ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เลือกตั้งกรรมการประกันสังคมในมุมมองของรัฐสวัสดิการ

28
ตุลาคม
2566

Focus

  • การประกันสังคมเป็นเรื่องสวัสดิการสังคมภายใต้กองทุนประกันสังคมที่ครอบคลุม ทั้งกลุ่มคนที่มีนายจ้างและกลุ่มแรงงานอิสระ โดยก่อนหน้านี้ สมัยการอภิวัฒน์ 2475 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอถึงหน้าที่ของรัฐบาลที่จะประกันชีวิตและความมั่นคงให้แก่ประชาชน ตามเค้าโครงเศรษฐกิจ พ.ศ. 2476 พร้อมกับการเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
  • ปัจจุบัน กองทุนประกันสังคมบริหารโดยคณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งผู้แทนในลักษณะหนึ่งสหภาพแรงงานหนึ่งเสียง เว้นแต่เมื่อ พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน คณะกรรมการฯได้มาโดยการแต่งตั้งของคสช. แต่ก็กำลังถูกแทนที่โดยการเลือกตั้งโดยสมาชิกทั้งมวล
  • ในการเลือกตั้งคณะกรรมการฯชุดใหม่ครั้งนี้ ผู้ประกันตนจะต้องลงทะเบียนก่อน (ภายใน 31 ตุลาคม 2566) และควรไปลงคะแนนเสียง  (24 ธันวาคม 2566) จำนวนมากๆ อันจะทำให้ได้คณะกรรมการฯที่เป็นผู้แทนสมาชิกส่วนใหญ่ และจะนำไปสู่การปฏิรูปประกันสังคม เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นประชาธิปไตย สิทธิประโยชน์ตกสู่ประชาชนทั่วไปมากที่สุด และเป็นบันไดสู่การสร้างรัฐสวัสดิการในมิติต่างๆ ต่อไป

 

ในระบบสวัสดิการที่มีมาในสังคมไทย “ประกันสังคม” นับเป็นสวัสดิการสำหรับประชาชนทั่วไปที่เก่าแก่ที่สุด แต่ก็มีอายุเพียงแค่ 33 ปีเท่านั้น ประกันสังคมคือ “สวัสดิการสำหรับคนวัยทำงาน” ซึ่งเดิมทีนั้นคือคนที่มีนายจ้าง และรับเงินเดือนประจำแต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สิทธิประกันสังคมก็ขยายสู่กลุ่มแรงงานอิสระมากขึ้นจนปัจจุบันคนในวัยทำงานก็สามารถมีส่วนร่วมกับกองทุนประกันสังคมได้เกือบทั้งหมด

ย้อนกลับไปกว่า 90 ปีก่อน ข้อเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ก็ใช้คำว่า Assurance Sociale พร้อมกับการเสนอ พรบ.ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

 

โดยมีลักษณะสำคัญคือ รัฐบาลมีหน้าที่ประกันชีวิตและความมั่นคงให้แก่ประชาชน เค้าโครงเศรษฐกิจที่เป็นหน่ออ่อนสู่ก้าวแรกของรัฐสวัสดิการ ด้วยถ้อยคำที่ว่า “ราษฎรที่เกิดมา ย่อมได้รับหลักประกันจากรัฐบาลว่าตั้งแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก เจ็บป่วย พิการ หรือชราทำงานไม่ได้ ราษฎรก็จะมีอาหาร เครื่องนุ่งห่มปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต

เค้าโครงเศรษฐกิจถูกปฏิเสธโดยฝั่งอนุรักษนิยมและเป็นชนวนเหตุการณ์รัฐประหารเงียบในครั้งแรก สุดท้ายแล้วมันนำสู่การปฏิเสธรัฐสวัสดิการต่อเนื่องมาอีกนับศตวรรษ การผลักดัน พรบ.ประกันสังคมมีความพยายามตั้งแต่ปี 2497 การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ทำให้ พรบ.ประกันสังคมต้องรอคอยเกือบสี่สิบปีถึงจะมีการบังคับใช้ในที่สุด

ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่าสองล้านล้านบาทและมีรายรับสูงถึงปีละ 1.4 แสนล้านบาท ดูแลผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคนในทุกมาตรา สิทธิประโยชน์ของประกันสังคม มีหลายเรื่องตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต แต่ปัญหาสำคัญของกองทุนขนาดใหญ่มหาศาลนี้คือ ตลอดการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 บอร์ดประกันสังคมมาจากการแต่งตั้ง 100% จากคณะรัฐประหาร ซึ่งยังคงอยู่ในตำแหน่งจนปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปก่อนปี 2557 การเลือกตั้งผู้แทนบอร์ดประกันสังคมก็เป็นไปในลักษณะ หนึ่งสหภาพหนึ่งเสียง ซึ่งก็เกิดปัญหาที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ทั่วถึงและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของความไม่เป็นประชาธิปไตยของกองทุน การตัดสินใจลงทุนของกองทุนประกันสังคมบ่อยครั้งเกิดการตั้งคำถามว่า ในฐานะเงินของกองทุนประกันสังคมที่มาจากการสมทบของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานหนักทั่วประเทศ แต่กลับไปลงทุนผ่านบริษัทที่บางครั้งไม่ได้มีธรรมาภิบาลหรือมีการละเมิดกฎหมายแรงงานเสียเอง

การปฏิรูปประกันสังคมจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการสร้างก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ หากเราสามารถทำให้กองทุนประกันสังคมเป็นตัวอย่างการกระจายทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพได้ ก็จะเป็นบันไดสู่การสร้างรัฐสวัสดิการในมิติต่างๆ ต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันในแง่ของสิทธิการรักษาพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบสามกองทุน กองทุนประกันสังคมเป็นนับว่ามีเงื่อนไขการรักษาพยาบาลที่แย่ที่สุดในภาพรวม เมื่อเปรียบเทียบกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสวัสดิการข้าราชการ ทั้งๆ ที่เป็นการสมทบเองของผู้ประกันตน แต่กลับเป็นระบบที่ครอบคลุมน้อยเมื่อเทียบกับการที่ประชาชนคนหนึ่งที่ต้องเป็นคนจ่ายเงินสมทบ ขณะเดียวกัน สิทธิหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการฟอกไต ผู้ประกันตนก็จำเป็นต้องสำรองจ่ายก่อนอันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้หลายคนปฏิเสธการรักษาที่เป็นปัญหาแค่ระบบการจัดการ สิทธิด้านทันตกรรมก็จำกัดเพียงปีละ 900 บาท และไม่ครอบคลุมการรักษาทันตกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งปี 2566 ที่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในฐานความคิดของผู้คนอย่างมหาศาล ความปรารถนาต่อสังคมประชาธิปไตย ความปรารถนาต่อรัฐสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น และสะท้อนออกมาในชัยชนะของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าว วุฒิสมาชิกฝั่งอำนาจนิยมเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาล (ที่นำโดยพรรคก้าวไกล) แต่ก็สะท้อนว่าประชาชนเองก็สนใจและตื่นตัวทางการเมืองขึ้นมาก

การเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2566 คือการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม นอกจากเป็นภาพสะท้อนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณขนาดใหญ่แล้ว ก็ยังนับว่าเป็นสมรภูมิสำคัญระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย และฝั่งอำนาจนิยมในการช่วงชิงอีกสมรภูมิหนึ่ง อันจะเป็นการเลือกตั้งสัดส่วนลูกจ้าง จำนวน 7 คน

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ง่ายนัก เพราะการเลือกตั้งประกันสังคมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่กับการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรก ด้วยเงื่อนไขที่ดูซับซ้อนเพราะการอ้างเหตุผลเรื่องของงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งจึงมีการดำเนินการให้ลงทะเบียนก่อนล่วงหน้า ซึ่งผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องลงทะเบียนภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เพื่อที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 โดยช่วงเวลาที่เปิดลงทะเบียน มีเพียงประมาณ 19 วันเท่านั้นนับจากวันที่ 12 ตุลาคม 2566

เมื่อคนลงทะเบียนใช้สิทธิ์น้อยก็จะเป็นผลที่ไม่ดีนักต่อฝ่ายประชาธิปไตย เพราะเปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจนิยมสามารถแทรกซึมได้ง่าย และกำหนดผลการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งที่มีคนใช้สิทธิ์ปริมาณสูง

ดังนั้นในห้วงเวลานี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก หากเราพิจารณาเห็นว่า เงินกองทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท รายรับมากกว่าแสนล้าน ควรถูกบริหารจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตย และสิทธิประโยชน์ควรตกสู่ประชาชนทั่วไปมากที่สุด ตอนนี้ยังมีเวลา เราสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และสามารถเลือกพื้นที่ที่เราสามารถสะดวกใช้สิทธิ์เลือกตั้งในจังหวัดหรือเขตใดก็ได้ที่ตนสะดวก เพื่อลงคะแนนในวันที่ 24 ธันวาคม

ให้บาทแรกถึงบาทสุดท้ายกลับสู่ประชาชน ให้การปฏิรูปประกันสังคมเป็นบันไดก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ

 

หมายเหตุ : ผู้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม แต่จะต้องลงทะเบียนภายในวันที่ 31 ต.ค. 2566 นี้ ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม โดยสามารถกดลิงค์เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิเลือกตั้งได้ที่นี่ : https://tinyurl.com/5dsbjnbu

อ้างอิง