Focus
- การใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐที่มิใช่เป็นการทั่วไป อาจมีขึ้นเฉพาะบุคคลเป็นรายๆไป โดยอาจมีได้ในเชิงการกระทำฝ่ายเดียว และการกระทำหลายฝ่าย
- การกระทำฝ่ายเดียว เช่น การใช้คำสั่งห้ามกระทำ หรือบังคับให้กระทำ การอนุญาตให้กระทำการและการยกเว้นภาระหรือหน้าที่ (เมื่อบุคคลร้องขอ) การก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การระงับซึ่งสิทธิหรือหน้าที่หรือฐานะในกฎหมายที่อาจเกี่ยวกับข้าราชการ เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และอาจเกี่ยวกับเอกชนอื่น ๆ เช่น การรับจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม และการกระทำชนิดอื่นๆ เช่นการรับรองสำเนาทะเบียนคนเกิด คนตาย เป็นต้น
- การกระทำหลายฝ่าย (= การกระทำร่วมกันหลายฝ่าย) คือการที่ผ่ายปกครองได้ทำสัญญากับเอกชนต่างๆ เช่น ให้รับเหมากระทำการ หรือขายพัสดุสิ่งของให้แก่ฝ่ายปกครอง โดยเอกชนมีสิทธิได้รับการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันกับฝ่ายปกครอง (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2) รวมถึงการตกลงกระทำกิจการร่วมกันระหว่างองค์การ เช่น เทศบาลสองแห่งตกลงกันจัดบริการบางประการแก่ประชาชน เป็นต้น
หมายเหตุกองบรรณาธิการ : คำชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ ในการจัดพิมพ์คำอธิบายกฎหมายปกครอง
เนื่องจาก คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงมีข้อความที่พ้นสมัยแล้วหลายประการที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพสังคมภายหลัง พ.ศ. 2475 แต่ก็อาจมีหลักการสำคัญที่เป็นแนวประชาธิปไตยที่คุณพัฒน์เลื่อมใส
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครองของข้าพเจ้านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแค่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น
“คำปรารภ” ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เพื่อพิมพ์ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, 2513)
การกระทำสำหรับเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะราย
การกระทำชนิดนี้ย่อมใช้ได้เฉพาะบุคคลหรือเฉพาะรายเท่านั้น หาใช่เป็นคำสั่งคำบังคับโดยทั่วๆ ไปไม่ การกระทำชนิดนี้ย่อมเกี่ยวแก่การที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย จะเป็นโดยกฎหมายบัญญัติไว้ให้การปกครองต้องกระทำดังนั้นดังนี้หรือให้อำนาจแก่การปกครองที่จะใช้ดุลยพินิจได้เป็นเรื่องๆ ไป เราอาจแยกการ กระทำชนิดนี้ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- การกระทำฝ่ายเดียว
- การกระทำหลายฝ่าย
ส่วนที่ 1
การกระทำฝ่ายเดียว
การกระทำฝ่ายเดียว หมายความถึงการที่อำนาจบริหารหรืออำนาจธุรการ ได้กระทำโดยสมัครใจแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่มีความประสงค์ตรงกันเสมือนดั่งในเรื่อง สัญญา หรือในเรื่องนิติกรรมหลายฝ่าย การกระทำฝ่ายเดียวนี้อาจจะเทียบได้คล้ายกับในเรื่องนิติกรรมฝ่ายเดียวตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การกระทำฝ่ายเดียวอาจมีได้ดั่งต่อไปนี้
บทที่ 1
คำสั่ง
คำสั่งหมายความถึงการห้ามไม่ให้กระทำ หรือการบังคับให้กระทำอันเป็นคำสั่งของพนักงานฝ่ายปกครอง คำสั่งของเจ้าพนักงานนี้ถ้ามิได้มีบทกฎหมายบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นประการอื่นแล้ว ผู้ฝ่าฝืนก็อาจรับโทษตามกฎหมาย ลักษณะอาชญามาตรา 338 ข้อ 2 ซึ่งมีความว่า
ผู้ใดขัดขืนไม่กระทำตามคำสั่งหรือบังคับอันชอบด้วยกฎหมายที่เจ้าพนักงาน ชั้นหนึ่งชั้นใดสั่งมานั้น เท่ากับว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษชั้น 3 ( โทษชั้น 3 คือ สถานหนึ่งจำคุกไม่เกิน 10 วัน สถานหนึ่งปรับไม่เกิน 50 บาท สถานหนึ่งทั้งจำ ทั้งปรับเช่นว่าด้วยกัน ให้ดูมาตรา 332 )
ปัญหาในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ชอบด้วยกฎหมายนั้น หมายความถึงกฎหมายที่ขีดเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจะรวมทั้งกฎหมายที่ไม่ได้ขีดเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ในเรื่องนี้จะต้องพิจารณาว่า คำว่าชอบอาจต่างกับคำว่าขัดกับกฎหมาย ถ้าหากว่าใช้คำว่าขัดกับกฎหมาย การใดที่กฎหมายไม่ห้ามไว้ เจ้าพนักงานก็อาจออกคำสั่งได้ เพราะฉะนั้นความเห็นในเรื่องนี้จึงยังแตกต่างกันอยู่
บทที่ 2
การอนุญาตให้กระทำการและการยกเว้นภาระหรือหน้าที่
การกระทำเหล่านี้ย่อมเนื่องจากมีบุคคลร้องขอขึ้น ต่างกับในเรื่องคำสั่งดังกล่าวในบทที่ 1 และต่างกับในเรื่องการกระทำหลายฝ่าย เพราะเหตุว่าในเรื่องนี้ แม้การกระทำของพนักงานฝ่ายปกครองจะเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลร้องขอก็ตาม แต่การร้องขอนั้นไม่ใช่เป็นคำเสนออันมีลักษณะเหมือนดั่งในเรื่องสัญญา
การอนุญาตให้กระทำการมีได้เมื่อบุคคลร้องขอกระทำการสิ่งใดซึ่งกฎหมายได้บัญญัติห้ามไว้ นอกจากจะได้รับอนุญาตของพนักงานฝ่ายปกครอง ส่วนการยกเว้นภาระหรือหน้าที่ซึ่งกฎหมายบังคับให้กระทำ เช่น ในเรื่องภาษีอากร เป็นต้น
บทที่ 3
การก่อให้เกิด เปลี่ยนแปลง ระงับซึ่งสิทธิหรือหน้าที่ หรือฐานะในกฎหมาย
การกระทำประเภทนี้อาจเกี่ยวแก่ข้าราชการอย่างหนึ่ง และอาจเกี่ยวแก่เอกชนอื่นๆ อีกอย่างหนึ่ง
การกระทำอันเกี่ยวแก่ข้าราชการเช่น การตั้ง เลื่อนตำแหน่ง หรือโยกย้าย หรือการออกจากราชการ ได้มีหลักเกณฑ์อันเกี่ยวด้วยข้าราชการตามที่ได้ศึกษามาแล้ว
ส่วนการกระทำอันเกี่ยวแก่เอกชนอื่นๆ อาจมีได้ เช่นในเรื่องรับจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือการถอนทะเบียนบริษัทร้าง หรือการก่อให้เกิดสิทธิ์และหน้าที่โดยประการอื่นๆ
การกระทำของฝ่ายปกครองดังว่านี้ควรสังเกตว่า ในบางเรื่องพนักงานฝ่ายปกครองจำต้องกระทำ แต่ในบางเรื่องพนักงานปกครองอาจใช้ดุลยพินิจได้ การใดที่พนักงานฝ่ายปกครองจำต้องกระทำหรืออาจใช้ดุลยพินิจได้นั้น ก็จำต้องพิจารณาถึงบทกฎหมายอันเกี่ยวแก่เรื่องนั้นๆ แต่ปัญหาอาจมีได้อันเกี่ยวกับในคดีปกครองว่า ถ้าพนักงานฝ่ายปกครองไม่กระทำในสิ่งที่ตนต้องกระทำ หรือใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ เอกชนจะมีทางแก้ อย่างใดบ้าง ในเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไปในภาคที่ว่าด้วยคดีปกครอง
บทที่ 4
การกระทำฝ่ายเดียวชนิดอื่นๆ
นอกจากการกระทำฝ่ายเดียวที่สำคัญดั่งได้กล่าวมาแล้ว ฝ่ายปกครองยังอาจที่จะกระทำอย่างอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด เช่นการรับรองสำเนาทะเบียนคนเกิด คนตาย การรับรองลายมือชื่อ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น
ส่วนที่ 2
การกระทำหลายฝ่าย
การกระทำหลายฝ่ายอาจมีได้ เช่นฝ่ายปกครองได้ทำสัญญากับเอกชนชนิดอื่นๆ ให้รับเหมากระทำกิจการ หรือขายพัสดุสิ่งของให้แก่ฝ่ายปกครอง สัญญาเช่นนี้ก็ควรต้องถือหลักเหมือนดังสัญญาในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เพราะเหตุที่ในประเทศสยามมได้มีศาลปกครองเป็นพิเศษ และการที่แยกสัญญาออกเป็นสัญญาในกฎหมายเอกชน และสัญญาในกฎหมายปกครองจึงไม่สู้มีประโยชน์นัก ส่วนการที่จะบังคับฝ่ายปกครองให้ปฏิบัติตามสัญญาทุกข้อทุกกะทงจะได้หรือไม่นั้น ย่อมเกี่ยวแก่ในคดีปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม เอกชนที่ทำสัญญากับฝ่ายปกครองนั้นอาจที่จะใช้สิทธิไม่ชำระหนี้ได้ เมื่อฝ่ายปกครองยังมิได้ชำระหนี้เสมือนดั่งในเรื่องสัญญาต่างตอบแทน ให้ดูผลแห่งหนี้ส่วนที่ว่าด้วยการไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2
ในบางประเทศฝ่ายปกครองซึ่งได้แยกออกเป็นนิติบุคคลต่างๆ ดังเช่น เทศบาลอาจที่จะทำนิติกรรมร่วมระวางเทศบาลตั้งแต่ 2 ขึ้นไป เช่นทำข้อตกลงว่า จะทำการไฟฟ้าหรือการประปาร่วมกัน ซึ่งถ้าจะเทียบกับข้อตกลงระหว่างประเทศแล้ว ก็คล้ายกับสัญญาระหว่างประเทศตกลงกระทำการสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่งร่วมกันในระหว่างประเทศ
ส่วนที่ 3
หลักทั่วไปในการที่จะอาศัยพิจารณาว่าการกระทำของฝ่ายปกครองจะได้หรือไม่
- บุคคลผู้กระทำมีอำนาจ
- วัตถุที่ประสงค์ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมาย
- ได้มีการแสดงเจตนา
- แบบ
ในเรื่องแบบนี้จะต้องกระทำตามที่กฎหมายได้บังคับ เช่น ในบางเรื่องอาจจะต้องกระทำด้วยขีดเขียน แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้บังคับอาจจะกระทำด้วยปากเปล่า หรือบางที อาจที่จะกระทำด้วยอาณัติสัญญา เช่น อาณัติสัญญาของตำรวจ เป็นต้น
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “การแบ่งแยกอำนาจธุรการให้ท้องถิ่นจัดทำเองตามพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.127 และการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2458,” ใน คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พระนคร: สำนักงานทนายพิมลธรรม, ม.ป.ป.) น.151-155.
หมายเหตุ :
- ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ
- ปรับอักขรวิธี (โดยส่วนใหญ่) เป็นปัจจุบัน