ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495

15
สิงหาคม
2567

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ ทศวรรษ 2490

 

หลังจากการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นการวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้พัฒนาก้าวหน้าและมั่นคงสืบไปมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจึงได้ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 โดยมีหลักการและวัตถุประสงค์ตามที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยได้รายงานต่อประธานในพิธีสถาปนามหาวิทยาลัยว่า “สมัยที่ประเทศเราดำเนินการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เปิดโอกาสให้พลเมืองใช้เสรีภาพทางการศึกษาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น”

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) เป็นสถาบันการศึกษาที่มีกำเนิดควบคู่และเกื้อกูลระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนไทยมีความรู้ในระบอบประชาธิปไตย ตามปณิธานของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้นำคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ปรารถนาให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ได้เปิดให้การศึกษาแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกชนชั้นเป็นตลาดวิชาที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเข้าศึกษาได้อย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยได้ผลิตนักกฎหมาย นักปกครอง นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมือง ออกไปทำงานรับใช้ประเทศชาติตามกระทรวง ทบวง กรม และประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานอันสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความตื่นตัวในทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจความเรียกร้องต้องการในสิทธิเสรีภาพขึ้นในหมู่ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง

แน่นอน! วิวัฒนาการของสังคมหรือการปกครอง ย่อมไม่อาจพัฒนาหรือก้าวหน้าไปอย่างราบรื่น โดยปราศจากการขัดขวางต่อสู้ช่วงชิง ระหว่างผู้ที่ต้องการผลักดันประวัติศาสตร์หรือสังคมให้ก้าวหน้ากับผู้สูญเสียอำนาจ หรือระหว่างผู้มีความคิดก้าวหน้ากับผู้มีความคิดอนุรักษ์ที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งระบอบเก่า การเปลี่ยนการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก็เช่นกันย่อมไม่อาจพัฒนาหรือบรรลุสู่เป้าหมายโดยปราศจากอุปสรรคขัดขวาง นับตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ บีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ และในกรณีกบฏบวรเดช ที่ก่อการกบฏเพื่อยึดอำนาจคืนด้วยการใช้กำลังทหารเมื่อตุลาคม 2477 แต่กระทำไม่สำเร็จ ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยได้พัฒนาไปบนพื้นฐานของการรณรงค์ต่อสู้ ทั้งทางการเมือง ทางความคิดกระทั่งการใช้กำลังตลอดมา

จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงประเทศกลับสู่ภาวะสันติและการบูรณะฟื้นฟูประเทศ การปกครองประเทศด้วยอำนาจทหารภายใต้กฎอัยการศึกสิ้นสุดลงประชาธิปไตยที่ซบเซา ได้ส่องแสงผลิดอกออกผล มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489 ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองที่มีความคิดก้าวหน้า มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอันได้แก่พรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคสหชีพ พรรคอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยร่วมเป็นพลพรรคขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมหรือศักดินานิยม พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องสรรเสริญในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทยที่ได้กอบกู้ประเทศชาติให้รอดพ้นจากการสูญเสียเอกราชอธิปไตยที่ได้เข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรคือ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรอังกฤษ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยด้วยความแซร่ช้องสรรเสริญจากประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยต่อเกียรติภูมิของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำทางความคิดและทางการเมืองที่รักชาติรักประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูจากประชาชนอย่างสูงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้การสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชและคัดค้านลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในย่านแหลมอินโดจีนและเอเชีย

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ของพวกปฏิกิริยาทั้งในและต่างประเทศ หากปล่อยให้สถานการณ์ขยายตัวต่อไปเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อพวกตนแน่

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ยึดอำนาจการปกครองล้มล้างรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีพลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้ากับคณะทหารกลุ่มหนึ่งร่วมด้วยบุคคลของพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น จึงได้อุบัติขึ้น ทำให้ทิศทางของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังพัฒนาก้าวหน้าต้องขาดสะบั้นและหันไปสู่การปกครองด้วยอำนาจเผด็จการและวงจรอุบาทว์อันเลวร้ายในกาลต่อมา

เพื่อความมั่นคงและการดำรงอยู่ของอำนาจเผด็จการรัฐประหารก็คือ การกำจัดกวาดล้าง ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามกับคณะรัฐประหารและคัดค้านอำนาจเผด็จการให้หมดไปบุคคลซึ่งอยู่ในข่ายที่จะต้องกำจัดของคณะรัฐประหาร อันดับแรกได้แก่ รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ โดยการนำของ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้นำรถถังหรือยานเกราะบุกเข้าทำเนียบท่าช้างอันเป็นที่นำพักโดยมุ่งประสงค์ต่อชีวิต แต่เดชะบุญที่หลบหนีไปได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยัง ให้ร้ายป้ายสีใส่ความว่ามีส่วนร่วมในคดีลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 อันเป็นข้อกล่าวหาอุกฉกรรจ์ด้วยการปลุกปั้นพยานเท็จ เพื่อเหยียบย่ำทำลายชีวิต ชื่อเสียงเกียรติภูมิของท่านให้จมธรณีมิให้ได้ผุดได้เกิดจนต้องหลบลี้หนีภัยไปอยู่ต่างแดนจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 


นักศึกษาเดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อทวงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองคืน

 

อันดับต่อไปที่อยู่ในข่ายที่คณะรัฐประหารต้องกำจัดกวาดล้างได้แก่ แกนนำทางการเมืองหรือบุคคลสำคัญที่รักชาติรักประชาธิปไตยที่ใกล้ชิดรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ด้วยการสั่งฆ่าสี่อดีตรัฐมนตรีนายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งถูกสังหารหมู่ในขณะที่อยู่บนรถยนต์ภายใต้ความควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจ ที่ถนนพหลโยธิน ก.ม. 14 และอดีต ส.ส.พรมลิทอง ดร.ทวี ตะเวทีกุล ซึ่งถูกสังหารในระหว่างถูกควบคุมตัวอย่างโหดเหี้ยมทารุณและยังมีอีกหลายคนที่ถูกจับกุมกวาดล้างในครั้งนั้น

 


นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ระดมพลหน้าตึกโดมเพื่อทวงคืนมหาวิทยาลัย

 

เมื่อเสร็จสรรพจากการกำจัดกวาดล้างบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาแล้ว อันดับต่อไปที่เป็นเป้าหมายของการกำจัดปราบปรามของคณะรัฐประหาร ก็คือมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นฐานกำลังของพลังประชาธิปไตยและการเมืองของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นที่เคารพรักของนักศึกษาประชาชน ทำไมต้องกำจัดปราบปรามมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คงเป็นคำถามที่ไม่ต้องตอบเลยว่าทำไม

การกำจัด จัดการกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นไปอย่างไร ?

ตอบได้ว่า เป็นแผนการที่มุ่งกำจัดปราบปรามอย่างชนิดที่เรียกว่า เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จทำลายสถาบัน ความคิดชื่อเสียง ศรัทธา และขบวนการนักศึกษาทั้งด้วยความรุนแรง และไม้อ่อนทั้งลับและเปิดเผย ทุกรูปแบบอย่างครบวงจรต่อการทำลายสถาบันหรือมหาวิทยาลัย

1. เริ่มด้วยการส่งกำลังทหารกองการรักษาดินแดนเข้าไปตั้งในมหาวิทยาลัยด้านที่ติดกับคณะกรรมการกฤษฎีกา มีทหารยืนยามถืออาวุธปืนเฝ้าประตู กลางคืนก็มีทหารสะพายอาวุธเดินลาดตระเวนตรวจตราเป็นที่หวาดหวั่นของนักศึกษาที่เลิกเรียนเวลาค่ำคืน หรือที่ต้องทำกิจกรรมหรือประชุมถึงกลางคืนอย่างยิ่ง

2. ต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย ถอดถอนผู้บริหารชุดเติมที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การออก เปลี่ยนเอาบุคคลในคณะรัฐประหารเข้ามาควบคุมและบริหารมหาวิทยาลัย อาทิ พลโท สวัสดิ์ ส.สวัสดิเกียรติ รักษาการผู้ประศาสน์การ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกกิติมศักดิ์สภามหาวิทยาลัย พลเอกมังกร พรหมโยธี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และนายฉัตร ศรียานนท์ น้องพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย รวมทั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อควบคุมนักศึกษาและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวดกวดขันผู้บริหารชุดเดิมที่ใกล้ชิดผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ อาทิ ดร.เดือน บุนนาค ผู้รักษาการผู้ประศาสน์การหลังจากที่ผู้ประศาสน์การต้องหลบหนีภัยไป นายวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัยและ ดร.อุไภย พินทุโยธิน อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏ

3. ออกกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ. จัดมหาวิทยาลัย ยกเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การเปลี่ยนเป็นอธิการบดี เอาบุคคลในคณะรัฐประหารเข้ามาเป็น โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าเป็นอธิการบดีคนแรกเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตัดคำว่าการเมืองออกเหลือเพียงคำว่า “ธรรมศาสตร์” เพื่อกำจัดความคิดมิให้นักศึกษาเกี่ยวข้องหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการซึ่งเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาซึ่งเดิมมีอยู่สองคณะคือคณะธรรมศาสตร์ กับคณะบัญชีซึ่งคณะธรรมศาสตร์เรียนทั้งวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ลัทธิเศรษฐกิจและการเมืองตามหลักสูตรปริญญาตรี ธรรมศาสตร์บัณฑิต โดยแบ่งแยกออกเป็น 5 คณะ ตามหลักสูตรวิชาที่เรียนอยู่เติม ทั้งนี้ก็เพื่อแบ่งแยกหรือสลายการรวมตัวของนักศึกษาที่รวมกันอยู่ในคณะเดียวออกเป็น 5 คณะ ทั้งนี้ก็เพื่อแบ่งแยกแล้วปกครองตามวิธีการปกครองของนักล่าอาณานิคมกระทำต่อประเทศเมืองขึ้น ด้วยการแบ่งแยกแล้วปกครอง

4. การทำลายที่สำคัญอีกประการหนึ่งต่อสถาบันแห่งนี้ได้แก่ การยึดธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ที่ผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ให้นำเงินของมหาวิทยาลัยไปซื้อหุ้นจากธนาคารโยโกฮามาซึ่งเลิกกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2483 แล้วมาจดทะเบียนใหม่เป็นธนาคารเอเชียฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนทางเศรษฐกิจและการเงินหล่อเลี้ยงมหาวิทยาลัยให้สามารถเลี้ยงตนเองและพัฒนาต่อไป ด้วยการนำหุ้นไปขายให้แก่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นแผนการทำลายมหาวิทยาลัยอีกประการหนึ่ง

5. ปล่อยข่าวให้ร้ายป้ายสีว่าผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์ และมีส่วนร่วมในคดีลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เพื่อให้ประชาชนที่หลงเชื่อเกลียดชัง และเสื่อมศรัทธาต่อมหาวิทยาลัย และหันมาให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารทำลายมหาวิทยาลัย

6. อนุมัติขายมหาวิทยาลัยให้แก่กองทัพบกในจำนวนเงิน 5 ล้านบาท เพื่อใช้ประโยชน์ทางทหารด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2494 ภายหลังจากที่ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองและสั่งปิดมหาวิทยาลัยหลังจากกรณีกบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494 ซึ่งเป็นการทำลายอย่างชนิดขุดรากถอนโคนไม่ให้เหลือ

ในขณะที่ขบวนการทำลายสถาบันหรือมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมา การบ่อนทำลายนักศึกษาก็ได้ดำเนินควบคู่กันไปด้วยวิธีการทุกรูปแบบอย่างเบ็ดเสร็จ และครบวงจรเช่นเดียวกัน

1. ด้วยการริดรอนสิทธิและผลประโยชน์นักศึกษาเริ่มด้วยการฟื้นฟูโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมที่ยุบเลิกไปแล้ว มาก่อตั้งสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาขึ้นจำกัดสิทธิปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิตยสภามิให้มีสิทธิสมัครเข้าเป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตย์เพื่อประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ผู้พิพากษาอัยการหรือทนายความตามสิทธิที่พึงมีแต่เติม หากแต่จะต้องผ่านการศึกษาจากสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาที่ตั้งขึ้นใหม่อีก 1 ปีก่อนจึงสมัครเข้าเป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้ อันเป็นการริดรอนสิทธิผลประโยชน์ของนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาได้ชุมนุมคัดค้านกระทั่งมีการสไตร๊ค์ไม่ยอมเข้าฟังคำบรรยายถึงขนาดกรีดเลือดประท้วงในครั้งนั้น

ในระหว่างการต่อสู้คัดค้านการริดรอนสิทธิมิให้เข้าเป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภายังไม่ทันจะยุติลง กระทรวงมหาดไทยก็ได้ออกกฎ ก.พ.ที่ 110 จำกัดสิทธิปริญญาตรีธรรมศาสตร์มิให้เข้ารับราชการปกครองในอัตราชั้นตรี ตามสิทธิที่พึงมีแต่เดิม โดยให้สิทธิผู้สำเร็จปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการบรรจุในอัตราชั้นตรีและมีเงินเพิ่มค่าวิชาอีก 30 บาท ส่วนผู้ที่จบปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิตถูกจำกัดสิทธิว่าต้องรับผู้ที่สำเร็จจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียก่อน

หากมีตำแหน่งเหลืออยู่จึงจะบรรจุผู้ที่สำเร็จจากธรรมศาสตร์ และได้ให้บรรจุเพียงชั้นจัตวาอันดับ 3 ขั้น 70 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรมเหลื่อมล้ำต่ำสิทธิในการเข้ารับราชการอันเป็นการซ้ำเติมการจำกัดสิทธิที่กระทำต่อนักศึกษาไม่แต่เพียงเท่านั้น การจำกัดริดรอนสิทธินักศึกษายังได้ขยายออกไปถึงการเข้ารับราชการตำรวจของผู้ที่ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตซึ่งเคยได้รับการบรรจุเป็นชั้นสัญญาบัตรยศร้อยตำรวจตรีลงเหลือได้รับเป็นจำนายสิบตำรวจตรี ยศ จ.ส.ต. เท่านั้น อันเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความไม่พอใจให้แก่นักศึกษายิ่งขึ้น

2. มาตรการในการลงโทษเพื่อกำราบปราบปรามนักศึกษาในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาที่ไม่เคยใช้ ก็ได้ถูกนำมาใช้แก่นักศึกษาเพื่อกำจัดหรือกำราบปราบปรามการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ขัดคำสั่งหรือนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ การลงโทษนักศึกษาที่เข้าร่วมรณรงค์เข้าชื่อเรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพนักศึกษา ม.ธ.ก. คัดค้านคำสั่งของมหาวิทยาลัยที่จะทำการสอบสวนนักศึกษา ในกรณีดังกล่าวด้วยการลงโทษลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของนักศึกษา คือนายอาทร พุทธิสมบูรณ์ นายประจวบ อัมพะเศวต นายลิ่วละล่อง บุนนาค นายทวีป วรดิลก และนายปริญญา ลีละศร นอกจากนั้นก็ยังมีผู้ที่ถูกลงโทษห้ามเข้าฟังคำบรรยาย มีกำหนดเวลา 1 ปี และนอกจาก 5 คน ดังกล่าวก็มีนายมารุต บุนนาค นายไวฑูรย์ สินธุวนิช นายอารีย์ อิ่มสมบัติ และนายพรชัย แสงชัชจ์ ซึ่งถูกลงโทษห้ามเข้าฟังคำบรรยาย ซึ่งนักศึกษาเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพและไม่เป็นธรรม ซึ่งขณะนั้นมีการรณรงค์เรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามของประชาชนอย่างกว้างขวางนักศึกษาจึงได้ต่อสู้เรียกร้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง ถึงกับนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาล

3. บ่อนทำลายความสามัคคีด้วยการแบ่งแยกนักศึกษาออกเป็น 5 คณะ ซึ่งขณะนั้นมีการรณรงค์เรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามอย่างกว้างขวาง ปลุกปั้นนักศึกษาให้เกิดความแตกแยกด้วยการให้ร้ายป้ายสีนักศึกษาที่ยืนหยัตต่อสู้หรือผู้นำนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นพวกผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกล่าวหาดังที่ได้กล่าวข้างต้นเพื่อก่อให้เกิดการแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นฝ่ายขวา-ฝ่ายซ้าย เพื่อบั่นทอนความสามัคคีในการต่อสู้ของนักศึกษาอันเป็นที่มาของคำขวัญที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” เพื่อเรียกร้องความสามัคคีผนึกกำลังการต่อสู้ของนักศึกษา

4. วิธีการอีกประการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อทำลายหรือบั่นทอนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักศึกษาได้แก่การส่งสายลับเข้าไปปะปนหรือทำตัวเป็นคนก้าวหน้าสนับสนุนการต่อสู้ของนักศึกษาเพื่อหาข่าวหรือติดตามการเคลื่อนไหวของนักศึกษา จนกระทั่งคุกคามข่มขู่นักศึกษาให้เกิดความหวาดกลัวหรือให้เป็นที่หวาดระแวงซึ่งกันและกันขึ้นในขบวนการต่อสู้ บางคนถึงขนาดมีสายลับติดตามถึงบ้านทีเดียว แม้แต่นักศึกษาที่จับกลุ่มพบปะสนทนากันใต้ร่มจำปี ฝั่งเจ้าพระยาก็ยังถูกเพ่งเล็งสงสัยว่าส้องสุมคิดการร้ายถึงกับต้นจำปีต้องถูกโค่นไป ระบบและวิธีการของสปายสายลับเป็นภัยมืดที่คุกคามข่มขู่ นักศึกษาที่น่าสะพึงกลัวอย่างยิ่ง

หัวหน้านักศึกษาหญิง นายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เลขานุการคณะกรรมการนักศึกษา นายประเสริฐ สมรรคจันทร์ หัวหน้าคณะรัฐศาสตร์ นายอารีย์ ลิ้มสมบัติ บก.ธรรมจักรฉบับนักศึกษา นายชาญ แก้วชูใส ประธานแผนก ปาฐกถา นายประจวบ อัมพะเศวต อดีตประธานนักศึกษา นายสุวิทย์ เผติมชิตบรรณกร และอีกหลายคนที่ถูกสอบสวนสำหรับบุคคลสำคัญที่ถูกจับในคราวเดียวกันข้อหาเดียวกันนี้ ได้แก่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พลทหารปาล พนมยงค์ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนนักประพันธ์ นายเจริญ สืบแสง ส.ส.ปัตตานี ประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย นายสมัคร บุราวาศ ราชบัณฑิตย์ นายฟัก ณ สงขลา ทนายความ นายอารีย์ รีวีระ นายสุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส นายอุทธรณ์ พลกุล นายเปลื้อง วรรณศรี นายฉัตร บุณยศิริชัย นายสุพจน์ ด่านตระกูล นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ เป็นต้น

การต่อสู้กับแผนการทำลายปราบปรามกับอำนาจเผด็จการในยุคเผด็จการพฤศจิกายน 2490 แม้จะผ่านไปถึง 50 ปีกว่าปี ก็มิใช่เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น แล้วก็ผ่านไปเท่านั้น หากแต่ได้เป็นสมรภูมิที่หล่อหลอมจิตใจที่เสียสละ จิตใจที่ร่วมรักสามัคคีในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมคัดค้านเผด็จการ เป็นการให้การศึกษาบทเรียนของการต่อสู้แก่นักศึกษาประชาชนก่อให้เกิดความตื่นตัวทางการเมือง ความรักชาติรักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมในหมู่นักศึกษาและประชาชนให้แพร่ขยายกว้างขวางออกไป เป็นขบวนการนักศึกษาประชาชนที่ได้สืบทอดและพัฒนามาจนตราบเท่าทุกวันนี้หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์เพื่อชาติเพื่อประชาชนของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ที่ท่านได้บุกเบิกและพัฒนาก้าวหน้ามาจนถึงบัดนี้ ซึ่งปัจจุบันคนอาจจะลืมท่านผู้นี้หรือมองไม่เห็นบุคคลผู้กล้า ในอดีตไปเสียแล้วหรือ!

13 เมษายน 2544

 

บรรณานุกรม

  • สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ (พฤษภาคม 2544). “ยุทธการทำลายธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2490-2495” ใน ปรีดีสาร, ฉบับวันปรีดี 11 พฤษภาคม 2544: หน้า 79-85.