ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

พระยาพหลฯ กับพระปกเกล้า : ความร่วมมือและความขัดแย้ง 1 ปีหลังการอภิวัฒน์

29
มีนาคม
2567

เมื่อได้ยึดอำนาจการปกครองวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้ว พระปกเกล้าฯ ได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ชั้นแรกไม่ยอมรับ โดยอ้างว่าไม่มีความรู้ แต่พระปกเกล้าฯ ขอร้องให้รับจึงยอมรับเป็นเพียง ๑๕ วัน ครั้นครบ ๑๕ วันแล้วพระยาพหลฯ ไม่ยอมรับ พระปกเกล้าฯ รับสั่งว่าได้ทำงานการไปเป็นที่เรียบร้อยขอให้เป็นต่อไปอีก พระยาพหลฯ จึงจำใจต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา การที่พระปกเกล้าฯ ขะยั้นขะยอให้พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมานี้ ก็เพื่อจะให้พระยาพหลฯ ทำเสียให้แย่ เมื่อทำไม่ไหวแล้วก็จะปล่อยการปกครองให้เป็นไปตามรูปเดิม

ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ (กบฏบวรเดช) พระปกเกล้าฯ ให้ ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ มาพูดทาบทามพระยาพหลฯ ว่าจะพระราชทานเงินให้พระยาพหลฯ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่พระยาพหลฯ มาคิดว่า การที่จะพระราชทานคงต้องแลกเปลี่ยนอะไร สักอย่างหนึ่งในเรื่องการเมือง จึงไม่ยอมรับ

อีกตอนหนึ่งศาลพิเศษได้กล่าวไว้ดังนี้

“ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ ประมาณ ๒๐ วัน พระยาทรงสุรเดชกับพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้เดินทางไปต่างประเทศ พระยาทรงฯ ได้พูดกับนายสงวน ตุลารักษ์ ว่า คณะพวกเจ้าเขาจะเล่นงานพวกผู้ก่อการ นายสงวนฯ ตอบว่า เมื่อเขาจะเล่นงานแล้วควรจะอยู่ช่วยกัน พระยาทรงฯ จึงพูดว่า เมื่อใครเขาอยู่ก็ให้เขาทำไปก็แล้วกัน การที่พระยาทรงฯ พูดเช่นนี้ ก็เพื่อพูดกระทบพระยาพหลฯ และหลวงพิบูลสงคราม เมื่อเกิดกบฏขึ้นพระยาทรงฯ ได้เดินทางไปถึงโคลัมโบ พระยาพหลฯ โทรเลขเรียกให้กลับ เพื่อมาช่วยเหลือทำการปราบกบฏ แต่พระยาทรงฯ กลับตอบมาว่าเรื่องเล็กน้อยให้ทำกันไปเถอะ

ส่วนพระปกเกล้าฯ ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ (กบฏบวรเดช) เล็กน้อย ได้ความตามคำของพระยาอิศราธิราชเสวี นายพันตรีจมื่นรณภพพิชิต เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ และพระนรราชจำนง พยานโจทก์ ประกอบด้วยเอกสารว่า ได้ไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งวังไกลกังวล พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการสำคัญๆ หลายคนอยู่ที่หัวหิน ในระหว่างนั้นพระปกเกล้าฯ ได้สั่งให้พระยาอิศราธิราชเสวีจ่ายเงินให้แก่เจ้ากาวิละวงศ์ ๒ ครั้ง เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ซื้อเสบียงและสิ่งของต่างๆ ไว้สำหรับใช้เมื่อคราวที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เจ้ากาวิละวงศ์ได้จัดซื้อข้าวและเครื่องกระป๋องไว้ นอกจากนี้พระปกเกล้าฯ ได้ใช้ให้เจ้ากาวิละวงศ์ตัดถนนจากหัวหินถึงปากทวารชายแดนพม่า เจ้ากาวิละวงศ์ยังได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้าฯ อยู่เสมอ ตลอดจนเกิดกบฏขึ้น แสดงว่าพระปกเกล้าฯ รู้เห็นในเหตุการณ์กบฏ จึงเตรียมรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า

ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ (กบฏบวรเดช) ได้มีคนพูดกันที่หัวหินว่า ทางกรุงเทพฯ อาจมีการยุ่งๆ กัน ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ อ้างพระบรมราชโองการสั่งพระยาอิศราธิราชเสวี จัดแผนการที่จะเตรียมเสด็จจากหัวหินโดยทางรถไฟไปทางปักษ์ใต้และจัดการรักษาพระองค์ด้วย พระยาอิศราธิราชเสวี จึงได้ทำแผนการเคลื่อนขบวนและรักษาพระองค์อย่างละเอียด ตามแผนการดังกล่าวนั้น มีหีบเครื่องไอพิษน้ำตา ซึ่ง ม.ร.ว.สมัครสมาน กฤดากร รักษาไว้ และในระหวางกบฏก็ได้ใช้แผนการที่พระยาอิศราธิราชเสวีทำไว้นั้น ในการเดินทางไปจังหวัดสงขลา นอกจากนี้ปรากฏว่าก่อนหน้าที่จะเกิดกบฏ ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ ได้พูดขึ้นที่พระที่นั่ง กังวลเป็นเชิงว่าจะมีกบฏเกิดขึ้นทางกรุงเทพฯ ก่อนเกิดกบฏนายอิ้น บุนนาค (พระยาสุรพันธ์เสนี) ซึ่งเป็นกบฏในคราว พ.ศ. ๒๔๗๖ และศาลพิเศษได้พิพากษาลงโทษไปแล้วนั้น ได้ไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ ที่หัวหิน และพระปกเกล้าฯ ได้จ่ายเงินให้ในวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้แก่นายอิ้นไป ๑๖๗ บาท ๕๐ สตางค์ วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้เจ้ากาวิละวงศ์ อีก ๓,๐๐๐ บาท วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๗๖ ให้แก่เจ้ากาวิละวงศ์ อีก ๓,๐๐๐ บาท วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๗๖ ให้แก่นายอิ้นไปอีก ๕๐๐ บาท วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ให้แก่ภริยานายพิทย์ (พ.ต.อ.พระยาธรณีนฤเบศร์) ไป ๒๐๐ บาท ดังปรากฏตามบัญชีการจ่ายเงินค่าใช้สอยส่วนพระองค์ซึ่งโจทก์อ้างมา

ก่อนเกิดกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖ (กบฏบวรเดช) กรมขุนชัยนาทนเรนทร ม.จ.วงศ์นิรชร เทวกุล และพระองค์เจ้าบวรเดช ไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ ที่หัวหิน ส่วนหลวงอภิบาลภูวนารถ เป็นองครักษ์ประจำอยู่ที่หัวหิน และพระองค์เจ้าบวรเดชได้เคยมีหนังสือถึง ม.จ.วิบูลสวัสดิวงศ์และพระปกเกล้าฯ ที่หัวหินหลายฉบับ นอกจากนี้ปรากฏว่าหลักฐานทางทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ว่า พระปกเกล้าฯ ได้จ่ายเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดชไป ซึ่งเข้าใจว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการกบฏครั้งนั้น

ครั้นถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เกิดการกบฏและมี พ.ร.บ. จัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ ขึ้น สำหรับพิจารณาพิพากษาในครั้งนั้น ศาลพิเศษฟังว่าพระองค์เจ้าบวรเดชได้เป็นหัวหน้าของฝ่ายกบฏด้วยผู้หนึ่ง และสาเหตุที่เกิดกบฏขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้น ได้ความว่าเนื่องมาจากเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญและให้พระปกเกล้าฯ มีอำนาจตามเดิม ส่วนผู้ที่สนับสนุนในการนั้นก็มุ่งหวังตำแหน่งลาภยศในภายหน้า นอกจากนี้ก็มีเรื่องคุมแค้นกันเป็นการส่วนตัว”

จากคำพิพากษาดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงความพยายามของพวกเศษเดนศักดินาทั้งหลาย ที่พยายามจะหมุนกงล้อประวัติศาตร์ให้ทวนกระแสกลับไปสู่ยุคสมัยแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ลงหลุมฝังศพไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง นับแต่ความพยายามของพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกจนถึงกบฏบวรเดช และความพยายามเหล่านั้นคำพิพากษาระบุว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีส่วนร่วมด้วยอย่างสำคัญ อย่างเช่นได้ช่วยเหลือการเงินแก่พวกกบฏดังปรากฏหลักฐานตามบัญชีจ่ายเงินใช้สอยส่วนพระองค์ ตลอดจนการตระเตรียมเสบียงอาหารและวางแผนทางหนีทีไล่เมื่อคราวคับขัน โดยมอบหมายความรับผิดชอบให้แก่เจ้ากาวิละวงศ์และพระยาอิศราธิราชเสวี

ดังนั้น เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบข่าวว่ารัฐบาลจะส่งรถไฟมาอัญเชิญเสด็จกลับพระนครในขณะที่เกิดกบฏขึ้นแล้วนั้น พระองค์กลับเสด็จหลีกหนีไปเสียยังจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนทางภาคใต้อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงภัยของพระองค์ เพราะพระองค์ย่อมตระหนักพระทัยในพฤติกรรมของพระองค์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระปกเกล้าฯ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปไตย” ตอนหนึ่งว่าดังนี้

“ตอนนั้นเรามีเรือยนต์พระที่นั่งขนาดเล็กอยู่ ตกลงออกเรือกันตอนกลางคืน มีทหารรักษาวังไปด้วย มีปืนกลไป ข้าราชบริพารตอนนั้นที่จำได้ก็มีอย่างท่านประสพศรี (ราชองครักษ์-ทบ.) ท่านครรชิต (ราชองครักษ์-ทร.) มีพ่อ มีแม่ฉัน แล้วก็น้องชายอีกคน มีท่านกมลีสาน ม.ร.ว. สมัครสมาน กฤดากร (ทำการแทนราชเลขานุการในพระองค์) ร่วมไปในเรือด้วย ก่อนจะออกเดินทางก็ทรงคิดว่าจะเรียบร้อยหมดทุกอย่าง แต่คลืนมันเหลือเกินอาวุธตกน้ำกันเกือบหมด พอเรือไปได้หน่อยก็เห็นเรือยามฝั่งมาก็ว่าเอ๊ะ เห็นจะไม่ได้การก็เตรียมสู้กันละ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใครแต่พอเรือเข้ามาใกล้ เขาก็ให้สัญญาณว่า มาโดยความหวังดี มารับใช้ พอโผล่เข้ามาก็เป็นหลวงปฏิวัตฯ เข้าใจกันว่าพระยาวิชิตฯ ใช้ให้มา ในหลวงรับสั่งว่าขอบใจมาก กลับไปเถอะไม่ต้องมาหรอก ฉันจะไปเองแล้วก็แล่นเรือกันต่อไป”

“นอกจากผู้คนที่เอาลงเรือมานั้น ยังมีเหลืออยู่ที่วังไกลกังวลอีกหลายคน ซึ่งมอบให้ท่านชิ้น (ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์) เป็นหัวหน้าดูแล ก็ให้ตามไปโดยรถไฟ ที่นี้ตอนนั้น ก็คิดกันว่าจะไปเอารถไฟที่ไหน เลยตกลงใจให้เจ้ากาวิละวงศ์ (ข้าราชการกรมรถไฟ) ซึ่งอยู่ที่วังด้วย เป็นคนไปที่เพชรบุรีเพราะใกล้ที่สุด เรียกว่าไปขโมยรถไฟมา แล้วมารู้ที่หลังว่า เขาก็ไปเอามาจนได้ มีกรมพระนริศฯ กรมพระยาดำรงฯ อยู่ที่หัวหินขึ้นรถไฟไปด้วย”

ข้อความทรงเล่าดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลพิเศษที่ว่า ม.จ. ศุภสวัสดิวงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าทหารรักษาวัง ได้อ้างพระบรมราชโองการ สั่งให้พระยาอิศราธิราชเสวี วางแผนการที่จะเตรียมเสด็จจากหัวหิน

ในหนังสือของพระยาราชวังสัน อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ที่มีถึงพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี รายงานเรื่องเข้าเฝ้าพระปกเกล้าฯ ณ บ้านแกรนเลย์ประเทศอังกฤษตอนหนึ่งว่า

“ในเรื่อง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนยันว่าท่านทรงใช้เอง (เกี่ยวกับการเตรียมแผนการทางทหารซึ่งรัฐบาลกล่าวหาว่า เป็นแผนการร่วมรบกับกบฏบวรเดช-ผู้รวบรวม) เพื่อปองกันพระองค์ท่าน เพระในเวลานั้นเหตุการณ์ยุ่งเหยิงกันไปทั้งนั้น ไม่ทรงทราบว่าผู้ใดจะมีความคิดประการใดถ้าไม่ทรงระวังตัวแล้ว ผู้คิดร้ายต่อรัฐบาลหรือต่อพระองค์ท่านอาจจะจับพระองค์ท่าน เป็นตัวประกันก็ได้”

ภายหลังที่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ปราบปรามฝ่ายกบฏราบคาบไปแล้ว ก็ได้พยายามกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จกลับสู่พระนคร แต่พระองค์ก็ทรงรีรออยู่ ณ พระตำหนักเขาน้อย สงขลา เกือบสองเดือนจึงได้เสด็จกลับ ดังคำแถลงของรัฐบาลมีความตอนหนึ่งว่า

“ในระหว่างที่เกิดกบฏ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปประทับที่สงขลา รัฐบาลได้พยายามกราบบังคมทูลขอให้รีบทรงกลับสู่พระนคร เพื่อที่จะได้พระราชทานความเห็นในการเลือกสมาชิกประเภท ๒ แต่พระองค์ก็หาได้เสด็จกลับไม่ คงเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖”

ในขณะที่ประทับในพระนครนั้น พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับ ณ พระราชวังสวนจิตลดาจนกระทั้งเสด็จออกไปอังกฤษ ในวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ รวมเวลาประทับอยู่ในพระนครนับแต่เสด็จกลับจากสงขลา เพียง ๑ เดือน ๒ วัน และในคืนวันที่ ๑๑ มกราคม พระองค์ได้มีกระแสพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงเป็นการอำลาประชาชน มีความว่าดังนี้

“ในวันที่ ๑๒ เดือนนี้ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยพระราชินี จะเดินทางออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นความจำเป็นเพื่อรักษาร่างกายของข้าพเจ้า และจะถือโอกาสเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้ดียิ่งขึ้นด้วย

ข้าพเจ้าตระหนักถึงความลำบากทางการเมือง ซึ่งมีอยู่ในเวลานี้ แต่ข้าพเจ้ามีความไว้วางใจคณะรัฐบาลของข้าพเจ้า ซึ่งมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ และสภาผู้แทนราษฎรกับประชาราษฎรทั้งหลาย ก็ได้แสดงความไว้วางใจอย่างเดียวกัน แม้การกบฏครั้งที่แล้วมา รัฐบาลของข้าพเจ้าก็ได้ปราบปรามจนสงบราบคาบแล้ว ข้าพเจ้าจึงเชื่อมั่นว่าประเทศชาติของเราจะได้รักษาความสงบและประสานความสามัคคีกันเป็นอย่างดี

บัดนี้ ก็มีสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกทั้งสองประเภทครบถ้วนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว และการเป็นไปในสภาที่ได้เป็นมาแล้วก็ส่อให้เห็นว่าเป็นการลุล่วงไปโดยความเรียบร้อย จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะได้เป็นกำลังส่วนหนึ่งซึ่งได้ช่วยหารือรัฐบาลบำรุงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

อันการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้ ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นมา เมื่อได้มีรัฐธรรมนูญแล้วข้าพเจ้าก็ได้สนใจเพื่อให้กิจการเป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญทุกประการ ข้าพเจ้าได้แสดงความประสงค์หลายครั้งว่า จะใคร่ให้การเมืองเป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความประสงค์อีกครั้งหนึ่งว่า เฉพาะอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยู่ในพระนครนี้ข้าพเจ้าขอให้ประชาชนของข้าพเจ้าจงรักษาความสงบและความสามัคคีกันไว้ให้มั่นคง

ในยามโภคกิจตกต่ำนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ประชาชนจะต้องขวนขวายหาทางบรรเทาทุกข์ของตน แต่ในการกระทำนั้นขออย่าได้ลืมคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือสันติสุขของบ้านเมืองเรา โดยได้รับอบรมในทางศาสนา ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นหลัก จึงมีอุปนิสัยรักสงบเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ข้าพเจ้าต้องจากประเทศสยามไปชั่วคราวนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้คุ้มครองรักษาให้ประชาชนชาวไทยได้รับสันติสุขทุกประการ”

และครั้นแล้วในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๗๖ พระองค์ก็ได้เสด็จไปต่างประเทศตามหมายกำหนดการ

การเสด็จออกนอกประเทศของพระองค์ในครั้งนี้ในทางเปิดเผยที่รู้กันทั่วไปคือ เสด็จไปรักษาพระเนตร แต่ในความเป็นจริงก็คือการออกไปตั้งป้อมต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลพระยาพหลฯ การตั้งป้อมนอกประเทศต่อสู้กับรัฐบาลครั้งนี้พระองค์ทรงมีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง ซึ่งพระองค์ทรงกำหนดขึ้นมาด้วยขัตติยมานะของพระองค์เอง ทางที่หนึ่งคือถ้ารัฐบาลยอมคล้อยตามความต้องการของพระองค์ในทางการเมือง ในทุกกรณีที่พระองค์ทรงตั้งเงื่อนไข พระองค์ก็จะเสด็จกลับประเทศและทรงเป็นองค์พระประมุขต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยอมคล้อยตามความต้องการของพระองค์ พระองค์จะทรงสละราชสมบัติ และพระองค์ก็ได้ใช้กลยุทธสละราชสมบัติเป็นเครื่องมือต่อสู้กับรัฐบาลจนวาระสุดท้าย

พระองค์ทรงต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลอย่างไร? เราจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไปพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานทางราชการ ในวาระแรกพระองค์ได้ทรงพระราชปรารภถึงเรื่องการสละราชสมบัติเป็นการทำสงครามจิตวิทยาผ่านมาทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ กรมพระนริศฯ ตามสำเนาหนังสือที่ ๖/๕๘ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีถึงนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ดังนี้ (และก่อนหน้านี้คือในเดือนกันยายน ๒๔๗๗ พระองค์ก็เคยมีพระราชบันทึกในกรณีจะสละราชสมบัติ ผ่านไปทางพระยาราชวังสัน อัครราชทูตสยามประจำปารีส ซึ่งจะได้อ้างถึงในลำดับต่อไป)

 

ที่ ๖/๕๘

กรมเลขานุการในพระองค์

วันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

แจ้งความถึงนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

นายกรัฐมนตรี ทราบ

ฉันได้รับพระราชโทรเลขทรงปรารภถึงการงานอันได้ทรงปฏิบัติติดต่อด้วยรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ตามเวลาที่ล่วงมาแล้ว สังเกตเห็นปรากฏแน่ในพระราชหฤทัยว่า รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมากรู้สึกแน่ใจว่าไม่จำเป็นจะต้องประนีประนอมต่อพระองค์ ไม่ว่าในเรื่องใดๆ ดูที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง ถ้ารัฐบาลมีประสงค์จะประสานงานต่อพระองค์ด้วยดีแล้วคงจะกราบบังคมทูลที่ปรึกษาก่อนที่จะดำเนินการอันสำคัญไป ถ้าได้กระทำดังนัน ความยุ่งยากอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะไม่เกิดขึ้นแต่รัฐบาลมิได้ทำดังนั้น การใดๆ รัฐบาลได้ทำไปจนถึงที่สุดเสร็จเสียแล้ว จึงกราบบังคมทูลพระกรุณา ไม่มีทางที่จะทรงทักท้วงให้แก้ไขโดยกระแสพระราชดำริอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีอะไรเหลือนอกจากความขึ้งเคียดแก่กัน อันเป็นธรรมดาที่มีพระมหากษัตริย์ขัดกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้ ไม่ว่าประเทศใดย่อมไม่เป็นสิ่งดีสำหรับประเทศนั้น ตามพฤติการณ์เช่นนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระองค์ไม่ควรจะดำรงราชสมบัติอยู่สืบไป เพราะไม่เป็นประโยชน์ที่จะปกปักรักษาผู้ใดผู้หนึ่งได้เลยแล้ว จึงสมัครพระราชหฤทัยจะทรงสละราชสมบัติ พระราชทานโอกาสที่จะให้จัดตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ที่จะประสานงานได้เรียบร้อย เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวสยาม ในการทรงสละราชสมบัตินั้นจะไม่ทรงตั้งรัชทายาท พระราชทานโอกาสไว้ให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร คัดเลือกเองตามความพอใจ จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถ์เลขามาภายหลังโดยทางไปรษณีย์

(ลงพระนาม) นริศ
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

เกี่ยวกับพระราชปรารภที่จะทรงสละราชสมบัตินั้น พระองค์ได้เคยยกขึ้นมาสำทับกับคณะผู้เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ วังสุโขทัย ภายหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จกลับจากพระราชวังไกลกังวลตามคำกราบบังคมทูลของคณะราษฎรในการเข้าเฝ้าวันนั้นพระยามหิธรราช เลขาธิการในพระองค์ เป็นผู้จดบันทึก และต่อมาในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ส่งสำเนาบันทึกลับฉบับนั้นให้แก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร มีข้อความดังนี้

 

บันทึกลับ

วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์ฯ และพระยาศรีวิสารฯ พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลฯ กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย มีพระราชดำรัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ฯลฯ ฯลฯ อีกอย่างหนึ่งอยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยพระราชดำริที่จะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปไม่ได้นานเมื่อการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็น ว่าพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนเพ็ชรบูรณ์ ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปควรจะเป็นพระราชโอรส สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

พระยาศรีวิสารวาจากราบบังคมทูลว่า มีความรู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงช่วยเหลือเพื่อความมั่นคง เรื่องที่ทรงพระราชดำริจะลาออกนั้น ขอพระราชทานให้งดไว้ก่อน มีพระดำรัสว่า จะดูก่อน ไม่ทราบว่าอาการแห่งพระเนตรจะทุพพลภาพเพียงไร เพราะการผ่าพระเนตรไม่ได้ผลสมคาด ถึงไม่มีเหตุเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้ทรงพระราชดำริที่จะลาออก กาลต่อไปยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพระเนตรดีและแสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรไม่ทำให้พระองค์เสื่อมความนิยมก็อาจอยู่ต่อไปในชั้นนี้ขอแบ่งรับแบ่งสู้ไว้ก่อน ฯลฯ

มหิธร
จด

 

บันทึกลับฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นความไม่แน่พระทัยของพระองค์ว่าจะเข้ากันได้กับคณะราษฎร พระองค์จึงได้ทรงพระราชดำริว่า “ถ้าพระเนตรดีและแสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรไม่ทำให้พระองค์เสื่อมความนิยมก็อาจจะอยู่ต่อไป ในชั้นนี้ขอแบ่งรับแบ่งสู้ไว้ก่อน...”

ต่อพระราชปรารภที่จะสละพระราชสมบัติ ซึ่งกรมพระยานริศฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แจ้งให้รัฐบาลทราบ ต่อมาในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้มีหนังสือกราบทูลผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แสดงความเสียใจในพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังสำเนาเอกสารของทางราชการต่อไปนี้

 

ที่ ก. ๗๐๑๗/๒๔๗๗

สำนักนายกรัฐมนตรี วังปารุสกวัน

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๗

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกระแสมาโดยทางโทรเลข ในข้อราชการซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ดังมีความพิศดารทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้วนั้น

พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้ว ลงมติว่า โดยที่ยังไม่ทราบเกล้าฯ ในพระราชประสงค์เป็นข้อๆ ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งถ้าหากจะมีโทรเลขหรือหนังสือไปมาเพื่อทำการชี้แจงและตกลงในข้อราชการที่กล่าวนั้น ก็เกรงด้วยเกล้าฯ ว่าจะกราบบังคมทูลชี้แจงข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยละเอียดละออให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยไม่ได้ดีกว่ากับที่จะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยวาจา จึงได้ตกลงเชิญเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้นายนาวาตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรี ไปเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อกราบบังคมทูลชี้แจงข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในข้อราชการต่างๆ ซึ่งยังข้องพระราชหฤทัยอยู่ แล้วหาลู่ทางที่จะจัดการให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยทุกประการ ที่จะพึงกระทำได้ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญ เมื่อตกลงประการใดแล้วจะได้รายงานเข้ามาขออนุมัติอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นการตกลงทางราชการ

ในที่สุด คณะรัฐมนตรีขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาในความปรารถนาอันแท้จริง ที่รัฐบาลใคร่จะเห็นใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับมาครองราชสมบัติสืบไปชั่วกาลนาน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมืองตลอดทั้งรัฐธรรมนูญ ซึ่งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนี้ด้วย

การจะควรประการใดสุดแล้วแต่
จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า

(ลงนาม) นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี

ขอเดชะ

 

ครั้นแล้วคณะผู้แทนรัฐบาลดังกล่าว ก็ได้เดินทางจากประเทศสยามไปถึงประเทศอังกฤษในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๗ และต่อมาก็ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังสำเนาหนังสือที่คณะผู้แทนรัฐบาลได้แจ้งมาให้รัฐบาลทราบต่อไปนี้

 

(สำเนา)

ที่ ก. ๒/๗๗

โฮเต็ลไฮด์ปาร์ก กรุงลอนดอน

วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

เรียน พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

ข้าพเจ้าและหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ พร้อมด้วยนายดิเรก ชัยนามได้มาถึงลอนดอนเมื่อวันที่ ๗ เดือนนี้ รุ่งขึ้นวันที่ ๘ ได้ส่งหนังสือเรียน นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิเกรียงไกร สมุหราชองครักษ์ และราชเลขานุการในพระองค์ประจำขบวนเสด็จขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลว่า คณะผู้แทนขอพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันที่ ๑๒ เดือนนี้ในวันเดียวกันนั้นเอง พระยาวิชิตวงศ์ฯ ได้มีหนังสือตอบมาว่า ได้นำความกราบบังคมทูลแล้ว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าได้ในวันที่ ๑๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้พระยาราชวังสัน อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสสมทบไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยครั้งนี้ พระยาราชวังสัน จึงได้เดินทางมาถึงกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๑๑ เดือนนี้

ครั้นวันที่ ๑๒ เดือนนี้ คณะผู้แทนรัฐบาล มีข้าพเจ้าหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายดิเรก ชัยนาม เลขานุการ พร้อมด้วยพระยาราชวังสัน ได้ออกเดินทางไปยัง Knowle Granleigh ซึ่งเป็นที่ประทับ

เวลา ๑๕.๐๐ น. ถึงที่ประทับ นายพลโท พระยาวิชิตฯ ได้นำไปพักที่ห้องรับแขก แล้วพระยาวิชิตฯ ได้ขึ้นไปกราบบังคมทูลเวลา ๑๕.๑๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงทักทายกับผู้ที่ไปเฝ้าทุกคนแล้ว เสด็จนำข้าพเจ้า หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และพระยาราชวังสัน ไปยังห้องประทับส่วนพระองค์ ข้าพเจ้าได้นำหนังสือมอบฉันทะของรัฐบาลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และได้ฟังพระราชกระแส และกราบบังคมทูลถวายความเห็น และสนองพระราชปัญหาบางประการ ซึ่งปรากฏตามบันทึกย่อการเข้าเฝ้า ซึ่งได้แนบมาพร้อมกับหนังสือนี้ด้วยแล้ว

ครั้นวันที่ ๒๐ เดือนนี้เวลา ๒๒.๑๑ น. พระยาวิชิตฯ และม.ร.ว.สมัครสมาน กฤดากร ได้มาหาข้าพเจ้า และหลวงธำรงฯ นำร่างพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมามอบให้ข้าพเจ้าและหลววงธำรงฯ จึงได้แจ้งกับพระยาวิชิตฯ และ ม.ร.ว.สมัครสมานฯ ว่า จะได้พิจารณาร่างพระราชบันทึกดูก่อน และใคร่จะได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ เดือนนี้เพื่อกราบบังคมทูลถวายความเห็นในร่างพระราชบันทึกนั้นพระยาวิชิตฯ และ ม.ร.ว. สมัครสมานฯ ตอบว่า เห็นจะไม่ขัดข้องและจะได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบต่อไป แล้วก็ลากลับไป ครั้นวันที่ ๒๑ นี้เวลาบ่าย พระยาวิชิตฯ ได้โทรศัพท์บอกมาว่า ม.ร.ว.สมัครสมานฯ ได้โทรศัพท์มาจากแครน์เลย์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ถือเอาร่างพระราชบันทึกซึ่งพระราชทานมาแล้วนั้นเป็นพระราชบันทึกทางราชการ และจะได้ให้ม.ร.ว.สมัครสมานฯ นำต้นพระราชบันทึกซึ่งลงพระปรมาภิไธยแล้วมามอบให้ในคืนวันนี้ ข้าพเจ้ากับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้แจ้งให้พระยาราชวังสันทราบ เพื่อมาพบกับ ม.ร.ว.สมัครสมานฯ พร้อมกัน ณ ที่พัก ครั้นเวลา ๒๑.๓๐ น. พระยาวิชิตฯ กับ ม.ร.ว.สมัครสมานฯ ได้มาถึง และได้นำพระราชบันทึกซึ่งมีข้อความตรงกับร่างพระราชบันทึก ซึ่งพระราชทานมาก่อนแล้วให้แก่ข้าพเจ้าและแจ้งว่า โปรดเกล้าฯ ให้ถือว่า ฉบับนี้เป็นพระราชบันทึกทางรายการ และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยมาด้วยแล้ว ต้นพระราชบันทึกฉบับนี้ข้าพเจ้าได้เก็บไว้และส่งสำเนามาพร้อมด้วยหนังสือนี้แล้ว แต่เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้ทราบถึงสาระสำคัญของพระราชบันทึกเสียโดยด่วน จึงได้ขอร้องให้ ม.ร.ว.สมัครสมานฯ เก็บข้อความสำคัญในพระราชบันทึกนั้นเข้าโคตลับส่งมาทางราชเลขานุการในพระองค์กรุงเทพฯ ให้นำความขึ้นเรียนปฏิบัติคณะรัฐมนตรีต่อไป

เมื่อเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปดั้งนี้แล้ว หน้าที่ของข้าพเจ้าและคณะผู้แทน ก็คือรอฟังคำสั่งจากรัฐบาลต่อไป แต่ถึงอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าย่อมถือว่ากิจการที่ได้มอบหมายมานี้เป็นเรื่องอันสำคัญ และจะต้องพยายามทุกทางเพื่อให้สมประสงค์ดังทางราชการมอบหมายมา ฉะนันจึงได้ตกลงว่า จะไปเฝ้า ณ วันที่ ๒๓ เดือนนี้อีก และเมื่อได้ผลอย่างไรจะได้เรียนปฏิบัติมาเพื่อประกอบความดำริของคณะรัฐมนตรีต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
(ลงนาม) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ

 

พร้อมกับหนังสือของคณะผู้แทนรัฐบาล ฉบับวันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ดังสำเนาข้างต้นนั้น คณะผู้แทนรัฐบาลได้ส่ง “บันทึกย่อการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของคณะผู้แทนรัฐบาลครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗” มายังรัฐบาลด้วย พร้อมด้วยสำเนา “พระราชบันทึก” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่คณะผู้แทนรัฐบาลตามรายงานของคณะผู้แทนรัฐบาลข้างต้นนั้น ต่อไปนี้คือ “บันทึกย่อการเข้าเฝ้าครั้งที่ ๑”

 

บันทึกย่อการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯ
ของ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ฯลฯ
ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

วันนี้เวลา ๑๓.๓๐ น. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, พระยาราชวังสัน, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ พร้อมด้วยนายดิเรก ชัยนาม เลขานุการ ได้โดยสารรถยนต์ซึ่งสถานทูตส่งมา เพื่อไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ Knowle Granleigh ถึง Knowle เวลา ๑๕.๐๐ น. มีนายพลโท พระยาวิชิตฯ สมุหราชองครักษ์และราชเลขานุการในพระองค์ประจำกระบวนเสด็จมาคอยรับนำไปห้องรับแขกเวลา ๑๕.๑๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก พระยาวิชิตฯ นำข้าราชการทั้ง ๔ เข้าเฝ้า ได้เสด็จนำเจ้าพระยาศรีฯ พระยาราชวังสัน และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ไปยังห้องประทับส่วนพระองค์ เพื่อทรงปรึกษาหารือข้อราชการ ในห้องนี้มีผู้ที่ได้เข้าเฝ้าโดยเฉพาะคือ เจ้าพระยาศรีฯ, พระยาราชวังสันฯ, และหลวงธำรงฯ เจ้าพระยาศรีฯ ได้นำหนังสือมอบอำนาจของรัฐบาลซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามมาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและกราบบังคมทูลเพิ่มเติมว่าคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้พระยาราชวังสันฯ มาช่วยเหลือในการเรียนปฏิบัติราชการในคราวนี้ด้วย ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งว่า การที่พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ในคราวนั้น ก็ได้ทรงเชื่อว่ากิจการทุกอย่างจะได้เป็นไปอย่าง Democratic เช่นอย่างในอังกฤษเขา แต่เท่าที่ได้ผ่านมาได้ทรงสังเกตเห็นว่ามิได้เป็นอย่าง Democratic เช่นอย่างสมาชิกประเภท ๒ มิได้เลือกจากพวกที่มีคุณวุฒิ ความรู้กลับเลือกจากบุคคลในคณะและผิดความประสงค์ ซึ่งมิได้เลือกตั้งจากบุคคลซึ่งทรงคุณวุฒิสมกับที่จะมาเป็นครูประเภทที่หนึ่ง นอกจากนี้ยังตัดสิทธิของพวกหนังสือพิมพ์และความเห็นของบุคคลอีก ซึ่งถ้าใครพูดอะไรก็ต้องเป็นผิดไปหมดเป็นการตัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ความจริงท่านได้เคยทรงพระราชปรารภกับ Mr.Stevens ว่า อย่างสมาชิกประเภทที่สองนั้น ควรจะมีพวกอาชีพต่างๆ กัน เช่น ข้าราชการก็ควรให้พวกข้าราชการเลือกกันขึ้นมา ในการที่ท่านพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้ตั้งใจจะให้แก่พวกราษฎรทั้งหลาย ไม่ได้ให้แก่พวกใดพวกหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าหากจะมี Dictator ขึ้นก็เหมือนเมื่อครั้งเป็น Absolute Monarchy และถ้ามี Dictator ก็กลับจะร้ายกว่า Absolute Monarchy เสียอีก จริงอยู่ Absolute Monarchy กับ Dictator เหมือนกัน แต่เป็นมาตาม Tradition และทรงเห็นว่าที่เป็นมาแล้วมีผู้ซึ่งหันหลังไปในทาง Republic เป็นต้นว่าให้เลิกเหรียญตรา ซึ่งใน Monarchy เขาต้องมี เช่นเหรียญตราเรามีให้ฝรั่งแต่ไทยกลับไม่มีประดับ นอกจากนี้ก็มีผู้ด่าว่าพระองค์ท่านว่ารัฐบาล ๑๕๐ ปีไม่เห็นทำอะไร เท่ากับด่าว่าวงศ์ตระกูลของพระองค์ท่านไม่ได้ทำอะไรเลย ฉะนั้นถ้าจะให้พระองค์ท่านเสด็จกลับ ก็ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ให้เป็น Democracy เสียจริงๆ ถ้าไม่เช่นนั้นกลับไปก็เท่ากับเป็นตัวหุ่นช่วยเหลือคนพวกหนึ่งสำหรับกดขี่ราษฎร

ต่อจากนี้ก็ได้ทรงรับสั่งว่า ทรงข้องพระทัยแห่งพระราชบัญญัติคุ้มโทษปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่าพระราชบัญญัตินี้จะคุ้มครองคนซึ่งกระทำการในภายหลังด้วยหรือไม่ คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า พระราชบัญญัตินี้หาได้คุ้นครองเฉพาะผู้ซึ่งกระทำการในภายหลังไม่ และอ้างว่าพระราชบัญญัตินี้เทียบได้กับ Act of Indemnity ของอังกฤษ ก็ทรงพอพระราชหฤทัยในข้อนี้

ได้ทรงรับสั่งต่อไปว่า พระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญนี้เป็นการกดขี่และตัดไม่ให้บุคคลแสดงความคิดเห็น เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นก็ไม่ให้โอกาสจำเลยสู้คดีในโรงศาล เมื่อผู้ใดออกความคิดเห็นขัดต่อรัฐบาลๆ ก็หาว่าคิดร้ายต่อรัฐบาล คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า ความมุ่งหมายในการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการให้ประโยชน์แก่จำเลยมากว่าเป็นโทษ เพราะหลักการในพระราชบัญญัตินี้เป็นการป้องกันดีกว่าแก้ กล่าวคือรัฐบาลไม่อยากให้มีการขึ้นศาลต้องติดตะราง นอกจากนี้วิธีบังคับในพระราชบัญญัตินี้ก็หาถือว่าเป็นการลงโทษตามกฎหมายอาญาไม่ เป็นแต่ว่าจำเลยต้องอยู่ในเขตที่จำกัด ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ตัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ และดูเหมือนก่อนออกมานี้เรื่องเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญก็ได้ถูกตัดด้วย นอกจากนี้ ถ้าหากว่าจำเลยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่คิดร้ายแล้ว ก็เป็นอันว่าพ้นจากโทษนี้ได้ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีบุคคลบางหมู่บางเหล่าซึ่งไม่พอใจและหวาดเกรงในพระราชบัญญัตินี้ ก็ยังมีบุคคลบางหมู่บางเหล่าอีกซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ เช่น หลวงสงครามวิจารณ์กับหลวงเสนีย์สงคราม และนายไถง สุวรรณทัตเมื่อถูกฟ้องยังโรงศาลได้ขอร้องให้พิจารณาตนตามพระราชบัญญัตินี้ โดยอ้างแบบอย่างพระยาวินัยสุนทร นอกจากนี้กฎหมายอาญามาตรา ๑๐๔ กินความกว้างขวางมาก ถ้าแม้จะฟ้องจำเลยทุกคนตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๐๔ แล้ว ทุกคนก็ไม่มีโอกาสหลุดพ้นไปได้เลย เมื่อได้กราบบังคมทูลดังนี้แล้ว ก็ทรงนิ่งอยู่มิได้รับสั่งประการใด

ต่อไปนี้ ได้รับสั่งถึงเรื่องแก้ไขวิธีการประหารชีวิต ทรงรับสั่งว่าในเรื่องซึ่งไม่ให้พระองค์ท่านทรงเซ็นประหารชีวิตก็เห็นด้วยเพราะไม่เป็นของสนุกอะไร แต่ข้องพระทัยในการบังคับคดีขั้นสุดท้ายซึ่งพระองค์ท่านทรงเห็นว่าควรจะผ่านสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่าถ้ารัฐบาลกระทำการให้แน่นอนว่าในระหว่างซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น จะไม่ดำเนินการบังคับคดี เรื่องนี้อาจทำได้ เช่น ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีร้องทุกข์ ซึ่งคณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่าเรื่องนี้ไม่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๕ คิดว่าคณะรัฐมนตรีคงไม่ขัดข้องในการที่จะวางวิธีการในเรื่องนี้ โดยออกให้เป็นพระราชบัญญัติไว้ และถ้าเป็นที่ตกลงกันแล้วก็น่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติในสมัยสามัญนี้ให้เรียบร้อย เพื่อให้เสร็จก่อนเสด็จกลับ

คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า ในการที่คณะมาครั้งนี้ก็เพื่อเฝ้าเยี่ยมเยียนและกราบบังคมทูลชี้แจงและข้อข้องพระหฤทัยใดๆ ซึ่งถ้าจะพระราชทานข้อข้องพระทัยมาเป็นข้อๆ แล้ว ก็จะได้พยายามหาลู่ทางที่จะแก้ข้อขัดข้องนั้นๆ ตามแต่จะทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อความสงบเรียบร้อยและความเจริญของประเทศใคร่จะได้เห็นใต้ฝ่าละอองธุรีพระบาทเสด็จกลับสู่พระนครเพื่อเป็นประมุขของประเทศ ตามความคิดเห็นว่ารัฐบาล็ดี ราษฎรก็ดี สภาผู้แทนราษฎรก็ดี ใคร่ที่จะให้เสด็จกลับโดยแท้จริง และเรื่องนี้เป็นเรืองที่ชู่ซ่ามาก ตลอดทางถูกพวกหนังสือพิมพ์รุมถาม อันแสดงให้เห็นว่าชาวต่างประเทศสนใจอยู่มาก และถ้าเสด็จกลับได้ก็จะเป็นการระงับเหตุการณ์อันอาจจะเกิดขึ้นได้ภายในประเทศ

ในที่สุดคณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่าถ้าจะมีข้อข้องพระทัยประการใด ก็ใคร่ที่จะได้รับพระราชทานพระราชบันทึกเป็นข้อๆ เพื่อจะได้ปรึกษากันดูว่า จะมีข้อใดที่จะกระทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญก็จะได้จัดถวายและขออนุมัติรัฐบาลทางกรุงเทพฯ ต่อไป

ต่อจากนี้ ทรงพระราชปรารภถึงนายทหารรักษาวังสองคนว่า ได้ดำเนินการไปประการใด คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า ได้เป็นอันเลิกกันไปแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ได้จัดการให้ระงับไปแล้วในการที่ปฏิบัติช้าไปนี้ก็เพราะกระทรวงวังมิได้ใช้อำนาจในการที่จะเสนอความคิดเห็นขึ้นมา เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นของอัยการศาลพิเศษ ซึ่งก็ได้ปรากฏว่ากระทรวงอื่นๆ ก็ได้ใช้วิธีเช่นนี้อยู่แล้ว ก็ทรงพอพระราชหฤทัยในข้อนี้

ทรงรับสั่งว่าเรื่องหลักการ Crown property เป็นอย่างไร คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า ก่อนออกมาคราวนี้ได้มีการประชุมกรรมการครั้งที่ ๑ แล้ว ได้วางหลักการตามที่คณะรัฐมนตรีได้ถวายความเห็น ซึ่งได้ทรงเห็นชอบแล้วคือ

๑. พระราชทรัพย์ซึ่งจะตกทอดไปยังผู้สืบสันตติวงศ์นั้นไม่ต้องเสียภาษี

๒. ที่ตกไปยังผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สืบสันตติวงศ์นั้นต้องเสีย เวลานี้คณะกรรมการได้ตกลงให้ Sir Robert Holland กับ M.L.evesque ไปจัดการร่างเบื้องต้นมามิได้จัดการอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ การที่มิได้ร่างโดยรวดเร็วก็เพราะเป็นพระราชบัญญัติที่ยากมากและรัฐบาลหวังว่าถ้าเสด็จกลับไปร่วมมือในการร่างพระราชบัญญัตินี้ก็จะเป็นการเรียบร้อย แต่ในข้อนี้อาจทำได้โดยวางหลักการไว้และทำ Inventory บัญชีสำรวจภายหลังก็ได้ ก็ทรงพอพระราชหฤทัย

ต่อจากนี้ได้ทรงรับสั่งว่าเหตุผลในการที่พระองค์ทรง Veto พระราชบัญญัตินั้นมีอยู่สองข้อ (๑) เป็นการทำลายฐานะของพระมหากษัตริย์ (๒) การใดที่ไม่ต้องด้วยความประสงค์ของราษฎรทั่วไปแล้ว ในสองข้อนี้จะต้อง Veto นอกจากนี้แล้วจะไม่ทรงใช้เลย

นอกจากนี้ก็ทรงข้องพระราชหฤทัยในเรื่องสมาชิกประเภทที่สองอีกตามสมควร ครั้นได้เวลา ๑๗.๑๕ น. ทรงเลี้ยงน้ำชาพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี โดยเสด็จออกมาห้องรับแขก ทรงรับสั่งไต่ถามถึงการเดินทาง เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์ไปเที่ยวมา เวลา ๑๗.๔๕ น. กราบถวายบังคมลากลับที่พัก ถึงโฮเต็ล ๑๙.๓๐ น. รวมเวลาที่เข้าเฝ้าสองชั่วนาฬิกากว่า

(ลงนาม) ดิเรก ชัยนาม
ผู้จดบันทึกถ้อยคำของคณะผู้แทน

 

หมายเหตุ :

  • ตั้งชื่อบทความใหม่ โดยกองบรรณาธิการ
  • คงอักขรวิธีสะกดเดิมตามเอกสารชั้นต้น

 

ที่มา : สุพจน์ ด่านตระกูล, ใน พระปกเกล้ากับคณะราษฎร. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2544) น.12-32.