Focus
- สื่อมวลชนในประเทศไทยมีจุดอ่อนในการพูดถึงอุดมคติหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีมาตั้งแต่สมัย 2475 ที่จะส่งผลต่อผู้คนในสังคม แม้กระทั่ง (เหตุการณ์) 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งผู้คนรุ่นนั้นเข้าใจว่าเราได้ชัยชนะแล้ว แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะประชาชนขาดความชัดเจนต่อประชาธิปไตยที่มีรัฐสภาที่มีการเลือกตั้ง อันมิใช่เรื่องของประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่เป็นเรื่องของความยากจนของผู้คน ความไม่เท่าเทียม และไปมีความคิดแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
- หลังจาก (เหตุการณ์) 14 ตุลาฯ 2516 ต่อเนื่องมาเป็น (เหตุการณ์) 6 ตุลาฯ 2519 กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย และเกิดรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลที่มีนโยบายของประชาชน แต่ไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะว่าเผด็จการอำนาจจารีตเก่ายังแข็งแรงและโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้ว่ารัฐบาลได้มีการเริ่มต้นทำไปแล้วก็ตาม ในเรื่องการกระจายอำนาจ การปฏิรูปรัฐราชการ เป็นต้น
- การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เข้าสู่หลุมดำมีสื่อเป็นตัวเอกของเรื่อง เช่น สื่อทำให้เกิดสงครามเหลือง-แดง สื่อทำให้เชื่อว่าสังคมนี้ต้องฆ่ากัน สื่อวิ่งแห่ตามกระแสสังคม สื่ออาจจะอ้างว่าเป็นกระจก ฯลฯ และด้วยเหตุที่สื่อ “เป็นคนทำแผนที่ให้กับสังคม” สื่อจึงต้องไม่ทำลายสังคมเพราะสื่อไม่มีความเข้าใจ แต่สื่อต้องนำเสนอความรู้และข้อมูลต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดความคิด และเปิดพื้นที่ให้กับคนที่คิดต่างกันในสังคม เพราะมนุษย์ไม่ได้มีคนคิดแบบเดียว ฉะนั้น สื่อจึงควรเดินล่วงหน้าไปก่อน ในทำนองสำรวจอุปสรรคที่ขวางกั้นการเดินทาง ดังที่ในขณะนี้ สื่อควรทำหน้าที่ให้เห็นว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร และพรรคการเมืองจะตั้งรัฐบาลได้อย่างไร
ในแง่มุมของสื่อมวลชน มองว่าสื่อมวลชนมีบทบาทอย่างไรกับชัยชนะและการรักษาชัยชนะของประชาชนไว้ รวมถึงสื่อมวลชนมีผลอะไรต่อความพ่ายแพ้ของประชาชน
คำถามที่ให้มา จริงๆ เป็นคำถามที่ตอบยากเพราะว่าไม่มีทางตอบอื่น เป็นไปไม่ได้ที่สื่อมวลชนไม่มีบทบาท สื่อมวลชนมีบทบาทต่อสังคมอย่างยิ่ง
ที่ฟังมาทั้งหมดดิฉันชอบทุกคน แต่ดิฉันจำแม่นจากสองท่านแรก ประโยคที่อาจารย์ไชยันต์พูดว่า “ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายอำนาจเดิมไม่ได้อ่อนกำลังลง แต่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยเติบโตขึ้น” ส่วนที่อาจารย์พรสันต์พูดดิฉันชอบทั้งหมด
สิ่งเหล่านี้ที่ดิฉันบอกว่าเป็นสิ่งที่สื่อมวลชน รวมถึงสื่อมวลชนในห้องนี้ด้วย ควรจะต้องเรียนรู้ ไม่ใช่ทำข่าวแบบตีปิงปอง จับความขัดแย้งใส่ปากคนนั้นคนนี้แล้วตีกัน เพราะถ้าทำแบบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือสังคมไทยก็จะพินาศลงเหวไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับสังคม นอกจากคนนั้นเกลียดกัน คนนี้เกลียดกัน ทะเลาะกัน ด่ากัน ไม่ได้ชี้แนวทางใดๆ ให้กับสังคม
สื่อมวลชนในประเทศไทย อย่างที่คุณจาตุรนต์พูด เราไม่ได้พูดถึงอุดมคติหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัย 2475 เพราะ 2475 เกิดขึ้นแถว (เขต) ดุสิต คนห่างไกลดุสิตไม่รู้เรื่อง แม่ดิฉันเองก็ไม่รู้เรื่อง ประเด็นสำคัญคือ พอพ้นจากสมัยดิฉันเป็นเด็ก (ดิฉันรุ่นเดียวกับคุณจาตุรนต์ เกิดก็ปีเดียวกัน เข้ามหาวิทยาลัยก็ปีเดียว เราเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน)
นับจากหลังเราเกิดแล้ว 2500 เป็นต้นมา จนถึง 2516 ที่เราเข้ามหาวิทยาลัย เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างไร แป๊บเดียวเกิดคณะปฏิวัติ ชีวิตเราไม่ได้เป็นชีวิตปกติแบบที่พวกเราบ่นว่า 8 - 9 ปี เพราะนานกว่านั้น จึงเกิด (เหตุการณ์) 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งคุณจาตุรนต์ได้พูดไปแล้วว่าไม่ได้เป็นชัยชนะจริงๆ ไม่มองย้อนกลับไป นั่นเป็นความไม่พอใจทหารในยุคนั้นส่วนหนึ่ง เป็นความไม่พอใจของประชาชนส่วนหนึ่ง แล้วก็กลายเป็นความฮึกเหิมของผู้คนว่าเราได้ชัยชนะแล้ว ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แล้วเราก็ไม่ได้ชัดเจนว่าคือประชาธิปไตยที่มีรัฐสภา ที่มีการเลือกตั้งใดๆ เราไม่ได้เข้าใจสิ่งนั้นอย่างชัดเจน เพราะเราเข้าถึงความคิดแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ไปเลย
สิ่งที่คนรุ่นดิฉันในตอนนั้นคิดถึง ไม่ได้เป็นเรื่องของประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่อย่างวันนี้ แต่เป็นเรื่องของความยากจนอย่างยิ่งของผู้คน และความไม่เท่าเทียมอย่างยิ่ง ในเวลานั้น ถ้าพวกคุณนึกไม่ออก เวลานั้นอีสาน แม้แต่สมัยดิฉันเรียนจบแล้วมาทำข่าวครั้งแรก มันไม่ใช่แผ่นดินที่มนุษย์ควรจะอยู่ มันแตกระแหงจริงๆ ราชการไม่เคยเป็นที่พึ่งของเรา
สมัยเราเป็นนักกิจกรรมกับคุณจาตุรนต์ คือยุคที่มี (เหตุการณ์) ถีบลงเขาเผาลงถัง (แดง) นี่คือสิ่งที่ประชาชนเจอ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เวลาที่จะพูดเรื่องประชาธิปไตยแบบอย่างวันนี้ มันเป็นเวลาที่พูดเรื่องความเป็นธรรม ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีโอกาส เป็นเวลาที่ไล่ทหารเผด็จการออกไป และเป็นมาอย่างนั้น
หลังจาก (เหตุการณ์) 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งเรานึกว่าเราได้ชัยชนะ แต่ก็ไม่ได้มาอย่างจริงๆ ก็ต่อเนื่องมาเป็น (เหตุการณ์) 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งก็ถูกปราบอย่างรุนแรง แล้วก็ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ อย่างที่หลายๆ ท่านพูดไปแล้ว จนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย เกิดรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลที่มีนโยบายของประชาชนขึ้นมา เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งแล้ว แต่ไปไม่รอด เพราะว่าเผด็จการ อำนาจจารีตเก่า เขายังแข็งแรงมาก เขาโค่นล้มทุกอย่างที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนในเวลานั้นทำ
สิ่งที่พรรคก้าวไกลพูด 3 ข้อนั้น ดิฉันเชื่อว่าคณะราษฎรก็มองเห็น พรรคไทยรักไทยเวลานั้นก็มองเห็น แล้วได้เริ่มต้นทำไปแล้ว เรื่องการกระจายอำนาจ ปฏิรูปรัฐราชการ เขาเริ่มไปแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหน แม้ว่าเวลานั้นจะพูดไม่ชัดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทหาร หรือแม้แต่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่มีเวลานี้ก็มีการพูดกันมากขึ้น แต่นั่นคือการเริ่มต้น เริ่มต้นเดินมาแล้ว เราต้องมองให้เห็น
สิ่งที่จะพูดต่อไปคือ สิ่งที่สื่อวันนี้มองไม่เห็นก็คือสิ่งนี้ สื่อมีความรู้น้อยเกินไป สื่อในสมัยหลัง 2500 เป็นสื่อที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะอำนาจคณะรัฐประหาร รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารปิดกั้นอำนาจตลอดเวลา สื่อไม่เคยได้ทำหน้าที่เต็มที่ สื่อที่เคยทำหน้าที่เต็มที่จะโดนเข้าคุกไปมีแต่รุ่นก่อนหน้าดิฉันทั้งสิ้น หลังจากนั้นมาสื่อยอมจำนนก็มี แล้วก็ทำข่าวตามใจผู้มีอำนาจ
อย่างไรก็ตาม หลายท่านพูดว่าเมื่อเข้ารัฐสภาแล้วรู้สึกตัวลีบหรืออะไรก็แล้วแต่ เคยมีเพื่อนนักข่าวพูดกับดิฉันเช่นนี้เหมือนกัน ว่าเมื่อเดินเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล หรือเดินเข้าไปในรัฐสภาแล้วรู้สึกตัวลีบ ดิฉันจะบอกว่า นักข่าวรุ่นดิฉันหลายคนไม่เคยรู้สึกอย่างนั้น เพราะถ้าตราบใดที่เรามีความเชื่อว่า เราคือคนเท่ากัน เราทำหน้าที่ของเรา เราจะไม่ตัวลีบเมื่ออยู่หน้ารัฐมนตรี ส.ส. หรือใครๆ เลย
แต่ความคิดอันนี้ที่หายไป เพราะสังคมที่ทำให้ความคิดมันเปลี่ยนแปลงไปมากมาย และสื่อก็ไม่ได้สร้างความคิดที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น สื่อไม่ได้ทำสิ่งที่สื่อควรจะทำ คือเป็นความรู้ ความคิด สื่อทำแต่ข่าวตีปิงปอง เพราะฉะนั้นบทบาทที่สื่อทำให้กับสังคมไทย การที่สังคมไทยมาถึงทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อ
พูดตรงไปตรงมาดิฉันยังล้มเหลวอยู่หนึ่งเรื่อง ก่อนออกจาก (สำนักข่าว) Nation ดิฉันเคยจะทำสารคดีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เข้าสู่หลุมดำ ซึ่งตัวเอกของเรื่องก็คือสื่อ เพราะสื่อเป็นคนทำให้เกิดสงครามเหลือง-แดง สื่อทำให้เชื่อว่าสังคมนี้มันต้องฆ่ากัน สื่อวิ่งแห่ตามกระแสสังคม สื่ออาจจะอ้างว่าเป็นกระจก ส่องสิ่งที่อยู่ สื่อไม่จำเป็นจะต้องเป็นตะเกียงผู้ยิ่งใหญ่ที่ให้แสงสว่างสังคม แต่อย่างน้อยที่สุดเราทำหน้าที่เดินไปข้างหน้า เป็นศัพท์ที่ดิฉันเคยใช้ว่า “เป็นคนทำแผนที่ให้กับสังคม” เราเดินล่วงหน้าไปก่อนนี่คือหน้าที่ของคนทำสื่อ เดินล่วงหน้าไปก่อนเพื่อดูว่าตรงนั้นมีภูเขา มีแม่น้ำ มีอุปสรรคอะไรขวางกั้นทางเดิน ตรงไหนที่ผู้คนเขาพูดกันว่าจะหาต้นไม้มาตัดทำสะพานได้ดีอย่างไร จะปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างไร ฯลฯ หน้าที่เหล่านี้ที่สื่อต้องทำ สื่อต้องมองเห็นแล้วมาบอกสังคม ไม่ใช่ทำแต่เรื่องการทะเลาะกัน การตีกัน หรือการใส่ร้ายกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เราพูดกันมาแล้วว่าเวลานี้จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร พรรคการเมืองจะตั้งรัฐบาลได้อย่างไร ฯลฯ ทั้งหมดสำคัญหมด ดังนั้นสื่อจะต้องพยายามทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลโดยพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่โยนข่าวไปทีหนึ่งว่า พรรค ก ห่วย กำลังจะไปจับมือกับคนนั้นคนนี้ต่างๆ นานา สื่อมวลชนต้องเลิกทำอย่างนี้สักที หัดสร้างสรรค์ให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยความหวัง ถ้าคุณต้องการความหวังคุณต้องทำเอง ไม่ใช่ทำให้สังคมอยู่ด้วยความรู้สึกไม่เชื่อมั่นใครๆ เลย สื่อทำได้ถ้าสื่อมีความตระหนักรู้ แต่ถ้าสื่อไม่ตระหนักรู้ แล้วต้องทำตัวเป็นกองเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วออกนอกหน้า แบบนั้นคือผิดพลาด
ถามว่าสื่อเลือกข้างได้หรือไม่? สื่อเลือกข้างได้ เลือกข้างอะไร? เลือกข้างอุดมคติ เลือกข้างประชาธิปไตย เลือกข้างสังคมนิยม หรือแม้แต่จะเลือกข้างจารีตเผด็จการสื่อก็มีสิทธิที่จะเลือก ก็ประกาศว่าคุณเลือกอย่างนั้น แต่สิ่งที่ต้องทำไม่ว่าคุณจะเลือกอะไรก็ตามคือ ต้องบอกว่าสังคมประกอบด้วยคนหลากหลาย สื่อลืมเรื่องพหุนิยม สื่อลืมว่าสังคมมนุษย์ประกอบด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ไม่เป็น polarism และไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ agonistic democracy สื่อไม่เข้าใจสิ่งนี้จึงได้เกิดปัญหา
เพราะฉะนั้นถามสื่อมีผลอะไรต่อสังคม ดิฉันใช้คำพูดนี้เอง สื่อทำลายสังคมเพราะสื่อไม่มีความเข้าใจ สื่อให้ความรู้ ข้อมูลกับสังคมนี้น้อยเกินไป ซึ่งการให้ข้อมูลความรู้ไม่ได้หมายความว่าสื่อรู้ดีกว่าทุกคน แต่สื่อต้องไปรวบรวมองค์ความรู้ข้อมูลต่างๆ มานำเสนอ เพื่อให้สังคมเกิดความคิด สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้คนที่คิดต่างกันในสังคม ซึ่งเป็นความจริงของโลกว่ามนุษย์ไม่ได้มีคนคิดแบบเดียว
ดิฉันรักประชาธิปไตย แต่ดิฉันก็ต้องยอมถ้าคนบางคนบอกว่า เขาต้องการให้มีคนดูแลปกครองเขาอีกแบบ ดิฉันก็ต้องยอมรับว่ามีคนแบบนี้อยู่ ก็ต้องคุยกันเพื่อหาทางที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ไม่ใช่ไล่คนอื่นไปหมดแล้วฉันอยู่ได้คนเดียว ฉันดีคนเดียว ทำแบบนี้ไม่ถูก ในทรรศนะของดิฉัน ไม่ใช่ในแง่ของ moral แต่ไม่ถูกต้องในแง่หลักการที่ทำให้สังคมเดินหน้าไปได้
รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : https://www.youtube.com/live/mX5YnJHqONs
ที่มา : นิธินันท์ ยอแสงรัตน์. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.