9 กันยายน พ.ศ. 2524 เป็นวันที่ ‘ปาล พนมยงค์’ บุตรชายคนโตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์[1] ได้จากไปอย่างสงบ
ชีวิตของปาลมีแง่มุมที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้หวนคะนึงถึงรวมทั้งมีแง่มุมความดี ความงาม ความอยุติธรรมที่ได้รับนับตั้งแต่แรกเกิดและโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2490
จากชีวประวัติย่อ ปาลเกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ก่อนการอภิวัฒน์สยามเพียงไม่นาน ณ บ้านป้อมเพชร์ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา ซึ่งเป็นคุณตากับคุณยาย เดิมชื่อจริงนั้นสะกดว่า ปาน เพราะแรกเกิดมีปานแดงที่หน้าผาก แต่ต่อมาปานได้หายไปจึงเปลี่ยนการสะกดชื่อเป็น “ปาล” ที่มีความหมายว่าการปกครอง พูนศุขผู้เป็นมารดาได้เล่าถึงปาลในวัยเยาว์ที่เกิดในช่วงการอภิวัฒน์ไว้ว่า
“พออายุได้ 6 เดือน พ่อก็จากบ้านไปทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงเป็นการจากกับลูกครั้งแรก เนื่องจากพ่อได้จากบ้านไปตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิถุนายน
ในวันที่พ่อจากไป ลูกซึ่งเป็นเด็กไม่เคยกวนเลย แต่ในตอนดึกคืนนั้นได้ส่งเสียงร้องไห้เป็นเวลานานโดยไม่มีสาเหตุ จนคุณตาคุณยายซึ่งอยู่บนตึกใหญ่ได้ยินและได้มาถามว่าเป็นอะไร แม่เองใจไม่ดี เป็นห่วงพ่อ เพราะพ่อไม่ได้บอกความจริง เพียงแต่บอกว่าจะไปหาคุณปู่ที่นา อําเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อพ่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้วไม่ได้กลับบ้าน ทํางานอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม…”[2]
ปาลมีพี่น้องทั้งหมด 6 คน ได้แก่ ลลิตา พนมยงค์, ปาล พนมยงค์,[3] สุดา พนมยงค์, ศุขปรีดา พนมยงค์,[4] ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล[5] และวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์[6] โดยเริ่มเรียนระดับชั้นประถมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องไปพำนักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนเมื่อสงครามสงบลงก็ได้ย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ 8 หรือเรียกกันว่ารุ่น 500 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของโรงเรียนเตรียมฯ แห่งนี้[7]
ในระยะนี้เองได้เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกิดความอยุติธรรมต่อครอบครัวของปรีดี-พูนศุข ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของปาลหลายด้านในเวลาต่อมา
ระหว่างนี้ปาลได้เข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมกันนั้นยังได้สอบแข่งขันเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย และได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียนจัตวา อันดับ 7 หากมีผู้ทรงอำนาจสมัยนั้นประท้วงมายังกระทรวงการต่างประเทศว่า “ทำไมรับลูกชายหลวงประดิษฐ์ฯ เข้าทำงาน” ซึ่งทางกระทรวงฯ ต้นสังกัดได้ตอบกลับไปว่าปาลเข้ามาทำงานด้วยการสอบแข่งขันได้[8]
แม้ว่าชีวิตของปาลช่วงแรกรุ่นจะเริ่มต้นด้วยความยากลำบากและความอยุติธรรมที่ได้รับจากสังคมแต่ “ใครๆ ก็รักปาล” เช่นที่โอฬาริก พยัคฆาภรณ์ ประธานนักเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นที่ 8 เพื่อนสนิทร่วมรุ่นได้เล่าถึงอุปนิสัยของปาลที่ทำให้เพื่อนรักว่า
“ปาลเข้ามาเป็นนักเรียนห้องคิงด้วยการสอบแข่งขัน มิใช่ด้วยการฝาก ขณะนั้นท่านบิดาของปาล คือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นอกจากจะเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว ท่านยังเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยด้วย
นักเรียนรุ่นเดียวกันซึ่งมาจากทุกสารทิศของประเทศต่างเฝ้ามองดูปาล ปรากฏว่าปาลมิได้ทำตัวเหมือนลูกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ตรงกันข้าม ปาลประพฤติตนเยี่ยงนักเรียนทั่วๆ ไปคนหนึ่งเท่านั้น แม้ในด้านอาหารการกิน…ปาลก็มาซื้อรับประทานเหมือนนักเรียนทุกคน การกระทำของปาลสร้างความประทับใจให้แก่เพื่อนนักเรียนเตรียมรุ่นเดียวกัน ตลอดครูบาอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง…”
กระทั่งปาลต้องเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับการเมืองโดยตรงจากการถูกจับกุมในข้อหาเป็นขบถภายในและนอกราชอาณาจักรในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ภายหลังการรณรงค์เรียกร้องสันติภาพ หรือ ต่อมารู้จักกันในนามคดี “กบฏสันติภาพ” ซึ่งมีขบวนการสังคมนิยมไทยเป็นแกนหลักและประกอบด้วยขบวนการกู้ชาติทั้งยังมีแนวร่วมนักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา และประชาชนจนทำให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หวาดวิตกการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างยิ่ง[9] จึงจับกุมทั้งนักศึกษา นักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ อาทิ สมัคร บุราวาศ, กุหลาบ สายประดิษฐ์, สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, ประจวบ อัมพะเศวต และบุคคลที่ใกล้ชิดศรัทธาปรีดี อาทิ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ และสุพจน์ ด่านตระกูล[10] รวมถึงได้จับกุมพูนศุข พนมยงค์ ด้วย[11]
พูนศุขเล่าถึงการจับกุมปาลในวันดังกล่าวว่า
“ในวันที่ 13 พฤศจิกายน เวลาเช้าตรู่ ระหว่างที่ลูกลาป่วยพักอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ตํารวจได้มาล้อมบ้านสาธร เข้าค้นบ้านและจับลูกซึ่งกําลังหลับอยู่ นําไปขังไว้ที่สถานีตํารวจสามยอดในข้อหากบฏ ลูกไม่ได้แสดงอาการหวาดกลัวแต่ประการใด”[12]
ช่วงเวลา 5 ปีที่ปาลถูกคุมขังอยู่ในคุกบางขวางพร้อมกับเพื่อนสนิทนั้นต้องทำทุกอย่างเช่นนักโทษทั่วไปแม้แต่การเทอุจจาระ โอฬาริกเล่าถึงการสนทนากับปาลในคุกว่า “ปาลกล่าวว่า ปาลถูกจับเข้าคุกเพราะปาลเป็นลูกของพ่อ”[13] ส่วนพูนศุขนั้นถูกคุมขังอยู่สามเดือนแล้วได้รับการปล่อยตัวเพราะอัยการไม่สั่งฟ้องและแทบจะไม่มีการสอบสวน นอกจากถามว่าปรีดีอยู่ที่ใดเป็นคำถามสำคัญ[14]
จนในที่สุดภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเนื่องในวาระ 25 พุทธศตวรรษ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2500[15] จำเลยทุกคนในคดีกบฏสันติภาพจึงถูกปล่อยตัว และปาลได้กลับมาเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2506
บทบาททางการเมืองของปาล พนมยงค์ ในการเลือกตั้ง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500
ชีวิตทางการเมืองในระบบรัฐสภาของปาลนั้นน้อยคนนักที่จะทราบว่าปาลเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ครั้งที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2500 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายหลังการอุปสมบทเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ณ พัทธสีมา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งมีท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมรับเป็นอุปัชฌาย์และกรุณาจัดให้อยู่กุฏิเดียวกับท่าน[16]
ช่วงก่อนบวชนั้น ปาลให้สัมภาษณ์กับ ประจวบ อัมพะเศวต ว่าได้เข้าพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อลาบวชและจอมพล ป. ได้อนุโมทนาแล้วกล่าวกับปาลก่อนกลับว่า
“บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากจะให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว”[17]
ปาลบวชในช่วงบริบททางการเมืองที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นหลังการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งทางพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ได้รับชัยชนะอย่างไม่โปร่งใสจนถูกนักหนังสือพิมพ์เรียกกันว่า “การเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500” ส่วนจอมพล ป. เรียกว่า “การเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย” ต่อมาชีวิตการเมืองของจอมพล ป. ก็จบลงอย่างเรียบร้อยอันเนื่องมาจากเกิดการรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยกลุ่มของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ระยะแรกได้แต่งตั้งพจน์ สารสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพลเรือนแล้วลงมติให้จัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500
ก่อนจะเล่าเรื่องปาลลงสมัครผู้แทนนั้นต้องทราบปูมหลังบางประการว่า เนื่องจากปรีดี พนมยงค์ มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงไม่น่าแปลกใจที่ปาลบุตรชายจะถูกทาบทามให้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนี้ ส่วนปรีดีเองก็เคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่นหรือได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 ของบ้านเกิดในการเลือกตั้ง ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 มาแล้ว
5 วันหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ได้มีจดหมายจาก ประสิทธิ์ อุ่นใจ ชาวพระนครศรีอยุธยา ส่งมาถึงปาล ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยขึ้นต้นจดหมายอย่างไม่อ้อมค้อมว่า อยากจะให้ปาลลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยินดีสนับสนุนปาลให้ได้เป็นผู้แทนฯ ด้วยมีความศรัทธาในตัวปาลและมั่นใจในความสามารถ
“...ผมก็มั่นใจอย่างมากว่า คุณปาลจะต้องเป็นผู้มีความสามารถดีกว่าผู้อื่นทุกๆ คน ตลอดทั้งอุดมคติของคุณปาลผมก็ศรัทธามาก อีกประการหนึ่ง ขณะนี้ผมก็ได้เริ่มทำการหาเสียงให้คุณปาลไว้มากแล้วและก็มั่นใจว่าคุณปาลต้องได้…”
ในจดหมายของประสิทธิ์ ชี้ชัดว่าไม่ได้สนิทสนมกับปาลมากนักและบริบททางการเมืองช่วงรัฐประหารหมาดๆ นั้นทำให้ยังไม่ควรหาเสียงอย่างครึกโครม หากประสิทธิ์ก็ยินดีที่จะสนับสนุนปาลและขอนัดเพื่อพบปะพูดคุยรวมทั้งได้กล่าวว่าตนเองได้ป่าวประกาศให้แก่ชาวบ้านที่อำเภอหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ทราบแล้วว่าปาลจะมาสมัครเป็นผู้แทนที่นี่
ท้ายจดหมายประสิทธิ์ยังสะท้อนให้เห็นความนิยมในตัวปาลโดยกล่าวว่า “เมื่อสภาถูกยุบครั้งนี้ก็เป็นธรรมดาจะต้องนึกถึงปาลเป็นคนแรก”
เมื่อปาลตัดสินใจลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนเพิ่มมากขึ้นทั้งสอบถามความคืบหน้าในการหาเสียง และรายงานคะแนนความนิยมของปาลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ทราบอย่างละเอียด
ราว 1 เดือน นับจากจดหมายของประสิทธิ์ ก็มีจดหมายจาก พระภิกษุสุพันธ์ วายุภาพ จากวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งมาถึงปาล พนมยงค์ ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2500 พระภิกษุสุพันธ์แสดงความยินดีและแจ้งแก่ปาลว่า การหยั่งเสียงคะแนนของปาล ณ เวลานั้นพบว่ามีถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเลือกปาล
ท่านยังชี้ด้วยว่ามีข้อที่น่าวิตกคือ ปาลยังเข้าไม่ถึงชนชั้นตาสีตาสาเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของปรีดีแต่ยังไม่คลี่คลายความสงสัย ผนวกกับการที่ปรีดีถูกโจมตีเรื่องดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ปาลจึงควรมาอธิบายแก่ชาวบ้านให้กระจ่าง ส่วนตัวท่านเองเป็นพระจึงไม่อาจอธิบายแทนได้เพราะขัดต่อพระวินัย จดหมายของพระภิกษุสุพันธ์นี้มีความสำคัญต่อการหาเสียงของปาลเพื่อให้ทราบถึงจิตใจของประชาชนซึ่งเป็นข้อชี้ขาดคะแนนเสียงในท้ายที่สุด
การหาเสียงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินไปอย่างเข้มข้น ประชาชนตื่นตัวและผู้สนับสนุนฝ่ายของปาลก็ไม่ย่นย่อที่จะหากลยุทธ์ในการหาเสียงหลากหลายรูปแบบทั้งจัดทำโปสเตอร์ บัตรหาเสียง ใบปลิวโฆษณา และบทกลอนที่ซุกซ่อนอยู่ในหนังสือพิมพ์และวารสารฉบับต่างๆ
ดังตัวอย่างบทกวีที่สะท้อนความสนใจการเมืองและความคมคายของชาวบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่พิมพ์ช่วยหาเสียงให้แก่ฝ่ายของปาลว่า
“อยุธยาฤาจะไร้ซึ่งศักดิ์ศรี
คนดีดีซ่อนตนอยู่หนไหน
ประชาราษฎร์ทั่วนครร้อนเป็นไฟ
ใครจะดับเข็ญได้ยังไม่มี
มวลมนุษย์อธรรมครอบงำจิต
แสวงอามิสใส่ตนชาติป่นปี้
ราษฎร์ทุกข์ทนทรมานมานานปี
จงตื่นเถิดคนดีศรีอยุธยา
เราจะสุขหรือทุกข์อยู่ที่ราษฎร์
เลือกผู้แทนตามราษฎร์ปรารถนา
เลือกคนดีราษฎร์จะสุขทุกเวลา
เลือกคนชั่วชาวประชาจะรำคาญ
เลือกผู้แทนคนดีมีประโยชน์
เลือกวิโรจน์ ปาล เยื้อน เป็นเพื่อนท่าน
จะช่วยทุกข์ บำรุงสุขตลอดกาล
เป็นปากเสียงแทนท่าน ทุกวันเอย”
โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเพียง 5 วัน ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ยังมีผู้สนับสนุนปาลส่งจดหมายมารายงานการเลือกตั้งและแสดงให้เห็นทั้งกลยุทธ์ในการหาเสียงว่ามีการพิมพ์โปสเตอร์เพิ่มและทำบัตรแบบเข้าหาทุกโอกาสให้ตัวแทนหาเสียงแจกจ่ายไปตามชนบทโดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และผู้มีชื่อเสียงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สะท้อนความมั่นใจว่าปาลน่าจะได้รับเลือกตั้ง
และยิ่งใกล้วันลงคะแนนยังมีการซื้อตัวหัวคะแนนด้วยดังในจดหมายระบุว่ามีผู้ให้เขาหาคะแนนเสียง 100 เสียง ต่อเงิน 2,000 บาท แต่ผู้สนับสนุนที่ศรัทธาปาลกลับไม่รับ และแจ้งว่าตนเองไม่ได้รับจ้างหาคะแนนเสียง จากกรณีนี้จะเห็นว่าการซื้อเสียงและหัวคะแนนยังมีอยู่ในการเลือกตั้งครั้งนี้แต่มีข่าวการทุจริตน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนมากนัก
ท้ายที่สุดเมื่อการเลือกตั้งวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 จบลงก็พบบทสรุปผลการเลือกตั้งของปาลในจดหมายของ พิชิต ศรีวุฒิพงศ์ ที่แสดงให้เห็นว่าปาลไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับเลือกตั้งครั้งนี้มี 3 คน คือ
- นายนิคม สุขพัฒน์ธี พรรคสหภูมิ
- นายสมศักดิ์ ชมจันทร์ ไม่สังกัดพรรค
- นายประเสริฐ บุญสม พรรคเสรีมนังคศิลา[18]
พิชิตกล่าวว่าตนและพรรคพวกที่สนับสนุนปาลล้วนเสียใจอย่างยิ่ง และชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปาลพลาดหวัง คือ การที่ประชาชนยังเคลือบแคลงใจในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และจากกระแสข่าวที่โจมตีปรีดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในจดหมายของพิชิตยังระบุชัดว่า “การถูกลอบปลงพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 ราษฎรในเขตต่างๆ ของอยุธยายังไม่เข้าใจเรื่องนี้เท่าที่ควรจึงพากันเกลียดกลัวและไม่ยอมลงคะแนนให้คุณทั้งที่เขาชอบในบุคลิกและลักษณะ และอัธยาศัยของคุณเป็นอันมาก…”
จากหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ชีวิตทางสังคมและการเมือง 49 ปีของปาล พนมยงค์ ถูกผูกโยงด้วยเงื่อนปมทางประวัติศาสตร์ ความอยุติธรรมทางการเมือง และกระแสโจมตีที่มุ่งลิดรอนอำนาจทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ หากส่งผลต่อชีวิตของปาล บุตรชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาททางการเมืองช่วงการเลือกตั้ง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500
ที่มาของภาพ : สถาบันปรีดี พนมยงค์ และ อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์
หมายเหตุ : ขอขอบคุณคุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ อย่างยิ่ง สำหรับการตั้งต้นประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 การอนุญาตให้ใช้จดหมาย และหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของคุณปาล พนมยงค์ และ ขอขอบคุณกองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในการประสานงานและแนะนำประเด็นสำคัญจนเกิดเป็นบทความชิ้นนี้ขึ้น
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- จดหมายจากพิชิต ศรีวุฒิพงศ์ ถึงคุณปาล พนมยงค์
- ประสิทธิ์ ใจอุ่น ถึงคุณปาล พนมยงค์
- พระภิกษุ สุพันธ์ วายุภาพ ถึงคุณปาล พนมยงค์
- จดหมายถึงคุณปาล พนมยงค์
- เอกสารหาเสียงการเลือกตั้งของคุณปาล พนมยงค์
หนังสืออนุสรณ์งานศพ :
- ปรีดี พนมยงค์, คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525.
หนังสือภาษาไทย :
- ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปี ในจีน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555)
- ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475 - 14 ตุลาคม 2516, (กรุงเทพฯ: สุภาพใจ, 2543)
- ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
- พูนศุข พนมยงค์, ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2551)
- วิชชุกร นาคธน, นักการเมืองถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555)
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500) พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2553)
บทความในนิตยสาร :
- วิชชุกร นาคธน, “นักการเมืองถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”, วารสารครุศาสตร์ปริทรรศน์ฯ 5, 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม 2561): หน้า 1-15.
วิทยานิพนธ์ :
- วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, (2532). กบฏสันติภาพ. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- พูนศุข พนมยงค์. (9 กันยายน 2563). ชีวิตของปาล พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/411
- เพื่อนร่วมคุกในคดีสันติภาพ. (26 กันยายน 2563). พลทหาร ปาล พนมยงค์: ผู้เป็นสุภาพบุรุษทุกกระเบียดนิ้ว. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/432
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (12 พฤษภาคม 2563). ครอบครัวนายปรีดี พนมยงค์ กับความประทับใจจากแผ่นดินจีน. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/05/260
- โอฬาริก พยัคฆาภรณ์. (9 กันยายน 2564). ใครๆ ก็รักปาล ในนามเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมปริญญา ม.ธ.ก.. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/09/826
[1] สกุลเดิมคือ ณ ป้อมเพชร์
[2] ปรีดี พนมยงค์, คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525. หน้า 65-66.
[3] สมรสครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 กับงามชื่น นีลวัฒนานนท์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ ชัยวัฒน์ พนมยงค์ และตุลยา พนมยงค์ ต่อมาสมรสครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2519 กับเลิศศรี จตุรพฤกษ์ มีบุตร 1 คน คือ ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
[4] สมรสกับจีรวรรณ พนมยงค์ วรดิลก ซึ่งเป็นน้องสาวของสุวัฒน์ และทวีป วรดิลก
[5] สมรสกับชาญ บุญทัศนกุล
[6] สมรสกับสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรชายของกุหลาบ สายประดิษฐ์
[7] พูนศุข พนมยงค์. (9 กันยายน 2563). ชีวิตของปาล พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/411
[8] ปรีดี พนมยงค์, คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525. หน้า 67.
[9] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500) พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2553), หน้า 289-295.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 300.
[11] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, (2532). กบฏสันติภาพ. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 165-166.
[12] พูนศุข พนมยงค์. (9 กันยายน 2563). ชีวิตของปาล พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/411
[13] ปรีดี พนมยงค์, คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525. หน้า 53.
[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 58.
[15] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, (2532). กบฏสันติภาพ. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 264.
[16] พูนศุข พนมยงค์. (9 กันยายน 2563). ชีวิตของปาล พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/411
[17] ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475-14 ตุลาคม 2516, (กรุงเทพฯ: สุภาพใจ, 2543), หน้า 410.
[18] วิชชุกร นาคธน, นักการเมืองถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 56.
- ปาล พนมยงค์
- ปรีดี พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์
- การอภิวัฒน์สยาม
- 24 มิถุนายน 2475
- พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา
- ขำ ณ ป้อมเพชร์
- เพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา
- ลลิตา พนมยงค์
- สุดา พนมยงค์
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- ดุษฎี พนมยงค์
- บุญทัศนกุล
- วาณี พนมยงค์
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- อารีย์ อิ่มสมบัติ
- สิงหชัย บังคดานรา
- สัมผัส พึ่งประดิษฐ์
- โอฬาริก พยัคฆาภรณ์
- คดีกบฏสันติภาพ
- การเลือกตั้งสกปรก 2500
- การเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย
- อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์
- ประสิทธิ์ ใจอุ่น