ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

‘ผู้ฟังถาม - ผู้ร่วมเสวนาตอบ’ : “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?

7
กรกฎาคม
2566

 

Q: สวัสดีทุกท่าน สวัสดีผู้มีเกียรติทุกท่าน สวัสดีสื่อมวลชน คณะทำงานผู้มีเกียรติทุกท่าน ผม (ชื่อภาษามือ) ชื่อจริง บุญเลิศครับ เป็นคนพิการทางการได้ยิน ผมสนใจทางด้านการเมืองมากๆ วันนี้ก็ได้มาเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ก็รู้สึกดีใจมาก 

 

 

จริงๆ ปัญหาของคนพิการ ปัญหาของคนหูหนวก เราก็รู้สึกว่า ตั้งแต่ผมสนใจเรื่องของการเมือง ก็มีปัญหาทางด้านการสื่อสาร จริงๆ ผมสนใจการเมืองมาก แต่ว่าพอมีข่าวการเมืองทีไร ถามว่าผมเรียนรู้อย่างไร ศึกษาอย่างไร ต้องถามคนข้างๆ ว่า เขาพูดอะไร เขาทำอะไร อย่างเลือกตั้งที่ผ่านมา ข้อมูลการเลือกตั้ง นโยบายแต่ละพรรค อะไรอย่างนี้ ถามว่าผมรู้ไหม ไม่รู้ครับ ในสื่อโฆษณา ในโทรทัศน์ มีล่ามภาษามือให้ผมไหม ก็มีน้อย มีแค็ปชันให้ผมไหม ก็มีน้อย ผมเองต้องไปหาอ่านเอง จริงๆ 

 

 

ถามว่าหน้าที่ตรงนี้ควรเป็นของใคร หน้าที่ตรงนี้ก็ต้องเป็นของคนที่จัดทำ ผู้จัดทำก็ต้องอำนวยความสะดวกให้กับคนหูหนวก แล้วก็ให้กับคนพิการทุกท่าน ตรงนี้ก็ฝากด้วย ฝากทุกท่านในอนาคต รัฐบาลต่อๆ ไปช่วยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการด้วย ขอบคุณครับ 

 

 

Q กล้า สมุทวณิช : สำหรับคำถามนี้ท่านที่จะตอบได้คงต้องเป็นคุณหมออ๋อง น่าจะเป็นคนเดียวที่เป็นตัวแทนจากพรรครัฐบาลในขณะนี้

A ปดิพัทธ์ สันติภาดา : ขอบคุณที่ถามคำถามนี้นะครับ ก็แน่นอน กลุ่มผู้พิการ ต่อให้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่มีใครคิดถึงว่าเขาเข้าใจ Message กติกาและนโยบายที่จะเลือกได้หรือไม่อย่างไร ในส่วนของพรรคก้าวไกล เราก็ต้องขอโทษ เราก็เพิ่งมารู้ตัวตอนหลังๆ ก็เลยมีการเตรียมล่ามภาษามือในช่วงประมาณ 2 วีกสุดท้าย แต่ก็คิดว่าไม่พอ คิดว่าควรต้องเริ่มตั้งแต่ Day one เลย แล้วก็นอกจากจะเป็นผู้พิการหูหนวกแล้ว กลุ่มผู้พิการตาบอดนี้คือก็โอเค ยังได้ยินบ้าง แต่ว่าก็ยังขาดโอกาสในการที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองไปอีกมาก 

 

 

สิ่งที่ทางเราต้องการเห็นก็คือว่า ยังไม่เป็นรัฐบาลนะ เอาก้าวไกลก่อน ก็คือเราส่ง ส.ส. ที่เป็นผู้พิการเข้าสภาไปได้ 2 คนในรอบที่แล้ว แล้วทุกครั้งที่มีกฎหมายหรือกติกาอะไรก็ตามในประเทศนี้ที่กระทบผู้พิการ เขาจะไม่เคยพลาดในการยืนขึ้นพูดเลย อันนี้ถือว่าคือจุดเริ่มต้นที่เราพาเข้าไปได้ แต่ก็ยังเป็นแค่ผู้พิการขาประเภทเดียว แล้วเราก็ยังมี สว. มณเฑียร บุญตัน ที่จะพยายามรักษาสิทธิของผู้พิการ อยู่ในหลายๆ มาตราของกฎหมาย 

ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาล ถ้าผมมองว่าน่าอายก็คือว่า เรามีนโยบายที่จะให้เอกชนจ้างงานผู้พิการ แต่เรากลับไม่เห็นผู้พิการสักคนอยู่ในทำเนียบรัฐบาล หรือไม่เห็นผู้พิการแม้แต่คนเดียวอยู่ในรัฐสภาและเป็นข้าราชการ เพราะฉะนั้นผมหรือว่าคุณพิธาก็มีความตั้งใจว่า ภาครัฐจะต้องเป็นหัวหอก เป็นผู้นำในการจ้างงานผู้พิการ แล้วทำให้ผู้พิการออกมาใช้ชีวิตกับคนอื่นให้ได้มากที่สุด เพราะว่าเรามีผู้พิการเยอะกว่าที่เราคิด แต่เขาออกมาใช้ชีวิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นพวกนี้ ผมอาจจะรับปากวันนี้ไม่ได้ แต่ว่ามันอยู่ในวิธีคิดของพวกเราแล้ว แล้วก็ถ้าเรามีอำนาจรัฐ ถ้าเรามี กกต. หรือการเขียนรัฐธรรมนูญในหน้าที่ของ กกต. สิทธิของผู้พิการควรจะต้องอยู่ในเรื่องของอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำของ กกต. ด้วย



 

Q กล้า สมุทวณิช : การเอาผิดผู้ที่เคยทำรัฐประหาร อยากทราบว่าจะใช้กฎหมายมาตราอะไรในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาผิดได้ หรือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมตอบได้สั้นๆ นิดเดียวแค่ว่า โดยรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ถูกล็อกไว้โดยบทเฉพาะกาล มาตรา 279 ที่ว่า การกระทำใดๆ ของ คสช.ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญนี้ทำไม่ได้ แต่ว่าถ้าผมตอบอย่างนี้ เป็นการตอบแบบไร้จินตนาการ ผมเลยอยากให้ท่านผู้เข้าร่วมทุกท่าน เสนอไอเดียเกี่ยวกับการเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ทำรัฐประหาร

A พงศกร รอดชมภู : มี 2 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือเรื่องที่ ถ้าสมมติฝ่ายประชาธิปไตยปัจจุบันที่เป็นฝ่ายค้านเดิม จะเข้าไปเป็นรัฐบาล เขาจะแก้ ก็คือยกเลิกประกาศทั้งหลายแหล่ ทางหมวดของ คสช. ที่มีมาทั้งหมด แล้วจะทำให้เกิดการสถาปนาอำนาจใหม่ หลักการคือสถาปนาอำนาจใหม่ พอสถาปนาอำนาจใหม่ สิ่งที่ขัดขวางการสถาปนานี้จะถูกยกเลิกหมด นี่พูดอย่างง่าย ๆ ก็คือว่าสิ่งที่ คสช. วางไว้ทั้งหมดก็จะโดนยกเลิกไปได้ แล้วก็บางอย่างสามารถเอาผิดได้ด้วย แต่อันนี้ยังไม่ต้องไปไกลขนาดนั้น เอาให้ยกเลิกได้ก่อน ขั้นต่อไปเดี๋ยวค่อยว่ากัน 

 

 

ข้อที่สองก็คือ เราจะต้องทำยังไงถึงจะป้องกันการรัฐประหาร คือผมพูดเกริ่นในเรื่องของทหารไปแล้วใช่ไหม ที่เราแก้องค์กรทหาร อยากจะย้ำอีกทีอย่างที่มายด์เขาพูด ก็คือประชาชนต่างหากที่เป็นตัวสำคัญ แล้วผมบอกแล้วว่า อย่างที่ท่านว่าตั้งแต่ปี 2535 ใช่ไหม เปลี่ยนไปเยอะแล้ว เปลี่ยนมาเยอะจนประชาชนมีศักยภาพสูงมาก แล้วผมก็อยากจะเชิญชวนประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งด้านการร่างรัฐธรรมนูญของ สสร. ใช่ไหม จะต้องสร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมมากๆ สร้างบรรยากาศในการหวงแหนประชาธิปไตย สร้างบรรยากาศว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารักษา มันเป็นของเรา พอเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ทหารก็ไม่กล้า ที่ต่อจากทหาร บางทีทหารถอย เขาก็ถอย พวกตุลาการภิวัฒน์ พวกองค์กรพิเศษต่างๆ ที่จะมาคอยลิดรอนประชาธิปไตย เขาจะถอย แล้วเขาถอยเร็วด้วย ถ้าทหารถอย แล้วประชาชนสู้ รับรองไม่มีใครสู้ประชาชนได้

ไม่ว่าประเทศไหนในโลก ไม่มีใครสู้ประชาชนได้ เพียงแต่ประชาชนถูกทำให้รู้สึกว่าคุณสู้ไม่ได้ต่างหาก นั่นคือประเด็นใหญ่ ต้องเปลี่ยนความคิดนี้ให้ได้ ถ้าเปลี่ยนได้ แล้วก็จังหวะจะโค่น ไม่ใช่วิ่งไปชนรถถังนะ ไม่ใช่ มีหลายเรื่องที่จะทำได้อยู่ จัดการเขา อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่าคือการสู้อย่างไร้ความรุนแรงก็ได้ โดยคุณไม่จำเป็นต้องชุมนุม แต่คุณนัดกันไปคุยกับบริษัท ห้างร้าน สมาคมต่างๆ ว่าเราจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว เราต้องเลิกแล้ว เราต้องมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่านั้น ก็คือถอนการสนับสนุน แบบที่ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) พูด ก็คือคุณถอยมาเลย คุณไม่ต้องสนับสนุนเขา แปปเดียวเขาก็อยู่ไม่ได้ 

 

 

มีนิทานของยีน ชาร์ป คือมีคนเลี้ยงลิงอยู่ แล้วให้ลิงไปเอาข้าวของ วันหนึ่งลูกลิงก็บอกว่า ทำไมต้องมาขนของทุกวัน คนที่เลี้ยงอยู่มันไม่มีความสามารถอะไร เรานี่สิปีนต้นไม้ได้ ลิงเลยตกลงว่า เราก็เลิกสิ เราก็ขนของเราไปเอง โดยไม่ต้องไปให้เขา สุดท้ายคนที่เลี้ยง เขาเรียกชายชรา (อันนี้เป็นนิทานของจีน) ตาย เพราะไม่มีอะไรกิน เพราะว่าเขาอยู่ได้เพราะลิง เหมือนกับผู้มีอำนาจ เขาก็อยู่ได้เพราะประชาชน ถ้าประชาชนไม่เอา คุณจะอยู่รอดได้ยังไง 

 

 

Q: ในฐานะอนุชนรุ่นหลัง จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร และจะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร

A ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล : มี 2 ทางหลักๆ จะประเมิน 2 ขา หนึ่งคือขาทางการ สองคือขาทางวัฒนธรรม ขาทางการก็คือ ในทางกฎหมายเราต้องฝากฝังให้เหล่า ส.ส. ทั้งหลายที่เข้าไป ทำอย่างไรก็ได้ที่จะหากลไกในการที่จะป้องกันรัฐประหารที่จะเกิดขึ้น เราอาจจะมีโมเดลคร่าวๆ ของเราในการเสนอแนวความคิดไป แต่ว่าเขาต้องเป็นผู้ปฏิบัติการ อย่างที่สองคือขาวัฒนธรรม อย่างที่บอกไปคือ เราต้องเชื่อมั่นก่อนว่าเรามีอำนาจ แล้วการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังนั้น เราอาจจะต้องมองเกมให้ออก เพราะว่าไม่ได้มีการรัฐประหารแค่รูปแบบเดียว เหมือนอย่างที่มีวิทยากรวันนี้ได้พูดไว้ ยังมีการรัฐประหารเงียบ มีการรัฐประหารผ่านกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญตอนนี้ยังเป็นคนที่แต่งตั้งยังมาจาก คสช. ใช่ไหม เขายังมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือว่าการตีความรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งอันนี้ก็อาจจะเป็นการรัฐประหารในทางกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนหนึ่งที่เราต้องทำคือการรู้เท่าทันเขา ว่ามีวิธีการใดบ้างที่จะเกิดการแทรกแซงทางอำนาจ ที่มันเป็นระบบที่นอกเหนือจากประชาธิปไตยอีก แล้วเราจะหาวิธีการในการรับมือวิธีการนอกเหนือนั้นอย่างไร การแสดงออก การออกมาพูด การออกมาลงถนน การออกมาชุมนุม ไม่ใช่เรื่องผิดทั้งนั้น ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ออกมาได้ ส่งเสียงได้ เมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่พอใจ เมื่อเรามีเหตุผลรองรับ คิดไตร่ตรองดีแล้ว เรารู้สึกว่าไม่ได้ละ เราต้องทำอะไรสักอย่าง เราออกมาได้ เราส่งเสียงบอกเขาได้ บอกผู้แทนของเราก็ได้ บอกถึงทหารโดยตรงเลยก็ได้ว่า ให้ฟังประชาชนหน่อย ย้ำทหารไปอีกทีก็ได้ ใช้คำแบบเมื่อครู่เลยก็ได้ “ความมั่นคงของชาติ คือความมั่นคงของประชาชน แล้วคุณจะเอาไง” เราต้องเลิกการกลัวพวกเขา แล้วลุกขึ้นมายืนตัวตรงต่อหน้าพวกเขา แล้วบอกพวกเขาว่าเราต้องการอะไร แล้วพวกเขาไม่ควรทำอะไร ถ้าหากประชาชนเข้มแข็ง ก็ไม่มีใครทำอะไรเราได้

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : https://www.youtube.com/watch?v=mX5YnJHqONs

 

ที่มา : การอภิปรายใน PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.