ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คำเสนอเรื่องขุดคอคอดกระ

16
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • ความคิดเรื่องการขุด “คอคอดกระ” ตรงส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ระหว่าง อ. หลังสวน จ. ชุมพร กับ อ. กระบุรี จ. ระนอง เคยมีมาแล้วในสมัย รัชกาล 5 แต่ยุติลงไปเพราะเกรงอิทธิพลมหาอำนาจล่าเมืองขึ้น  และหากจะมีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ต้องให้อังกฤษเห็นพ้องด้วยก่อนตามสัญญา (ข้อตกลง) สมบูรณ์แบบ
  • ในสมัยรัฐบาลที่พลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2501)  ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้มีความดำริในเรื่องการขุดคอคอดกระเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว. กระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2478) ได้ส่งความเห็นต่อรัฐบาลผ่านนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง “แนวคิดการขุดคลองที่คอคอดกระ: เอกราชทางเศรษฐกิจของประเทศไทย”  แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
  • ข้อคัดค้าน เช่น การนำทุนสำรองทองคำมาใช้ขุดคลองเป็นหลักการของคอมมิวนิสต์ และการนำทุนสำรองธนบัตรและทองคำของพระมหากษัตริย์มาใช้ขุดคลองเป็นการ “ทำลายสมบัติชิ้นสุดท้ายฯ” ส่วนข้อสนับสนุนความเห็น ดร. ปรีดี คือ การจะขุดคลองทำโดยอิสระตามกำลังของชาติ ใช้ทุนของไทยเราเอง ไม่กู้เงินจากต่างประเทศที่จะเป็นภาระผูกพันให้เสียเอกราชในทางเศรษฐกิจได้ และรัฐบาลต้องไม่นำทองคำที่ “ควรรักษาไว้เพื่อความจำเป็นอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในการภายหน้า” ออกมาใช้ เป็นต้น

 

ควรทำความเข้าใจกันก่อนสักเล็กน้อยว่าคอคอดกระนั้นอยู่ตรงไหนของประเทศไทย

“คอคอดกระตั้งอยู่ระหว่างอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ทางฝั่งอ่าวไทย กับอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เป็นส่วนแคบที่สุดของ (แหลมมลายู) ประเทศไทย ในสมัยโบราณเคยเป็นย่านกลางสำหรับเดินข้ามจากตะวันตกมาตะวันออก”

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำริที่จะให้ขุดคลองที่คอคอดกระนี้เชื่อมต่ออ่าวไทยกับมหาสมุทรอินเดีย เพื่อเรือพาณิชย์จะผ่านจากตะวันตกมาสู่ตะวันออกได้ โดยไม่อ้อมไปทางปลายแหลมที่สิงคโปร์ แต่พระราชดำรินี้ต้องระงับไปเพราะไทยเกรงอิทธิพลของมหาอำนาจล่าเมืองขึ้น

ครั้นมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งสงครามอาเซียบูรพาสิ้นสุดลง อังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามก็บีบบังคับให้ไทยต้องลงนามในสัญญาสมบูรณ์แบบ “ข้อ 7 รัฐบาลไทยรับว่าจะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยโดยรัฐบาลแห่งราชอาณาจักร (รัฐบาลอังกฤษ) มิได้เห็นพ้องด้วยก่อน” ต่อมาเป็นเวลาหลายปี ประเทศไทยจึงปลดเปลื้องพันธอันนี้ให้หลุดพ้นไปได้

วันที่ 13 พฤษภาคม 2500 เป็นวันที่พุทธศาสนาดำรงมาได้ครบ 2,500 ปี ได้มีการเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่เรียกว่า งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในโอกาสนี้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกกฎหมายลบล้างมลทินแก่บุคคลที่เคยต้องโทษทางการเมือง ปลดปล่อยเป็นอิสระ เป็นการระงับเวรด้วยการไม่จองเวร

ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2500 พรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายควง อภัยวงศ์ ได้ขอเปิดอภิปราย ไม่ไว้วางในรัฐบาลในเรื่องความสงบเรียบร้อยและการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การคลังการต่างประเทศ การศึกษา การครองชีพของประชาชน การเศรษฐกิจ การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นและการรักษาวาจาสัตย์ เป็นเวลา 2 วัน สภาฯ ได้ลงมติให้ผ่านระเบียบวาระนี้ไป แล้วประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีก กล่าวคือในวันที่ 16 กันยายน 2500 คณะทหารบก อันมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศตั้งตนเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร จอมพล ป. พิบูลสงครามหนีไปอยู่ในประเทศเขมรและต่อมาญี่ปุ่น และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ถูกบังคับให้เดินทางไปอยู่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และทั้งสองก็จบชีวิตในต่างแดนนั้น “กฏแห่งกรรมไม่มีใครเปลี่ยนแปลงผันแปรได้”

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 มาใช้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งสมาชิกประเภท 1 และประเภท 2 แต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้นใหม่ เชิญนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเลือกตั้งสมาชิกใหม่ ครั้นถึงวันที่ 1 มกราคม 2501 ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ พลโท ถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นที่ทราบกันดีว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชักหุ่นนี้อยู่ข้างหลัง

เมื่อพลโท ถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันเริ่มปีใหม่ 2501 นั้น รัฐบาลนี้ได้มีความดำริที่จะพัฒนาประเทศในทุกด้านตามแบบของผู้อ้างเหตุผลในการทำรัฐประหาร ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอข้อคิดเห็นต่อรัฐบาลในด้านต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการในการบริหารประเทศชาติให้พัฒนาถาวรสืบไป

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้มีความดำริในเรื่องการขุดคอคอดกระเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติมาตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้เสนอความคิดเห็นเรื่องนี้ โดยผ่านสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้

อ่าน แนวคิดการขุดคลองที่คอคอดกระ: เอกราชทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

ภายหลังที่ข้อเสนอของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เรื่องขุดคลองคอคอดกระดังกล่าวนี้ได้ถูกนำเสนอรัฐบาล และได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับแล้ว ก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักการเมืองและประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุนและคัดค้านฝ่ายที่ค้านนั้น ค้านเพราะโมหะจริตก็มี ค้านเพราะรู้ไม่จริงก็มี ค้านเพราะเขลาก็มี และที่ค้านเพราะต้องการทำลาย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็มี แต่ผู้สุจริตหวังดีต่อชาติบ้านเมืองกลับมีความเห็นสนับสนุนข้อเสนอนี้

“อิสระชน” นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้ยืนอยู่กับประชาชนได้เขียนบทความวิจารณ์ข้อคัดค้านเหล่านั้น ลงในหน้าหนังสือพิมพ์สารเสรี ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2501 มีข้อความละเอียดดังต่อไปนี้:-

เมื่อวันที่ 9 เดือนนี้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ตีพิมพ์ข่าวที่เก็บความจากจดหมายของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ส่งมายังนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อขอให้นายก ส.น.ท. นำเสนอต่อรัฐบาล และเสนอต่อประชาชน โดยผ่านทางหนังสือพิมพ์ ในจดหมายนั้น ดร.ปรีดี ได้แสดงความยินดีในความดำริห์ของรัฐบาลที่จะขุดคลองที่คอคอดกระ ดร.ปรีดี ได้เขียนมาว่า โดยที่นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ได้เคยแถลงไว้ว่ายินดีรับฟังความเห็นของคนไทยทั่วไป และโดยที่ตัวท่านได้เคยศึกษาค้นคว้าและมีความคิดเกี่ยวกับการสร้างคลองนี้มาในสมัยหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์มวลราษฎรไทยและรัฐบาลไทยบ้าง จึงได้เสนอข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และปัญหาอื่นเกี่ยวกับการขุดคลองมารับการพิจารณาของรัฐบาล และประชาชนไทย

หลังจากที่หนังสือพิมพ์ได้เปิดเผยความคิดของอดีตผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ได้มีปฏิกิริยาทั้งในทางโจมตีและต้อนรับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ได้โจมตีว่าข้อเสนอแนะของ ดร.ปรีดี ให้นำทุนสำรองทองคำมาใช้ขุดคลองนั้น เป็นหลักการของพวกคอมมิวนิสต์ และว่าทองคำอันเป็นส่วนของพระมหากษัตริย์นั้น สงสัยว่าจะถูกเขาปล้นไปหมดแล้ว[1]

นอกจากการโจมตีของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว รัฐมนตรีว่าการมหาดไทยยังได้กล่าวเป็นเชิงดูแคลนและเดาเจตนาของผู้เสนอไปในแง่ร้ายว่า “อาจเป็นแผนยุแหย่ให้เกิดความผันผวนทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ” และว่าเงินทุนสำรองเป็นทุนที่ต้องหวงแหน ถ้าจะมีการขุดคลองจริง รัฐบาลก็มีวิธีที่จะหาเงินอย่างอื่นมาใช้[2] หรือวิธีอย่างอื่นซึ่งนอกเหนือไปจากการกู้เงินต่างประเทศคืออย่างไรนั้นรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยมิได้เฉลยไว้

อนึ่ง หนังสือพิมพ์บางฉบับได้แสดงความเห็นว่า การนำทุนสำรองธนบัตรและทองคำของพระมหากษัตริย์มาใช้ในการขุดคลองจะเป็นการ “ทำลายสมบัติชิ้นสุดท้ายในกระเป๋าอันยอบแยบของเมืองไทย” และจะก่อความเสียหายเอนกอนันต์แก่เศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะเดียวกันก็มีหนังสือพิมพ์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านได้ต้อนรับข้อเสนอแนะของรัฐบุรุษอาวุโสในเรื่องนี้ด้วยดี และข้อคัดค้านของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และของรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยก็ได้ถูกสมาชิกสภาบางท่านตีกลับไป เป็นต้น ส.ส. ทวีศักดิ์ ตรีพลี แห่งขอนแก่น รองประธานแนวร่วมสังคมนิยม ได้โต้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของ ม.ร.ว. เสนีย์ เป็นเสียงคำราม ของยามรักษาผลประโยชน์ของต่างประเทศเท่านั้น[3]

ส่วนนายกรัฐมนตรีนั้นได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยความสำรวมท่านกล่าวว่าเพิ่งจะได้รับบันทึกความเห็นของรัฐบุรุษอาวุโส และยังมิได้อ่าน ในส่วนที่เกี่ยวกับทุนสำรองทองคำนั้นนายกรัฐมนตรีได้ตอบหนังสือพิมพ์ว่า จะต้องสอบกระทรวงการคลังก่อนว่ามีทุนสำรองดังกล่าวอยู่หรือไม่ ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับการขุดคลอง และจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไปและว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ[4]

เสียงคัดค้านและความเห็นในทางร้ายที่มีต่อข้อเสนอแนะของ ดร. ปรีดีฯ ดังกล่าวข้างต้นนั้น เราเข้าใจว่าเป็นเสียงที่เปล่งออกอย่างผลีผลาม โดยที่ยังมิได้ศึกษาบันทึกข้อเท็จจริงและความเห็นทั้งหมดของ ดร.ปรีดีฯ อย่างถี่ถ้วน การกระทำเช่นนั้น นอกจากว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้เสนอความคิดเห็นขึ้นมาด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติแล้ว ยังไม่สมควรจะนำมาใช้ต่อกรณีที่เกี่ยวกับทางได้ทางเสียอันสำคัญของประเทศชาติด้วย

ใครก็ตามที่ได้อ่านบันทึกความเห็น ดร.ปรีดีฯ ในเรื่องนี้โดยละเอียดและปราศจากอดติแล้ว ยากที่จะปฏิเสธว่ามิใช่บันทึกความเห็นที่เกิดจากจิตใจแห่งความรักชาติและจากการพิจารณาทางได้ทางเสียของประเทศอย่างรอบคอบ ในบันทึกนั้นแสดงไว้ว่า ท่านเจ้าของบันทึกมุ่งหมายจะนำสติปัญญาของท่านมาร่วมกับของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ในการพิจารณาเรื่องการขุดคลองเพื่อที่จะให้การขุดคลองที่คอคอดกระได้ดำเนินไปโดยอิสระตามกำลังของชาติไทยเราเอง คือด้วยการใช้ทุนของเราเองเพราะว่าถ้าคิดหาทุนโดยกู้เงินจากต่างประเทศแล้ว ก็จะมีภาระผูกพันหลายอย่างติดตามมา แทนที่ประเทศจะได้ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในทางเศรษฐกิจก็จะกลับกลายเป็นเสียเอกราชทางพฤตินัยอย่างอื่นๆ ไป ด้วยมูลเหตุจงใจข้อสำคัญในอันจะร่วมกับรัฐบาล และประชาชนไทยพิทักษ์เชิดชูเอกราชของชาติตามพฤตินัยและมิใช่แต่เพียงเอกราชตามนิตินัยเท่านั้น บันทึกเรื่องนี้จึงไว้เสนอแนะถึงการรวบรวมทุนที่เป็นของชาติไทยเอง สำหรับใช้ในการขุดคลองแทนการกู้เงินจากต่างประเทศ

เกี่ยวกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอแนะของ ดร.ปรีดีฯ ให้นำทองคำหรือทุนสำรองเงินตรามาใช้ในการขุดคลองนั้น ก็ปรากฏว่าไม่ตรงกับข้อเสนอแนะ ที่ได้กล่าวแยกแยะไว้โดยละเอียดในบันทึก แม้ในกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องทองคำของพระมหากษัตริย์ก็ดีก็ควรที่จะได้ทำความเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งก่อนว่ามีความหมายอย่างไร และก็ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงเรื่องนี้ที่อาจชวนให้เข้าใจผิดกันอยู่

ในบันทึกได้เสนอแนะให้รัฐบาล “เอาทุนนอนที่มีอยู่โดยยังมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างใด และไม่กระทบกระเทือนถึงเสถียรภาพของเงินตรามาลงทุนได้” เกี่ยวกับทองคำนั้น ในบันทึกกล่าวว่า “บางประเภทก็ไม่ใช่ทุนสำรองเงินตรา บางประเภทก็เป็นทุนสำรองเงินตรา แม้ทองคำที่รัฐบาลเอาขึ้นบัญชีเป็นทุนสำรองเงินตราก็ยังมีบางประเภท ที่การได้มาการเสียไปการมีอยู่มิได้ทำให้เงินตราปัจจุบันนี้ดีขึ้นหรือเลวลง”

ในบันทึกนอกจากว่าจะมิได้เสนอแนะให้นำทุนสำรองหรือทองคำมาใช้ในการเสี่ยงอันตราย ดังที่บางท่านเข้าใจผิดไปแล้ว บันทึกยังได้ชี้แจงไว้ด้วยว่า ทองคำหรือทุนสำรองเงินตราบางประเภทไม่ควรที่รัฐบาลจะแตะต้อง ได้แก่ทองคำ 35 ล้านกรัมที่เก็บรักษาไว้ที่ห้องนิรภัยของกระทรวงการคลัง ซึ่งบันทึกได้แนะว่า “ควรรักษาไว้เพื่อความจำเป็นอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในการภายหน้า” และทองคำ 9 ล้านกรัมเศษที่ได้มาด้วยการขายเงินเหรียญบาท เมื่อพ.ศ. 2481 และที่ฝากไว้ ณ สหรัฐอเมริกานั้น ในบันทึกก็ได้กำชับว่ารัฐบาลไม่ควรแตะต้อง ดังนั้นการที่มีเสียงร้องโวยวายขึ้นว่า ข้อเสนอแนะของ ดร.ปรีดี เป็นหลักการของพวกคอมมิวนิสต์ก็ดี หรือเป็นการเอาสมบัติชิ้นสุดท้ายของเมืองไทยมาเสี่ยงต่ออันตรายนั้น จึงเป็นเสียงทักท้วงที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในบันทึก

 

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์, “คำเสนอเรื่องขุดคอคอดกระ” ใน ดร. ปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2526), น. 808 - 832.


[1] พิมพ์ไทย 12 มีนาคม

[2] ไทรายวัน 12 มีนาคม

[3] ข่าวภาพ 14 มิถุนายน

[4] ข่าวภาพ 13 มีนาคม