ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ตึกโดม ความเป็นมา การออกแบบ และสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

9
กรกฎาคม
2566

Focus

  • การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการอภิวัฒน์ 2475 เป็นปรากฏการณ์ทั้งการสืบเนื่องของระบบงานรัฐเดิมที่ยังมีคุณค่า (อาทิ พระราชาเป็นประมุขโดยไม่บริหารประเทศเอง) และการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ (อาทิ การมีรัฐบาลเพื่อการบริหารประเทศตามวิถีทางประชาธิปไตย) ฉันใด การสร้างตึกโดมในฐานะสถานที่สำคัญที่สุดในความเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ทั้งสองประการดังกล่าวฉันนั้น
  • ตึกโดมซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นการบูรณะจากอาคารที่มีอยู่เดิม 4 หลัง ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ตามสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตก โดยได้รับการออกแบบใหม่ให้สร้างหลังคาเชื่อมอาคารทั้งหมดเข้าด้วยกันให้เป็นอาคารหลังเดียว และพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารหลังที่ 2 และ 3 ถูกออกแบบให้เป็นอาคารสูง 3 ชั้นและสร้างยอดโดมอันโดดเด่นขึ้นเป็นสัญลักษณ์สำคัญ
  • ตึกโดมยังมีความโดดเด่นในฐานะการเป็นศูนย์บัญชาการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่เก็บอาวุธสงครามที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นฉากสำคัญในเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอื่นๆ อีกหลายครั้ง และสัญลักษณ์โดม อันสื่อความหมายสำคัญที่สุดของความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้รับการจำลองเป็นอาคารสัญลักษณ์ประจำวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา อีกด้วย

 

ตึกโดม ถือได้ว่าเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นอาคารสัญลักษณ์สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยจวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

ตึกโดมออกแบบโดย หมิว อภัยวงศ์ สถาปนิกที่จบการศึกษาทางสถาปัตยกรรมมาจากฝรั่งเศส และเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงรวมถึงมีผลงานมากที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย

การออกแบบก่อสร้างตึกโดมธรรมศาสตร์มีลักษณะพิเศษคือ ไม่ได้ก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารที่มีอยู่เดิม 4 หลัง ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 อาคารทั้ง 4 หลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตก สูง 2 ชั้น มีขนาดและรูปทรงเหมือนกัน วางเรียงต่อกันเป็นแนวยาวหันหน้าลงแม่น้ำเจ้าพระยา

สถาปนิกและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้น ได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงอาคารคือ คงอาคารทั้ง 4 หลังไว้โดยสร้างหลังคาเชื่อมอาคารทั้งหมดเข้าด้วยกันให้เป็นอาคารหลังเดียว ทำให้ตึกโดมเมื่อสร้างเสร็จมีความยาวทั้งหมด 235 เมตร ส่วนพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารหลังที่ 2 และ 3 จะถูกออกแบบให้เป็นอาคารสูง 3 ชั้นและสร้างยอดโดมขึ้นเป็นสัญลักษณ์

ตึกโดมได้เริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2479 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จมาเป็นประธานในพิธี

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ นายหมิว อภัยวงศ์ ออกแบบไว้ แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดในการปรับปรุงอาคารเก่ามาสู่การใช้งานใหม่ภายใต้รูปแบบใหม่ที่ลงตัวและสร้างความน่าสนใจได้ไม่แพ้อาคารที่สร้างใหม่ทั้งหลัง

อาคารเดิมทั้ง 4 หลัง ถูกออกแบบให้เป็นอาคารเดียวกันโดยรื้อหลังคาอาคารเดิมลงและสร้างหลังคาใหม่เชื่อมทั้ง 4 หลังเข้าด้วยกัน ช่องว่างระหว่างอาคารทั้ง 4 หลังซึ่งแต่เดิมมีอยู่ 3 ช่อง แต่ละช่องกว้างประมาณ 7 เมตร สถาปนิกออกแบบโดยเก็บรักษาไว้ 2 ช่อง คือ ช่องระหว่างตึก 1 กับตึก 2 และช่องระหว่างตึก 3 และตึก 4 สาเหตุน่าจะเพื่อใช้เป็นช่องทางเดินเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ทางทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัย (ต่อมาคือสนามฟุตบอล) และเหนือช่องว่างระหว่างอาคารทั้ง 2 ช่อง สถาปนิกออกแบบชั้นหลังคาให้สูงขึ้น ซึ่งในเชิงความงามแล้วหลังคาส่วนนี้ช่วยลดทอนความยาวของอาคารทางสายตาลง ช่วยให้อาคารดูไม่ยาวมากจนเกินไป และในแง่การใช้สอยยังเป็นการช่วยเน้นช่องทางเดินเข้าให้ดูเด่นขึ้น

ส่วนช่องว่างระหว่างตึก 2 กับตึก 3 ถือเป็นจุดกึ่งกลางของอาคาร สถาปนิกออกแบบให้เป็นส่วนที่เด่นที่สุด โดยสร้างอาคารขึ้นใหม่มีความสูง 3 ชั้นเชื่อมต่อกับปลายมุขของอาคาร 2 และ 3 ทำให้ส่วนกลางของอาคารนี้มีความกว้างถึง 22 เมตร ซึ่งเพียงพอในการทำเป็นโถงทางเข้าและโถงบันไดหลักของอาคาร บนหลังคาออกแบบเป็นโดมยอดแหลมสูงประมาณ 16 เมตร เพื่อเน้นทางเข้าและเป็นสัญลักษณ์ของอาคาร และต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพื่อให้สอดคล้องกับอาคารยอดโดมที่ออกแบบใหม่ ในส่วนพื้นผิวของอาคาร 2 และ 3 จึงมีการปรับเปลี่ยนลวดลายใหม่ทั้งหมด ซึ่งเดิมมีลวดลายแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเปลี่ยนมาเป็นลวดลายที่มีลักษณะเรียบง่ายมากขึ้นตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตามในส่วนของอาคาร 1 และ 4 ยังคงปล่อยให้มีลวดลายบัวหัวเสาแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกเดิมอยู่

ใต้ชายคาของยอดโดมด้านหน้า ติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ เป็น “นาฬิกาปารีส” สั่งพิเศษจากห้าง เอส.เอ.บี. ส่วนหลังคาตึกโดมมุงด้วยกระเบื้องไม้สักอย่างดี พื้นอาคารปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน เฟอร์นิเจอร์ภายในทั้งหมดสั่งทำจาก “เกอรสันเฟอนิเจอ” วัสดุประกอบอื่นๆ เช่น กุญแจ ลูกบิด บานพับ ฯลฯ สั่งซื้อชนิดอย่างดีที่สุดจากห้างวินด์เซอร์ แอนด์ โก (ห้างสี่ตา) ซึ่งทั้งหมดได้ทำให้ตึกโดมเป็นตึกที่โดดเด่นและทันสมัยมากที่สุดหลังหนึ่งของยุคสมัย

นอกจากความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ตึกโดมยังมีความโดดเด่นในแง่ของการเข้าไปมีบทบาทในฉากประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่หลายครั้ง อาทิ การเป็นศูนย์บัญชาการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่เก็บอาวุธสงครามที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร หรือเป็นฉากสำคัญในเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตลอดจนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาหลายต่อหลายครั้ง

ซึ่งการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองมากมายเช่นนี้ ทำให้ตึกโดมในภายหลังได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และนอกไปจากนั้นตึกโดมยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความเป็นตัวตนของคนธรรมศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2503-2515 มหาวิทยาลัยได้ทำการรื้ออาคาร 4 ปีกด้านท่าพระอาทิตย์ลง เพื่อทำการก่อสร้างห้องเอที และใน พ.ศ. 2520 อาคาร 1 ฝั่งท่าพระจันทร์ถูกรื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างตึกอเนกประสงค์ ทำให้ตึกโดมจากที่เคยมีความยาวถึง 235 เมตรเมื่อแรกสร้าง คงเหลือความยาวเพียงประมาณ 115 เมตรในปัจจุบัน

แม้ว่าจะถูกรื้อถอนบางส่วนของอาคารลง แต่ตึกโดมยังคงดำรงสถานะเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสมอมา และไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะขยายวิทยาเขตไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใด สัญลักษณ์โดมก็จะถูกจำลอง นำไปสร้างเป็นอาคารสัญลักษณ์ประจำวิทยาเขตเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตึกโดมบริหารที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา จนอาจกล่าวได้ว่า ตึกโดมคือภาพตัวแทนสำคัญที่สุดของการสื่อความหมายของความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ที่มา : “ตึกโดม,” ใน นามานุกรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 77 ปี 77 คำ. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554). น. 83-87.