ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การต่อสู้ทางการเมือง และความสำคัญของชัยชนะทางความคิด

6
กรกฎาคม
2566

Focus

  • คำกล่าวประโยคหนึ่งที่ว่า “ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย” จริงหรือไม่ คำอภิปรายต่อไปนี้เป็นการตอบคำถามดังกล่าว ที่แฝงไว้ด้วยความประสงค์ให้คนไทยพึงเรียนรู้สาระสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
  • เหตุการณ์ช่วงพฤษภาคม ปี 2535 นับเป็นครั้งสุดท้ายที่ฝ่ายประชาชนสามัคคีกัน โดยมีเป้าหมายร่วม คือการต่อสู้กับเผด็จการ และหลังจากชัยชนะในครั้งนั้นแล้ว ในเวลาต่อมา การมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้นำไปสู่การมีฐธรรมนูญปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด บ้านเมืองเริ่มปฏิรูปและเดินไปข้างหน้า แม้จะมีการทะเลาะกัน แต่ประเทศเจริญ – นี่คือประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยพึงเรียนรู้!
  • แต่กระนั้น การเรียนรู้และจดจำประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็กระทำผ่านเรื่องเล่ามากมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม และได้รับการเผยแพร่ไปในหลักสูตร (การเรียน) ต่างๆ พร้อมกับการแทรกซึมของอำนาจรัฐตามมา ในขณะฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้พยายามสร้างเรื่องเล่าที่ถูกต้อง ทั้งๆที่เรื่องเล่าก็คือ การแย่งชิงทางความคิด และเป็น Soft Power ที่มีอำนาจมากกว่าอำนาจปืน การเร่งติดอาวุธทางความคิดของประชาชนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาธิปไตยปักหลักได้

 

 

ในฐานะที่เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ พฤษภาคมปี 35 ชัยชนะของประชาชนในขณะนี้ มีความเหมือนหรือต่างจากชัยชนะของประชาชนเมื่อพฤษภาคม ปี 2535 หรือไม่

มีฝรั่งพูดไว้นานแล้ว ประโยคหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย” จริงหรือเปล่า?

ผมคิดว่าหลายๆ คนในนี้ ก็คงเคยอยู่ในเหตุการณ์ช่วงพฤษภาคม ปี 2535 ประมาณ 31 ปีแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้น มีจุดที่น่าสนใจ คือ เป็นครั้งสุดท้ายที่ฝ่ายประชาชนสามัคคีกัน ฝ่ายประชาชนประกอบด้วยชนชั้นกลางจำนวนมาก จนเรียกว่า ม็อบชนชั้นกลาง แน่นอนว่ามีพรรคการเมืองมาร่วมด้วย มีสื่อมวลชนมาร่วมด้วย มีนักศึกษามาร่วมด้วย แต่หัวใจสำคัญก็คือชนชั้นกลาง

ชนชั้นกลางเหล่านี้ แน่นกันมาก ไม่แตกกัน อะไรที่ทำให้คนเหล่านี้รวมตัวกันได้โดยที่มีเป้าหมายอย่างเดียว คือล้มสุจินดา หรือ ล้มทหาร แต่แน่นอน เบื้องหลังจริงๆ ก็มีหลายฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน คือความแตกแยกในกองทัพด้วย แต่ภาพที่เราเห็นจริงๆ คือ ประชาชนทั้งหมดมีเป้าเดียวคือสู้กับเผด็จการ

 

 

หลังจากนั้นไม่นาน เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งอยากจะบอกคนที่อยู่ในบรรยากาศช่วงเวลานั้น แม้ว่าเหตุการณ์พฤษภาคมมีทหารออกมาเยอะมากเกือบ 20,000 คน สู้กัน ก็เห็นคนตาย แต่หลังจากนั้น ทหารเวลาออกนอกกรม ไม่กล้าใส่เครื่องแบบ ตำรวจก็ไม่อยากบอกเปิดเผยตนเอง ทหารถูกรังเกียจจากชาวบ้าน จากประชาชน

เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ 2540 บรรยากาศใน เวลานั้นถ้าเราจำได้ เป็นบรรยากาศคล้ายๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ ผมอยู่ต่างประเทศ ตอนที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ก็เหมือนกับตอนปี 2540 หลังปี 2535 รู้สึกว่าชนะแล้ว ยิ่งมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 บรรหาร ศิลปอาชา ก็โดนกดดันจนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด จนพวกเราในเวลานั้นรู้สึกตลอดเวลาว่า บ้านเมืองเริ่มปฏิรูปเริ่มเดินไปข้างหน้าแล้ว ไม่ว่าจะมีรัฐบาลพลเรือน เป็นประชาธิปัตย์ เป็นชาติไทย เป็นความหวังใหม่ แต่ความหวังก็คือว่ามันโอเค ถึงจะมีการทะเลาะกัน แต่ประเทศเจริญ

ชนชั้นกลางในเวลานั้นไม่ได้แยกเป็นนักวิชาการ เหลืองหรือแดง ทุกคนคิดไปในทางเดียวกันหมด อาจจะทะเลาะกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่พอรัฐบาลของคุณทักษิณขึ้นมา ชนชั้นนำเริ่มกลัว เพราะเป็นรัฐบาลชุดแรกที่พูดถึงนโยบายที่กินได้ ซึ่งประชาชนรู้สึกว่านโยบายพรรคการเมืองนี้ไปได้และรับใช้ประชาชนจริงๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งนี้ทำให้ชนชั้นนำรู้สึกไม่มั่นคงแล้ว เพราะว่าตัวชี้วัดคือรัฐบาลสมัยนั้นของคุณทักษิณชนะถล่มทลายทั้ง 2 ครั้ง

 

 

สิ่งที่ต่างกันในเวลานี้ คือ ฝ่ายประชาธิปไตยสู้ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ได้ ฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามสร้างเรื่องเล่าขึ้นมา สังคมไทยทุกวันนี้ในอดีตถูกปกครองด้วยเรื่องเล่ามาโดยตลอด คำว่าเรื่องเล่าคืออะไร คือความเชื่อ เรื่องเล่าต่างๆ นานา เพราะว่าในสมัยก่อนเราต้องเชื่อฟัง เชื่อกับฟังคนละความหมาย แต่เราเอา 2 คำนี้มาผูกติดกัน กลายเป็นว่าฟังแล้วต้องเชื่อเลย ครูพูดอะไรเราก็ต้องเชื่อฟัง พระพูดอะไรก็ต้องเชื่อฟัง ผู้ใหญ่พูดอะไรก็ต้องเชื่อฟัง ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ สังคมไทยเลยไม่เคยคิดจะตั้งคำถาม เด็กก็ไม่เคยคิดจะตั้งคำถาม เพราะว่าไม่ต้องตั้งคำถาม ฟังแล้วเชื่อเลย ซึมไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ถูกสั่งสอนมาเป็นร้อยๆ ปี ให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ เชื่อฟังคนที่มีอำนาจมากกว่า โดยที่ไม่ต้องตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะต่างกับสังคมตะวันตก สังคมตะวันตกเขาฟังทุกฝ่าย แต่ความเชื่อเป็นเรื่องของเรา แต่สังคมไทยบางทีทุกวันนี้ยังไม่ต้องฟังเลย - เชื่อแล้ว 

 

 

ผมคิดว่าฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามจะสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาเยอะแยะ เพื่อที่จะให้คนจำนวนมากในสังคม ซึ่งพร้อมที่จะเชื่ออยู่แล้ว เชื่อ โดยเฉพาะเรื่องราวในอดีตที่ดีงามต่างๆ สุดท้ายนี้ฝ่ายก้าวหน้าฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้พยายามสร้าง ผมเรียกว่าการแย่งชิงทางความคิด ไม่ได้สร้างเรื่องเล่าที่ถูกต้อง เรื่องเล่าต่างๆ ถูกเผยแพร่ไปในหลักสูตร (การเรียน) ซึ่งอำนาจรัฐแทรกซึมมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้สังคมแตกแยกกลายเป็นเหลืองแดง โดยที่กว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะรู้ตัวขึ้นมา ก็เกิดการทะเลาะกันขนาดนี้เลยหรือ รุนแรงกันขนาดนี้เลยหรือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับอดีตที่ดีงามที่กำลังจะหายไป เพราะการเลือกตั้งที่ประชาชนเข้ามาอย่างถล่มทลาย เรื่องเล่าที่บอกว่าทำไมคนอีสานมา เรื่องเล่าที่บอกว่าทำไมต้องมีรัฐมนตรีเป็นชาวบ้าน เรื่องเล่าแบบนี้เรารับไม่ได้ 

 

 

ล่าสุดทุกวันนี้ก็ยังมีเรื่องเล่า เรื่องเล่าเรื่องฐานทัพอเมริกา เรื่องเล่าเรื่องแบ่งแยกดินแดน นี่คือเรื่องเล่าที่พร้อมจะถูกใส่เข้าไปในความคิดคนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่เกิดความแตกแยกทุกวันนี้คือ ฝ่ายก้าวหน้าละเลยสิ่งที่เป็นการเอาชนะทางความคิด แต่ว่าฝ่ายก้าวหน้า ก็มีสิ่งที่ดีกว่านั้นในทุกวันนี้ เนื่องจากว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว โลกของความรู้ถูกทำให้แบนราบออกไป สมัยก่อน 1 ทุ่มเราต้องไปเข้าเฝ้าทีวี การรับรู้ข่าวสารก็มาจากทีวีอย่างเดียว วันนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกวันนี้แบนราบหมด คุณเข้าไปใน google คุณค้นอะไรได้หมดทุกอย่างเลย อำนาจการผูกขาดความรู้ ไม่ได้ถูกผูกขาดอีกต่อไปแล้ว

ถ้าบอกว่าอำนาจมาจากปลายกระบอกปืน ผมว่าวันนี้ไม่ใช่ ไม่ง่ายเสมอไป อำนาจมาจากปลายปากกา ที่จะมา Balance ได้ เพราะฉะนั้นในวันนี้ การเอาชนะทางความคิด เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก Soft Power มีอำนาจมากกว่าอำนาจปืน ชัยชนะของประชาชนจะต้องรีบเร่งติดอาวุธทางความคิดของประชาชนให้มาก 

 

 

ถ้าคุณไปถามคนเกาหลีใต้ เพิ่งผ่านพ้นเผด็จการมา 30 - 40 ปี ไปบอกว่าทหารจะทำการปฏิวัติ คนเกาหลีใต้จะบอกว่าไม่มีทาง หากไปถามคนอเมริกัน คนอังกฤษ คำตอบย่อมบอกว่าไม่มีทาง แต่ทำไมเมืองไทยวันนี้ คนยังเชื่อ เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนคิดว่าการรัฐประหารไม่มีทางเกิดขึ้น แต่ตราบใดก็ตามถ้าคนยังมีความเชื่อว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นได้ ไม่มีปัญหา ถ้าหากนักการเมืองเลว การบอกว่านักการเมืองเลวก็เป็นการเล่าเรื่องที่ตอกย้ำว่านักการเมืองเลว เพราะฉะนั้นคนดีคือคนที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่ว่าลอยลงมาปกครองประเทศ

เรื่องเล่าเหล่านี้ผมคิดว่า ทุกวันนี้ต่อสู้กันอยู่ แต่ถ้าเราจะเอาชนะให้ประชาธิปไตยปักหลักได้ ผมคิดว่าเรื่อง Soft Power หรือการเอาชนะทางความคิดคือหัวใจสำคัญที่สุดอันหนึ่ง 

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : https://www.youtube.com/watch?v=mX5YnJHqONs

 

ที่มา : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.