ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำจากภาพยนตร์ Hunger

21
เมษายน
2566
ใบปิดภาพยนตร์ “Hunger” ที่มา: jediyuth
ใบปิดภาพยนตร์ “Hunger”
ที่มา: jediyuth

 

ภาพยนตร์ Hunger คนหิว เกมกระหาย ได้ถูกพูดถึงในสังคมไทยผ่านหลายบริบท ซึ่งแม้วงการคนทำอาหารและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่ายังมีส่วนที่ไม่สมจริงไปบ้าง ยังขาดการลงรายละเอียดที่สมจริง แต่ในฐานะผู้ชมภาพยนตร์ต้องบอกว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีความพยายามถ่ายทอดสัญญะความเหลื่อมล้ำออกมามากขึ้นในสังคมไทย แม้อาจจะยังไม่เทียบเท่าภาพยนตร์แนวนี้ในระดับสากล แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นต่อการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา ผู้เขียนหวังเช่นกันว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวงการในการฉายภาพความเหลื่อมล้ำผ่านมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต ในบทความนี้จะไม่ได้พูดในรายละเอียดของภาพยนตร์ แต่จะชวนวิเคราะห์ผ่านวลีสำคัญที่ปรากฏในภาพยนตร์ “คนรวยไม่ได้กินเพื่ออิ่ม แต่กินเพื่อรักษาสถานะทางชนชั้นของตน” ประโยคนี้สะท้อนปรากฏการณ์อะไรในสังคมบ้าง

ประการแรก เรามักได้ยินคำอธิบายว่า “การเป็นคนรวย” หรือ “ชนชั้นนายทุน” ก็เป็นอาชีพหนึ่งซึ่งพวกเขาต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ แต่จากประโยคข้างต้นทำให้เราได้คิดต่อไปว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอันมหาศาลที่พวกเขามีในสังคมนั้นเกินเลยจากการที่พวกเขาต้องทำเพื่อไม่ให้อดตาย ทำเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือ หรือมีเงินส่งให้พ่อแม่ยามแก่เฒ่า — ไม่ใช่เลย เราไม่รู้ว่าพวกเขาทำไปทำไม เงินทองมากล้นที่ไม่รู้ว่าทรัพย์สินของตนเองอยู่ตรงไหนบ้าง พวกเขาสามารถใช้ชีวิตโดยไม่ต้องทำงานอะไรเลยไปสามชั่วอายุคน ทำงานวันเดียวเท่ากับคนส่วนใหญ่ทำงานทั้งชีวิต พวกเขาจึงใช้ชีวิตเหมือนอยู่กับความวิตถารที่แสวงหาความมั่งคั่ง เสพความหรูหรา ไม่ได้เพื่อความต้องการพื้นฐานแต่คงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำของสังคมต่อไป

ประการที่สอง ฉากเมนูอาหารหนึ่งในภาพยนตร์ พูดถึง เมนู “กินเลือดกินเนื้อ” ซึ่งจัดให้แก่นักการเมือง และผู้มีบารมีที่มีอำนาจเหนือนักการเมืองและรัฐมนตรีต่างๆ กินเลือดกินเนื้อ เป็นเมนูอาหารที่ฉายภาพการกินอย่างมูมมาม ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนจากเนื้อแดงสดที่อยู่ในจาน จากห้องประชุมกรรมาธิการงบประมาณประจำปี ตัวแทนพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ชนชั้นนำ ชนชั้นนายทุน ก็ต่างรุมทึ้งกระดาษงบประมาณไม่กี่แผ่นที่มีตัวเลขศูนย์ตามหลังหลายตัว รุมทึ้งต่อตำแหน่งที่มีอำนาจและผลตอบแทน แม้ตำแหน่งและอำนาจที่ได้รับมานั้น จะเป็นตำแหน่งที่มั่งคั่ง หรือทรงอำนาจมาด้วยการขูดรีดขูดเนื้อประชาชน โครงการรัฐต่างๆ ที่งบประมาณมหาศาลแต่ไม่ตกถึงประชาชน พวกเขากินเลือดกินเนื้อประชาชนผ่านงบประมาณไม่กี่แผ่น และมีความสุขอย่างมากบนกองอำนาจนั้น

 

ภาพยนตร์ Hunger คนหิว เกมกระหาย
ภาพยนตร์ Hunger คนหิว เกมกระหาย

 

ประการที่สาม ยังมีเมนูอาหารที่ไม่ปรากฏชื่อที่ทำเพื่อกลุ่มเศรษฐีใหม่ได้ลองกิน พวกเขาไม่จำเป็นต้องรับรู้ว่ามันอร่อยแค่ไหน หรือมีวัตถุดิบอะไร การกินหรือการใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นเพียงแค่ตรายางของความหรูหรา เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อยืนยันสถานะของพวกเขา ว่าพวกเขาแตกต่างจากคนอื่น ลักษณะเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนวิกฤติคุณค่าในสังคม เมื่อทุกอย่างล้วนถูกกำหนดโดยมูลค่าแลกเปลี่ยนสิ่งที่มีราคาแพงกลายเป็นสิ่งที่ดีไปโดยปริยาย ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารเท่านั้น มันยังกินความถึงโรงเรียน โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย เมื่อเราเชื่อว่าการมีเงินสามารถซื้อสิ่งเหล่านี้ได้ ก็เป็นการส่งต่อความเหลื่อมล้ำไปโดยปริยาย แม้ว่าบ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งอาหารที่มีคุณภาพ ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ตั้งแต่ต้น

 

ภาพยนตร์ Hunger คนหิว เกมกระหาย

 

ประการที่สี่ ในภาพยนตร์พูดถึงความปรารถนาของผู้คนที่อยากใช้ชีวิตแบบคนรวยก่อนตาย เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า เราถูกออกแบบในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และต้องทำงานหนักทั้งชีวิตเพื่อให้เข้าใกล้ชิดกับอุดมคติของชีวิตที่ดีงาม ชีวิตที่สมบูรณ์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ บางครั้งเราก็อยากมีหลักชัย มีภาพจำลองว่าเราสำเร็จในระบบทุนนิยมด้วยการบริโภคหรือใช้ชีวิตอะไรสักอย่าง แต่มันไม่ใช่เรื่องจริงแม้แต่น้อย เพราะสังคมก็ยังออกแบบให้เราต้องตื่นเช้ามาเจอกับโลกที่เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

และ ประการสุดท้าย เมนูสุดท้าย ภาพยนตร์พูดถึงเมนูรายการ “บวงสรวงเทพเจ้า” การกินหรือการใช้ชีวิตที่ทำให้เราเหนือคนอื่นขึ้นไป ไม่เป็นมนุษย์ธรรมดา อยู่เหนือกติกา อยู่เหนือกฎเกณฑ์ เหมือนเป็นเทพเจ้า เทวดา ในอดีตความพยายามของมนุษย์ที่มั่งคั่งคือพวกเขาอยากเป็นอมตะอยากเอาชนะความตาย แต่เมื่อไม่มีมนุษย์คนใดทำได้จนปัจจุบัน ความพยายามของชนชั้นนำทุกสมัยคือการทำตนเองให้เป็นเทพเจ้าที่มีลมหายใจ ได้ใช้ชีวิตเหนือผู้คน ผ่านการใช้ชีวิต ครอบงำควบคุม คุก ศาล ทหาร ตำรวจ มีชีวิตเป็นเทพเจ้าที่สูงส่งที่สุดในจักรวาล ที่มนุษย์ธรรมดาทุกคนล้วนอยากเป็นซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความผิดปกติอย่างสมบูรณ์

Hunger ไม่ใช่ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พยายามสะท้อนความเหลื่อมล้ำ แต่นับเป็นภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่ชวนให้ผู้คนทบทวนปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยระหว่างช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีความผิดปกติด้านความเหลื่อมล้ำ ค่านิยม วิถีชีวิตกันเพียงใด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีภาพยนตร์หรือสื่อที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมากเช่นนี้และสามารถสื่อสารเรื่องราวในลักษณะนี้ต่อไปอีกในอนาคต

หมายเหตุ :