภาษาเวียดนามว่า ตื้อเต๊ ตั้งอยู่ถนนราชวงศ์ใกล้ถนนเยาวราช ชุมชนชาวจีนหนาแน่น และบริเวณห่างจากวัดนี้ไปไม่เกิน 100 เมตร มีสี่แยกเล็กๆ ชาวจีนเรียกขานว่า ‘สี่แยกปลุกระดม’ ทั้งนี้เพราะ ดร.ซุนยัดเซ็น บิดาแห่งสาธารณรัฐจีนได้กล่าวปราศรัยต่อชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อ 2-3 ปีก่อนการอภิวัฒน์ซิงไห่ ที่โค่นล้มราชวงศ์ชิงเป็นผลสำเร็จในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911
การที่ท่านเดินทางมาวัดนี้เป็นแห่งแรกเพราะมีการติดต่อกับเจ้าอาวาสชาวเวียดนามผู้รักชาติท่านหนึ่ง ซึ่งมีขอบข่ายการติดต่อกับชาวเวียดนามทั้งหลายในสยาม อีกทั้งที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้ศูนย์กลางหนานหยางในประเทศสะดวกที่จะติดต่อทำงานร่วมกัน
วัดพระอานามนิกายหรือพระญวนนั้น ปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 20 แห่งทั่วประเทศ พระที่เป็นชาวเวียดนามคงไม่เหลืออยู่ จะมีแต่พระคนไทยเชื้อสายจีน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงจัดให้พระอานามนิกายเข้าร่วมพิธีสงฆ์ตามหลังพระจีนมหายานในพระราชพิธีมงคลต่างๆ ในวัง เช่น พิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งได้มีการพระราชทานสมณศักดิ์ เช่น พระบริหารอานามพรต องพจนกรโกศล ฯลฯ (คำว่า อง ในภาษาเวียดนามคือ ท่าน หรือ นาย นั่นเอง)
สมัยนั้น พระญวนรูปหนึ่งมีชื่อเสียงรู้จักกันดีในทางไสยศาสตร์การสะกดวิญญาณ ซึ่งนักเขียนประวัติโฮจิมินห์ชาวตะวันตกผู้หนึ่งทึกทักเองว่า พระญวนรูปนี้อยู่ในสายการจัดตั้งของท่านมาตั้งแต่ต้น ความจริงแล้วเป็นสิ่งตรงกันข้าม เขาผู้นี้อยู่เคียงข้างรับใช้ปฏิกิริยาสมัยเผด็จการครองเมือง กล่าวกันว่า สมัยจอมพล สฤษดิ์ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเผด็จการมาตรา 17 สั่งประหารชีวิตสหายรวม วงศ์พันธ์ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ปรากฏว่ามีวิญญาณของผู้ตายมาหลอกหลอนเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ควบคุม จนถึงกับต้องไปนิมนต์พระญวนผู้นี้มาทำพิธีปัดเป่าสะกดดวงวิญญาณ นอกจากนี้พระญวนยังทำพิธีไสยศาสตร์ให้กับพวกเผด็จการและลูกสมุนหลายครั้งหลายครา เขาผู้นี้คือ บ๋าวเอิง แห่งวัดญวนนางเลิ้ง หรือวัดสมณานามบริหารนั่นเอง
ต่อจากกรุงเทพฯ ท่านเดินทางขึ้นเหนือไปยังบ้านป่ามะคาบ ตำบลบ้านคง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มีชาวเวียดนามอาศัยทำมาหากินอยู่หลายครอบครัวส่วนใหญ่เป็นผู้รักชาติ เคยร่วมอยู่ในขบวนการต่อสู้กับฝรั่งเศสที่นำโดยฟานโบ่ยเจอว ทำให้เกิดเงื่อนไขอำนวยประโยชน์แก่การขยายงานจัดตั้งได้กว้างขวางออกไป
ในบรรดาครอบครัวชาวเวียดนามแห่งป่ามะคาบ มีครอบครัวอยู่สองครอบครัวที่มีประวัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ครอบครัวแรก รับเด็กที่เกิดจากคนไทยผู้ยากจนมาเลี้ยงดู เด็กน้อยคนนี้มีชื่อภาษาเวียดนามว่า ดึ๊ก แปลว่า คุณธรรม เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม สายการจัดตั้งชักนำให้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยสายนายเตียง ศิริขันธ์ แกนนำภาคอีสาน และต่อมาก็เคลื่อนไหวต่อสู้กู้เอกราชฝั่งลาว ได้ยืนหยัดสู้กับการโจมตีของฝรั่งเศสที่เมืองท่าแขก โดยร่วมอยู่ในกองกำลังผสมเวียดนาม-ลาว ภายใต้การบัญชาการของเสด็จเจ้าสุพานุวง และนายพลสิงกะโป จากนั้นลงไปปฏิบัติการทางภาคใต้ของลาว เขตเมืองอัดตะปือ สาละวัน และจำปาศักดิ์ จนได้ภรรยาชาวลาวที่นั่น และต่อสู้กับฝรั่งเศส ตลอดจนสู้กับลาวฝ่ายขวาที่มีจักรวรรดินิยมอเมริกาและเผด็จการไทยหนุนหลัง จวบจนพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้รับชัยชนะ สถาปนาประเทศลาวเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของประเทศท่านหนึ่ง
ครอบครัวที่สอง บิดามารดาของเด็กเคยถูกจับกุม และครอบครัวเด็กน้อยนี้เคยอยู่ในการจัดตั้งของสายเวียดนามมาก่อน ต่อมาก็เข้าไปอยู่กับทางสายจีน และถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ตั้งแต่วัยเด็ก ได้รับการฝึกอบรมในคุกจนเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อสู้เคลื่อนไหวตลอดมาด้วยความเข้มแข็ง จนครั้งหลังถูกจับกุมคุมขังในสมัยของสฤษดิ์-ถนอม เมื่อได้รับการปล่อยตัวก็ไปปฏิบัติงานเขตห้วยโก๋น จังหวัดน่าน ตำแหน่งในพรรคฯ รับผิดชอบสูงขึ้นจนเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไทยจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ไทยมิได้มีการประกาศยุบพรรคฯ อย่างเป็นทางการ
จากบ้านป่ามะคาบ จังหวัดพิจิตร ท่านได้ให้การศึกษาอบรมแก่ชาวเวียดนามผู้รักชาติ มีการจัดตั้งกลุ่มสร้างความสามัคคีและตีพิมพ์เอกสารเผยแพร่ เวลานั้นสิ่งพิมพ์จัดทำขึ้นด้วยความยากลำบาก ต้องใช้การเขียนด้วยมือและคัดลอกกันออกไป การพิมพ์แบบโรเนียวก็ต้องทำด้วยมือทั้งนั้น
ปรากฏว่าเอกสารสิ่งพิมพ์บางส่วนที่ลักลอบจัดส่งเข้าไปในเวียดนามตกไปอยู่ในมือของทางการฝรั่งเศส และเมื่อพิจารณาดูสำนวนการเขียน การใช้คำ ก็รู้แน่ชัดว่าเหวียนอ๋ายก๊วกเข้ามาอยู่ในสยามแล้ว
โด๋ฮึง (DO HUNG) คือสายลับคนสำคัญของทางการฝรั่งเศสที่อยู่ในสยาม ทำหน้าที่ติดตามกลุ่มต่อต้านชาวเวียดนาม และชี้ช่องให้ทางการสยามจับกุมแล้วหลายรายในจังหวัดพิจิตร กล่าวกันว่าบิดาของบุคคลนี้ทำงานรับใช้ฝรั่งเศสจึงถูกชาวเวียดนามสายงานของฟานโบ่ยเจอวฆ่าตาย เขาผู้นี้ผ่านการศึกษา จากวิทยาลัยอาณานิคมที่ปารีส และได้รับการฝึกฝนด้านการสืบราชการลับ การโจรกรรม จึงได้รับความไว้วางใจจากฝรั่งเศสให้ติดตามสืบสวนและชี้เบาะแสให้หน่วยงานของสยามทำการจับกุม เพื่อเนรเทศไปรอรับโทษประหารที่เวียดนาม
สถานทูตฝรั่งเศสใช้ความพยายามเสนอกระทรวงการต่างประเทศสยาม ให้เห็นมหันตภัย โดยยืนยันพร้อมแสดงหลักฐานหนาแน่นว่าเหวียนอ๋ายก๊วกเป็นพวกบอลเชวิค เพราะรู้ว่ารัฐบาลสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีความรู้สึกว่า พวกบอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินได้โค่นล้มระบบซาร์รัสเซียด้วยวิธีการที่รุนแรงและฉับพลันในปี ค.ศ. 1917 ในขณะนั้นยังมีเชื้อพระวงศ์ระดับหม่อมเจ้ากำลังทรงศึกษาอยู่ในรัสเซีย ซึ่งกว่าจะเดินทางกลับสยามมาได้ก็ด้วยความยากลำบาก และได้เห็นการปะทะกันระหว่างรัสเซียขาวแห่งระบบเก่ากับพวกบอลเชวิค
ฝรั่งเศสจึงหวังว่าการยกเอาเรื่องบอลเชวิคขึ้นมากล่าวถึงน่าจะได้ผลดีแก่ตัวเอง ก็คงลืมไปว่า ‘เหตุการณ์ ร.ศ. 112’ (ค.ศ. 1894) ได้ทำความเจ็บช้ำใจต่อชาวสยามและประเทศสยามมาอย่างไรบ้าง จึงไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก กระนั้นก็ตาม โด๋ฮึงก็มิได้ละลด เฝ้าติดตามเหวียนอ๋ายก๊วกทุกฝีก้าวตั้งแต่พิจิตรไปจนถึงอีสาน ซึ่งท่านก็เปลี่ยนใช้ชื่อแบบคนไทยว่า ลุงจิ๋น หรือ ลุงวง บ้าง
กระทั่งครั้งหนึ่งที่บ้านหนองโอน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ขณะที่ฟานกำลังร่วมมือกับชาวบ้านทั้งไทยและเวียดนาม บูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์วัดโพธิสมภรณ์ บริเวณใกล้กับที่พักของท่าน โด๋ฮึงนำตำรวจเข้ามาค้นหาเพื่อจับกุมแต่สมภารเจ้าอาวาสวัดนั้นได้ไล่ตำรวจกลับไป พร้อมแจ้งด้วยว่าที่นี่ไม่มีคนร้ายมีแต่คนดี ยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา นอกจากนั้น ท่านสมภารยังดูแลเลี้ยงปลาอาหารแก่ผู้มาช่วยงานวัด ทำให้ท่านเกิดความซาบซึ้งเป็นอันมาก
กร ตันชัย ชาวบ้านหนองโอน-หนองฮาง ซึ่งบิดาเป็นเพื่อนร่วมงานกับโฮจิมินห์ ช่วงอยู่สยาม ให้สัมภาษณ์ว่า “เฒ่าจิ๋นทำงานอย่างมีระเบียบ ท่านหามอิฐครั้งละ 20 ก้อน ได้หนึ่งเที่ยว เฒ่าจิ๋นก็กาเครื่องหมาย / ไว้ ครบสิบครั้ง เฒ่าจิ๋นก็หยุดพักชั่วครู่ แล้วก็หาบต่อไปจนครบจำนวนเหมือนทุกคน”
ความประทับใจเมืองไทยอีกเรื่องคือ เมื่อท่านออกเดินทางไหวเคลื่อนไหวกับชาวเวียดนามตามที่ต่างๆ ต้องค้างคืนกลางทาง ก็อาศัยวัดพักค้างแรมและได้การอนุเคราะห์อาหารการกินตามอัตภาพ ท่านบอกกับนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อตอนที่พบกันว่า รู้สึกซาบซึ้งน้ำใจไมตรีของคนไทย ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ และหวังใจว่าวัฒนธรรมอันดีงามจะยังคงมีอยู่ตลอดไป เมื่อปี ค.ศ. 1940 โด๋ฮึงประสบชะตากรรมของตนเอง เมื่อทางการไทยจับกุมฐานเป็นจารชนให้ฝรั่งเศส อันสืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ในอินโดจีน ศาลตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ถูกส่งเข้าเรือนจำบางขวาง พอดีขณะนั้นมีชาวเวียดนามถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์มาก่อน เมื่อผู้ต้องขังเหล่านั้นเห็นโด๋ฮึงถูกส่งตัวเข้ามาก็ ‘ต้อนรับน้องใหม่’ รวมถึงทุกครั้งที่มีการเจอหน้ากันภายในคุก โด๋ฮึงจึงสะบัก สะบอมเป็นประจำ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โด๋ฮึงได้รับการปล่อยตัว แต่ยังกลับไปรับใช้ฝรั่งเศสอีก โด๋ฮึงเดินเข้าเดินออกสถานทูตฝรั่งเศสเป็นว่าเล่น และติดตามการเคลื่อนไหวของฝ่ายเวียดนามตลอดเวลา ต่อมาโด๋ฮึงหายสาบสูญไป ไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีประการใด เท่ากับปิดฉากผู้ทรยศซึ่งครั้งหนึ่งมีหน้าที่ติดตามมุ่งร้ายต่อเหวียนอ๋ายก๊วก
การเดินทางของท่านจากพิจิตรไปอีสานในสมัยนั้น ต้องนั่งรถไฟลงมาที่ชุมทางบ้านภาษี แล้วต่อรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือไปสุดทางที่ขอนแก่น จากนั้นก็ต่อด้วยยานพาหนะต่างๆ ที่พึงมีไปจนถึงจังหวัดอุดรธานี
เหวียนอ๋ายก๊วกได้พบกับฮวงวันฮวาน ชายหนุ่มซึ่งได้รับการศึกษาในกลุ่มเยาวชนเวียดนามที่เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ฮวงวันฮวานเคยเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยหวังปูหรือไม่ ยังไม่กระจ่างชัดนัก อย่างไรก็ตามฮวงวันฮวานได้เขียนบันทึกแห่งความทรงจำของเขาในการปฏิบัติงานในสยามชื่อเรื่องว่า หยดหนึ่งในมหาสมุทร และกล่าวถึงผลงานที่ร่วมกับเหวียนอ๋ายก๊วก จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยาม
การเคลื่อนไหวที่บ้านหนองโอน จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอบรมให้การศึกษาจัดตั้งชาวเวียดนามในอีสาน ท่านปลูกกระท่อมไม้ไผ่แบบชาวชนบทในแถบนั้นไว้พักอาศัย ปัจจุบันมีการจัดสรรอาณาบริเวณแห่งนี้ให้เป็นอนุสรณ์ถึงท่าน จุดที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล 2
สำหรับฮวงวันฮวาน ลูกศิษย์รุ่นแรกของท่านในกวางตุ้ง ในปี ค.ศ. 1928 เขามีอายุเพียง 23 ปี นับว่ายังหนุ่มมาก ขณะที่เหวียนอ๋ายก๊วกมีอายุได้ 38 ปีแล้ว ทั้งสองร่วมกันทำงานในกลุ่มชาวเวียดนามอย่างเข้มแข็งและได้รับผลดีอย่างยิ่ง ท่านเน้นความสามัคคีทั้งในหมู่ชาวเวียดนามด้วยกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามัคคีกับคนไทยในท้องถิ่น ปรากฏว่าชาวไทยให้การต้อนรับและอยู่ร่วมกันอย่างมีไมตรีจิตมิตรภาพตราบเท่าทุกวันนี้
ส่วนงานด้านการศึกษาอบรมปลูกจิตสำนึกในการกอบกู้เอกราช ท่านได้เริ่มประยุกต์หลักลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ให้เป็นทฤษฎีชี้นำแบบที่จะเข้าใจง่ายและไม่ว่าจะเคลื่อนไหวที่จุดหนึ่งจุดใดในภาคอีสาน ท่านจะชักชวนให้ชาวเวียดนามปลูกต้นไม้ไว้เป็นอนุสรณ์ เช่นต้นมะม่วง มะขาม และมะพร้าว เป็นต้น นอกเหนือจากการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพื่อพึ่งตนเอง
จากจังหวัดอุดรธานี ท่านเดินทางไปจังหวัดนครพนม บนฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับเมืองท่าแขกของลาวที่ฝรั่งเศสปกครองอยู่ในขณะนั้น ณ บ้านนาจอก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ท่านพำนักอยู่หลายเดือนเพื่อติดต่อกับที่เวียดนามภาคกลาง โดยมีผู้ปฏิบัติงานกู้ชาติเดินทางเข้ามาเพื่อรับการฝึกอบรม และกลับไปขยายงานยังเวียดนาม นอกเหนือจากจังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครพนม ท่านยังได้ไปพักอาศัยชั่วคราวกับชาวเวียดนามที่จังหวัดหนองคาย และเด็กหลายจังหวัดริมฝั่งโขงปัจจุบัน คนไทยเชื้อสายเวียดนามในหลายท้องที่ต่างต้องการสร้างอนุสรณ์สถานแด่ท่าน
ภารกิจที่เหวียนอ๋ายก๊วกได้รับมอบหมายจากโคมินเติร์น คือการเป็นผู้แทนเข้ามาดูแลการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม และพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์นั้น ฮวงวันฮวานได้เขียนบันทึกไว้ว่า ตนเองมีส่วนเข้าร่วมในการประชุมบางครั้ง
การเข้ามาอยู่ในสยาม ท่านได้ประมวลข้อมูลรายงานต่อโคมินเติร์น ตามจดหมายโดย NAQ ชื่อย่อของเหวียนอ๋ายก๊วก ลงวันที่ 18-2-1930 (พ.ศ. 2473) ว่า
“1. ได้รับคำสั่งจากโคมินเติร์น มอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจในอินโดจีน (ญวน-ลาว-เขมร) ข้าออกจากประเทศเยอรมนีในราวเดือน 6-1928 (พ.ศ. 2471) ถึงประเทศสยาม (ไทย) ในเดือน 7-1928 (พ.ศ. 2471) ข้าได้ร่วมงานกับคนอานาม (เวียดนาม) อพยพ และอยู่จนถึงเดือน 11-1929 (พ.ศ. 2472)
2. เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมระหว่างที่อยู่ในประเทศสยาม (รวมทั้งลาวด้วย)
(a) - ประชากรอยู่กระจัดกระจาย ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ จำนวนน้อยนับถือศาสนาคริสต์
(b) - คนอานาม (เวียดนาม) ประมาณ 10,000 - 15,000 คน อพยพมาอยู่ในเมืองสยามและลาว กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคนที่อพยพมาหลายรุ่นนับถือศาสนาคริสต์
(c) - ด้านเศรษฐกิจ ยังไม่มีอุตสาหกรรม ทำการเกษตรแบบธรรมชาติตามฤดูกาล ล้าหลัง นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ที่ดินที่นารกร้างว่างเปล่า จับจองที่ได้ตามใจชอบ ไม่มีเงื่อนไข ไม่เสียภาษี การค้าส่วนมากตกอยู่ในมือคนจีน
(d) - ภูมิอากาศครึ่งปีอากาศร้อน อีกครึ่งปีอากาศหนาว การคมนาคมไม่สะดวก”
เหวียนอ๋ายก๊วกมิได้กล่าวถึงพรรคคอมมิวนิสต์สยามแต่ประการใด เข้าใจว่าท่านเห็นชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งกลุ่มหนานหยางเป็นผู้ดูแล มีสมาชิกเป็นคนจีนเกือบทั้งหมด จะมีเวียดนามบ้างก็ประปราย ส่วนคนท้องถิ่นชาวไทยกว่าจะหาเป็นสมาชิกได้นั้นยากเต็มทน เพิ่งจะพอมีบ้างก็คือคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นลูกหลานหรือเกี่ยวดองกับสมาชิกจีนนั่นเอง
แม้กระทั่งเมื่อเกิดมี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขึ้นในตอนต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เลขาธิการพรรคคนแรกก็คือ สหายหลี่หวา คนจีนที่ไม่ค่อยรู้ภาษาไทย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมุ่งมั่นดำเนินงานกู้ชาติกับชาวเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ เรื่องพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ก็เป็นหน้าที่ของกลุ่มหนานหยางต่อไป
งานที่ฮวงวันฮวานทำร่วมกับเหวียนอ๋ายก๊วกประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถพัฒนาบุคลากรเพื่อกลับไปปฏิบัติภารกิจกู้ชาติ เรียกว่าได้รับการนับถือจากเพื่อนร่วมชาติจำนวนไม่น้อย และต่อมาภายหลังได้รับการเลือกตั้ง และแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกแห่งกรมการเมืองของพรรคฯ (โปลิตบิวโร) อันเป็นตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดตำแหน่งหนึ่ง แต่ภายหลังเมื่อเหวียนอ๋ายก๊วกถึงแก่อสัญกรรมแล้ว เขาเกิดความขัดแย้งกับเลหย่วน เลขาธิการพรรคฯ ในขณะนั้น จนต้องหลบหลีกไปลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน เขาถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1991
มีเรื่องเกี่ยวพันกับไทยสมัยเผด็จการที่ฮวงวันฮวานเขียนถึงอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ในปีทศวรรษแห่ง ค.ศ. 1960 การประชุมเจนีวาได้ขยายวงอีกครั้งเกี่ยวกับกลุ่มประเทศในอินโดจีน มีไทยและเวียดนาม รวมทั้งประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ในการประชุมประเทศไทยได้ส่ง ดิเรก ชัยนาม เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบอนน์ เยอรมนี เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนไทย ส่วนฮวงวันฮวานเป็นคณะผู้แทนเวียดนาม ดิเรกนั้นไม่ทราบว่าฮวงวันฮวานรู้ภาษาไทยเป็นอย่างดี ในการบรรลุข้อตกลงข้อหนึ่ง นายดิเรกนักการทูตคร่ำหวอดแสดงความไม่พอใจที่ฝ่ายตะวันตกเสียเปรียบ จึงบ่นเป็นภาษาไทยขณะเดินผ่านฮวงวันฮวาน “ตายแล้ว เสียท่าพวกเขาหมด ตกลงกันไปได้อย่างไร” โดยฮวงวันฮวานมิได้แสดงท่าทีว่าฟังคำพูดของนายดิเรกออกอย่างชัดแจ้ง
ลุงจิ๋น หรือ ลุงวง ระหว่างอยู่เมืองไทย ซึ่งก็คือ เหวียนอ๋ายก๊วก ท่านมีความเมตตารักใคร่เด็กๆ เป็นพิเศษไม่ว่าเด็กจากครอบครัวของคนไทยหรือครอบครัวชาวเวียดนาม ทำให้สามารถสร้างสัมพันธภาพอันดีกับชาวบ้านทั่วไป และยังเป็นเกราะป้องกันภัยจากการติดตามของสายลับฝรั่งเศส
มีเรื่องหนึ่งที่ว่า นักการเมืองท้องถิ่นชาวไทยอ้างตนเคยพบท่าน ในขณะที่นักการเมืองผู้นี้ยังเป็นเด็ก ได้นอนเล่นบนตัก เอามือไปลูบคลำเคราของท่านเล่นเสมอ ซึ่งความจริงช่วงวัยกลางคนนั้นท่านมิได้ไว้เคราเลย เหตุเช่นนี้เพราะเมื่อท่านเป็นที่รู้จักทั่วโลก ก็มีคนชอบอวดอ้างว่าในอดีตเคยพบและรู้จักกับท่าน
ระยะเวลาที่ท่านเข้ามาเคลื่อนไหวในสยามร่วม 20 เดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1928 ถึงแม้ไม่นานนัก แต่ได้สร้างความสำเร็จแก่การจัดตั้งชาวเวียดนาม เพื่อเข้าสู่การต่อสู้กู้เอกราชที่ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกเวลา
เหตุการณ์ในเวียดนามมีการเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็ว พรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามได้ก่อตั้งขึ้นถึง 3 พรรค ขาดความเป็นเอกภาพ ท่านจึงต้องจากประเทศสยามเดินทางไปฮ่องกง เพื่อภารกิจใหม่ในการติดต่อกับตัวแทนพรรคทั้งสามที่ฮ่องกง และหาทางเคลื่อนไหวต่อในประเทศจีนทางตอนใต้ที่มีเขตแดนติดต่อกับทางเหนือของเวียดนาม
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, การเคลื่อนไหวในสยาม, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 53 - 65.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - “ลุงโฮ”
- ตอนที่ 2 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 3 - เหวียนอ๋ายก๊วก (NGUYEN AI QUOC)
- ตอนที่ 4 - สหภาพโซเวียต
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- โฮจิมินห์
- พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- กลุ่มหนานหยาง
- พรรคโซเวียต
- วัดโลกานุเคราะห์
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- รวม วงศ์พันธ์
- พรรคคอมมิวนิสต์ไทย
- บ๋าวเอิง
- วัดญวนนางเลิ้ง
- เตียง ศิริขันธ์
- เสด็จเจ้าสุพานุวง
- จักรวรรดินิยมอเมริกา
- พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
- ถนอม กิตติขจร
- โด๋ฮึง
- DO HUNG
- เหตุการณ์ ร.ศ. 112
- กร ตันชัย
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยาม
- เหวียนอ๋ายก๊วก
- ฮวงวันฮวาน
- ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน
- โคมินเติร์น
- ดิเรก ชัยนาม