ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ปาล พนมยงค์ : การเลือกตั้งที่พระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2500

9
กันยายน
2566

Focus

  • “การเลือกตั้งสกปรก” ของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยทั่วไป เมื่อวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นำไปสู่ชัยชนะของพรรคเสรีมนังคศิลาที่นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ แต่ก็เกิดสภาพความปั่นป่วนทางการเมืองอย่างต่อเนื่องหลายเดือน มีผลให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉวยโอกาสทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
  • การเลือกตั้งรอบใหม่ วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500  นายปาล พนมยงค์ บุตรชายของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรี ได้สมัครรับเลือกตั้ง ตามที่มีบุคคลจำนวนไม่น้อยสนับสนุนให้ลงสมัครและช่วยหาเสียงให้ แต่ก็ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ แม้ว่านายปรีดี พนมยงค์ จะเคยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพระนครศรีอยุธยา ในการเลือกตั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ก็ตาม
  • สาเหตุสำคัญของการแพ้การเลือกตั้ง น่าจะมาจากการที่คู่แข่งในทางการเมืองโจมตีว่านายปรีดี พนมยงค์ พัวพันกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 รวมถึงการซื้อเสียงที่ได้มีกันแล้วในสมัยนั้น แต่กระนั้น ความพยายามหาเสียงและเข้าไปพบปะเจรจากับชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ ตลอดช่วงประมาณสองเดือน ก็แสดงให้เห็นว่านายปาล พนมยงค์ เปี่ยมล้นด้วยจิตวิญญาณของนักประชาธิปไตยอย่างแม่นมั่นเต็มตัว ควรที่นักการเมืองในปัจจุบันดูเป็นตัวอย่าง

นายปาล พนมยงค์

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปเมื่อวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ปรากฏว่าพรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนท่วมท้น แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูถึงกรณีที่พรรคอันดับหนึ่งพรรคนี้ใช้วิธีฉ้อฉลเพื่อโกงการเลือกตั้งอย่างเลวร้ายที่สุด จนมีถ้อยคำเอ่ยขานกันว่าเป็น “การเลือกตั้งสกปรก”

ท่ามกลางสภาพการเมืองปั่นป่วนต่อเนื่องนานหลายเดือน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงฉวยโอกาสทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 แล้วแต่งตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ก่อนจะกำหนดให้จัดการเลือกตั้งขึ้นอีกหนในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500

ราวสองเดือนกว่าก่อนเกิดการรัฐประหาร นายปาล พนมยงค์ บุตรชายของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรมเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นเขาลาสิกขาออกมาก็ประจวบกับเป็นช่วงหลังจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจมิทันนาน นายปาลเริ่มได้รับจดหมายจากชาวพระนครศรีอยุธยาจำนวนไม่น้อยรายที่หมั่นเขียนมาโน้มน้าวใจให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนี้ นั่นเพราะบิดาของเขาคือ นายปรีดีก็เคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพระนครศรีอยุธยาในการเลือกตั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489

นายปาล พนมยงค์ เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรมเป็นพระอุปัชฌาย์

 

เฉกเช่น นายประสิทธิ์ ใจอุ่น ชาวตำบลคลองสระบัว ซึ่งเขียนจดหมายลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2500 ส่งมา มีเนื้อความว่า

 

“คุณปาลที่นับถือ

คุณปาลครับ ในคราวเลือกตั้งใหม่นี้ ผมอยากจะให้คุณปาลไปสมัคผู้แทนที่จังหวัดอยุธยา เพราะเท่าที่ผมหยั่งเสียงดู ทั้งชาวบ้านและข้าราชการ ปรากฏว่ายินดีสนับสนุนให้คุณปาลได้เป็นผู้แทนทุกคน และก่อนที่คุณปาลจะสมัคนี้ ผมอยากจะให้คุณปาลได้ไปปรากฏตัวทางแถบบ้านผมสักครั้งหนึ่ง เท่าที่ผมตั้งใจให้คุณปาลสมัคผู้แทนครั้งนี้ด้วยศรัทธาของผมที่มีต่อคุณปาลจริงๆ ผมไม่หวังผลตอบแทนอะไรจากคุณปาลเลย นอกจากจะให้คุณปาลได้เป็นผู้แทน และทำประโยชน์ให้กับชาวอยุธยาอย่างแท้จริงโดยไม่ให้ประชาชนผิดหวังเหมือนเช่น ส.ส.คนที่แล้วมาก็แล้วกัน และผมก็มั่นใจอย่างมากว่าคุณปาลจะต้องเป็นผู้มีความสามารถดีกว่าผู้อื่นทุกๆ คน ตลอดทั้งอุดมคติของคุณปาลผมก็ศรัทธามาก อีกประการหนึ่งขณะนี้ผมก็ได้เริ่มทำการหาเสียงให้คุณปาลไว้มากแล้ว และก็มั่นใจว่าคุณปาลต้องได้ หากคุณปาลจะรีบไปหาเสียงที่อยุธยาแล้วก็ขอให้ไปบ้านผมให้ได้ ถ้าไปไม่ถูกก็โทรเลขบอกล่วงหน้าไปก็ได้ บอกสถานที่ เวลาและวันไป ผมจะได้ไปรับถูก สิ้นเดือนผมตั้งใจไว้ว่าผมจะมากรุงเทพฯ และจะมาหาคุณปาลด้วย อ้อ! สถานที่ที่จะทำการติดต่อกับผมดังนี้-

ประสิทธิ์ ใจอุ่น
หมู่ 3 ต.คลองสระบัว
อ. พระนครศรีอยุธยา

อยุธยา

หวังว่าคุณปาลคงจะไม่ปล่อยให้โอกาศอันดีนี้ไปเสีย และก็ขอให้คุณได้รีบหาเสียงเป็นการด่วนด้วย แต่การหาเสียงนี้ครั้งแรกๆ ไม่ควรจะให้ครึกโครมนัก ควรจะค่อยทำค่อยๆ ไป เอาละผมขอลาคุณปาลก่อน ไว้โอกาสที่จะมาพบกันดีกว่าจะได้คุยกันให้รู้เรื่องมากกว่านี้ คิดว่าคุณปาลคงจะไม่ทำให้ผมผิดหวังในความตั้งใจของผมนี้เสีย

ด้วยความรักและศรัทธาอย่างแท้จริง
ประสิทธิ์ ใจอุ่น

ปล. พยายามรีบด่วนหน่อยนะคุณปาล เพราะขณะนี้ประชาชนที่หัวรอกำลังร่ำลือกันมากแล้วว่าคุณปาลจะมาสมัคผู้แทนที่อยุธยา เพราะผมได้ปล่อยข่าวไว้นานแล้ว เมื่อสภาถูกยุบครั้งนี้ก็เป็นธรรมดาเขาจะต้องนึกถึงคุณปาลเป็นคนแรก

ประสิทธิ์”

 

 

ในที่สุด นายปาลตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ชำระเงินค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวน 3,000 บาท ครั้งนั้นที่พระนครศรีอยุธยามีผู้สมัครทั้งสิ้น 16 ราย ดังจะแจกแจงนามพร้อมเบอร์ประจำผู้สมัครต่อไปนี้

เบอร์ 1 นายสง่า ฐิติวัฒนา
เบอร์ 2 นายสมศักดิ์ ชมจันทร์
เบอร์ 3 นายวิเชียร นัยฤกษ์
เบอร์ 4 นายนิคม สุขพัฒน์ธี
เบอร์ 5 พันตรี หลวงบรรหารศุภวาท
เบอร์ 6 พันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ
เบอร์ 7 นายวิโรจน์ กมลพันธ์
เบอร์ 8 นายปาล พนมยงค์
เบอร์ 9 นายเยื้อน พานิชวิทย์
เบอร์ 10 นายประเสริฐ บุญสม
เบอร์ 11 หม่อมราชวงศ์ชัชวลิน เกษมศรี
เบอร์ 12 นายชิต ชาญไชย
เบอร์ 13 นายตุ๊ โกมลภิส
เบอร์ 14 นายมรกต ศรีดิษฐ์
เบอร์ 15 นายลมูน เมืองขุนรอง
เบอร์ 16 นายประคอง ศรีประพันธ์

สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแบ่งเขตการเลือกตั้งเป็น 14 เขตตามอำเภอต่างๆ ได้แก่ ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา, เสนา, ผักไห่, บางบาล, บางไทร, บางปะอิน, วังน้อย, อุทัย,ท่าเรือ, มหาราช, นครหลวง, บางปะหัน, ลาดบัวหลวง และภาชี

น่าสังเกตว่า มีผู้สมัครที่เป็นนายทหารและขุนนางยุคศักดินาอยู่ด้วยอย่าง พันตรี หลวงบรรหารศุภวาท (พลาย บรรหารศุภวาท) เบอร์ 5 ซึ่งพื้นเพเป็นคนบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล และเป็นครูเก่าแก่ที่ชาวอยุธยาเคารพนับถือ และ พันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ (แช่ม จบกระบวนยุทธ) เบอร์ 6 ผู้เคยต้องหาว่าเกี่ยวพันกับกบฏบวรเดช และเป็นพ่อตาของ จอมพล ถนอม กิตติขจร

หลังสมัคร สส. ราวหนึ่งสัปดาห์ นายปาล ได้รับลิขิตหรือจดหมายลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2500 จาก พระภิกษุสุพันธ์ วายุภาพ แห่งวัดพนมยงค์ มีเนื้อความว่า

 

“คุณปาลที่รัก

คุณปาล เรื่องราวของคุณ เรื่องผู้แทนนั้น บัดนี้คืบหน้าไปถึงไหนไม่ทราบแล้ว ขอให้คุณส่งข่าวให้ทราบบ้าง ฉันเป็นห่วงคุณอยู่ตลอดเวลา ส่วนทางฉันได้ข่าวคืบหน้ามาอีกเล็กน้อย แต่ก็รู้สึกตื่นเต้นในข่าวบ้างเล็กน้อย เพราะข่าวที่ทราบมาก็เกี่ยวกับเรื่องของคุณ

ที่ฉันได้ข่าวมาก็ทราบว่าคะแนนเสียงของคุณเวลานี้เข้าไปถึง 75% แล้ว ฉันขอ          แสดงความดีใจด้วยเป็นอย่างมาก ส่วนที่ยังตกอยู่มากและก็น่าวิตกก็คือคุณยังเข้าไกล้ชิดประชาชนชั้นตาสีตาสาทางแถบบ้านนอกๆ ยังไม่สมบูรณ์ ขอให้คุณสละเวลาให้มากกว่าที่ปฏิบัติอยู่ทุกๆ วันนี้ เพื่อไปพบกับประชาชนชั้นตาสีตาสา และพูดให้พวกนี้ฟังถึงเรื่องคุณอาว์หลวงว่าแนวทางมันเป็นอย่างไรมาอย่างไร และอธิบายให้พวกนี้ฟังให้เข้าใจว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร เพราะพวกตาสีตาสาทางบ้านนอกๆ ยังเข้าใจผิดอยู่มากตามเสียงพูดกันว่าคุณอาว์หลวงเป็นผู้ปลงพระชนม์ในหลวงทั้งนั้น ฉันได้ยินแล้วฉันเศร้าใจมาก แต่ฉันจะอธิบายอะไรให้เขาเหล่านั้นฟังไม่ได้ เพราะเรื่องอย่างนี้มีบางข้อขัดต่อพระวินัย เพราะฉันเป็นพระ เห็นมีอยู่ก็ตัวคุณเองพอจะพูดให้เขาเหล่านั้นเข้าใจได้ สำคัญอยู่ที่พวกบ้านนอกเท่านั้น ส่วนในเมืองนี้คะแนนเสียงเข้าไปกว่าครึ่งแล้ว ฉันขอให้คุณจงใช้ความพยายามให้มากกว่านี้อีกสักหน่อย ส่วนฉันจะออกไปยุ่งกับเขาไม่ได้เพราะขัดต่อพระวินัยหลายข้อ แต่ก็คงยังไม่หมดความพยายามพูดกับพวกๆ กันที่พอจะไว้ใจกันได้ ให้พิจารณาเบอร์ 7-8-9 ก่อนในอันดับแรก ส่วนทางอื่นก็ขอเอาใจช่วยคุณอยู่ทุกๆ ลมหายใจเข้าออกของฉันเลย ทั้งนี้และทั้งนั้นที่ฉันเขียนจ.ม.มาถึงคุณนี้ เพื่อเล่าให้คุณได้ทราบถึงเรื่องและจิตต์ใจของประชาชนทางแถบบ้านนอกๆ ขอคุณจงอย่าคิดว่าจ.ม.ฉะบับนี้ของฉันเป็นจ.ม.สั่งสอนคุณ เท่าที่เขียนมานี้ก็เพื่อเล่าให้คุณฟังและหวังอยากจะให้คุณได้เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกของประชาชนเข้าไปนั่งในสภาเป็นอันดับที่ 1 และก็หวังว่าคงจะสมหวังของฉัน ในจำนวนผู้แทนสิบกว่าเบอร์

สุดท้ายนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะคุยอีกเพราะยังไม่มีข่าวอะไร ถ้ามีข่าวใหม่อีกจะจ.ม.ไปเล่าให้คุณฟังภายหลัง ในที่สุดนี้ ฉันขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งสักสิทธิ์ในสากลโลกจงบรรดาลให้คุณและท่านอาจารย์วิโรจน์ กับท่านอาจารย์เยื้อนจงประสพความสุขและความสำเร็จทุกประการเทอญ

รักคุณเสมอ
พระภิกษุสุพันธุ์ วายุภาพ
วัดพนมยงค์ อยุธยา”

 

ลิขิตของพระภิกษุสุพันธ์สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีชาวบ้านในชนบทจำนวนมากที่หลงเชื่อคำกล่าวหาต่อ “อาว์หลวง” อันหมายถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะเป็นผู้เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สิ่งนี้อาจเป็นอุปสรรคในการหาเสียงรับเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่กระแสความนิยมกำลังพรั่งพรูมาในทิศทางที่ดี จึงอยากให้นายปาลเร่งรีบมาลงพื้นที่เพื่อพูดคุยเจรจาปรับความเข้าใจของชาวบ้านชาวชนบทเสียใหม่ให้ถูกต้อง

ชาวพระนครศรีอยุธยาผู้เคยรักใคร่และให้การสนับสนุนนายปรีดีเสมอมา ย่อมมิแคล้วที่จะรักใคร่และให้การสนับสนุนต่อนายปาลผู้เป็นบุตรชายอย่างแข็งขัน ดังปรากฏการช่วยหาเสียงของคณะบุคคลต่างๆ หลากหลายรูปแบบ มิเว้นกระทั่งตามหน้าโฆษณาสินค้าต่างๆ นานา เฉกเช่นใบปลิวโฆษณายาจีนเยี่ยงยากำลังดีงูเห่าที่แก้อาการปวดเมื่อย แก้กษัย และเลือดลมของผู้หญิง จัดจำหน่ายโดยนายนาม สกุลเนตร และจัดพิมพ์โดยกิ่งแก้วการพิมพ์แห่งบ้านแพรก ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอมหาราช ก็ยังนำเสนอบทกลอนโดยชาวบ้านแพรกที่สนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. อย่าง นายปาล เบอร์ 8, นายวิโรจน์ เบอร์ 7 และ นายเยื้อน เบอร์ 9 ซึ่งทั้งสามคนเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

“อยุธยาฤาจะไล้ซึ่งศักดิ์ศรี         คนดีดีซ่อนตนอยู่หนไหน
ประชาราษฎร์ทั่วนครร้อนเป็นไฟ          ใครจะดับเข็นได้ยังไม่มี
มวลมนุษย์อธรรมครอบงำจิต               แสวงอามิสใส่ตนชาติป่นปี้

ราษฎร์ทุกข์ทนทรมานมานานปี            จงตื่นเถิดคนดีศรีอยุธยา

เราจะสุขหรือทุกข์อยู่ที่ราษฎร์    เลือกผู้แทนตามราษฎร์ปรารถนา
เลือกคนดีราษฎร์จะสุขทุกเวลา            เลือกคนชั่วชาวประชาจะลำคาน
เลือกผู้แทนคนดีมีประโยชน์                 เลือกวิโรจน์ ปาล เยื้อน เป็นเพื่อนท่าน
จะช่วยทุกข์ บำรุงสุขตลอดกาล            เป็นปากเสียงแทนท่าน ทุกวันเอย”

 

ในการปราศรัยหาเสียงของนายปาล เบอร์ 8, นายวิโรจน์ เบอร์ 7 และนายเยื้อน เบอร์ 9 ยังได้นำเครื่องขยายเสียงมาใช้ด้วย ดังตอนผู้สมัคร สส. ทั้งสามจะไปพบปะชาวบ้านในพื้นที่กิ่งอำเภอบางซ้ายซึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอเสนา โดยจะนัดชุมนุมกันที่วัดบางซ้ายใน ตำบลแก้วฟ้าในวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน และที่วัดวังชะโด ตำบาลเทพมงคล ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พวกเขาต้องทำหนังสือขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงส่งไปยังปลัดอำเภอเสนาเสียก่อน และปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือที่ 6212/2500 ซึ่งทางอำเภอเสนาอนุญาตให้สามารถกระทำได้ตามคำร้องขอ ความว่า

 

ที่ว่าการอำเภอเสนา

20 พฤศจิกายน 2500

เรื่อง อนุญาตให้มีการชุมนุมโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้เครื่องขยายเสียง

เรียน ปลัดอำเภอโทประจำกิ่งอำเภอบางซ้าย

อ้างถึง หนังสือจังหวัด ด่วนมากที่ 16534/2500 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2500

ด้วยทางอำเภอได้อนุญาตให้นายวิโรจน์ กมลพันธ์ นายปาล พนมยงค์ และนายเยื้อน พานิชวิทย์ จัดให้มีการชุมนุมโฆษณาหาเสียงปลูกความนิยมในการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้เครื่องขยายเสียงได้

ณ วัดบางซ้ายใน ตำบลแก้วฟ้า กิ่งอำเภอบางซ้าย อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2500 ระหว่างเวลา 19.00 น. - 24.00 น.

และ ณ วัดวังชะโด ตำบลเทพมงคล กิ่งอำเภอบางซ้าย อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2500 ระหว่างเวลา 19.00 น. - 24.00 น.

ฉะนั้น จึงแจ้งมาเพื่อทราบและดำเนินการตามนัยหนังสือของจังหวัดดังอ้างถึงข้างต้น

ขอแสดงความนับถือ
นายประสงค์ สุขีโมกข์
ปลัดอำเภอตรี รักษาการแทนนายอำเภอเสนา

 

ถัดมาวันที่ 8 ธันวาคม นายปาลและนายเยื้อนก็มีกำหนดการจะต้องไปหาเสียงที่ตำบลเจ้าเจ็ด เขตอำเภอเสนา และจะเดินทางต่อไปพบปะชาวบ้านที่อำเภอผักไห่

โค้งสุดท้ายก่อนจะมีการเลือกตั้ง ก็พบว่ามีผู้สนับสนุนนายปาลอย่างเหนียวแน่น ผู้เป็นหัวคะแนนช่วยหาเสียงให้นายปาล นายวิโรจน์และนายเยื้อน ยังคงส่งจดหมายมารายงานความคืบหน้าว่าคะแนนเสียงของทั้งสามคนนับวันจะดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนายปาลน่าจะได้รับเลือกตั้งแน่นอน เช่น หัวคะแนนแห่งย่านเพนียดที่อุตส่าห์ไปช่วยหาเสียงถึงตำบลประตูน้ำพระอินทราชา อำเภอบางปะอิน ได้รีบเขียนจดหมายส่งมาก่อนจะขึ้นรถเพื่อรายงานว่า หลังจากเขาเคยพบนายปาลและนายถวัลย์ ผู้ช่วยหาเสียงอีกคนหนึ่งที่ตลาดหัวรอแล้ว ก็นำบัตรและใบปลิวออกไปแจกจ่ายตามชนบทต่างๆ อาศัยการส่งทอดผ่านผู้ใหญ่บ้านและกำนัน

อย่างไรก็ดี มีการซื้อเสียงของผู้สมัครรายอื่นๆ เช่นกัน มีคนมาติดต่อแจ้งกับเขาว่าถ้าช่วยหาคะแนนเสียงให้ได้ จะจ่ายเงินในอัตรา 100 เสียงต่อเงิน 2,000 บาท แต่หัวคะแนนแห่งย่านเพนียดของนายปาลไม่สนใจและไม่ยอมรับเงิน เพราะเขาตั้งใจจะช่วยหาเสียงให้ด้วยความศรัทธา หัวคะแนนผู้นี้กล่าวอีกว่าในเขตพื้นที่อำเภออุทัย ทั้งนายปาล เบอร์ 8, นายวิโรจน์ เบอร์ 7 และนายเยื้อน เบอร์ 9 อาจจะได้รับคะแนนเสียงน้อย เพราะยังไม่มีใครเข้าไปหาเสียงที่นั่นเลย ช่วงใกล้ๆ วันเลือกตั้งน่าจะลองให้นายวิโรจน์ติดต่อ มหาสะอาด ทนายความที่พำนักแถวสถานีรถไฟอยุธยาซึ่งเป็นผู้ชอบพอกัน ชักชวนให้ร่วมเดินทางไปหาเสียงที่อำเภออุทัยดูสักวันหนึ่ง อย่างน้อยนำบัตรหาเสียงและใบปลิวไปแจกจ่ายชาวบ้านประมาณ 100-200 แผ่น

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ผลปรากฏออกมาว่า มีผู้ที่ได้เป็น สส. ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน 3 คน คือ นายนิคม สุขพัฒน์ธี จากพรรคสหภูมิ เบอร์ 4 ได้รับเลือกด้วยคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 44,902 คะแนน, ส่วนอับดับที่สองคือ นายสมศักดิ์ ชมจันทร์ เบอร์ 2 ด้วยคะแนนจำนวน 41,327 คะแนน และอันดับที่สามคือ นายประเสริฐ บุญสม จากพรรคเสรีมนังคศิลา เบอร์ 10 ด้วยคะแนนจำนวน 33,655 คะแนน ขณะที่นายปาลไม่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร เพราะมาเป็นอันดับที่ 6 ด้วยคะแนนจำนวน 13,727 คะแนน

ผลการเลือกตั้งที่พระนครศรีอยุธยาคราวนั้นสร้างความเสียใจให้กับพรรคพวกและหัวคะแนนผู้ให้การสนับสนุนปาลอย่างยิ่ง ทั้งยังลงความเห็นพ้องต้องกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นายปาลได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าคาดการณ์ ทั้งๆ ที่มีกระแสตอบรับจากชาวบ้านจังหวัดนี้ดีเยี่ยม คงเพราะยังมีคนจำนวนมากโขหลงเชื่อว่านายปรีดี บิดาของเขา มีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ตามที่ฝ่ายตรงข้ามของนายปรีดีมักหยิบยกมาโจมตีอยู่เนืองๆ กระทั่งก่อนหน้าวันเลือกตั้ง

แม้ นายปาล พนมยงค์ จะไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2500 แต่จากบทบาทของความพยายามหาเสียงและเข้าไปพบปะเจรจากับชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ ตลอดช่วงประมาณสองเดือน ย่อมแสดงให้เห็นว่าบุตรชายนายปรีดีผู้นี้ ก็เปี่ยมล้นด้วยจิตวิญญาณของนักประชาธิปไตยอย่างแม่นมั่นเต็มตัวทีเดียว

 

หมายเหตุ :

  • บทความรำลึก 42 ปี การถึงแก่มรณกรรมของนายปาล พนมยงค์ วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2524
  • คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น

เอกสารอ้างอิง :

เอกสารชั้นต้น

  • จดหมายของประสิทธิ์ ใจอุ่น ถึงคุณปาล พนมยงค์ ลงวันที่ 20 กันยายน 2500 (ยังไม่ตีพิมพ์).
  • จดหมายของพระภิกษุ สุพันธ์ วายุภาพ ถึงคุณปาล พนมยงค์ ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2500 (ยังไม่ตีพิมพ์).
  • จดหมายถึงคุณปาล พนมยงค์ ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2500 (ยังไม่ตีพิมพ์).
  • บัญชีแสดงสถิติการรวมคะแนนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 (ยังไม่ตีพิมพ์).
  • เอกสารที่ 6212/2500 เรื่อง อนุญาตให้มีการชุมนุมโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้เครื่องขยายเสียง ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2500 (ยังไม่ตีพิมพ์).

แหล่งอ้างอิงอื่นๆ

  • พูนศุข พนมยงค์. ท่านผู้หญิง “ชีวิตของลูกปาล,” ใน อนุสรณ์นายปาล พนมยงค์ คำไว้อาลัยกับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525.
  • รวินทร์ คำโพธิ์ทอง. ““ใครๆ ก็รักปาล” ชีวิตทางการเมืองของปาล พนมยงค์ ในทศวรรษ 2490.” (9 กันยายน 2565).
  • วิชชุกร นาคธน. นักการเมืองถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555.