Focus
- วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) โมฮันดาส กรามจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) หรือ “มหาตมะ คานธี” มหาบุรุษผู้นำพาอิสรภาพมาสู่อินเดียถูกจับกุมคุมขังครั้งแรก หลังจากพยายามรณรงค์ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ ก่อนหน้านั้น การได้รับการศึกษาในอังกฤษในปี ค.ศ. 1888-1891 จนจบเนติบัณฑิต ทำให้คานธีได้รับการซึมซับองค์ความรู้และแนวความคิดแบบตะวันตก และใช้ความรู้ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการปลดปล่อยความไม่ยุติธรรมจากคนผิวขาวที่ปกครองแอฟริกาให้แก่คนอินเดียที่ไปทำงานที่นั่นขณะที่ไปประกอบอาชีพทนายความในแอฟริกาใต้
- ต่อมาเมื่อกลับมาอยู่อินเดีย เขายังคงดำรงวิถีการต่อสู้ทางการเมืองในแบบไม่ใช้กำลังและความรุนแรงที่เรียกว่า “สัตยาเคราะห์” (Satyagraha) อันเป็นการต่อสู้แบบไม่ต่อสู้ แต่ดื้อแพ่งไม่ให้ความร่วมมือ และไม่ยอมรับในกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อังกฤษบังคับใช้ในดินแดนอาณานิคมอย่างไม่ยุติธรรม วิถีทางเช่นนี้สามารถใช้เพื่อการรวมพลังทางการเมือง และการประสานงานมวลชน ตลอดช่วงปี ค.ศ. 1893 - ค.ศ. 1915 จนประสบความสำเร็จในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับชาวอินเดียที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และการปลดแอกอินเดียจากการอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในที่สุด
- การต่อสู้ของปรีดี พนมยงค์ ที่ยึดมั่นในวิถีสันติภาพเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเอกราชจากประเทศตะวันตก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระทั่งตลอดสมัยและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีความคล้ายคลึงกับคานธีที่อยู่ในวิถีทางดังกล่าว รวมทั้งการที่บุคคลทั้งสองเป็นที่นิยมของประชาชนจำนวนมิใช่น้อย (ตามบริบทของประเทศ)
30 มิถุนายน นับเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งตามชีวประวัติของ ไ (Mohandas Karamchand Gandhi) มหาบุรุษผู้นำพาอิสรภาพมาสู่อินเดีย หรืออีกนาม อันบุคคลทั้งหลายรู้จักมักคุ้นกันว่า “มหาตมะ คานธี” (มหาตมะ แปลว่า ผู้มีจิตวิญญาณยิ่งใหญ่) นั่นเพราะเมื่อย้อนไปยังวันนี้ในปี ค.ศ. 1914 (ตรงกับ พ.ศ. 2457) เขาได้ถูกจับกุมคุมขังครั้งแรกหลังจากพยายามรณรงค์ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้
คานธี ถือกำเนิดในวรรณะไวศยะหรือวรรณะแพศย์เมื่อวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1869 ณ เมืองโปพันทระ (Porbandar) แขวงกาฐิยาวาร (Kathiawar) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐคุชราต (Gujarat) คนในตระกูลเคยดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐต่างๆ มาตั้งแต่รุ่นปู่ กระทั่งบิดาของเขาเองก็เคยเป็นมุขมนตรีแห่งรัฐราชโกฏ (Rajkot) และรัฐวังกาเนอร์ (Vankaner)
แม้มารดาของคานธีจะครองฐานะภริยาคนที่ 4 แต่ก็เคร่งครัดต่อศาสนาฮินดูอย่างมาก โดยเฉพาะการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ทั้งยังส่งทอดอิทธิพลเช่นนี้มาสู่บุตรชายด้วย คานธีเคยเผลอพลั้งกินเนื้อสัตว์บ้างเพราะเชื่อว่าชาวอังกฤษกินสิ่งนี้จึงทำให้เฉลียวฉลาด แต่เขาบังเกิดความเสียใจและรู้สึกผิดต่อพ่อแม่ เลยยุติการกินเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด
คานธีเข้าพิธีสมรสตอนอายุเพียง 13 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในสังคมอินเดีย ภรรยาของเขานามว่า กัสตูร์บาอี (Kasturbai) หลังแต่งงานแล้ว คานธีเรียนหนังสือต่อไปจนสำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษาเมื่อ ค.ศ. 1887 เขาปรารถนาจะไปเรียนต่อวิชากฎหมายในประเทศอังกฤษ แต่มารดากังวลว่าพอบุตรชายไปอยู่ห่างไกลจะประพฤติตนเหลวไหลมั่วสุรานารี เขาต้องสัญญาและปฏิญาณตนว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขใดๆ
คานธีเดินทางถึงกรุงลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 1888 ระหว่างพำนักที่นั่น เขาหลงใหลได้ปลื้มต่อวิถีผู้ดีอังกฤษไม่น้อย ทั้งการแต่งกายและกิริยา ขณะเดียวกันก็สบโอกาสซึมซับองค์ความรู้และแนวความคิดแบบตะวันตกด้วยการอ่านหนังสือต่างๆ คานธีมุมานะร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษาและสอบผ่านเป็นเนติบัณฑิตในปี ค.ศ. 1891 เขาสามารถขึ้นทะเบียนเป็นทนายความในศาลสูงของอังกฤษ ก่อนจะหวนย้อนคืนบ้านเกิดเมืองนอน
ที่มหานครบอมเบย์ (Bombay) ซึ่งปัจจุบันคือมุมไบ (Mumbai) คานธี หมายมั่นจะประกอบอาชีพทนายความ หากอุปสรรคสำคัญคือ เขาเรียนวิชากฎหมายสมัยใหม่แบบโลกตะวันตกมา แต่กลับไม่มีความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายหลักๆ ที่ใช้กันในหมู่ชาวอินเดียอย่างกฎหมายฮินดูและกฎหมายอิสลาม
ต่อมามีชาวอินเดียเชิญชวนคานธีให้ไปประกอบอาชีพทนายความในแอฟริกาใต้ เขาจึงตัดสินใจตอบรับคำเชิญนั้น
ทนายความหนุ่มจากอินเดียโดยสารเรือเดินสมุทรไปถึงเมืองเดอร์บัน (Durban) แห่งแคว้นนาตาล (Natal) เมื่อปี ค.ศ. 1893 ก่อนจะนั่งรถไฟต่อไปยังกรุงพริทอเรีย (Pretoria) แม้คานธีจะถือตั๋วโดยสารชั้นหนึ่ง แต่พอเขาไปนั่งในตู้ขบวนรถชั้นนั้นกลับถูกพนักงานรถไฟไล่ลงจากรถที่เมืองมาริตซ์เบิร์ก (Maritzburg) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองปีเตอร์มาริตซ์เบิร์ก (Pietermaritzburg) เมืองหลวงของแคว้นนาตาล ด้วยเหตุผลว่าในตู้รถไฟชั้นหนึ่งสงวนไว้สำหรับคนผิวขาว คานธียืนยันว่าเขามีสิทธิ์สมบูรณ์ที่จะนั่งตู้ชั้นนี้และจะไม่ยอมนั่งตู้รถชั้นอื่น ท้ายที่สุดตำรวจจึงมาผลักตัวเขาออกไปจากขบวนรถ พร้อมขนสัมภาระของเขาไปไว้บนชานชาลา คานธีต้องทนอยู่ในห้องพักผู้โดยสารอย่างหนาวสั่นตลอดคืน เหตุการณ์นี้เองทำให้ทนายความหนุ่มชาวอินเดียตั้งปณิธานว่าเขาจะต่อสู้กับคนผิวขาวเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมให้กับชาวอินเดีย
ช่วงที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ คานธีเผชิญกับการเหยียดผิวอีกหลายครั้งหลายครา พอเขาโดยสารรถไฟขบวนรถชั้นหนึ่งอีกก็จะถูกพนักงานมาขับไล่ หรือตอนนั่งรถม้า คานธีก็จะถูกไล่ให้ไปนั่งข้างคนขับซึ่งไม่มีหลังคากันแดด บางทีถูกสั่งให้นั่งบนพื้นรถ ครั้นทนายหนุ่มชาวอินเดียไม่ยินยอมก็ถูกพนักงานประจำรถชกต่อยพร้อมฉุดกระชากลากลงมาจากรถม้า ขณะคานธียึดเกาะขอบตัวรถไว้แน่นหนาและอดทนต่อการถูกชก จนชาวอังกฤษที่พบเห็นเหตุการณ์ทำใจดูต่อไม่ไหว ต้องห้ามปรามพนักงาน
แอฟริกาใต้กลายเป็นดินแดนของการบ่มเพาะจิตสำนึกและฝึกฝนซักซ้อมการต่อสู้ทางการเมืองแบบไม่ใช้ความรุนแรง คานธีเรียนรู้วิธีรวมพลังทางการเมือง การประสานงานมวลชน ตลอดช่วงปี ค.ศ. 1893 - ค.ศ. 1915 เขาประสบความสำเร็จในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับชุมชนชาวอินเดียที่นั่นจนสร้างชื่อเสียงโด่งดัง คานธียังเปลี่ยนมานุ่งห่มเครื่องแต่งกายแบบชาวอินเดียแทนชุดเสื้อผ้าแบบผู้ดีอังกฤษซึ่งเขาเคยนิยมชมชอบ
อันที่จริง ในปี ค.ศ. 1901 คานธีเคยเดินทางคืนถิ่นอินเดียเพื่อไปประกอบอาชีพทนายความต่อ แต่ก็มีเสียงเรียกร้องเซ็งแซ่จากชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ให้เขาหวนย้อนมาช่วยเหลือพวกตน ปีถัดมา คานธีจึงตัดสินใจกลับสู่แอฟริกาใต้เพื่อต่อสู้เรียกร้องอีกครั้ง คราวนี้เขาทดลองใช้วิธีการที่เรียกว่า “สัตยาเคราะห์” (Satyagraha) อันเป็นคำที่เริ่มใช้เมื่อปี ค.ศ. 1906 นั่นคือการต่อสู้แบบไม่ต่อสู้ ดื้อแพ่งไม่ให้ความร่วมมือและไม่ยอมรับในกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อังกฤษบังคับใช้ในดินแดนอาณานิคมอย่างไม่ยุติธรรม แต่จะไม่ใช้กำลังและความรุนแรงในการต่อสู้ประท้วง ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลดียิ่ง
เฉกเช่นคราวหนึ่ง คานธีและชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ได้รวมตัวกันต่อต้านกฎหมายของอังกฤษที่กำหนดให้ชาวอินเดียทุกคนจะต้องเข้ารับการจดทะเบียนและพิมพ์ลายนิ้วมือ รวมถึงหญิงชาวอินเดียจะต้องเปลื้องผ้าต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจคนผิวขาว เพื่อสังเกตตำหนิรูปพรรณแล้วกรอกลงในทะเบียน ชาวอินเดียหลายพันคนมิอาจยอมรับข้อบังคับนี้ได้ จึงพากันมารวมตัวในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) คานธีได้เป็นแกนนำ และกล่าวกับชาวอินเดียทำนองว่าเรายินดีจะเข้าคุกจนกว่ากฎหมายนี้จะถูกเพิกถอน ขอให้มวลชนผู้ประท้วงทั้งหลายอดทนต่อการใช้ความรุนแรงของตำรวจโดยไม่ตอบโต้ กลายเป็นว่ามวลชนล้วนกระทำตามที่คานธีเสนอ เกิดเป็นความเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษครั้งใหญ่โดยอาศัยสันติวิธี กระทั่งที่สุดในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1914 (ตรงกับ พ.ศ. 2457) คานธีก็ถูกจับกุมคุมขังครั้งแรกในฐานะผู้นำ
คานธีเดินทางออกจากแอฟริกาใต้หวนคืนมาอินเดียในปี ค.ศ. 1915 พร้อมก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง เขาเริ่มก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน โดยขอความร่วมมือให้ช่วยกันต่อต้านกฎหมายของเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่กดขี่ข่มเหงชาวอินเดีย
เฉกเช่นการขอให้ชาวอินเดียหยุดงานประท้วงในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1919 ซึ่งมีประชากรนับล้านคนหยุดงานในวันนั้นจนสั่นคลอนอำนาจของเจ้าอาณานิคม แต่แล้วเกิดเหตุบานปลายจนคนใช้กำลังทำร้ายกัน รัฐบาลอังกฤษจึงอาศัยเป็นข้ออ้างในการจับกุมตัวคานธีไปคุมขังไว้ ทว่าประชาชนในเมืองต่างๆ กลับยิ่งออกมาชุมนุมเพื่อกดดันให้ทางอังกฤษปล่อยตัวเขาจนเกือบกลายเป็นจลาจลทั่วประเทศ
คานธีได้รับอิสรภาพในวันที่ 13 เมษายนปีเดียวกัน เขาประกาศอดอาหารเป็นเวลา 3 วันแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรง วันเดียวกันนั้น ประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวชุมนุมกันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเมืองอมฤตสาร์ (Amritsar) นายพลผู้บังคับบัญชากองทหารอังกฤษประจำเมืองนั้นสั่งสมความเคียดแค้นต่อชาวอินเดียมานาน และต้องการสั่งสอนให้รู้ถึงแสนยานุภาพของเจ้าอาณานิคม จึงออกคำสั่งให้กองทหารลั่นไกระรัวปืนยิงใส่ฝูงชน จนมีผู้เสียชีวิตประมาณพันกว่ารายและบาดเจ็บหลายพันคน เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้รัฐบาลอังกฤษเสื่อมเสียเกียรติเป็นทบทวี
ตลอดทศวรรษ 1920 ได้ปรากฏการชุมนุมประท้วงต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษอยู่เสมอๆ และมักจบสิ้นลงด้วยการถูกฝ่ายอังกฤษปราบปรามอย่างรุนแรง แต่คานธีก็ยังสนับสนุนให้ชาวอินเดียใช้วิธีการ “สัตยาเคราะห์” เขาถูกจับกุมอีกหลายครั้งในฐานะแกนนำก่อความไม่สงบและถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปี แต่มิช้ามินานก็ถูกปล่อยตัวออกมา เพราะชาวอินเดียไม่ยอม รวมถึงชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง
ช่วงทศวรรษ 1930 คานธียังคงต่อสู้ด้วยสำนึกแห่งอหิงสา คือจะไม่เบียดเบียนทำร้าย แม้เราจะถูกอีกฝ่ายทำร้ายก็ตาม แต่จะแสดงออกให้เห็นถึงความพยายามต่อต้านอย่างชัดเจน เฉกเช่นในการประท้วงกฎหมายอังกฤษที่ห้ามคนอินเดียทำเกลือกินเองเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1930 คานธีพร้อมกับประชาชนเรือนแสนออกเดินเท้าไปยังชายทะเลซึ่งระยะทางห่างไกลออกไป 400 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งสิ้น 24 วัน เพื่อไปร่วมกันทำเกลือกินเอง การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของอังกฤษ
ต้นเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน เจ้าอาณานิคมจึงได้จับกุมตัวคานธีรวมถึงชาวอินเดียที่ร่วมขบวนไปทำเกลือเข้าไปคุมขังในคุก ส่งผลให้การบริหารงานของอังกฤษในอินเดียปั่นป่วน เพราะขาดแคลนแรงงาน จนต้องยอมทยอยปล่อยตัวประชาชนออกมา ส่วนคานธีนั้นได้รับการปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1931 ข่าวการต่อสู้ของเขาแพร่กระจายไปทั่วทุกแห่งหน กระตุ้นให้ชาวโลกหันมาสนใจนักต่อสู้แบบสันติวิธีชาวอินเดียผู้นี้มากยิ่งขึ้น
ในสังคมไทยนั้น เดิมทีความรับรู้เรื่องอินเดีย มิแคล้วยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์อารยธรรมโบราณและแหล่งกำเนิดศาสนาสำคัญทั้งศาสนาพราหมณ์ฮินดู ศาสนาเชน ศาสนาพุทธ และศาสนาซิกข์ ซึ่งเมืองไทยเองก็ได้รับอิทธิพลทางด้านศาสนา ระบอบการเมืองการปกครอง และศิลปวัฒนธรรมมาอย่างเต็มที่เลยทีเดียว ฉะนั้น การนำเสนอเรื่องราวของอินเดียผ่านสื่อสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ก็ยังมิวายผูกพันกับเนื้อหาที่กล่าวมานั้น ดังเช่นหนังสือ พงษาวดารอินเดียย่อ ที่จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2452 ย่อมเป็นตัวอย่างหนึ่ง
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจอินเดียในแง่มุมว่าด้วยเรื่องราวทางการเมืองและการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ น่าจะอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 2460 และต้นทศวรรษ 2470 เพราะมีการนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวที่นั่นซึ่งคงจะส่งทอดต่อมาจากข่าวสารต่างประเทศ นักอ่านในเมืองไทยจึงเริ่มคุ้นเคยกับชื่อเสียงเรียงนามของคานธี ดังปรากฏการนำเสนอเรื่องราวของเขาผ่านหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับประจำวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2471 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 2 มกราคม พ.ศ. 2472 )
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ กระแสความสนใจการต่อสู้เรียกร้องเอกราชที่นำโดยคานธีก็แพร่หลายยิ่งขึ้นในสังคมไทย อีกทั้งพบเห็นการเชื่อมโยงบทบาทของนักต่อสู้ชาวอินเดียผู้นี้เข้ากับบทบาทของแกนนำคณะราษฎรหลายราย แน่นอนว่า บุคคลหนึ่งที่มิพ้นถูกนำมาเปรียบเปรยเทียบเคียงกับคานธีก็คือมันสมองของคณะราษฎรเยี่ยง นายปรีดี พนมยงค์
เฉกเช่นห้วงยามที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ได้รับผลกระทบจากการที่เขานำเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476) จนส่งผลให้ถูกกล่าวหาโจมตีว่าแนวคิดและนโยบายทางเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ครั้นพอวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน ก็มีการร่วมกันออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476” ด้วยแรงกดดันหนักหน่วงจึงทำให้อีกสิบวันถัดมา นายปรีดีต้องเดินทางออกนอกประเทศสยามพร้อมกับภริยาคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นการถูกเนรเทศเพราะเหตุผลทางการเมืองครั้งแรกสุดของชีวิตเขา
ในวันออกเดินทางคือวันพุธที่ 12 เมษายน บริเวณท่าเรือบีไอ (British-India) ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถววัดพระยาไกร ได้ปรากฏฝูงชนจำนวนมากมายประมาณ 3,000 คนมารวมตัวกันเพื่อส่งนายปรีดีและภริยาโดยสารเรือโกล่ามุ่งหน้าสู่เกาะสิงคโปร์ คณะผู้แทนของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ก็มาทำข่าวกันอย่างหลากหลาย หนังสือพิมพ์ที่ดูเหมือนจะเน้นให้รายละเอียดอย่างครบถ้วนยิ่งกว่าฉบับอื่นๆ คือ ศรีกรุง ซึ่งพาดหัวข่าว “พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ จูบลากัน คนส่งนับพันใจหายถึงกับร้องไห้” พร้อมรายงานเสียยาวหลายบรรทัดว่า
“รัฐมนตรีเป็นอันมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ พลเรือน พ่อค้า คหบดี นักเรียน ลูกเสือไทย ลูกเสือแขก พระภิกษุ สามเณรไทย นักบวชฝรั่ง ประชาชนทุกชั้น ทุกภาษา ทั้งหญิงชาย ผู้ใหญ่และเด็กประมาณ ๓,๐๐๐ คน ไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ด้วยน้ำตาอันไหลพรากไปตามๆ กันเป็นส่วนมาก เสียงไชโยก้อง กังสดานนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเรือโกล่าเคลื่อนออกลับตาไป
การส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกจากกรุงเทพฯ ไปประเทศฝรั่งเศส ณ วันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น เป็นประวัติการณ์แห่งการส่งได้ครั้งหนึ่งตั้งแต่ได้มีการส่งอำลาซึ่งกันและกันมา การส่งกันเขาย่อมว่าถึงหากจะมีการร้องไห้ก็เฉพาะในวงศาคณาญาติและมิตรที่รัก สนิทสนมกัน เท่านั้น แต่การส่งคราวนี้ มองดูหน้าใครๆ เกือบเห็นน้ำตาไหลหรือหล่อหน่วยหรือดวงตาแดงก่ำไปเกือบทุกคน บางคนถึงกับสะอึกสะอื้นฟูมฟายก็มี แม้พระยาพหลฯ ผู้เป็นประธานในที่นั้นและตัวหลวงประดิษฐ์ฯ เองก็กล้ำกลืนน้ำตาไว้ไม่อยู่ ผู้ที่ไปกับหลวงประดิษฐ์ฯ คือนางประดิษฐ์มนูธรรมผู้เป็นภรรยากับมีผู้ไปส่งถึงสิงคโปร์สามคนคือ หลวงทัศนัยนิยมศึก ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ และนายจรูญ สืบแสง
ถนนเจริญกรุงตอนท่าบีไอ ตั้งแต่เวลา ๑๕ น. มีรถยนต์จอดสองข้างถนนยาวยืด และบางแห่งถึงกับจอดซ้อนกันแทบจะกั้นถนนมิให้เป็นทางสาธารณะ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยที่จอดรถในบริเวณท่าเรือนั้นยัดเยียดไปด้วยรถยนต์และมหาชนที่ไปส่ง ทั้งประตูท่าเรือได้เปิดเสียครู่หนึ่ง โดยกลัวคนจะเข้าไปยุ่มย่ามทำความไม่เรียบร้อย จึงเกิดรอกันอย่างแออัด ครั้นเมื่อผู้ใหญ่ขอให้เปิดประตูได้แล้ว ก็พากันไหลหลั่งประดุจน้ำไหลเข้าไปที่สพานชานชลาท่าเรือ ทันใดนั้นพระยาพหลฯ พร้อมด้วยคุณหญิงตรงเข้าไปส่งกระเช้าผลไม้ให้นางประดิษฐ์มนูธรรม และพระยาพหลฯ ได้สวมพวงมาลัยอันร้อยกรองอย่างวิจิตให้แก่หลวงประดิษฐ์ฯ แล้วทั้งสองก็จูบลากันกลมไปก็กลมมาราว ๕ นาที เสียงไชโยก็ระเบิดออกมาอย่างสนั่นก้อง เสียงร้องไห้ของสตรีเข้าแทรกแซงประดุจฆ้องไชย เสียงสะอึกสอื้นของหลายคนประดุจดนตรีบรรเลงพร้อมกันนั้นต่างชูหมวกและผ้าเช็ดหน้ากวัดแกว่งประดุจธงสบัด กล้องถ่ายรูปรอบข้างได้กระทำหน้าที่กันจ้าละหวั่น ครั้นแล้วพวกก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งร่วมตายมากับหลวงประดิษฐ์ฯ ทั้งทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนก็เข้ากอดจูบและจับมือบีบด้วยความอาลัยทั้งๆ ที่มีน้ำตาบ้าง ไม่มีบ้าง
ต่อไปนี้หลวงประดิษฐ์ฯ ก็เดินขึ้นสะพานเรือจับมือสำแดงความอาลัยกับผู้ไปส่งตลอดทาง เสียงไชโยไม่ขาดสายจนกระทั่งเข้าไปห้องอาหาร ซึ่งมิตรสหายได้จัดของว่างไว้รับ ตอนนี้ก็ได้จับลากันพักใหญ่อีก บางคนได้สวมกอดจูบหลวงประดิษฐ์ฯ เช่นหลวงวิจิตรวาทการ พระสารศาสน์ประพันธ์เป็นอาทิ บางคนขอจูบมือด้วยความศรัทธา เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้กราบลามารดาของท่านอีกแล้ว ก็ออกจากห้องอาหารขึ้นไปบนห้องโถงบนเรือ ได้มีโอกาสจูบลากันกับคณะราษฎรผู้ก่อการทั่วหน้า และพอพระยาพหลฯ ตามขึ้นไปจูบสั่งลาเป็นครั้งสุดท้ายก็พอดีอาณัติสัญญาณเรือออก
ต่อไปนี้มหาชน ก็ยืนรอกันที่สะพานชานชลา เพื่อรอส่งเวลาเรือกลับลำแล่นผ่านท่าอีกครั้ง เวลา ๑๖.๓๐ น. เศษ เรือโกล่าก็แล่นผ่านท่าเรือบีไอ หลวงประดิษฐ์ฯ และคณะที่ไปก็แกว่งโบกด้วยผ้าเช็ดหน้า พูดขอลาก่อน ฝ่ายผู้ส่งก็โบกตอบและเปล่งเสียงไชโยกึกก้องจนกระทั่งเรือลับตาหายไป
พระยาพหลฯ ได้สนทนาปราศรัยแก่บรรดาผู้ที่ไปส่งตามสมควร ท่านหวังเสมอว่าความสงบจะได้อยู่ เป็นมิ่งขวัญของชาติสืบไป
คณะรัฐมนตรีที่ไปส่งในวาระนั้นเท่าที่จำได้คือพระยาพหลฯ พระยาฤทธิอัคเนย์ พระยามานวราชเสวี พระประศาสน์พิทยายุทธ หลวงศุภชลาศัย ส่วนผู้ใหญ่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็คือ พระยาศรยุทธเสนี รองประธานสภา นอกจากนี้ยังมีกองลูกเสือโรงเรียนอัสศลฟียะวิทยาลัย ตำบลบางคอแหลม ได้ไปตั้งแถวส่ง ตลอดเวลามีเสียงกล่าวคล้ายๆ กันว่า ทั้งนี้ประหนึ่งส่งมหาตมคานธีออกจากประเทศอินเดียทีเดียว
โอกาสนี้เราและประชาชนขอส่งความสวัสดีมีชัยแด่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับคณะอีกครั้งหนึ่งโดยไชโยสามครั้ง”
ในความตอนท้ายจะเห็นการเปรียบเปรย นายปรีดี กับ มหาตมะ คานธี ทำนองว่าการที่คนจำนวนมากแห่แหนกันมาส่งนายปรีดีเดินทางออกจากเมืองไทยไปยังประเทศฝรั่งเศสก็ไม่ผิดแผกอะไรไปจากตอนที่ชาวอินเดียมาส่งคานธีเดินทางออกจากประเทศอินเดีย นั่นเพราะบุคคลทั้งสองล้วนเป็นที่รักของประชาชนเหมือนกัน และที่สำคัญยิ่งคือ ทั้งสองนับว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพ คานธี สู้เพื่อปลดแอกอินเดียจากลัทธิจักรวรรดินิยมและเป็นอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ส่วน นายปรีดี สู้เพื่อความเป็นเอกราชของประเทศทั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อปลดแอกจากระบอบชนชั้นศักดินา ทำให้ชาวสยามมีอิสรภาพมากขึ้น
ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2480 ยังพบการนำเสนอเรื่องราวของคานธีตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อยู่เนืองๆ เฉกเช่น “นายฉันทนา” อันเป็นนามปากกาของ มาลัย ชูพินิจ ได้เขียน “มหาตมคัณที เก็บฟันปลอมไว้ในผ้าเตี่ยว” ลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ประชามิตร ประจำวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า
“จากประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ในทวีปเดียวกันกับเรา ข่าวได้แพร่ออกมาบ่อยๆ ว่า ชายผิวคล้ำร่างเล็กคนหนึ่ง นุ่งผ้าเตี่ยว เกิดขลังนอนนิ่งอยู่กับที่ไม่ยอมกินอาหารเสียแล้ว และขู่เข็ญว่าจะยอม อดตาย ต่อจากนั้นหนังสือพิมพ์ทั่วโลกก็จะช่วยกันเขียนข่าวเรื่องนี้แพร่ออกไป เพราะว่ามหาตมคัณทีเปนบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดียในยุคนี้
พูดกันในทางการเงิน คัณฑีเปนคนจน ถ้าจะขายทรัพย์สมบัติทั้งหลายแหล่ที่เขามีติดกายอยู่ในปัจจุบันนี้ บางทีจะได้เงินไม่ถึงบาท แม้กระนั้นคัณฑีก็เปนบุคคลที่มีอำนาจ ยิ่งกว่ามหาเศรษฐี ใดๆ ในโลก
พูดกันในทางกำลังกาย คัณฑีเปนคนอ่อนแอ และไม่ยอมใช้อำนาจทางกำลัง หรือการก้าวร้าว แม้กระนั้นคำสอนของเขาและอิทธิพลทางใจกลับมีอำนาจขลังและเข้มแข็งยิ่งกว่าเรือรบของอังกฤษสัก ๑๐๐ ลำ...”
ต่อมาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยิ่งพบการเอ่ยถึงคานธีมากขึ้น เพราะความเคลื่อนไหวของคณะกู้อิสรภาพอินเดียได้แพร่เข้ามาสู่สังคมไทย ดังปรากฏการณ์กล่าวสุนทรพจน์ของหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมคณะกู้อิสรภาพอินเดียเนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิดของคานธี ณ สวนอัมพร เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2485 ความว่า
“ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
ฉันรู้สึกเปนเกียรติยสหย่างยิ่ง ที่ได้รับเชินมาเปนประธานไนงานฉลองดิถีคล้ายวันเกิดครบ 74 ปีของท่านมหาตมาคานทีไนวันนี้ ฉันรับทำหน้าที่อันนี้ด้วยความชื่นชมยินดี โดยที่ฉันถือว่าท่านมหาตมาคานทีเปนบุคคลสำคันไหย่ยิ่งคนหนึ่ง ไม่ใช่สำคันฉเพาะประเทสอินเดียเท่านั้น แต่ท่านมหาตมาคานทีมีสิทธิ ที่จะได้รับความยกย่องว่าเปนบุคคลสำคันคนหนึ่งของโลก
ฉันได้คิดตามสึกสาความเปนไปของท่านมหาบุรุสผู้นี้มาตลอดเวลาช้านาน ฉันได้เคยเขียนประวัติย่อของท่านมหาตมาคานทีออกพิมพ์โคสนาเมื่อ 10 ปีมาแล้ว ฉันได้เคยสแดงปาถกถากล่าวถึงคุนลักสนะของท่านผู้นี้ที่จุลาลงกรนมหาวิทยาลัยเมื่อ 3 ปีมาแล้ว และบัดนี้นั้นก็มีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาพูดถึงท่านผู้นี้อีกครั้งหนึ่ง
ท่านมหาตมาคานทีเปนนักการเมืองอันยิ่งไหย่ ท่านเปนผู้มีภูมิธัมความรู้อันสูง เปนที่รักที่บูชาของมนุสหลายร้อยล้าน แต่คุนสมบัติเหล่านั้นยังไม่สำคันเท่าการเสียสละ เราซาบกันหยู่แล้วว่าท่านมหาตมาคานทีเคยเปนผู้มั่งคั่ง เคยได้รับการสึกสาหย่างฝรั่ง เคยมีชีวิตหย่างฟุ่มเฟือยหรูหราตามแบบอังกริด เคยเปนทนายความที่หารายได้ปีหนึ่งๆ เปนจำนวนเงินไม่น้อย ท่านสละละทิ้งสิ่งเหล่านี้ได้ไนทันทีทันได ท่านถอดทิ้งเสื้อมอรนิงโคตที่ทำด้วยสักหลาดหย่างดีของอังกริด ซึ่งฉันเคยเห็นท่านเคยไส่ไนรูปถ่ายของท่านเมื่อครั้งยังเปนหนุ่ม มาแต่งกายไช้ผ้าซึ่งท่านปั่นผ้ายและทอด้วยมือของท่านเอง ท่านละทิ้งทรัพย์สมบัติซึ่งมีหยู่เปนจำนวนไม่น้อย มามีชีวิตหย่างคนที่ไม่มีอะไร ท่านละทิ้งอาชีพอันเปนผลดีรายได้สำหรับตัว มาทำงานเพื่อประโยชน์แก่ชาวอินเดียทั้งประเทสโดยไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรแก่ตัวเลย ท่านละทิ้งความสุข ทุกๆ หย่างยอมตนเข้าผเชินทุขภัยทุกเวลา เพื่อผลดีแก่ชาวอินเดียหลายร้อยล้านคน ผู้ที่ทำความเสียสละได้ถึงปานนี้ ย่อมสมควนที่ได้นามว่า มหาตมา คือผู้มีดวงวิญญานอันยิ่งใหย่
งานที่ท่านมหาตมาคานทีได้ทำมาแล้ว และที่กำลังทำหยู่ไนเวลานี้ ก็คืองานก่อส้างอิสระภาพของมนุส ซึ่งต้องนับว่าเปนงานที่สูงสุด เพราะว่าส่วนสำคันยิ่งไนมนุสนั้น คืออิสระภาพ ท่านมหาตมาคานทีกำลังทำความพยายามที่จะปลดแอกซึ่งชาวอินเดียต้องทนแบกหยู่ตลอดเวลาช้านาน และโดยงานที่เปนกุศลอันยิ่งไหย่นี้ท่านมหาตมาคานทีต้องได้รับการจองจำทำโทสมาหลายครั้งหลายหน และก็กำลังรับหยู่อีกเวลานี้ แต่หย่างไรก็ดี ฉันเชื่อมั่นว่าความมุ่งหมายของท่านมหาตมาคานทีไนการกอบกู้อิสระภาพของอินเดียนั้น จะเปนผลสำเหร็ดหย่างแน่แท้
โดยเหตุที่ประเทสไทยได้รับพระบวรพุทธสาสนาและวัธนธัมนานาประการมาจากอินเดีย ประเทสไทยจึงได้มีสายสัมพันธกับอินเดียหย่างไกล้ชิด ชาวไทยทุกคนจึงเอาไจช่วยชาวอินเดียเพื่อไห้สำเหร็ดผลไนการกู้อิสระภาพ และรัถบาลไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนงานกู้อิสระภาพของอินเดียไนครั้งนี้เปนหย่างยิ่ง และประชาชาติไทยทั้งชาติจะสนับสนุนงานนี้ด้วยความเต็มใจ เพราะแผ่นดินของอินเดียเปนแผ่นดินสักดิสิทธิของชาวไทย โดยเปนแหล่งเกิดขององค์สมเด็ดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธสาสนา ซึ่งชาวไทยสักการะยิ่งกว่าชีวิตด้วย
พนะท่านนายกรัถมนตรีของฉันขอฝากคำอวยพรมาแก่ที่ประชุมนี้ไห้สำเหร็ดประสงค์และสวัสดีมีชัยทุกประการ
ไนที่สุดฉันขออาราธนาคุนพระสรีรัตนตรัย และสิ่งสักดิสิทธิทั้งหลายช่วยอภิบาลรักสาดวงวิญญานอันยิ่งไหย่ของอินเดีย คือท่านมหาตมาคานที ไห้มีอายุยืนนาน ปราสจากโรคาพาธ สมบูรน์ด้วยกำลังทั้งมวน เพื่อทำงานกู้อิสระภาพของชาวอินเดียสมปราถนา ฉันเชื่อว่าชาวไทยทุกคนเมื่อได้ซาบว่าวันนี้เปนวันเกิดของท่านมหาตมาคานที คงจะตั้งไจอวยพรเช่นเดียวกับฉัน พวกเราชาว ไทยหวังที่จะได้เห็นความสำเหร็ดไนการกู้อิสระภาพของอินเดียโดยทั่วกัน ขอความสำเหร็ดอันนี้จงมีแก่ท่านมหาตมาคานที แก่ประเทสอินเดีย และแก่ชาวเอเชียทั้งมวน”
ไม่แปลกที่รัฐบาลไทยสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะให้การสนับสนุนคณะกู้อิสรภาพอินเดีย เพราะทางกองทัพญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้นร่วมมือกับรัฐบาลไทยในช่วงภาวะสงครามโลก ก็ให้การสนับสนุนการความเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องเอกราชของคณะกู้อิสรภาพอินเดียเพื่อปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมชาติตะวันตกตามนโยบาย “เอเชียเพื่อชาวเอเชีย” (Asia for the Asiatics)
ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คานธีได้ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษอย่างแข็งขัน เขาถูกจับกุมคุมขังและเดินเข้าออกประตูคุกเนืองๆ จนในที่สุดทางการอังกฤษเริ่มตัดสินใจที่จะคืนเอกราชให้ชาวอินเดียเพื่อยุติความขัดแย้งและความรุนแรงอันเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเนิ่นนานหลายปี แต่กว่าอินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษโดยสมบูรณ์ก็วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 (ตรงกับ พ.ศ. 2490) โดยมีการเจรจาแบ่งประเทศอินเดียออกเป็น 2 ส่วน เพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมจนนองเลือด พื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูจะเป็นประเทศอินเดีย ปกครองโดยพรรคคองเกรส ส่วนพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจะเป็นประเทศปากีสถาน ปกครองโดยสันนิบาตมุสลิม
กระนั้น ช่วง ค.ศ. 1947 - ค.ศ. 1948 ยังคงมีการปะทะต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม คานธีรู้สึกเสียใจที่ชาวอินเดียด้วยกันต้องมาฆ่าฟันกันเอง แม้จะแยกประเทศแล้วก็ตาม เขาประกาศอดอาหารหลายครั้งเพื่อเรียกร้องสันติภาพ และปรารถนาที่จะเห็นความสมานฉันท์ของชาวมุสลิมกับชาวฮินดู
ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1948 คานธีซึ่งเป็นชาวฮินดูตั้งใจจะไปเยือนปากีสถาน มุ่งหมายจะแสดงให้เห็นว่าชาวฮินดูกับชาวมุสลิมสามารถปรองดองกันได้ แต่กลับถูกคัดค้าน เขาอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 5 วัน เมื่อทางการอินเดียรับปากว่าจะดูแลพิทักษ์รักษาทั้งชีวิตและทรัพย์สินของชาวมุสลิม คานธีจึงกลับมากินอาหารอีกครั้ง
ล่วงมาถึงเย็นวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1948 ขณะคานธีกำลังสวดมนต์ไหว้พระกลางลานสนามหญ้า เขาถูก นาทูราม โกทเส (Nathuram Godse) ชายหนุ่มชาวฮินดูหัวรุนแรงผู้คลั่งศาสนา และไม่ต้องการให้ชาวฮินดูสมานฉันท์กับชาวมุสลิม ลั่นไกยิงปืนใส่จำนวน 3 นัด จนคานธีล้มลงสิ้นลมหายใจด้วยวัย 78 ปี
ความรับรู้เรื่อง มหาตมะ คานธี ในสังคมไทยนั้น เริ่มแพร่หลายนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2460 เรื่อยมาจวบต้นทศวรรษ 2490 เรียกว่าเป็นการรับรู้ชีวิตทางการเมืองของผู้นำการต่อสู้เรียกร้องเอกราชให้กับประเทศอินเดีย ขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนโลกทัศน์ความรับรู้เรื่องอินเดียของชาวไทยที่แปรผันมาสู่เนื้อหาด้านการเมืองการปกครอง และความเคลื่อนไหวปลดแอกให้หลุดพ้นจักรวรรดินิยม จากเดิมที่เคยนึกเห็นภาพอินเดียในแง่มุมของอารยธรรมโบราณและแหล่งกำเนิดศาสนาเท่านั้น ภายหลังการสูญสิ้นชีวิตของคานธี ความสนใจของคนไทยต่อสภาวะการเมืองอันสุดแสนจะวุ่นวายในอินเดียก็ยังคงดำเนินต่อไป แต่ความสนใจต่อคานธีได้แปรโฉมจากภาพลักษณ์นักต่อสู้ทางการเมืองมาสู่ภาพลักษณ์ของนักคิดนักปรัชญาอันลุ่มลึก เจ้าของวาทะและความคิดอันคมคายที่ชาวโลกน้อมนำมาปรับใช้ในชีวิต สิ่งนี้ดูเหมือนจะเพิ่งแพร่หลายช่วงยุคสงครามเย็นและปรากฏเรื่อยมาจวบปัจจุบัน
ครั้นหันมาพิจารณาถึง นายปรีดี พนมยงค์ ก็น่าใคร่ครวญว่าชีวิตทางการเมืองของเขาเริ่มปรากฏในความรับรู้ของสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2460 มาถึงต้นทศวรรษ 2490 เหมือนกับคานธี จึงไม่แปลกที่ช่วงทศวรรษ 2470 เขาจะเคยได้รับการเปรียบเปรยกับนักต่อสู้ชาวอินเดียผู้นี้ แต่หลังจากพ่ายแพ้ทางการเมืองจนต้องลี้ภัยไประหกระเหินในต่างประเทศ ความรับรู้เรื่องนายปรีดีก็ค่อยๆ เงียบหายไปเสียนาน เพิ่งจะมาได้รับการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรมหลังจากที่เขาอำลาโลกไปแล้วเช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวชีวิตทางการเมืองอันพอจะเทียบเคียงกันได้บางช่วงบางตอนของบุคคลอย่าง มหาตมะ คานธี และ นายปรีดี พนมยงค์
เอกสารอ้างอิง :
- ข่าวโคสนาการ. ปีที่ 5 ฉบับที่ 10 (ตุลาคม 2485).
- คานธี, โมหันทาส การามจันทร์. ข้าพเจ้าทดลองความจริง อัตชีวประวัติของมหาตมา คานธี. กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย แปล. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2562.
- ประชามิตร. (1 พฤษภาคม 2481).
- พงษาวดารอินเดียย่อ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามัคคี, 2452.
- ศรีกรุง. (2 มกราคม 2471).
- ศรีกรุง. (13 เมษายน 2476).
- มหาตมะ คานธี
- ปรีดี พนมยงค์
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- สัตยาเคราะห์
- พงษาวดารอินเดียย่อ
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- คณะราษฎร
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- พูนศุข พนมยงค์
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- หลวงทัศนัยนิยมศึก
- ทวน วิชัยขัทคะ
- จรูญ สืบแสง
- พระยาฤทธิอัคเนย์
- พระยามานวราชเสวี
- พระประศาสน์พิทยายุทธ
- หลวงศุภชลาศัย
- พระยาศรยุทธเสนี
- มาลัย ชูพินิจ
- หลวงวิจิตรวาทการ
- นาทูราม โกทเสม