๑. การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๗ ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ “RUE DU SOMMERARD” ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น ผู้ร่วมประชุมมี ๗ คน คือ (๑) ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ ๖ (๒) ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส (๓) ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุนเคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมการทหารม้าที่ ๕ นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส (๔) นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ (๕) หลวงสิริราชไมตรี นามเดิมจรูญ นามสกุลสิงหเสนี ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส เคยเป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และเป็นนายสิบตรีในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ (๖) นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ (๗) ข้าพเจ้า
ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป
การประชุมดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ ๕ วัน ซึ่งได้ตกลงสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ก. วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า “ปฏิวัติ” หรือ “อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายถอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ REVOLUTION ดังนั้นเราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก ๖ ประการ คือ (๑) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง (๒) รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก (๓) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก (๔) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (๕) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังกล่าวแล้ว (๖) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ข. โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้นเราจึงเห็นว่าวิธีเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี COUP D'ETAT ซึ่งเราเรียกกันด้วยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า “รัฐประหาร” เพื่อถ่ายทอดศัพท์ฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจเพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้วมหาอำนาจก็จะต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า FAIT ACCOMPLI คือพฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว
ค. ผู้ที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกเป็นกรรมการกลางของคณะราษฎรไปพลางก่อน กรรมการแต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสายที่จะต้องเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ตามระเบียบพิจารณาตัวบุคคลแล้วนำมาเสนอกรรมการกลางของคณะราษฎรซึ่งจะรับเช้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้ โดยมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น
ในชั้นแรกให้หัวหน้าสายหาสมาชิกเพิ่มเติมเพียงสายละ ๒ คนก่อน แล้วก็แยกเป็นหัวหน้าสายย่อยใหญ่น้อยแตกกิ่งก้านสาขาออกไป
ง. การเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎรเพิ่มเติมนั้น ต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง, ความกล้าหาญ, ความสามารถในการรักษาความลับ ดังนั้นจึงได้แบ่งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนระบบปกครองดังกล่าวออกเป็น ๓ ประเภท คือ
ดี ๑. ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎร ก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่าผู้ใดควรได้รับคำชักชวนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทำการยึดอำนาจมิให้ถือเพียงแต่ว่าบุคคลใดเป็นเพื่อนเที่ยวด้วยกัน กินด้วยกัน แล้วก็จะชวนเข้าเป็นสมาชิกในคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไป ก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาพูดเพียงแต่จะให้ผู้ฟังขบขับเป็นการตลกและอาจเอาเรื่องลับของคณะไปแย้มพรายเพื่อเป็นการตลก เพื่อนบางคนมีลักษณะดีหลายอย่างแต่เวลากินเหล้าเข้าไปแล้วกุมสติไว้ไม่อยู่แล้วพูดเลอะเทอะ ก็อาจพลั้งพลาดเอาเรื่องของคณะไปพูดในเวลาเมา จึงมิได้ชวนเข้าร่วมในคณะราษฎรก่อนลงมือยึดอำนาจ แต่เมื่อยึดอำนาจได้ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนแล้ว ไม่มีความลับที่จะปิดบังจึงชวนให้ร่วมมือได้
ดี ๒. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอำนาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้
ดี ๓. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอำนาจได้มีทีท่าแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าความไม่สำเร็จ
จ. นโยบายที่จะดำเนินภายหลังที่คณะราษฎรได้อำนาจรัฐแล้ว ที่ประชุมได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชี้แจง และเห็นชอบตามหลัก ๖ ประการ ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอรวมทั้งหลักการทั่วไปในเค้าโครงการเศรษฐกิจ และได้มอบให้ข้าพเจ้าเตรียมร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจในโอกาสต่อไป
ฉ. ที่ประชุมได้พิจารณาเผื่อไว้ว่าถ้าการกระทำของคณะราษฎร ต้องถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้ก็ให้มีเพื่อนหัวหน้าสายคนหนึ่งที่เรากันไว้มิให้แสดงออกนอกหน้าว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยไม่ต้องมาประชุมคณะกรรมการหัวหน้าสายบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฝรั่งเศส หรือเมื่อกลับสยามแล้วโดยบำเพ็ญตนประดุจเป็นคนอยู่ในบ้านอย่างสงบเงียบ ผู้นี้มีหน้าที่ดำเนินการของคณะราษฎรที่อาจถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้นั้น ต่อไปไห้สำเร็จพร้อมทั้งให้มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ถูกติดคุกหรือถึงแก่ความตาย ที่ประชุมเห็นพ้องกันมอบหน้าที่นี้ให้แก่นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์สินมากโดยได้รับมรดกจากบิดา
เมื่อเสร็จการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรแล้ว ข้าพเจ้ากลับสยามในเดือนมีนาคมปีนั้น แล้วเพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสเลือกเฟ้นผู้ที่สมควรชวนร่วมคณะราษฎรต่อไป อีกประมาณ ๒ - ๓ เดือน เพื่อนที่ยังอยู่ปารีสได้ชวนนายทวี บุณยเกตุ นักศึกษาวิชาเกษตร และนายบรรจง ศรีจรูญ ไทยมุสลิมจากอียิปต์ที่มาเยือนปารีสซึ่งรับภาระจัดตั้งไทยมุสลิมต่อไป อาทิ นายแช่ม มุสตาฟา (บุตรหัวหน้าศาสนาอิสลามในไทยที่รู้จักกันในนามว่า “ครูฟา” ต่อมานายแช่มเปลี่ยนนามสกุลว่า “พรหมยงค์” คล้ายๆ นามสกุลข้าพเจ้า) ต่อมาได้ชวน ร.ต. สินธุ์ กมลนาวิน ร.น. นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์กที่มาเยือนปารีส ต่อมาพระยาทรงสุรเดชได้มาดูงานในฝรั่งเศส เพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสจึงลองทาบทามว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อระบบสมบูรณาฯ ก็ได้ความว่าไม่พอใจระบบนั้น แต่ยังมิได้ถูกชวนเข้าร่วมในคณะราษฎร ต่อจากนั้นเพื่อนที่ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีสก็ทยอยกันกลับสยาม ค่อยๆ ชวนเพื่อนนักศึกษาที่เคยสังเกตไว้ในการสนทนากันเพียงเคร่าๆ มิได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในฝรั่งเศสเท่านั้น ฉะนั้นต่อมาในสยามจึงได้ชวน ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์, ม.ล. กรี เดชาติวงศ์, นายสพรั่ง เทพหัสดินทร ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์, นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ และเพื่อนทหารบก ทหารเรือ พลเรือนคนอื่นๆ ในสยาม ในปลาย พ.ศ. ๒๔๗๔ จึงได้ชวนพระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และมอบให้พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร
๒. การที่คณะราษฎรเรียกสมาชิกประเภท ดี 1 ว่า “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือโดยย่อว่า “ผู้ก่อการ” นั้น ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าบุคคลประเภทนี้เป็นเพียง “กองหน้า” (Vanguard) ของมวลราษฎรที่มีความต้องการเสรีภาพและความเสมอภาคยิ่งกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมาชิกประเภท ดี ๒ และ ดี ๓ เป็นกำลังหนุนตามลำดับ แต่พลังมหาศาลที่ช่วยให้คณะราษฎรทำการได้สำเร็จนั้น คือมวลราษฎรที่ให้ความสนับสนุนทั้งทางตรงและทางปริยาย
ผู้ถือทรรศนะตามพลังเก่าบางคนกล่าวว่าคณะราษฎรอ้างราษฎร โดยราษฎรไม่รู้เห็นด้วยนั้น ก็เนื่องจากผู้ที่กล่าวหาเช่นนั้น ได้กล่าวตามทรรศนะและจุดยืนหยัดในชนชั้นวรรณะของเขาที่เขามีประโยชน์หรือนิยมชมชอบอยู่
วิทยาศาสตร์ทางสังคมที่ก้าวหน้าได้จำแนกบุคคลในสังคมออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ (๑) พวกปฏิกิริยา (Reactionaries) ซึ่งต้องการเหนี่ยวรั้งระบบสังคมเก่าให้คงอยู่กับที่หรือให้ถอยหลังยิ่งขึ้นไปอีก (๒) บุคคลอื่นๆ นอกจากเป็นพวกปฏิกิริยาเป็น People ซึ่งเราแปลว่า “ราษฎร” พลเมืองสยามส่วนมากซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองสมัยนั้นเรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เช่น นายอำเภอเกณฑ์พลเมืองทำงานโยธาก็เรียกกันว่าเกณฑ์ราษฎร หรือราษฎรรำพึงกันถึงความทุกข์ยากก็พูดว่า “ราษฎรเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า” คือแสดงถึงลักษณะของพลเมืองส่วนที่ถูกปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ความต้องการของมวลราษฎรไทยที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มิใช่คณะราษฎรเป็นคณะแรกที่ต้องการเช่นนั้น ผู้สนใจในวิทยาศาสตร์สังคมอันแท้จริงย่อมได้ศึกษามาก่อนแล้ว ถึงปรัชญาทางสังคมว่าทรรศนะทางสังคมของมนุษย์ได้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรแล้ว นำมาประยุกต์กับข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ขึ้นในสยามตั้งแต่สมัยที่สยามจำต้องทำสนธิสัญญากับประเทศทุนนิยมต่างๆ ตั้งแต่กลางคริสศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา
ก. ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไว้บ้างแล้วในหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” สรุปโดยย่อคือ เมื่อเครื่องมือการผลิตชีวปัจจัยของมนุษย์สังคมได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป มนุษย์ซึ่งเป็นผู้ทำและใช้เครื่องมือการผลิตนั้นก็ต้องพัฒนาไปตามจึงจะเป็นพลังการผลิตที่ทำให้การผลิตชีวปัจจัยอุดมสมบูรณ์ขึ้น ครั้นแล้วความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในสังคมก็จะต้องเปลี่ยนไปตามจึงจะไม่เกิดวิกฤตกาลทางเศรษฐกิจ แล้วเมื่อระบบเศรษฐกิจอันเป็นรากฐานของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ระบบการเมืองของสังคมก็จำต้องเปลี่ยนไปตาม มิฉะนั้นก็เกิดความขัดแย้งกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานและก่อให้เกิดวิกฤตกาลทางเศรษฐกิจ ทรรศนะทางสังคมของมนุษย์ก็เกิดขึ้นเป็นหลักนำให้มนุษย์มีการเคลื่อนไหว เพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งอันจำเป็นแก่ระบบเศรษฐกิจที่พัฒนานใหม่ ในหนังสือของข้าพเจ้าเล่มที่อ้างนั้นได้กล่าวถึงกำเนิดแห่งทรรศนะทางสังคมที่พัฒนาจากระบบปฐมสหการมาเป็นระบบทาส จากระบบทาสมาเป็นระบบศักดินาหรือส่วย FEUDALISM และจากระบบนั้นในตอนปลายเมื่อเกิดระบบเศรษฐกิจทุนนิยมขึ้น ทรรศนะทางสังคม เพื่อระบบทุนนิยมก็เกิดขึ้นและก็จะมีทรรศนะอื่นๆ ที่ก้วหน้าเกิดขึ้นในระยะต่อๆ ไป
ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยย่อ ถึงกำเนิดของทรรศนะสังคมที่ต้องการเลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบบศักดินานั้นว่ามิได้เกิดขึ้นด้วยเข้าศักดินาในยุโรปแต่เกิดขึ้นจากรากฐานที่ในยุโรปตะวันตกเมื่อปลายคริสตวรรษที่ ๑๘ ได้มีผู้คิดเครื่องจักรกรที่ใช้กำลังไอน้ำอันเป็นการอภิวัฒน์ใหญ่แห่งเครื่องมือ การผลิตและก่อให้เกิดถึงที่เรียกกันว่า “การอภิวัฒน์ทางอุตสาหกรรม” INDUSTRIAL REVOLUTION ความจำเป็นจึงเกิดขึ้นที่จะต้องพัฒนามนุษย์ให้สามารถทำและใช้เครื่องมือการผลิตสมัยใหม่ดังกล่าวนั้น เพราะการที่จะใช้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่ชำนาญอยู่แต่การใช้สัตว์พาหนะเป็นกำลังลากจูงไถหรือใช้เครื่องมือหัตถกรรม ก็ไม่อาจที่จะทำและใช้เครื่องมือผลิตสมัยใหม่นั้นให้เกิดสมรรถภาพได้ ดังนั้นนายทุนสมัยใหม่ที่เป็นเจ้าของวิสาหกิจใช้เครื่องมือการผลิตสมัยใหม่นั้น จึงจำเป็นต้องใช้คนงานสมัยใหม่ที่มีความรู้ความสามารถกว่าคนงานตามระบบศักดินาเก่า และต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของวิสาหกิจกับคนงานมาเป็นความสัมพันธ์ชนิดใหม่ คือชนิดระหว่างระบบทุนสมัยใหม่ซึ่งให้คนงานเป็นลูกจ้างสมัยใหม่ที่มีเสรีภาพยิ่งขึ้นกว่า ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตามระบบศักดินาเก่าที่ถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่มีกำลังใจเพียงพอที่จะเอาใจใส่ต่อเครื่องมือสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้นพวกนายทุนสมัยใหม่นั้นเอง จึงต้องการเปลี่ยนระบบการเมืองศักดินาให้สอดคล้องกับระบบทุนสมัยใหม่ที่กำลังพัฒนา ฉะนั้นทรรศนะทางสังคมแห่งระบบทุนที่เกิดขึ้นใหม่จึงเกิดขึ้นที่ต้องการเปลี่ยนระบบการเมืองศักดินเพื่อให้ราษฎรมีเสรีภาพและมีสิทธิประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ความคิดและทรรศนะที่เรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปในปลายคริสศตวรรษที่ ๑๘ จึงแพร่หลายมาก ส่วนเจ้าศักดินาก็พยายามเหนี่ยวรั้งระบบที่ผ่านตนได้ประโยชน์มากที่สุดไว้ และพยายามเอาทรรศนะเก่าตามระบบศักดินาของตนมาโต้แย้งทรรศนะใหม่ที่ก้าวหน้า ความขัดแย้งระหว่างระบบเก่าและทรรศนะเก่าฝ่ายหนึ่งกับระบบใหม่และความคิดใหม่อีกฝ่ายหนึ่งจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
เมื่อระบบทุนสมัยใหม่ได้เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกแล้วก็ได้พัฒนาเป็นทุนใหญ่มหาศาล ยิ่งขึ้นเป็นบรมธนานุภาพหรือจักรวรรดินิยมที่ได้แผ่อำนาจมาในสยามและประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ สยามก็ได้ถูกบังกับให้จำต้องทำสนธิสัญญากับประเทศทุนนิยมต่างๆ อันเป็นผลให้สยามจำต้องรับเอาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้ามาคู่เคียงกับระบบเศรษฐกิจศักดินาสมัยเก่า ดังนั้นทรรศนะอันเกิดจากระบบทุนสมัยใหม่ในยุโรปจึงได้ตามเข้ามาในสยามด้วยซึ่งมีเสียงเรียกร้องภายในสยามเอง และจากผู้ที่เคยศึกษาในยุโรปอเมริกาที่มิใช่หัวดื้อหัวรั้นของระบบศักดินาที่ล้าหลังจนเกินไป ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น แต่เสียงเรียกร้องนั้นมีระดับต่างๆ กัน บางพวกขอเอาแต่น้อยๆ บางพวกก็ขอให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญครบถ้วนตามหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ สุดแท้แต่บุคคลใดจะจำกัดทรรศนะของตนเองเพียงใด
ข. กฎวิทยาศาสตร์แห่งบ่อเกิดจิตสำนึกของมนุษย์มีอยู่ว่า “ความเป็นอยู่เป็นสิ่งกำหนดจิตสำนึกของมนุษย์” ดังนั้นผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างเจ้าศักดินาหรือเจ้าส่วยย่อมมีจิตสำนึกที่จะรักษาระบบนั้นไว้ แต่ข้อยกเว้นมีได้ดั่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างนั้นว่า
“เมื่อกล่าวถึง “พลังตกค้าง” แห่งระบบเก่า เราจำต้องทำความเข้าใจว่าพลังตกค้างนั้นมิใช่บุคคลในวรรณะเก่าเสมอไป เพราะบุคคลในวรรณะเก่าบางคนเป็นผู้ก้าวหน้าที่มองเห็นกฎแห่งอนิจจัง ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของวรรณะโดยเฉพาะเป็นผู้ที่มีศีลสัตย์ ซึ่งสมควรได้รับความสรรเสริญ นักปราญช์ซึ่งเป็นต้นฉบับแห่งวิทยาศาสตร์ทางสังคมใหม่กล่าวไว้ตามรูปธรรมที่เห็นจริง ว่า
“ในที่สุด, ขณะที่การต่อสู้ของวรรณะจวนจะถึงคราวเด็ดขาด ความเสื่อมสลายกำลังคำเนินไปภายในวรรณะปกครอง ที่จริงนั้นคือภายในสังคมเก่าทั้งกระบวน การดั่งว่านั้นรุนแรงและเกรียวกราด จึงมีชนในวรรณะปกครองส่วนน้อยแผนกหนึ่งละทั้งวรรณะของตน, และเข้าร่วมในวรรณะอภิวัฒน์ซึ่งเป็นวรรณะที่กุมอนาคตไว้ในมือ ดั่งเช่นเดียวกับในสมัยก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งของวรรณะขุนนางได้ไปเข้ากับวรรณะเจ้าสมบัติ (นายทุนสมัยใหม่) ดังนั้น ในสมัยนี้ส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติก็ไปเข้าข้างวรรณะผู้ไร้สมบัติ โดยเฉพาะส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติผู้มีปัญญา ที่ได้พยุงตนขึ้นสู่ระดับ ที่เข้าใจทฤษฎีแห่งขบวนวิวรรตการทั้งปวง”
ในทางตรงกันข้ามกับบุคคลที่กล่าวในวรรคก่อน ความจริงก็ปรากฏว่ามีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจัง โดยถือว่าสภาวะเก่าเป็นของถาวร และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า แต่บำเพ็ญตนเป็นสมุนของพลังเก่ายิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า ทั้งนี้ก็เพราะพลังเก่าที่สลายไปนั้นได้สูญสิ้นไปเฉพาะรูปภายนอกของระบบการเมืองแต่บุคคลเก่ายังแฝงอยู่ในกลไกอำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงมีทรรศนะทางสังคมตามระบบเก่าที่ล้าหลัง สิ่งตกค้างของระบบเก่าชนิดนี้มีทรรศนะที่ผิดจากกฎธรรมชาติยิ่งกว่าบุคคลก้าวหน้าแห่งวรรณะเก่าเอง ฉะนั้นจึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่าพวกถอยหลังเข้าคลองที่จำต้องเป็นไปตามสภาวะของเขา แต่อย่างไรก็ตาม
“การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นไปเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังต้องประจักษ์ขึ้น”
จากกฎดั่งกล่าวข้างบนนั้น เราก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลใดมีลักษณะเป็นพลังใหม่นั้นมิใช่ถือแต่เพียงว่าเป็นผู้ที่เกิดและมีชีวิตร่างกายอยู่ในกาลสมัยใหม่ แต่ต้องดูถึงลักษณะที่เขาใช้เป็นหลักนำชีวิตเขานั้น เป็นทรรศนะใหม่ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานของสังคมหรือเขาถือตามทรรศนะที่เกิดจากระบบเก่า ซึ่งเข้าลักษณะที่มีคำพังเพยว่า “เหล้าเก่าในขวดใหม่” นั้นเอง
ค. ถ้านำหลักดังกล่าวนั้นมาประยุกต์กับการค้นหาว่าทรรศนะใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ในสยามเริ่มจากบุคคลใดนั้นก็จะปรากฏว่าฝ่ายที่อยู่ในพลังเก่าที่ตกค้าง ย่อมมองเห็นแต่ว่าเกิดจากบุคคลในพลังเก่า ส่วนผู้ที่เป็นพลังใหม่เฉพาะที่ทำตนว่าเป็นคนใหม่ที่สุดก็มองแต่คนในพลังใหม่เท่านั้น แต่ผู้ที่บำเพ็ญตนตามคติของปราชญ์ที่อ้างข้างบนนั้นคือผู้ที่ “พยุงตนขึ้นสู่ระดับที่เข้าใจทฤษฎีแห่งวิวรรตการทั้งปวง” ก็ไม่จำกัดความคิดของตนเองมองแต่บุคคลในพลังเก่าหรือไม่โดยข้างเดียว คือย่อมมองทุกด้านจึงจะประสบสัจจะ
(๑) ภายในพลังเก่าแห่งสยาม เคยมีบุคคลส่วนหนึ่งที่ก้าวหน้ากว่าผู้ที่เกาะแน่นอยู่ในความคิดเก่า คือปรากฏว่าเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้วได้มีพระเจ้าน้องยาเธอ ๓ พระองค์ คือกรมหมื่นนเรศร์, พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (ต่อมาเป็นกรมขุนพิทยลาภ), พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ต่อมาเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ) และข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน อาทิหลวงวิเศษสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร ต่อมาเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา ผู้รักษากรุงเก่า), สับเลฟท์เทอแนนท์ สอาด (สกุล “สิงหเสนี” ต่อมาเป็นนายพลตรีพระยาประสิทธิศัลยการ อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน แล้วได้เป็นพระยาสิงหเสนี สมุนเทศาภิบาล มณฑลนครราชสีมา) ฯลฯ ได้เคยทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ขอให้ทรงปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ท่านเหล่านี้มีลักษณะก้าวหน้าแต่ท่านมีทรรศนะไม่ไกลถึงขนาดขอให้สยามมีระบบรัฐสภาที่ราษฎรมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทน และถึงขนาดที่เสนาบดีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็นับว่าท่านเหล่านั้นมีความกล้าหาญมากในการกราบบังคมทูล ปัญญาชนรุ่นปัจจุบันที่เป็นพลังใหม่แท้จริงไม่ควรสะดุดอยู่เพียงแต่เห็นว่าเคยมีพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวแล้วได้มีความคิดก้าวหน้าเท่านั้น ขอให้คิดตามค้นคว้าต่อไปให้สิ้นกระแสความว่าพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงตอบคำกราบบังคมทูลนั้นว่ากระไร และได้มีพระราชดำรัสในโอกาสเฉลิมพระชนม์พรรษาว่ากระไรในเรื่องการปกครองโดยระบบรัฐสภา และมีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชธิดาองค์หนึ่งในหนังสือไกลบ้านตอนที่เสด็จนอร์เวย์ว่ากระไร ซึ่งข้าพเจ้าได้เชิญพระราชหัตถเลขามากล่าวไว้ในคำอธิบายกฎหมายปกครองที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
ผู้สนใจในประวัติศาสตร์แห่งความคิดประชาธิปไตยของคนไทยควรค้นคว้าต่อไปว่า ท่านที่ได้กราบบังคมทูลพระพุทธเจ้าหลวงกังกล่าวนั้น เมื่อท่านกลับสยามแล้ว ท่านเองได้มีการปฏิบัติหรือมีการแสดงความเห็นประชาธิปไทยไว้ในที่ใดเมื่อใดบ้าง ข้าพเจ้าเคยเป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมในสมัยที่สมเด็จกระเพระสวัสดิ์ฯ เป็นอธิบดีศาลฎีกา จึงมีโอกาสศึกษาคำ พิพากษาฎีกาทีพระองค์ทรงวางบรรทัดฐานไว้ แสดงให้เห็นถึงทรรศนะประชาธิปไตยในทางศาล อาทิ คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๖/๒๔๕๕ มีความตอนหนึ่งว่า
“.... ในคดีที่เป็นอุกฤษฎโทษถึงตาย ถ้าการพิจารณายังมิกระจ่างจะฟังเอาพิรุธนายถมยา ลงโทษถึงตายนี้ยังหมื่นเหม่ยังมิบังควรและธรรมภาษิต ว่าไว้ว่า คดีเมื่อมีเหตุเคลือบแคลงสงสัย แม้จะปล่อยผู้ผิดเสียสัก ๑๐ คน ก็ยังจะดีกว่าลงโทษคนที่หาผิดมิได้คนหนึ่งดังนี้”
บรรทัดฐานประชาธิปไตยทางศาลที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นั้น ตุลาการในสมัยนั้นและสมัยต่อมาก็ได้ปฏิบัติตามอยู่อีกหลายปี จนกระทั่งซากเก่าแห่งความยุติธรรมตามระบบศักดินาโบราณได้ฟื้นขึ้นมาอีก จึงมีตุลาการบางคนที่ถือซากทรรศนะเก่าได้ละทั้งธรรมภาษิตที่เป็นรากฐานแห่งทรรศนะประชาธิปไตยในทางศาลดังกล่าวแล้ว
นักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมสมัยนั้น จำต้องศึกษาพระราชบัญญัติใหญ่น้อย ดังนั้นคนรุ่นนั้นจึงยังพอจำกันได้ถึงพระราชบัญญติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๐ ประวัติของเรื่องมีอยู่ว่ากระทรวงธรรมการสมัยนั้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๖ เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อกวดขันโรงเรียนราษฎร์ที่สมัยก่อนเอกชนตั้งขึ้นได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตรัฐบาล กระทรวงธรรมการต้องการให้การตังโรงเรียนราษฎร์ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลก่อนอีกทั้งมีข้อบังคับควบคุมโรงเรียนราษฎร์อย่างกวดขัน รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงส่งร่างพระราชบัญญัติของกระทรวงธรรมการมาให้คณะกรรมการร่างกฎหมายซึ่งสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ขณะนั้นเป็นกรมหลวงทรงเป็นสภานายก ท่านผู้นี้ได้ตรวจร่างแล้ว ทรงร่างขึ้นใหม่ด้วยพระองค์เองตามทรรศนะประชาธิปไทยของพระองค์ที่ต้องการให้บุคคลมีเสรีภาพในการให้การศึกษาและให้พลเมืองได้มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย เหตุฉะนั้นพระองค์จึงได้ร่างบทบัญญัติไว้ตอนหนึ่งมีใจความว่า ถ้าผู้ขอตั้งโรงเรียนราษฎร์ได้ยื่นคำขอต่อกระทรวงธรรมการแล้ว กระทรวงนี้ไม่ตอบอนุญาตภายในกำหนดเวลาที่กล่าวไว้ก็ให้ถือว่าเป็นการให้อนุญาตแล้ว รัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นชอบด้วยจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ โรงเรียนราษฎร์ ฉบับดังกล่าวแล้วซึ่งทำให้กระทรวงธรรมการ ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งและพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ในขณะยังทรงรับราชการอยู่นั้นมีทรรศนะประชาธิปไตยอยู่บ้างดังกล่าวมานั้น
(๒) ผู้ที่เป็นพลังใหม่แท้จริง จะต้องไม่ดูหมิ่นคนธรรมดาสามัญว่าไม่มีความคิดที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ
เมื่อครั้งข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้นสมัย ๖๐ ปีกว่ามาแล้ว เคยได้ยินและได้อ่านและได้พบคนธรรมดาสามัญที่มีอายุชราแล้ว ๒ คนคือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ออกนิตยสาร “สยามประเภท” ที่แคะได้ระบบปกครองสมบูรณาฯ จนมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบก็ไม่เห็นว่าท่านฟุ้งซ่าน อีกคนหนึ่งคือ “เทียนวรรณ” ซึ่งมีฉายาว่า “วรรณาโภ” ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้วประมาณว่าขณะนั้นมีอายุเกือบ ๗๐ ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์ ท่านผู้นี้เคยติดคุกเพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งระบบสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะมีคำพังเพยโบราณ ว่า “กฎหมาย สู้กฎหมู่ไม่ได้” ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ แต่ท่านเทียนวรรณที่ถูกติดกคุกได้กล่าววลีเติมอีกรวมเป็นดังนี้ “กฎหมาย สู้กฎหมู่ไม่ได้ กฎหมู่ก็ยังสู้กดคอไม่ได้กดคอก็ยังสู้เจ้าหักคอไม่ได้” นี่ก็แสดงถึงทรรศนะที่ท่านเทียนวรรณมีต่อระบบสมบูรณาฯ ชนรุ่นใหม่หลายคนในยามสมัยนั้นที่ได้อ่าน และสนทนากับท่านเทียนวรรณยังพอจำกันได้ถึงวลีของท่านดังกล่าวนี้ แต่ท่านเป็นคนธรรมดาสามัญจึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ถือทรรศนะตามพลังเก่าและดูเหมือนคนพลังเก่าท่าไม่ยอมกล่าวถึง ก.ศ.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นหนุ่มเมื่อ ๑๐๐ ปีกว่ามาแล้วได้แสดงการเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ
(๓) ชนรุ่นเรียนหนังสือไทยจากหนังสือ “มูลบทบรรพกิจ” ก่อนสมัยมี “แบบเรียนเร็ว” นั้นก็ดี สมัยมีแบบเรียนเร็วแล้วแต่ได้ยินชนรุ่นก่อนๆ กล่าวถึงก็ดี ย่อมจำหรือระลึกได้ว่าเริมอ่านตั้งแต่ แม่ ก กา ก็ได้รับคำสอนแสดงถึงความเสื่อมโทรมในระบบสมบูรณาฯ ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์บทอ่านไว้โดยสมมติถึงความเสื่อมในอาณาจักร “สาวัตถี” มีความเท่าที่ข้าพเจ้าพอจำได้บ้างดังนี้
“สาธุสะจะขอไหว้พระศรีไตรสะระณา พ่อแม่แลครูบาเทวดาในราษี…………………………………...อยู่มาหมู่ข้าเฝ้าก็หาเยาวนารี ที่หน้าตาดีๆ ทำมโหรีที่เคหา ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอ ล่อกามา..........หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ.........ถือน้ำร่ำเข้าไป แต่น้ำใจไม่นำพา หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าในอุรา...............”
ในแม่กมนั้น มีความที่มีผู้ฟื้นเอามากล่าวกันมากในรัชกาลที่ ๖ เจ้านายบางองค์ที่ปารีสเคยเตือนให้ข้าพเจ้าระลึกความตอนหนึ่งของแม่กมที่มีว่า
“ขึ้นกรมสมเด็จจอมอารย์ ผู้ผ่านภาราสาวัตถี เชื่อกลหลงเล่ห์เสนีย์ กลอกกลับอัปรีย์ บุรีจึงล่มไป.................”
ฉะนั้น ย่อมเห็นได้ว่าชนรุ่นที่เรียนหนังสือไทยจากมูลบทบรรพกิจหรือคนรุ่นต่อมา ที่ได้ยินชนรุ่นเก่าท่องให้ฟังแล้วก็เกิดสำนึกกันทั่วไปถึงความเสื่อมในระบบสมบูรณาฯ หรือระบบศักดินาที่ล้าหลัง ข้าพเจ้าขอน้อมสักการะพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงมีพระทัยก้าวหน้ากว่าผู้ล้าหลังมาก คือแม้หนังสือมูลบทบรรพกิจจะแต่งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แต่พระองค์ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียน ใช้เป็นตำราเรียน ได้เพื่อจะได้เกิดจิตสำนึกช่วย พระองค์กำจัดข้าราชการที่ทุจริตและหน้าไว้หลังหลอกเอาความเท็จมากราบบังคมทูลและผู้ที่ทำตนเป็นคนนิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี
(๔) ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารใหญ่น้อยมากมาย ได้มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในสยามหลายฉบับที่แสดงทรรศนะกล้าหาญ หนังสือพิมพ์เหล่านี้คงหาอ่านยากในบัจจุบันนี้แต่ถ้าผู้สนใจค้นอย่างเอาจริงเอาจังก็อาจหาได้บ้าง ทรรศนะที่แสดงออกในสยามนี้ช่วยให้ชาวสยามบางส่วนตื่นตัวขึ้นที่ละน้อยๆ จนถึงมีผู้คิดใช้กำลังยืดอำนาจรัฐที่มีฉายาว่า “คณะ ร.ศ. ๑๓๐”
ต่อจากนั้นมาก็มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับแม้ภายได้ระบบสมบูรณาฯ ได้กล้าหาญเสี่ยงแก่คุกตะรางเขียนข้อความเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ บางฉบับถูกปิด บรรณาธิการหลายคนถูกจำคุก แต่ก็มีผู้ออกหนังสือพิมพ์และนิตยสารปลีกย่อยมากมาย
(๕) เมื่อข้าพเจ้ากลับประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ภายหลังที่ไปอยู่ในฝรั่งเศสเกือบ ๗ ปีนั้นแล้ว ปรากฏว่าชนรุ่นหนุ่มสมัยนั้นชนิดที่ไม่เคยไปเห็นระบบประชาธิปไตยในต่างประเทศแต่ก็มีความคืนตัวที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณา ทั้งนี้ก็แสดงถึงว่าผู้ที่มิได้มีความเป็นอยู่อย่างระบบศักดินาเกิดจิตสำนึกที่เขาประสบแก่ตนเองถึงความไม่เหมาะสมของระบบนั้นและอิทธิพลที่เขาได้รับจากสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้นที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะเหตุนั้นพวกข้าพเจ้าจำนวนน้อยที่กลับมาจากยุโรปจึงไม่มีความลำบากมากนักในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรเพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการนั้นอยู่แล้ว การที่ชวนเป็นสมาชิกประเภทดี ๑ เพียง ๑๐๐ คนเศษ ก็จำนวนนั้นเป็นการเพียงพอที่จะลงมือทำการเป็นกองหน้าของราษฎรและเพื่อรักษาความลับในวงจำกัด แต่เมื่อเราได้ยึดอำนาจรัฐในวันที่ ๒๔ มิถุนาฯ ได้แล้ว ก็ได้รับความสนับสนุนจากราษฎรจำนวนมหาศาลทั้งที่มาแสดงความยืนก็ด้วยตนเองที่พระที่นังอนันตสมาคมซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการคณะราษฎรและทางจดหมายกับโทรเลข ประจักษ์พยานยังมีอยู่อีกคือคณะได้มอบให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นผู้รับสมัครผู้ที่ขอเข้าร่วมในคณะราษฎรที่สวนสราญรมย์ มีผู้ต้องการสมัครมากมายจนถึงกับเรามีใบสมัครเตรียมไว้ไม่พอแจก จึงแย่งกันที่จะได้ใบสมัคร
ดังนั้น เราจึงถือว่าเราเป็น “คณะราษฎร” เพราะเราทำตรงกับความต้องการของราษฎร “People” ไม่ใช่ตามความประสงค์ของ “Reactionaries”
ง. นับตั้งแต่มีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญปรากฏในเอกสารต่างๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้นจนถึง พ.ศ. ๒๕๗๕ ก็เป็นเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี จึงเป็นธรรมดาที่กฎแห่งวิทยาศาสตร์สังคมซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” จะต้องประจักษ์ขึ้น ข้าพเจ้าขอคัดความตอนนั้นมากล่าวไว้ดังต่อไปนี้
“ตามกฎธรรมชาตินั้น ภายาพยพ (ระบบการเมือง) ต้องสมานกับสสาร (ระบบเศรษฐกิจ) ดังนั้น ถ้ากายาพยพของสังคมเปลี่ยนล่าช้ากว่าความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมจนเนิ่นนานเกินสมควรแล้ว ธรรมชาติก็บังคับให้กายาพยพจำต้องสมานกับสสารจนได้ คือเมื่อไม่เป็นไปตามวิถีวิวัฒน์ก็ต้องเป็นไปตามวิถีอภิวัฒน์ เช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ต้องเป็นไปเช่นนั้นเพราะกายาพยพของสังคมเปลี่ยนแปลงล่าช้าเกินสมควรกว่าการเปลี่ยนแปลงทางชีวปัจจัยของสังคม การเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ของฝรั่งเศสในปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งต้องเป็นไปโดยวิถีอภิวัฒน์ก็เพราะกายาพยพของศักดินาไม่ยอมเปลี่ยนโดยวิถีวิวัฒน์ให้สมานกับสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยที่ก้าวหน้าไปมาก”
๓. มีผู้เข้าใจผิดว่าผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสไม่พอใจอัครราชทูตสยามสมัยนั้น ที่จ่ายเงินเดือนให้ไม่พอใช้จึงคิดเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น ความเข้าใจผิดนี้แพร่หลายยิ่งขึ้น ภายหลังที่นายควง อภัยวงศ์ ที่เคยเป็นสมาชิกคณะราษฎร เมื่อก่อนวันอภิวัฒน์เพียงประมาณ ๓ เดือน จึงไม่รู้เรื่องความจริงที่ผู้ก่อตั้งคณะราษฎรได้ริเริ่มมาอย่างไร และมีทรรศนะทางสังคมเกิดขึ้นอย่างใดก่อนนั้น ได้ไปพูดที่คุรุสภา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ เพื่อปลีกตัวออกจากความรับผิดชอบของคณะราษฎรโดยกล่าวข้อความคลาดเคลื่อนหลายประการ เพื่อแสดงว่าตนเป็นคนที่มีเงินใช้ส่วนตัวมากมาย เพื่อให้เห็นว่าตนอยู่ในชนชั้นวรรณะ ของเจ้าศักดินาและเจ้าสมบัติซึ่งต่างกับนักศึกษาส่วนอื่นๆ ที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมสมัยนั้นโดยเจาะจงมายังข้าพเจ้ากับ ร.ท. แปลกฯ ที่ได้เงินเดือนไม่พอใช้ แฟ้มเรื่องการจ่ายเงินเดือนว่าใครได้เท่าใดแม้จะเป็นลูกของคนเศรษฐี ที่อัครราชทูตสยามกวดขันเหมือนกันนั้นยังคงมีอยู่ที่สถานทูตไทย ณ กรุงปารีสซึ่งข้าพเจ้าจะได้ชี้แจงในโอกาสอันควรต่อไป
ณ ที่นี้ ขอกล่าวว่าข้าพเจ้ากับเพื่อนอีก ๖ คนที่ก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๗ นั้น ได้มีจิตสำนึกที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มาก่อนแล้วตามกฎและข้อเท็จจริงแห่งการกำเนิดของทรรศนะทางสังคมที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ดังกล่าวใน ข้อ ๒ แต่พ้นจากระดับนี้ไปแล้วยังมีความต้องการพัฒนาสังคมตามวิถีทางและขั้นแห่งการพัฒนาต่างกันไปตามระดับจิตสำนึกของแต่ละคนได้ ซึ่งเป็นเหตุให้มีความขัดแย้งระหว่างกันภายหลังได้อำนาจรัฐแล้ว
โดยเฉพาะการตัดสินใจที่จะทำการกันอย่างเอาจริงเอาจัง ในการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ นั้น ในสยามก็มีคนรุ่นหนุ่มจำนวนหนึ่งได้ตกลงกันไว้แล้วร่วมสมทบเข้าอยู่ในคณะราษฎรภายหลังที่ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสได้กลับสยามแล้ว ส่วนข้าพเจ้ากับเพื่อนที่อยู่ในกรุงปารีสนั้นได้มีการทาบทามกันมาก่อนหลายปีแล้ว ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ปลายรัชสมัย รัชกาลที่ ๖ ซึ่งราษฎรสมัยนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งเจ้านายบางองค์ที่ทรงถือสัจจะตาม พุทธวจนะ “สังจังเว อมตา วาจา” คงเล่าให้ฟังว่าเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ในสยามมีมากถึงขนาดไหน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ที่เคยเป็ผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และมหาดเล็กเคยรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ ๖ นั้น เมื่อมาถึงปารีสใน ค.ศ. ๑๙๒๕ และได้พบข้าพเจ้าก็ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเสื่อมโทรมของระบบสมบูรณาฯ และเสียงเรียกร้องของราษฎรในสยามที่ต้องการให้เปลี่ยนระบบนั้น ฉะนั้นใน ค.ศ. ๑๙๒๕ นั้นเอง ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับ ร.ท. ประยูรฯ หลายครั้งแล้ว จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin ปรารภกันว่าได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มามากมายหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดใจเอาจริง ฉะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปากคือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มากแล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรกขึ้น ต่อมาจึงชวน ร.ท. แปลก ร.ท. ทัศนัย ซึ่งย้ายจากบ้านพักเดิมไปอยู่ถิ่นเดียวกับข้าพเจ้าที่ “Quartier-Latin” จึงได้สนทนากันแทบทุกวันแล้วก็ได้ชวนเพื่อนอื่นๆ ให้ร่วมด้วย
เราได้วางแผนปลุกจิตสำนึกเพื่อนนักศึกษาทั่วไปให้เกิดความรู้สึกถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ว่าโอกาสที่เหมาะที่สุดคือในระหว่างมีการชุมนุมประจำปี ค.ศ. ๑๙๒๕ ของสมาคมที่ข้าพเจ้าเป็นสภานายกอยู่นั้นจะได้จัดให้เพื่อนไทยอยู่ร่วมกัน ณ คฤหาสน์ใหญ่ที่ตำบล “Chatrettes” ซึ่งสมาคมเช่าไว้เฉพาะการนั้นมีกำหนด ๑๕ วัน เราได้จัดให้มีกีฬาแทบทุกชนิด รวมทั้งการยิงเป้าเพื่อเป็นพื้นฐานแห่งการฝึกทางอาวุธ ในเวลาค่ำก็มีการแสดงปาฐกถาในเหตุการณ์ระหว่างประเทศและเหตุการณ์ภายในประเทศและมีการโต้วาทีในหัวข้อที่เป็นคติ มีการแสดงละครที่เป็นคติเช่นเรื่อง “โลเลบุรี” ของพระมงกุฎเกล้าฯ ที่แสดงถึงความแหลกเหลวแห่งการศาลและอัยการของบุรีที่พระองค์สมมติว่า “โลเล” มีการดนตรีและขับร้องบ้าง แต่ไม่มีการเต้นร้ายัวยวนกามารมณ์ การชุมนุมในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๒๕ ได้ดำเนินไปอย่างได้ผล ถึงความสนิทสนมกลมเกลียวของเพื่อนนักศึกษาไทยที่ร่วมประชุมถึงขีดที่เมื่อครบกำหนด ๑๕ วันแล้วหลายคนก็ได้แสดงถึงความอาลัยที่ต่างคนจะต้องแยกย้ายจากกันไป ครั้นแล้วข้าพเจ้ากับเพื่อนที่ริเริมซึ่งออกนามมาแล้ว จึงได้ปรึกษาตกลงกันว่าในการประชุมประจำปีต่อไปคือในเดือนกรกฎาคม ๑๙๒๖ สมควรที่จะพัฒนาจิตสำนึกของเพื่อนนักศึกษาให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่งถึงขั้นต่อสู้อักรราชทูต ซึ่งเป็นตัวแทนของระบบสมบูรณาฯ ในต่างประเทศ แต่จะต่อสู้โดยวิธีที่ธรรมเนียมประเพณีอนุญาตไว้คือการทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระปกเกล้าฯ ซึ่งเพิ่งทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากรัชกาลที่ ๖ ในการนั้นก็จะต้องถือเอาความไม่พอใจที่นักศึกษาส่วนมากมีอยู่เป็นพื้นฐาน เนื่องจากอัครราชทูตจ่ายเงินกระเป๋าให้น้อยเกินไปทั้งๆ ที่แต่ละคนมีงบประมาณที่ทางรัฐบาลหรือทางบ้านได้มอบไว้ที่อัครราชทูตอย่างเพียงพอ เราถือเอาเศรษฐกิจเป็นรากฐานที่จะพัฒนาจิตสำนึกให้เป็นทางการเมืองตามกฎวิทยาศาสตร์สังคมแห่งการพัฒนาจิตสำนึก
พระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้วว่า ข้าพเจ้าต้องรับผิดในการที่จะแผลงสมาคมนักศึกษาให้มีสภาพเป็นสหภาพอาชีพ “Syndicate” ซึ่งในฝรั่งเศสสมัยนั้นขบวนการกรรมกรก่อนลัทธิ “Syndicalism” กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ข้าพเจ้าจึงขอเชิญพระบรมราชวินิจฉัยตามที่ปรากฏในโทรเลขของพระองค์เจ้าไตรทศ (กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย) เสนาบดีต่างประเทศ ถึงอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส พร้อมทั้งเรื่องที่ทรงพระกรุณาให้ข้าพเจ้าได้ศึกษาต่อไปจนจบปริญญาเอกมาพิมพ์ไว้พร้อมด้วยคำแปลดังต่อไปนี้
คำแปล
สำเนาที่ ๑๔๐๘๐ (รับวันที่ ๒๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๖)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณเอกสารทั้งหมดที่ได้กราบบังคมทูลเกี่ยวกับการพิพาทของพระองค์เจ้าจำรูญฯ กับ เอส. ไอ. เอ. เอม. (ชื่อย่อของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสในประเทศอื่นส่วนที่ขึ้นกับสถานทูตสยามกรุงปารีส) และฎีกาของนักเรียนแล้ว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าสมาคมนักเรียนได้เบี่ยงออกจากวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งสมาคมนั้น วัตถุประสงค์ของสมาคมจะต้องเป็นทางสังคมครบถ้วนระหว่างนักศึกษาภายให้ความดูแลของสถานทูตปารีส ดูประหนึ่งว่าบัดนี้สมาคมได้กลายเป็นสหภาพชนิดหนึ่งของนักศึกษาซึ่งนักศึกษาชุมนุมกันเพื่ออภิปรายกิจกรรมของอัครราชทูตและเพื่อมีมติและดำเนินกิจการตรงกันข้ามกับความประสงค์ ของอัครราชทูต นักศึกษาได้อภิปรายและประณามวิธีการที่อัครราชทูตได้จ่ายเงินเดือนให้แก่พวกเขา พวกเขายังได้ส่งผู้แทนไปประเทศอังกฤษโดยรู้อยู่แล้วว่าขัดต่อความประสงค์ของอัครราชทูต พวกเขาได้แสดงตลอดมาเป็นปฏิปักษ์ต่ออัครราชทูต และกิจกรรมของสภานายกสมาคมถึงขั้นขาดคารวะสถานการณ์เช่นนี้ไม่อาจที่จะผ่อนปรนได้ เพราะถ้านักศึกษาได้อนุญาตให้ประกอบตัวเองเป็นสหภาพปฏิปักษ์ต่ออัครราชทูตโดยวิธีนี้แล้ว ก็ไม่มีอัครราชทูตใดสามารถรับผิดชอบในการดูแลสวัสดิการของนักศึกษาในอนาคตได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการว่า เอส. ไอ. เอ. เอม. ตามรูปแบบบปัจจุบันนี้ต้องยุบเลิก ถ้ายังมีความปรารถนาประกอบเป็นสมาคมชนิดที่ช่วยให้นักศึกษามีการติดต่อระหว่างกันก็จะต้องทำข้อบังคับขึ้นใหม่โดยนักศึกษาจะได้รับอนุญาตให้มีเสรีภาพในการจัดการทางสังคม และนอกจากนั้นจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสถานทูตอย่างเคร่งครัด ยิ่งกว่านั้นนักศึกษารุ่นเด็กชั้นเตรียมและประถมนั้นจะต้องไม่เป็นสมาชิกสมบูรณ์ไม่มีสิทธิออกเสียง แต่พวกเขาอาจเข้าร่วมในค่ายวันหยุดภายใต้การดูแลเป็นพิเศษของคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งอัครราชทูตเป็นผู้เลือก พวกเขาจะต้องอยู่ห่างจากนักศึกษารุ่นใหญ่ให้มากที่สุดในขณะที่เข้าร่วมการกีฬาและการบันเทิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่านายปรีดี พนมยงค์ ต้องรับผิดชอบอย่างสำคัญในการที่สมาคมเบี่ยงรากความประสงค์เดิม และในการยุยงนักศึกษาให้เกิดความรู้สึกละเมิดวินัยและไม่ไว้ใจอัครราชทูต ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระกระแสรับสั่งให้เรียกนายปรีดี พนมยงค์ กลับทันที
ส่วนตอน ๒ แห่งฎีกาของนักศึกษาร้องขอให้จ่ายเงินเดือนเป็นเงินปอนด์แทนการจ่ายเป็นแฟรงค์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์พิจารณาเรื่องนี้เมื่อได้รับคำอธิบายจากอัครราชทูตแล้วถ้า (อัครราชทูต) ยังมิได้ทำขึ้นมา สำเนาฎีกาฉบับหนึ่งก็จะส่งไปให้พระองค์เจ้าจรูญฯ และพระองค์เจ้าจรูญฯ จะต้องกราบบังคมทูลชี้แจงมาเกี่ยวกับฎีกาดังกล่าวนั้นเรื่องการจ่ายเงินเดือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยสุดซึ่งที่ทรงทราบว่า ได้เกิดความรู้สึกไม่อยู่ในวินัยของนักศึกษาจึงมีพระราชประสงค์เตือนให้เขารู้สึกถึงความรู้สึกในหน้าที่
ไตรทศ
คำแปล
สำเนาโทรเลขจากเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ถึงอัครราชทูตสยามที่ปารีส โทรเลขส่งจากกรุงเทพฯ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๖ ได้รับที่ปารีสในวันรุ่งขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องเรียก นายปรีดี พนมยงค์ กลับตามจดหมายของข้าพเจ้าเลขที่ ๑๗๘ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม นั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าได้รับพระราชกระแสให้แจ้งแก่ปรีดี ตามความดังต่อไปนี้ ตั้งต้น
“เกี่ยวกับเรื่องเรียกตัวเธอกลับนั้น บัดนี้บิดาเธอได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเวลาไปจนกว่าเธอสอบไล่ปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายที่จะเป็นไปในไม่ช้านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ด้วยพระเมตตาอย่างยิ่ง พระราชทานให้ตามฎีกานั้นโดยเงื่อนไขว่าอย่างไรก็ตามเธอจะต้องเชียนคำขอขมาเป็นลายลักษณ์อักษรต่ออัคราชทูตสยามกรุงปารีสและแสดงความเสียใจต่อท่าทีของเธอเกี่ยวกับกรณีทีของเธอเกี่ยวกับกรณีที่น่าเสียใจเมื่อเร็วๆ นี้” จบ
ขอให้รับทราบข้อความที่ได้แจ้งมาข้างบนนี้และปฏิบัติการให้เป็นไปตามนั้น.
ไตรทศ
๔. ท่านที่ศึกษามาก่อนแล้วถึงกฎธรรมชาติว่าด้วยความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในสสารซึ่งมีด้านบวกและด้านลบคือสิ่งใหม่กับสิ่งเก่าโต้กันกันอยู่และเมื่อนำกฎธรรมชาตินั้นมาประยุกต์แก่สังคมของมนุษย์ก็ย่อมทราบได้ว่าภายในสังคมของมนุษย์มีพลังใหม่ซึ่งเป็นด้านบวกและมีพลังเก่าซึ่งเป็นด้านลบที่ปะทะกันอยู่ ดังนั้นคณะราษฎรที่ทำการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนาฯ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมมีด้านลบหรือมีฝ่ายปฏิกิริยา (Reactionaries) ชนิดต่างๆ ที่ทำการโต้ บุคคลที่ทำการโต้อภิวัฒน์จำแนกออกได้เป็นหลายประเภท อาทิ
(๑) ผู้ที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนระบบดังกล่าวนั้น บางคนที่ไม่อาจปลงตกถึงกฎแห่งความเป็นอนิจจังได้พยายามฟื้นฟูระบบเก่าในรูปลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปตามกฎว่าด้วยข้อขัดแย้ง ยกเว้นผู้ที่ปลงตกกฎแห่งความเป็นอนิจจังซึ่งข้าพเจ้าขอสักการะพระปกเกล้าฯ ที่ทรงเสียพระราชอำนาจยิ่งกว่าผู้อื่นและเจ้านายแห่งราชจักรีวงศ์หลายพระองค์ที่เจริญรอยตามพระยุคลบาทที่ได้พระราชทานอภัยแก่คณะราษฎร
(๒) ผู้ที่มิได้เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าวแต่เอาร่างกายของตนสวมวิญญาณตามทรรศนะของพลังเก่าดั่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวในข้อ ๒ ข. แล้วนั้น แม้บุคคลชนิดนี้เกิดและมีชีวิตร่างกายผู้ในกาลสมัยใหม่ก็มิได้มีลักษณะเป็นชนรุ่นใหม่ คือเขาเป็นชนรุ่นใหม่แต่ทางกายส่วนวิญญาณ และทรรศนะที่เป็นหลักนำให้เขาดำเนินชีวิตนั้นเป็นทรรศนะของพลังเก่าบุคคลจำพวกนี้อาศัยพลังทางกายที่เป็นรูปภายนอกที่กระปรี้กระเปร่ากว่าคนรุ่นเก่าที่ชราแล้วทำการโต้อภิวัฒน์รุนแรงยิ่งกว่าคนรุ่นเก่าแห่งพลังเก่าที่เสียประโยชน์ จากการเปลี่ยนระบบดังกล่าวแล้ว อาการแสดงออกแห่งการโต้อภิวัฒน์ของบุคคลจำพวกนี้มีหลายอย่างรวมทั้งการแสดงตนว่าเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี (ULTRA ROYALIST)
(๓) “สวะสังคม” (Social Scum) คือ เศษโสมม (Rottenmass) ซึ่งสังคมเก่าได้โยนทิ้งไปแต่ตกค้างอยู่ในสังคมใหม่ นักทฤษฎีสังคมฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายมีทรรศนะตรงกันที่ถือว่า “สวะสังคม” เป็นชนชั้นวรรณะอันตราย (Dangerous class) จึงต่างฝ่ายต่างไม่คบเข้าร่วมในขบวนการเพราะ “สวะสังคม” เห็นแก่ตัว (Egoist) เป็นสำคัญซึ่งแสดงด้วยอาการอวดดี (self conceit) ยกตนเองว่าวิเศษกว่าคนอื่น ในปลายระยะการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสมีผู้กล่าวกันว่าเพื่อประโยชน์ของตนเองพวก “สวะสังคม” สามารถขายแม้แต่พ่อของเขาเอง นโปเลียนที่ ๑ ได้นำคำพังเพยสมัยนั้นที่กล่าวถึงสวะสังคมมากล่าวแก่ “ตาลเลรองค์” (TALLEYRAND) ซึ่งเป็นคนโลเลเปลี่ยนทรรศนะกลับไปกลับมาสุดแต่ตนจะได้ประโยชน์ตนว่า “มองซิเออร์ ท่านขายได้แม้ แต่พ่อของท่านเอง”
๕. บางคนเอาความไม่จริงมาเล่าให้หลายคนในรุ่นปัจจุบันฟังทำให้บางคนหลงเชื่อและบางคนก็คลางแคลง อาทิการใส่ความว่าคณะราษฎรรู้ว่าพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ได้ช่วงชิงทำอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนาฯ เสียก่อน
เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นายใช้ เรืองศิลป์ ป.ม. และ เนติบัณฑิตไทย ซึ่งรับราชการอยู่ที่กระทรวงธรรมการได้มาหาข้าพเจ้าถามความจริงจากการที่เขาได้ยินผู้หนึ่งซึ่งเคยเป็นเสนาบดีสมัยก่อน ๒๔ มิถุนาฯ ว่าพระปกเกล้าฯ ได้มีร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้วซึ่งคณะราษฎรรู้แต่ได้ช่วงชิงทำการเสียก่อน ข้าพเจ้าได้ชี้แจงตามความที่ต่อมาข้าพเจ้าได้กล่าวในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ดังต่อไปนี้
“คณะราษฎรเพิ่งทราบเมื่อ ๖ วันภายหลังที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คือเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ได้มีพระราชกระแสรับสังให้พระยาพหลพลพยุหเสนาพระยาปรีชาชลยุทธ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พร้อมทั้ง ข้าพเจ้า ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและเจ้าพระยามหิธร ซึ่งเป็นราชเลขาธิการขณะนั้นเป็นผู้จดบันทึก มีพระราชกระแสรับสั่งว่า มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อได้ทรงปรึกษาข้าราชการมีตำแหน่งสูงในขนะนั้นก็ไม่เห็นพ้องกับพระองค์ ในสุดท้ายเมื่อเสด็จกลับจากประพาสอเมริกาได้ให้บุคคลคนหนึ่งซึ่งไปเฝ้าในวันนั้นพิจารณา บุคคลนั้นก็ถวายความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา และที่ปรึกษาก็กลับเห็นพ้องด้วยบุคคลนั้น คณะราษฎรมิได้รู้พระราชประสงค์มาก่อน การเปลี่ยนแปลงได้กระทำโดยบริสุทธ์ ไม่ได้ช่วงชิงดังที่มีปลุกเสกข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นความจริงทั้งหลายปรากฏในบันทึกการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้นแล้ว และโดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์มาก่อนแล้ว หากมีผู้ทัดทานไว้ ฉะนั้น เมื่อคณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระองค์จึงพระราชทานด้วยดี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทย ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นี้และบรรดาชาวไทยทั้งหลายจงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทอดพระเกียรติของพระองค์ไว้ชั่วกัลปาวสาน”
ข้าพเจ้าจำภาพประทับใจในวันเข้าเฝ้านั้นได้ว่า ทรงตรัสด้วยน้ำพระเนตรคลอเมื่อชี้พระหัตถ์ไปยังพระยาศรีวิสารวาจาที่ไปเฝ้าด้วยในวันนั้นว่า “ศรีวิสาร ฉันส่งเรื่องไปให้แกพิจารณาแกก็บันทึกมาว่ายังไม่ถึงเวลา แล้วส่งบันทึกของสตีเวนส์ (ที่ปรึกษาการต่างประเทศเป็นชาวอเมริกัน) มาด้วยว่าเห็นพ้องกับแก”
ภายหลังที่ข้าพเจ้ามาอยู่ในกรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ แล้วได้มีชนรุ่นใหม่บางคนได้มาถามข้าพเจ้าถึงความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เขาได้ยินผู้เสียประโยชน์จากราษฎรเล่าให้ชนรุ่นใหม่บางคนฟังถึงการที่คณะราษฎรช่วงชิงทำการเปลี่ยนระบบปกครองเสียก่อนโดยรู้อยู่แล้วว่าพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ชนรุ่นใหม่บางคนที่มีทรรศนะตามพลังเก่าได้เชื่อตามนั้นและช่วยโฆษณาให้แพร่หลายยิ่งขึ้นระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าต้องลี้ภัยจากสยาม และบางคนก็ยังเชื่อเช่นนั้นอยู่ตลอดมาจนปัจจุบันนี้
ข้าพเจ้าจึงชี้แจงความจริงดังกล่าวข้างต้นและเพื่อสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ ขอให้เขาหาโอกาสไปขอสำเนาบันทึกพระยาศรีวิสารฯ และนายสตีเวนส์ที่ปรึกษาอเมริกัน และพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศหรือองค์การรัฐบาลที่รับโอนกิจการของราชเลขาธิการ และกระทรวงมุรธาธรซึ่งอาจจะมีเก็บไว้ แต่ถ้าบันทึกกับพระราชกระแสนั้นสูญหายไปก็ขอให้ใช้บัญญาตามคติพุทธศาสนาที่สมัยก่อนเคยจารึกไว้ในประกาศนียบัตรประถมและมัธยมศึกษาว่า “สุ.จิ.ปุ.ลิ.” คือ วิธีเข้าสู่สภาพเป็นบัณฑิต หรือปัญญาชนนั้น เมื่อรับฟัง (สุ) เรื่องใดแล้วก็ต้องใช้สมองเคลื่อนไหวอีกชั้นหนึ่ง คือตรึกตรอง (จิ) ว่าตามเหตุผลจะเป็นไปได้อย่างไรเพื่อสอบให้แน่นอนก็ต้องถาม (ปุ) แล้วจึงขีดเขียน (ลิ) ชนรุ่นใหม่สมัยก่อนหลายคนคงยังจำโคลงที่ครูมัธยมบางโรงเรียนสอนให้ท่องจำไว้ว่า
“สุ. เสาวนิตย์ถ้อย ทั้งผอง
จิ. เจตนาตรอง ตริค้น
ปู. จฉาลอง เลาเลศ
ลิ. ขิตข้อคำต้น เกี่ยงแก้ กันลืม”
ข้าพเจ้ายินดีที่มีผู้มาสอบถามทางข้าพเจ้าด้วย แทนที่จะฟังหรือถามจากฝ่ายปรปักษ์คณะราษฎร ข้าพเจ้าได้แนะนำ ถ้าผู้ถามไม่อาจได้สำเนาบันทึกและพระราชกระแสจากแหล่งดังกล่าว ก็ขอให้ใช้ความคิดว่าบุคคลในคณะราษฎรมีทางรู้พระราชดำริได้อย่างไร เริ่มเป็นรายบุคคลมาตั้งแต่พระยาพหลฯ ที่เป็นหัวหน้า
พระยาพหลฯ ที่มีตำแหน่งก่อน ๒๔ มิถุนาฯ เป็นผู้ช่วยจเรทหารบก และเป็นรององครักษ์เวรซึ่งมีหน้าที่รักษาพระองค์ตามเวรบางครั้งมิใช่เป็นราชองครักษ์ประจำ ขอให้ถามคนบอกเล่าว่าราชองครักษ์เวรทำหน้าที่เข้าเฝ้าฟังข้อราชการเกี่ยวกับการบ้านเมืองระดับสูงจากในหลวงหรือไม่ ก็จะได้ความว่าไม่มีทางที่พระยาพหลฯ จะรู้พระราชประสงค์ว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ส่วนสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นที่เป็นนายทหารบกเรือ ก็มีตำแหน่งห่างองค์ในหลวงก็ยิ่งไม่มีทางรู้พระราชประสงค์ ส่วนสมาชิกที่เป็นพลเรือนนั้นหลายคนเป็นชาวนาและกรรมกร ส่วนที่เป็น ข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงกว่าสมาชิกพลเรือนอื่นนั้น คือข้าพเจ้าซึ่งมีตำแหน่งประจำเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายและเป็นผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม สัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมงบ้าง ๔ ชั่วโมงบ้าง ข้าพเจ้าและสมาชิกคุณะราษฎรที่เป็นพลเรือนจะมีทางรู้พระราชประสงค์อย่างไร ถ้าจะอ้างว่าในฐานะผู้ช่วยเขานุการกรมร่างกฎหมายย่อมมีทางรู้ ก็จะต้องถามคนบอกเล่าว่าพระปกเกล้าฯ ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญของพระองค์มาให้กรมร่างกฎหมายพิจารณาหรือไม่ ข้าพเจ้าและเพื่อนข้าราชการกรมร่างกฎหมายทุกคนสามารถยืนยันได้ว่ากรมร่างกฎหมายไม่เคยได้รับร่างรัฐธรรมนูญมาพิจารณาเลย อย่างไรก็ตาม วิธีราชการนั้นมีสมุดลงทะเบียนหนังสือเข้าและออกไว้อย่างครบถ้วน ขอให้ผู้สนใจขอดูทะเบียนหนังสือเข้าออกของกรมราชเลขานุการในพระองค์และของกรมราชเลขาธิการ ก็จะไม่พบว่ามีร่างรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ส่งมาให้กรมร่างกฎหมายพิจารณาเลย เพียงเท่านี้ผู้สนใจก็ควรเขียน (ลิ.) ไปตามความจริง แทนที่จะอยู่เพียงขั้นฟัง (สุ,) แล้วก็เขียนเอาเป็นจริงตามคำบอกเล่าที่บิดเบือน พระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นรู้กันเฉพาะบุคคลที่พระองค์ได้มีพระราชดำรัสให้พระยาพหลฯ และข้าพเจ้าทราบ ๖ วันภายหลัง ๒๔ มิถุนาฯ และเสนาบดีของพระองค์เท่านั้นซึ่งไม่ยอมบอกให้คนภายนอกรู้เพราะเป็นความลับของทางราชการ เสนาบดีใดที่เห็นด้วยกับพระบาทสมเก็จพระปกเกล้าฯ ก็ควรสนับสนุนพระราชประสงค์ในที่ประชุมเสนาบดี ถ้านิ่งเฉยก็เท่ากับทำให้พระมหากษัตริย์ทรงโดดเดี่ยวในพระราชดำรินั้น และลูกเสนาบดีสภาคัดค้าน
ข้าพเจ้าขอขอบใจนักศึกษาที่มาถามข้าพเจ้าซึ่งไว้แจ้งต่อข้าพเจ้าว่า เราคิดว่าคณะราษฎรคงไม่มีจิตฟันเฟื่อนถึงขนาดที่รู้ก่อนแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานรัฐธรรมนูญก็ยังเอาชีวิตไปเสี่ยงทำการเมื่อ ๒๔ มิถุนาฯ
ข้าพเจ้าได้แนะนำผู้สอบถามข้าพเจ้าให้ใช้ความคิดตามคติของพระพุทธองค์ว่าด้วยการที่จะรู้แจ้งก็ต้องใช้ “วิจารณญาณ” ซึ่งเป็นคติที่นักปรัชญากรีกท่านได้สอนไว้ในทำนองนั้นคือปัญญาชนมิใช่รับเอาเพียงสิ่งที่รับถ่ายทอดจากผู้สอนหรือจากคนอื่นเท่านั้น คือจะต้องสามารถแยกแยะออกเป็นประเภทและชนิดปลีกย่อยให้ถึงรายละเอียด เช่นเมื่อจะรู้เรื่องปลาก็มิเพียงแต่ว่าสัตว์น้ำมีเหงือกมีทางว่ายน้ำได้ก็เป็นปลาประเภทเดียวกัน คือจะต้องรู้ว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นปลาช่อนหรือปลาหมอ ฯลฯ ฉันใดก็ดีเมื่อรับฟังว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานรัฐธรรรมนูญแล้วก็ควรสอบถามผู้บอกเล่าว่าพระองค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญชนิดไหน
ในวันที่พระยาพหลฯ และข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พร้อมด้วยพระยามโน, พระยาศรีวิสาร, พระยาปรีชาชลยุทธ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น พระองค์ได้พระราชทานพระราชกระแสว่า พระองค์ประสงค์พระราชทานธรรมนูญการปกครองทีละขั้นๆ ชั้นแรกก็จะให้เสนาบดีมีการประชุมโดยพระองค์จะไม่ประทับเป็นประธาน คือ ให้เสนาบดีมุรธาธรเป็นประธาน ท่านผู้นี้คือเจ้าพระยามหิธรซึ่งได้เปลี่ยนจากตำแหน่งราชเลขาธิการมาดำรงตำแหน่งนี้ ส่วนรัฐสภานั้น พระองค์จะได้ปรับปรุงสภากรรมการองคมนตรีที่ได้ทรงทดลองตั้งขึ้นไว้ก่อนนั้นให้มีสภาพเป็นรัฐสภา ข้าพเจ้าเห็นว่าชนรุ่นใหม่ที่สนใจในประวัติศาสตร์ระบบรัฐสภาไทยควรค้นคว้าหาสัจจะทั้งในด้านบทกฎหมาย และการปฏิบัติของสภากรรมการองคมนตรีประกอบกันไป แล้วนำเอามาชี้แจงแก่นักศึกษาให้ทราบความจริงทุกด้านว่าสภานั้นได้มีการประชุมเรื่องใดบ้างและผลของการประชุมเป็นอย่างไร เอกสารเรื่องนี้ย่อมเป็นหลักฐานดีกว่าฟังเพียงคำบอกเล่าที่ไม่ครบถ้วน เท่าที่ข้าพเจ้านึกได้นั้น หลักฐานรายงานการประชุมของสภานั้นคงมีอยู่ที่องค์การใดองค์การหนึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่รับโอนกิจการของกรมราชเลขาธิการและกระทรวงมุรธาธร
ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานกระแสเป็นหลักการทั่วไปในสาระรัฐธรรมนูญของพระยงค์เพียงที่ข้าพเจ้าจำได้ดังกล่าวแล้ว ถ้าเสนาบดีผู้ใดยืนยันว่าท่านรู้รายละเอียดยิ่งกว่านั้น ก็ขอให้ผู้สนใจถามท่านผู้นั้นว่ารัฐสภาตามร่างรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้นสมาชิกจะเป็นโดยแต่งตั้ง หรือเลือกตั้ง หรือมี ๒ ประเภท และคณะรัฐบาลจะต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาหรือไม่ เมื่อผู้ใดทราบรายละเอียดจากเสนาบดีนั้นๆ แล้วและเห็นชอบด้วยในร่างรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ควรเสนอให้ “คณะปฏิวัติ” ที่กำลังพิจารณาจะประกาศรัฐธรรมนูญรับไปเป็นแบบฉบับในการตรารัฐธรรมนูญใหม่
๖. บางคนที่เคยเป็นมหาดเล็กชั้นต่ำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และบางคนที่รับทรรศนะที่มหาดเล็กชั้นต่ำบางคนถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่ผิดๆ โดยไม่รู้ถึงพระราชทรรศนะแท้จริงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยตลอดก็พยายามที่จะฟื้นเอาเรื่องที่มีข้อขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรมาขยายความเพื่อแสดงตนเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าวงค์พระราชาธิบดี ชุนรุ่นใหม่ที่ต้องการสัจจะแท้จริงนั้นแทนที่จะเชื่อฟังแต่มหาดเล็กชั้นต่ำบางคนก็มีทางที่จะขอพระราชทานพระราชวโรกาสจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และขอเฝ้าเจ้านายบางองค์ที่ทรงอยู่ใกล้ชิดพระปกเกล้าฯ ภายหลังที่พระองค์สละราชสมบัติแล้วว่าพระองค์มีทรรศนะต่อคณะราษฎรและบุคคลในคณะราษฎรนั้นอย่างไร
ข้าพเจ้า และเพื่อนคณะราษฎรหลายคน ได้เจริญรอยตามพระบรมราโชวาท ของพระปกเกล้าฯ ที่พระราชทานพระราชกระแสในพิธีขอขมาพระองค์ท่านไว้ว่า
“ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ท่านได้คิดมาทำพิธีขอขมาวันนี้เอง โดยที่ข้าพเจ้ามิได้ร้องขออย่างใดเลย การที่ท่านทำเช่นนั้นย่อมเป็นเกียรติยศแก่ท่านเป็นอันมาก เพราะท่านทั้งหลายได้แสดงว่ามีธรรมในใจ และเป็นคนที่สุจริตและใจเป็นนักเลง คือเมื่อท่านรู้สึกว่า ได้ทำอะไรที่เกินไปพลาดพลั้งไปบ้างท่านก็ยอมรับผิดโดยดีและโดยเปิดเผย การกระทำเช่นนี้เป็นของที่ทำยาก และและต้องใจเป็นนักเลงจริงๆ จึงจะทำได้ เมื่อท่านได้ทำพิธีเช่นนี้ในวันนี้ก็แสดงให้เห็นชัดว่าการใดๆ ที่ท่านได้ทำไปนั้น ท่านได้ทำไปเพื่อหวังประโยชน์แก่ประเทศแท้จริง ท่านได้แสดงว่าท่านเป็นผู้มีน้ำใจกล้าหาญทุกประการ ท่านกล้ารับผิด เมื่อรู้สึกว่าตนได้ทำการพลาดพลั้งไปดังนี้ เป็นการที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไว้วางใจในตัวท่านยิ่งขึ้นอีกเป็นอันมาก ในข้อนี้ ทำให้ข้าพเจ้า รู้สึกยินดีเป็นอันมาก”
ข้าพเจ้าและเพื่อนคณะราษฎรหลายคน รู้สึกสำนึกถึงความพลั้งพลาดบกพร่องอันเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องสละราชสมบัติ ดังนั้นเราจึงยอมรับสภาพและได้พยายามแก้ไขความพลั้งพลาดบกพร่อง อาทิเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เริ่มเกิดขึ้นในยุโรปก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สวรรคตนั้น พระองค์ก็เคยได้มีพระราชหัตถเลขาถึงรัฐบาลในขณะนั้นที่มีพระราชประสงค์ จะเสด็จกลับมาประทับที่จังหวัดตรังตามฐานะแห่งพระราชอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกซึ่งพระองค์ได้สงวนไว้ในการสละราชสมบัติ คณะรัฐบาลกำลังพิจารณาพระราชประสงค์นั้นแต่ก็ยังมิทันกราบบังคมทูลไป ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จสวรรคตจึงเป็นที่น่าเสียดายของข้าพเจ้าและเพื่อนหลายคนในคณะราษฎร มหาดเล็กชั้นต่ำที่มิได้ตามเสด็จไปอยู่กับพระองค์ในอังกฤษไม่มีทางรู้เรื่องนี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่าพระราชหัตถเลขานั้นเป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์เองมีถึงจอมพล ป. ที่ได้นำมาอ่านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ข้าพเจ้าได้สถาปนาพระเกียรติของพระองค์ท่านให้คืนคงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์และพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีดังต่อไปนี้
ดังนั้นวิญูญชนผู้มีใจเป็นธรรมย่อมเห็นได้ว่า ผู้ใดที่อ้างว่าเทิดทูนพระปกเกล้าฯ และได้ทำการพลาดพลั้งไปโดยหลงเชื่อฟังคำโฆษณาของมหาดเล็กชั้นต่ำบางคนและไม่พิจารณาเรื่องให้ครบถ้วนกระบวนความแต่ไม่มีน้ำใจกล้าหาญพอที่จะได้สติ บุคคลนั้นก็เป็นเสมือนหนึ่ง อ้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นเครื่องมือในการโจมตีคณะราษฎรเพื่อจุดประสงค์แห่งการเป็นปฏิกิริยาตามลักษณะของผู้ที่อ้างตนเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี
การสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯ นั้น พระองค์ได้ทรงชี้แจงไว้ในเอกสารสละราชสมบติแล้วว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับรัฐบาลสมัยนั้นอย่างไรบ้าง รัฐบาลได้พยายามที่จะกราบบังคมทูลชี้แจงข้อข้องพระทัยของพระองค์ จึงได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น ซึ่งเคยเป็นเสนาบดีของพระองค์มาก่อนให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปกราบบังคมทูล แต่พระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ
มีผู้วิจารณ์ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ควรสละราชสมบัติ เพราะพระองค์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบอย่างใดในการลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลเสนอมา ข้าพเจ้าตอบผู้วิจารณ์ว่ารัฐบาลสมัยนั้นก็เสียดายเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ แต่ถ้าคิดทางด้านพระองค์แล้ว เราก็ควรเคารพสักการะพระองค์ท่านที่มีพระราชประสงค์รักษาศักดิ์ศรีแห่งราชขัตติยะไว้ คือเมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลสมัยนั้นทำการที่ไม่ต้องด้วยพระราชประสงค์ พระองค์ก็ทรงสละความสุขสำราญส่วนพระองค์ในการสละราชสมบัติยิ่งกว่าจะต้องลงพระปรมาภิไธยในเรื่องที่ขัดต่อความบริสุทธ์ใจของพระองค์ ดังนี้ปวงชนชาวไทยต้องเคารพสักการะ และเทิดพระเกียรติ ศักดิ์ศรีอันสูงยิ่งของพระองค์ ไว้ชั่วกาลนาน
๗. ยังมีอีกหลายคนเข้าใจผิดระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งได้ตั้งต้นโดยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วก็ดำเนินต่อมาจนทุกวันนี้ ข้าพเจ้าจึงขอทำความเข้าใจคำว่า “ประชาธิปไตย” นั้นหมายถึง “การปกครองโดยราษฎร” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “DEMOCRACY” ดังที่ประธานาธิบดีลินคอล์นได้ให้วิเคราะห์ศัพท์ ไว้อย่างครบถ้วนว่าเป็นการปกครอง “The government of the people, by the people, for the people” แปลว่า “รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร”
คณะราษฎร ได้มีเจตนาและปฏิบัติตามอุดมคติดังกล่าวนี้ดังปรากฏในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ แล้ว แต่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งจำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลชั่วคราวที่จะต้องเปลี่ยนระบบเก่าที่มีมาแต่โบราณกาลให้เข้าสู่ระบบประชาธิปไตยเต็มที่นั้นต้องมีกึ่งประชาธิปไตยก่อน
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คณะราษฎรได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้แก่ราษฎรเพื่อให้ราษฎรมีสิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์ ดังนั้นผู้แทนราษฎรประเภท ๒ ซึ่งส่วนมากเป็นสมาชิกคณะราษฎรจึงได้ร่วมมือกับผู้แทนราษฎรประเภท ๑ ซึ่งได้รับเลือกโดยตรงจากราษฎรจัดร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ แทนฉบับ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ได้ให้สิทธิประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ที่สุดแก่ปวงชนชาวไทย คือ มาตรา ๑๓ ให้มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆ มาตรา ๑๔ ให้เสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียนการพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การอาชีพ แม้มีข้อกำหนดภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย แต่บทกฎหมายนั้นก็ไม่ล่วงล้ำสิทธิประชาธิปไตย คือ เพียงกำหนดให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน ดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงออกกันแพร่หลาย พรรคการเมืองก็ตั้งกันได้อย่างแพร่หลายโดยไม่จำกัดความนิยมลัทธิการเมืองของพรรคนั้นๆ
รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยพฤฒสภา (SENATE) และสภาผู้แทนสมาชิกของทั้งสองสภาเป็นได้โดยการเลือกตั้ง มิใช่โดยการแต่งตั้ง คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ราษฎรลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและทางลับซึ่งเป็นหลักที่นิยมกันทั่วไปซึ่งเรียกกันว่าการลงคะแคนสองชั้น คือราษฎรลงคะแนนตั้งตัวแทนของตน (ซึ่งอาจเป็นสมาชิกสภาผู้แทน) มาขั้นหนึ่งก่อน แล้วตัวแทนของราษฎรลงมติเลือกพฤฒสมาชิกอีกขั้นหนึ่ง
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ได้เกิดมีรัฐประหารยกเลิกระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่สถาปนาขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ คณะรัฐประหารได้ตั้งระบบการเมืองขึ้นใหม่โดยรัฐธรรมนูญฉบับ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เพราะผู้ทำรัฐประหารได้แถลงว่าฝ่ายตนได้แอบร่างรัฐธรรมนูญแล้วเก็บซ่อนไว้ที่ใต้ตุ่ม ตามระบบของคณะรัฐประหารนั้น รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน วุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งมีจำนวนเท่าสมาชิกสภาผู้แทน แต่ในทางปฏิบัติได้มีข้อกำหนดไว้ว่า พระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้นรัฐบาลของคณะรัฐประหารนั้นเองเป็นผู้ตั้งวุฒิสมาชิก พระมหากษัตริย์เพียงลงพระปรมาภิไธยตามคำเสนอของรัฐบาล ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนนั้นแม้ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง แต่ระบบใหม่ได้กำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปีซึ่งต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ที่กำหนดไว้เพียง ๒๓ ปีตามกฎหมายเลือกตั้งเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นหนุ่มมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมาก ส่วนเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมืองนั้นรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มได้ตัดออกไป และยังมีข้อบัญญัติอีกหลายประการรวมทั้งการฟื้นฟูระบบอภิรัฐมนตรีของสมัยสมบูรณญาสิทธิราชย์ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าระบบที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ นั้นเป็นอีกระบบหนึ่งต่างหากจากระบบประชาธิปไตยของคณะราษฎร แม้ว่าในคณะรัฐประหารมีผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่เขาได้ปลีกตนออกไปจากส่วนรวมของคณะราษฎรไปร่วมกับบุคคลที่มีทรรศนะตามระบบการเมืองของคณะรัฐประหารนั้น ดังนั้นหน้าที่ของคณะราษฎรที่จะต้องรับผิดชอบต่อราษฎรตามวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรจึงถูกคณะรัฐประหารนั้นระงับลงทั้งในทางนิตินัยและในทางพฤตินัยซึ่งตั้งแต่ครั้งกระนั้นเป็นต้นมา ไม่อาจกระทำการใดๆ ให้สำเร็จตามวัตถุที่ประสงค์ของคณะราษฎรได้ ต่อจากนั้นมาความรับผิดชอบในการดำเนินกิจการบ้านเมืองจึงตกอยู่แก่คณะรัฐประหารนั้นและรัฐบาลต่อๆ มาอันสืบเนื่องจากผลของคณะรัฐประหารนั้น
บางคนเคยมาถามข้าพเจ้าถึงการที่ ระบบประชาธิปไตย ของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานในระยะหลังๆ นี้ โดยเอาเรื่องมาพัวพันกับคณะราษฎรนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงว่าแม้ภายในคณะราษฎรจะได้มีการขัดแย้งกันในบางขณะแต่ในที่สุดคณะราษฎรเป็นส่วนรวมก็ได้ร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมานั้นสถาปนาระบบประชาธิปไทยที่สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ส่วนการที่ภายหลัง ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ได้มีระบบการเมืองโดยรัฐธรรมนูญและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๑๐ ครั้งนั้นมิใช่เป็นเรื่องของคณะราษฎรเลย จึงขอให้ผู้ที่มีใจเป็นธรรมได้แยกเหตุการณ์ของคณะราษฎรออกจากของคณะรัฐประหารและที่สืบจากคณะรัฐประหารและซึ่ง “คณะปฏิวัติ” ได้กล่าวอยางเปิดเผยถึงระบบเผด็จการที่คณะนั้นๆ ใช้ปกครองประเทศไทย จึงไม่ควรที่จะมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นประชาธิปไตย
บางคนโฆษณายกย่องว่ารัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ เป็นประชาธิปไตยที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญไทย พวกโฆษณาเหล่านี้อาจเทียบรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ตราขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐
ชนรุ่นใหม่ที่สนใจระบบรัฐธรรมนูญของประเทศไทยควรนำรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับมาเทียบกันดูให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าระบบรัฐธรรมนูญฉบับใดมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy)
รัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ กำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นพฤฒสมาชิกไว้ไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี และสมาชิกสภาผู้แทนไม่ต่ำกว่า ๒๓ ปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ กำหนดอายุผู้เป็นสมาชิกวุฒิสภาไว้ไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี และผู้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญใดในโลกกำหนดอายุผู้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรไว้สูงขนาดนั้น ทั้งนี้เป็นการตัดสิทธิชนรุ่นใหม่สมัยนันซึ่งหลายคนมีอายุไม่ถึง ๓๐ ปี แต่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ชนรุ่นใหม่ของสมัยนั้นเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ๓ มีนาคม ๒๔๙๒ ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะต้องการให้สิทธิแก่ชนที่มีอายุมากกว่าชนรุ่นใหม่สมัยนั้น ชนรุ่นใหม่หลายคนทราบว่าคติราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมีอยู่ว่า “พระราชาธิบดีทำอะไรไม่ผิด” (The King can do no wrong) นั้นก็เพราะพระองค์มิได้ทรงทำสิ่งใดโดยพระองค์เอง คือเพียงทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลเสนอมาซึ่งพระองค์เห็นชอบด้วยเท่านั้น ผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและคณะของเขาเป็นผู้ทำการนั้นๆ ถ้าพระราชาธิบดีองค์ใดทรงทำการใดด้วยพระองค์ๆ ก็ต้องทรงรับผิดชอบ รัฐธรรมนูญอังกฤษปัจจุบันและรัฐธรรมนูญไทยซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระราชทานนั้นไม่ประสงค์ให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงรับผิดเพราะการกระทำของพระองค์ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ ได้เขียนความทำให้ผู้อ่านหลงว่าพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและตั้งวุฒิสมาชิกด้วยพระองค์เอง แต่มีขมวดไว้ว่า “ประธานองคมนตรี” เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ฟังดูคล้ายๆ ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและตั้งวุฒิสมาชิกด้วยพระองค์เอง หากแต่ประธานองคมนตรียอมรับผิดชอบในการกระทำนั้นของพระองค์ ชนรุ่นใหม่สมัยนั้นพออ่านออกถึงกลวิธีการเมืองนี้ เพราะมองดูทางปฏิบัติในขณะที่ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์ อยู่ซึ่งมีคณะองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ฉะนั้นในทางปฏิบัติสมัยนั้นก็คือองคมนตรีนั้นเองเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งวุฒิสมาชิก วิธีให้อำนาจแก่คณะองคมนตรีนั้นอาจสืบเนื่องจากทรรศนะของบางท่านที่บอกเล่าให้ชนรุ่นใหม่บางคนถึงการที่พระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานให้คณะกรรมการองคมนตรีมีการพิจารณาอภิปรายปัญหาบางเรื่องทำนองการอภิปรายในรัฐสภาซึ่งเป็นขั้นแรกที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ การที่ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ การเลือกและแต่งตั้งวุฒิสมาชิกนั้นเป็นวิธีการใหม่ที่ปรากฏขึ้นในโลกแห่งระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่จะมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าวิธีที่ทำกันมาในโลกนั้นอย่างใดนั้นก็สุดแท้แต่ผู้ศึกษาระบบรัฐธรรมนูญอย่างถี่ถ้วนจะวินิจฉัย.
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕
ปรีดี พนมยงค์
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย”, ใน แนวความคิดประชาธิปไตย ของ ปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 3-24
บทความที่เกี่ยวข้อง :