ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2489

9
พฤษภาคม
2566

Focus

  • พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดย นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย​
  • ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ บันทึกเรื่องราวรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2489 พร้อมทั้งรายละเอียดสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยอำนาจนิติบัญญัติได้แบ่งออกเป็น 2 สภา ได้แก่ พฤฒสภา และ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งสองส่วนล้วนแต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

วันที่ 9 พฤษภาคม ได้มีรัฐพิธีลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธี เวลา 10.00 น.

เมื่อได้เวลาฤกษ์ อาลักษณ์ได้อ่านพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า

 

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางอุดมสันนิบาตพระบรมวงศานุวงศ์และทูตานุทูตผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนามาตย์ ราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกช พรั่งพร้อมกันโดยอนุกรม

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกมหันตเดชนดิลกรามาธิบดีฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบ ในการจรรโลงประเทศให้วัฒนาถาวรสืบไปในภายภาคหน้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นการชั่วคราว พอให้สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎรได้จัดรูปงานดำเนินประสานนโยบายให้เหมาะสมแก่ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ครั้นแล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อถือเป็นหลักถาวรแห่งรัฐประศาสนวิธีต่อไป สภาผู้แทนราษฎร จึ่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่งประกอบร่างรัฐธรรมนูญขึ้น

เมื่ออนุกรรมการได้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดีนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาปรึกษาลงมติแล้ว จึงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษา เพื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนกระบวนความแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้แต่วันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา

ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้ จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชน จะได้ทราบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึงนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึงเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2488 ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองและเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบรัฐธรรมนูญตามคำเสนอข้างต้นนี้ กรรมาธิการคณะนี้ได้ทำการตลอดสมัยของรัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ คณะนายทวี บุณยเกตุ และคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

ต่อมารัฐบาลคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรรมการคณะนี้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้วคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแก้ไขอีกขั้นหนึ่ง แล้วนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประชุมปรึกษาหารือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา เมื่อกรรมการได้ตรวจแก้ไขแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จึงได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติรับหลักการแล้ว จึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง

บัดนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์จึงทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่าประชากรของพระองค์ประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฏฐาภิปาลโนบาย สามารถจรรโลงประเทศชาติของตน ในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกได้โดยสวัสดี

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ประสิทธิประสาทประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489 เป็นต้นไป และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมนี้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2485 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2485

ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จงเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุกสันติคุณวิบุลราศรีแก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัตินำประเทศไทยให้บรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติมโหฬาร ขอให้อาณาประชาราษฎร จงมีความสมัครสมานสโมสรในสามัคคีธรรมเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ให้ยืนยงคงอยู่คู่กับไทยรัฐราชสีมาตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชปณิธานทุกประการเทอญ”

 

ต่อจากนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีได้นำฉบับรัฐธรรมนูญซึ่งได้จารึกในสมุดไทยขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วพระราชทานให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ก็ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง แล้วจึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นให้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ครั้นแล้ว พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

 

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ที่ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จมาพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในครั้งนี้ ด้วยมีพระราชประสงค์จะใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก เป็นบ่อเกิดแห่งความผาสุกของอาณาประชาชนทั้งหลาย เพื่อจะได้มีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันที่จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมรับเกล้าฯ รับพระราชทานพรนี้ และขอให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ขอเดชะ”

 

โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ อำนาจนิติบัญญัติ มีสภาสองสภา คือ พฤฒสภาสภาหนึ่ง สภาผู้แทนสภาหนึ่ง ประกอบเป็นรัฐสภา ส่วนสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นอันเลิกไป

พฤฒสภานั้น ประกอบด้วยสมาชิกมีจำนวน 80 คน ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง มีอายุคราวละ 6 ปี ในวาระเริ่มแรกให้มี “องค์การเลือกตั้ง” ขึ้น สมาชิกองค์การเลือกตั้งนี้ ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในตำแหน่งในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2489 องค์การเลือกตั้งนี้มีหน้าที่เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก พฤฒสภาในวาระเริ่มแรกเป็นจำนวน 80 คน ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ

สภาผู้แทนประกอบด้วยผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นในวาระเริ่มแรก ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในตำแหน่งในขณะนั้น 96 คน เป็นผู้แทนต่อไป และถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรเกินกว่าหนึ่งแสนคน ก็ให้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งต่อจำนวนราษฎรทุกแสนคน เศษของหนึ่งแสนถึงกึ่งหนึ่งหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งแสน

ครั้นถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2489 ก็ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาจำนวน 80 นาย ในจำนวนนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกด้วย พอถึงวันแรกของเดือนต่อมา สภาทั้งสอง คือ พฤฒสภาและสภาผู้แทนก็ได้มีการประชุมร่วมกันเป็นปฐมฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้ทรงมีพระดำรัสเปิดประชุมว่า

 

“ท่านสมาชิกพฤฒสภาและสมาชิกสภาผู้แทน

ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมากที่ได้มากระทำพิธีเปิดประชุมพฤฒสภาและสภาผู้แทนในวันนี้ ซึ่งนับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติเรา เพราะเป็นการประชุมครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้ประทานให้ใช้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2489

แม้ว่าบัดนี้ประเทศชาติของเราจะผ่านพ้นสถานะสงครามไปแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังจะต้องทำการต่อสู้เพื่อปรับปรุงการเศรษฐกิจและบูรณะประเทศอีกมากหลาย ส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองภายนอกเราจำเป็นต้องปฏิบัติตัวของเราเองให้เขาเห็นว่า เราพร้อมที่จะร่วมมือและส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ และเพื่อธำรงสันติภาพอันสถาพรของโลกสืบไปด้วย

ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความสมัครสมานสโมสรในสามัคคีธรรมเป็นเอกฉันท์ ในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ของท่าน เพื่อช่วยกันนำความวัฒนาถาวรมาสู่ประเทศชาติ และประคับประคองให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เป็นหลักในการปกครองของเราตลอดไปด้วย

บัดนี้ ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิด การประชุมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงดลบรรดาลให้กิจการของพฤฒสภาและสภาผู้แทนนี้สัมฤทธิ์ผลเป็นความสุขความเจริญแก่ประชาชนและของชาติสืบไปเทอญ”

 

และในวันนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐบาลที่ 15 อันมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ มีอายุ 69 วันเท่านั้น แต่ผลงานนั้นยิ่งใหญ่ไพศาลและเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของชาติไทยอย่างสำคัญ

 

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), หน้า 646 – 654.

หมายเหตุ : 

  • คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ