ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เนื่องในวาระครบรอบ ๙๐ ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

24
มิถุนายน
2565

๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีความสำคัญเพียงใดต่อประเทศชาติ ประชาชนและประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันมานาน ด้วยจุดยืนทางการเมือง อคติทางการเมืองและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไป ข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๙๐ ปีที่แล้ว จึงมีลักษณะของ “คำประกาศ” ของแต่ละฝ่ายมากกว่าเหตุผลหรือหลักฐานข้อเท็จจริง 

งานทางวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน บทบาทของคณะราษฎร และผลต่อพัฒนาการทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตย พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม นั่นเองก็ตั้งอยู่บนฐานคติหรือฐานความคิดอันหลากหลาย 

เราชาวไทยโดยเฉพาะผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ย่อมไม่สามารถปฏิเสธ สถานะอันสำคัญของเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปได้ 

เราไม่สามารถปฏิเสธ บทบาทความกล้าหาญ ความเสียสละ ของสมาชิกคณะราษฎรได้ 

ความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ให้ทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีอย่างเสมอภาค มีเอกราชสมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิต ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม สะท้อนอยู่ในหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร 

“คณะราษฎร” ได้ดำเนินการยึดอำนาจอย่างเฉียบพลันด้วยความละมุนละม่อม ขณะเดียวกัน เราก็ควรตระหนักถึงความปรารถนาดี การประนีประนอมของผู้มีอำนาจ ความพยายามในการประคับประคองเพื่อไม่ให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อของ คณะเจ้านายจำนวนไม่น้อย ขณะที่รัชกาลที่เจ็ดเองทรงเห็นแก่บ้านเมือง ยอมทำตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร นับเป็นเอกลักษณ์ของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ 

ผมเสนอให้มีการมองเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของสยามประเทศไทย 

๒๔๗๕ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความเปลี่ยนแปลงซึ่งได้เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ ๔ และการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕ รวมทั้งให้ศึกษาบทเรียน ความสำเร็จ ความล้มเหลวของคณะราษฎรเพื่อมองไปข้างหน้า เพื่ออนาคตของคนไทยทุกคน เพื่อความก้าวหน้าสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ 

ประชาธิปไตยไทย เดินทางมาไกล ๙๐ ปีแล้ว แต่ประชาธิปไตยไทยยังคงลุ่มๆดอนๆ อยู่ และเรายังคงอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช.ผ่านการใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๖๐ 

ข้อเสนอแรก เนื่องในโอกาส ๙๐ ปีอภิวัฒน์ประชาธิปไตย คือ ขอเรียกร้องให้สังคมไทยรณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้ได้ “รัฐธรรมนูญ” ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง 

ข้อเสนอที่สอง ขอให้รัฐบาลยกเลิกและทบทวนเนื้อหากฎหมายการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรไม่แสวงหากำไร เนื่องจากกฎหมายมีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพในการรวมกลุ่มขององค์กรภาคประชาชนและองค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาลควรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชน 

ข้อเสนอที่สาม รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87 และ ILO 98 ซึ่งฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง และเกิดประชาธิปไตยในระดับสถานประกอบการ   

ข้อเสนอที่สี่ ขอเรียกร้องให้รัฐสภา จัดสรรงบประมาณในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์คณะราษฎร เพื่อบอกเล่าถึงพัฒนาการของประชาธิปไตยและเพื่อเชิดชูเกียรติแก่คณะบุคคลที่ได้สถาปนาการปกครองแบบรัฐสภาขึ้นมาในประเทศนี้ 

ข้อเสนอที่ห้า ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงาน อันประกอบไปด้วยผู้แทนทุกภาคส่วนในการพิจารณาให้ยกสถานะของเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ให้เป็นเหตุการณ์สำคัญของชาติและให้ถือเป็นวันหยุดราชการ หรือประกาศให้เป็น “วันชาติ ๒๔ มิถุนายน” เช่นที่เคยเป็นมา ก่อนถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๕๐๓  หรืออาจประกาศให้เป็น “วันกำเนิดประชาธิปไตยไทย ๒๔ มิถุนายน” ก็ได้  

ข้อเสนอที่หก ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อให้เป็นการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตย การมุ่งเน้นเพิ่มจำนวนสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนเพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจ สังคมและระบบการเมืองอันไม่เป็นธรรม ย่อมไม่อาจนำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนก็เพียงสอนและผลิตสร้างแรงงานเพื่อรองรับการสืบทอดและดำรงอยู่ต่อไปของระบบที่ไม่เป็นธรรม การศึกษาที่ดีต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้า ยกระดับคุณภาพและจิตสำนึกของประชาชน การจัดการศึกษาที่มุ่งรักษาระบบอันไม่เป็นธรรมไว้ ย่อมไม่ทำให้อะไรดีขึ้น และไม่บรรลุสู่เป้าหมายของประชาธิปไตย หากสถาบันการศึกษามุ่งแต่เพียงการเปลี่ยนแรงงานไม่มีฝีมือสู่การเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงในด้านต่างๆ แต่ไม่สามารถผลิตพลเมืองที่สามารถปกครองตนเองได้ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ย่อมไม่เกิดขึ้น 

การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร สามารถให้แนวคิดและบทเรียนสำหรับประเทศในปัจจุบันและอนาคต มีดังต่อไปนี้ 

บทเรียนข้อที่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวมต้องรักษาความสมดุลระหว่าง “ความคิดก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัย” กับ “จารีตประเพณี” และ “บริบททางด้านภูมิหลังของประเทศ” การทำลายสิ่งเก่าโดยสร้างใหม่ทั้งหมดจึงไม่อาจกระทำได้ และไม่ควรกระทำเพราะจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงเข้าสู่สภาวะไร้เสถียรภาพและอนาธิปไตยได้ เช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องหลอมรวมทุกแนวความคิดในสังคมไทยให้มีพื้นที่ของตัวเอง สังคมจึงดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีสันติธรรม   

บทเรียนข้อที่สอง ผู้นำและกลุ่มผู้นำต้องมีความกล้าหาญ เสียสละและการเล็งเห็นผลประโยชน์ของสาธารณะสำคัญกว่าผลประโยชน์ของตัวเองและเครือข่าย  

บทเรียนข้อที่สาม การต่อสู้เรียกร้องตามความเชื่อทางการเมืองแบบใดก็ตามต้องยึดหลักเอกราช หลักอธิปไตยและบูรณาการแห่งดินแดน รวมทั้งความปรองดองสมานฉันท์ของเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน  

บทเรียนข้อที่สี่ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ในหลายกรณีต้องอดทนและใช้เวลายาวนานในการปรับเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงหรือผลกระทบข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ 

บทเรียนข้อที่ห้า หากชนชั้นนำปฏิเสธไม่ยอมปฏิรูปเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง หรือปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมให้เท่าทันกับพลวัต ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้ การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังการปฏิวัติของประชาชน ทำให้คาดการณ์อนาคตได้ยาก ว่าผลจะเป็นอย่างไร  

บทเรียนข้อที่หก พลังที่ก้าวหน้ากว่าของคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่ ต้องหลอมรวม พลังอนุรักษนิยมของคนรุ่นเก่าเอาไว้ด้วย จึงจะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ หากคิดเอาชนะกันแบบหักหาญหรือใช้อำนาจบีบบังคับเช่นเดียวกับที่อำนาจรัฐกระทำต่อผู้เห็นต่าง หรือขบวนการประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว ย่อมไม่นำไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาและมีเสถียรภาพ 

บทเรียนข้อที่เจ็ด การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกและไทยในปัจจุบันและอนาคต การกระจายอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางการคลัง อำนาจในการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชนจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนได้ดีขึ้น 

ในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๔๙ - ๒๕๖๕) เราสูญเสียทรัพยากร สูญเสียความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติ เราสร้างความเกลียดชังต่อกันเพียงแค่เห็นต่างทางการเมือง บาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งทางการเมือง เราสูญเสียเวลา สูญเสียโอกาสอย่างมากมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เราจึงต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกับที่บรรพชนของพวกเรา “คณะราษฎร” ได้ดำเนินอภิวัฒน์สถาปนา “ระบอบประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในประเทศของเรา ขอพวกเราจงช่วยกันแบกรับภารกิจทางประวัติศาสตร์กันไปต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” 

ขอร่วมกันสร้างสรรค์ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ตามแนวคิด ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เพื่อประโยชน์ของมหาชนชาวไทยทั้งหมด 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕
ครบรอบปีที่ ๙๐ ของการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยามประเทศไทย