
ที่มา: U.S. Office of War Information in the National Archives
ผู้ที่ถูกหลอกให้หลงเชื่อมีความไม่พอใจฉันใด ทูตที่เชื่อมั่นในคำยืนยันของผู้นำจนประเมินสถานการณ์ผิดพลาดจากหน้ามือเป็นหลังมือ ย่อมต้องรู้สึกขัดเคืองฉันนั้น จะผิดหรือถูกอย่างไรก็ตามที เซอร์โจซาย ครอสบี้ ผู้ประจำอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน จนสามารถพูดภาษาไทยได้คล่อง มีความสนิทสนมกับผู้หลักผู้ใหญ่ของไทย เข้านอกออกในได้ทุกโอกาส จะพบผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีอื่นใดได้เสมอ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นคณบดีคณะทูตในประเทศไทยเรื่อยมา จนกระทั่งต้องเสียตำแหน่งให้แก่คนญี่ปุ่นที่ได้รับยกย่องเป็นเอกอัครราชทูตต่างชาติคนแรกประจำกรุงเทพฯ เพียงเพราะรัฐบาลอังกฤษปฏิเสธไม่ยอมยกฐานะของทูตอังกฤษให้ขึ้นสูงเท่าเทียม เซอร์โจซาย ครอสบี้ เมื่อสำนึกได้ว่า ตนชะรอยจะถูกต้มเสียเปื่อย ย่อมจะลืมทั้งหลักเมตตาธรรมและหลักอโหสิกรรมเป็นธรรมดา เมื่อกลับถึงอังกฤษมีเวลาว่างพอ จึงนั่งคิดทำรายงานลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๘๖ ด้วยความขมขื่น เสนอให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณากำหนดโทษประเทศไทยให้สาสมกับที่ได้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ไว้สองสถาน คือ ให้ลดกำลังทหารของไทยลงให้มาก ป้องกันมิให้ระบอบนิยมทหารกลับฟื้นคืนตัวขึ้นอีก และจัดให้มีการพิทักษ์หรืออารักขาประเทศไทยโดยต่างชาติ ซึ่งเซอร์โจซายเสนอให้สหรัฐอเมริกาทำหน้าที่นี้

เซอร์โจซาย ครอสบี้
ข้อเสนอของเซอร์โจซาย แม้สถาบันกิจการระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษส่งไปให้ศึกษาและวิจัย ก็ยังลงความไม่เห็นด้วย สถาบันวิจารณ์ในบันทึกลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ว่า โดยลำพังแล้วไทยไม่มีความสามารถที่จะรุกรานดินแดนอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ในกรณีที่ฝ่ายสหประชาชาติทำลายอำนาจของญี่ปุ่นลงสิ้นเชิง ภัยในอนาคตต่อดินแดนอังกฤษอาจจะมาจากประเทศจีน ซึ่งมีคนชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกับในมลายูเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ของอังกฤษจำเป็นจะต้องหาทางป้องกันมิให้ประเทศไทยตกเข้าไปในข่ายการควบคุมของจีน ควรจะจัดให้ไทยเป็นประเทศกันชนที่เข้มแข็งและเป็นมิตร จริงอยู่ เซอร์โจซายอ้างถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางทหารว่า เขตแดนที่จะช่วยให้การป้องกันมลายูได้ผลอย่างจริงจังทางยุทธศาสตร์อาจจะอยู่ที่คอคอดกระ แต่การเข้าควบคุมคอคอดกระนี้อาจจะได้มาด้วยการดำเนินการยุทธยามสงคราม หรือด้วยความตกลงอันมีลักษณะถาวรทานอง ที่อังกฤษเคยทำกับอียิปต์หรืออิรัก โดยไม่จำต้องปลดอาวุธประเทศไทย ตรงกันข้ามสถาบันเห็นว่า ควรจะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีกำลังทหารที่เข้มแข็งขึ้นด้วยซํ้าไป การที่เซอร์โจซายคิดจะทำลายระบบนิยมทหารในประเทศไทยเพื่อให้ประชาธิปไตยงอกงามยิ่งขึ้นนั้น อังกฤษอาจจะต้องรับภาระในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประเทศไทยเกินกว่าจะรับได้ ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็ควรจะปล่อยให้มีกองทัพที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศจากภัยที่จะมีมาจากภายนอกด้วย
สำหรับการเข้าพิทักษ์ประเทศไทยทางการเมือง เซอร์โจซายเสนอให้กลับไปใช้ระบบมีที่ปรึกษาอังกฤษและอเมริกาในวงราชการไทย โดยมีหลักประกันว่า คำแนะนำของที่ปรึกษาจะต้องได้รับการปฏิบัติตามอย่างไม่หลีกเลี่ยง ระบบพิทักษ์ทางการเมืองนี้ควรจะใช้ประมาณ ๑๐ ปี และให้เป็นหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา เพราะไทยจะยินยอมรับความพิทักษ์ของสหรัฐฯ ยิ่งกว่าประเทศอื่น ในข้อนี้ สถาบันหวั่นเกรงว่า โดยที่นโยบายทั่วไปของสหรัฐฯ กระเดียดไปในทางนิยมจีนอยู่ การพิทักษ์ประเทศไทยอาจจะเปิดทางให้จีนเข้าไปปฏิบัติการภายในประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของจีน ประโยชน์ของอังกฤษอยู่ที่จะต้องจัดให้ไทยเป็นประเทศกันชนที่มีเอกราชแท้จริงมากกว่า
วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๘๖ ประธานาธิบดีรุสเวลท์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ให้ความเห็นชอบด้วยกับท่าทีของจอมพล เจียงไคเช็คในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย พร้อมทั้งยืนยันว่า ฝ่ายสหประชาชาติไม่มีความมุ่งหมายทางดินแดนของประเทศไทยแต่อย่างใด และประสงค์จะเห็นไทยเป็นประเทศเอกราช มีอธิปไตยอันสมบูรณ์ ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันขอให้สถานเอกอัครราชทูตเสนอให้รัฐบาลอังกฤษคำนึงถึงถ้อยแถลงของท่านประธานาธิบดีนี้ และหวังว่า อังกฤษอาจจะออกประกาศทำนองเดียวกันด้วย
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษปรึกษาหารือกับสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วตกลงกันว่า อังกฤษจะยังไม่ออกถ้อยแถลงเป็นทางการเกี่ยวกับประเทศไทย หากมีผู้ถาม็จะเพียงตอบอย่างสั้น ๆ ว่า โดยทั่วไปรัฐบาลอังกฤษสนับสนุนถ้อยคำของจอมพล เจียงไคเช็ค แต่ไม่ยอมปริปากให้คำชี้แจงในรายละเอียดอย่างใด ต้องรอมาจนกระทั่งวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๘๖ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจึงยกร่างบันทึกที่ดำริจะเสนอรัฐบาล กำหนดท่าทีของอังกฤษเกี่ยวกับประเทศไทย อ้างถึงคำแถลงทางวิทยุกระจายเสียงของจอมพล เจียงไคเช็ค และคำสนับสนุนของประธานาธิบดีรุสเวลท์ว่า รัฐบาลอังกฤษยังไม่อาจยอมรับรองเช่นนั้นได้ เนื่องจากยังมีปัญหาดินแดนอยู่กับไทย เมื่อคุณจำกัด พลางกูร อยู่ในจุงกิง ได้ยกปัญหานี้ถามเอกอัครราชทูตอังกฤษเหมือนกัน ฝ่ายอังกฤษชี้แจงว่า ถ้าท่านปรีดี พนมยงค์ ตกลงออกจากประเทศไทย อังกฤษพร้อมที่จะยอมรับนับถือว่าเป็นหัวหน้าคณะกรรมการไทยเสรี และต่อไปอาจจะรับรองฐานะเป็นรัฐบาลไทยเสรีด้วย หากท่านปรีดีตอบตกลงตามนี้ภายในเวลาสามเดือน ผู้สำเร็จราชการอินเดียพร้อมที่จะต้อนรับท่านปรีดี พร้อมด้วย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายมณี สาณะเสน และคณะผู้แทนไทยที่จุงกิง โดยเป็นที่เข้าใจว่า การดำเนินการทางทหารของคณะเสรีไทยจะต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทางกระทรวงสงครามเสนอขอให้เพิ่มความตอนหนึ่งว่า ในข้อตกลงรับรองคณะกรรมการไทยเสรีจะต้องยอมรับว่า ถ้าอังกฤษเห็นสมควร อาจมีการจัดตั้งการปกครองทางทหารในประเทศไทยชั่วคราวได้ ฝ่ายกระทรวงการคลังยังไม่ยอมให้ถอนการกักกันสินทรัพย์ของรัฐบาลไทย ในระยะแรกหากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ให้เบิกจ่ายทางกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงสงครามไปก่อน ต่อไปควรมีการเจรจาเกี่ยวกับการเงินระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับคณะกรรมการไทยเสรี ส่วนกระทรวงอาณานิคมเสนอให้ผู้นำของขบวนการไทยเสรีปฏิเสธการรับโอนดินแดนในมลายูและพม่าจากญี่ปุ่นให้แน่ชัด
ผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้องประชุมปรึกษาหารือเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ตกลงตัดข้อความในร่างเดิมของกระทรวงการต่างประเทศลงไปมาก และเมื่อได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ทำเป็นบันทึกลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๖ เสนอคณะรัฐมนตรีมีข้อความว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสนอขอให้รัฐบาลอังกฤษประกาศนโยบายแน่นอนเกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อคำนึงถึงการคลี่คลายของขบวนการเสรีไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศไทย ซึ่งได้ให้ความร่วมมือแก่ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาแล้ว รัฐบาลอังกฤษจึงคิดว่าถึงเวลาที่จะแถลงว่า อังกฤษสนับสนุนการกลับสถาปนาประเทศไทยเสรีและมีเอกราชภายหลังสงคราม แต่จะไม่กล่าวถึงบูรณภาพแห่งอาณาเขต เพื่อมิให้เป็นการผูกมัดในการที่จะทำความตกลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงร่วมกันภายหลังสงคราม และไม่เป็นการรับรองการโอนดินแดนทางมลายูและพม่าให้แก่ประเทศไทยตามที่ญี่ปุ่นจัดการ
คณะรัฐมนตรีสงครามพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๘๗ เห็นด้วยกับหลักการที่อังกฤษจะออกประกาศเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยหลังสงคราม และภายหลังที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้ว ได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปพิจารณาปรับปรุงร่างถ้อยแถลงใหม่ตามแนวที่ปรึกษาหารือกัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการยกร่างประกาศขึ้นใหม่เสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เมื่อไม่มีรัฐมนตรีผู้ใดเสนอแก้ไข กระทรวงการต่างประเทศจึงส่งร่างไปให้ลอร์ดแฮลิแฟ็กซ์ เอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ เพื่อแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันทราบ และในขณะเดียวกันได้เวียนให้ประเทศในจักรภพพิจารณาด้วย
วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ เซอร์จอร์ช แซนซัม ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงวอชิงตัน ส่งร่างคำแถลงการณ์ของอังกฤษให้แก่นายบัลเลนไทน์ รองอธิบดีกรมกิจการตะวันออกไกล กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน มีข้อความว่า ฐานะของประเทศไทยจัดเป็นกรณีเดียวกับในตะวันออกไกลที่เคยมีสัมพันธไมตรีอันยาวนานกับประเทศอังกฤษ แต่ได้ทรยศต่ออุดมการณ์เป็นมิตรนั้นด้วยการยอมรับการบีบบังคับของญี่ปุ่น นอกจากจะร่วมมือกับศัตรูของอังกฤษโดยไม่คำนึงถึงสนธิสัญญาไม่รุกรานที่ไทยมีกับอังกฤษแล้ว รัฐบาลหุ่นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังริเริ่มประกาศสงครามกับอังกฤษด้วย ประเทศไทยกำลังได้รับผลจากชะตากรรมอันนี้ และจะได้รับผลหนักยิ่งขึ้นเมื่อสงครามคลี่ขยายเข้าถึงแผ่นดินไทย กระนั้นก็ตาม ประชาชนชาวไทยยังสามารถจะกระทำบางสิ่งบางอย่างที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากผลที่ร้ายแรงของการทรยศนั้น ประชาชนชาวไทยจะต้องพยายามแก้ตัวให้พ้นจากสภาวะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นำมาให้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน ประชาชนไทยจะต้องฟาดฟันอุปสรรคด้วยตนเอง แล้วจึงจะหวังอังกฤษให้สนับสนุนการกลับคืนฟื้นตัวของประเทศไทยที่อิสระและมีเอกราชภายหลังสงครามได้
อีกสองวันต่อมา เซอร์จอร์ชเขียนหนังสือยืดยาวถึงนายบัลเลนไทน์ ชี้แจงประกอบว่า คำแถลงการณ์ตามร่างที่ได้ส่งไปให้ไม่ผูกมัดอังกฤษในส่วนที่เกี่ยวกับความตกลงใด ๆ ในภายหน้า ว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ ที่จำเป็นต่อความมั่นคงร่วมกันภายหลังสงคราม ในทำนองเดียวกัน จะไม่กระทบกระเทือนถึงปัญหาเรื่องการรับรองคณะกรรมการไทยเสรีแต่อย่างใด แต่อังกฤษใคร่ขอเสนอให้รอการรับรองไว้พลางก่อน จนกว่าจะมีการคลี่คลายในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้แจ้งชัด แม้การที่ท่านปรีดีออกจากประเทศไทยอาจจะเป็นประโยชน์ อังกฤษจะไม่เสนอให้ท่านปรีดีหรือผู้อื่นใดเดินทางออกไปนอกเหนือจากคำแถลงการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอังกฤษจะไม่เสนอให้ท่านปรีดีเป็นประธานคณะกรรมการไทยเสรีหรือปล่อยสินทรัพย์ไทยที่อังกฤษกักกันไว้ ถ้าท่านปรีดีออกมาเมื่อใด อังกฤษจะพิจารณาเรื่องใหม่ ระหว่างนี้อังกฤษจะคำนึงถึงแต่วิธีที่จะเอาประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจากการใช้คณะเสรีไทยที่มีอยู่แล้ว
กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันพิจารณาร่างคำแถลงการณ์ของอังกฤษประกอบกับคำชี้แจงของเซอร์จอร์ช แซนซัม ดังกล่าวข้างต้นด้วยความห่วงใยเป็นอย่างมาก เพราะจะไม่ช่วยส่งเสริมให้คนไทยต่อต้านญี่ปุ่น กลับจะเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นฉวยเอาเป็นประโยชน์และเพิ่มความระแวงสงสัยของสหรัฐฯ ประเทศจีน และประเทศอื่นในความมุ่งประสงค์ของอังกฤษ ถ้าจะแถลงอย่างนี้แล้ว ไม่แถลงอย่างไรเสียเลยจะดีกว่า อย่างน้อยจะต้องมีข้อความแจ้งชัดว่าอังกฤษไม่มีความอยากได้ดินแดนของไทย
เมื่อฝ่ายอเมริกันท้วงติงร่างประกาศของอังกฤษตามที่เสนอ ฝ่ายอังกฤษจึงพยายามหาสูตรใหม่ที่คิดว่าอาจจะทำความพอใจให้แก่ฝ่ายอเมริกัน ประกอบกับทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รํ่าร้องต้องการให้รัฐบาลอังกฤษออกประกาศท่าทีเกี่ยวกับประเทศไทยเสียให้แน่ชัด เพื่อเป็นทางสนับสนุนกำลังใจแก่ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งทางกองบัญชาการอยากจะติดต่อด้วย กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจึงเสนอถ้อยคำใหม่ให้เหลือแต่เพียงว่า รัฐบาลอังกฤษยินดีที่จะให้ประเทศไทยภายหลังสงคราม ได้รับความมั่นคงบริบูรณ์ในฐานะที่เป็นประเทศอิสระมีอธิปไตยและเอกราช แต่รัฐบาลอังกฤษไม่อาจลืมพฤติการณ์ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้เริ่มประกาศสงครามกับอังกฤษโดยไม่คำนึงถึงสนธิสัญญาไม่รุกรานที่มีอยู่กับอังกฤษ และขอเตือนประชาชนชาวไทยว่า จะต้องลงมือทำการปลดปล่อยประเทศด้วยตนเอง นายอีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีบันทึกลงวันที่ ๑๗ เมษายน เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีสงครามใหม่และเวียนเรื่องให้ประเทศในจักรภพที่เกี่ยวข้องทราบด้วย ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำเล็กน้อยตามข้อเสนอของออสเตรเลีย กระทรวงการต่างประเทศจึงจัดทำร่างประกาศขึ้นใหม่เสนอให้คณะรัฐมนตรีสงครามพิจารณาเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม คณะรัฐมนตรีสงครามพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม มีมติยังไม่เห็นสมควรจะออกประกาศเกี่ยวกับประเทศไทยตามที่เสนอ
ความยังไม่อยากจะติดต่อทางการเมืองอย่างใด ๆ กับประเทศไทย เลยไปถึงปัญหาที่กองบัญชาการทหารสูงสุดประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะส่งผู้แทนของกำลัง ๑๓๖ เข้าไปติดต่อกับฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย ทางลอนดอนเกรงว่า จะเป็นการถลำเข้าไปผูกมัดทางการเมือง ซึ่งจะขัดกับมติของคณะรัฐมนตรีสงคราม เมื่อฝ่ายอังกฤษยังไม่ยอมออกคำแถลงการณ์เปิดเผยท่าทีของอังกฤษเกี่ยวกับประเทศไทย ฝ่ายสหรัฐอเมริกาขอทราบว่า อังกฤษจะยอมแจ้งท่าทีให้รัฐบาลอเมริกาทราบเป็นการภายในได้หรือไม่ ซึ่งข้อนี้ นายอีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ มีหนังสือลับลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๘๒ ตอบหนังสือลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ของนายวายนันท์ เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำกรุงลอนดอน ยืนยันว่า ความจริง อังกฤษสนับสนุนที่จะให้ประเทศไทยมีอิสระและเอกราชภายหลังสงครามไม่น้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและจีน หากแต่อังกฤษยังไม่อาจให้คำมั่นในปัญหาเรื่องดินแดนของประเทศไทยได้เท่านั้น อังกฤษต้องการขับไล่ญี่ปุ่นให้ออกพ้นจากประเทศไทยและปรารถนาอย่างเดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่จะส่งเสริมให้ไทยก่อความยากลำบากมากที่สุดแก่ญี่ปุ่น เป็นการเข้าร่วมอย่างใกล้ชิดในการปลดปล่อยประเทศไทยจากการควบคุมของญี่ปุ่น สาเหตุที่รัฐบาลอังกฤษและอเมริกายังไม่สามารถประสานความคิดเห็นกลมกลืนกันเต็มที่ ก็เนื่องจากรัฐบาลอเมริกาไม่ถือว่ามีสถานะสงครามกับประเทศไทยเช่นรัฐบาลอังกฤษ ยิ่งกว่านั้นทั้ง ๆ ที่มองเห็นประโยชน์อันจะได้รับจากการต่อต้านญี่ปุ่นของไทย รัฐบาลอังกฤษยังไม่ยอมประเมินคุณค่าแห่งการร่วมมือของไทยสูงนัก และเห็นว่า ไม่บังควรที่จะปล่อยให้ประเทศไทยมองอนาคตอย่างสะดวกสบายโดยไม่คำนึงถึงการช่วยตนเองและช่วยสัมพันธมิตร นายอีเดนอ้างถึงปฏิญญากรุงไคโรซึ่งผูกมัดมิให้มีการขยายอาณาเขตอยู่แล้ว แต่การที่จะให้อังกฤษรับรองบูรณภาพแห่งอาณาเขตของไทย จะต้องคำนึงถึงผลอันจะกระทบกระเทือนถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย อังกฤษเห็นว่า ไม่เป็นการสมควรที่จะปล่อยให้ประเทศไทยคงยึดถือดินแดนที่ได้รับจากญี่ปุ่นทางมลายู พม่า และอินโดจีนฝรั่งเศส อนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ภายหลังสงคราม อาจมีความจำเป็นจะต้องทำความตกลงบางอย่างเกี่ยวกับคอคอดกระของประเทศไทย ฉะนั้น การที่จะให้อังกฤษเคารพบูรณภาพแห่งอาณาเขตของประเทศไทย ก็จำจะต้องมีข้อสงวนต่าง ๆ เหล่านี้พร้อมกันออกไปด้วย ซึ่งอังกฤษเห็นว่าควรจะรอไว้ให้มีการพิจารณากันเมื่อทำความตกลงสันติภาพดีกว่า ในกรณีประเทศพันธมิตร เราก็ยังงดเว้นไม่ยอมรับผูกพันเรื่องบูรณภาพแห่งอาณาเขต นายอีเดนไม่เชื่อว่า รัฐบาลอเมริกาจะมีประสงค์ให้อังกฤษปฏิบัติต่อศัตรูละมุนละม่อมยิ่งกว่าสัมพันธมิตร
ต้องรอมาจนกระทั่งวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๗ คณะรัฐมนตรีสงครามอังกฤษจึงได้มีมติอนุมัติให้หน่วย เอส.โอ.อี. เข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทยได้ตามข้อเสนอของผู้บัญชาการทหารสูงสุดประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวางเป็นเงื่อนไขไว้ว่า ให้เข้าไปปฏิบัติการด้านการขับไล่ญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีการทำข้อผูกพันทางการเมืองอย่างใด ๆ กับไทยทั้งสิ้น
กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้สั่งให้ทูตตอบนายอีเดนเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ว่า สหรัฐฯ ต้องการจะให้อังกฤษออกคำแถลงการณ์ทำนองเดียวกับที่ประธานาธิบดีรุสเวลท์ และจอมพล เจียงไคเช็คเคยประกาศ ต้องการจะเห็นประเทศไทยเสรีมีเอกราชและอธิปไตย และไม่มุ่งหมายจะเอาดินแดนของไทยอย่างใดเลย เมื่ออังกฤษไม่ยอมออกคําแถลงอย่างเปิดเผย อเมริกาก็ไม่บีบบังคับอย่างใด หากเพียงแต่จะขอให้อังกฤษยอมแสดงออกอย่างลับ ๆ ถึงท่าทีของอังกฤษต่อไทยเพื่อเป็นการประสานนโยบายของรัฐบาลสหประชาชาติให้สอดคล้องกัน อเมริกายืนยันไม่เห็นด้วยกับการที่ไทยได้ดินแดนโดยอาศัยญี่ปุ่น ดินแดนเหล่านั้นจะต้องคืนให้แก่อินโดจีน พม่า มลายู แต่ทั้งนี้ไม่ขัดต่อการที่ประเทศไทยจะเสนอให้มีการพิจารณาปรับปรุงดินแดนกันในภายหลังโดยสันติวิธี อเมริกายังไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายของอังกฤษที่พูดถึงระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ และคอคอดกระ ขอให้อังกฤษไขความให้กระจ่างชัดสักหน่อย ซึ่งฝ่ายอังกฤษยังไม่ยอมชี้แจง อ้างว่าเป็นเรื่องจะต้องพิจารณากันภายหลังสงคราม
ระหว่างนั้น กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษตกลงส่งพันตรี อี.ที. กรุ๊ต ไปติดต่อกับหลวงอรรถกิติกำจร ทูตไทยที่กรุงสตอกโฮล์ม เพื่อเป็นทางติดต่อสำรองกับท่านปรีดี พนมยงค์ หากเกิดการขัดข้องในการดำเนินงานของ เอส.โอ.อี. ในประเทศไทย ทั้งนี้ โดยยํ้ากับพันตรี กรุ๊ตว่า จะต้องพยายามไม่พูดการเมืองกับหลวงอรรถกิติกำจร ให้จำกัดเฉพาะเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นเท่านั้น พันตรี กรุ๊ตเดินทางถึงกรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๘๗ เข้าพบหลวงอรรถกิติกำจรเมื่อวันที่ ๑๔ โดยอาศัยเจ้าหน้าที่ของสถานทูตอังกฤษเป็นสื่อ เมื่อจะเดินทางกลับในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พันตรี กรุ๊ตนัดแนะให้ทูตไทยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เอส.โอ.อี. ที่ประจำอยู่ทางสถานทูตที่กรุงสตอกโฮล์มเมื่อจำเป็น

วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์ เชอร์ชิล
ในโอกาสที่ประธานาธิบดีรุสเวลท์จะเดินทางไปประชุมกับนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลที่เมืองยาลต้าตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้ทำบันทึกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๘๘ เสนอประธานาธิบดี เพื่อประกอบการเจรจากับนายกรัฐมนตรีว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย นโยบายของรัฐบาลอังกฤษแตกต่างกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกาอยู่รัฐบาลอังกฤษถือประเทศไทยเป็นศัตรู และโดยนัยนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงเห็นว่า
๑. เอกราชของประเทศไทยภายหลังสงครามขึ้นอยู่กับการยอมรับข้อตกลงเพื่อความมั่นคง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในระบบระหว่างประเทศที่จะจัดให้มีขึ้น
๒. ดินแดนไทยตั้งแต่มลายูขึ้นมาจนถึงละติจูดเหนือที่ ๑๒ ดีกรี พึงถือเป็นเขตยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลเห็นว่า ควรอยู่ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่จะกำหนดให้อยู่ในอำนาจของประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศที่ได้รับมอบหมายให้ทำการป้องกัน ทั้งนี้อาจจะกระทบกระเทือนถึงสิทธิการปกครองของไทยในเขตนั้น
๓. ไม่จำเป็นต้องมีการปกครองโดยทหาร นอกจากในเขตที่มีการสู้รบ แต่อังกฤษเชื่อว่าจำต้องมีคณะกรรมาธิการควบคุมของสัมพันธมิตรทำการในประเทศไทยชั่วระยะหนึ่ง
๔. ในระหว่างนั้น อังกฤษจะยังไม่ติดต่อกับรัฐบาลใด ๆ ของประเทศไทย
ส่วนสหรัฐฯ ไม่ถือประเทศไทยเป็นศัตรู หากเป็นเพียงถูกศัตรูยึดครอง สหรัฐฯ เชื่อว่าจะเป็นการขัดต่อประโยชน์ของสหรัฐฯ ในตะวันออกไกล ถ้าหากสงครามที่สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการเอาชนะญี่ปุ่น จะมีผลแสดงออกมาในรูปที่ประเทศไทยต้องเสียดินแดนไปจากเมื่อก่อนเกิดสงครามหรือต้องเสื่อมเสียเอกราชลง สหรัฐฯ ไม่สามารถจะมีส่วนรับผิดชอบในการใช้ระบบจักรวรรดินิยมสมัยก่อนสงครามต่อประเทศไทยไม่ว่าในรูปใด ๆ ภายในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนรัฐบาลจากฝ่ายที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นมาเป็นรัฐบาลต่อต้านญี่ปุ่นที่ท่านปรีดีควบคุม การติดต่อของอเมริกากับท่านปรีดีทำให้ได้ข่าวของญี่ปุ่นมาก และท่านปรีดีได้แสดงเจตจำนงจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นเพื่อเข้าข้างสหประชาชาติ กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นว่า ควรมีการพยายามจูงใจให้อังกฤษปรับปรุงแผนดำเนินงานที่ยังไม่สอดคล้องกับของอเมริกาเสีย ถ้าประเทศไทยเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นแล้ว ควรถือประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการปลดปล่อย และควรยอมรับนับถือรัฐบาลไทยใหม่อย่างน้อยก็ชั่วคราว จริงอยู่ถ้าใช้กำลังทหารอเมริกาเข้าร่วมในการยึดครองเขตอาณานิคมของยุโรปคืน จะเป็นผลเสียทางการเมือง แต่ตรงกันข้าม ถ้ากำลังทหารอเมริกาภายในการบังคับบัญชาของอเมริกาเป็นผู้รับผิดชอบในการปลดปล่อยประเทศไทย แทนที่จะให้กำลังทหารอังกฤษเข้ายึดครองดินแดนไทยในฐานะเป็นศัตรู จะก่อให้เกิดผลดีในทางการเมืองอย่างแน่นอน
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ท่าทีของอังกฤษต่อประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 199-208.
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ท่าทีของอังกฤษต่อประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 199-208.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 1 : สงครามโลกครั้งแรก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 2 : สงครามโลกครั้งที่ ๒
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 3 : วิเทโศบายของไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 4 : การเรียกร้องดินแดนคืน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 5 : การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 6 : ประเทศไทยเข้าสงครามข้างญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 7 : ผลกระเทือนของการร่วมมือกับญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในญี่ปุ่น ภาค 1 การต่างประเทศไทย หลัง ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในประเทศญี่ปุ่น ภาค 2 ภารกิจหลังการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 9 : ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 10 : เสรีไทยเข้าประเทศไทย