ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความท้าทายทางอุดมการณ์เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจ

17
พฤษภาคม
2566

Focus

  • หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ฝ่ายประชาชนเสียดุลอำนาจไม่สามารถที่จะยึดกุมอำนาจที่อยู่ในสถาบันทางการเมืองใดๆ ได้ เสียงของประชาชนไม่ได้ถูกให้ความเคารพ แต่องค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 กลายเป็นกลไกอำนาจที่ทำหน้าที่ในการลงโทษกลุ่มการเมืองซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอำนาจเดิมในการตัดสิทธิ์นักการเมือง และการยุบพรรคการเมือง และมีอำนาจในการที่จะแต่งตั้ง ส.ว. ที่มีอำนาจในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีอำนาจยาวนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
  • รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าไม่แตะ พ.ร.บ.กลาโหม แทบจะทำอะไรกับกองทัพไม่ได้เลย แม้กระทั่งเรื่องของการบอกว่าจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หากไม่เข้าไปแก้ไขอำนาจของกองทัพที่คลุมกลาโหม
  • การมีพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องโครงสร้างทางการเมืองมากขึ้นและการรื้อถอนอำนาจเพื่อที่จะสร้างสมดุลอำนาจของประชาชนให้มั่นคงมากยิ่งขึ้นเป็นสิ่งที่สร้างความตึงเครียดให้กับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

 

 

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : ลำดับต่อไปผมจะเรียนเชิญ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจารย์ก็จะมองภาพโดยกว้าง ในมุมมองของอาจารย์ ระบอบเก่ากับระบอบใหม่ที่กำลังท้าทายกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของประชาธิปไตยเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม เผด็จการ อาจารย์คิดว่าจะสามารถสร้างสมดุลได้ไหม หรือจะต้องเอาชนะไปข้างหนึ่ง ประวัติศาสตร์ของโลกเป็นอย่างไร 

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ : เราจะสร้างสมดุลทางการเมืองทางอำนาจได้ไหม ประเด็นคือผู้ที่มีอำนาจในการเมืองไทย เอาเฉพาะแค่หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เขาไม่ได้เคยคิดที่จะสร้างสมดุลเลย เขาต้องการได้ดุลตลอดเวลาและทำให้เราเสียดุลตลอดเวลาที่ผ่านมา แล้วก็จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ถ้าเราดูในแง่ของอำนาจที่เขามีอยู่ ดิฉันคิดว่าประชาชนมีแต่มือเปล่าจริงๆ แทบจะไม่สามารถที่จะยึดกุมอำนาจที่อยู่ในสถาบันทางการเมืองใดๆ ได้เลย

แม้กระทั่งการเลือกตั้งครั้งนี้ คือวิธีการในการที่แสดงออกซึ่งพลังของประชาชน เราจะรู้สึกว่าเรามีพลังจริงหรือเปล่า เสียงเลือกตั้งที่ประชาชนไปช่วยกันลงคะแนนเสียง ตื่นแต่เช้า ยอมรถติด กลับไปบ้านเพื่อจะไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้านี้ เสร็จแล้วเขาก็ใส่เลขอะไรก็ไม่รู้ เสียงของเราจะไปลงที่กล่องไหนก็ไม่รู้ หรือจะไปลงที่ขยะ จะมีบัตรเขย่งแบบคราวที่แล้วอีกไหม มี ส.ส. ปัดเขตอีกไหม เสียงของประชาชนไม่ได้ถูกให้ความเคารพจริงๆ 

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

ถ้าเราดูตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ฝ่ายผู้มีอำนาจด้านหนึ่งเขาก็ได้บทเรียนจากการลุกขึ้นมาของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์เสื้อแดงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ฉะนั้นเขาพยายามที่จะสถาปนาอำนาจให้ครอบคลุมระบอบต่างๆ มากยิ่งขึ้น คือมีอำนาจมากกว่าการใช้กำลังทหารในการยึดอำนาจ ฉะนั้นเราจะเห็นว่าเขาเห็นอำนาจขององค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 จึงทำให้องค์กรเหล่านี้ในที่สุดแล้วกลายเป็นกลไกอำนาจของเขาในการที่จะทำหน้าที่ลงโทษกลุ่มการเมืองซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับพวกเขา การตัดสิทธิ์นักการเมือง การยุบพรรคการเมืองที่พอเวลามีคดีขึ้นมาประชาชนแทบจะเดาได้เลยว่าผลมันจะออกมาอย่างไร

เขามีอำนาจในการที่จะแต่งตั้ง ส.ว. มีอำนาจในการที่จะสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งให้อำนาจกับพวกเขาในการที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีอำนาจยาวนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด นี่คืออำนาจในการควบคุมและลงโทษกลุ่มการเมืองที่เขาไม่ต้องการ อำนาจอะไรอีก อำนาจที่สถาปนาให้กับกองทัพผ่าน พ.ร.บ. สภากลาโหม เมื่อสักครู่อาจารย์ไชยันต์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ. สภากลาโหมนี้ไว้บ้าง ซึ่งดิฉันคิดว่าอันนี้เป็นอำนาจที่มันทำให้กองทัพมีสถานะเป็นรัฐอิสระอยู่เหนือการควบคุมจากฝ่ายการเมืองจากรัฐบาลพลเรือน

รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าไม่แตะ พ.ร.บ. กลาโหม แทบจะทำอะไรกับกองทัพไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึง แม้กระทั่งเรื่องของการจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ดิฉันไม่แน่ใจว่าถ้าไม่เข้าไปแก้ไขอำนาจของกองทัพที่คลุมกลาโหมอยู่นี้ จะจัดการกับเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้หรือไม่ เพราะถ้าไปดูสภากลาโหมจะพูดถึงกิจการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการทหารทั้งหมดของประเทศนี้ อยู่ภายใต้คณะกรรมการสภากลาโหมซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 28 คน ใน 28 คนนี้ มีอยู่ประมาณ 4-5 คนเท่านั้นที่มาจากฝ่ายพลเรือน ส่วนที่เหลือเป็นคนของกองทัพทั้งสิ้น 

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

หลังการรัฐประหารปี 2549 เขาได้พยายามสถาปนาอำนาจของตัวเองเพื่อที่จะรับมือกับฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด ฉะนั้นเขาให้อำนาจของเขาในการที่กระทำการต่างๆ มากยิ่งขึ้น ส.ว. ที่จะมาร่วมในการที่จะออกกฎหมายสำคัญๆ จะให้ผ่านหรือไม่ผ่านในการที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี อำนาจในการที่กองทัพที่จะทำอะไรต่างๆ เป็นอิสระของตัวเองและอำนาจในการที่จะลงโทษกลุ่มการเมืองที่ตรงข้ามกับเขา

ยังมีอำนาจในการควบคุมประชาชนด้วย อย่างเช่น มาตรา 112 มาตรา 116 ที่ถูกใช้อย่างมากในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แล้วเมื่อไม่นานนี้ก็ยังมีการออก พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของประชาชนซึ่งตอนที่เมื่อหลายปีก่อนหลังรัฐธรรมนูญ 2540 พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารต้องการให้อำนาจของประชาชนในการที่จะตรวจสอบการกระทำของรัฐ แต่ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารที่ออกมาในปัจจุบันกลายเป็นว่าคุณจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงของรัฐ เกี่ยวกับกองทัพ หรือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น ไม่ได้เลย นี่คืออำนาจในการควบคุมประชาชน ไม่ให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงหรือเสนอข้อมูล เสนอความจริงออกมา

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

ดิฉันอยากให้เห็นว่าการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ใช่มีแค่คุณประยุทธ์ ประวิทย์ หรือ 3 ป. เท่านั้น แต่ยังมีกลไกเหล่านี้ที่เข้ามาควบคุม ทำให้ดุลอำนาจของประชาชนนั้นสูญเสียไป ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ อันหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ การที่พรรคการเมืองเสนอว่าจะรื้อถอนอำนาจของฝ่ายอำนาจแบบจารีตและอำนาจของกองทัพอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นสิ่งที่จะมาท้าทายอำนาจของระบอบเก่า

เช่น นโยบายของพรรคก้าวไกลที่เสนอออกมา ซึ่งเสนอว่าจะปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่แค่เรื่องการเกณฑ์ทหาร ถ้าไปดูนโยบายของของพรรคก้าวไกล เขาจะพูดถึงการรื้อถอน กอ.รมน. ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในซึ่งให้อำนาจของกองทัพ ในการที่จะแทรกซึมเข้าไปควบคุมประชาชน ให้อำนาจกองทัพในการที่จะไประดมมวลชนฝ่ายขวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หลายปีที่ผ่านมากองทัพทำงานเรื่องนี้อย่างหนัก ดิฉันเชื่อว่ามวลชนที่เข้าไปสู่กระบวนการการระดมฝ่ายขวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ทั้ง 1 ล้านคนที่กองทัพจะสามารถซื้อใจได้ แต่เอาแค่ 10% หากเกิดปัญหาขึ้นมา แล้วมีการระดมขึ้นมาให้เป็นมวลชนที่พร้อมจะปะทะกับมวลชนของฝ่ายประชาธิปไตยได้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก เมื่อมีฝ่ายการเมืองที่บอกว่าหลังเลือกตั้งจะพยายามที่จะรื้อถอนอำนาจเหล่านี้ขึ้นมา ด้านหนึ่งทำให้ซื้อใจประชาชนได้ เพราะว่าประชาชนในช่วงตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา จะเห็นว่าเราไม่สามารถที่จะแยกเรื่องการเมืองออกจากเรื่องเศรษฐกิจได้ ประชาชนไม่มีทางที่จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ถ้าการเมืองไม่มั่นคง แล้วอำนาจทางการเมืองนี้ จะไม่กลายเป็นเครื่องมือในการที่จะมาเล่นงานอำนาจของฝ่ายที่มาจากประชาธิปไตยได้ 

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

ดังนั้น ความตื่นเต้นของประชาชนในครั้งนี้ ที่มีพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องโครงสร้างทางการเมืองมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่มาท้าทายเขาและทำให้เกิดความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น และเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเค้าลางของการที่เขาจะใช้อำนาจเข้ามา อยู่ในการที่จะจัดการกับกลุ่มการเมืองที่ตั้งธงไว้ชัดเจนว่าจะมารื้อถอนอำนาจเพื่อที่จะสร้างสมดุลอำนาจของประชาชนให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ก็สร้างความตึงเครียดให้กับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : สารสำคัญหรือข้อความสำคัญของอาจารย์พวงทอง คือ ตอนนี้อำนาจไม่สมดุล ฝ่ายผู้มีอำนาจมีอำนาจมากไป ในแง่คำของอาจารย์ปรีดีที่บอกว่าดุลยภาพในอำนาจมันเป็นการเตือนว่าถ้าท่านมีอำนาจมากเกินไป อย่างเราเห็นตาชั่งใช่ไหมครับ หากตาชั่งข้างหนึ่งมันหนักมาก มันล้มทั้งหมดเลย นี่เป็นเสียงจากกัลยาณมิตรไปถึงผู้ซึ่งกำลังใช้อำนาจอย่างล้นเกินไปในทุกวงการ

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

ที่มา : รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 – 12.35 น. ณ ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา อาคารอเนกประสงค์ 1 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์