ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

“ลูกเสือแขก” แห่งอัสสละฟียะฮ์วิทยาลัย และการถูกเนรเทศครั้งแรกของปรีดี พนมยงค์

15
เมษายน
2566

ก็เพราะ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476) เขาจึงถูกกล่าวหาโจมตีว่าแนวคิดและนโยบายทางเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นมหันตภัยต่อความมั่นคงของประเทศ มิหนำซ้ำ คณะรัฐมนตรีชุดที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งหมาดใหม่ก็ร่วมกันออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2476

 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์

 

แรงกดดันหนักหน่วงในคณะรัฐบาล จึงทำให้อีกสิบวันถัดมา นายปรีดีต้องเดินทางออกนอกประเทศสยามพร้อมกับภริยาคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นการถูกเนรเทศเพราะเหตุผลทางการเมืองครั้งแรกสุดของชีวิต แต่คณะราษฎรก็พยายามช่วยเหลือเรียกร้องให้รัฐบาลสยามรับรองตัว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ต่อรัฐบาลทั่วโลก

ด้านกระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือเดินทางที่ระบุว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ผู้ถือเอกสารนั้นไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่ “บัดนี้เดินทางไปต่างประเทศ ในฐานะพลเมืองสามัญผู้หนึ่ง เพื่อศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับความเอื้อเฟื้อและความสะดวกทุกอย่างตามอัธยาศัย...” พร้อมลงนาม พระยาศรีวิสารวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันออกเดินทางคือวันพุธที่ 12 เมษายน แม้อากาศยามบ่ายจะร้อนผ่าว แต่บริเวณท่าเรือบีไอ (British-India) ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถววัดพระยาไกรก็มีฝูงชนจำนวนมากมายประมาณ 3,000 คนมารวมตัวกันเพื่อส่งนายปรีดีและภริยาโดยสารเรือโกลามุ่งหน้าสู่เกาะสิงคโปร์

คณะผู้แทนของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ก็มาทำข่าวกันอย่างหลากหลาย ดังปรากฏการนำเสนอบรรยากาศที่ท่าเรือบ่ายวันนั้นในหน้าหนังสือพิมพ์ประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน เฉกเช่น หนังสือพิมพ์ หลักเมือง รายงานว่า

 

“ประชาชนที่หลั่งไหลไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ท่าเรือบีไอในวันนี้ มีไม่ต่ำกว่า 3-4 พันคน ในจำนวนนี้มีบุคคลชั้นรัฐมนตรีหลายท่าน เช่นพระยาพหลฯ พระยามานวราชเสวี หลวงศุภชลาศัย หลวงพิบูลสงคราม นายแนบ พหลโยธิน นายตั้ว ลพานุกรม หลวงเดชสหกรณ์ พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีหลายสิบคน”

 

และยังมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

 

“เมื่อจวนจะถึงเวลาเรือออก เจ้าคุณพหลฯ ก็ได้นำพวงมาลัยไปสวมให้แก่หลวงประดิษฐ์ และกอดจูบอย่างอาลัยรัก ต่อจากนั้น บรรดาเพื่อนฝูง และลูกศิษย์ลูกหาทั้งทหารบกและทหารเรือ และพลเรือนต่างก็เข้าสัมผัสมือกับหลวงประดิษฐ์ฯ เมื่อหมดพิธีแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเดินขึ้นบันไดเรือ ครั้นแล้วเสียงไชโยก็ดังกึกก้องเมื่อเรือได้เคลื่อนที่ออกจากท่า มุ่งออกสู่ทะเลลึกไปสิงคโปร์”

 

หนังสือพิมพ์ที่ดูเหมือนจะเน้นให้รายละเอียดอย่างครบถ้วนยิ่งกว่าฉบับอื่นๆ ย่อมมิพ้น ศรีกรุง ซึ่งพาดหัวข่าว “พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ จูบลากัน คนส่งนับพันใจหายถึงกับร้องไห้” พร้อมรายงานเสียยาวหลายบรรทัดว่า

 

“รัฐมนตรีเป็นอันมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ พลเรือน พ่อค้า คหบดี นักเรียน ลูกเสือไทย ลูกเสือแขก พระภิกษุ สามเณรไทย นักบวชฝรั่ง ประชาชนทุกชั้น ทุกภาษา ทั้งหญิงชาย ผู้ใหญ่และเด็กประมาณ ๓,๐๐๐ คน ไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ด้วยน้ำตาอันไหลพรากไปตามๆ กันเป็นส่วนมาก เสียงไชโยก้อง กังสดานนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเรือโกล่าเคลื่อนออกลับตาไป

การส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกจากกรุงเทพฯ ไปประเทศฝรั่งเศส ณ วันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น เป็นประวัติการณ์แห่งการส่งได้ครั้งหนึ่งตั้งแต่ได้มีการส่งอำลาซึ่งกันและกันมา การส่งกันเขาย่อมว่าถึงหากจะมีการร้องไห้ก็เฉพาะในวงศาคณาญาติและมิตรที่รัก สนิทสนมกันเท่านั้น แต่การส่งคราวนี้ มองดูหน้าใครๆ เกือบเห็นน้ำตาไหลหรือหล่อหน่วยหรือดวงตาแดงก่ำไปเกือบทุกคน บางคนถึงกับสะอึกสะอื้นฟูมฟายก็มี แม้พระยาพหลฯ ผู้เป็นประธานในที่นั้นและตัวหลวงประดิษฐ์ฯ เองก็กล้ำกลืนน้ำตาไว้ไม่อยู่ ผู้ที่ไปกับหลวงประดิษฐ์ฯ คือนางประดิษฐ์มนูธรรมผู้ภรรยากับมีผู้ไปส่งถึงสิงคโปร์สามคนคือ หลวงทัศนัยนิยมศึก ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ และนายจรูญ สืบแสง

ถนนเจริญกรุงตอนท่าบีไอ ตั้งแต่เวลา ๑๕ น. มีรถยนต์จอดสองข้างถนนยาวยืด และบางแห่งถึงกับจอดซ้อนกันแทบจะกั้นถนนมิให้เป็นทางสาธารณะ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยที่จอดรถในบริเวณท่าเรือนั้นยัดเยียดไปด้วยรถยนต์และมหาชนที่ไปส่ง ทั้งประตูท่าเรือได้เปิดเสียครู่หนึ่ง โดยกลัวคนจะเข้าไปยุ่มย่ามทำความไม่เรียบร้อย จึงเกิดรอกันอย่างแออัด ครั้นเมื่อผู้ใหญ่ขอให้ เปิดประตูได้แล้ว ก็พากันไหลหลั่งประดุจน้ำไหลเข้าไปที่สพานชานชลาท่าเรือ ทันใดนั้นพระยาพหลฯ พร้อมด้วยคุณหญิงตรงเข้าไปส่งกระเช้าผลไม้ให้นางประดิษฐ์มนูธรรม และพระยาพหลฯ ได้สวมพวงมาลัยอันร้อยกรองอย่างวิจิตให้แก่หลวงประดิษฐ์ฯ แล้วทั้งสองก็จูบลากันกลมไปก็กลมมาราว ๕ นาที เสียงไชโยก็ระเบิดออกมาอย่างสนั่นก้อง เสียงร้องไห้ของสตรีเข้าแทรกแซงประดุจฆ้องไชย เสียงสะอึกสอื้นของหลายคนประดุจดนตรีบรรเลงพร้อมกันนั้นต่างชูหมวกและผ้าเช็ดหน้ากวัดแกว่งประดุจธงสบัด กล้องถ่ายรูปรอบข้างได้กระทำหน้าที่กันจ้าละหวั่น ครั้นแล้วพวกก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งร่วมตายมากับหลวงประดิษฐ์ฯ ทั้งทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนก็เข้ากอดจูบและจับมือบีบด้วยความอาลัยทั้งๆ ที่มีน้ำตาบ้าง ไม่มีบ้าง

ต่อไปนี้หลวงประดิษฐ์ฯ ก็เดินขึ้นสะพานเรือจับมือสำแดงความอาลัยกับผู้ไปส่งตลอดทาง เสียงไชโยไม่ขาดสายจนกระทั่งเข้าไปห้องอาหาร ซึ่งมิตรสหายได้จัดของว่างไว้รับ ตอนนี้ก็ได้จับลากันพักใหญ่อีก บางคนได้สวมกอดจูบหลวงประดิษฐ์ฯ เช่นหลวงวิจิตรวาทการ พระสารศาสน์ประพันธ์เป็นอาทิ บางคนขอจูบมือด้วยความศรัทธา เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้กราบลามารดาของท่านอีกแล้ว ก็ออกจากห้องอาหารขึ้นไปบนห้องโถงบนเรือ ได้มีโอกาสจูบลากันกับคณะราษฎรผู้ก่อการทั่วหน้า และพอพระยาพหลฯ ตามขึ้นไปจูบสั่งลาเป็นครั้งสุดท้ายก็พอดีอาณัติสัญญาณเรือออก

ต่อไปนี้มหาชน ก็ยืนรอกันที่สะพานชานชลา เพื่อรอส่งเวลาเรือกลับลำแล่นผ่านท่าอีกครั้ง เวลา ๑๖.๓๐ น. เศษ เรือโกล่าก็แล่นผ่านท่าเรือบีไอ หลวงประดิษฐ์ฯ และคณะที่ไปก็แกว่งโบกด้วยผ้าเช็ดหน้า พูดขอลาก่อน ฝ่ายผู้ส่งก็โบกตอบและเปล่งเสียงไชโยกึกก้องจนกระทั่งเรือลับตาหายไป

พระยาพหลฯ ได้สนทนาปราศรัยแก่บรรดาผู้ที่ไปส่งตามสมควร ท่านหวังเสมอว่าความสงบจะได้อยู่เป็นมิ่งขวัญของชาติสืบไป

คณะรัฐมนตรีที่ไปส่งในวาระนั้นเท่าที่จำได้คือพระยาพหลฯ พระยาฤทธิอัคเนย์ พระยามานวราชเสวี พระประศาสน์พิทยายุทธ หลวงศุภชลาศัย ส่วนผู้ใหญ่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็คือ พระยาศรยุทธเสนี รองประธานสภา นอกจากนี้ยังมีกองลูกเสือโรงเรียนอัสศลฟียะวิทยาลัย ตำบลบางคอแหลม ได้ไปตั้งแถวส่ง ตลอดเวลามีเสียงกล่าวคล้ายๆ กันว่า ทั้งนี้ประหนึ่งส่งมหาตมคานธีออกจากประเทศอินเดียทีเดียว

โอกาสนี้เราและประชาชนขอส่งความสวัสดีมีชัยแด่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับคณะอีกครั้งหนึ่งโดยไชโยสามครั้ง”

 

ถ้าอ่านหลักฐานชิ้นนี้เพียงเผินๆ บางทีเราอาจจะมิทันสังเกตเห็นจุดเล็กๆ แต่หากพินิจพิจารณาดีๆ จะพบว่า นอกเหนือไปจากพฤติการณ์ทำนอง “จูบแล้วลา” ของบุคคลต่างๆ ในคณะราษฎรที่มีต่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมแล้ว ทางหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ดูจะสนใจกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ไปส่งนายปรีดีบริเวณท่าเรือบีไอเป็นพิเศษ นั่นคือ กลุ่มลูกเสือแขก ดังที่ตอนท้ายๆ ของเนื้อข่าวกล่าวว่า “นอกจากนี้ยังมีกองลูกเสือโรงเรียนอัสศลฟียะวิทยาลัย ตำบลบางคอแหลม ได้ไปตั้งแถวส่ง ตลอดเวลามีเสียงกล่าวคล้ายๆ กันว่า ทั้งนี้ประหนึ่งส่งมหาตมคานธีออกจากประเทศอินเดียทีเดียว”

ถ้อยเปรียบเปรยทำนองการส่งนายปรีดีออกจากประเทศไทยประหนึ่งการส่งมหาตมะคานธีออกจากประเทศอินเดีย ย่อมสะท้อนให้เห็นว่านายปรีดีเป็นบุคคลสำคัญที่ทำเพื่อชาติบ้านเมืองจนได้รับความนิยมและสถิตอยู่ในดวงใจของประชาชนทั้งหลาย เฉกเช่นเดียวกันกับ คานธี ที่พยายามต่อสู้ปลดแอกประเทศของตนออกจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาเนิ่นนานจนกลายเป็นบุคคลที่ชาวอินเดียรักและศรัทธาอย่างยิ่ง ซึ่งช่วงปลายทศวรรษ 2470 นั้น เรื่องราววีรกรรมของคานธีได้แพร่กระจายมาถึงเมืองไทยและได้รับการนำเสนอผ่านหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ บ้างแล้ว

ส่วน “โรงเรียนอัสศลฟียะวิทยาลัย” ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ก็คือ โรงเรียนอัสสละฟียะฮ์วิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่ละแวกย่านถนนตก ปลายสุดของถนนเจริญกรุง บางคอแหลม ดังนั้น กองลูกเสือของโรงเรียนนี้จึงได้รับการเรียกขานว่า “ลูกเสือแขก”

ก่อนจะว่ากันเรื่องประวัติความเป็นมาของโรงเรียน คงจำเป็นที่จะต้องเล่าถึงมัสยิดชื่อเดียวกันสักพอประมาณ กล่าวคือ มัสยิดอัสสละฟียะฮ์ นั้น บางข้อมูลระบุว่า สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2435 ขณะบางข้อมูลระบุว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2443 (ตรงกับ ค.ศ. 1900 และ ฮ.ศ. หรือฮิจเราะห์ศักราช 1321) แต่ก็ล้วนตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย ท่าน อี.เอช.โจอังกุเลีย หรือบางหลักฐานก็ว่าพ่อค้าชาวอินเดียตระกูลชองกูเลีย ได้มอบที่ดินให้สร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางความศรัทธาและการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมในชุมชนละแวกย่านถนนตก สำหรับท่านอิหม่ามผู้นำประจำมัสยิดคนแรกสุดนั้น บางข้อมูลระบุว่าคือ ฮัจยีวาฮับ นามดี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443-2491 แต่ในหนังสือ อนุสรณ์งานรวมน้ำใจเพื่อมัสยิดอัสสละฟียะฮ์ ครั้งที่ 2  (จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2555) ให้ข้อมูลว่าคือ อับดุลเลาะห์ สาโรวาท

 

ฮัจยีวาฮับ นามดี
ฮัจยีวาฮับ นามดี

 

เดิมที มัสยิดแห่งนี้ยังเป็นหลักแหล่งในการแสวงหาความรู้ จวบจนกลางทศวรรษ 2460 คณะกรรมการบริหารประจำมัสยิดสมัยนั้นมีดำริและร่วมลงความเห็นให้ก่อตั้งโรงเรียนเอกชนขึ้นในอาณาบริเวณศาสนสถาน นั่นคือ โรงเรียนอัสสละฟียะฮ์วิทยาลัย สร้างตึกอาคารเรียนเป็นรูปตัวแอลขนาบล้อมทั้งสองด้านของมัสยิด เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงชั้น ม.ศ.3 

 

อาณาบริเวณมัสยิดอัสสละฟียะฮ์ในอดีต
อาณาบริเวณมัสยิดอัสสละฟียะฮ์ในอดีต

 

อย่างไรก็ดี ทางมัสยิดไม่สามารถดูแลโรงเรียนเองโดยตรงได้ จึงจดทะเบียนเป็นมูลนิธิขึ้นเพื่อจะได้บริหารดูแลโรงเรียน ทั้งยังมองการณ์ไกลว่า การจะให้โรงเรียนดำรงอยู่รอดอย่างยั่งยืนย่อมจำเป็นจะต้องมีรายได้มาจุนเจือ จึงจดทะเบียนจัดตั้ง “สมาคม อัล-สละฟียะฮฺ” (AL-SALAFIYAH ASSOCIATION) ขึ้นอีกเพื่อหาเงินทุนมาใช้ดำเนินกิจการของสถานศึกษาเรื่อยมา

อัสสละฟียะฮ์วิทยาลัย เป็นโรงเรียนเลื่องลือชื่อเสียง นักเรียนของที่นี่จะปักตัวอักษรย่อบนเสื้อ “อ.ฟ.” กลายเป็นภาพจดจำของคนทั่วไปจนเรียกขานย่านนี้ติดปากว่า “ย่าน อ.ฟ.” รวมถึงเรียกมัสยิดอัสสละฟียะฮ์ว่า “มัสยิด อ.ฟ.” หรือ “สุเหร่า อ.ฟ.”

ปัจจุบัน โรงเรียนอัสสละฟียะฮ์วิทยาลัย ไม่มีปรากฏอยู่แล้ว ปิดตัวลงไปเมื่อหลายปีก่อน หากโรงเรียนดังกล่าวยังเจิดจรัสอยู่ความทรงจำของศิษย์เก่าทั้งหลายอย่างแน่นแฟ้น คงเหลืออยู่เพียง มัสยิดอัสสละฟียะฮ์ ซึ่งได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499  เป็นทะเบียนเลขที่ 90 แต่ตัวอาคารมัสยิดสองชั้นที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งแบบศิลปะตะวันออกและศิลปะตะวันตก มียอดโดมประธาน ซุ้มประตู และเสาสไตล์โครินเธียน ซึ่งเราเห็นกันในปัจจุบันนี้ เพิ่งจะสร้างขึ้นใหม่ช่วงกลางหรือปลายทศวรรษ 2520 เพราะมัสยิดดั้งเดิมเป็นอาคารชั้นเดียวทรงปั้นหยา

เกี่ยวกับลูกเสือแขกนั้น ควรเล่าเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประเทศสยามถูกจำกัดสิทธิ์ตามสนธิสัญญาอันเสียเปรียบกับชาติตะวันตกมิให้นำกองกำลังทหารไปประจำการดินแดนทางใต้ นับแต่เพชรบุรีลงไปถึงแหลมมลายู ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงพยายามจัดตั้งกองอาสาสมัครที่เรียกว่า “กองเสือป่า” ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยคล้ายๆ ทหารทดแทน ทั้งยังทรงจัดตั้ง “ลูกเสือ” อันเสมือนเป็นกองเสือป่าที่มีสมาชิกเป็นเด็กและเยาวชนขึ้นมาอีกกองหนึ่ง

ตามพระราชประสงค์แล้ว จะต้องมี “ลูกเสือสยาม” เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทว่าในมณฑลปัตตานี อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา สายบุรี ระแงะ (นราธิวาส) กลับปรากฏผู้สนใจสมัครเป็นลูกเสือจำนวนน้อยมาก เมื่อข้าราชการประจำมณฑลไปสืบหาสาเหตุก็พบเหตุผลคือ การแต่งกายชุดลูกเสือที่สวมหมวกปีกต่ำนั้น ชาวมุสลิมมองว่าลักษณะคล้ายกับหมวกปีกต่ำของพระแรบไบ (Rabbi) ในศาสนายิว จึงไม่สบายใจที่จะแต่งชุดลูกเสือ เลยไม่ยอมสมัครเข้าร่วม

ครั้นในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงทราบความ จึงมีพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2459 ว่า

 

“ลูกเสือมณฑลปัตตานีนั้นโดยมากเป็นบุตรหลานชาวมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม แต่ที่จะให้ใช้หมวกสักหราดดำใบพับ อย่างลูกเสือกองเสนารักษาดินแดนนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่า น่าจะไม่เหมาะแก่ลัทธินิยม”

 

พร้อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลูกเสือมณฑลปัตตานีสวมหมวกสักหลาดหรือหมวกกำมะหยี่สีดำทรงกลมแบบหมวกมลายูและติดหน้าเสือตรงกึ่งกลางหน้าหมวกได้เป็นกรณีพิเศษ

ดังนั้น กองลูกเสือมณฑลปัตตานีเป็น “กองลูกเสือมุสลิม” หรือคนทั่วไปเรียกขานว่า “กองลูกเสือแขก” ว่ากันว่าอาจจะเป็นลูกเสือมุสลิมกองแรกของโลกเลยทีเดียว

มักค้นพบข้อมูลระบุว่า การแต่งกายชุดลูกเสือแบบมุสลิมอย่างที่ปรากฏในมณฑลปัตตานีหรือ “ลูกเสือแขก” นั้น สูญหายไปภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เนื่องจากรัฐบาลคณะราษฎรได้จัดระเบียบเรื่องชุดเครื่องแบบลูกเสือเสียใหม่ ให้มีลักษณะแบบเดียวกันทั้งหมดเพื่อความเป็นไทย อย่างไรก็ดี สิ่งที่หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 นำเสนอเกี่ยวกับ “กองลูกเสือโรงเรียนอัสศลฟียะวิทยาลัย” ซึ่งไปส่งนายปรีดีที่ท่าเรือบีไอ น่าจะยืนยันได้ว่า ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านมาราว 9 เดือน ก็ยังพบความเคลื่อนไหวของ “ลูกเสือแขก” หรือ “กองลูกเสือมุสลิม” อยู่ อีกทั้งพบในเขตกรุงเทพมหานคร

ข้อพึงฉุกคิดคือ “กองลูกเสือโรงเรียนอัสศลฟียะวิทยาลัย” แต่งกายลักษณะแบบใด เปลี่ยนมาแต่งกายแบบลูกเสือสยามแล้ว หรือแต่งกายแบบลูกเสือมุสลิมเฉกเช่นในมณฑลปัตตานี น่าเสียดายเหลือเกินที่หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง มิได้ให้รายละเอียดตรงนี้ไว้ แต่ถ้าพิจารณาข้อมูลที่ว่า ชาวมุสลิมละแวกย่านบางคอแหลมส่วนใหญ่คือชาวมลายูที่อพยพมาจากหัวเมืองปัตตานีช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็คงนับได้ว่า ทั้งกองลูกเสือในมณฑลปัตตานีและกองลูกเสือโรงเรียนอัสสละฟียะฮ์วิทยาลัย จึงน่าจะมีความเป็น “ลูกเสือมลายู” เฉกเช่นเดียวกัน

ไม่ค่อยเป็นที่รับทราบกันเท่าไหร่หรอกว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ จะมีส่วนเชื่อมโยงกับเรื่องราวของ “ลูกเสือแขก” หรือ “กองลูกเสือมุสลิม” รวมถึงคงไม่มีใครคาดว่า บุคคลผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎรจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ โรงเรียนอัสสละฟียะฮ์วิทยาลัย  การที่กองลูกเสือของโรงเรียนนี้อุตสาหะมาแปรขบวนตั้งแถวส่งนายปรีดีก่อนออกเดินทางไกลเพื่อเป็นเกียรติยศย่อมสะท้อนชัดเจนถึงความเลื่อมใสศรัทธาของชาวมุสลิมอันมีต่อบุคคลผู้นำระบอบประชาธิปไตยมาสู่ประเทศสยามอย่างแน่นแฟ้น

ในบ่ายวันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 ซึ่งมีฝูงชนจำนวนมากมายหลายพันคนไปส่งนายปรีดี ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศส อันเนื่องจากการถูกเนรเทศครั้งแรก แน่นอน เหตุการณ์นี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ทว่าอนุชนรุ่นหลังที่ศึกษาเรื่องราวนี้อย่างจริงจังก็มักจะมองเห็นเพียงแต่ภาพ พระยาพหลพลพยุหเสนา และสมาชิกคนหลักๆ ของคณะราษฎรกอดจูบร่ำลา นายปรีดีผมจึงภูมิใจยิ่งนักที่ได้ขับเน้นให้คุณผู้อ่านทั้งหลายได้มองเห็นกลุ่มของลูกเสือแขกที่ไปตั้งแถวส่งอยู่ในวันนั้นด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

  • กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. ทะเบียนมัสยิดในประเทศไทย พ.ศ. 2535. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, 2536.
  • นิสา อาลี. ความหลากหลายทางรูปแบบศิลปกรรมของมัสยิดในเขตชุมชนบางคอแหลม. รายงานการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individual Study) เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาคประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.
  • “ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลูกเสือมณฑลปัตตานี ใช้หมวกกลมแบบมลายู.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 ( 23 เมษายน 2459).
  • “พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐.”ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 64 ตอนที่ 41 (2 กันยายน 2490). หน้า 543-547.
  • วัลยา. “การลี้ภัยครั้งแรกของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม.” สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE. (12 เมษายน 2565).
  • ศรีกรุง. (13 เมษายน พ.ศ. 2476).
  • สุพจน์ ด่านตระกูล. ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน จากปารีสถึงกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516.
  • ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร.ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526.
  • มูสลิมไทยโพสต์