ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จากคณะราษฎร 2475 ถึงคณะราษฎร 2563

7
กรกฎาคม
2566

Focus

  • ความพยายามเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอดีตสร้างแรงบันดาลใจไปยังคนรุ่นต่อๆมา ให้มีความพยายามเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองที่เหมาะสมแก่ยุคสมัยแห่งการตอบสนองต่ออำนาจของประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฎตั้งแต่เหตุการณ์ ร.ศ. 103, ร.ศ. 130, พ.ศ. 2475, 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาประชาธรรมปี 2535, เหตุการณ์ปี 2553 และในปัจจุบัน
  • ไม่ว่าความพยายามเปลี่ยนแปลงจะด้วยการยื่นข้อเสนอการปฏิรูป การก่อการปฏิวัติ การอภิวัฒน์สยาม และการออกมาเรียกร้องบนท้องถนนก็ตาม แต่สิ่งที่เหมือนกันของความพยายามเปลี่ยนแปลงต่างๆในอดีตกระทั่งปัจจุบัน คือ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียม และความไม่ยุติธรรมการกลับไปใช้ชื่อคณะราษฎร (2563) เพราะยึดหลัก 6 ประการที่คณะราษฎร (2475) เคยประกาศออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่ว่าด้วยการจะบำรุงความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎรเพราะประชาชนต้องเป็นอันดับหนึ่ง
  • ประชาชนจึงต้องสู้ด้วยตัวเองที่จะใช้สิทธิในด้านต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย โดยทุกคนจะต้องเชื่อมั่นในอำนาจของตัวเอง ศรัทธาในอำนาจของประชาชน ใช้อำนาจให้เป็นประโยชน์กับลูกหลาน และรักษาอำนาจของประชาชนเอาไว้ให้ได้

 

 

ทำไมการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในช่วงที่ผ่านมา ถึงใช้ชื่อกลุ่มตนเองว่าคณะราษฎร และกลุ่มขบวนการของคนหนุ่มสาวนี้ได้สืบสานมรดกความคิดและมีการถอดบทเรียนจากคณะราษฎร 2475 อย่างไรบ้าง

ความเชื่อมโยงกันระหว่างการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีแนวคิดที่คล้ายกันอะไรหลายๆ กับคณะราษฎรเมื่อปี 2475 และรวมถึงการใช้ชื่อที่เราก็ใช้คำว่า “คณะราษฎร” ในช่วงวันที่ 14 ตุลาคม เมื่อปี 2563 คิดว่ามีจุดเชื่อมโยงที่ค่อนข้างชัด

ย้อนไปถึง inspiration ของคณะราษฎร 2475 เราได้ดูคลิปของอาจารย์ปรีดีที่พูดไว้[1] ก็ได้มีการเอ่ยถึงในช่วงยุคของ ร.ศ. 103 และ ร.ศ. 130 แน่นอนว่าการพูดถึงหมายความว่าสำคัญ การพูดถึงหมายความว่ามีแนวความคิดบางอย่างหรือการกระทำบางอย่างที่เป็นตัวจุดประกายให้เขาได้สืบสานและได้ทำต่อ ซึ่งก็คล้ายกันกับการที่พวกมายด์เองหรือคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ได้รับการจุดประกายจากอภิวัฒน์ 2475, 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาประชาธรรมปี 2535 และเหตุการณ์ปี 2553 ด้วยเหมือนกัน คิดว่าคล้ายๆ กัน กว่าเราจะได้อะไรมาสักอย่างหนึ่งต้องมีตัวเปิด และเราได้มีตัวเปิดเมื่อตอน ร.ศ. 103

 

 

ตัวเปิด “ร.ศ. 103” ในวันนั้นประกอบไปด้วยคณะเจ้านายและข้าราชการ คณะเจ้านายและข้าราชการ ณ ตอนนั้นเลือกที่จะใช้วิธีการยื่นข้อเสนอให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ณ จังหวะนั้นทุกคนลองนึกภาพ เราเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มตัว แล้วอยู่ๆ มีคณะหนึ่งโผล่ขึ้นมา แล้วก็บอกว่าปฏิรูปโครงสร้าง ลองปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างอำนาจใหม่ให้ประชาชนได้มีตัวตน ให้ประชาชนได้มีอำนาจเรียกร้องให้เกิด constitution หรือรัฐธรรมนูญที่เราเรียกกันในปัจจุบัน เมื่อ ร.ศ. 103 คือในช่วงของยุคของรัชกาลที่ 5 เขามีข้อเสนอไปยื่นเป็นหนังสือกราบบังคมทูลไปถึงรัชกาลที่ 5 ยื่นไป 7 ข้อเสนอว่า

 

 

  1. อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชวินิจฉัยราชการแผ่นดินไปทุกเรื่อง ให้เปลี่ยนเป็นระบอบราชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นพระประมุขของชาติและมิต้องทรงงานราชการด้วยพระองค์เอง คือไม่ต้องทำงานราชการปกครองเอง
  2. ให้คณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำหน้าที่การบริหารประเทศโดยพระบรมราชานุมัติ อีกทั้งยังมีกฎหมายในการสืบราชสมบัติที่ชัดเจน เป็นการกำหนดและให้มีคณะรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ ต้องมีการกำหนดกฎหมายในการสืบราชสมบัติที่ชัดเจนด้วย ไม่ใช่ว่าใครจะให้ใครตามอำเภอใจ
  3. การขจัดการติดสินบนข้าราชการ โดยให้เงินเดือนแก่ราชการตามตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ นี่คือแนวคิดการแก้ปัญหาคอร์รัปชันตั้งแต่ตอนนั้น ว่าจะทำอย่างไรดี ไม่ให้เกิดคนมาฉ้อราษฎร์บังหลวง มาชุบมือเปิบ มาเอาเงินส่วย จะป้องกันอย่างไรดี โดยที่คณะที่เสนอเรื่องการปฏิรูป เสนอพ่วงข้อนี้ไปด้วย เพราะเห็นว่าเป็นปัญหา
  4. ให้มีระบบกฎหมายที่มีความเสมอภาคและความยุติธรรมแก่ราษฎรทั้งมวล นี่คือการเห็นความสำคัญของคำว่าราษฎร แสดงว่าเขาเข้าใจแล้วว่าพฤติการณ์ที่เป็นอยู่นั้นไม่เกิดความเสมอภาคกันในแต่ละชนชั้น และรวมถึงราษฎรเองก็ไม่มีความเสมอภาคกันด้วยเช่นเดียวกัน เลยเรียกร้องอยากให้เกิดการปรับเปลี่ยนปรับปรุงให้มีความเสมอภาคและความยุติธรรมแก่ราษฎรทั้งมวล อันนี้ค่อนข้างสำคัญมาก เมื่อไหร่ที่มีข้อเสนอแบบนี้แสดงว่า ณ ตอนนั้นเป็นปัญหาชัดเจน
  5. ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกบรรดากฎหมายและขนบธรรมเนียมที่เป็นข้อกีดขวางการพัฒนาประเทศ หรือ ที่ไม่เป็นประโยชน์โดยแท้ แม้ว่าจะเป็นกฎหมายหรือขนบธรรมเนียมแต่โบราณกาลก็ตาม กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ตัดทิ้ง ตัดทิ้งดีไหมอะไรที่ไม่เวิร์คหรือแม้จะมีมานานแล้ว แต่ดูแล้วไม่สมเหตุสมผลกับกาลเวลา ปรับเปลี่ยนใหม่ไหม
  6. ให้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นในที่สาธารณะสำหรับราษฎรทั้งปวง หมายความว่า ณ ตอนนั้นราษฎรพูดแสดงความเห็นในที่สาธารณะไม่ได้ นี่เปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้ชีวิตเลย จากที่เราไม่สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองอะไรได้เลย แต่ว่า ณ วันนี้มีข้อเสนอว่าออกไป และสามารถพูดได้ ให้ราษฎรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นกันได้
  7. ให้มีระบบการแต่งตั้งข้าราชการให้ได้บุคคลที่เหมาะสม อีกทั้งยังมีต้องมีการลงโทษแก่ผู้ที่กระทำผิด แสดงว่าข้าราชการ ณ ตอนนั้นอาจจะมีคนที่ไม่เหมาะสมอยู่เต็มไปหมด แล้วก็อาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดความกดขี่กัน เลยมีการเรียกร้องตรงนี้ แล้วก็มีการเรียกร้องให้มีการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดด้วย ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งนี้พ่วงกับคำว่ายุติธรรมแก่ราษฎรทั้งมวลก่อนหน้านี้ด้วย

นี่คือ 7 ข้อในช่วงยุคนั้นที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างชัดเจน ถ้าเทียบกับตอนนี้ จังหวะอาจจะคล้ายๆ กันกับตอนที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศ 10 ข้อเสนอ จะเป็นเรื่องที่ Woke สังคมมากเลย แบบตื่นตาตื่นใจ จะเอาขนาดนั้นเลยหรือ แต่นี่คือผู้บุกเบิก หน่วยทะลวงฟันด่านแรก เสนอการปฏิรูปก่อน แน่นอนว่า ณ ตอนนั้นไม่ได้รับการตอบสนองในทันที แต่ก็คิดว่าเป็นต้นทุนหนึ่งที่สำคัญ เป็นข้อเสนอแนะจากคณะเจ้านายและข้าราชการที่สำคัญ ที่ส่งผลทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศต่อมาด้วยในช่วงรัชกาลที่ 5 อย่างเช่นเรื่องการเลิกทาส หรือว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางอันมีส่วนสำคัญมาก

 

 

ต่อเนื่องมา “ร.ศ. 130” มีคณะคิดก่อการอยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พอทำไม่สำเร็จเขาก็จะกลายเป็นกบฏใช่ไหม เราจึงจำชื่อเขาว่า “กบฏ ร.ศ. 130” แต่ว่าเขาเป็นผู้ริเริ่มก่อการที่อยากเปลี่ยนแล้วเหมือนกัน มีข้อน่าสังเกตอยู่ตรงนี้ ในช่วง ณ ตอนนั้นในคณะก็มีแนวคิดที่ต่างกันอยู่ 2 แบบ แบบหนึ่งต้องการที่จะถอนโค่นเลย เอาให้รากออกมาเลย เพราะเขามีคำพูดว่า ถ้าหากไม่ถอนรากถอนโคน ไม่จัดการอำนาจให้เสร็จสิ้นเด็ดขาด มันมาในลูปแบบเดิมได้อีก ข้อเสนอของพวกเขาก็คือเสนอ republic แล้วก็มีอีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ในคณะเดียวกัน อันนี้ยังไม่ออกเป็นสาธารณะ อยู่ในช่วงการถกเถียงกันอยู่ เป็นฝ่ายประนีประนอม บอกว่าควรจะต้องประนีประนอม เป็น limited monarchy เพื่อที่จะไม่ให้ฝ่ายที่เขารู้สึกว่าเขาถูกยึดอำนาจชอกช้ำไปมากกว่านี้ แล้วเคียดแค้นจากการที่ถูกช่วงชิงอำนาจไป

 

 

มี 2 แนวคิดนี้ฟาดกันอยู่ในคณะเดียว คณะที่อยากเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน สรุปสุดท้ายแล้วข้อเสนอของพวกเขาตกอยู่ที่เรื่องของการประนีประนอมเสนอให้มี limited monarchy เพราะว่าจำนวนของคนที่เห็นด้วยกับการประนีประนอมเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มของพวกเขา ปรากฏว่าโดนจับได้เพราะว่ามีคนหักหลัง เอาข่าวไปบอกเจ้านายข้างบน เขาก็เลยจับได้ ก็เลยโดนดำเนินคดีหลายๆ คนติดคุกตลอดชีวิต หลายๆ คนตายอยู่ในคุก ถูกพรากอิสรภาพไป ถูกติดตามว่าเป็นกบฏทันที

นี่ก็เป็นต้นทุนหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญ เป็นการส่งต่อความรู้สึกในการที่เมื่อเห็นปัญหาแล้ว คนในสังคมจริงๆ ก็ควรที่จะได้มีโอกาสในการที่จะได้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาวิธีการในการแก้ไขร่วมกันด้วย การกดทับทางอำนาจที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นผลดีต่อคนที่ถูกกดทับอยู่แล้ว แล้วจะหาวิธีการอย่างไรในการที่จะให้ยุติธรรมกับทุกฝ่ายจริงๆ

 

 

ตอนช่วง ร.ศ. 130 อาจารย์ปรีดียกให้รุ่นนั้นเป็นรุ่นพี่ เป็นพวกพี่ๆ เป็น inspiration แน่นอนอยู่แล้ว เพราะว่าตอนช่วงที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จเรียบร้อยแล้วพระยาพหลฯ ได้มีการเรียกหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการ ร.ศ. 130 เข้าไปพบเจอด้วยเหมือนกัน และได้มีการทักทายพูดคุยกัน และมีคำพูดหนึ่ง “ถ้าไม่มีพวกพี่ๆ ก็ไม่มีคณะผม” ซึ่งนี่แหละคือตัวจุดประกาย นี่แหละคือแรงผลักดัน คือการส่งต่อแนวความคิดบางอย่างและทำให้เกิดการต่อยอด เพราะเชื่อมั่นอะไรบางอย่างเหมือนกัน เชื่อมั่นว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือความเป็นมนุษย์ คนเราไม่ควรที่จะต้องถูกกดทับ หรือถูกกดขี่ด้วยการปกครองรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะจะทำให้เขาไม่มีความสุขเลยในการใช้ชีวิต

ตั้งแต่ ร.ศ. 103 - ร.ศ. 130 - อภิวัฒน์ 2475 ส่งต่อมา ซึ่ง (คณะราษฎร) 2475 ส่งต่อแนวความคิดมาถึง (คณะราษฎร) 2563 ช่วงระหว่างกลางจริงๆ ก็เกี่ยวเนื่องด้วย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 - เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 - พฤษภาประชาธรรม 35 - เหตุการณ์ปี 53 เกี่ยวเนื่องกันหมด

สิ่งที่เหมือนกันมีอยู่อย่างหนึ่ง คือทุกคนมองเห็นปัญหา คนที่ออกมาต่อต้านทุกคนมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น และไม่สามารถที่จะทนหรือยินยอมที่จะอยู่กับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่มีความเท่าเทียม ไม่มีความยุติธรรมกับคนที่อยู่ในชาติ นิ่งเฉยไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพวกเขาได้รับผลกระทบด้วย บางคนไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็นิ่งเฉยไม่ได้ ซึ่งคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

 

 

นอกจากไม่ได้นิ่งเฉยแล้ว ยังพยายามหาหนทางในการหลุดพ้นจากปัญหานั้นด้วยการยื่นข้อเสนอการปฏิรูป ด้วยการก่อการปฏิวัติ ด้วยการอภิวัฒน์สยาม ด้วยการออกมาเรียกร้องบนท้องถนนประท้วง จะวิ่งหนีแก๊สน้ำตา จะวิ่งหนีกระสุนยาง เราก็ทำ แต่เราต้องทำเพราะเราทนไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เห็นชัด พอเราเห็นปัญหาตรงส่วนนี้ เราทำความเข้าใจกับปัญหาเชิงโครงสร้างตรงนี้

ที่เขาต่อสู้กันมานานมาก ต้นตอจริงๆ แล้ว ในช่วงจังหวะหนึ่งของสังคมไทยแน่นอนว่าพูดถึงได้ยากมาก ถูกทำให้เกิดความหวาดกลัวโดยที่ไม่กล้าที่จะพูดถึงหนึ่งตัวแปรสำคัญในสมการทางการเมืองไปเป็นเวลานานมาก

พอมาตอนปี 2563 เราเลือกที่จะพูด เพราะว่าตอนรุ่นปี 2516 ปี 2519 ปี 2535 และปี 2553 ล้วนแต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องพวกนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการงัดทหารหรือว่ารัฐบาล ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้นซึ่งสุดท้ายแล้วปัญหาจบไหม ไม่จบ ปัญหาไม่ได้จบจริงๆ แต่ว่าทั้งหมดนั้นเป็นการต่อสู้ที่ส่งต่อมาถึงรุ่นพวกเราด้วยเหมือนกัน ว่าพวกเขาเจออะไรมาบ้าง แล้วเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้เข้าใจว่าหลังจากนี้ เราต้องรับมือกับอะไรบ้าง ตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ตามการพัฒนาของพวกฝั่งอนุรักษนิยมด้วย จารีตด้วย เผด็จการด้วย ที่เขามีทุนทางสังคม มีทรัพยากรมากกว่าเรา

จนถึงปัจจุบันเราเลือกพูดถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศไทย เราปฏิเสธส่วนนี้ไม่ได้ แล้วนั่นก็เลยทำให้เราต้องพยายามทำความเข้าใจและกลับไปใช้คำว่า “คณะราษฎร” ด้วย เพราะเรากำลังรู้สึกว่าอำนาจกำลังกลับไปวนลูปแบบเดิม เราได้ประชาธิปไตยเมื่อคณะราษฎรอภิวัฒน์สยาม 2475 เราได้ระบอบมาแล้ว แต่ในทางกายภาพพฤติกรรม เรายังไม่มี เกิดการช่วงชิงมาโดยตลอด เกิดการต่อสู้มาโดยตลอด ยังไม่จบ

 

 

เรากลับไปใช้ชื่อ “คณะราษฎร” เพราะเรายึดหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรเคยประกาศออกมา สิ่งหนึ่งในสิ่งหนึ่งที่อยู่ในนั้น ที่รู้สึกว่าสำคัญมากคือหลักการที่บอกว่าจะบำรุงความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎร เพราะตามระบบประชาธิปไตยประชาชนต้องเป็นอันดับ 1 ราษฎรต้องเป็นอันดับ 1 ราษฎรอยู่กินไม่ได้ ประชาชนอยู่กินไม่ได้ คนในชาติไม่สามารถที่จะพยุงชีวิตได้ แล้วรัฐจะอยู่ได้อย่างไร ไม่มีรัฐไหนที่สามารถอยู่ได้โดยไร้ซึ่งการ support จากประชาชน ซึ่งต้องย้อนกลับมาที่ว่า เพราะฉะนั้นประชาชนคือคนที่เราต้องให้ความสำคัญและน้ำหนักกับเขามากที่สุด

การโดนกดขี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องยอมรับได้เป็นปกติ ไม่ควรที่ต้องมีใครถูกกดขี่ ความเสมอภาคต้องเกิดขึ้น ความยุติธรรมควรต้องเกิดขึ้นกับทุกคน การมองมนุษย์เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีกรอบที่นอกเหนือจากความเป็นธรรมชาติมาจำกัดกรอบ มายด์คิดว่าควรจะต้องมองเนื้อความเป็นมนุษย์ให้ถ่องแท้ได้แล้ว

หมดยุคที่จะต้องใช้ชนชั้นวรรณะมาจำกัดกรอบ เธอเรียนที่ไหน ฉันเรียนโรงเรียนในเมืองนะ ชั้นเรียนโรงเรียนต่างจังหวัด เธอเรียนโรงเรียนต่างจังหวัด ตอนนี้สังคมเราเปลี่ยนใหม่หมดแล้วว่าพฤติการณ์แบบนี้หรือวัฒนธรรมการมองกันแบบนี้ต้องยกเลิกได้แล้ว เพราะนี่คือรูปแบบหนึ่งในการกดขี่ แล้วเราจะไม่ยอมรับแม้แต่เล็กน้อยแบบนี้ด้วยซ้ำ

 

 

บทเรียนที่เราได้ อย่างที่บอกไปว่าตอน ร.ศ. 130 ที่เขามีการตีกันสองฝั่งความคิดว่า ถ้าจะเป็นแบบประนีประนอมเขาก็จะไม่ชอกช้ำและน่าจะยอมรับได้มากกว่า แต่ฝั่งที่บอกว่าอยากเปลี่ยนเป็น republic แล้วก็บอกว่าต้องถอนรากถอนโคนเลย เดี๋ยวอำนาจจะวนลูปกลับมาแบบเดิม พอมองกลับมาตอนนี้ก็ไม่เกินจริงเท่าไหร่

เราเห็นบทเรียนในอดีตแล้ว ว่าการประนีประนอมผลสรุปสุดท้ายมีช่องว่างให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจึงพยายามเสนอช่องทางในการปรับปรุงโครงสร้างที่ละมุนละม่อมให้ได้มากที่สุดก่อน แต่ถ้าหากวันหนึ่งที่เสียงของราษฎรถูกเมินเฉยอีกครั้งหนึ่ง การก่อตัวของการลุกขึ้นสู้ปลดแอกจากการกดขี่ จะกลับมาอีกครั้งหนึ่งอยู่ดี นี่คือบทเรียนที่รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วไม่มีใครที่จะสามารถมาเรียกร้องอะไรให้กับประชาชนได้นอกจากประชาชนอย่างพวกเราต้องสู้ด้วยตัวเอง

พรรคการเมือง คือ คนที่เราไว้วางใจเขาแล้ว เราจ้างเขาให้ไปทำงานแทนเรา นักการเมืองเข้าไปแล้ว แม้เขาจะมาจากคน 99 เปอร์เซ็นต์ในประเทศ แต่เมื่อเขาไปเป็นนักการเมืองแล้ว เขากลายเป็นคน 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขารับเงินเดือนแสนกว่าบาท แล้วเขายังถืออำนาจรัฐอยู่ในมืออีก แล้วเราจะเชื่อใจเขาได้ยังไงว่า เมื่อเขาถืออำนาจรัฐแล้ว เขาจะยังทำเพื่อคน 99 เปอร์เซ็นต์ หรือว่าคนที่เขาเคยจากมาอยู่ดี

นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องคอยย้ำเตือนคน 99 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ข้างนอกต้องคอยย้ำเตือนว่า คุณมาจาก 99 เปอร์เซ็นต์ แล้วตอนนี้คุณอยู่เป็น 1 เปอร์เซ็นต์แล้ว คุณต้องอย่าหลงลืมว่าหน้าที่ของคุณ ณ ตรงนั้นคือการทำเพื่อคน 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองหรือแม้แต่ทำเพื่อ support มวลชนของคนที่เชื่อมั่นในตัวคุณ แนวคิดแบบของคุณ แต่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เป็นนักการเมืองห้ามมีแม้แต่นิดเดียวที่คิดในใจ 1 วินาทีต่อวันว่า คุณจะทำเพื่อตัวเอง เพราะหน้าที่หลักของคุณคือการบริหารประเทศและทำเพื่อประชาชน ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแค่นั้นเอง

 

 

บทเรียนต่อมาคือทหาร เราเห็นตัวอย่างของทหารรักชาติที่แท้จริงมาแล้ว เพราะว่า ร.ศ. 130 เขาก็เป็นทหาร เขาก็บอกว่าก็เพราะว่าเขาเป็นทหารของชาติ เขาเลยต้องออกมาทำแบบนี้ เขาไม่ยอมปล่อยให้ชาติ คนในชาติอยู่กันแบบเหลื่อมล้ำกันแบบนี้ อยู่กันแบบถูกกดขี่กันแบบนี้ อยู่กันแบบไม่ยุติธรรมกันแบบนี้ได้ เพราะเขาเป็นทหารที่เขารักชาติ เขาเป็นทหารของชาติ

ทหารในปัจจุบันถูกแปรเปลี่ยนความหมายไปเยอะมาก ชาติสำหรับเขาเท่ากับอะไรไม่รู้ แต่ในความเป็นจริงแล้วชาติต้องเท่ากับประชาชนและความมั่นคงของชาติจำเป็นอย่างมากที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าความมั่นคงของชาติคือความมั่นคงของประชาชน

เพราะฉะนั้นหมายความว่าทหารไม่ควรเลยแม้แต่นิดเดียวที่จะมองประชาชนเป็นศัตรู เพราะหน้าที่คุณ คือการรักษาความมั่นคงของชาติ ก็คือการรักษาความมั่นคงของประชาชน แค่นั้นเอง อย่ามองประชาชนเป็นศัตรูและไม่จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพื่อเข้ามางัดค้านอำนาจความคิดกับประชาชนอีกแล้ว อยู่เป็นคนคอย support พิทักษ์ความมั่นคงของประชาชนแบบนั้นจะดีกว่า แล้วจะไม่มีใครรังเกียจอาชีพทหาร ไม่มีใครรังเกียจเครื่องแบบทหาร ไม่มีใครกังวลว่าเมื่อวันหนึ่งที่ลูกจากตัวไปเป็นทหาร เราอยากให้เขาเป็นไหม

เพราะฉะนั้นทหารสามารถยืนอยู่ข้างประชาชนได้ แค่กลับมาอยู่ในร่องรอยอยู่ในหน้าที่ของตัวเองที่ควรจะต้องเป็นแบบนั้น ซึ่งบทเรียนเหล่านี้มีให้กับหลายภาคส่วนมาก แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชนอย่างพวกเรา เราต้องรู้ให้เท่าทัน ว่าการเมืองที่เปลี่ยนไปในแต่ละรอบเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นบ้าง

เราอาจจะถูกสอนมาก่อนหน้านี้ในบางคนบางส่วนว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวเรา การเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา การเมืองไปเป็นเรื่องของเขา ใครจะไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ในความเป็นจริงแล้วการเมืองคือ เรื่องของเราทุกคนตั้งแต่เราเกิดมา ลืมตาดูโลก ตั้งแต่แม่เราเริ่มท้อง ตั้งแต่เราต้องออกมาเป็นหนึ่งในประชากรในประเทศนี้ การเมืองเกี่ยวเนื่องกับเรา แล้วเรามีอำนาจมากพอในเมื่อระบอบของเราบอกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย เรามีอำนาจมากพอในการที่จะกำหนดว่าประเทศที่เราอยากได้จะต้องเป็นแบบไหน เรามีสิทธิ์ในการที่จะกำหนดว่าอนาคตที่เราอยากเห็นต้องเป็นแบบไหน

เรามีสิทธิ์ในการที่จะบอกว่าเมื่อ ณ ตอนนี้มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในสังคม สิทธิในการจัดสรรทรัพยากร สิทธิขั้นพื้นฐานยังไม่เท่าเทียมกัน เรามีสิทธิ์บอกว่าทำให้เท่าเทียมกว่านี้ให้ได้ และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราจะเห็นว่าทุกๆ ผู้ก่อการก่อนหน้าเราหรือ inspiration ก่อนหน้าเราเขาได้ทำไว้แล้วนั้นก็คือ เขาทำให้เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่จะปกครองในระบอบที่จะเป็นเครื่องมือในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีอยู่รัฐธรรมนูญอย่างเดียวเท่านั้น คือรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับประชาชน ถ้าหากไม่ใช่ฉบับประชาชน ทำอย่างไรก็ได้ที่ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นฉบับประชาชนให้ได้

“รัฐธรรมนูญ” คือสิ่งที่พี่ๆ ของเราพยายามต่อสู้แย่งชิงมาแล้ว เพราะฉะนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ ทำให้ได้ ทำให้เกิดขึ้นให้ได้ และพวกเราต้องเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดัน เพราะถ้าเรามัวรอแต่ในสภา เราไม่รู้ว่าเขาจะไปเคลียร์ปัญหากันเสร็จเมื่อไหร่ แต่ว่าเราก็คอยบอกเขาเรื่อยๆ ว่าตอนนี้เจตจำนงของประชาชนจริงๆ คือต้องการแก้ไขเพื่อร่างใหม่ เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นี่คือเจตจำนงที่ชัดเจนของประชาชน และนี่คือเจตจำนงที่ทำให้ส่งผลต่อการเลือกตั้งด้วย

 

 

สุดท้ายขออนุญาตฝากแบบนี้ ทุกคนจำเป็นต้องเชื่อมั่นในอำนาจของตัวเองเข้าไว้ ก็ระบอบได้กำหนดมาแบบนี้ เชื่อมั่นในอำนาจของตัวเอง ศรัทธาในอำนาจของประชาชนที่เรามี ทำความเข้าใจและใช้ให้ได้ ใช้ให้เป็นประโยชน์กับลูกหลานเรา ใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนที่อยู่รอบตัวเรา คนที่อยู่ในกลุ่ม 99 เปอร์เซ็นต์ อย่างพวกเรา คนที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นแรงงานอย่างพวกเรา มนุษย์เงินเดือนก็เป็นชั้นแรงงาน ใช้อำนาจนี้ให้เป็น สั่งคนที่เราจ่ายภาษี ให้พวกเขาคิดให้ได้ รักษาอำนาจของประชาชนเอาไว้ให้ได้ แล้วก้าวต่อๆ ไป การเลือกตั้งครั้งนี้ ครั้งแรกก้าวแรกเฉยๆ แต่ก้าวต่อๆ ไป จะเข้มแข็งมากขึ้น ขอบคุณค่ะ

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : https://www.youtube.com/watch?v=mX5YnJHqONs

 

ที่มา : ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.