ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ผู้อยู่เคียงข้างรัฐบุรุษอาวุโส

4
มกราคม
2564

คนส่วนใหญ่มีชีวิตอย่างเงียบ ๆ เมื่อตายจากไปคงเหลือความทรงจำไว้กับลูกหลานญาติมิตรและคนคุ้นเคย  สำหรับบางคนมิได้เป็นเพียงความทรงจำของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่อยู่ในใจของสาธารณชนตลอดกาล  หากจะพูดถึงบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ย่อมมีรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ รวมอยู่ในอันดับต้น ๆ ด้วยท่านหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะท่านคือมันสมอง คือกำลังสำคัญในคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ตอกหมุดหมายใหม่ นำพาประเทศชาติไปสู่การเมืองในมิติใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แม้บางช่วงเวลาเรื่องราวของท่านจะถูกบิดเบือนสร้างภาพให้ร้ายป้ายสี แต่กาลเวลาย่อมพิสูจน์สัจธรรมเสมอ

เรื่องราวชีวิตและการงานของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ มีผู้บันทึกเรื่องราวไว้ในหลายแง่มุม มากพอจะหาศึกษาค้นคว้าได้สำหรับผู้สนใจ แต่มีไม่มากนักสำหรับเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นคู่ชีวิต เป็นคู่คิดตลอดกาลของท่าน เรื่องราวของท่านรัฐบุรุษอาวุโสจะสมบูรณ์ไปไม่ได้เลย หากมิได้กล่าวถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่ยืนอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจอย่างสำคัญตลอดมา คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

หลังจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แต่งงานในปี พ.ศ. 2471 ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ท่านผู้หญิงพูนศุขมักออกตัวว่า ท่านเรียนหนังสือแค่ชั้น ม.7 เท่านั้น แต่ท่านมิได้หยุดศึกษาหาความรู้ ทั้งจากการเรียนพิเศษในช่วงหลังแต่งงานใหม่ ๆ ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากท่านปรีดีอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการเรียนรู้จากชีวิตจริงเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่หล่อหลอมให้ท่านผู้หญิงพูนศุขก้าวผ่านยุคสมัยที่ร้อยรัดผู้หญิงในยุคเดียวกันออกไปยืนอยู่แถวหน้า

สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นโดด ๆ ลอย ๆ หากศึกษาประวัติชีวิตของท่านแล้ว จะพบว่าครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษา ท่านได้รับการปลูกฝังความคิดประชาธิปไตยมาแต่เยาว์วัย สืบขึ้นไปถึงคุณปู่ของท่าน คือ พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร์) ก็เป็นข้าราชการ 1 ใน 11 ท่านที่ทำหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ให้ทรงปรับปรุงการปกครองให้ทันสมัยเยี่ยงอารยประเทศ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งนับว่าเป็นทัศนะก้าวหน้าที่สุดรวมทั้งมีความกล้าหาญอย่างยิ่งในยุคสมัยนั้น แม้จะไม่เป็นผลสำเร็จในขณะนั้น แต่ท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกหลานต่างถือเป็นความภาคภูมิใจของตระกูลตลอดมา

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มีบทบาทเป็นแม่ของลูก และเป็นภริยาของผู้ที่ถือว่ามีอำนาจสูงสุดในยุคนั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ทำหน้าที่ในหลายบทบาท เป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และตำแหน่งเกียรติยศที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯยกย่องไว้ให้เป็น รัฐบุรุษอาวุโส เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488

น่าสนใจว่า ในช่วงเวลาที่ชีวิตของท่านทั้งสองเป็นผู้ได้รับเกียรติและยกย่องอย่างสูงยิ่งเช่นนี้ ท่านผู้หญิงพูนศุขกลับมิได้ปล่อยให้เกียรติยศชื่อเสียงมาครอบงำให้ฟุ้งเฟ้อหลงลืมตน หรือลุแก่อำนาจเฉกเช่นภริยาผู้นำบางคน ท่านผู้หญิงพูนศุขดำรงตนอยู่ในที่อันควรอย่างพอเหมาะพอดี แต่เมื่อประเทศชาติเรียกร้องต้องการ ท่านก็อุทิศตนทุ่มเทกำลังทำงานอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลืองานของขบวนการเสรีไทยเท่าที่มีความสามารถโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ในการนี้ท่านยังออกตัวว่าเป็นการทำหน้าที่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น หรือการร่วมลงชื่อคัดค้านสงครามเรียกร้องสันติภาพร่วมกับคนไทยอื่น ๆ จนนำไปสู่การจับกุมในคดี “กบฏสันติภาพ” ทำให้ท่านผู้หญิงพูนศุขต้องถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 84 วัน จนสุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง และเมื่อชะตาชีวิตผันผวนให้ต้องพบกับวิกฤติชีวิตหลายครั้งหลายหน ท่านผู้หญิงพูนศุขก็สามารถยืนหยัดอยู่ด้วยกำลังใจอันเด็ดเดี่ยวแข็งแกร่ง ไม่ยอมคุกเข่าให้ความอยุติธรรมใด ๆ

ท่านผู้หญิงมีอายุครบ 95 ปี เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2550 สุขภาพร่างกายของท่านยังแข็งแรง มีความทรงจำดีเยี่ยมขณะที่ผู้เขียนและคณะได้เข้าคารวะและขอสัมภาษณ์

เรื่องราวชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุขตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาย่อมแยกไม่ออกจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านเป็นตัวละครที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงบนเวทีการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้น การศึกษาประวัติของท่าน คือ การศึกษาประวัติการเมืองไทยด้วยเช่นกัน ท่านผู้หญิงพูนศุขได้กรุณาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่นับวันเลือนหายไปจากความรับรู้ของผู้คน และหลายเรื่องราวที่ไม่มีผู้ใดได้รับรู้มาก่อน

เสี้ยวชีวประวัติท่านผู้หญิงพูนศุขเล่มนี้ คือ บันทึกประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน ชั่วชีวิตคนคนหนึ่งคือชั่วขณะแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งนอกจากบันทึกไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีงามของผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้กระทำมาตลอดชีวิตแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าจะยังประโยชน์ให้แก่ผู้สนใจใฝ่ศึกษาได้ไม่มากก็น้อย เรื่องราวที่เขียนตรงตามความเป็นจริง ตามที่ท่านได้ย้ำกับผู้เขียนว่า “เขียนแต่ความจริงเท่านั้น เรื่องไม่จริงไม่เขียน”

ชีวประวัติของท่านผู้หญิงพูนศุขจะพาผู้อ่านย้อนกลับเข้าไปศึกษาอดีตด้วยคำบอกเล่าของตัวท่านเอง หากหนังสือเล่มนี้จะมีความดีอยู่บ้าง ผู้เขียนขอมอบความดีนั้นแด่ดวงวิญญาณของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ขอจงไปสู่สุคติภพ และหากมีความผิดพลาดใด ๆ ผู้เขียนขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

 

ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจาก “คำนำ” ของผู้เขียนในหนังสือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2550), น. 6-9.